Story

Fungjaizine การแพร่สปอร์ของนิตยสารหัวเห็ดตั้งแต่ต้นตอจนถึงปัจจุบัน

  • Writer: Montipa Virojpan

ด้วยวาระที่ ฟังใจ ครบรอบ 2 ปีไปหมาด ๆ Fungjaizine เองก็เดินทางมาถึงเล่มที่ 21 ซึ่งเป็นเล่มส่งท้ายปีเล่มที่สองจากทั้งหมดที่ทำกันมา จนตอนนี้ก็มานั่งคิดว่า ทั้ง ฟังใจ และ Fungjaizine ก็มีการเปลี่ยนแปลงเยอะเหมือนกันแฮะ เราเลยขอเป็นตัวแทนฝั่ง Fungjaizine โดยชวน กันดิศ ป้านทอง อดีตบรรณาธิการ มาเล่าความเป็นไปตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้ายที่อยู่ภายใต้การกำกับของ บก.กันต์ และก้าวต่อไปของ Fungjaizine ในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เริ่มอ่านได้ที่ย่อหน้าข้างล่างนี้เลย

ทำไมมันดูเซเล็บจังวะ /เค ๆ 

คิดจะทำ FJZ ตั้งแต่ตอนไหน

มันเป็นไอเดียตั้งแต่ที่เราเรียนจบแล้วว่าอยากทำนิตยสารที่เกี่ยวกับดนตรีนอกกระแส เพราะตอนที่เราเรียนมันไม่มีนิตยสารแบบนี้เกิดขึ้นเลย คนที่เล่นเฟซบุ๊กหรืออะไรต่าง ๆ ก็ไม่มีสื่อที่จะได้เสพเรื่องราวพวกนี้แบบลึก ๆ วงดนตรีหน้าใหม่ก็ไม่ได้มีช่องทางที่มีคนช่วยผลักดัน มีคนเห็นได้แบบชัดเจน คืออยากให้เป็นกระบอกเสียง สนับสนุนศิลปินนอกกระแส ให้ข้อมูลข่าวสารอะไรแบบนี้

ตอนเริ่มต้นยากไหม

มันยากมากเพราะเราไม่เป็นอะไรเลย เราเคยเป็นแค่เด็กฝึกงานในกองบรรณาธิการ เป็นลูกกระจ๊อกเขา แล้วอยู่มาวันนึงต้องมาเป็นบรรณาธิการ ตอนนั้นเราก็อายุ 23 เอง มันไม่เป็นอะไรเลย มีแต่ passion ที่อยากทำ ก็ยาก ก็มาคิดตัวคอลัมน์ ตอนนั้นมีเรา มีพี่ทราย (พิชญา โชนะโต UI/UX แห่งฟังใจ) มีพัด (ปริพัฒน์ สินมา อดีตกราฟฟิกดีไซเนอร์แห่งฟังใจ) ก็นั่งคิดชื่อคอลัมน์มาประมาณ 50 คอลัมน์ แล้วมานั่งตัด ๆ กันว่าเว็บนี้มันควรจะมีคอลัมน์อะไรบ้าง คิดไปคิดมาก็ไปลงตัวที่ประมาณ 10 กว่าคอลัมน์มั้งในตอนเปิดเว็บตอนแรก แล้วก็ต้องหาทีมมาช่วย ตอนนั้นก็รับสมัครกันจนได้มามีกัน 6 คน เป็นฟรีแลนซ์หมดเลย มีอิ๊ก (มนต์ทิพา วิโรจน์พันธ์ุ บรรณาธิการคนปัจจุบัน FJZ) คนเดียวที่อยู่จนถึงวันนี้ ก็ค่อย ๆ สร้างทีม สร้างคอลัมน์

