Love Parade : ความสุข ความเศร้า และความเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของหนึ่งในปาร์ตี้กลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- Writer: Piyakul Phusri
ปี 1961
ผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เยอรมนีถูกชาติมหาอำนาจในขณะนั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ‘ผ่า’ ประเทศเยอรมนี เพื่อแบ่งเขตการปกครองประเทศผู้แพ้สงครามแห่งนี้ เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีตะวันออกถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วย ‘กำแพงเบอร์ลิน’ ป้องกันไม่ให้ประชาชนของสองฝั่งเยอรมันไปมาหาสู่กันได้โดยเสรี (กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างโดยฝั่งเยอรมันตะวันออก ป้องกันประชาชนหลบหนีไปยังฝั่งตะวันตก) โลกยังถูกปกคลุมด้วยหมอกทึม ๆ ของสงครามเย็น แม้ว่าสงครามที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงนี้จะคลี่คลายขึ้นไปมากแล้วก็ตาม
กรกฎาคม 1989
ในเบอร์ลินฝั่งเยอรมันตะวันตก Matthias Roeingh หรือ Dr. Motte และ Danielle de Picciotto เพื่อนสาวของเขา นำผู้คน 150 ชีวิต เปิดเพลงเทคโนและออกเต้นรำไปตามถนนของกรุงเบอร์ลิน เพื่อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพผ่านทางเสียงดนตรี เป็นการแสดงออกถึงความรักและความอดทนอดกลั้น พวกเขามีสโลแกนประจำการเรียกร้องสันติภาพด้วยเสียงดนตรีครั้งนี้ว่า ‘Friede, Freude, Eierkuchen’ หรือ ‘สันติภาพ ความสนุกสนาน และ แพนเค้ก’ โดยแพนเค้กสื่อถึงการผลิตและแจกจ่ายอาหารอย่างเป็นธรรม นอกจากจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดปาร์ตี้เพื่อเรียกร้องสันติภาพ การจัดงานในครั้งนี้ก็เป็นเหมือนงานปาร์ตี้วันเกิดของ Dr. Motte ด้วยเช่นกัน
— Dr. Motte ผู้ให้กำเนิด Love Parade
ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่างานปาร์ตี้กลางแจ้งที่มีคนเข้าร่วมเพียง 150 คนนี้ ต่อมาจะเป็นที่รู้จักในชื่อ Love Parade (หรือ Loveparade หากเขียนด้วยภาษาเยอรมัน) และจะเป็นปาร์ตี้มีคนเข้าร่วมสูงสุดมากกว่า 1,500,000 คน และก็เป็นเรื่องบังเอิญที่สี่เดือนหลังจาก Love Parade ครั้งแรก สองเยอรมันก็กลับมารวมเป็นประเทศเดียวคือ ‘สหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี’ กำแพงเบอร์ลินและร่องรอยแห่งความขมขื่นในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ต้องถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองกลายเป็นเพียงเศษซาก
Love Parade เป็นทั้งเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกกลางแจ้ง การเดินขบวนเพื่อแสดงออกทางการเมือง การแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงกิจกรรมทางการพาณิชย์ในช่วงปีหลัง ๆ ของการจัดงาน โดยระหว่างปี 1989-1996 Love Parade จัดขึ้นที่ถนน Kurfuerstendamm ซึ่งเป็นย่านช็อปปิ้งในเบอร์ลิน ก่อนจะย้ายไปจัดที่ถนน Straße des 17. Juni เนื่องจากสถานที่เดิมไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้ร่วมงาน โดยงานจะเริ่มในช่วงบ่าย บูธดีเจและตู้ลำโพงเคลื่อนที่ที่ติดตั้งบนรถบรรทุกหลายคันพร้อมใจกันเปิดเพลงอิเล็กทรอกนิกแนวเทคโน เฮาส์ และทรานซ์ดังกระหึ่ม ดีเจที่สปินแผ่นบนรถมีทั้งดีเจจากคลับเล็ก