Article Story

Statement Festival เทศกาลดนตรีแห่งแรกที่พร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

ในช่วงนี้หลายคนคงกำลังให้ความสนใจกับ music festival หรือเทศกาลดนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เราก็ไปเจอกับเทศกาลดนตรีหนึ่งที่เขาออกตัวว่าเป็น ‘safezone’ ของผู้หญิง โดยใช้ชื่อว่า Statement Festival เมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

Statement Festival เป็นเทศกาลดนตรีระยะเวลาสามวันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 1 กันยายนที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ ดึงยาวไปจนถึงสุดสัปดาห์ ที่ Banana Pier (ไม่ได้ตั้งชื่อสองแง่สองง่ามนะ แต่เมื่อก่อนท่าเรือนี้มีการขนส่งผลไม้ทางเรือจริง )  มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ยวันละ 4,500 คน โดยผู้ที่สามารถเข้าร่วมเฟสติวัลได้จะมีเพียงเพศหญิง non-binary และ transgender เท่านั้น ผู้ชายที่ไม่ผ่านการแปลงเพศหรือ cisgender male จะไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน แม้แต่ไลน์อัพศิลปินที่ได้รับคัดเลือกให้มาแสดงจะอะลุ่มอล่วยให้มีสมาชิกวงเป็นผู้ชายได้มากสุดวงละหนึ่งคน แม้แต่เทคนิเชียน สต๊าฟต่าง ๆ และทีมรักษาความปลอดภัยยังต้องเป็นเพศหญิงหรือทรานส์เท่านั้น ในงานนอกจากจะมีสองเวทีให้รับชมดนตรีแล้วก็ยังมีกิจกรรมต่าง เหมือนเฟสติวัลที่อื่น ทั้งบูธแต่งหน้า ทำผม ร้านสักลาย บาร์เครื่องดื่มและอาหารคอยรองรับผู้เข้าร่วม รวมถึงการตกแต่งก็ให้ความรู้สึกเป็นมิตรปลอดภัยกับผู้หญิง

Statement Festival

เทศกาลดนตรีนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากทวิตเตอร์ของ Emma Knyckare นักจัดรายการวิทยุและนักแสดงตลกชาวสวีดิชว่า ‘จะเป็นยังไงถ้าเกิดว่าเราจัดเฟสติวัลเจ๋ง แบบที่ห้ามผู้ชายเข้า และเราจะจัดงานนี้จนกว่าคนพวกนั้นจะรู้ตัวว่าควรประพฤติตัวให้เหมาะสมยังไง’ การที่เธอทวิตข้อความแบบนี้เพราะในช่วงนั้นมีการรายงานว่า ในปี 2017 มิวสิกเฟสติวัลที่ชื่อ Bråvalla มีผู้ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศกว่า 23 ราย จนทำให้ปีล่าสุดผู้จัดต้องออกมาประกาศยกเลิกการจัดเทศกาลดนตรีดังกล่าวเพราะไม่สามารถรับประกันสถานการณ์ความปลอดภัยภายในงาน และถ้าพอจำกันได้ ในปีเดียวกัน กระแสของการเคลื่อนไหว #MeToo ซึ่งเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวงการบันเทิงของสหรัฐเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งจากกรณีที่นักแสดงหญิงชื่อดังหลายรายออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ผู้ทรงอิทธิพล Harvey Weinstein แต่ยิ่งถ้าเราย้อนประวัติกรณีการคุกคามทางเพศไปอีกหลายปีก็จะพบว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเพียงแต่ไม่มีใครที่กล้าออกมาพูดถึงมันเท่าไหร่นัก และไม่เพียงแต่ในฮอลลิวู้ด แต่ทุกภาคสังคมต่างประสบกับสถานการณ์นี้ร่วมกันทั้งสิ้น เช่นกันกับวงการดนตรีที่มีนักดนตรีถูกประณามและยกเลิกโชว์อยู่รายวัน

