Nobuna ร็อกหลากสำเนียงที่ดุดันเดือดพล่านเยี่ยงนักรบ
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบฟังเพลงสายหนัก ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในซีนดนตรี underground เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไม่รู้จัก Nobuna วงดนตรีโพสต์ฮาร์ดคอร์, อัลเทอร์เนทีฟ เจ้าของเพลงที่มีสัดส่วนดนตรีน่าสนใจ ผสมผสานซาวด์เครื่องดนตรีคลาสสิกเข้ากับเพลงร็อก ร่วมด้วยทักษะการร้องเสียงสูงชั้นยอด และพาร์ตสครีมทรงพลังมากชั้นเชิง แต่หากคุณไม่คุ้นกับแนวเพลงนี้เท่าไหร่ นี่คงเป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดแล้วที่จะได้ไปทำความรู้จักกับพวกเขา
สมาชิก
ฮาร์ท — วีรนนท์ สมบูรณ์กิจชัย (กีตาร์)
จิล — ญานเดช ทองรัตน์แก้ว (กลอง)
ฉั่ง — เกษม ตั้งสิทธิธรรม (ร้องคลีน)
หนุ่ม — ชนน รัตนวิโรจน์ (ร้องสครีม)
เติ้ล — ธรณ์ธันย์ โพธิรังษี (กีตาร์)
และ มือเบสผู้ไม่ระบุนาม เราจะขอแทนชื่อของเขาด้วย ???
จุดเริ่มต้นของ Nobuna คงเป็นเหมือนอีกหลายวงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่เคยอยู่ในวงดนตรีที่แตกต่างกัน และวงที่ถึงวันต้องกระจัดกระจายกันไป แต่พอถึงจังหวะเวลาที่มั่นเหมาะ ทั้งหกคนก็วนมาเจอกันอีกครั้ง พวกเขาคือสมาชิกที่มาจากทั้งวง BLACKCARPET, Teresa, ThirdDiNoom และ Awaken From the Dream โดยจุดประสงค์หลักเพียงเพื่อการทำมิวสิกวิดิโอสำหรับโปรเจกต์มหาวิทยาลัยของจิลแต่ด้วยความที่หลายคนเคยเล่นดนตรีด้วยกันมาก่อนแล้วจึงตัดสินใจทำวงดนตรีจริงจังอีกครั้ง โดยชื่อ Nobuna ก็มีที่มาจากนักรบโบราณญี่ปุ่นนาม โอดะ โนบุนากะ นั่นเอง
The Rise คือเพลงแรกที่พวกเขาเลือกมาทำเป็นมิวสิกวิดิโอ ซึ่งสมาชิกที่รวบรวมได้ตอนนั้นยังเป็นไลน์อัพเดิม ที่ยังไม่มีฉั่ง และ ??? แต่มีเมษ ที่เป็นสมาชิกจากนักร้องนำ และ ฟิล์ม รุ่นน้อง มาเล่นเบสให้ในช่วงแรกของ Nobuna เท่านั้น และระหว่างที่พวกเขากำลังสร้างผลงานชิ้นนี้ก็ได้พบว่า เพลง The Rise ยังขาดส่วนผสมบางอย่างไป ถึงตอนนั้นเอง คนที่ทุกคนนึกถึงและอยากให้มาร่วมงานด้วยกันคือ หนุ่ม ซึ่งเป็นสมาชิกวง Teresa ที่การว้ากของเขากลายเป็นส่วนเติมเต็มของเพลงได้ในที่สุด จากนั้นก็มีเพลงต่าง ๆ ทยอยปล่อยตามกันมา ทั้ง My Battle Cry ที่ต่อมากลายเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักกับ Nobuna มากขึ้น แต่เพราะการต้องโตเป็นผู้ใหญ่ทำให้เส้นทางที่อยากเดินเริ่มมีอุปสรรค เมื่อภาระหน้าที่การงานเข้ามามีบทบาท เวลาว่างก็น้อยลงเต็มทีจึงทำให้เมษต้องถอนตัวไปก่อน
