หลงกลิ่นกัญชา : เรียนวิชาบุปผาชนศึกษา 101 จากปลายปากกา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
- Writer: Montipa Virojpan
- Photos: บล็อกพญาอินทรี, SFGate, Vintage Everyday, Mobile RVing the Buzz, Travel Insider
Turn on, tune in, drop out
เราน่าจะเคยได้ยินวลีเหล่านี้ผ่านหูกันมาบ้าง แต่เคยนึกสงสัยหรือไม่ว่าเบื้องหลังสามคำนี้ มีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร
“เทอร์น ออน ในความหมายอย่างย่น คือการผลักดันตัวตนเข้าไปอยู่ในสภาพของการมึนเมายาเสพติด ชนิดไหนก็ตามอัธยาศัย เพื่อจะค้นพบทรรศนะแปลกใหม่ของชีวิต
ทูน อิน จงสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทุกผู้ทุกนามด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ด้วยความเมตตากรุณา และด้วยความรักอันปราศจากเงื่อนไข และแล้วจะมีความรู้สึกอบอุ่นในโลกที่หนาวเยือก ในโลกที่น่าสะพรึงแห่งการเบียดเบียนกันและกัน
ดร๊อพ เอ๊าท์ ละทิ้งโลก และจงดำเนินชีวิตตามปรารถนาแห่งตน”
Timothy Francis Leary คือคนที่คิดคาถาข้างต้นขึ้นมา เขานี่แหละคือคนที่เหล่าฮิปปี้ยกย่องและยึดถือเป็นศาสดา ขนาดมีคนบอกว่ารูปถ่ายของเขาได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าดาราดังในสมัยนั้นอย่าง James Dean ก็มิปาน แต่อันที่จริงแล้วเขาเป็นนักจิตวิทยาและอดีตศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดที่ถูกมหาวิทยาลัยไล่ออกจากการไม่สามารถให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำ และล้มเหลวในการสังเกตการณ์การนำร่องงานวิจัย (น่าจะเกี่ยวกับ psychedelic substance ตั่งต่างที่ส่งผลกับสภาวะจิตของผู้รับการทดลอง) ที่เขาเป็นคนริเริ่มขึ้น (ไม่นานหลังจาก Richard Alpert ผู้ร่วมวิจัยในข้อหาให้นักศึกษาปริญญาตรีทดลองเสพ psilocybin หรือเห็ดขี้ควาย ซึ่งต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อเป็น Baba Ram Dass เขียนหนังสือชื่อ Be Here Now ซึ่งเป็นคัมภีร์อีกเล่มของเหล่าบุปผาชนในปี 1971) เขาใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองเสพ LSD เพื่อหาความหมายของชีวิต… อันที่จริงเป็นเพราะเชื่อว่าสารใน LSD สามารถทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หากใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ
และที่ยกเรื่องราวข้างบนมาพูดในลำดับแรก เป็นเพราะเราพบสามคำนี้ปรากฏอยู่บนหนังสือฉบับตีพิมพ์ใหม่ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์—พญาอินทรีแห่งสวนอักษร หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า หลงกลิ่นกัญชา ขบวนการขบถล้มล้างศักดินาดอลลาร์
เรารู้จัก ‘อาว์’ ครั้งแรกในนิตยสาร a day กับคอลัมน์ หันมาทางนี้พบ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ช่วงปีท้าย ๆ ในชีวิตของ ‘พญาอินทรีแห่งสวนอักษร’ ผู้นี้ (ฉบับปลายปี 2549 จนถึง 2551 ซึ่งเป็นเล่มก่อนขึ้นหลักร้อย ก่อนจะหายไปจากนิตยสารอะเดย์) แต่ต้องยอมรับว่าในสมัยนั้น เรายังไม่ค่อยเข้าใจในเนื้อหาที่อาว์เขียน หรือแม้แต่จะพยายาม ‘เก็ต’ ในลีลาภาษาที่อาว์ถ่ายทอดมายังพวกเรา