ๆ ในท้องถิ่น ดีเจจากไนต์คลับชื่อดังในเบอร์ลิน ไปจนถึงดีเจระดับโลกอย่าง Tiesto, Paul Van Dyk หรือ Armin Van Buuren รถเครื่องเสียงพาขบวนผู้มีใจรักการเต้นในชุดแต่งกายหลากหลายละลานตาตั้งแต่คนในชุดมนุษย์ต่างดาวไปจนถึงหญิงสาวเปลือยหน้าอกเคลื่อนที่ช้า ๆ ผ่านประตู Brandenburg สัญลักษณ์สำคัญของเบอร์ลิน ไปสิ้นสุดขบวนและระเบิดความมันอย่างถึงจุดสุดยอดที่ Berlin Victory Column อนุสาวรีย์สีทองสง่างามใจกลางสวนสาธารณะ Tiergarten ในช่วงก่อนเที่ยงคืน โดยในช่วงเวลาที่การจัดงาน Love Parade ที่เบอร์ลินขึ้นสู่จุดสูงสุด ขบวนพาเหรดนี้มีความยาวกว่า 6 กิโลเมตรเลยทีเดียว
— มหาชนชาวแดนซ์รวมตัวกันที่ Berlin Victory Column เพื่อร่วมงาน Love Parade
แม้ขบวนจะขยับไปอย่างช้า ๆ เพราะค่อย ๆ เดินกันไป เต้นกันไป เมากันไป แต่เพลงที่เปิดและบรรยากาศของผู้คนในงานโคตรจะเดือด แถมงานนี้ยังมีชื่อเล่นว่า ‘มหกรรมกายกรรมมือสมัครเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ เพราะผู้ร่วมงานจำนวนไม่น้อยพากันปีนป่ายไปอยู่บนเสาไฟฟ้า ต้นไม้ ป้ายบิลบอร์ด และออกลีลาเต้นอวดชาวโลกอย่างสุดเหวี่ยง
— Love Parade 1996
— Love Parade 1999
— หนึ่งในบูธดีเจเคลื่อนที่ที่เข้าร่วม Love Parade
ภายในงานนอกจากการเต้นรำอย่างอิสระบนถนนของเมืองหลวงที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ผู้ร่วมงานยังแสดงออกถึงความคิดและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลได้อย่างเสรี ทั้งการแสดงออกของผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ สำหรับผู้นิยมนุ่งลมห่มฟ้า ใครจะเปลือยท่อนบนก็ไม่มีใครว่ากัน ตลอดงานมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างหนักหน่วง และการใช้สารเสพติดทุกขนาน เรียกว่างานเดียวครบทั้ง dance drink and drugs แต่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่อัตราการเกิดอาชญากรรมในงานถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณผู้เข้าร่วมงาน
— เหตุการณ์ปกติที่ Love Parade
ในช่วงยุค 90s หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน Love Parade เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของกรุงเบอร์ลิน และทำให้เบอร์ลินเป็นหนึ่งในจุดหมายของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นที่จะต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของปาร์ตี้นี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต เบอร์ลินจะเต็มไปชีวิตชีวาจากพลังของวัยรุ่นจากทั่วโลกที่มุ่งตรงมายังเมืองหลวงแห่งเยอรมนี ขณะเดียวกัน ทางการเยอรมันก็ให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ การดูแลความปลอดภัย และการรักษาความสะอาด ให้กับคนเป็นล้าน ๆ ที่หลั่งไหลกันสู่ถนนแห่งเบอร์ลิน (สิ่งที่น่าสนใจคือ กฎหมายเยอรมันบัญญัติให้รัฐต้องเป็นผู้ดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและการรักษาความสะอาดในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งปาร์ตี้ Love Parade ออกตัวว่าเป็นการจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสันติภาพ ทำให้ในเวลาต่อมาเมื่อมีบริษัทเข้ามาเป็น organizer จัดงาน Love Parade ผู้จัดงานจึงมีปัญหากับทางการเบอร์ลินว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก่อนศาลจะตัดสินในปี 2001 ว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการพาณิชย์ที่บริษัทผู้จัดงานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด)
