Article Story

‘ใครคิดถึงคอนเสิร์ตบ้าง?’ อะไรก็มาแทนประสบการณ์ดนตรีที่คอนเสิร์ตให้ไม่ได้

เป็นประจำที่หน้า ‘On This Day’ หรือวันนี้เมื่อปีก่อนในเฟซบุ๊ก จะโผล่ขึ้นมาทบทวนความทรงจำของเรา มีทั้ง ภาพ และข้อความ ที่เราเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นวันวาน ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเราไม่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมที่บ้านแบบที่เป็นมาเดือนกว่า นี้ ชีวิตของเราจะเป็นยังไงบ้าง

จนเมื่อเราสกรอลภาพลงไปเจอรูปที่เราถ่ายกับเพื่อนหรือแฟนในคอนเสิร์ต รูปที่โดนแท็กมาจาก official page ของโปรโมเตอร์งานต่าง ๆ ที่เราเต้นมันจนหน้าวืด รูปยิ้มเกร็งที่ได้ถ่ายกับศิลปินที่ชอบแบบใกล้ชิด รูปที่เรากำลังเล่นเครื่องดนตรีชิ้นโปรดอยู่บนเวที และมีแฟนเพลงคอยเชียร์ คอยร้องตามอยู่ข้างล่าง มันทำให้เรานึกขึ้นได้ว่าคอนเสิร์ตและเฟสติวัลห่างหายจากชีวิตเราไปนานแล้วเหมือนกัน

ในสถานการณ์แบบนี้ ผู้จัดคอนเสิร์ตต้องยอมเลื่อนจัดงาน หรือบางรายก็ยกเลิกไปเลย แม้จะต้องสูญเสียรายได้จากการเตรียมงานไปไม่น้อย เพื่อป้องกันและช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะการจัดคอนเสิร์ตทุกครั้งคือการที่คนจากต่างที่มารวมตัวกันจำนวนมาก ในทางกลับกัน ถ้าผู้จัดยังดันทุรังให้งานยังมีอยู่ก็ไม่ได้แปลว่าศิลปินจะยอมขึ้นเล่น หรือจะมีคนซื้อบัตร เพราะแม้ผู้ชมเองจะรัก จะอยากดูศิลปินคนนั้นแค่ไหน หรือศิลปินอยากจะเล่น อยากมาเจอแฟน ๆ ยังไง แต่ต่างคนก็ต่างกลัว คงเป็นการดีกว่าหากเราเลือกอยู่บ้านและมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนอกบ้านให้น้อยที่สุด ตรงนี้เองทำให้ทุกคนต้องปรับตัวอย่างมาก พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่เคย

ช่วง lockdown ทำให้เวลา 2 เดือนผ่านไปอย่างเชื่องช้า บางทีก็ลืมดูว่าวันนี้คือวันอะไร อย่างตามปกติเราทำงาน 5 วัน พอวันศุกร์ ตกเย็นจะได้ออกไปคอนเสิร์ต ไปปาร์ตี้ จะกดสุดไม่สุดก็แล้วแต่ แต่เสาร์ อาทิตย์ จะได้นอนแผ่อยู่บ้านแน่ ๆ นี่เลยกลายเป็นว่าเราต้องอยู่บ้านทุกวัน ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่แตกต่าง

แต่เราก็ไม่สามารถจะปล่อยให้ความเฉาจากที่อะไร ๆ ไม่เหมือนเดิม มากัดกินพลังชีวิตให้เราห่อเหี่ยว หลายคนต้องต่อสู้กับไฟในการทำงานที่จุดไม่ค่อยติด เพราะเราอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมที่หาแรงบันดาลใจได้ยากยิ่ง และพยายามทำให้ตัวเองมีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่า และรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จนไม่นานเราก็ชินกับการ work from home บางคนที่ไม่เคยต้องมีมุมโต๊ะทำงานเป็นของตัวเองก็มีจนได้ เราได้ video conference กันมากขึ้นราวกับว่าทำงานมาจากคนละซีกโลก จากบางทีที่ไม่ต้องมี playlist ไว้ฟังตอนทำงาน เพราะลำพังก็มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอยู่ตลอด จนตอนนี้ก็เริ่มมีเพลงฟังเอาไว้แก้เบื่อในช่วงระหว่างวันกับเขาบ้างแล้ว 

ไม่ใช่แค่เราที่ต้องปรับตัว แต่ธุรกิจหลาย ด้านก็ต้องหาทางรอดในสถานการณ์นี้เช่นกัน กลับมาที่ซีนดนตรี หลังจากที่ไม่มีคอนเสิร์ต ไม่มีการเดินสายโปรโมตเพลง สิ่งที่เราจะเห็นได้บ่อยคือการที่ศิลปินไลฟ์เล่นดนตรีจากบ้านตัวเอง คุยกับแฟนเพลงกันทางออนไลน์ มีการสัมภาษณ์ศิลปินทางสตอรี่ไลฟ์ คนที่ไม่เคยเล่น IGTV หรือ Tiktok ก็หันมาเล่นกันมากขึ้น และอีกสิ่งนึงที่เริ่มได้รับความสนใจคือการจัดเฟสติวัลหรือปาร์ตี้เป็นวิดิโอออนไลน์ให้เราได้ดูกันสด ซึ่งก็สร้างการมี interaction รูปแบบใหม่ที่ศิลปินจะได้ใกล้ชิดกับแฟนเพลงมากขึ้น มีการคอมเมนต์ถามตอบกันได้ทันท่วงที หลายคนสนุกกับความรู้สึกที่เขาได้เข้าถึงตัวตนของเรามากขึ้น (แม้จะเป็นใน virtual world) แต่ว่ากันตามตรง คอนเสิร์ตแบบออนไลน์มันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทงประสบการณ์ทางดนตรีแบบที่คอนเสิร์ตมอบให้เราได้เลย

