Article Story

Pre-internet เด็กวัยรุ่นยุคก่อนเราเขาฟังเพลงกันยังไง

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Illustrator: Thanaporn Sookthavorn

หลายคนคงจำไม่ได้แล้วว่าชีวิตประจำวันก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตมันเป็นยังไง เพราะปัจจุบันมันช่างสะดวกสบายซะจนเราสามารถหาทุกอย่างได้บนหน้าจอ แม้จะมีกระแสย้อนรำลึกถึงยุค 90s ที่เรามักจะนึกถึงความรุ่มรวยวัฒนธรรมที่สื่อออกมาจนเราคิดว่าถ้าย้อนไปอยู่ในยุคนั้นได้ก็คงจะดีนะ แต่เด็กยุคนี้อาจจะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วคนสมัยก่อนกว่าจะได้ฟังเพลงของศิลปินที่ชอบมันยากลำบากขนาดไหน

รักแรกผ่านวิทยุ

สมัยนี้อยากฟังเพลงอะไรก็เข้า YouTube ใส่ชื่อเพลงพร้อมชื่อนักร้องลงไป ไม่กี่อึดใจก็ได้ฟังเพลงนั้นแบบเต็มอิ่ม จะฟังกี่รอบก็ได้

แต่เด็กยุค 90s ที่แท้จริงต้องหมุนหน้าปัดวิทยุหาเพลงที่ชอบเอา ต้องรอว่าเมื่อไหร่ดีเจจะครึ้มอกครึ้มใจเปิดเพลงที่เราชอบให้นะ ช้ำใจกว่าถ้าเปิดมาแล้วเพลงที่เราชอบเลยท่อนฮุคไปแล้ว กว่าจะได้ฟังอีกทีก็ต้องรอชั่วโมงต่อไป

ใครบ้านมีโทรศัพท์ก็สามารถโทรไปขอเพลง เดี๋ยวก็คงได้ฟัง บางคนต้องวิ่งไปหยอดตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อขอเพลง กว่าจะวิ่งกลับมาถึงบ้านบางทีเพลงจบแล้วก็มี อดฟังซะงั้น

คนที่ฟังวิทยุทุกวันก็ไม่แปลกที่จะตกหลุมรักดีเจคลื่นที่เราชอบ เพราะมักเคลิ้มไปกับเสียงที่มีเสน่ห์กับเพลงรักที่โดนเปิดกรอกหูทุกวัน บางคนก็ตามกรี๊ดดีเจเหมือนเป็นศิลปินคนหนึ่ง แต่พอแอบไปดักเจอหน้าสถานีดันเจอเคสไม่ตรงปก แบบเสียงกับหน้าไม่ไปด้วยกัน เรียกว่าอกหักครั้งแรกในชีวิตได้เลย

เชื่อว่าวัยรุ่นตอนกลางทั้งหลายน่าจะจำคลื่น 95.5 FMX ได้แน่นอน ดีเจพี่จูนกับดีเจพี่โจอี้ คนก็กระหน่ำโทรกันเข้าไปขอเพลงกันจนสายไหม้ โทรติดทีดีใจเหมือนถูกหวย แล้วยุคนั้นไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะมีโทรศัพท์นะจ๊ะ ก็ต้องใช้วิธีส่งโปสการ์ดหรือจดหมายเข้าไปขอเพลงกับดีเจเจ้าป้า แห่ง 88.5 คลื่น Z แทน แล้วมานั่งลุ้นหน้าวิทยุว่าเจ้าป้าจะอ่านจดหมายของเรามั้ย ถ้าเจ้าป้าอ่านจดหมายใคร วันรุ่งขึ้นนี่ขิงได้ทั้งซอยเพราะชื่อได้ออกวิทยุ ยิ่งคนที่ชอบและอยากติดตามเพลงสากลนี่ยิ่งยาก ถึงจะมีนิตยสารอย่าง Music Express, POP หรือ Forwordmag ให้อัพเดทข่าวสารวงใหม่ ๆ ก็ตาม แต่จะหาฟังในไทยนี่แทบเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องต้องหวังพึ่งดีเจพี่โจ๊กกับดีเจพี่อ้อแห่งคลื่น 102.5 ที่กล้าเอาเพลงของ Radiohead หรือ Dream Theater มาเปิด วิทยุเลยเป็นไม่กี่ช่องทางที่เติมเต็มใบหูของวัยรุ่นในยุคนั้นได้