พวกเขาเชื่อว่าหากวงดนตรีต้องเปลี่ยน frontman ตำแหน่งที่มีผลมากที่อาจทำให้ความเป็นวงแบบดั้งเดิมสูญหายไป จากเสียงร้องสูงที่มีเอกลักษณ์และเข้าใจอารมณ์เพลงของ Nobuna พวกเขาจึงเปิดออดิชันและเฟ้นหานักร้องคนใหม่ ซึ่งช่วงเวลาของการตามหานักร้องนำเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะนอกจากสกิลต้องได้แล้ว นิสัยและพฤติกรรมการทำงานต้องเข้ากับคนอื่น ๆ ในวงให้ได้ด้วย จนวันนึงพวกเขาได้รับคำแนะนำจาก ไมโล มือกลองวง Tilly Birds ว่า ลองให้ ฉั่ง เพื่อนของเขามาออดิชันดู
ขณะนั้น Nobuna มีตัวเลือกนักร้องนำในใจอยู่แล้วพอสมควร แต่เมื่อได้เจอกับ ฉั่ง แม้ทักษะอาจไม่ได้ดีไปกว่าผู้เข้าชิงตำแหน่งคนอื่น ๆ ยิ่งกับ หนุ่ม สครีมเมอร์ ซาวด์เอนจิเนียร์ และเจ้าของ ‘น้องหนุ่มสตูดิโอ’ หลังจากที่เขาได้ฟังการร้องออดิชันของฉั่งหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ยังยืนยันที่จะให้ไม่ผ่าน แต่ฉั่งก็ไม่ละความพยายาม ถึงจะร้องเพี้ยน สำเนียงไม่เป๊ะแค่ไหน (จนกลายเป็นฉั่ง 100 เทค เพราะถูกสั่งให้เอาใหม่อยู่หลายครั้ง) แต่พลังก็ยังไม่หมด จากการแสดงความตั้งใจทุ่มเทนี้เองจึงทำให้ทุกคนยอมรับ และเลือกเขาเข้ามาเป็นนักร้องนำคนปัจจุบันตั้งแต่เพลง Your Masquerade เป็นต้นมา
แนวเพลงของ Nobuna
แน่นอนว่าความชอบของทุกคนไม่ได้ตรงกันเป๊ะ จากการที่ฟังดนตรีแตกต่างกันหลากหลายแนว พวกเขาจึงหาจุดร่วมที่ทุกคนชอบใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือ
“Britney Spears ทุกคนตื่นเต้นมากตอนรู้ว่าเขาจะมาไทย นี่กด interested กันหมดเลย” ??? มือเบสปริศนากล่าว…. นั่นอาจไม่ใช่อิทธิพลทางดนตรีที่แท้จริงของวง Nobuna แต่จากซาวด์ดนตรีน่าจะออกไปทางโพสต์ฮาร์ดคอร์ เมทัลคอร์ อัลเทอร์เนทีฟ หรือวงดนตรีร็อกฝั่งญี่ปุ่นทั้ง One OK Rock, Crossfaith วงนูเมทัลชื่อดังอย่าง Linkin Park รวมถึงความชื่นชอบดนตรีคลาสสิกจำพวกเครื่องสาย เปียโน ออเคสตร้า และเพลงประกอบอนิเมะยุคเก่าอย่างเซนต์เซย่า ล้วนแต่มีตัวตนในเพลงของพวกเขาทั้งสิ้น เหตุนี้เองทำให้ผู้ฟังหลายคนชอบบอกว่า เพลงของ Nobuna ได้กลิ่นอาย J-rock มาเยอะพอสมควร
“ตอนเราฟังเราไม่รู้หรอกครับ มันเป็นสิ่งที่เราให้คนฟังตัดสินเองมากกว่า แต่ส่วนนึงที่ทำให้คนคิดว่าเราเหมือนญี่ปุ่นน่าจะมาจาก หนึ่งชื่อวง สองเราเป็นหน้าตาเราเป็นเอเชียนแล้วทำเพลงแนวแบบนี้ ซึ่งนัมเบอร์วันของเพลงแนวนี้ที่เป็นเอเชียนก็ต้องเป็นญี่ปุ่นครับ ใน mv My Battle Cry มีคอมเมนท์นึงบอกว่า หน้าแต่ละคนดูไม่เหมือนคนไทยเลยครับ ซึ่งจริงๆเราก็สงสัยว่า ถ้าลองฟังเพลงอย่างเดียว ไม่เห็นหน้า ไม่เห็นชื่อวง ไม่เห็น element อื่น ๆ เลย เพลงวงเราเพียว ๆ มันจะญี่ปุ่นจริงหรือเปล่านะ” จิลบอก
เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลงของ Nobuna ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับความฝัน และชีวิตของพวกเขา ไปจนถึงเหตุผลที่พวกเขาเลือกทำสิ่งเหล่านี้ หรือเหตุการณ์จริง และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ อย่างเพลง Crown of Blood ก็เป็นเพลงที่เกี่ยวกับสงคราม แต่พวกเขาก็มีเซอร์ไพรส์ในบางเพลงอย่าง Your Masquerade ก็เป็นเพลงเกี่ยวกับความรัก อกหักตัดพ้อรุนแรง ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าแปลกใจเหมือนกันที่เพลงนี้ถูกแชร์บนหน้าวอลของคนรู้จักที่ถูกทิ้งอยู่บ่อย ๆ “นี่เขาอินเพลงของเราด้วยหรอเนี่ย”
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างคือทุกเพลงของ Nobuna เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเหตุผลหลักเป็นเพราะแต่ละคนไม่ค่อยได้ฟังเพลงภาษาไทยกันเท่าไหร่ ถ้าแต่งออกมาก็จะรู้สึกจั๊กจี้กันเองทุกที และนี่ก็เป็นผลพวกที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจจะพุ่งเป้าไปที่ตลาดต่างประเทศ เพราะต่างคนต่างรู้ดีว่าแนวเพลงนี้อาจ หรือไม่อาจแทรกแซงการไหลอันเชี่ยวกรากของดนตรีกระแสหลักได้
“จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเจอมาคือ ถ้าเราไปงานดนตรีอันเดอร์กราวด์เราจะเจอแต่คนที่คุ้นหน้า คุ้นตากลุ่มเดิม ที่สนับสนุน และพอนักดนตรีที่อยู่บนเวทีตอนนี้เล่นจบ พวกเขาจะเดินลงมาและกลายมาเป็นคนดู แสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมการฟังเพลงทางเลือกครับ” ??? เล่า
“เดี๋ยวนี้มัน globalize แล้ว เราว่าโลกมันเล็กลงครับ การทำเพลงให้เป็นที่รู้จักข้ามประเทศ การไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เราเห็นวง Crossfaith เป็นโมเดล เขาน่าจะเป็นวงเอเชียไม่กี่วงที่สามารถโกอินเตอร์ได้จริง ๆ ได้ไปเล่นเฟสติวัลใหญ่ได้บ่อย ๆ มีค่ายอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเราก็คิดว่า ถ้าญี่ปุ่นทำได้ แล้วทำไมเราทำไม่ได้ เราก็พยายามศึกษา business model ของเขาว่าเขาใช้เทคนิกอะไรยังไงถึงดังได้ขนาดนี้” จิลเสริม
นอกจากด้านดนตรีแล้ว การวางแผนการจัดการต่าง ๆ ของวงนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะสมาชิกแต่ละคนทำงานอยู่ในสายงานสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน จิลเป็นช่างภาพ และทำงานอยู่ในค่ายเพลง ฮาร์ททำ motion graphic ??? อยู่เอเจนซี่โฆษณา หนุ่มทำเกี่ยวกับซาวด์ การทำงานในส่วนต่าง ๆ ที่วงดนตรีหนึ่งควรจะมีไม่ว่าจะเป็น การรู้งบประมาณของโปรดักชัน การอัดและมิกซ์เพลง การทำอาร์ตเวิร์ก ทำมิวสิกวิดิโอ หรือแม้แต่แผนการโปรโมต ก็เกิดขึ้นมาได้จากตัวพวกเขาเอง