ปัญหาของการล่วงละเมิดทางเพศที่ทำให้ผู้จัดเล็งเห็นว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้สังคมผู้หญิงถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในเฟสติวัลต่าง ที่ผู้คนร้อยพ่อพันแม่เดินทางจากต่างถิ่นมารวมตัวกันทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ต่าง มากมาย อย่างเช่น Saga Becker นักแสดง transwoman ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานเคยประสบกับเหตุการณ์ที่ถูกผู้ชายตะคอกใส่หน้าเรื่องเพศสภาพของเธอไม่มีความรุนแรง ไม่มีคนชกต่อยกัน นี่น่าจะเป็นการปฏิวัติในหลาย เรื่องเลยแหละเมื่อถามต่อว่า แล้วถ้าเกิดคนที่เป็น straigth หรือเกย์ที่ไม่ได้แปลงเพศถูกห้ามเข้างานแล้วเกิดความรู้สึกว่าโดนกีดกันล่ะ เธอก็ตอบมาแบบเฟียร์ซ ว่าฉันไม่สนใจว่าพวกเขาจะผิดหวังอะไรมากมาย เพราะนี่คือสิ่งที่ฉันควรจะได้รับจากการที่ฉันต้องคอยหวาดระแวงมาตลอดทั้งชีวิตแล้วถ้าถามว่าจะแน่ใจได้ยังไงว่าจะไม่มีผู้ไม่พึงประสงค์เล็ดรอดเข้ามาในงาน หนึ่งในผู้รักษาความปลอดภัยก็บอกว่าที่งานมีเคล็ดลับอยู่อย่างที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่อย่างน้อยที่สุดคือเพื่อนหญิงพลังหญิงทุกคนจะช่วยเป็นหูเป็นตามสอดส่องดูแลกัน ซึ่งสิ่งนี้ก็น่าจะนำไปสู่สังคมอุดมคติของพวกเธอได้ อย่างเราเองก็เคยไป Primavera Festival ที่บาร์เซโลน่า แล้วตอนนอนเอนหลังอยู่ที่เตียงผ้าใบริมหาดก็มีทีมงานผู้หญิงเดินแจกใบปลิว ‘festival = harassment free area’ แล้วก็เข้ามาคุยแคมเปญนิดหน่อยว่าถ้ารู้สึกไม่ชอบมาพากล ให้มองหาคนที่ใส่เสื้อกั๊กสีเรืองแสงแบบพวกเธอได้เลย คือรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาจริง ๆ นะ

Primavera Festival

ช่วงหลัง เราเลยเห็นการรณรงค์เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศแพร่หลายอยู่ทั่วไป ทั้งวลี ‘No means no’ ที่บอกว่าการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจเป็นสิ่งที่ทำได้ และอีกคนจะต้องเคารพการตัดสินใจนั้น หรือทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะมี ‘consent’ หรือการยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องที่ควรปลูกฝังมาก ให้กับทุกคน ไม่เพียงแต่เทศกาลดนตรีที่เป็นแบบ woman only แต่ก่อนหน้านี้คงมีคนเคยได้ยินเรื่องเกาะส่วนตัวชื่อ ‘SuperShe‘ ที่มี retreat camp สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ในบางสังคมยังไม่ถูกให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหานี้จริงจัง (แต่ก็มีคนแซะว่าเกาะ SuperShe นี่ไม่ได้เป็นการ empowering พลังหญิงใด ๆ แต่เป็นอีกรูปแบบของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยกระดับความหรูหราให้ผู้หญิงกลุ่มนึงได้รู้สึกพิเศษมากกว่า)

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถูกเถียงในชาวสวีดิชเองว่า Statement Festival เป็นการละเมิดสิทธิความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ที่ไม่จำเป็นจะต้องแบ่งแยกเพศหรือเปล่า หรือผู้หญิงยกความชอบและมีพื้นที่เฉพาะให้กับตัวเองมากเกินไปไหม อย่างน้อยที่สุดเราก็มองเรื่องนี้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงและทรานส์กลุ่มหนึ่งไม่รู้สึกหวาดระแวงจากการถูกคุมคาม หรือถ้าคิดในอีกแง่นึง มันอาจจะเป็นประสบการณ์ใหม่ถ้าได้ลองเข้ามาอยู่ในโลกที่ไม่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันเลยด้วยซ้ำกับการที่ไม่มีเพศตรงข้ามกับเราอยู่ในเฟสติวัลนี้เลย (เราเองก็เชื่อว่ามีหลาย งานที่เป็น all men/ no women allowed อยู่เหมือนกัน) ก็รอดูกันว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือเปล่า เราเชื่อว่าทุกคนกำลังพยายามหาทางออกในเบื้องต้นของปัญหาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะเคารพกันและอยู่ร่วมกันได้อยู่แหละนะ

แต่ถ้าใครสนใจจะไปแวะเวียนที่เฟสติวัลนี้ ลองเข้าไปดูเว็บไซต์หลักของเขา >ที่นี่< ได้เลย

อ้างอิงจาก
Tired of Sexual Assault, Music Festival for Women Stresses a ‘Safe Zone’
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้