Music Changes the World ศิลปินที่ใช้ดนตรีขับเคลื่อนสังคม
- Writer: Malaivee Swangpol
ที่ผ่านมามีศิลปินใจบุญที่ร่วมใช้ดนตรีเพื่อเป็นการกุศล ทั้งการจัดคอนเสิร์ต บริจาคเงินรายได้จากเพลง ร่วมใช้ชื่อเสียงเพื่อเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ โดยหลาย ๆ ครั้งอาจได้รับกระแสในแง่ลบมาบ้าง แต่เหล่าศิลปินก็ยังยืนหยัดจะสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสัตว์ และโครงสร้างทางสังคมมากมายที่ควรเปลี่ยนแปลง เราจะขอยกตัวอย่างศิลปินและองค์กรที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเราได้ใส่ลิงก์ลงไปในชื่อขององค์กรต่าง ๆ ถ้าอยากลองหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจ กดเข้าไปได้เลย
U2
องค์กรที่สนับสนุน: Chernobyl Children’s project, Free Burma, Greenpeace, Music Rising, DATA และอีกมากมาย
วงนักเคลื่อนไหวรุ่นเก๋าที่เริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่ยุค 80s กิจกรรมแรกที่พวกเขาทำคือร่วมมือกับกลุ่มศิลปิน Band Aid ทำเพลง Do They Know It’s Christmas? เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ยากไร้ในเอธิโอเปียที่เกิดภาวะขาดแคลนทางอาหารครั้งใหญ่ในปี 1983-1985 และสืบเนื่องมาเป็นคอนเสิร์ต Live Aid ซึ่งถ่ายทอดสดไปทั่วโลกโดยมีผู้ชมกว่าหนึ่งพันเก้าร้อยล้านคนใน 150 ประเทศ งานวันนั้นสามารถเรี่ยไรเงินได้กว่าห้าสิบล้านปอนด์ หลังจากนั้น Bono นักร้องนำของวงก็ได้รับเชิญให้ไปเยือนประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น เอธิโอเปีย, นิคารากัว และ เอล ซัลวาดอร์ ซึ่งทำให้เขาได้เข้าใจถึงความลำบากอย่างแท้จริง ส่งผลต่อเนื้อหาในอัลบั้ม The Joshua Tree อย่างมาก ต่อมาในปี 1995 วงออกเพลงชื่อ Miss Sarajevo feat. Pavarotti ที่ได้แรงบันดาลใจจากสงครามบอสเนีย และวงยังได้บริจาครายได้จากเพลง The Sweetest Thing ที่ทำการอัดใหม่ ให้กับ Chernobyl Children International องค์กรเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล
ปี 2000 วงได้แต่งเพลง Walk On ให้กับ ออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (ที่ภายหลังมีหลายคนเรียกร้องให้ริบรางวัลคืนจากการเพิกเฉยกรณีของโรฮิงญา) ซึ่งในขณะนั้นยังโดนกักบริเวณไว้ภายในบ้านของตนเองโดยรัฐบาลพม่า ในปีเดียวกันนั้น Paul McGuinness ผู้จัดการวงได้รางวัล Ambassador of Conscience Award จาก Amnesty International ในฐานะที่ร่วมสนับสนุนสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นโบโน่ก็ได้มีส่วมร่วมในการก่อตั้ง DATA, Product Red และร่วมวางแนวทางให้กับ The One Campaign ส่วน The Edge มือกีตาร์ของวงร่วมก่อตั้ง Music Rising มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือนักดนตรีที่เครื่องดนตรีพังไประหว่างภัยพิบัติหลังจากเฮอร์ริเคนและไฟป่า ซึ่ง U2 ก็ได้ร่วมกับ Green Day คัฟเวอร์เพลง The Saints Are Coming เพื่อสมทบทุนโครงการนี้อีกด้วย
Do They Know It’s Christmas? ได้นำมาร้องใหม่อีกสองรอบ คือ Band Aid 20 ในปี 2004 เพื่อสนับสนุนแคมเปญ Make Poverty History รวมถึงได้จัดคอนเสิร์ตอีกครั้งในชื่อ Live 8 และ Band Aid 30 ในปี 2014 เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก โดย Chris Martin จาก Coldplay ก็ได้มาร่วมร้องในทั้งสองครั้งด้วย
Coldplay
องค์กรที่สนับสนุน: Amnesty International, GRAMMY Foundation, Live 8, Make Trade Fair, MOAS, และอีกมากมาย