“แต่เราก็ยังอยากอยู่ค่ายนะ พออยู่ค่ายมันจะมี pr value มี connection มี copywrite มีคนช่วยจัดการให้ และมีเงินทุน ตอนนี้เรายิ่งทำดนตรียิ่งติดลบ แต่ก็ยังทำอยู่ เพราะมันชอบ ทำสนองนี้ดตัวเองครับ และเราก็ทำต่อเพราะคิดว่าถ้าวันนึง เรามีชื่อเสียง มีคนสนใจ เราก็จะได้สิ่งที่เราติดลบคืนมา เราว่าการทำวงก็เหมือนการลงทุนเนอะ เพราะเราต้องเอาเงินมาลงและหวังจะได้ผลกำไรเพื่อคืนทุนที่ลงไป แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ใช่ธุรกิจไปซะทั้งหมด เรามองว่า ศิลปะมันก็ไปคู่กับการตลาดได้ครับ เพราะถ้าเราทำเพื่อเงินอย่างเดียวเราก็คงเสียความเป็นตัวเองไปแล้วครับ” จิลเล่า
เราได้รู้เรื่องราวเบื้องต้นของพวกเขามาพอสมควรแล้ว ต่อไปจะขอนำเข้าสู่บทสนทนาของ Fungjaizine และ Nobuna ให้ได้อ่านกันอย่างจุใจ
เรื่องเวลาไม่ตรงกันเป็นปัญหาที่ทุกวงต้องเจอ มีวิธีจัดการยังไงบ้าง
จิล: พวกเราไม่ค่อยอยู่กันเต็มวงตอนทำเพลง บางทีอยู่แค่สองคน สามคน ถ้าวันไหนเต็มวงคือ amazing มากครับ
ฉั่ง: แต่ถ้าได้รับงานนั้นงานนี้มา ก็จะลองโพสต์ถามในกรุ๊ปเฟสบุ๊ก case by case ไปสำหรับอะไรที่สำคัญ ๆ ว่าว่างไหม ไม่สะดวกอะไรยังไงบ้าง
แล้วเวลาทำเพลงใช้วิธีโยนไฟล์กันไปมาหรอ
ฉั่ง: ไม่ครับ เราจะไปรวมกันที่บ้านหนุ่มตอนทำ แต่ถ้าเสร็จเดโม่เพลงนึงแล้วจะโยนลง dropbox ถามกันในกลุ่มก่อนว่าให้แก้ตรงไหนไหมสำหรับคนที่ไม่ได้มา
ทำไมมือเบสวงนี้ต้องเป็นสมาชิกปริศนา
???: ผมได้แรงบันดาลใจจากวงญี่ปุ่นวงนึงชื่อ Man with a Mission เขาจะเป็นวงที่ใส่หน้ากากหมาทั้งวง แล้วทุกคนจะไม่รู้ว่าไอ้พวกนี้เป็นใคร แต่จะจำได้ว่าไอ้วงที่ใส่หัวหมาป่าคือ Man with a Mission เว่ย ส่วนวงเราก็จะเป็นมือเบสที่ใส่ผ้าปิดปาก… แต่ผมไม่ได้ป่วยนะครับ
ถ้าชอบฟัง Nobuna มีวงไทยวงไหนแนะนำให้ฟังอีกไหม
ฮาร์ท: ก็คงเป็น Sweet Mullet, Restrospect นะครับที่ชัดเจน และแนวเพลงมันใกล้กันกับพวกเราที่สุดครับ และพี่ๆเค้าก็ได้ เปิดทางให้วงแนวใกล้ ๆ กันได้เข้าสู่ตลาดนี้
จิล: มี In Vice Versa ที่เป็นวงที่มีร้องว้าก และร้องคลีนด้วย หรือ Sinners Turned Saints ที่ทำเพลงได้น่าสนใจมาก ๆ เช่นกันครับ
เจอ feedback แง่บ้างลบไหม
จิล: เราเคยโดนเปรียบเทียบว่า เพลงของเราเหมือนวงต่าง ๆ ซึ่งบางทีเราเองก็รู้สึกงงเหมือนกันเพราะบางวงเราไม่เคยฟังด้วยซ้ำแบบไปสายลึก ๆ เลยก็มี ก็สนุกดีว่าเขาคิดอะไร เพราะสุดท้ายแล้วเพลงเราถ้ามันฟังออกมาแล้วไปคล้ายใครก็คงขึ้นอยู่กับว่าเขาฟังเพลงของใครมา ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ฟังเพลงของเค้าครับ