มีเกณฑ์การคัดเลือกนักเขียนที่จะมาช่วยยังไง

เอาจริงคือเลือกจากเซนส์เลย แค่รู้สึกว่าเขารักดนตรีมาก ๆ ก็พอแล้วสำหรับเรา สิ่งที่นักเขียน FJZ ต้องมีคือหนึ่ง passion สองคือไม่ต้องใช้คำให้สวยมากจนเกินไป เหี้ยก็บอกเหี้ย ดีก็บอกว่าดี ชอบคำตรง ๆ มากกว่า เลยรู้สึกว่าการเลือกนักเขียนตอนนั้นจะเลือกคนที่ไม่มีการประณีประนอมในการเขียน อยากให้ใส่สไตล์ของตัวเองมา ซึ่งแต่ละคนในยุคแรกก็จะมีแบบเดือดไปเลยอย่าง ‘ฟังไร’ ของพี่อู๋ The Yers หรือแบบอิ๊กที่กึ่ง ๆ ความรู้แต่มีความเห็นอะไรด้วย ของเค้ก (ปาริฉัตร คำวาส) ก็จะเป็นแบบเล่าเรื่องไปเลย ของพี่ก้าน (กมลกานต์ โกศลกาญจน์) กับพี่พาย (ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี Community Manager และผู้ร่วมก่อตั้งฟังใจ) ก็จะเป็นกูรู อาจารย์สอนเด็ก ๆ ก็จะมีคาแรกเตอร์ของทุกคนชัดมากในตอนแรก

จริง ๆ ทีแรก FJZ เป็น blog มาก่อนที่จะมาเป็น web

ใช่ มันมาจาก blog.fungjai.com ที่ทีแรกตั้งใจจะให้เป็นแค่ community และคอลัมน์แนะนำอีเวนต์ประจำสัปดาห์ แนะนำเพลงประจำสัปดาห์ หรือเป็นคอลัมน์ที่ให้ศิลปินมาเขียนเอง ตอนนั้นรู้สึกว่าสามารถทำได้แค่นั้นเพราะก็มีแค่เรา กับพี่พาย เต็มที่ก็มีคอลัมน์สัมภาษณ์ที่เดือนนึงอาจจะเกิดขึ้นแค่สองครั้ง ก็เป็นการลองดูว่าไหวไหม

ตอนนั้นสัมภาษณ์ใคร

ศิลปินคนแรกที่ลงฟังใจน่าจะเป็น Jelly Rocket มั้ง เป็นบทสัมภาษณ์แรกของเขาที่ได้ออกสื่อ แล้วก็เป็น Polycat ตามมาด้วยอีกหลาย ๆ วง

ตัวตนของ FJZ ยุคแรกเหมือนกับตอนนี้ไหม

มันก็เปลี่ยนไปเยอะตามยุคสมัยนะ ตอนแรกมันเป็นเหมือนเด็ก ม.ต้น เปิดโลกอะ เห่อ ๆ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ค่อยได้แคร์ feedback เท่าไหร่ แต่จริง ๆ ในใจเราก็แคร์นะ อย่างการทำงานในฉบับแรกเราไม่รู้ว่าจะเอาใครมาขึ้นปก ก็เลยไปได้วง Goose ที่ตอนนั้นเขาจะมาเล่นเห็ดสด 2 พอดี แล้วก็คิดว่า คนส่วนใหญ่รุ่นนี้ไม่น่าจะเคยเห็นหน้าวง Goose มาก่อนก็อยากรู้ว่าถ้าคนอ่านได้เห็นหน้าคนที่ร้องเพลง สิ่งดีดี ครั้งแรกจะรู้สึกยังไงบ้างวะ  ปรากฎเล่มแรกโดนด่ายับเลย แล้วทั้ง feed คือการโดนด่า มีเขียนผิดอะไรงี้ เราก็ท้อว่าเราพลาดอะไรไปเปล่าวะ วันแรกมึงพังเลย ไม่ใช่เพราะพี่เขานะ แต่เราจำได้ว่าตอนที่ออกไปแล้วมีคนแชร์ เขียนว่าคนสัมภาษณ์แม่งสัมภาษณ์เหี้ยไรวะ ถามแต่น้ำ ไม่มีเนื้อเลย ซึ่งในมุมเราเราก็เข้าใจเขาว่าเขาอยากรู้เรื่องลึก ๆ ของ Goose แต่ฝั่งเราอยากนำเสนอแบบ เราไม่รู้จัก Goose เลยว่าเขาคือใคร สิ่งที่เราต้องการคืออยากให้คนรุ่นใหม่รู้จักเขา แต่เขากลับอยากได้ลึกกว่านั้น

12819445_1061371690572787_7363933736650397907_o

แล้วแก้เกมยังไง

เราก็ดูตลาดของนิตยสารว่าสิ่งที่อินดี้อย่างเดียวมันไม่ไหวนะ จะมานั่งแอคอาร์ตอย่างเดียวมันไม่ได้ มันมีเรื่องธุรกิจ การมองเห็นตลาดด้วย อย่างเล่มต่อมาเป็นภูมิจิต นี่ก็เป็นการทำงานข้ามวันเลยมั้ง เล่าทีละเล่มก็ได้จะได้เห็นการโตของมัน

