More Rice ค่ายเพลงอิเล็กทรอนิก เน้นปลูกข้าวพันธุ์ไทย ไปโตไกลถึงยุโรป
- Writer: Korn Varasarin
- Photographer: Chiratchaya Wongin
ในยุคที่วงการเพลงพัฒนาก้าวไปไกล กระบวนการผลิตสื่อ platform ต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการฟังเพลงที่แทบจะเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอยู่จำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจการฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่เป็นแบบอนาล็อก ทำให้เกิดกระแสการกลับมาของแผ่นเสียง (vinyl revival) โดยคนกลุ่มนี้เชื่อว่าแผ่นเสียงนั้นให้เสียงที่ดีกว่า และเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าไฟล์ดิจิทัล เช่นกันกับคนที่เปิดเพลงตามคลับบาร์ต่าง ๆ มีดีเจจำนวนหนึ่งที่คลั่งไคล้ในจิตวิญญาณของแผ่นเสียงด้วยเหตุผลเดียวกัน
ความสนใจเรื่องการเปิดเพลงและการเล่นแผ่นเสียงทำให้สองดีเจ เจ—ศรายุ ศรียุกต์สิริ และ ต๊อป—ภัครภณ อนันตกฤตยาธร ได้มาทำความรู้จักกันมากขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของ More Rice การเดินทางครั้งใหญ่ที่จะพาวงการเพลงไทยไปสู่เวทีโลก
—เปิดเพลง จัดปาร์ตี้ ทำมาตั้งหลายอย่าง แต่มาลงเอยที่การเปิดค่ายเพลง—
ย้อนกลับไปตอนสมัยที่พวกเขาแทบยังไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างก็โตกันมาต่างที่ เจเรียนและเติบโตที่อังกฤษมาโดยตลอด “ผมทำงานเกี่ยวกับดีเจมา 8-9 ปี ตั้งแต่อยู่ที่นั่น ก็มีโอกาสได้จัดปาร์ตี้ เพื่อน ๆ ที่นู่นก็ทำค่ายเพลง ทำอะไรเป็นของตัวเองกันหมด พอกลับมาที่นี่ก็ได้ทำ SixSix เป็น touring agency ของดีเจ”
ส่วนต๊อปอยู่เมืองไทย เป็นดีเจและโปรดิวเซอร์ใช้ชื่อว่า DOTT หรือ Dogs on the Turns มีโอกาสได้เอาเพลงไปออกกับค่ายเพลงในต่างประเทศมากมาย และยังตั้งกลุ่ม Collect/Save ที่จะคอยจัดปาร์ตี้และมีกิจกรรมเชิญศิลปินมาจากยุโรปเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเพลงให้กับศิลปินในท้องถิ่นอีกด้วย “มันเริ่มมาจากเจเมสเสจเฟซบุ๊กมาขอเพลง จะเอาไปเปิดในมิกซ์ของ Pulseradio แต่ลืมส่งให้เลยไม่ได้ไปเปิด”
“ตอนนั้นเลยเปิด unreleased อันอื่นไปแทน พอหลังจากเราไปขอเพลง ต๊อปก็เริ่มชวนไปเล่นด้วย แต่ก็ไม่ได้ไปเพราะมันดันไปบุ๊กดีเจอีกคนไว้ ฟาวล์เลยสองต่อ” เจเล่า และการสนทนาครั้งนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
—เป็นช่วงที่บ้าซื้อไวนิลมาเปิดกัน ก็เลยอยากมีค่ายไวนิลเปนของตัวเอง—
เมื่อเป็นดีเจกันมาถึงจุดหนึ่ง การดาวน์โหลดเพลงมาเปิดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะหาสิ่งใหม่ ๆ มาให้กับแดนซ์ฟลอร์ พวกเขาจึงต้องไปหาแผ่นเสียงตามเว็บไซต์ผู้จัดจำหน่ายหรือค่ายเพลงโดยตรง “พอเริ่มมาบ้าซื้อแผ่นเสียงกัน มันก็เริ่มอยากจะมีค่ายเป็นของตัวเอง” ต๊อปเล่า
“ตอนแรกก็คิดว่ามันคงยากแน่เลย แต่พอดีผมมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาชื่อ Mikail เป็นคนที่คอนเน็กชันเยอะ เคยทำงานกับค่ายเพลงดังหลายค่าย แล้วก็ทำคลับชื่อ XX XX อยู่ที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ เลยได้เขามาเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของค่าย” เจเล่า “ผมก็จะดูแลเรื่องการติดต่อผู้จัดจำหน่ายและเรื่องธุรกิจต่าง ๆ ต๊อปจะดูเรื่องคอนเทนต์เป็นส่วนใหญ่ ส่วน Mikail จะดูเรื่องการโปรโมต การ PR หน้าที่ก็แบ่งกันค่อนข้างชัดเจน ส่วนศิลปินที่จะเอามาออกกับค่ายนั้นเราต้องช่วยกันฟัง“