เคยมีใครติดต่อให้ไปเล่นต่างประเทศบ้างหรือยัง
จิล: เคยมีครับ ตอนนั้นเรายังอยู่ค่ายกันแล้วเขาชวนไปเล่นที่มาเลเซียทั้งค่าย แต่ค่าเครื่องบินต้องออกเอง ซึ่งตอนนั้นก็จนกันอยู่ ส่วนตอนนี้ก็ไม่ได้มีตังมากขึ้นเท่าไหร่นะครับ (หัวเราะ)
จำเป็นไหมว่าถ้าอยากเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ต้องทำเพลงให้คนในประเทศรู้จักและมีชื่อเสียงประมาณนึงก่อน
ฮาร์ท: มีคนเคยบอกว่าถ้าเป็นวงไทยแล้วอยากจะดังต่างประเทศ ต้องดังในประเทศก่อนด้วยการทำเพลงไทย เขาบอกว่าค่ายของเขาก็มีวงประมาณนี้แหละ แต่วงเขาดังอยู่ในประเทศอยู่แล้วเลยทำเป็นภาษาอังกฤษได้ครับ
จิล: เราไม่ได้ต่อต้านความคิดนั้นนะครับ เรายอมรับว่าต้องมี fanbase ในประเทศระดับนึงก่อนแต่สำหรับเราคิดว่ามันอาจ ไม่จำเป็นต้องทำเพลงภาษาไทยก่อนก็ได้ครับ
เราอยากเป็นนักดนตรีอาชีพนะ ถ้าเรามีโอกาสไปทัวร์ต่างประเทศได้เราก็จะ leave without pay ถ้าหาเงินเลี้ยงชีพได้เยอะกว่า เราถึงจะยอมเอางานประจำมาเป็นอาชีพเสริมแทน วงต่างประเทศเขาก็เป็นกัน บางทีเราอ่านบทสัมภาษณ์ของศิลปินเมืองนอก ที่เขาจะบอกว่าเขาไม่สนใจเงินหรอก เขาทำตามความฝันของเขา เรา respect เขานะ แต่สำหรับเราๆคิดอย่างนั้นไม่ได้ ตอนนี้เราต้องมีงานประจำเพราะต้องกินต้องใช้ ต้องหาเงินมาทำเพลงต่อไปครับ
ตอนนี้ถือว่าเป็นขาลงของฮาร์ดคอร์ไหม คิดว่าจะไปถึงจุดที่ประสบความสำเร็จนั้นได้ไหม
จิล: ต้องยอมรับว่าไปถึงจุดที่เราหวังยากมากครับ มันจะช้าหน่อยถ้ามุ่งตลาดต่างประเทศ แต่เราคิดว่าว่าถ้าเมืองนอกจุดติด… ตลาดบ้านเราก็อาจให้ความสนใจก็เป็นได้ครับ เคยได้ยินไหมที่หลาย ๆ วงไปดังเมืองนอกแล้วคนไทยก็จะมาสนใจ พอโกอินเตอร์แล้วบ้านเราจะฮือฮาเลยครับ
ฉั่ง: ถ้าเราทำให้ดังที่ต่างประเทศได้ มันอาจจะมีเงินจากโปรโมเตอร์ต่างประเทศมาจัดงานในไทย อาจจะทำให้แนวดนตรีหนัก ๆ อย่างนี้ฟื้นฟูขึ้นมาได้
จิล: ซึ่งวงเดียวก็ไม่ได้ ต้องฟูขึ้นมาด้วยกันหมดครับ เอาจริงคือหลาย ๆ วงในบ้านเราก็มี potential ในการโกอินเตอร์ คนทำเพลงสายนี้ก็มีของอยู่หลายวง ถ้าช่วยกัน ถ้าทำออกมาพร้อมกันรัว ๆ mainstream อาจจะหันมามองเราอีกครั้งแบบที่ Retrospect หรือ Sweet Mullet เคยทำให้เกิดกระแสเพลงร็อคบูมในบ้านเราในอดีตครับ
รู้สึกยังไงว่าการเป็นวงหน้าใหม่แล้วพยายามจะเจาะตลาดอีกกลุ่ม แต่ไม่สามารถทลายกำแพงความคุ้นเคยของคนฟังกลุ่มอื่นได้ อย่างที่วงดนตรีวงหนึ่งจะได้ไปเล่นที่ซีนดนตรีที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่ถูกต่อต้าน