12829037_1061375877239035_1990236807200786010_o

เล่มภูมิจิตคือสัมภาษณ์วันที่ 1 พฤษภาคม แล้วเย็นวันนั้นก็ต้องออกเล่มนั้นเลย เพราะวงไม่มีคิวเลยต้องถ่ายรูปเสร็จบ่ายโมง สัมภาษณ์เสร็จบ่ายสาม เรานั่งถอดเทปถึงห้าโมงกว่า ๆ แล้วทำเล่ม พร้อมปล่อยบทสัมภาษณ์เย็นวันนั้นเลย เป็นเล่มแรงงาน แต่ตอนนั้นคนก็ยังไม่เก็ตว่า FJZ คืออะไรวะ ทั้งเราพยายามทำให้แตกต่างด้วยการสอดแทรกธีมแต่ละเล่ม แต่คนก็ไม่เข้าใจว่าภูมิจิตมาแต่งตัวเป็นคนงานก่อสร้างทำไมวะ ซึ่งเราแค่ต้องการจะสื่อว่า เนี่ย วันแรงงาน ศิลปินเขาร้องเพลงให้กำลังใจคน เป็นเพื่อชีวิตนิด ๆ เงี้ย เล่มนั้นยอดอ่านทั้งเดือนอยู่ที่เก้าพันกว่ามั้ง เราก็เริ่มมาคิดแล้วว่ากราฟมันไม่ได้พุ่งขึ้นเลยอะ มันตกลงเรื่อย ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าต้องมีการแก้เกมเกิดขึ้นแล้วในการทำ FJZ มันก็จะมีคอลัมน์ ‘ลงพื้นที่’ ที่เล่มแรกมันปังมาก มันช่วยยอดอ่านได้ ปรากฎเล่มที่สองนี้มันก็ไม่พุ่งละ เราเลยมาคิดว่า หรือว่ามันเป็นเรื่องของปกวะ ที่วงมันควรจะมีคนรู้จักหน่อยหรือเปล่า หรือธีมต้องชัด รูปปกต้องดีกว่านี้หรือเปล่า

12819281_1061378847238738_9139479668138279871_o

เลยมาลองเล่มสามเป็น Part Time Musicians อันนี้ก็จับวงแต่งชุดไทยเลย คือตอนนั้นรู้สึกว่าเซนส์ตัวเองดีมากในการเลือกวงอินดี้มา เราฟินกับธีมนี้มากเลยนะ PTM เป็นวงร้องภาษาอังกฤษแต่ใส่ชุดไทยอะ สนุกสัส แต่กับคนหมู่กว้างมันไม่ได้เก็ตว่าแต่งชุดไทยทำไม PTM คืออะไร แล้วการเอาบทสัมภาษณ์มายาวเหี้ย ๆ แบบเลื่อนจนสุดมือ จนเมื่อย กว่าจะอ่านสัมภาษณ์จบคือมึงคุยเหี้ยไรกันยาว แต่พอ ‘ลงพื้นที่’ เล่มนี้เราไปถามติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษดัง ๆ อันนี้ก็เริ่มเข้าสู่คนกลุ่มหลักมากขึ้นแล้วว่าธีมของลงพื้นที่มันชัดขึ้นนะ คนเก็ตมากขึ้น แต่กับปกมันก็ไม่ได้ไปถึงยอดอ่านที่ภูมิใจ จากภูมิจิตคนอ่านเก้าพัน เล่ม PTM ก็ไปได้แค่หมื่นสามหมื่นสี่เอง

