รู้จักกับนักประพันธ์ระดับโลกคนนี้ ก่อนไปดู Ryuichi Sakamoto: CODA
- Writer: Peerapong Kaewthae
ถ้า Freddie Mercury คือดาวค้างฟ้าตลอดกาล David Bowie คือดาวจรัสแสงในใจคุณ หรือ Prince คือสุดยอดศิลปินที่โลกเคยมีมา คุณควรรู้จัก Ryuichi Sakamoto ตำนานที่ยังมีลมหายใจ เขาเคยเป็นตัวพ่อแห่งวงการเพลงญี่ปุ่นในยุค 80s แถมยังเป็นพ่อมดแห่งวงการเพลงระดับโลกที่ทุกคนต้องหลงใหล เขาสร้างผลงานขึ้นหิ้งไว้มากมายทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ หรืออัลบั้มเดี่ยวของเขาที่ตราตรึงหูคนทั้งโลก อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังสงสัยอยู่อีกว่าเขาเก่งแค่ไหน ล่าสุดเพิ่งมีข่าวฮือฮาว่าเขาชอบไปอุดหนุนร้านอาหารร้านหนึ่งในนิวยอร์ก แต่ร้านดันเปิดเพลงไม่ได้เข้ากับรสชาติที่เอร็ดอร่อยของอาหารเลย เขาจึงอาสาจัดเพลย์ลิสต์ให้ร้านนี้ฟรี ๆ แถมเปลี่ยนแนวตามซีซันของอาหารจนทำให้ทุกคนต้องอิจฉา เท่ขนาดไหนล่ะคิดดู
Ryuichi Sakamoto ประสบความสำเร็จตั้งแต่เพิ่งจบมหาลัยใหม่ ๆ ด้วยการฟอร์มวงอิเล็กทรอนิกกับเพื่อนอีกสองคนในชื่อ Yellow Magic Orchestra และยังเป็นผู้บุกเบิกแนวเพลงซินธ์ป๊อป เทคโน กับเพลงเฮาส์อีกด้วย แล้วยังทำเพลงแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกเชิงทดลองของตัวเองอีกทั้งอัลบั้ม Thousand Knives และ B-2 Unit ที่มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นกับซินธ์มินิมอล โดยเพลง Riot in Lagos ในอัลบั้มหลังถูกกล่าวขานว่ามีอิทธิพลต่อแนวเพลงอิเล็กทรอนิกและฮิปฮอปของญี่ปุ่นในยุคนั้นอย่างมาก แร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง Afrika Bambaata ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการทำเพลงจาก Sakamoto เนี่ยแหละ หรือเพลง Energy Flow ของเขายังเคยขึ้นอันดับ 1 ของ Oricon ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงของญี่ปุ่น โดยได้รับการบันทึกว่าเป็นเพลงบรรเลงเพลงแรกที่ได้ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งในประวัติศาสต์ของชาร์ตอันนี้ด้วย
เขายังได้ทำเพลงกับศิลปินชื่อดังในยุคนั้นอีกมากมายทั้ง Iggy Pop, David Sylvian, Carsten Nicolai, Youssou N’Dour, และ Fennesz แต่ Sakamoto ก็ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับอะไรเดิม ๆ เขาเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่ ๆ ผ่านแนวเพลงที่แตกต่างตั้งแต่คลาสสิกไปจนถึงเวิร์ลมิวสิก ทั้งดนตรีญี่ปุ่นที่เรียกว่า Okinawan รวมไปถึงดนตรีพื้นเมืองของอินเดียและแอฟริกา เขายังเคยแต่งเพลงให้กับพิธีเปิดโอลิมปิกบาร์เซโลนาในปี 1992 อีกด้วย
อัลบั้มเดี่ยวที่น่าสนใจของเขายังมีอีกมากมายทั้งอัลบั้ม Playing the Piano ที่นำผลงานเก่า ๆ มาทำเป็นอะคูสติกเปียโนตัวเดียว เขาสามารถนำเพลงที่มีความซับซ้อนทั้งด้านมิติและเคลื่อนดนตรีมาย่อยให้เหลือเปียโนเรียบ ๆ ได้งดงามมาก ขุดลงไปในอารมณ์ของเพลงต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น และอัลบั้มล่าสุดอย่าง async ที่เพิ่งปล่อยเมื่อปีที่แล้ว ทำเอาทุกคนดีใจกันถ้วนหน้าเพราะเขาไม่ได้ออกอัลบั้มเต็มมาเลยถึง 8 ปี แถมยังกลับมาด้วยเสียงอิเล็กทรอนิกอันลึกลับยากเกินกว่าจะจินตนาการแต่ยังมีความละเมียดละไมอยู่นั้นเสมอ แถมยังเปิดโอกาสให้ศิลปินแถวหน้าจากทั่วโลกมาตีความเพลงในอัลบั้มนี้ใหม่ในสไตล์ของตัวเองผ่านอัลบั้ม async: Remodels ที่มีทั้ง Fennesz, Arca และ Cornelius มาร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ด้วย
