อิเล็กทรอนิก + ไทยเดิม = IIIII
- Writer: Montipa Virojpan
น่าดีใจสุด ๆ ที่ช่วงนี้เราได้ยินเพลงพื้นบ้านในดนตรีร่วมสมัยหลายต่อหลายวง อย่างล่าสุดนี้เราได้ไปเจอกับวงที่ชื่อว่า IIIII (ซึ่งไม่รู้ว่าจะออกเสียงยังไงดี) เพราะเจ้าของผลงานอย่าง พากษ์ พรายด้วง เขาคิดว่ามันคงแปลกดีถ้าศิลปินมีชื่อที่ออกเสียงไม่ได้ (อ้าว)
พากษ์ กำลังศึกษาปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัญฑิตย์ แต่การทำเพลงอิเล็กทรอนิกแบบนี้มีที่มาจากการเป็นคนชอบฟังเพลงหลากหลายแนว ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่ จนได้ทดลองทำเพลงด้วยตัวเองโดยใช้ความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนมาตอน ม.ต้น กับการศึกษาเองจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อพากษ์ขึ้น ม.ปลาย เขาเคยคุยกับเพื่อนไว้ว่าถ้านำเพลงไทยเดิมมาผสมกับ dubstep คงจะเป็นเพลงที่เพราะน่าดู แต่เพื่อนของพากษ์กลับบอกว่าสิ่งที่เขาคิดไม่มีทางเป็นไปได้ พากษ์จึงทำ IIIII ขึ้นมาเพื่อเป็นการพิสูจน์สิ่งที่เขาเชื่อให้ทุกคนได้ประจักษ์แก่หูของตัวเอง เพราะหลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าการผสมกันของเพลงไทยเดิมกับอิเล็กทรอนิกจะออกมาเป็นยังไง
“เพลงที่ผมทำส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเอาไปให้เพื่อน ๆ ฟังหรอกครับ มันอาจจะแปลกเกินไปสำหรับพวกเขา”
พากษ์เชื่อว่าเพลงไทยเดิมที่เขาฟังไม่ว่าจะเป็น นกขมิ้น แสนคำนึง ราตรีประดับดาว โหมโรงจีนตอกไม้ หรือลาวดวงเดือน ต่างมีเสน่ห์เฉพาะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงกระทบ ความก้องกังวาน กลิ่นอายของความโบราณที่ให้ความรู้สึกขลัง แต่ขณะเดียวกันก็มีความอ่อนโยนซ่อนอยู่ ซึ่งพากษ์ก็จับความประทับใจนี้มาผนวกเข้ากับดนตรีอิเล็กทรอนิก ทำให้เกิดความแปลกใหม่ ด้วยเพลงไทยเดิมก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครกล้าจับต้อง (เช่นกันกับศิลปะชั้นสูงประเภทอื่น ๆ)
“เสน่ห์ของอิเล็กทรอนิกก็มีความหลากหลายมาก จึงค่อนข้างอธิบายได้ยากอยู่นะครับ IIIII อาจจะเน้นความเป็นไทยเดิมมากกว่าอิเล็กทรอนิก จึงอาจทำให้รู้สึกแตกต่างจากไทยเดิมผสมอิเล็กทรอนิกงานอื่น ๆ นะครับ”
พากษ์มองว่าการที่ศิลปินไทยเริ่มนำความเป็นไทยมาใช้เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และอาจทำให้ผลงานของศิลปินได้แพร่กระจายไปสู่สากลในแบบของเราได้ เผลอ ๆ ก็เป็นผลดีในภาคเศรษฐกิจของไทย และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเพลงไทยด้วย
รับฟังเพลงของ IIIII บนฟังใจได้ที่นี่ และติดตามความเคลื่อนไหวของเขาได้ ที่นี่