15417822_1574760352538018_351296553_p

ซึ่งเล่ม Lomosonic เล่มนี้เหมือนเป็นการวัดใจแล้ว ถ้าไม่ปังก็จะเลิกทำ เพราะตอนที่ทำพี่ท็อป (ศรันย์ ภิญญรัตน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งฟังใจ) บอกว่า เฮ้ย! ยอดอ่านมันตกนะจะไหวหรอ เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่าต้องเอาวงใหญ่มาแล้ว แต่ถ้าจะเอาวงใหญ่จากค่ายใหญ่ ๆ เราเอามาไม่ได้แน่นอนเพราะต้องใช้เงินมาก เลยเลือก Lomosonic ที่เพิ่งย้ายค่ายมา แล้วเอามาเข้าธีมร็อก เป็นเพลงที่ฟังแล้วเสียเหงื่อ เลยให้ใส่ชุดกรีฑา แล้ววันนั้นปิดราชมังคลากีฬาสถานถ่ายเลย เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตแล้ว แล้วก็ได้สัมภาษณ์นักบอลเมืองทองยูไนเต็ดด้วย คือในฝั่งเราฟินเหี้ย ๆ เลย กูทำกีฬาหมดทั้งเล่ม ปรากฎเล่มนี้ทำแล้วเริ่มเจอตลาด คนอิน Lomosonic คือควรอยู่ตรงกลางระหว่างแมสกับอินดี้ คนจะอ่านเยอะขึ้น แล้วก็ได้นักบอลเมืองทอง ฯ มาช่วยกระตุ้นยอด ปรากฎยอดอ่านไปจบที่สองหมื่นห้า เราก็ เชี่ย ไปต่อได้แล้ว ยังพอไหวอยู่ ดังนั้นการทำเล่มแบบตีมยังพอมีอยู่ได้

10348699_1061382913904998_7150349486776427928_o

ต่อไปเล่มผู้หญิงก็อยากจะรู้ว่าจะเป็นยังไงถ้ารวมผู้หญิงขึ้นปกให้ได้มากที่สุด แล้วทำธีม Girl Power ปรากฎว่าเล่มนั้นเป็นความวุ่นวายระดับ 150 จาก 100 ได้ การรวมผู้หญิง 7 คนนี้ได้ยากมาก แต่ทุกคนมาขึ้นปกด้วยใจ ก็ทำงานยากมากที่จะต้องถ่าย 7 คนให้อยู่ในภาพเดียวกันและสัมภาษณ์ทั้ง 7 คน แล้วแต่ละคนอินเนอร์ชัดไม่เหมือนกัน บางคนก็ไม่เคยถ่ายรูปมาก่อน อย่างน้องเพลง Plastic Plastic เราขอตัวเขามาได้แค่ครึ่งชั่วโมง แต่เราดึงเขาไปสองชั่วโมง ทุกวันนี้ยังรู้สึกเสียใจที่เอาเขามาเยอะเกินไปจนเขาเสียงาน แต่เล่มนี้ยอดอ่านของ FJZ ก็ดีขึ้น คนเริ่มเก็ตแล้วว่าเราเป็นสื่อ แล้วช่วงนี้อิ๊กก็เข้ามาเป็นนักเขียนประจำ

1496226_1061383137238309_5104992925894245733_o

เล่ม Polycat ตอนนั้นวงเขาจะออกอัลบั้มเต็ม เราก็เป็นสื่อแรกที่ไปสัมภาษณ์ ทำให้เล่มนี้ติดตลาดจริง ๆ จากกราฟที่ตก ๆ ไปมันก็ค่อย ๆ ขึ้น แล้วถ้าลองเปลี่ยนแนวในเล่มต่อไปให้อินดี้ติสหนักกว่าเดิม

12806117_1061384267238196_5202015779147989109_n

ก็เป็นฟังเจ Inspirative จะเป็นยังไง เพราะเรายังอยากดันวงเล็กเหมือนเดิม เราอยากให้ทุกวงบน FJZ เท่ากันอะ สามารถขึ้นปกได้ถ้าเข้ากับธีม แล้วยอดอ่านก็ดิ่งลง คือมันจะเป็นกราฟขึ้น ๆ ลง ๆ ทิศทางมันก็แปลก ๆ ไม่รู้จะยังไงต่อ จำนวนคนอ่านก็กลับมาอยู่ที่หมื่นต้น ๆ ก็ทำให้มาคิดว่าหน้าปกมันก็มีส่วน เพราะข้างในมันก็มีแฟนคลับของแต่ละคนที่จะเข้ามาอ่านอยู่แล้ว แต่มันยังไม่ปังขนาดที่คนอ่านแล้วต้องแชร์ทุกคน