ฉั่ง: ผมว่าเป็นเรื่องการเปิดใจมากกว่า
จิล: เราคิดว่าบ้านเราไม่ได้จริงจังกับการฟังเพลงมากขนาดนั้นครับ ทำให้ความหลากหลายในการฟังเพลงอาจไม่มากเท่าต่างประเทศ เปรียบเทียบเหมือนที่บ้านเราตีค่าศิลปะไม่แพง ค่าถ่ายรูป ค่าการผลิตอาร์ตเวิร์กบ้านเราถึงราคาถูกมาก ๆ ครับ เหมือนคนไม่คิดว่าดนตรีควรเสียเงินเพื่อให้ได้มา แต่ทำไมที่ญี่ปุ่นยังมีคนซื้ออยู่
???: เพราะถ้าซื้อแผ่นแล้วได้จับมือไอดอลครับ (หัวเราะ)
จิล: เราไปถึง Tower Records แล้วอยากซื้อแผ่นที่เราชอบแต่มัน sold out อะ คือมันต้องมีคนที่โหลดเถื่อนมาแล้วแน่ๆ แต่ก็ยังอยากได้แผ่นอยู่ดี แล้วตลาดญี่ปุ่นนี่จะมีความ unique มาก ๆ เราคิดว่าเพราะคำว่าแมสของเขามันไม่แมสเลยถ้าเทียบกับคำว่าแมสของตลาดประเทศอื่น ๆ อย่างวง Sekai no Owari เป็นวงที่เรียกได้ว่าเป็น progressive pop ดันเป็นวงที่แทบจะโด่งดังที่สุดในญี่ปุ่นเลยครับ
???: ซึ่งถ้ามาเปิดในบ้านเราอาจจะคิดว่า เชี่ยไรเนี่ย เพลงป๊อปเปลี่ยน time signature หรอ แต่นั่นคือวงที่คนดูหลักแสนแทบจะทุกโชว์ แล้วคนต้องไปตั้งแคมป์กันเพื่อซื้อบัตร ซึ่งที่น่า surprise คือคนซื้อก็คือแม่ ๆ อุ้มลูกไปดู แบบ คุณโตขนาดไหนพวกเขามีความรู้เรื่องดนตรีกันหมด แล้วเพลงเขาสร้าง value ได้จริง ๆ ครับ
ฮาร์ท: ในความคิดผม ๆ ว่ามันอาจโยงไปถึงเรื่องสื่อด้วยครับผมว่า มันเป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้วที่ค่ายเพลงเขาจะสร้างศิลปินของเขาเอง แล้วเขาก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่ยอมทำการตลาดโดยพยายามให้เพลงขึ้นชาร์ต ตามวิทยุ หรือมีเดียต่างๆให้คนฟังเขาถึงได้ง่าย และเมื่อเพลงนี้เปิดบ่อย ก็แสดงว่าเริ่มดัง และก็น่าจะมีคนหันมาฟังมากขึ้นครับ
ฉั่ง: ผมรู้สึกเสียดายที่บางทีงานศิลป์ดี ๆ ออกมา คนสนใจน้อย
???: เหมือนอย่างพี่ตั้ม Mamafaka เป็นศิลปิน street art ที่มีเค้าชื่อเสียงเฉพาะกลุ่ม มีผู้ติดตามเยอะ หลังเค้าเสียชีวิตมีข่าวลงเกี่ยวกับเรื่องของเค้ามากขึ้น ทำให้ผลงานเค้าเข้าสู่กระแสหลักมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างที่เค้าทำเลยมีมูลค่าขึ้นหมดเลยครับ
จิล: เราคิดว่าศิลปะจะมีมูลค่าเพิ่มและได้รับความสนใจเมื่อเกิดกระแสครับ
มันก็เหมือนการลงทุนเนอะ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะถ้าเราทำเพื่อเงินอย่างเดียวเราก็คงเสียความเป็นตัวเองไป
เรียกว่าหมดหวังในตลาดบ้านเราแล้วหรือเปล่า
Nobuna: ไม่ขนาดนั้น
???: ถ้าจะพูดให้ถูกคือ การไปต่างประเทศเป็นเป้าหมายหลักของพวกเรามากกว่าครับ