จนแล้วจนรอด หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เราได้สัมผัสกับสำนวนที่แท้จริงของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับเป็น 00.00 น. (กับประโยคที่ตราตรึงใจเราจนถึงทุกวันนี้ว่า ‘ก่อนถึง 00.00 น. เพียงสองนาฑี แล้วข้าพเจ้ารู้สึกระทมใจ จนอยากมีความรัก’) และในหน่วยเวลานั้นเองที่เราเริ่มทำความรู้จักกับอาว์ผ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ อย่าง หอมดอกประดวน และ หลงกลิ่นกัญชา ที่เราเกริ่นไว้ด้านบน และกำลังจะเล่าถึงในบรรทัดต่อไปนี้
กดฟังเพลย์ลิสต์ข้างล่างเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน
หลงกลิ่นกัญชา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2511 ในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และได้รับการรวมเล่มในปีถัดมา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น ‘เซไม–ฟิกชั่น อาร์ติเกิ้ล’ (semi-fiction article) หรือนิยายกึ่งสารคดี ที่เล่าชีวิตของเขาช่วงที่อาศัยอยู่ใน ซาน ฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ช่วงยุคขวบปีที่ hippie movement ของเหล่าบุปผาชนกำลังบานสะพรั่ง เช่นเดียวกับหนังสือชื่อดังอีกเล่มที่ชื่อ ใต้ถุนป่าคอนกรีต เชื่อหรือไม่ว่าการที่เราอ่านหลงกลิ่นกัญชานั้นเหมือนกับได้หลุดเข้าไปอยู่ในย่าน Haight-Ashbury ซึ่งเป็นถิ่นที่ของฮิปปี้นับพันชีวิต
อาว์ได้พาเราไปทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ‘ฮิปปี้ส์’ มากหน้าหลายตาของอาว์ และทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตตามธรรมชาติของพวกเขา คนเหล่านั้น บ้างก็มีสมุนไพรช่อเขียวคลั่กกับยาประเภทหลอนประสาทเป็นเพื่อนสนิท บ้างก็ฟังเพลงประเภทที่เรียกว่า ‘dopesong’ ที่อาว์บอกว่าเป็น ‘ขนมหวานหลังควันกัญชา’ เพื่อเร่งปฏิกิริยาที่เกิดภาพหลอน มิติบิดเบี้ยว หรือสีสันแปลกตาต่าง ๆ หลังเสพสารพวกนั้น บ้างก็ขลุกตัวอ่านพุทธปรัชญาที่กลับเขียนโดยชาวตะวันตกและพูดถึงแก่นธรรมเพียงน้อยนิดอยู่ใน Drogstore Cafe ที่หัวมุมถนน (ที่อาว์เรียกว่า กาแฟสถาน) บ้างก็เดินขอเศษเงินเพื่อนำไปบริจาคให้เด็กยากไร้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนาม (แต่มักถูกปฏิเสธเพราะคนจะคิดว่าคนเหล่านี้ขอเงินไปซื้อกัญชา) บ้างก็ออกเดินขบวนเรียกร้องให้ยุติสงคราม เข้าวงสนธนาธรรม หาคำตอบให้ชีวิตอันวกวนจากผู้รู้ของกลุ่ม และบำเพ็ญภาวนา ยึดในวิถี ‘turn on, tune in, drop out’ เพื่อไปถึงนิพพาน (ที่พวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแท้จริงแล้วนิพพานคืออะไร)
หลังจากได้พูดคุยกับพวกเขามาประมาณนึง เราก็พบว่า วิถีชีวิตสมถะ ความเชื่อที่เป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมโลก หรือการแสดงออกเพื่อเป็นสัญญะในการต่อต้านกับผู้มีอำนาจของพวกเขา กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำของพวก ‘escapist’ หลีกหนีความจริง ขี้เกียจ และเป็นภาระต่อสังคม (อย่างง่าย ๆ คือการเด็ดดอกไม้จากสวนสาธารณะของเมืองมาประดับเรือนผม) ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะอาว์ก็พาเราไปดูว่าฮิปปี้มีหลายกลุ่ม หลายช่วงวัย หรือแม้แต่พวกผู้มีการศึกษา คนที่ทำอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่กวี จิตรกร นักเขียน แพทย์ นักแสดง คนที่มีหน้ามีตาในสังคม หรือโสเภณี ก็อาจมีความเชื่อตามวิถีฮิปปี้เช่นกัน เพียงแค่ต่างคนต่างต้องหาวิธีทำให้มีชีวิตรอดต่อไปในแต่ละวัน แต่ก็มีบางคนที่ชิงหนีจากความโหดร้ายนี้ไปก่อนด้วยวิธีลัด…