—กว่าจะออก release แรกได้ก็ใช้เวลาปีครึ่ง—
ถึงแม้ว่า release แรกจะถูกปล่อยออกมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แต่ขั้นตอนและกระบวนการในการทำค่ายนั้นเริ่มมาด้วยเวลาราว ๆ ปีครึ่งแล้ว “ปัญหาหลักเลยคือการรอผู้จัดจำหน่ายตอบ” เจบอก “การที่เขาจะรับเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลของเขาก็ต้องผ่านการคัดเลือก สิ่งที่เราทำอยู่จริง ๆ มันก็คือธุรกิจ ถ้าเขารับเราเข้าไปแล้วขายไม่ออกมันก็เสียหายกันทั้งสองฝ่าย เช่นเดียวกับการที่เราต้องคัดเลือกเพลงที่ศิลปินส่งเข้ามา และเขาไม่ได้ส่งมาให้เราฟังแค่เพลงเดียวแน่นอน”
Lobster Distribution เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ซึ่งพวกเขาได้มอบหมายเป็นผู้ดูแลด้านการจัดจำหน่ายในยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนในไทยและฟิลิปปินส์จะเป็นส่วนที่พวกเขารับผิดชอบดูแลกันเอง ซึ่งคอนเซปต์ในการออกเพลงของค่ายนี้คือการผลักดันศิลปินที่เป็น native Asian ให้เป็นผู้ได้ release EP และจะเชิญศิลปินจากยุโรปมา remix เพลงเพื่อให้ EP ครบรสสมบูรณ์
“เพลงที่เป็น remix อาจจะเหมาะกับการเอาไปเปิดในคลับมากกว่า ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน แต่ท้ายที่สุด เราก็อยากให้ทุกเพลงของเราเล่นที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้” Tarsius สองหนุ่มจากฟิลิปปินส์ คือศิลปินใน EP แรกที่ได้ออกกับ More Rice โดยใช้การตีกลองสดเข้ามาผสมผสานกับซาวด์สังเคราะห์ “การเล่นกลองสดในดนตรีอิเล็กทรอนิก จะทำให้เพลงสวิงและเป็นธรรมชาติมากกว่า จะรู้สึกว่ามันไม่แข็งกระด้าง” นอกจาก original track โดย Tarsius ก็ยังมีศิลปินจากสวิตเซอร์แลนด์มาร่วม remix เพลงของพวกเขาด้วย
—ถ้าเพลงมันมีแบบดิจิทัลแล้วจะไปซื้อแผ่นทำไม—
คอนเซปต์อีกหนึ่งข้อของค่ายนี้คือ พวกเขาจะทำแผ่นออกมาเพียง 300 แผ่นเพื่อจัดจำหน่ายทั่วโลก “จริง ๆ เราก็อยากทำเยอะกว่านั้นหน่อยแต่ก็ต้องเซฟตัวเองด้วยนิดนึง ซึ่ง 300 แผ่นเป็นจำนวนขั้นต่ำในการผลิต” ต๊อปเล่าถึงข้อกำหนดในการออกแผ่น “การจำกัดจำนวนผลิตจะทำให้รู้สึกน่าเก็บน่าสะสม แผ่นได้ออกไปอยู่ในมือคนที่รู้สึกกับมันจริง ๆ เหมือนเวลาเราซื้อแผ่นเสียงมาเล่น การที่เราจะจ่ายเงินให้กับมันคือเราต้องชอบมันจริง ๆ”
“ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สำหรับเราการเอาเพลงขึ้นดิจิทัลก็เหมือนการฆ่าตัวตาย” เจกล่าวถึงรูปแบบการจำหน่ายเพลงในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก แต่พวกเขาเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวไปขายในช่องทางดิจิทัลอย่างเดียว “สำหรับเรา จำนวนของการขายดิจิทัลมันน้อยนิด และมันยังจะลดคุณค่าของแผ่นเสียงลงไปอีก อันที่จริงเรื่อง music streaming เราก็ดู ๆ ไว้เหมือนกัน แต่ตอนนี้เราเอาเพลงไป premiere กับ Ransom Note และ Resident Advisor ก่อนแล้ว ทำให้ยังเอาไปปล่อยกับรายอื่นไม่ได้”
—ถ้าเราทำค่ายเป็นดิจิทัล ป่านนี้เราคงไม่ได้ทำอะไรเลย—
สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้เป็นอะไรที่ใช้เงินทุนค่อนข้างสูง แต่อะไรทำให้พวกเขายังตัดสินใจลงมือทำกันอยู่