วงที่มีจิตใจเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง โดยในช่วงปีแรก ๆ วงบริจาครายได้ 10% เข้าองค์กรการกุศล และปฏิเสธไม่รับของขวัญ โดยขอให้มอบแด่องค์กรต่าง ๆ แทน ปัจจุบันวงสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ กว่า 30 องค์กร แคมเปญแรกที่วงเข้าร่วมคือ Make Trade Fair ซึ่งทำให้ Chris Martin นักร้องนำของวงได้ไปเยือนเฮติ และได้เข้าใจถึงการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ต่อมาในปี 2003 Martin และ Jonny Buckland มือกีตาร์ของวงรวบรวมกว่าสามล้านรายชื่อผู้สนับสนุนเพื่อขอพบกับ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกในขณะนั้นเพื่อเรียกร้องให้เขาเปลี่ยนกฎที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและแรงงานในกระบวนการผลิต
ในขณะทัวร์ Martin ก็มักจะใส่เสื้อที่เขียนว่า Make Trade Fair แปะสติกเกอร์คำนี้บนเปียโน และเขียนลงบนมือว่า MTF ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา Coldplay ให้ Oxfam ไปทัวร์ด้วยเพื่อให้แฟนคลับของพวกเขามาร่วมสนับสนุนองค์กร นอกจากนี้ วงได้ร่วมเล่นในงานที่จัดเพื่อให้กำลังใจและระดมทุนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้าย ๆ ทั้งที่ Manchester และที่ Charlottesville รวมไปถึงงาน Global Citizen Festival องค์กรที่สนับสนุนให้คนทุกคนมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนโลก แล้วจะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นสิ่งต่าง ๆ รวมถึงการชมคอนเสิร์ตระดับโลกแบบฟรี ๆ
องค์กรล่าสุดที่ Coldplay สนับสนุนคือ MOAS (Migrant Offshore Aid Station) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการกู้ชีพผู้อพยพกลางทะเลเมดิเตอเรเนียน อีเจี้ยน รวมถึงปัจจุบันได้ขยายการช่วยเหลือไปสู่กลุ่มชาวโรฮิงญาอีกด้วย วงบริจาครายได้ทั้งหมดจากซิงเกิล A L I E N S จาก Kaleidoscope EP ให้กับองค์กรนี้
Morissey
องค์กรที่สนับสนุน: Compassion in World Farming, Cruelty Free International, PETA และ Saved Me
And the flesh you so fancifully fry
Is not succulent, tasty or kind
It’s death for no reason
And death for no reason is murderMeat is Murder by the Smiths
มังสวิรัติแบบสุดโต่งอดีตนักร้องนำ The Smiths ผู้เป็นมังสวิรัติแบบกินนมกับไข่ตั้งแต่อายุ 11 และปัจจุบันเขาเป็น vegan อย่างเต็มตัวที่ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ใด ๆ เลย เวลาไปทัวร์เขาจะขอไม่ให้ venue จำหน่ายสินค้าที่มีเนื้อสัตว์ ให้ PETA มาเปิดบูธรณรงค์ และเปิดวิดีโอจากโรงฆ่าสัตว์สุดโหดให้ผู้ชมดูระหว่างเพลง Meat is Murder ของ The Smiths ซึ่งทำให้ผู้ชมบางคนถึงกับร้องไห้ และเปลี่ยนมาเป็นมังสวิรัติในชั่วข้ามคืน ในปี 2005 Morissey ได้รับรางวัล Linda McCartney Memorial Award ในงาน Gala ของ PETA และในปี 2012 เขาร่วมโฆษณากับ PETA เพื่อสนับสุนการทำหมันหมาแมวเพื่อไม่ให้เพิ่มจำนวนสัตว์จรจัด
Morissey เคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึง Al Gore นักรณรงค์เกี่ยวกับสภาวะอากาศโลก เกี่ยวกับการเสิร์ฟอาหารที่มีเนื้อสัตว์ให้กับผู้ร่วมงาน Live Earth งานคอนเสิร์ตเพื่อโลก โดยแซะว่า ‘การเสริฟเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในงานที่ต้องการต่อสู้กับโลกร้อนก็เหมือนการขายปืนที่งานเดินรณรงค์ให้ควบคุมปืนน่ะแหละ’ ต่อมาในปี 2014 ก็เปิดวอร์กับกระทรวงการประมงของแคนาดา เกี่ยวกับนโยบายที่อนุญาตให้ล่าแมวน้ำได้ด้วยปืนไรเฟิลความเร็วสูง เมื่อโดนตอบโต้ เขาก็ตอบกลับไปอีกว่า การล่าแมวน้ำโหดร้ายไม่ต่างจากนาซีแหละโว้ย!
