นกกระจอก : โปรเจกต์หนังเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่จาก Minimal Records ที่ถ่ายทอดเสียงของศิลปินเชียงใหม่ได้ถึงแก่น
- Writer: Peerapong Kaewthae
เราคงเคยเห็นนกกระจอกบางครั้งตามท้องถนนระหว่างการเดินทางในชีวิตประจำวัน ต่อให้คุณจะสนใจมันหรืออาจไม่สนใจมันเลยก็ตาม แต่นกกระจอกเหล่านั้นคงมีเรื่องราวของตัวเองที่อยากเล่าให้คนอื่นได้ยินเหมือนกัน นกกระจอกจึงรวมตัวกันในรังที่ชื่อ Minimal Records เพื่อทำเพลงและส่งเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ให้แซ่ซ้องไปทั่วทุกภาค หวังจะไปถึงหูของคนรักดนตรีในวงกว้างมากขึ้น
นกกระจอก คือ โปรเจกต์ล่าสุดของ Minimal Records ที่รวมศิลปินในเชียงใหม่ทั้ง 7 วง ส่ง 14 เพลงใหม่มาให้เราได้ฟังกัน สุเมธ ยอดแก้ว หรือ เมธ หัวหอกหลักของค่ายเล่าให้เราฟังถึงโปรเจกต์เล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่นี้ว่า เขาต้องการส่งเสียงของเหล่านกกระจอกเมืองเชียงใหม่ออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยังมีวงเจ๋ง ๆ ในเชียงใหม่อีกมากมายที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือบางวงห่างหายจากการทำเพลงไปนาน จึงอยากให้พวกเขามีผลงานอย่างต่อเนื่องออกมาก่อนที่พวกเขาถูกลืม อีกทั้ง นกกระจอก เป็นโปรเจกต์ที่ทำให้พวกเขาได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน
เมธ เล่าที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้ว่าศิลปินหลายวงในค่ายของเขาล้วนแต่ทำเพลงยาว ๆ เขาเลยอยากให้ทุกคนลองทำเพลงสั้น ๆ ซัก 2-3 นาทีดูว่ามันจะออกมาเป็นยังไง แล้วชื่อโปรเจกต์จะต้องเป็นอะไรที่สั้นหรือเร็ว เขาเลยเลือกประโยคที่ว่า ‘นกกระจอกไม่ทันจะกินน้ำ’ เพราะมันดูรวดเร็วดี แล้วจึงลดรูปเหลือแค่คำว่า ‘นกกระจอก’ ซึ่งเขารู้สึกว่านกพันธุ์นี้ยังสื่อถึงภาพลักษณ์ของค่ายได้อย่างดี นั่นคือพบเห็นได้ทั่วไป เรียบง่าย และรังของพวกเขาก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เมื่อได้ทั้งชื่อโปรเจกต์และเพลงแล้ว เมธ อยากสร้างจุดเด่นในการนำเสนอเพลงของพวกเขา จึงตัดสินใจทำหนังสั้นนำร่องไปก่อนที่จะปล่อยเพลงทั้ง 7 ออกมาให้ทุกคนได้ฟัง โดยได้ความร่วมมือจาก 7 ผู้กำกับเลือดใหม่ในเชียงใหม่มาช่วยตีความแต่ละเพลงผ่านมุมมองของแต่ละคนจนเข้าถึงแก่นของเพลงทุกเพลงได้อย่างสะเทือนใจ นับเป็นอีกโปรเจกต์ที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ สำหรับคนรักงานศิลปะและการฟังเพลง
เราลองไปทำความรู้จักกับ 7 หนังสั้นน้ำดีจาก 7 ผู้กำกับสุดแนว ที่เล่าผ่าน 7 บทเพลงสุดลึกล้ำของ 7 วงดนตรีมากฝีมือจากเชียงใหม่กัน
Sustainer
สองสามก้าว เล่าเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเด็กหนุ่มที่เดินทางแต่ละก้าวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง โดยไม่รู้เลยว่าก้าวต่อไปจะต้องตายเมื่อไหร่ เป็นเพลงจากปลายปากกาของวง Sustainer โดยเพลงนี้ก็ได้ผู้กำกับมือดีอย่าง อรุณกร พิค ที่เคยได้รางวัลจากเทศกาลหนังสั้นมาแล้ว