“นั่นทำให้กระบวนการผลิตของเรายิ่งต้องใส่ใจมากขึ้น เหมือนมันเป็น commitment อย่างหนึ่ง” ต๊อปกล่าว “ด้วยการแข่งขันที่สูงมากทำให้เราต้องคัดกรองคุณภาพและความแปลกใหม่ของเพลงที่จะปล่อยออกไป ผมมองกว่าเราไปช้า ๆ แล้วค่อย ๆ ให้คนที่จะรักมันจริง ๆ หันมาเห็น ดีกว่ารีบออกไปเรื่อย ๆ การประโคม PR แล้วไปวัดกับค่ายใหญ่ที่มาอยู่ก่อนแล้วมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย”
ด้วยความตั้งใจที่จะผลักดันผลงานในซีกโลกตะวันออกไปสู่เวทีโลกนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องเงินหรือผลตอบแทนคงไม่ได้มาก แต่ว่าพวกเขาก็รู้สึกดีกับสิ่งที่ทำไป
“เราไม่ได้คาดหวังกับเงินอยู่แล้ว เราอยากให้มันมี อยากให้มันเกิดขึ้น มันเป็นความรักล้วน ๆ ถ้าถามว่ามันประสบความสำเร็จมั้ย ผมโคตรแฮปปี้เลย การที่ได้เห็นแผ่นเสียงของค่ายตัวเองในร้านแผ่นเสียงที่เราอุดหนุ่นอยู่บ่อย ๆ สมัยวัยรุ่น ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว” เจบอก “ค่ายเพลงแนวนี้มันก็น้อยอยู่แล้ว เราทำอันนี้มาก็อยากจะให้มีคนมาร่วมเดินทางไปกับเรามากขึ้น“
—เราพยายามช่วยศิลปินละแวกนี้ที่โดนมองข้ามไปได้พูดอะไรออกมาให้คนฟังบ้าง—
จุดมุ่งหมายของพวกเขานั้นไม่ใช่แค่ความสำเร็จในละแวกบ้าน
“เราอยากให้เพลงของศิลปินในค่ายถูกนำไปเปิดในคลับและเทศกาลดนตรีทั่วโลก” เจเล่า “เราไม่ได้จำกัดแนวเพลงที่จะต้องอยู่ในค่าย ไม่ใช่ว่ามันไม่มีแนวเลย แต่มันมีทิศทางที่เรามองหาอยู่ เพราะเราอยากจะส่งสิ่งที่เป็นลายเซ็นของฝั่งเราไปฝั่งยุโรป ถ้าวันนึงศิลปินของเราได้ไปเล่นที่โซนนั้นก็คงเป็นความสำเร็จอีกขั้นนึงเหมือนกัน ใครเป็นคนไทยแล้วจะมาออกเพลงกับเรา เราก็ยิ่งอยากผลักดันให้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ส่งเพลงและประวัติมาในอีเมล [email protected] ได้เลยครับ เราตอบทุกอีเมล ซีนบ้านเราก็ไม่ใหญ่ จริง ๆ ก็แทบจะรู้จักกันหมด”
“มันอาจจะมีคนที่ทำแบบเราอยู่ก็ได้แค่เราอาจจะยังไม่รู้ ซึ่งเราก็อยากรู้นะว่ามีมั้ย หรือแม้กระทั่งศิลปินที่ทำเพลงไว้เป็นร้อย ๆ เพลง แต่พวกเขาไม่รู้ว่ามันมีแพลตฟอร์มให้เขาได้เผยแพร่ผลงาน เราก็อยากจะรู้จักพวกเขาเหล่านั้น” ต๊อปเสริม “สำหรับผู้ที่ทำผลงานอยู่แล้ว อยากจะเสริมให้ว่าบางทีสิ่งที่เรามีมันอาจจะยังไม่พอ เราเองก็ไม่ได้เก่งกันมาจากไหน แต่จากประสบการณ์ ก็อยากสนับสนุนให้ทุกคนทำการบ้านกันให้ดี ๆ และพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ”
เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เห็นซีนได้ก้าวไปข้างหน้าและเติบโตไปอีกขั้น มีค่ายเพลงที่บริหารโดยคนไทยที่พร้อมจะพาศิลปินละแวกบ้านเดียวกันไปเผยแพร่ในต่างแดน และสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือคนฟังและคนที่มาเต้นรำไปกับเรา ต้องขอขอบคุณทุกแรงสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนใครที่ยังไม่รู้จักเราหรือยังไม่เคยสัมผัสกับซีนดนตรีอิเล็กทรอนิกมาก่อน แน่นอนว่า แดนซ์ฟลอร์นี้ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่เสมอ
More Rice Please:
https://soundcloud.com/morericerecords
https://lobsterrecords.co.uk/products/tarsius-igado-ep-pre-order
https://www.facebook.com/morericerecords/
https://www.instagram.com/morerice.please/