ในฐานะนักแต่งดนตรีประกอบหนัง เขาก็คว้ารางวัลระดับโลกมามากมายทั้งเป็นศิลปินเอเชียคนแรกที่คว้าแกรมมี่ และคว้ารางวัลออสการ์จากหนังอมตะอย่าง Merry Christmas, Mr.Lawrence และ The Last Emperor รวมไปถึงหนังที่ ‘Leonardo DiCaprio’ ต้องสู้กับหมีอย่าง ‘The Revenant’ แถมเขายังมีส่วนในการประพันธ์เพลงให้การ์ตูนและเกมญี่ปุ่นอีกมากมาย
นอกจากเป็นศิลปินระดับโลกแล้ว เขายังมีชีวิตอีกมุมหนึ่งในการเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ออกมาต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์และก่อตั้งกลุ่ม Stop Rokkasho ขึ้นมาเพิ่งแสดงจุดยืนให้รัฐปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฮามาโอกะหลังจากโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในฟุคุชิมะ และได้จัดคอนเสิร์ต No Nuke 2012 ขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความอันตรายของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีศิลปินมากมายทั้งการรวมตัวกันอีกครั้งของ Yellow Magic Orchestra และวงเยอรมันสุดล้ำอย่าง Kraftwerk เขามีแนวคิดว่าเสียงเพลงจะนำมาซึ่งความสงบสุขได้
เขายังได้รวมตัวกับ Avex Group ค่ายเพลงอินดี้ชื่อดังในญี่ปุ่นตั้งกลุ่ม Commmons ขึ้นมา โดยเขายืนยันว่านี่ไม่ใช่ค่ายเพลงแต่เป็นกลุ่มคนที่ส่งต่อแรงบันดาลทางเสียงดนตรีให้แก่กัน หรือให้ศิลปินได้มาร่วมงานกันอย่างเท่าเทียม ขับเคลื่อนวงการเพลงญี่ปุ่นให้พัฒนาต่อไปด้วยกัน โดยตัว m ตัวที่สามในชื่อกลุ่มก็มาจากคำว่า music นั่นเอง
คงไม่มีวันสายเกินไป ที่จะได้ชอบเพลงของเขา แต่บ้านเราก็กำลังจะได้รู้จักเขามากขึ้นแล้ว หลังจากที่ Documentary Club ประกาศฉายสารคดีของเขาในชื่อว่า Ryuichi Sakamoto: CODA ที่ใช้เวลาถ่ายทำถึง 5 ปี รวมถึงปีที่เขาต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างแสนสาหัส แต่ตัวเขาเองก็ไม่หยุดทำงานเพลงเลย หนังจะพาเราไปซึมซับอัจฉริยภาพ ความละเอียดอ่อนในแนวทางดนตรี อารมณ์ขันและความเศร้าของเขาทุกมุม ปล่อยให้คนดูค่อย ๆ รู้จักและตกหลุมรักศิลปินผู้นี้ด้วยตัวเอง สำหรับคอดนตรีอย่างเราก็คงอดตื่นเต้นไม่ได้ที่จะได้เข้าถึงดนตรีของเขามากขึ้น เจอกัน 27 กันยายน ที่ SF ใกล้บ้านคุณ หรือที่ House RCA ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม เป็นต้นไป
ระหว่างที่กำลังรอหนังเขาเข้าฉาย ลองไปฟังเพลย์ลิสต์ที่เขาจัดให้ร้านอาหารที่เขาชอบไปพลาง ๆ ก่อนดีกว่า แค่เลื่อนผ่าน ๆ ตาก็มีทั้ง Goldmund, Bill Evans, Jóhann Jóhannsson, Gal Costa กับ Oneohtrix Point Never ก็เรียกว่ารสนิยมโคตรดีแล้ว ฟังได้แค่บน spotify เท่านั้นนาจา