เนื้อหาค่อนข้างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับวัยรุ่นตีกัน ปัญหาต่างสถาบัน ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย เขาจึงตีความออกมาในมุมนักเรียนยกพวกตีกันที่มองจากในทัศนคติของผู้
ดูหนังแล้วก็ลองไปฟังเพลง สองสามก้าว ในฟังใจได้ ที่นี่
อินธนูและพู่ถุงเท้า
อินธนูและพู่ถุงเท้า วงดนตรีชื่อที่น่ารักน่าหยิกกับดนตรีร็อกมีสไตล์ ในเพลง Utopia พวกเขาอยากสื่อว่า ทุกคนต่างมีโลกในอุดมคติเป็นของตัวเอง บางคนลุกออกมาไขว่คว้า ใช้กำลังของตัวเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เป็นอยู่ ขณะที่บางคนนั่งตัดพ้อกับมันไปเรื่อย ๆ บางคนทำเพื่อคนรอบข้าง ขณะที่บางคนก็รักแค่ตัวเองเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของ ณิชภูมิ ชัยอนันต์ ที่ต้องถ่ายทอดยูโทเปียในสายตาของเขาออกมา กับดีกรีที่เคยกำกับหนังใหญ่ก่อนแล้วจึงไม่เกินความสามารถของเขาเลย
คำว่ายูโทเปียความความหมายจริง ๆ คือดินแดนในอุดมคติซึ่งมีแต่ความสงบสุข แต่เมื่อเขาฟังเพลงกลับรู้สึกว่ามันมีแต่ความทุกข์ของชีวิตคน เลยเปรียบยูโทเปียเป็นบ้านหนึ่งหลังที่มีแต่ความอมทุกข์ อึดอัด กลับมุมมองให้ดินแดนแห่งความสุข กลายเป็นดินแดนแห่งความหม่นหมองอึดอัดอมทุกข์
มัชฌิมา
Jungle จะนำเสนอเนื้อหาที่คน ๆ หนึ่งพยายามที่จะหนีจากความซ้ำซากจำเจไปสู่ป่า ซึ่งจริง ๆ แล้ว ป่าอาจไม่ได้หมายความว่าป่าจริง ๆ แต่หมายถึงสถานที่ที่จะทำให้ใจเราสงบ เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดผ่าน มัชฌิมา ที่กระตือรือร้นในการทดลองค้นหาแนวดนตรีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จนทำให้ดนตรีของเพลงนี้ดูสดใสขึ้นมากจากเพลงเก่า ๆ ของพวกเขา
สำหรับหนังสั้นทางวงก็ได้ ประณัฐ ประทุมทิพย์ มากำกับให้ เขาอธิบายให้ฟังว่าเพลง Jungle เป็นเพลงที่เล่าถึงความรู้สึกที่อยากจะหลีกหนีจากภาวะปัจจุบันไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ตอนแรกเขาก็พยายามตีความโดยสร้างเรื่องราวจากสาเหตุว่า ทำไมภาวะนี้มันถึงเกิดขึ้นได้ จนในที่สุดก็พบว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรื่องเยอะจัง(วะ) คือไม่ว่าเราจะเป็นใคร เวลาที่มีปัญหา ต้องมีสักครั้งที่รู้สึกว่าอยากจะหลีกหนีไปไกล ๆ ถ้าเรามองต่อไปอีกก็จะพบว่ามันก็หนีไม่พ้นอยู่ดี ปัญหามันเกิดได้ตลอดเวลา สาเหตุหลัก ๆ ก็เพราะว่าเราคือมนุษย์นี่แหละ ก็เลยเป็นที่มาของการสร้างตัวละครมนุษย์ต่างดาวขึ้นมา จึงพยายามนำเสนอให้น่าเชื่อถือผ่านการเล่าเป็นสารคดีตามหาคนหาย
ลองฟัง Jungle ดูว่าจะด่ำดิ่งขนาดไหนได้ ที่นี่
Solitude is Bliss
เชื่อว่านาทีนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จัก Solitude is Bliss แถมเพลง Lost in Jane ก็ถูกแชร์กันหูต่อหูมาเรื่อย ๆ ซึ่งที่มาที่ไปของเพลงก็มาจากข้อความหลังไมค์จากคนชื่อเจน ที่ส่งเข้ามาในแฟนเพจของวงจนคล้อยตามถึงขนาดจับปากกาขึ้นมาเพื่อแต่งเพลงให้ เนื้อเพลงมักมาจากประเด็นที่กระทบใจหรือสิ่งที่กำลังหมกมุ่นอยู่ในวังวนของตัวเอง ความพยายามที่จะนำเอาเรื่องใกล้ตัวมาขยายความเป็นรายละเอียดของอารมณ์ที่มีต่อเรื่องนั้น ๆ