นอกจากนี้ยังโจมตี Jamie Oliver และ Clarissa Dickson Wright สองเชฟชื่อดังในเรื่องการสนับสนุนให้คนกินเนื้อ โดยโจมตี Wright ในจุดยืนของเธอเรื่องการล่าหมาจิ้งจอกจนทำให้เธอหวาดกลัวว่าจะโดนเหล่าสาวกของ Morissey มาทำร้าย นอกจากนี้ยังมีเกม Meat is Muder ที่ทำร่วมกับ PETA เป็นเกมให้เราช่วยสัตว์น่ารัก ๆ ไม่ให้โดนเชือด บวกกับเพลงที่เปิดคลอในเวอร์ชั่นแปดบิต Morissey บอกว่า “เกมนี้เป็นความร่วมมือทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ เราได้ป้องกันสัตว์ที่อ่อนแอและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จากความโหดร้ายทารุณของมนุษย์ ในขณะที่คุณจะไม่ได้สิ่งนั้นจากโปเกมอน โก นะ” ลองเล่นเกมได้ ที่นี่
Paul Mccartney
องค์กรที่สนับสนุน: 21st Century Leaders, The Vegetarian Society, Teenage Cancer Trust, MusiCares และอีกมากมาย
เขาเป็น vegetarian มาตั้งแต่ปี 1975 หลังจากที่เขาเห็นแกะเป็น ๆ เดินอยู่ในขณะที่เขากำลังกินเนื้อแกะ รวมถึงเป็น vegan ตั้งแต่ปี 2013 โดยเขาและ Linda McCartney ภรรยาของเขาเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิของสัตว์มาตลอด ในปี 1999 เขาจ่ายเงินกว่าสามล้านปอนด์เพื่อตรวจสอบและทำความสะอาดโรงงานของบริษัท Linda McCartney Foods ให้ปลอดจากผลิตภัณฑ์ GMO ต่อมาหลังจากแต่งงานกับ Heather Mills ในปี 2001 ทั้งคู่มาอุปถัมภ์ Adopt-A-Minefield องค์กรเพื่อยุติกับระเบิดในโลก รวมถึงเข้ายื่นหนังสือต่อ Colin Powell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เพื่อให้ประเทศลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการยุติกับระเบิด แต่ Bill Clinton ประธานาธิบดี ปฏิเสธที่จะลงนาม และในปี 2009 เขาพากย์เสียงให้กับวิดีโอ Glass Walls ขององค์กร PETA ซึ่งเปิดเผยภาพอันโหดร้ายของโรงฆ่าสัตว์ พร้อมกับประโยคที่ว่า ถ้ากำแพงของโรงฆ่าสัตว์เป็นกำแพงแก้ว ทุกคนก็คงจะเป็นมังสวิรัติกันหมดแล้ว
ล่าสุดในปีนี้เขาเปิดให้คนมาร่วมร้องเพลงบนเวทีคู่กับเขา โดยต้องเป็นผู้บริจาคเข้าองค์กร David Lynch Foundation มากที่สุดอันดับแรก องค์กรนี้สอน Transcendental Meditation ให้กับผู้ที่พบกับความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาวะหลังสงคราม ภัยพิบัติ รวมไปถึงความเครียดของคนเมือง ซึ่งคิดค้นโดยมหาริชี มเหช โยคี ที่ The Beatles เคยไปศึกษาอีกด้วย และร่วมแคมเปญ One Day A Week กับตระกูล McCartney, Woody Harrelson และ Emma Stone เพื่อสนับสนุนให้คนกินมังสวิรัติอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ซึ่ง Coldplay ก็เป็นอีกวงที่ร่วมสนับสนุนแคมเปญนี้ สามารถชมคลิปได้ด้านล่าง
นอกจากนี้เขาได้มีส่วนร่วมในการเล่นดนตรีเพื่อช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ เช่น Concerts for the People of Kampuchea, Ferry Aid, Band Aid, Live Aid, Live 8, รวมถึงการอุทิศเพลงคัฟเวอร์ Ferry Cross the Mersey ให้กับแฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลในโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร และมอบเพลงให้ Aid Still Required เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2004
Jack Johnson
องค์กรที่สนับสนุน: 1% For The Planet, Live Earth, Farm Aid, Green Music Group, Reverb และอีกมากมาย