Love Parade จัดที่เบอร์ลินตั้งแต่ปี 1989 มาอย่างต่อเนื่อง จากผู้ร่วมงานหลักร้อยในการจัดงานครั้งแรก เมื่อถึงปี 1992 ผู้ร่วมงานก็ทะลุหลักหมื่น อีกสองปีต่อมาในปี 1994 ยอดผู้ร่วมงานอยู่ที่ 110,000 คน และผู้เข้าร่วมงานพุ่งทะลุสู่หลักล้านคนในปี 1997 ตัวเลขประมาณการสูงสุดของผู้เข้าร่วม Love Parade คือ 1,500,000 คน ในปี 1999 ถึงแม้จะมีผู้เข้าร่วมมหาศาล แต่ Love Parade ในปี 2004-2005 จำเป็นต้องยกเลิกไปเพราะผู้จัดงานประสบปัญหาด้านการเงิน
— Love Parade 1999 กับจำนวนผู้ร่วมงาน 1.5 ล้านคน
ในปี 2006 Love Parade กลับมาสู่เบอร์ลินอีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนทางการเงินโดย McFit เครือข่ายฟิตเนสรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีและยุโรป พร้อมสโลแกนประจำงานว่า ‘The Love is Back’ แม้จะกลับมาจัดงานได้อีกครั้ง แต่บิดาแห่ง Love Parade อย่าง Dr. Motte ก็ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้ด้วยเหตุผลว่างานถูกทำให้เป็นสินค้าทางการตลาดไปเสียแล้ว ซึ่งผิดจากเจตนารมณ์ริเริ่มของการจัดงาน และไปร่วมจัด Fuckparade เพื่อเป็นการประท้วงการทำให้ Love Parade กลายเป็นปาร์ตี้ที่มุ่งเน้นเรื่องการพาณิชย์ Dr. Motte ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Berliner Zeitung ว่า
“เราควรจะปล่อยให้ Love Parade มันเจ๊งไปซะ เพื่อนฝูงในวงการปาร์ตี้ต่างก็พากันบอกว่างานนี้มันกลายเป็นงานเฟค ๆ เป็นพาเหรดเพื่อการตลาดไปแล้ว”
— DJ Tiesto เปิดเพลงต่อหน้าผู้คนนับล้านในงาน Love Parade 2006
แต่ไม่ว่าอย่างไร Love Parade 2006 ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.2 ล้านคน (เป็นตัวเลขจากฝั่งผู้จัดงาน ขณะที่ข้อมูลจากตำรวจระบุว่ามีผู้ร่วมงาน 5 แสนคน) และเป็นการจัดงานที่กรุงเบอร์ลินเป็นครั้งสุดท้าย เพราะในปี 2007 ทางการของกรุงเบอร์ลินตัดสินใจไม่อนุญาตให้จัด Love Parade อีก ทางฝั่งผู้จัดงานจึงย้ายที่จัดงานไปยังแถบ Ruhr ทางตะวันตกของเยอรมนี Love Parade 2007 จัดขึ้นที่เมือง Essen และได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมงานถึง 1.2 ล้านคน ไม่ต่างจากการจัดงานที่เบอร์ลิน
ถึงแม้ว่า Love Parade จะเป็นงานปาร์ตี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่มันก็ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้คนที่ไม่ได้ร่วมงาน และสิ่งแวดล้อมในเมืองที่จัดงานในหลายด้าน หนึ่งในสาเหตุที่ Love Parade ต้องย้ายสถานที่จัดงานจากเดิมที่ถนน Kurfuerstendamm ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานครั้งแรก นอกเหนือจากจำนวนผู้ร่วมงานที่มากเกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้ อีกสาเหตุก็คือผู้ประกอบการร้านค้าในย่านนั้นเรียกร้องให้ Love Parade ไปจัดที่อื่น เพราะได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานที่มากเกินไป และความมือซนของผู้เข้าร่วมงานทำให้ร้านค้าได้รับความเสียหาย