อรรถกร พงษ์เทอดศักดิ์ ที่รับหน้าที่กำกับหนังสั้นให้เพลงนี้ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้ง กับการตั้งคำถามถึงสิ่งที่หายไปโดยการออกตามหาคำตอบ แต่ถ้าหากว่าสิ่งที่กำลังตามหานั้นมันจับต้องไม่ได้ล่ะ? อย่างเช่นความฝัน เราทำได้เพียงนั้งคิดทบทวนเท่านั้นแหละ การที่ใครหนึ่งคนมีความต้องการที่อัดอั้นกระอักกระอ่วนกับบางอย่าง ลองนึงถึงตอนที่อยากเข้าห้องน้ำสิ แม้ว่าจะไกลแต่ฉันจะต้องไปถึงให้ทันก่อนที่มันจะสายไปแน่นอน แต่ในหนังเราจะเล่าถึงชายที่บังเอิญไปเจอหญิงสาวร้องเพลงอยู่ในบาร์ทั้งที่จริงเขาเองนั้นหูหนวก แต่เลือกออกตามเธอเพื่อที่จะคลี่คลายคำถามในหัวอันแสนยุ่งเหยิงนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นความจริงหรือเพียงฝันแต่เขาก็ได้ยินมันแล้ว แค่ไอเดียก็ดูลึกลับโรแมนติกขนาดนี้ เพลงมันจะจมดิ่งได้ขนาดไหน
ถ้าได้ลองฟัง Lost in Jane หลังดูหนังสั้นจบจะต้องอินแน่นอน คลิก ที่นี่
The Bandit Boy
พ่น ของ The Bandit Boy เหมือนเป็นความในใจของใครหลายคนในยุคนี้ ที่การว่าร้ายกันผ่านโลกโซเชียลกลายเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว เพลงพูดถึงการที่คนเราใช้คำพูดแบบไม่สร้างสรรค์ ชอบใช้คำพูดร้าย ๆ ซึ่งมันไม่ดี อยากให้หยุดการกระทำแบบนั่น แถมเพลงนี้ยังได้ผู้กำกับน่าสนใจอย่าง อัคร ปัจจักขะภัติ มาตีความเพลงนี้
การันตีด้วยรางวัล ‘หนังน่าจะแบน’ ที่มีเนื้อหาท้าทายจนไม่ได้ฉายในประเทศนี้ เขาได้รับเพียงคีย์เวิร์ดว่า ‘การนินทาว่าร้าย พูดไม่คิดจนผู้อื่นเสียหาย’ ทำให้เขาพาลนึกถึงประโยคหนึ่งของ Eddie Adams ช่างภาพสายข่าวคนหนึ่งในช่วงยุคสงครามเวียดนามที่ว่า “Still photographs are the most powerful weapon in the world. People believe them, but photographs do lie, even without manipulation. They are only half-truths.” ที่แปลว่า “ภาพถ่ายยังคงเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดในโลก ทุกคนพร้อมที่จะเชื่อมัน ต่อให้ภาพถ่ายจะโกหกโดยที่ไม่ต้องเสริมแต่งอะไรด้วยซ้ำ พวกมันก็ยังมีความจริงอยู่ครึ่งหนึ่งเสมอ” การถ่ายภาพในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า ‘shoot’ แปลได้อีกทางว่า ‘ยิง’ ซึ่งพ้องกับการยิงด้วยอาวุธปืนก็ได้ ในเรื่องจึงเปรียบเปรยการใช้กล้องยิง ซึ่งมันมีผลต่อชีวิตของคนที่ถูกยิงโดยตรง ทั้งที่เรื่องที่พูดกันก็ไม่รู้ด้วยว่าจริงเท็จอย่างไร แต่ชีวิตที่เป็นเป้าถูกกล่าวหานินทานั้นได้รับความเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว
ลองฟังเพลงเดือด ๆ อย่าง พ่น ได้ ที่นี่
Migrate to the Ocean
เพลงใหม่ของ Migrate to the Ocean กับดนตรีอันเดือดดาล พร้อมเสียงไวโอลินที่แผดเผากับจังหวะดนตรีสุดโรแมนติก แต่ใครจะรู้ว่าอันที่จริงเพลง ไฟ แต่งมาจากความหงุดหงิดที่เกิดจากการขับรถต่างหากล่ะ ปัดโธ่! แล้วยังได้ คาริน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินชื่อดังมาช่วยตีความเพลงนี้ให้อีกด้วย