12370759_1061385680571388_5159880615730849472_o

เล่มนี้เราต้องหยิบไม้ตายขึ้นมาแล้ว เลยเอา Hugo มาเลย ชีวิตนี้ขอสัมภาษณ์คนหล่อสักครั้งเถอะ แต่เล่มนี้มีความยากที่ฮิวโก้ไม่มีคิวเลย บวกกับทีมที่ค่อนข้างฉุกละหุก แต่ยอดอ่านถล่มทลายเป็นแสนกว่า แล้วเล่มนี้เราถูกก๊อปข้อมูลครั้งแรก ความรู้สึกแรกคือ นี่เว็บกูดังถึงขนาดมึงมาก็อปบทความกูไปเลยหรอ พวกเว็บ clickbait อะ แต่อีกมุมคือไม่มีใครรู้เลยว่ากูเป็นคนสัมภาษณ์ฮิวโก้ จนทุกวันนี้ยังมีคนแชร์คอนเทนต์ของ FJZ ที่เพจอื่นเอาไปลงอยู่เลย แต่ก็ทำให้เห็นว่า FJZ เข้าสู่ตลาดที่แมสขึ้นแล้ว พอมันแมสมาก ๆ เราก็แอบกลัวว่ามันจะหลุดจากสิ่งที่เราคิดไว้ทีแรกหรือเปล่าที่ว่าเราอยากดันวงเล็ก ๆ เพราะพอเล่มนี้แล้ว ทุกค่าย ทุกสื่อ ศิลปิน ก็เริ่มส่งมาว่าอยากขึ้นปกบ้าง อยากลงบ้าง แต่บางทีก็ให้ลงไม่ได้ เราก็อธิบายว่ามันเป็นเรื่องของธีมและจำนวนทีมงานที่ออกไปทำข่าวไม่พอ

12819473_1061386017238021_6629405882426419317_o

เล่มต่อมาเราก็เลยเอาพี่ป๊อก Stylish Nonsense กับพี่ตุล Apartment Khunpa มาเป็นคอนเซปต์อิสรภาพทางดนตรี ตอนถ่ายก็มีความจิ้น ๆ นิดนึง ยอดอ่านก็คงที่ แล้วมีทิศทางชัดเจนแล้วว่าเป็นเว็บที่พร้อมพัฒนาวงการให้กับทุกคน

10982811_1061386953904594_8903330240368277389_o

แล้วก็ต่อด้วย electric.neon.lamp เล่มปีใหม่ ตอนนั้นที่เอามาขึ้นปกเพราะเป็นวงที่ควรค่าแก่การนำเสนอมานานแล้ว (ไม่ได้ยินใช่ไหม ชมมากเดี๋ยวเหลิง) ก็เป็นวงที่อยู่มานานสิบกว่าปีแล้ว สิ่งที่สื่อควรจะทำคือให้เขาไปอยู่ในจุดที่คนเห็น ทัศนคติของวงค่อนข้างดีมาก ๆ แต่คนไม่ค่อยได้ไปคุยกับเขา แล้วก็เป็นพี่ในออฟฟิศด้วย ในมุมของคนทำก็รู้สึกว่า เชี่ย เราอยู่รอดถึงปีใหม่ได้แล้วหลังจากที่ทำอะไรไม่เป็นเลย แล้วทีมก็เริ่มแข็งขึ้นแล้ว มีนักเขียนเซ็ตใหม่เข้ามาก็มีคอนเทนต์แปลกใหม่เพิ่มมาด้วย

11538961_1061387290571227_6482164849225844619_o

ก็มาเป็นเล่มแสตมป์ อันนี้ก็ดึงความเป็นธีมกลับมาเหมือนเดิม คือเรื่องสถาปนิก ก็ได้คุยกับพี่แสตมป์ครั้งแรกในชีวิต เหมือนตอนนั้นเขาเป็นโค้ช The Voice ที่รายการเพิ่งจบไป ด้วยธีมของเล่มที่ไม่ได้ให้เขาแต่งชุดเยอะ มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าเขาก็คือคนธรรมดา คนอ่านก็เข้าไปอ่านแล้วเห็นมุมใหม่ ๆ ของเขา แบบ เขาเป็นคนแบบนี้หรอ ตอนเรียน จากเล่มนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ก็สนิทกับพี่เขาเลย ก็ได้ยอดอ่านประมาณนึง 5-7 หมื่น แล้วในยุคนั้นก็เป็นช่วงที่มี Rap Is Now โผล่ขึ้นมา พวกทีมงานฟังใจก็นั่งดูเรื่องแร็ปกันสักพักใหญ่ ๆ จนตัดสินใจทำเล่ม Rap Is Now

