มารู้จักกับ Raft วงดนตรีสัญชาติไทย-ญี่ปุ่น ก่อนไปฟังพวกเขาสด ๆ วันพฤหัสนี้
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูเราสักเท่าไหร่ แต่ Raft คือวงดนตรีสองสัญชาติ ไทย–ญี่ปุ่น ที่เริ่มทำเพลงกันตั้งแต่ปี 2015 โดยมีตัวตั้งตัวตีคือ มาสะ โปรดิวเซอร์ที่ทำงานกราฟฟิกดีไซเนอร์ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เขามีโอกาสได้มาทำงานที่ประเทศไทยจึงเกิดสนใจซีนดนตรีบ้านเราขึ้นมา เขาคิดว่าน่าจะลองทำเพลงให้คนไทยฟังและเล่นจริงที่นี่เพื่อดูว่าผลตอบรับจะเป็นยังไงบ้าง เลยได้ชวนโยชิยูกิ ซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพ และเป็นเพื่อนของเขามาร่วมโปรเจกต์ดู จนกลายมาเป็นวงดนตรีที่ทำเพลงภาษาไทยกับอังกฤษ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายหลักอย่างคนไทยได้เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาอยากจะสื่อสาร
วงประกอบไปด้วยนักดนตรีญี่ปุ่นสามชีวิต และนักร้องชาวไทยชายหญิงสองคน ทำงานเพลงแลกเปลี่ยนกันไปมา แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาระหว่างการทำงานเพราะเรื่องภาษาและวัฒนธรรม แต่พวกเขาก็พยายาม จนออกมาเป็นอัลบั้ม Left Right Arrow อย่างที่เราได้ฟังกัน
“เราเจอผึ้ง นักร้องหญิงจากคอนเนคชันของเพื่อน ส่วนโต๋เต๋ นักร้องชายเขาสมัครเข้ามาตอนที่เราประกาศหาสมาชิกใหม่ พอลองให้ทั้งสองคนส่งเสียงร้องมาก็รู้สึกว่าน่าสนใจและน่าชวนมาทำเพลงด้วยกัน เราเลยให้พวกเขาลองเขียนเนื้อเพลง แล้วให้ล่ามช่วยแปลความหมาย เราไม่รู้หรอกว่าไวยกรณ์หรือภาษานั้นสลวยหรือเปล่า แต่ถ้าเนื้อหาโอเคสำหรับเราก็เป็นอันใช้ได้”
ในช่วงแรกของการลองผิดลองถูกกับตลาดดนตรีของไทย มาสะและโยชิยูกิช่วยกันหาข้อมูลสำหรับ live house หรือสถานที่สำหรับเล่นดนตรีสด แต่สิ่งที่เสิร์ชเจอส่วนใหญ่กลับเป็นร้านเหล้าที่ไม่ใช่เป้าหมายของเขา หรือแม้แต่การลองไปร่วมงานดนตรีอย่าง Pattaya Music Festival เพื่อหาช่องทางที่จะไปต่อ ก็พบว่ายังไม่ใช่ทางเท่าไหร่ จนเขาได้รับความช่วยเหลือจากคนญี่ปุ่นที่อยู่ในแวดวงดนตรีของไทยมานานแนะนำเรื่องต่าง ๆ และช่วยติดต่อประสานให้ได้ในที่สุด
“ตอนนี้เราตั้งใจจะเล่นที่ไทยเป็นหลักครับ พวกเราเป็นคนญี่ปุ่นที่อยากทำเพลงให้คนไทยฟัง อยากสร้างฐานแฟนเพลงที่นี่และได้เล่นงานใหญ่ ๆ สักงาน ในอนาคตเราอาจจะทำเพลงภาษาญี่ปุ่นเผื่อว่ามีโอกาสได้กลับไปเล่นที่บ้าน Raft แปลว่า แพ ถึงแม้ว่าแพมันจะเล็ก แต่ถ้ามีคนสนใจหรือคนชอบ พวกเราก็จะพายไป”
หากฟังเผิน ๆ วงดนตรีของพวกเขาอาจดูเป็นวงญี่ปุ่นที่เล่นดนตรีป๊อปร็อกทั่วไป แต่ถ้าฟังดี ๆ เพลงของพวกเขาจะมีการผสมผสานหลากหลายแนวมากในอัลบั้ม ตั้งแต่ฟังก์ แมธร็อก ไปจนถึงโพสต์ร็อก เป็นเพราะคอนเซปต์ Liberal Music ที่พวกเขาต้องการจะให้ทุกคนในวงได้มีส่วนร่วมในการทำเพลง ไม่ให้ใครเด่นกว่ากันจนเกินไปและมีสิทธิมีเสียงในการออกความคิดหรือใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้อย่างเต็มที่ แม้การรับสมาชิกใหม่เข้ามาจะทำให้ทิศทางของวงเปลี่ยนแปลงไปบ้างสักเล็กน้อยแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไร เพราะพวกเขายังพยายามคงความเป็น Raft ให้ได้มากที่สุด แบบที่ถ้าใครมาฟังก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คืองานของพวกเขา
นอกเหนือจากงานเพลงแล้ว วง Raft ยังทำคอนเทนต์เกี่ยวกับวงของตัวเอง นำเสนอออกมาในชื่อ Borderless Musician เป็นบล็อกสามภาษาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของวง สำหรับภาษาญี่ปุ่นพวกเขาตั้งใจจะเจาะไปที่กลุ่มนักดนตรีหรือวงการญี่ปุ่นที่พอรู้ว่ามีโปรเจกต์อะไรแบบนี้อยู่ก็อาจจะติดต่อกันเพื่อสร้างเครือข่าย และต่อยอดไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต ส่วนภาษาไทยก็เพื่อแลกเปลี่ยนติดต่อกับแฟน ๆ ชาวไทย และภาษาอังกฤษก็มีไว้เผื่อโอกาสในภายหน้าวงจะเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น เริ่มต้นก่อนในแถบเอเชีย
“ดนตรีไม่ได้มีกำแพงหรือเส้นแบ่ง สิ่งที่สนุกก็คือสิ่งที่สนุก สิ่งที่ดีก็คือสิ่งที่ดี เราอยากให้ลองฟังเพลงในอัลบั้มกันดู แน่นอนว่าเรามีเพลงไม้ตายในอัลบั้ม แต่ก็อยากให้ทุกคนลองฟังทุกเพลง น่าจะมีเพลงอื่น ๆ ที่ชอบด้วยเหมือนกัน แล้วก็อยากให้ทุกคนมาสนุกกัน วันที่ 28 กันยายนนี้ เราจะทำให้ทุกคนสนุกไปกับเราครับ ขอฝากไว้ด้วยครับ”
เจอกับพวกเขา The Yers และ H1F4 ในงาน Walk ที่ Play Yard by Studio Bar ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ และ http://raft.asia/