มีเทปเรียกพี่

คนที่มีรายได้หน่อยก็เป็นเจ้าของศิลปินที่เราชอบได้ด้วยการซื้อเทป จับจ่ายเพื่อที่เราจะได้ฟังเพลงที่เราชอบได้ตามใจสั่ง การซื้อเทปกลายเป็นสัญลักษณ์ของแฟนเพลงตัวยงไปโดยปริยาย แต่ก็ถือว่าเทปแพงมากในสมัยนั้น แล้วการฟังเพลงผ่านเทปก็เป็นประสบการณ์ที่ทุกคนคงจะลืมไม่ลงเลยทีเดียว กว่าจะถึงเพลงที่ชอบก็ต้องนั่งฟังเพลงก่อนหน้านี้ไปเรื่อย ใครใจร้อนก็กรอเอา บางครั้งกรอเลยก็มีต้องกรอกลับไปอีก ฟังบ่อย ๆ แถบแม่เหล็กก็พันกับเครื่องต้องแกะออกมาแล้วเอาดินสอเสียบแกนเพื่อหมุนให้มันกลับเข้าไปในเทป ถ้าฟังบ่อยเกินไปยิ่งกรอไปกรอมาเทปยืด ตอนฟังคนเดียวก็ไม่รู้หรอก แต่พอเพื่อนได้ยินถึงเพิ่งรู้ว่าเทปเราจังหวะมันยานกว่าของคนอื่นซะงั้น ยิ่งไปบ้านเพื่อนแล้วเปิดตู้เย็นเจอเทปห่อผ้าหรือถุงพลาสติกเก็บไว้ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาสภาพของเทปให้อยู่กับเราไปนาน ๆ

ใครชอบเพลงของศิลปินคนไหนแค่เพลงเดียวก็คงทำใจซื้อเทปอัลบั้มนั้นไม่ลง ก็ต้องซื้อเทปเปล่ามารออัดเพลงที่ชอบตามวิทยุเองเพื่อประหยัดเงิน บางทีก็มีเสียงดีเจติดมาด้วย เบื่อเพลงไหนก็แค่เอาเทปเก่ามาอัดเพลงใหม่ทับลงไปได้เลย เป็นนวัตกรรมที่ล้ำมาก ๆ สำหรับเด็กยุคนั้นแล้ว เลยทำให้เกิดวัฒนธรรมการสร้างมิกซ์เทป (mixtape) ขึ้นมา ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Guardians of the Galaxy คงนึกภาพออก มันคือการอัดเพลงหลาย ๆ เพลงจากหลาย ๆ ศิลปินที่เราชอบมาไว้ในเทปเดียวกัน จะได้เทปเพลงที่มีแต่เพลงที่เราชอบ ฟังแล้วรื่นหูไปทั้งวัน แล้วยังใช้มิกซ์เทปแทนความรู้สึกให้แก่กันด้วยการอัดเพลงบอกรักลงเทปแล้วส่งให้คนที่ชอบฟัง เหมือนวันนี้เราส่งลิงก์ YouTube เพลงบอกรักให้คนที่เราชอบนั่นแหละ ถึงเขาจะรู้อยู่แล้วเถอะว่าจีบก็ต้องเอากลับไปฟังก่อนถึงให้คำตอบได้ว่าโอเคหรือไม่โอเคตามพิธี

ระยะเวลาของการรอคอยคำตอบก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกมันโรแมนติกขึ้น หรือกลายเป็นหนุ่มจืดได้อย่างน่าอัศจรรย์

แม้สมัยนั้นจะยังไม่มี mp3 มาแย่งตลาดฟังเพลงไป ใครสะสมเทปเยอะ ๆ อาจคุ้นเคยกับคำว่า เทปพีค็อก ซึ่งเป็นค่ายเทปที่ปั๊มเทปผีออกมาขายในราคาที่ถูกมากเพียงตลับละ 30 บาท (ในสมัยนั้นเทปถูกลิขสิทธิ์ตลับละ 80 เลยทีเดียว ในขณะที่ข้าวจานละไม่ถึง 20 เลย) สัญลักษณ์คือนกยูงแพนหางสีแดงแรงฤทธิ์ ค่ายนี้มักปั๊มเทปของวงต่างประเทศที่ไม่มีลิขสิทธิ์ในไทยมาขาย ส่วนใหญ่จะเป็นวงเมทัลอย่าง Metallica หรือ Megadeth วงดัง ๆ ก็มีอย่าง Pink Floyd กับ David Bowie ขายด้วย แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้ฟังเทปพีค็อกมาก ๆ เลยคืออัลบั้ม Greatest Hits ที่รวมเพลงดัง ๆ ในตอนนั้นไว้ในอัลบั้มเดียว อารมณ์ประมาณมิกซ์เทปนั่นแหละ ฟังเทปเดียวตามกระแสทันแน่นอน และยังมีอีกหลายค่ายที่ทำเทปผีออกมาขายตามความต้องการอันหลากหลายของคนฟัง เท่าที่จำได้ก็มี โซล่าร์เฮ้าส์ ที่ขายทำเทปรวมเพลงสากลฮิต ๆ หรือเทปเพลงญี่ปุ่นดัง ๆ บ้างประปราย และค่าย 501 ขวัญใจนักฟังเพลงแนวโพรเกรสซิฟร็อกในยุคนั้น ค่ายนี้มักขายเทปของศิลปินที่ถูกพูดถึงในนิตยสาร VOICE แบบอัพเดททุกเดือนเพราะนักฟังเพลงอ่านก็พร้อมจะตามซื้อฟังทุกเดือนอยู่แล้ว หรือถ้าใครไม่มีศิลปินในดวงใจเป็นพิเศษแค่ฟังวิทยุแล้วชอบเป็นบางเพลง ก็มีคนรับจ้างทำมิกซ์เทปเพลงตามสั่งด้วยนะ แค่เขียนชื่อเพลงกับชื่อศิลปินที่ต้องการลงไป 12 เพลง เขาก็จะอัดเทปให้เราตามจำนวนเพลงที่เราสั่งเนี่ยแหละ สะดวกสบายไปอีก

ฟังเพลงผ่านตากับรายการเพลง

ตอนนั้นมันก็ไม่มีทั้ง instagram หรือ facebook เหมือนสมัยนี้ให้เราส่องว่าศิลปินกำลังมีจะปล่อยเพลงใหม่ ดราม่ากับใคร หรือเข้าห้องน้ำอยู่รึเปล่า รายการทีวีเลยเป็นไม่กี่ช่องทางที่ศิลปินจะได้สื่อสารกับคนดู นักร้องสมัยนั้นจะเก็บตัวมาก ไม่สามารถหาเจอได้ตามห้าง ช่องทางติดต่อก็มีแค่จดหมายอย่างเดียว ถ้าเขาตอบกลับมานี่จะเป็นอะไรที่ฟินมาก ๆ เหมือนความรู้สึกของเราได้ส่งถึงเขา แต่ถ้าใครไม่เคยได้จดหมายตอบกลับเลยก็ต้องรอว่าศิลปินคนนั้นจะไปออกรายการไหน เพื่อไปเกาะหน้าจอทีวีรออย่างตื่นเต้น มันเป็นช่องทางเดียวที่จะได้ทำความรู้จักกับศิลปินพวกนั้นได้

ตอนนั้นก็จะมีรายการเพลงหลายรายการ ซึ่งมักเป็นค่ายเพลงเองที่ลงมาทำรายการเพื่อโปรโมตเพลงในค่ายของตัวเอง ทำให้มีการแข่งขันกันสูงมากและพยายามสร้างสรรค์รายการให้ดูน่าสนใจ เช่น เอาพิธีกรฝีปากดีมาสร้างความสนุกสนาน เป็นเกมโชว์ หรือให้ศิลปินดัง ๆ มาแนะนำเทคนิคต่าง ๆ ในการเล่นดนตรี แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการคือได้ดูมิวสิกวิดิโอเพลงที่เราชอบต่างหาก หลังจากที่เพลงได้รับการตอบรับจากคนฟังวิทยุอย่างดี ก็มักจะมีเอ็มวีมาโปรโมตตัวศิลปินต่อไป แล้วเอ็มวีใหม่ ๆ ก็มักจะมาปล่อยตามรายการเหล่านี้เป็นที่แรกนั่นเอง ซึ่งเป็นการรอคอยที่ค่อนข้างทรหดเหมือนกัน เอ็มวีพวกนี้ก็จะมาในรูปแบบของทีเซอร์สิบวินาทีให้เราตื่นเต้นแล้วก็หายไป กว่าจะได้ดูจริงก็เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