12828469_1059212780788678_7603489850648303256_o

ความท้าทายของเล่มนั้นคือทุกสื่อทำเรื่องเขาหมดแล้วก่อนที่เราจะออก เราก็ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้ดูแตกต่าง ถ้าพลาดคือแฟบแน่ ๆ ก็เลยสัมภาษณ์ทีมงาน Rap Is Now ชุดใหญ่ กับสี่คนสุดท้ายที่เข้ารอบชิง ปรากฎว่าเล่มนี้คือเล่มประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่เราเข้าไปนั่งดู Google Analytic มีคนอ่านหมื่นอัพทุกวัน ยิ่งวันแรกแตะแสนอะ แบบ เชี่ย นี่มึงทำให้คนอ่านแตะแสนได้ต่อวันนี่มึงเก่งมากแล้ว จบเดือนนั้นเหมือนจะเปิดไป 5 แสนเพจวิว มาถึงในจุดที่ประสบความสำเร็จแล้วล่ะ ซึ่งก็เป็นเล่มแรกที่ได้ Tuna Dunn มาเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์

12967894_1085114581531831_3549786783533317397_o

FJZ นี้จะมีอาร์ตไดหมุนเวียนกันไป เล่มแรกจะเป็นพี่ทราย ที่ทำจนถึงเล่มก่อน Lomosonic จากนั้นถึงแสตมป์จะเป็นบิ๊ก Son of Jumbo (ขจรยศ แย้มประดิษฐ์ อดีตอาร์ตไดเร็กเตอร์แห่งฟังใจและ FJZ) แล้วมาเป็นตุล Tuna Dunn (ตุลยา ดุลย์วัฒนาจิต อาร์ตไดเร็กเตอร์แห่งฟังใจ และ FJZ) แต่ละเล่มก็จะมีการใส่ความเป็นตัวเองของแต่ละคนเข้าไป

เล่มต่อมาก็เป็น Jelly Rocket เข้าสู่ปีที่สองเต็ม ๆ ของ FJZ เราก็เริ่มมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนขึ้น มีแฟนคลับตามแต่ละคอลัมน์แล้ว ฝั่งของปกก็ได้สามสาวคนนี้มาก็ทำให้ปกน่าสนใจ เป็นหน้าร้อนที่แฮปปี้มาก

13147448_1104830312893591_3732037194423472942_o

แล้วก็มาเป็น Kidnappers ก็เป็นปกที่เราใช้เวลากับสถานที่ที่ค่อนข้างจำกัดมากเลยต้องทดลองอะไรหลายอย่าง แต่พอเรากลับมาเล่นวงเฉพาะกลุ่มหรือไม่ได้อยู่ในกระแสหลักเท่าที่ควรคนก็ไม่เก็ตอีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาเราเริ่มไปเกาะแมสในฝั่งปก ยอดอ่านก็ตก เราก็คิดว่า เกิดอะไรขึ้นวะ คนยังไม่เก็ตสิ่งที่เราทำอีกหรอ

13411941_1125466620829960_5578245952704215747_o

เล่มต่อไปก็เลยเป็นพี่โป้ Yokee Playboy เพราะช่วงนั้นมีข่าวว่าจะทำคอนเสิร์ต 20 ปีพอดี ซึ่งเรากับทีมงานคิดว่าปกดีมาก แต่พอเอาจริงสุดท้ายแล้วตลาดกับการขึ้นปกมันคาดเดาไม่ได้เลย พี่โป้ก็ไม่ใช่ยุคสมัยนี้แล้ว ยอดอ่านก็ตกอีก เราก็เลยชะลอ ๆ ความอยากของตัวเอง

13701008_1143006145742674_6209941949111024682_o

ต่อไปก็เป็น Desktop Error ตอนนั้นผมไปบวช ก็เข้าใจเซนส์ที่อิ๊กเลือก Desktop Error มา แบบสุดท้ายวงอย่าง e.n.l หรือ DE เนี่ยเขาคู่ควรที่จะมาเป็นวงบนปกอยู่แล้ว มันเหมาะสมด้วยเรื่องราวของเขา ก็ดึงกระแสที่เราดรอปลงมาให้กลับขึ้นมาได้ด้วยตัววง ด้วยอาร์ตไดเร็กชัน ด้วยแนวคิดของ FJZ ที่ก็เริ่มโตขึ้น