ต้องพูดตามตรงว่าอันที่จริง คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากพวกเราเท่าไหร่ มีทั้งร่าเริง เศร้า ว้าวุ่นใจ หิว เจ็บไข้ มีความต้องการความรัก อกหัก เพียงแค่มีวิธี ‘ทางเลือก’ ในการจัดการกับอารมณ์ หรือหาความสงบทางจิตใจต่างจากพวกเรา (บางคนยึดติดกับคำว่านิพพาน และเข้าใจว่าการใช้ยาเสพติดพวก LSD หรือกัญชา ที่ทำให้เกิดภาพหลอนหรือได้ยินเสียงแว่ว จะพาพวกเขาไปสู่นิพพานได้เร็วขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ถูกอธิบายไว้ในแซมบทของเล่มด้วย) พวกเขาจะนัดรวมกลุ่มกันเพื่อสังสรรค์ สนทนาแลกเปลี่ยนความสนใจ อ่านปรัชญาหลีกหนีจากความวุ่นวาย เล่าขานบทกวีที่บรรยายความรู้สึกนึกคิดแบบสุดโต่ง หรือฟังเพลง บรรเลงดนตรี และเต้นรำด้วยกัน ถึงแม้ว่าคนที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้น—ณ ขณะนั้น ยังไม่ทันได้ทำความรู้จักกันก็ตาม
แม้เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มจะเป็นการเล่าเรื่องราวและวิเคราะห์พฤติกรรมของฮิปปี้โดยอ้อม หลงกลิ่นกัญชา ยังได้บันทึกวิถีชีวิตและสังคมของคนหลาย ๆ กลุ่ม ณ ช่วงเวลานั้นไว้ รวมถึงเสียดสีสังคมอย่างแยบยล ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ ที่คนมักหลงใหลไปในกระแสของทุนนิยม ความยากจนข้นแค้น การเมืองที่ผู้มีอำนาจไม่สนใจปากท้องของลูกเมียทหารหนุ่มที่ถูกส่งไปรบ การต่อสู้กับประเด็นสีผิวที่ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง พยายามเรียกร้องและหยิบยืมวิธีสันติอหิงสามาจากมหาตมะ คานธี แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ถูกปลิดชีพด้วยกระสุนปืน ความ hyped ของวัฒนธรรมฮิปปี้เองก็โดนแซะไม่น้อยเพราะมีวัยรุ่นหลายคนไม่ได้เข้าใจเนื้อแท้ของมัน จึงถูกหลอกหรือโดนผู้ใหญ่มากเล่ห์เอาเปรียบเพียงเพราะของที่ถูกหยิบยื่นให้มีคำว่า ‘ความรัก’ หรือ ‘ในฝัน’ ต่อท้าย การกล้าพูดเรื่องโป๊เปลือยผ่านตัวหนังสือที่สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครยอมรับหรือถือเป็นเรื่องน่าอาย (สมัยนี้ก็ยังมีแหละ แต่คนรับได้และกล้าพูดกันมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งเรามองว่างาน หอมดอกประดวน ของอาว์ ที่คนสมัยนั้นเขาว่าเป็นหนังสือบัดสี เป็นอะไรที่เซ็กซี่มาก) ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ถือเป็นคนที่บรรยายการเสพกัญชายามค่ำระหว่างล่องแม่น้ำและกินขนมไทยแกล้มได้อย่างโรแมนติกที่สุดที่เคยมีมา
นอกเหนือไปจากความเป็นนวนิยายกึ่งสารคดีที่อ่านเพลิน มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาแล้ว เราขอยกให้ หลงกลิ่นกัญชา เป็นคัมภีร์ dopesong และศิลปะแขนงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไซคีเดลิกที่ดีที่สุดอีกหนึ่งเล่ม อาว์ได้ให้ลายแทงภาพยนตร์, หนังสือของนักปรัชญาตั้งแต่ยุค beat generation, ศิลปิน และบทเพลง psychedelic rock นับสิบซ่อนตัวอยู่ระหว่างหลากบรรทัดอันอวลกลิ่นกำยานและกัญชา
และสิ่งที่พิเศษกว่าแค่การพูดถึงเพลงเพลงหนึ่งหรือกวีบทหนึ่งของอาว์ คือการแปลความเนื้อเพลงและกลอนเหล่านั้นเป็นภาษาไทยด้วยวรรณศิลป์อันสละสลวย
แม้นว่าคุณจรดลไป แซน แฟรนซิสโก
วานแซมบุปผาไว้บนเรือนผม
แม้นว่าคุณบทจรถึง แซน แฟรนซิสโก
จะมิคลาดคลาพาทีของสุภาพชน
If you’re going to San Francisco
Be sure to wear some flowers in your hair
If you’re going to San Francisco
You’re gonna meet some gentle people there
— Scott McKenzie – San Francisco (Be Sure To Wear Flowers In Your Hair) แต่เพลงนี้กลับถูกกลุ่มฮิปปี้มองว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสทางการค้าจากชื่อของพวกเขา เพราะผู้เขียนเพลงไม่ได้มีความเข้าอกเข้าใจในวิถีบุปผาชนอย่างถ่องแท้
ผมไม่รู้สึกเปลี่ยวใจ
ถ้าทุกผู้ทุกตัวเอิบอาบอยู่ในรสเมา
But I would not feel so all alone
Everybody must get stoned
— Bob Dylan – Rainy Day Woman 12&35
ผมใคร่สะกดคุณให้หลง
I’d love to turn you on
— The Beatles – A Day in the Life
วิถีแห่งความรักมิเป็นอื่นนอกจาก/ความสวย
ดิฉันรักคุณหมดทั้งเปลือกนอกและในที่เป็นคุณ
ดิฉันรักคุณ/เดือยของคุณนอนอ้อนอยู่ในมือดิฉัน
สะทกสะเทื้อนราวนก
ในมือดิฉัน…
there are no ways of love but/beautiful/
I love you all of them
I love you / your cock in my hand
stirs like a bird
in my fingers
— Lenore Kandel – The Love Book
ภาษาที่อาว์ใช้ในงานเขียนถือว่ามีความแปลกแตกต่างไปจากนักเขียนรุ่นราวคราวเดียวกันในขณะนั้น และสิ่งนี้เองที่ทำให้หนังสือของเขาโดดเด่น โดยเฉพาะกับเล่มนี้ อาว์ได้ stylize ตัวสะกดของคำทับศัพท์ให้ออกเสียงตามที่ควรจะเป็นในภาษาอังกฤษ และคำไทยบางคำให้มีความพิเศษกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็น ซูพ (soup), ซ้อศ (sauce), แซน แฟรนซิสโก (San Francisco), ยุโรพ (Europe), เธอะ บีเทิ่ลส์ (The Beatles), ขี้! (แปลตรงตัวจากคำอุทานภาษาอังกฤษที่ว่า shit!) หรือ นาฑี (นาที) เป็นต้น ไม่แปลกใจเลยที่ผู้คนมักมองว่าตัวอักษรของเขาเข้มข้นในตัวตนที่เป็น ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) เพราะแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด นักเขียนลีลาปลายปากกาเหลือร้ายคนนี้ก็หยุดความเยาว์ไว้ที่วัย 28 ปีเสมอมา และเราเชื่อเหลือเกินว่าคนที่มีจิตวิญญาณฮิปปี้อย่างเต็มเปี่ยมเท่านั้น ถึงจะเขียนเรื่องราวอะไรที่ทำให้สัมผัสได้ถึงรูป รส เสียง และกลิ่นของกัญชา ได้ชัดเจนขนาดนี้
ถึงกระนั้นแล้ว แม้ภาพลักษณ์ของเขาจะดูเป็นนักเขียนรุ่นเก๋าผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ ๆ ในนักเขียนรุ่นหลัง (‘อาปุ๊’ ผู้เป็นไอดอลของหลาน ๆ ในแวดวงวรรณกรรม) หนุ่มใหญ่สุดคูล (หรือ ‘เสเพลบอยชาวไร่’) หรือจะสุดโต่งรักอิสระแบบบุปผาชนมากเท่าใด เขายังคงมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ตระหนักถึงหน้าที่และจุดยืนของตัวเอง ด้วยการลงท้ายในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อ่านว่า ‘ไม่มีผู้อ่าน ไม่มี ’รงค์ วงษ์สวรรค์’ อยู่เสมอ
แถม
รายนามหนังสือ/นักเขียนที่ปรากฏใน หลงกลิ่นกัญชา
John Steinbeck – Cannery Row
Jack Kerouac – On the Road
Padmasambhava – The Tibetan Book of the Dead (Bardo Thodol)
William Faulkner
George Orwells
Allen Ginsberg
เพลง/ศิลปินที่ปรากฏในหลงกลิ่นกัญชา
Jefferson Airplane – White Rabbit
The Beatles – Tomorrow Never Knows
Janis Ian – Society’s Child
Joan Baez
The Rolling Stones
The Doors
Ravi Shankar
Country Joe and the Fish
The Electric Chair
The Fugs
Richie Havens
MC-5
Moby Grape
Mother of Invention
Phil Ochs
Quicksilver Messenger Service
Sun Ra
Tingling Mothers’ Circus
นอกนี้ในท้ายเล่มยังมีดัชนีรวม Underground Film, ฯลฯ กูรู ปูชิต (บุคคลที่มีความสำคัญในสังคมฮิปปี้) และ ฯลฯ สแลง–สแลง (รวมศัพท์แสง) ของบุปผาชน อีกด้วย