ถ้าใครคิดตาม Jack Johnson จะรู้ว่าเขาเป็นศิลปินที่ห่วงใยในสภาวะอากาศของโลกมาก ๆ โดยเขาเป็นเจ้าของค่ายเพลง Brushfire Records ในลอสแองเจลิสซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในห้องอัด นอกจากนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแพคเกจซีดีที่ย่อยสลายได้ และแอร์ที่ประหยัดพลังงาน อัลบั้มที่ 4 ของเขา Sleep Through the Static อัดเพลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100%
เขาและ Kim ภรรยาร่วมกันก่อตั้ง Kōkua Hawai’i Foundation องค์กรที่สนับสนุนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และ Johnson Ohana Charitable Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อหาเงินสนับสนุนให้กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ศิลปะ ดนตรี และการศึกษาดนตรีทั่วโลก เขาและทีมงานร่วมก่อตั้ง All At Once องค์กรเพื่อสนับสนุนสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นไปเรื่องการกินอาหารออร์แกนิค และการลดใช้ถุงพลาสติก รวมถึงสนับสนุน Little Kids Rock องค์กรที่สนับสนุนเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เขาได้คัฟเวอร์เพลง Imagine เพื่อจำหน่ายในอัลบั้มการกุศล Instant Karma: The Amnesty International Campaign to Save Darfur เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามดาร์ฟูร์อีกด้วย
เขาเป็นหัวหอกในการจัดเฟสติวัล Kōkua Festivals ซึ่งจัดเพื่อหารายได้ให้กับ Kōkua Hawai’i Foundation โดยในปี 2011 Johnson อยู่ที่ญี่ปุ่นขณะที่เกิดสึนามิ หลังจากนั้นเขาจึงได้บริจาคเงิน $50,000 ให้กับ Earthquake and Tsunami Relief Fund โดย GlobalGiving ในปีถัดมา Johnson เล่นที่งาน Pillars of Peace Hawai’i: Building Peace on a Foundation of Aloha ก่อนองค์ทะไลลามะจะขึ้นพูดในหัวข้อ “Educating the Heart” รวมถึงเล่นงาน Farm Aid 2012 งานคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา และยังร่วมบริจาคเงินให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเฮอร์ริเคน Sandy อีกด้วย
เพลงเพื่อช้าง
ช้าง สัตว์ใหญ่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน ที่ในบางครั้งเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้ดูแลให้อยู่อย่างปลอดภัย ปล่อยให้มาเดินหากินในเมืองใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันหลังจากมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการนําช้างมาหารายได้ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่3) พ.ศ. 2557 ก็ทำให้ปัญหานี้ค่อย ๆ หมดไป เมื่อเราลองค้นหาใน ฟังใจ ก็พบว่ามีวงที่แต่งเพลงเกี่ยวกับช้างที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินของคน ถูกทรมาน ต้องจากป่าเขาที่เคยอยู่ วันนี้ขอแนะนำสามเพลงที่เราพบ
น้ำตาช้าง – ภูมิจิต (2008)
‘ฉันคิดถึงบ้าน จากมาแสนนาน อยากจะกลับไปในวันนี้ ป่าที่สุขใจ จากมานานปี อยากจะกลับไป ในวันนี้’ เพลงนี้เริ่มเล่าตั้งแต่ชีวิตของช้างที่เกิดขึ้นในป่า แต่โดนต้อนมาอยู่ในเมืองหลวง เพียงเพื่อหาอาหาร ซึ่งช้างถูกทรมานจนเหนื่อยล้า แต่ก็โดนบังคับให้เดินต่อไป ทั้ง ๆ ที่อยากกลับบ้าน
ฟังเพลง น้ำตาช้าง ได้ ที่นี่
ช้าง – นายไปรษณีย์ (2010)
‘หลงทางบนถนนคอนกรีต กีดกันไว้ให้ใคร หลงทางหลงแสงแห่งเมืองใหญ่ เร่แรงร้างบ้าน’ เพลงโฟล์คเศร้า ๆ เคล้าไปกับเสียงแซกโซโฟนที่เล่าความเหงา กับคำที่ร้องซ้ำ ๆ ว่าให้มองตาฉันบ้าง สิ่งที่เราชอบในเพลงนี้คือไม่มีการร้องคำว่าช้าง แต่ใช้วิธีการร้องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง จนทำให้เรารู้สึกเศร้าตามไปด้วย