ฮาร์ท: เราตั้งเป้าใว้ว่าอยากเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศครับ แต่ถ้าเป็นที่รู้จักในประเทศด้วยก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ครับ
???: ให้ไปเล่นอะคูสติกจ่ายสามร้อยล้านไปปะ
Nobuna: เอา ๆๆๆๆ (ฉั่ง: เนี่ย เดี๋ยวไปซ้อมเลย)
จิล: เรารับเล่นทุกงานจริง ๆ นะ ถ้าฟังใจจะชวนไป Tiger Jams เราก็ไปครับ เพราะเราก็เล่นงานที่แปลกกว่านั้นมาแล้ว (หัวเราะ) เป็นงานที่เล่นล็อบบี้ในโรงแรมที่ปกติเขาจะเล่นแจ๊ส เล่นอะคูสติก
???: แล้วเขาบอกห้ามเล่นเสียงดัง หนุ่มรู้สึกยังไงกับงานนี้ครับ
หนุ่ม: ตอนแรกมีวง Penny Time เล่นก่อนเรา คนจัดงานยังบอกให้เขาเล่นโคตรเบาเลย พอถึงเราเล่น บอกว่าขอเบากว่าเมื่อกี้ได้ไหม
จิล: แล้วเราขึ้นไปเราก็ต้องเล่นคัฟเวอร์เพราะเราเล่นเพลงตัวเองไม่ได้แน่นอน อันนี้เขาก็บรีฟมานิดนึงแล้วว่าอย่าว้ากเยอะ ถ้าไม่ว้ากเลยก็ดี เราก็เลยคัฟเวอร์ Thirty Seconds to Mars, Linkin Park นี่คือฝืนที่หนึ่ง ฝืนที่สองคือโดนบังคับให้เล่นเบา ปกติจะตีกลองดัง ๆ วันนั้นอยู่แค่นี้จริง ๆ (ทำท่าตีค่อย ๆ) เอากระเป๋าตังมาวางบนสแนร์เพื่อให้เสียงมันไม่ดัง
เร็ว ๆ นี้จะมีผลงานอะไรบ้าง
จิล: ภายในเดือนพฤษภาคมถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะปล่อย mv ใหม่ อัลบั้มเราอัดเสร็จหมดแล้วเหลือมิกซ์เพลงสุดท้าย แล้วก็เรามีเสื้อลาย Crown of Blood กับ Your Masquerade สามารถติดตามได้ที่เพจเฟสบุ๊ก นอกจากเสื้อก็จะมีมินิอัลบั้ม เพราะเขารอกันมาจนจะ unlike เพจแล้ว (หัวเราะ)
???: การที่เราไม่มีอัลบั้มเป็นชิ้นเป็นอันทำให้เราพลาดโอกาสหลาย ๆ อย่างเยอะมากเลยครับ
จิล: ใช่ การที่มีเพลงของตัวเองไม่เยอะพอที่จะเล่น มันทำให้เราไม่กล้าเล่นงานหลาย ๆ งาน ไม่กล้าเสนอตัวเพื่อทำอะไรมาก ซึ่งตอนนี้มีเพลงตัวเองเยอะพอแล้วครับ แต่เรายังไม่ปล่อยอัลบั้มก็ยิ่งทำให้คิดเยอะ ยังไม่เอาเพลงเหล่านั้นไปเล่น เพราะถ้าเอาไปเล่นเลยก็อาจจะไม่เซอร์ไพรส์คนดูครับ
???: ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราอยากมีค่าย สิ่งที่เราต้องการรองลงมาจากเงินคือเรื่อง process เวลาการทำงานต่าง ๆ อย่างเช่นการที่เราทำเสื้อกัน กว่าเราจะคุย กว่าจะสรุปทุกอย่างได้มันช้าหมด เพราะผมมีงานประจำด้วยก็ต้องแบ่งเวลาจากงานประจำที่โคตรเยอะมาดูตรงนี้ ถ้ามีคนมาช่วยดูก็คงจะผ่อนแรงได้ไม่มากก็น้อยครับ
จิล: แต่สุดท้ายพวกเราก็เรื่องมากกันอยู่ดีครับ (หัวเราะ)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Nobuna ได้ที่ Facebook Fanpage และรับฟังเพลงของพวกเขาบนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่นี่