คอนเสิร์ต คือสิ่งที่ทำให้วัฏจักรของดนตรีทำงานได้อย่างครบถ้วน เมื่อนักดนตรีเขียนเพลงขึ้นมา บันทึกเสียงลงไปและเผยแพร่มันลงในเทป ซีดี แผ่นเสียง หรือดิจิทัลไฟล์ สตรีมมิง ทำให้เราได้ฟังเพลงเหล่านั้นวนซ้ำอยู่หลายครั้งจนร้องตามได้ ศิลปินเริ่มแสดงตัวผ่านทางสื่อต่าง ทำให้เราเห็นภาพของพวกเขา รู้สึกอยากรู้จัก อยากส่งเสียงไปบอกพวกเขาว่าเราชอบเพลงของวงพี่ แค่ไหน คอนเสิร์ตเลยเป็นสถานที่ที่คนที่รักวงดนตรีวงนี้มารวมตัวกัน เราอาจจะเซ็งตอนต่อคิวซื้อเบียร์ เซ็งตอนรีบมาซื้อ merch ตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด แต่ก็ซื้อไม่ทัน แต่เราก็หายเซ็งทันทีที่สมาชิกวงปรากฏตัว พวกเราส่งพลังงานคล้าย กันออกมาผ่านเสียงร้องกู่ร้องยินดี

ความรู้สึกของการได้ยินเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ถูกบรรเลงเมโลดี้คุ้นหูผ่านตู้ขยายเสียง ทำให้เราสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นเสียง ที่มากระทบเข้ากับร่างกายของเรา ปอดที่สั่นสะท้าน หัวใจที่เต้นรัวด้วยความตื่นเต้น บทเพลงที่เร้าใจทำให้เราเผลอกระโดดและเต้นตามแบบไม่ห่วงลุค เมื่อถึงคิวของเพลงที่เราโปรดปราน แค่อินโทรขึ้นมาก็ทำเอาขนลุกเกรียว แฟนเพลงทุกคนพร้อมใจกรีดร้องและส่งเสียงดังร้องตามเพลงนั้นไปด้วยกัน เวลาศิลปินสนุกถึงขั้นกระโดดลงมาจากเวทีเพื่อวิ่งปรี่มาหาคนดู เรายังจำความตื่นเต้นที่จะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับพวกเขาในระยะประชิดได้ไหม?

แม้แต่ศิลปินเอง จากการสัมภาษณ์พวกเขาผ่านสายโทรศัพท์หรือวิดิโอคอล หลาย คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคิดถึงคอนเสิร์ตไม่แพ้พวกเราเลย การได้อยู่บนเวที และรับส่งพลังงานกับคนดูผ่านเพลงที่พวกเขาบรรเลง พวกเขาพูดถึงพลังงานที่ได้รับจากคนดูที่ส่งเสียงเชียร์ เสียงตบมือ หรือร้องตาม มันเป็นแรงขับให้พวกเขาพุ่งพล่านในอารมณ์ ความร้อนจากที่รู้สึกได้ว่าเลือดสูบฉีดไปทั่วร่าง ทำให้ยิ่งอยากเล่นเพลงนั้นให้เต็มที่ ให้สนุกขึ้นไปอีก 

ภาพของวงดนตรีที่เคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า เสียงเพลงที่เราชอบถูกบรรเลงออกมา คนที่เราไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน แสงไฟ วิชวล กลิ่น หรือบรรยากาศของสถานที่จัดงาน มันสร้างประสบการณ์ที่ยากจะลืมลง

บางครั้งเราเสียเหงื่อ บางครั้งเราเสียน้ำตา เพราะในเพลงพวกนั้นมีความทรงจำของเรา พาลให้นึกถึงเหตุการณ์ต่าง และผู้คนมากมายที่อยู่ในชีวิต ลองกลับไปดูภาพพวกนั้นผ่าน On This Day ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เชื่อว่าความรู้สึกของเพื่อน ก็ยังคงแจ่มชัดเหมือนเดิม

ถึงตอนนี้จะไม่มีวี่แววว่าอะไร จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ในเร็ววัน แต่หวังว่าวันนึงเราจะได้กลับไปสนุกด้วยกันในคอนเสิร์ตอีก แล้วเจอกันนะ :’)

อ่านต่อ

ฉันไม่ชอบดูคอนเสิร์ต : 9 เหตุผลที่คนรักดนตรีเลือกจะฟังเพลงอยู่ที่บ้าน
คนไปคอนเสิร์ตบ่อย ๆ มีแนวโน้มว่าจะมีความสุขกว่าคนทั่วไป (จริง ๆ นะ)
6 วิธีที่จะทำให้ประสบการณ์การชมคอนเสิร์ตของคุณน่าจดจำ

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้