13909053_1162054543837834_8307570174956239933_o

เล่มต่อไปเรากลับมาแล้ว ก็เป็นพี่จีน กษิดิศ เป็นเล่มที่มันมาก ขอเรียกว่าพี่จีนเป็นผู้หญิงที่น่ารักมาก ๆ ทั้งมุมการทำงาน การคุยแล้วปรากฎว่าก็ทำงานได้ดีพอสมควรในแง่ของเรื่อง gender ที่เราจะสื่อสารออกไปทั้งเล่ม ก็เริ่มมีธีมที่ชัดขึ้นแล้ว

14241548_1192470897462865_3882768093705135334_o

แล้วก็มีเล่ม 7thScene มันเกิดขึ้นตอนเราไปแหย่พี่แสตมป์เล่นตอนเล่มถาปัตย์อะแหละ ว่ามาเล่น ‘เห็ดสด’ ได้ไหม ปรากฎว่าเขาก็กลับมาเล่น แล้วก็มาเปิดตัวกับเราเป็นที่แรก ว่า 7thScene กลับมา หน้าตาเป็นไง ก็ทำออกมาเป็นธีมเบื้องหลังกองถ่าย พี่ ๆ เขาก็แฮปปี้ดี ตัวแฟนคลับก็ยังติดตามอยู่ เราก็ได้รับความน่ารักจากแฟนคลับ แต่ FJZ ก็ยังมีข้อผิดพลาดตั้งแต่เล่มแรกมาจนถึงเล่มนี้ คือมีฟี้ดแบ็กมาตลอดว่าเรายังเขียนผิดอยู่นะ เราก็รับไปแล้วก็แก้ต่อ

14608718_1218752531501368_1085612791901176091_o

ก็เป็นเล่มสุดท้ายที่เราทำ เล่มพี่เป้ อารักษ์ อันนี้สนุกมาก จริง ๆ เราก็ใจหายเหมือนกันที่จะได้เป็น บก. เล่มสุดท้ายแล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่ค่อนข้างแฮปปี้ในการคุยกับพี่เป้ เขาก็เล่าเรื่องราวอะไรเยอะ บวกกับเป็นหนึ่งในคนที่เราอยากคุยด้วย ก็เป็นการปิดท้ายในฝั่งเราที่เหมือนจบซีซันแรกไปด้วยดี

กำลังจะเริ่มซีซันสองแล้ว เราก็มองกลับไปว่า FJZ มันโตขึ้นเรื่อย ๆ นะ ตอนนี้มันก็เหมือนเด็กที่จบ ม.ปลาย แล้วมันกำลังเข้าสู่รั้วมหาลัยที่คนเข้ามาหามันเยอะขึ้น มีแฟนคลับแล้ว มีคนตามนักเขียนคนนั้นคนนี้ พอเรามองกลับไปก็ไม่คิดว่ามันจะทำได้ เพราะตอนนั้นแล้วเราเหมือนว่ายน้ำในอะไรก็ไม่รู้ มั่วชิบหาย ตอนนี้เราก็อยากขอบคุณทีมทุกคนที่ร่วมทำกันมาเลย ไม่ว่าจะเป็นทีมนักเขียนฟรีแลนซ์ชุดแรก หรือทีมที่คอยช่วยเหลือฟังใจแต่แรก ขอบคุณพี่ท็อป พี่พาย ที่ให้โอกาสเราได้ทำได้ยาวขนาดนี้สิบกว่าเล่ม ด้วยการทำงานที่ทีมมันน้อยเลยรู้สึกว่า คนในทีมแม่งโตขึ้นเรื่อย ๆ เราเห็นเวลาอิ๊กไปออกกองใหม่ ๆ จนถึงตอนนี้ก็เห็นว่าทุกคนอินกับสิ่งที่ทำ เพราะในยุคแรกทีมจะมีความงง ๆ ว่า ทีมเขียนคิดอะไรกันอยู่ ฝั่งอาร์ตไดคิดอะไร ฝั่งช่างภาพคิดยังไง มันไม่ได้มีตารางการทำงานที่ลงตัวด้วยความที่เราเด็กกันมาก พอโตขึ้นมา ประสบการณ์แต่ละเล่มมันสอน พอมาระยะหลังก็รู้แล้ว คุยงานเสร็จปุ๊บ แต่ละคนทำหน้าที่อะไร ก็จบ เร็วมาก ถ้าถามว่าที่ทิศทางเป็นไง มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ มันก็โตไปด้วยมุมของมัน แต่สุดท้ายมันก็ยืนอยู่ตรงกลางด้วยการเป็นกระบอกเสียงให้วงการที่ทุกคนก็เท่ากันหมดอยู่ดี

