พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ คีตราชัน ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจของนักดนตรีไทยหลายชีวิต
- Writer: Montipa Virojpan
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่าง ๆ กันออกไป”
— พระราชดำรัสแก่นักข่าวช่องวิทยุอเมริกาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2503
เราได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงขณะที่พระองค์ทรงดนตรีตั้งแต่เด็ก ๆ จนทุกวันนี้เราก็ยังได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงได้ภาพบันทึกที่ท่านทรงดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สมากความสามารถ สิ่งที่เราได้เห็นและฟังทำให้เราทึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม เป็นผู้ทรงริเริ่มแนวคิดหรือประดิษฐกรรมหลายสิ่งอย่าง แต่ยังได้เห็นมุมที่ละเอียดอ่อนด้วยการเป็นอัครศิลปินผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่งพระองค์หนึ่ง
ในโอกาสนี้ Fungjaizine ขอบอกเล่าเรื่องราวการทรงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ภายหลังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้พสกนิกรผู้มีใจรักในดนตรีและศิลปะ รวมถึงนักดนตรีหลาย ๆ ท่าน ได้ร่วมรำลึกถึงคีตราชันพระองค์นี้
Photo Credit
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ชื่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเรียนดนตรีขณะประทับอยู่ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้เรียนขับร้อง แต่ไม่ได้เรียนโน้ต เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษาก็ทรงลองเรียนแอคคอร์เดียน แต่ไม่สบพระทัย จนเวลาต่อมา พระองค์ทอดพระเนตรวงดนตรีของโรงแรมในภูเขาที่เสด็จประพาสก็เกิดพระประสงค์จะเรียนแตร แต่สมเด็จย่าขอให้เริ่มจากแซ็กโซโฟนเพราะกลัวเป็นอันตรายต่อพระวรกาย
Photo Credit
แซ็กโซโฟนตัวแรกของพระองค์เป็นของมือสองราคา 300 ฟรังค์ ที่ร่วมหุ้นกับพระเชษฐาครึ่งนึง และอีกครึ่งนึงมาจากสมเด็จย่า โดยมีครูสอนดนตรีชื่อนาย Weybrecht เป็นคนขายเรื่องดนตรีและนักดนตรีสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง จนวันที่เริ่มการเรียนการสอน พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไปซื้อคลาริเนตมาขอเรียนด้วย หลังจากที่ทั้งสองพระองค์ทรงเรียนดนตรีมาได้ระยะหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงยืมคลาริเนตพระเชษฐามาเล่น ต่อมาก็ทรงซื้อคอร์เน็ต แล้วจึงเป็นทรัมเปต พระองค์สนพระทัยแนวดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนว Dixieland (ตามแบบฉบับของเมือง New Orleans) จึงฝึกเป่ากับเพลงของ Sydney Bachet, Benny Carter หรือ Johnny Hodges นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเปียโน ที่ทรงหัดเองและโดยทักษะจากที่เรียนประสานเสียง ทรงกีตาร์ที่ยืมมาจากสหายที่โรงเรียน ทรงไวโอลิน และทรงขลุ่ยด้วยความที่การเล่นไม่ต่างจากการยกนิ้วในแซ็กโซโฟนมากนัก โดยพระองค์มีความเข้าใจ รู้ลักษณะของแตรทุกประเภท ทรงทราบคุณภาพของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดที่พระองค์ทรงเล่นเป็นอย่างดี และทรงซ่อมเครื่องดนตรีด้วยพระองค์เองได้
Photo Credit
ต่อมาพระองค์มีพระประสงค์จะพระราชนิพนธ์เพลงขึ้นด้วยพระองค์เอง จึงมีรับสั่งให้นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงสมัครเล่นเข้าไปร่วมบรรเลง และให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ร่วมประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องด้วย เพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ จากนั้นทรงจัดตั้งวงดนตรีที่รวมนักดนตรีสมัครเล่นในนาม วงลายคราม เล่นเพื่อออกอากาศในสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) เพื่อเป็นสื่อกลางสารประโยชน์และความบันเทิง
Photo Credit
ด้วยความชื่นชอบในดนตรีของในหลวงก็ส่งไปถึงสมเด็จพระเทพ ฯ ในเวลาต่อมา ซึ่งในหลวงทรงสอนด้วยพระองค์เอง ต่อมาจึงได้เกิด brass band ชื่อ วงสหายพัฒนา โดยมีสมเด็จพระเทพ ฯ ทรงเป็นหัวหน้าวง ที่มีเหล่าข้าราชบริพารในพระองค์เป็นสมาชิก (และเป็นศิษย์ของในหลวง) ร่วมเล่นในโอกาสพิเศษ