เขาตีความคำว่า ‘ไฟ’ ออกมาเป็นความรู้สึกเชิงลบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหิวกระหาย ความโกรธ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้น หากปล่อยให้มันมีอิทธิพลอยู่เหนือตัวเรา ย่อมส่งผลเสียต่อทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ดังนั้นก็อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักระงับไฟเหล่านี้ได้ไหม พอตีความออกมาได้แบบนี้แล้ว เราก็นึกภาพเป็นหนังสั้นที่บรรยากาศอึมครึมหน่อย ๆ ฉากหลังเป็นบาร์เงียบ ๆ ที่มีแสงไฟสลัว ๆ และสุดท้ายก็ออกมาเป็นหนังอย่างที่เห็นกัน แถมหนังสั้นและ mv เพลง ไฟ จะแตกต่างอย่างสุดขั้ว ตัวหนังสั้นจะออกมาเรียบ ๆ เนือย ๆ แต่ mv จะออกแนวตื่นเต้นเร้าใจตามสไตล์เพลง ซึ่งเขามองว่าเป็นความท้าทายที่ได้ลองทำงานที่มันหลากหลาย
เพลง ไฟ มันเจ๋งแค่ไหนลองไปพิสูจน์ด้วยตัวเองเลย ที่นี่
สภาพสุภาพ
สภาพสุภาพ เป็นอีกหนึ่งวงที่ทำให้เราตื่นเต้นกับโปรเจกต์นี้ เพราะเขาไม่ได้มีผลงานใหม่ ๆ มาซักพักแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ให้แฟนเพลงหายคิดถึงด้วย
เพลง ร่องรอยที่ล่องลอย สองคำนี้อ่านเหมือนกันแต่คนละความหมายกันถูกนำมาแต่งเป็นเพลง พาร์ตดนตรีเน้นเล่นง่าย ๆ ไม่โชว์อะไรมากจากความต้องการให้ฟังง่าย แต่สวยงามด้วยทำนอง และเปล่งประกายด้วยเสียง xylophone
เพลงนี้ได้ จักรพันธ์ ศรีวิชัย ทีมงาน ‘ชีพจรลงเฟรม’ มาช่วยถ่ายทอดความหมายว่า ร่องรอยอะไรล่ะที่มันล่องลอย เขาเป็นคนชอบเรื่องเกี่ยวกับผี โลกหลังความตาย เลยตีความไปว่าความตายไงคือร่องรอย เราตายลงไปแล้วก็เหลืออะไรไว้ที่โลก คงเป็นศพ นามธรรมหน่อยก็คงเป็นชื่อเสียง ถ้าพูดถึงโลกหลังความตาย วิญญาณก็คงนับเป็นร่องรอย ความที่อาชีพเสริมของจักรพันธ์คือการที่ขับรถรับส่งคนแปลกหน้าตลอดเวลา บางครั้งได้ไปส่งที่ไกล ๆ นอกตัวเมืองทำให้เขารู้สึกดีและคิดว่า การเดินทางก็คือสิ่งที่ล่องลอย หนังจึงพูดถึงกิจกรรมแรกหลังจากตายลงไป คือเดินทางไปยังโลกหน้าที่มีจุดหมายปลายทาง ตัวละครสามารถหยุดแวะตรงไหนก็ได้ที่เคยไปก่อนจะไปถึงโลกหน้า เขาคิดว่ามันก็น่าจะมีที่ ๆ ทุกคนอยากแวะระหว่างทาง ไม่ใช่ว่าจุดหมายปลายทางเท่านั้นที่สาคัญ
ลองค้นหา ร่องรอยที่ล่องลอย ของพวกเขาได้ ที่นี่
ทั้งนี้ ในโปรเจกต์ นกกระจอก นั้นมีทั้งหมด 14 เพลง แต่อีก 7 เพลงอาจจะต้องรอฟังในซีดีเต็ม ๆ แต่การันตีจาก 7 เพลงแรกที่ปล่อยออกมาได้เลยว่าคุณต้องไม่ผิดหวังเพลงที่เหลือของพวกเขาแน่นอน
และ 6 มกราคมนี้ เหล่านกกระจอกจะร่อนลงใต้บินมาสู่กรุงเทพในงาน Minimal Live in Bangkok 2018 ฉลองอายุครบ 10 ขวบกับ 7 ศิลปินในค่าย Minimal Records พร้อมตัวละครลับที่ยังเปิดเผยไม่ได้ ที่จะบรรเลงเพลงจากโปรเจกต์นกกระจอกข้างบนทั้ง 7 เพลง และอีก 7 เพลงใหม่ที่ยังไม่ปล่อย แต่คุณจะได้ไปฟังกันสด ๆ ที่ Voice Space วันที่ 6 มกราคม 2018 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ในอีเวนต์เพจของงานที่ https://www.facebook.com/events/891783560977558/
ยังมีวงดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเชียงใหม่อีกมากมายที่อยากให้คุณได้ยินเสียงของพวกเขาอยู่