Article Story

Saard x Freehand เมื่อ passion ของการ์ตูนและดนตรีมาบรรจบกัน

  • Writer: Sarun Pinyarut

ผู้เขียนรู้จักกับ Saard หรือ สะอาด ครั้งแรกจากการได้รับการ์ตูนที่เขาเขียนมาเป็นของขวัญ การ์ตูนของสะอาดทุกเรื่องจะมีเอกลักษณ์ตรงกันก็คือลายเส้นที่ไม่ได้เนี้ยบมาก… เอาตรง ๆ จะเรียกว่าลายเส้นไม่สวยก็ได้ครับ แต่ภายใต้ลายเส้นเรียบง่ายเหล่านี้กลับอัดแน่นไปด้วยมุมมอง ความคิด ความตลก ความจิกกัด ที่ไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นใครก็สามารถเข้าถึงได้ เพราะเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา และสำคัญที่สุดคือเรารู้สึกได้ถึงความจริงใจ ไม่เสแสร้ง

ผมตกหลุมรัก ‘ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง’ เข้าอย่างจังตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้อ่าน มันเป็นการ์ตูนที่ไม่ว่าจะย้อนกลับไปอ่านกี่ครั้งก็จะทำให้กายขนลุก และมีไฟมาเติมใจได้ทุกครั้ง จนทำให้เป็นแฟนการ์ตูนของเขาทุกเล่มนับแต่นั้นมา

สะอาดทักผมมาในเย็นวันหนึ่ง เขาจำได้ว่าผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแฟนการ์ตูนของเขา และเนื่องในโอกาสที่ ‘ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง’ ถูกตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในรูปแบบพิเศษ และมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานต้นฉบับ เขาก็ได้ชวนวง Freehand วงโฟล์ก อัลเทอร์เนทิฟร็อก (ที่ขึ้นผลงานกับ ฟังใจ ตั้งแต่แรก ๆ และส่วนตัวผมชอบเพลงของพวกเขามากเช่นกัน) มาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเพลงประกอบการ์ตูน ภายใต้ชื่อ ‘ชายไร้เสียง (ONG)’ และแน่นอนว่าเพลงนี้ได้เผยแพร่ผ่านทาง ฟังใจ ด้วย อันที่จริงนี่เป็นวัฒนธรรมที่พบได้บ่อยในญี่ปุ่น แต่ถือว่าเป็นของใหม่ในบ้านเรา สะอาดถามผมมาว่า ฟังใจ สนใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับการร่วมมือครั้งนี้ไหม ผมตอบอย่างไม่ลังเลว่ายินดีมาก ๆ

มานั่งนึก ๆ ว่าทั้งสามสิ่งนี้ (การ์ตูนของสะอาด, เพลงของ Freehand และ ฟังใจ) มีอะไรเป็นจุดร่วม คำตอบแรกที่ได้คือเรื่องความรักในเสียงดนตรีที่มีร่วมกัน แต่เมื่อเจาะลงไปให้ลึกกว่านั้น ย้อนฟังเพลงของ Freehand หลาย ๆ เพลง และกลับไปอ่าน ‘ชายผู้ออกเดินทางฯ’ อีกรอบ ผมก็ได้ค้นพบว่าจริง ๆ แล้วพวกเราทั้งสามมีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกันอยู่ลึกไปกว่านั้นมันคือเรื่องของการฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่เรารัก หรือ passion

แม้คำว่า passion จะมีคนเขียนถึงมากมายหลายครั้ง ซ้ำยังเป็น buzz word ของยุคที่ได้ยินอยู่ทั่วไป แต่ส่วนตัวคิดว่าการลองได้กลับมางานของสะอาด และฟังเพลงของ Freehand อีกรอบ คลุกผสมกับประสบการณ์ส่วนตัว น่าจะพอยังมีมุมมองอะไรใหม่ ๆ กับคำที่คุ้นเคยนี้ให้เขียนถึงอีกสักหน่อย

cover

 