ใครยังจำรายการเพลงเหล่านี้ได้บ้าง มาเช็คอายุกันหน่อย

แฮ็ปปี้เบิร์ดเดย์ออนไอซ์ แตกต่างด้วยเวทีรายการที่เป็นน้ำแข็งจริง ๆ พี่หมิว ลลิตา ก็ต้องสเก็ตน้ำแข็งมาดำเนินรายการจริง ๆ แขกรับเชิญก็มีทั้งนักร้องนักแสดงมาร้องเพลงให้ฟังกันสด ๆ อันนี้เป็นคลิปตอนพี่หมิวลาออกจากการเป็นพิธีกร เศร้ามาก ถ้าอ่านคอมเมนต์ของคลิปจะเห็นว่าคนรู้จักค่อนข้างมีอายุประมาณนึง

ขยับเข้ามาค่อยก็จะเป็น เกมฮอตเพลงฮิต ของค่ายแกรมมี่ และเมนูวันหยุดของค่ายอาร์เอส ที่ออกอากาศในวันหยุดนักขัตฤกษ์ รายการแรกอยู่มานานมากจนยุบไปและกลับมาใหม่บนช่องเคเบิ้ลของตัวเอง สมัยนั้นรายการนี้มักจะมีเอ็มวีใหม่มาเปิดตัวบ่อย ๆ นอกจากพี่ไก่ สมพลเป็นพิธีกรแล้ว ยังมีพี่เหลือมตุ๊กตางู (ซึ่งคือน้าเน็ก) เป็นพิธีกรคู่ด้วย ที่เป็นกิมมิกของรายการจริง ๆ คือโทรศัพท์ตุ๊กตาหมีสีขาวขยับปากได้ เวลามีคนโทรเข้ามาในรายการ หมีก็จะขยับปากแทนผู้ชมทางบ้าน ดูน่ารักน่าหยิกสุด ๆ

เกมโชว์เกี่ยวกับเพลงในดวงใจของทุกคน คงหนีไม่พ้น Jukebox Game พิธีกรคู่ขวัญ พี่ไก่ สมพล กับพี่ตุ๊ก ญาณี ขนความฮามาพร้อมเพลงฮิตติดชาร์ตมาทำเป็นเกมง่าย ๆ สำหรับคนรักเสียงเพลง ผู้ชมทางบ้านก็สนุกไปกับการสาปส่งดารานักร้องที่มารายการแล้วจำเนื้อเพลงได้ไม่เก่งเท่าเรา พร้อมได้ฟังเพลงเพราะ ๆ ที่เราชอบไปด้วย เป็นรายการที่อยากให้กลับมาฉายอีกครั้งมาก ๆ

แมลงมัน ที่มีนักดนตรีตัวพ่ออย่าง พี่โต อดีตนักร้องนำวง Silly Fools กับ พี่แจ็ค วง Fly มาคอยแนะนำเทคนิคการเล่นดนตรีอย่างมืออาชีพผ่านนักดนตรีรับเชิญดัง ๆ ในวงการ พร้อมเอ็มวีเพลงร็อกที่กำลังเป็นกระแสในตอนนั้น ถ้าจะฟังเพลงร็อกใหม่ ๆ ก็ต้องไม่พลาดรายการนี้เลย

พอมานั่งไล่คว้าความทรงจำสมัยก่อนแล้วก็รู้สึกว่าตอนนั้นมันก็ดีจริง ๆ นะ เด็กยุคเก่าอย่างเราก็อยากให้เด็กยุคนี้ได้ลองสัมผัสความรู้สึกของการฟังเพลงในสมัยนั้นดูบ้างเหมือนกัน ยิ่งตอนนี้โลกหมุนเร็วขึ้น ทุกอย่างดูง่ายขึ้น หูของเราก็ดูจะด้านชากับทุกสิ่งที่ผ่านมาเร็วเกินไปเหมือนกัน แต่ขอให้เราจดจำทุกเสียง ศิลปินทุกคน ทุกเพลงที่เราชื่นชอบไว้ ถึงบางสิ่งต้องตกหล่นและเลือนหายไปตามกาลเวลาบ้างก็ตาม

 

อ้างอิง

วันวานของม้วนเทป ที่ทางของ CD พรุ่งนี้ของดิจิตอล

อยากจะเวิ่นเรื่องวงการเพลง .. คิดถึงวงการเพลงสมัยก่อน

รายการทีวี ใน “ตำนาน” ที่คุณจำได้ขึ้นใจคือรายการอะไร

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา