Plern Pan Perth งานดีฝีมือคนไทยที่ไปไกลในอาร์ตซีนระดับโลก
- Writer: Montipa Virojpan
- Photo: Asian Music Network and Un ( 劉哲均 )
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ประเทศไทยได้ถือกำเนิดวงดนตรีฟิวชันแจ๊สสุดละมุน จากการรวมตัวของนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร ในนาม จริญตนาใก แต่หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็แยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครที่ละทิ้งดนตรีที่พวกเขารัก อย่างเช่น พีท—ธนาธย์ รสานนท์ นักร้องนำของวง ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่เราคลุกคลีในวงการดนตรีนอกกระแส ได้ฟังงานไซคีเดลิกป๊อปเวิร์ล ๆ อย่าง I _ / \ – I _ / \ จนร้องเพลง ใจเย็น ติดปากไปช่วงนึง รวมไปถึงโปรเจกต์เดี่ยวจิตหลุดที่ทำให้เรายอมรับในความสามารถของเขา กับผลงานที่ใช้ชื่อว่า Plern Pan Perth
Plern Pan Perth คืองานดนตรีที่สร้างมิติใหม่แก่โสตประสาทของเราเป็นอย่างมาก ด้วยการผสมผสานสิ่งที่เขาชื่นชอบอย่าง world music จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเข้ากับเครื่องดนตรีพื้นบ้านทางภาคอีสานทั้งซอและแคนที่หลายคนต่างเริ่มเห็นความเท่ในลูกเล่นของมัน รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่เรานึกไม่ถึง ทั้งวิทยุทรานซิสเตอร์ที่จับเอาสัญญาณออกอากาศมาดัดแปลงอย่างสนุกสนาน ซินธิไซเซอร์ยุบยับ พร้อมด้วยซาวด์ดนตรีหลอนจิตแบบที่คาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ดูเขาเล่นสดในแต่ละครั้ง ก็ไม่สามารถเตรียมรับมือหรือจับทางกับเสียงที่เขาจะถ่ายทอดมายังเราได้เลย จนเมื่อปีที่ผ่านมา พีทได้ปล่อย EP ชุดแรกของ Plern Pan Perth ออกมาในชื่อ Hidden Home พร้อมด้วย 5 เพลงที่บ่งบอกตัวตนของศิลปินได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเพลง Love From Northeast กับท่อนที่ร้องบอก ‘ข้อยคึดฮอดเจ้าหลาย’ กับเสียงรีเวิร์บหนัก ๆ เสียงฉิ่ง ซอ ที่ประสานกันมาแบบสั่นประสาท หรือเพลง down tempo แบบ Vela ที่มีมาให้ฟังถึงสองเวอร์ชัน แบบละมุน ๆ และแบบหลอมละลายหนืดหายไปกับกาลเวลา
หลังจากนั้นเขาก็ได้มีโอกาสไปแสดงงานใน Drift 2 ที่หอศิลป์กรุงเทพ ฯ โดยให้ศิลปินดนตรีหรือเสียงที่บางคนไม่รู้จักกันมาเแสดงสดร่วมกัน ทั้งที่เล่นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และกลุ่มใหญ่โดยไม่มีการซ้อมมาก่อน แต่ละคนมีเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างเสียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งในงานดังกล่าวก็มีกลุ่มที่ชื่อ Far East Network มีทั้งคนญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งหลังจากการแสดงครั้งนั้นผ่านไป คนสิงคโปร์ในทีมก็ติดต่อให้พีทไปแสดงงานในลักษณะเดียวกันที่ญี่ปุ่นอย่าง Asian Meeting Festival รวม 6 สถานที่ 3 เมือง คือ โตเกียว เกียวโต และโกเบ เราจึงอยากรู้ว่าคนฟังที่นู่นให้การตอบรับกับผลงานสายทดลองชิ้นนี้ของเขาอย่างไรบ้าง
“ก็อยู่ในระดับที่ดีนะ คนก็ปานกลางถึงเยอะที่สนใจเข้าชม เราว่าอาจจะเป็นเพราะความที่มีนักดนตรีและศิลปินเสียง จากหลาย ๆ ชาติในเอเชียมาแสดงรวมกันด้วย และเราพอรู้มาว่า Otomo Yoshihide แกนนำการจัดเทศกาลนี้ที่เขาร่วมแสดงด้วย ก็ค่อนข้างมีชื่อใน underground/avant-garde music scene และเป็นที่รู้จักจากการแต่งเพลงประกอบละครทีวีเรื่องหนึ่งที่โด่งดังในญี่ปุ่นด้วย การซัพพอร์ตจาก Japan Foundation และ Olympic ก็มีส่วนในการขับเคลื่อนเทศกาลนี้ ผู้ชมก็ดูสนใจและอยากรู้ว่าเครื่องดนตรีของศิลปินแต่ละคนมันคืออะไรมันใช้ยังไง เพราะมีตั้งแต่เอากล่องไม้มาหักกับเอฟเฟกต์กีตาร์ จนถึงการแสดงเต้นที่ด้นสดไปกับศิลปินดนตรีหรือเสียงด้วย ค่อนข้างเป็นอะไรที่มันดี และที่สำคัญ เราเอาซีดีไป 30 แผ่นก็ขายหมดเลยทุกที่เลย เยี่ยมจริง ๆ (หัวเราะ)”
คิดว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนของบ้านเราจะให้การสนับสนุนแบบเขาได้
“เราคิดว่าส่วนใหญ่เขาจะสนับสนุนศิลปะที่เป็นลักษณะอนุรักษ์มากกว่า ถ้าเป็นแบบร่วมสมัยจะยากขึ้น คนมีทุนยังไม่ค่อยกล้าเสี่ยงกับศิลปะร่วมสมัยเท่าไหร่เพราะกลัวเจ๊ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนอย่าง พี่เจ้ย—อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ต้องทำมาหากินทางศิลปะด้วยทุนของคนต่างชาติมากกว่าทุนในประเทศ บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าทุนในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม การเมือง และศิลปะ ในประวัติศาสตร์ของเรามันมีลักษณะที่แตกต่างกับประเทศที่ยอมรับในศิลปะร่วมสมัยมากกว่าเรา ซึ่งเราต้องใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งเลยทีเดียว”
เร็ว ๆ นี้พีทบอกในแฟนเพจของเขาว่ากำลังจะมีซิงเกิ้ลใหม่ออกมาให้ได้ฟังกัน พร้อมด้วยการเรียกน้ำย่อยกับท่อนหนึ่งในเพลงด้วยการเล่นกับเครื่องเล่นคาสเซ็ตยุคเก่า แค่นี้เราก็ตื่นเต้นที่จะได้ฟังเพลงของเขาแล้ว
รับฟังเพลงของ Plern Pan Perth บนฟังใจได้ ที่นี่