Passion is Pain

อาจดูคล้ายเป็นการเดินทางที่สูญเปล่า…
ฉันเรียนรู้ ด้วยบาดแผล ได้เติบโต ได้เข้าใจ…

— บางส่วนของเนื้อร้องเพลง ชายไร้เสียง โดยศิลปิน Freehand

การค้นพบ passion นั้นยากแล้ว การที่เราจะได้ลงมือทำมันนั้นยากยิ่งกว่า อุปสรรคมันช่างมีหลากหลายระดับซับซ้อน เริ่มจากข้างในตัวเราเองที่มีทั้งความลังเลสงสัย สิ่งนี้จะไปรอดจริง ๆ เหรอ เราจะทำมันได้ดีหรือไม่ ลามมาจนถึงกายภาพที่ต้องเสียสละไปเพื่อทำสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม การที่เราจะพัฒนาตัวเองได้นั้นต้องอาศัยการทำซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ซึ่งแน่นอนไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรย่อมทำให้ร่างกายเราเสื่อมสภาพเฉพาะส่วนเป็นแน่ ไหนจะคนรอบข้างที่หาว่าเราเป็นคนบ้า ที่จะทำตามสิ่งที่เรารัก การถูกดูแคลน ก่นด่า กระทั่งตัดความสัมพันธ์กับเราเพราะสิ่งที่เรารักที่จะทำก็มีให้เห็นบ่อยครั้งหรือไม่น่าประสบความสำเร็จ ขยายมุมมองให้กว้างขึ้นอีกนิด เราก็จะพบกับแรงเสียดทานของสังคมที่ต่างคอยตั้งคำถามกับสิ่งที่เราพยายามทำ เพราะมันช่างไม่เข้ากับขนบ หรือกรอบความคิดของคนส่วนมากเอาเสียเลย

และแม้เราจะต้านทานแรงเสียดเหล่านี้มาได้ทั้งหมด สุดท้ายแล้วเราก็ยังต้องพบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการทำสิ่งที่เรารัก ทั้ง ๆ ที่ passion มันควรจะเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่สวยงาม แต่ทำไมมันทำให้เราเจ็บปวดได้ขนาดนี้?

 

Passion is Home

แม้ passion จะทำให้เราทุกข์ทรมานเท่าไหร่ แต่มันก็ปกป้องคุ้มครองเราได้เช่นกัน ผู้เขียนเคยได้ฟัง TED Talk ของ Elizabeth Gilbert เธอเล่าให้ฟังว่าหลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นจากหนังสือเล่มแรกอย่าง ‘Eat, Pray, Love’ เธอก็รู้สึกถึงแรงกดดันมหาศาล ว่าเล่มสองที่เขียนอยู่จะออกมาไม่ดีเท่าเล่มแรก และจะกลายเป็นความล้มเหลว หลังจากเครียดอยู่นานเธอก็ตระหนักได้ว่าจริง ๆ เธอไม่มีอะไรต้องกังวลเลย เพราะเธอได้สร้างบ้านไว้หลังหนึ่งเพื่อป้องกันเธอจากพายุร้ายที่เรียกว่าความล้มเหลวเอาไว้แล้ว ซึ่งบ้านหลังนั้นก็คือความรักในการเขียนของเธอ (passion in writing) นั่นเอง

ก่อนสำนักพิมพ์จะยอมตีพิมพ์ Eat, Pray, Love เธอทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร และได้รับจดหมายปฏิเสธจากสำนักพิมพ์มาเป็นร้อย ๆ ครั้ง แต่เธอก็ไม่เคยหยุดเขียน ไม่ว่าเธอจะเหนื่อยท้อแค่ไหน เธอก็จะแค่เขียน เพราะเธอรักการเขียนมากกว่าที่จะสนใจว่าหนังสือเธอจะได้ตีพิมพ์หรือไม่ หรือว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เมื่อความคิดนี้ผุดขึ้นมา เธอจึงไม่แคร์อีกต่อไปว่าหนังสือเล่มที่สองของเธอจะได้รับการตอบรับอย่างไร ซึ่งปรากฏว่ามันก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเล่มแรก แต่เธอกลับรู้สึกโล่งใจ เพราะเธอรู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าสื่อและสังคมจะก่นด่ามันยังไง มรสุมจะถาโถมเข้ามาแค่ไหน เธอก็สามารถกลับมายังบ้านที่เธออุ่นใจนั่นคือการเขียนได้เสมอ

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ Elizabeth เล่ามันสรุปออกมาได้เป็นอย่างดี ว่าทำไมบางครั้งคนเราถึงได้ทำสิ่งที่เรารัก แม้ว่าจะมันจะสวนทางกับ common sense ทั้งปวงบนโลก… ก็เพราะว่ามันเป็นบ้านของพวกเรา และเราสบายใจและสัมผัสได้ถึงความสุขที่สุดแล้วเมื่อได้ทำมัน

เพราะชีวิตฉันมันเหลือแต่กินมั้ง
ถึงจะรีบยัด ๆ เอาอาหารเข้าปากแค่ไหน…
ฉันก็เลยรู้สึกว่ามันยังอร่อยอยู่ดี

— ศรีพร แชมป์การแข่งขันกินจุ จากการ์ตูน ‘ชายผู้ออกเดินทางฯ’ ตอน ‘รส’

 

Passion is Profession?

หลายครั้งที่ผู้เขียนถูกเชิญให้ไปพูดตามสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์การก่อตั้ง ฟังใจ ผู้เขียนจะพูดทุกครั้งว่าถ้าหากใครทำในสิ่งที่ตัวเองรัก (passion) ให้กลายเป็นอาชีพ (profession) ได้ ผมถือว่าคน ๆ นั้นโชคดีอย่างมหาศาล เพราะมันยากเหลือเกินที่จะเกิดขึ้นได้ โดยผมมักยกตัวอย่างผ่าน diagram นี้:

passion-diagram

จาก diagram นี้ผมแบ่งการพิจารณาว่าเราจะทำอะไรในชีวิตไว้เป็น 3 ส่วน

  1. สิ่งที่เราทำได้ดี (skills)
  2. สิ่งที่เรารักที่จะทำ (passion)
  3. สิ่งที่เราต้องทำด้วยความจำเป็น (bbligations)

การที่ passion จะเป็น profession ได้นั้น สิ่งนั้นต้องตกอยู่ในวงกลมทั้งสามนี้พอดี เพราะเราต้องรักมัน ทำมันได้ดี และสิ่งนี้ต้องตอบโจทย์กับสถานการณ์ของเราด้วย แปลว่าอะไร? ผู้เขียนได้มีโอกาสพบนักดนตรีมากมายตั้งแต่เริ่มทำ ฟังใจ และหลายคนมีทั้งข้อ 1 และ 2 แต่การเล่นดนตรีกลับไม่ตอบโจทย์ในข้อ 3 เหตุด้วยกลไกของเศรษฐกิจของดนตรีในยุคปัจจุบัน ทำให้ยากเหลือเกินที่การเป็นนักดนตรีจะมีรายได้เพียงพอกับภาระที่ต้องดูแลตัวเอง รวมไปถึงคนที่เรารักรอบข้าง

อย่างวง Freehand เองก็ประกอบอาชีพสถาปนิกทั้งวง และหากจะมองภาพรวมทั้งประเทศ มีวงดนตรีเพียงหยิบมือที่สามารถเล่นดนตรีให้เป็นอาชีพ และคิดว่านักวาดการ์ตูนในบ้านเราก็น่าจะประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน… ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้อยากให้ท้อถอยนะครับ เพราะไม่ใช่ว่าสถานการณ์หนึ่ง ๆ จะเป็นจริงตลอดไป เหนื่อยก็พัก กลับมาหาบ้านที่เรียกว่า passion ของเรา ฝึกฝนความสามารถของเราไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยหาทางต่อการกับข้อ 3 ไปทีละนิด ๆ

ไอ้ความฝันเท่ ๆ ก็ใช่ว่าผมจะไม่มี ที่ผ่านมาผมคิดจะลาออกไปเดินตามความฝันให้มันรู้แล้วรู้รอด ไม่รู้กี่ครั้ง
แต่ทำไงได้วะ ผมไม่อยากเห็นลูกร้องไห้หิวข้าวนี่หว่า

 — แปะดอย จากการ์ตูน ‘ชายผู้ออกเดินทางฯ’ ตอน “อย่างน้อยๆ”

 

การ์ตูนของสะอาด ได้รับรางวัล International Manga Awards จากปี 2012 ที่ญี่ปุ่น และหลาย ๆ คนคงมองว่านี่แหละคือหลักฐานที่บ่งชี้ความสำเร็จของเขา แต่ส่วนตัวผมแล้วการได้อ่านหน้าประวัติผู้เขียนที่ว่า ‘ประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูนแล้ว’ ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมมากกว่าการได้รางวัลที่เป็นเรื่องของภาพเบื้องหน้า แต่บทพิสูจน์ในการยืนระยะกับ passion ในเบื้องหลังต่างหากคือของจริง และไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกถึงความทุ่มเทและตั้งใจให้กับ passion ได้ดีไปกว่าการได้ทำมันเป็น profession อีกแล้ว… ตัวผู้เขียนก็ได้เรียนรู้ความจริงนี้มาด้วยความยากลำบากเช่นเดียวกัน

สุดท้ายแล้วอยากให้บทความนี้เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังสร้างบ้านน้อย ๆ ที่เรียกว่า passion ของตัวเอง ให้ค่อย ๆ วางรากฐานมันอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง เพื่อปลายทางสุดท้ายแล้วเราสามารถทำสิ่งนี้เป็น profession ได้จริง ๆ

แต่ถ้าวันไหนเกิดเหนื่อย ท้อ หรืออยากได้กำลังใจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมแนะนำให้ลองไปฟังเพลง ชายไร้เสียง ของ Freehand ได้ ที่นี่ หรืออ่านการ์ตูนของสะอาดได้ ที่นี่ เลยครับ

…ไม่คิดว่าการเขียนการ์ตูนเป็นแค่ความฝัน แต่มันคือความหมาย…

—นายสะอาด, บทส่งท้าย จากการ์ตูน ‘ชายผู้ออกเดินทางฯ’

Facebook Comments

Next:


Sarun Pinyarat

ท้อป ศรัณย์ ภิญญรัตน์ เคย: เรียนออกแบบที่ไทยและฟินแลนด์ / ทำงานที่ Startup ใน Sillicon Valley ชอบ: ฟังเพลง / ดูหนัง / อ่าน / การเล่าเรื่อง / บูมบูม เป็น: ผู้ก่อตั้งฟังใจ / นักออกแบบ / คนคิด / คนเจรจา / คนลงมือทำ / นักเขียนจำเป็น