ฟังเพลง ช้าง ได้ ที่นี่
กตัญญู – เยนา (2015)
‘คิดถึงวันที่เท้าเหยีบทับ น้ำค้างบนปลายหญ้า โอ้ใครเอ๋ยพาร่อนเร่เข้ามา’ งานจากวงโฟล์กร็อกรุ่นใหม่ ซึ่งมีเนื้อไม่เยอะ แต่บาดใจลึก ๆ เป็นอีกเพลงที่เล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่ช้างหวนไปคิดถึงป่าเขาที่จากมา และปิดท้ายด้วยประโยคสั้น ๆ ที่ชวนฉุกคิด ‘อยากพูดคำว่าหน้าไม่อาย ถึงนายที่อยู่บนหลัง ข้างในส่งเสียงดัง กตัญญู’
ฟังเพลง กตัญญู ได้ ที่นี่
เพลงเพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคเอดส์
SEAD เจ้าของเพลงคือวงพังก์-เมทัล ที่มักพูดเรื่องเพศในแง่ตลก วันนี้เราจะพูดถึงสามเพลงเกกี่ยวกับโรคเอดส์ของวง ซึ่งอยู่ใน Banana Sucks compilation โดย Banana Records ค่ายเพลงใต้ดินที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมายาวนาน ทั้งสามเพลงมีเนื้อหาติดตลก แต่ก็ได้แง่คิดและมีสาระ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่วงพังก์สามารถพูดเรื่องโรคร้ายออกมาได้โดยไม่ดูเขินและได้ช่วยความตระหนักอีกด้วย
ชีวิตหลังโรคเอดส์ Part 1
‘จากนี้แล้วฉันต้องทำอย่างไร ชีวิตจะเป็นอย่างไร เมื่อฉันต้องเป็นอย่างนี้ เหตุการณ์ผ่านเข้ามาเพียงชั่วคืน ลืมตาขึ้นมาฉันอยู่ ท่ามกลางโรคร้าย’ เมื่อคุณมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน คุณจึงติดโรคร้าย SEAD ทิ้งท้ายไว้ด้วยความรู้สึกทุกข์ทรมานที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ
ฟังเพลง ชีวิตหลังโรคเอดส์ Part 1 ได้ ที่นี่
ชีวิตหลังโรคเอดส์ Part 2
‘ชีวิตมันต้องเปลี่ยนไป ชีวิตมันต้องพังตั้งแต่วันที่เชื้อร้ายมันเข้ามา และไม่มีทางไหนที่จะทำลาย มีเพียงรอคอยวันสุดท้ายที่จะมาถึง’ เพลงภาคต่อ ซึ่งเนื้อหายังคงพูดเรื่องชีวิตแย่เนื่องจากเอดส์ แต่มีการเพิ่มเรื่องสังคมยอมรับโรคเอดส์มา ‘จงลืมทุกอย่างและสร้างโลกใหม่ เรียนรู้ชีวิตที่ยังอยู่กับลมหายใจต่อไป คุณก็เคยทำผิดคุณแค่เคยทำผิดไป เริ่มต้นชีวิตใหม่ สังคมไม่เคยปิดกั้นนนน’
ฟังเพลง ชีิวิตหลังโรคเอดส์ Part 2 ได้ ที่นี่
เอดส์หยุดได้ถ้าทุกคนหยุดเสี่ยง
เพลงเริ่มด้วยการเล่าถึงสาเหตุของโรคเอดส์และวิธีการป้องกัน เช่นไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ไม่มีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยง ‘อยากชวนเธอ ไปตรวจเลือดด้วยกัน’ ชวนให้ผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศให้ป้องกันและไปตรวจโรค วันนี้อาจจะยังไม่ติดโรค แต่วันหน้าก็ไม่แน่
ฟังเพลง เอดส์หยุดได้ถ้าทุกคนหยุดเสี่ยง ได้ ที่นี่
ก้าวคนละก้าว
ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง ตูน นักร้องนำจากวงร็อกอย่าง Bodyslam จะลุกขึ้นมาวิ่งกว่า 400 กิโลเมตรเพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลห่างไกลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทำยอดบริจาคไปถึง 85 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นคือการวิ่งอีกครั้งของเขาในอีกหนึ่งปีต่อมา ซึ่งเขาบอกว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะวิ่งระดมทุน กับระยะทางกว่า 2,191 กิโลเมตร และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 700 ล้านบาท เพื่อบริจาคให้ 11 โรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลาวิ่งศิลปินดารามากมายได้ออกมาร่วมทำบุญกับพี่ตูน รวมถึงมาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์ขายเสื้อเผื่อระดมทุนเข้าโครงการอีกทาง ซึ่งคนในหลาย ๆ จังหวัดก็ได้ร่วมเล่นเพลงของ Bodyslam กับเขา ซึ่งเราก็จะได้เห็นคลิปที่พี่ตูนเข้าไปร้องเพลงร่วมกับทุกคนที่ออกมาให้กำลังใจ โดยล่าสุด (กลางเดือนธันวาคม) ทำยอดบริจาคได้กว่า 800 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายของโครงการไม่ใช่แค่เพียงต้องการระดมทุนให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน แต่เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกกำลังกาย ลดความเจ็บป่วย และลดภาระของโรงพยาบาลอีกด้วย ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
นอกจากโครงการของพี่ตูนเองแล้ว ยังมี 1 ล้าน 5 แสนก้าว โครงการเพื่อระดมทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งตูน บอดี้สแลม และ แอ๊ด คาราบาว รวมถึงดารานักแสดงอีกมากมายได้มาร่วมวิ่งเพื่อระดมทุนในครั้งนี้ จนได้รับเงินไปกว่า 125 ล้านบาท ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
องค์กรทางดนตรีเพื่อสังคม
Youth Of Nation
องค์กรที่เริ่มจากการจัดเฟสติวัลจนกระทั่งขยับขยายมาเป็นด้านสังคมและการศึกษาด้วย นำทีมโดยพี่ทวน Day Tripper ในส่วนของการจัดเฟสติวัล จัดมาถึงห้าครั้ง โดยสามครั้งแรกที่กรุงเทพ ครั้งที่สี่ที่ขอนแก่น และครั้งที่ห้าที่ระยอง ซึ่งในครั้งหลัง ๆ มีการสอดแทรกเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และมีเวิร์กช็อปต่าง ๆ เช่นการอ่านบันทึกเสียงเพื่อคนตาบอด การบริจาครองเท้า เวทีพลังงานปั่น นอกจากนี้ก็ขยับขยายไปส่วนของการศึกษา ทั้งการจัดกิจกรรม ‘ห้องเรียนดนตรีไม่มีค่าเทอม’ ที่สอนดนตรีให้กับเด็กด้อยโอกาสและเพื่อร่วมต่อต้านยาเสพติดในชุมชน การจัดอบรม ‘สอนคุณครูสอนอูคูเลเล่ได้ภายใน1วัน’ และอีกมากมาย ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
คลองเตย มิวสิค โปรแกรม
โครงการดนตรีเพื่อเด็กในชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสุ่มเสี่ยงกับการใช้ความรุนแรงและใช้ยาเสพติด โดยเริ่มต้นจากคุณ ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ที่สนใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม จึงได้ร่วมกับคุณ จีจี้ ครูอาสาชาวฝรั่งเศสที่ทำกิจกรรมในชุมชนคลองเตย ซึ่งปัจจุบันโครงการก็ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Playing For Change โครงการที่จะสร้างโรงเรียนและสอนศิลปะให้กับเด็กด้อยโอกาสทั่วโลก ปัจจุบันโครงการสอนเด็กกว่า 30 คน และยังสอนการแสดงสด การอัดเพลง ศิลปะ เวิร์กช็อปต่าง ๆ เช่นเต้น ภาษาอังกฤษ เล่นเกม กิจกรรมพบปะ รวมถึงยังได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ในโครงการ Playing For Change ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
Triple H Music
Triple H มาจาก Heart ที่ต้องรักและเข้าใจสิ่งที่อยากจะสื่ออกมาเป็นเพลง Head ที่คิดสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมรวมถึงความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเพลงไทย และ Hand ฝีมือในการสร้างเพลงที่ดีออกมา ซึ่งค่ายเพลงนี้เป็นค่ายที่สนับสนุนศิลปินอิสระผู้ต้องการสื่อสารกับสังคม มีศิลปินในค่ายเช่น สามัญชน, อมตะ, Katniss Flower, ลำนำ และ ลิขสิทธิ์เพลงกว่า 300 เพลง รวมถึงมีการจัดคอนเสิร์ตและสัมมนานทางดนตรีอีกด้วย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
นอกจากตัวอย่างในบทความนี้ ยังมีทั้งศิลปินและโครงการต่าง ๆ อีกมากมายที่ร่วมลงแรง เรียกร้อง สร้างความตระหนักในเรื่องต่าง ๆ ใครมีเรื่องที่น่าสนใจก็มาเล่าสู่กันฟังได้นะ