กลุ่มผู้รักธรรมชาติในเบอร์ลินพยายามเรียกร้องให้ผู้จัดงานกั้นรั้วบนถนนที่ Love Parade เคลื่อนผ่าน เพื่อให้ขบวนเคลื่อนไปบนถนนเท่านั้น เพราะต้นไม้ใบหญ้าไปจนถึงสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่บนเส้นทางของขบวนพาเหรดได้รับผลกระทบจากคลื่นมนุษย์จำนวนมหาศาล แต่ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์ชุลมุนภายในงาน แม้แต่ Berlin Victory Column ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของขบวนพาเหรดเองก็ได้รับความเสียหายจากบรรดานักเต้นมือลิงที่พากันไปปีนป่ายบนอนุสาวรีย์ และเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เบอร์ลินก็ออกมาโวยวายว่าเสียงเพลงที่ดังกระหึ่ม เสียงเบสที่หนักหน่วงทะลวงไส้ ทำให้สัตว์กว่าครึ่งหนึ่งในสวนสัตว์ถึงกับขี้แตก!
และโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดของ Love Parade ก็เกิดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2010 ที่เมือง Duisburg เมื่อผู้ร่วมงานจะต้องเดินผ่านอุโมงค์เพื่อเข้าไปถึงตัวสถานที่จัดงาน และอุโมงค์นี้เองที่คร่าชีวิตผู้ร่วมงานไป 21 คน บาดเจ็บอีกกว่า 500 คน เนื่องจากจำนวนคนที่เดินผ่านอุโมงค์มีมากเกินไปขณะที่อุโมงค์ก็มีความแคบเกินกว่าจะรองรับคนปริมาณมหาศาลได้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ ‘เหยียบกันตาย’
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ Rainer Schaller ซีอีโอของ McFit ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของงานออกมาประกาศว่า ‘เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต Love Parade จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป’ เป็นการปิดฉากหนึ่งในปาร์ตี้อิเล็กทรอนิกที่เก่าแก่ที่สุด และมีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดไปอย่างน่าเศร้า แม้จะมีความพยายามจัด Love Parade โดยผู้จัดงานรายใหม่ แต่ก็ถือกันว่า Love Parade ที่เป็นของแท้ดั้งเดิมได้จากไปพร้อม 21 ชีวิต ในเดือนกรกฎาคม ปี 2010
— โศกนาฏกรรมที่ Love Parade 2010 ที่ Duisburg
อย่างไรก็ดี ก็มีการจัดงานคู่ขนานกับ Love Parade ต้นตำหรับโดยใช้ชื่อเดียวกันทั้งในเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก Love Parade จึงเป็นเสมือนชื่อที่เป็นหมุดหมายสำคัญในวงการเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิก เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องเสรีภาพผ่านเสียงดนตรี และเป็นมหกรรมการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพโดยคนหนุ่มสาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในโลก
แค่จินตนาการถึงบีทหนัก ๆ ของเพลงเทคโนกับเสียงย่ำเท้าของคนเป็นล้าน เท่านี้ก็ทำให้ขนลุกได้โดยไม่รู้ตัว แม้มันจะเป็นเพียงอดีตที่ผ่านเลยไปแล้วก็ตาม…
ที่มา
Love Parade
Love Parade created in Berlin in ’89 as peace rally
The founder of the Berlin Love Parade won’t be going to this year’s event, calling the main sponsor “a nobody in the electronic music scene.
Party, Love and Profit: The Rhythms of the Love Parade (Interview with Wolfgang Sterneck)
Love Parade Tragedy: German Court Orders Trial Over 2010 Festival Deaths