ที่ผ่านมาในการทำ FJZ มีข้อจำกัดยังไงบ้าง

เงิน (หัวเราะ) เรื่องเงินล้วน ๆ เรามีสิ่งที่อยากจะเนรมิตได้อีกเยอะในคอลัมน์ นักเขียน แต่ด้วยเงินที่จำกัดเนี่ย มันเป็นตัวแปรของทุกอย่างเลย อย่างหน้าปก เราเพิ่งรู้ว่าการที่จะได้ศิลปินมาขึ้นปกจากค่ายใหญ่ ๆ ต้องมีค่าสไตลิสต์ ค่าโน่นค่านี่ ซึ่งเราก็ไม่มีเงินไปถึงตรงนั้นไง ส่วนในแง่ของคนอ่าน บางทีคนอ่านก็ไม่เปิดใจอ่านอะไรยาว ๆ อาจจะเป็นนิสัยชอบอ่านอะไรน้อย ๆ กระชับ ได้ใจความ บางทีเราว่าเรื่องราวบางอย่างมันยาวแล้วค่อนข้างสนุกมากกว่า เพราะตอนเราได้ไปนั่งคุยกับเขามันก็สนุก อย่างตอนฮิวโก้อะ เราตั้งใจว่าจะไม่ตัดอะไรทุกคำถาม เพราะเราก็เอาคำถามเด็ด ๆ ไว้ข้างหลังหมดเลย ปรากฎว่าก็ดีใจที่คนอ่านไปถึงตรงนั้นจริง ๆ หรือไม่รู้ว่าสกรอลลงไปรออ่านข้างล่างหรือเปล่า

น้อยใจไหมเวลาประเด็นที่หลายคนยกขึ้นมาจากบทสัมภาษณ์ดันไม่เกี่ยวกับดนตรี

เราไม่ได้น้อยใจ แต่รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของคนไทย (หัวเราะ) เป็นคนที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องที่ไม่เชื่อมโยงกับตัวเอง คือถ้าเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย อย่าง ‘ตอนนี้ความรักคุณเป็นยังไง’ คนจะสนใจมากกว่าถามว่า ‘คุณทำเพลงอะไรอยู่’ เพราะมันเชื่อมโยงกับตัวเองได้ดีกว่า ส่วนเรื่องเพลงอะเราสอดแทรกทุกครั้ง สังเกตคอลัมน์ที่ขึ้นปก ยอดอ่านจะน้อยมาก นานน้านจะขึ้นเยอะซักที เพราะเราเรียงเรื่องเพลงไว้ก่อนเลย แล้วคนเวลาแคปกันไปก็จะเอาไปแค่เรื่องความรักของคุณแม่งเป็นยังไง ไม่ได้พูดถึงอัลบั้มที่เขาอุตส่าห์ทำมา ซึ่งเราก็พอเข้าใจว่าอุตสาหกรรมดนตรีมันไม่ได้ทำให้เชื่อมกับเรื่องราวตรงนี้อยู่แล้ว ถามว่าน้อยใจไหม เราไม่น้อยใจหรอก ฝั่งศิลปินอะเขาจะรู้สึกหรือเปล่าที่คนไม่ได้สนใจคุณเรื่องผลงานแต่ไปสนใจเรื่องอื่น

จากที่ทำมา เล่มที่ชอบที่สุดคือเล่มไหน

โห ชอบทุกเล่ม แต่ให้ชอบสุดก็เล่มพี่ฮิวโก้นี่แหละ ตอนแรกเราเกร็งด้วยมั้ง มันเป็นเล่มที่สนุกในการทำงานที่วันนั้นมั่วสุด ๆ เหมือนทุกคนไปด้วยความอยากกรี๊ดศิลปินคนนึง แต่ด้วยบทสัมภาษณ์มันเป็นการคุยกันแบบ ชีวิตนี้เราไม่เคยถามใครตรง ๆ ขนาดนั้นมาก่อน เรื่องการเมือง ความรัก วันนั้นได้ถามไปแล้วพี่เขาตอบกลับมา เรารู้สึกแฮปปี้มาก ๆ เป็นเล่มที่ทำด้วยความอิ่มใจ นี่แหละคือการเป็นนักเขียนที่แท้จริงของเรา

อยากเห็นอะไรจาก FJZ ในอนาคต

อยากเห็น FJZ เป็นเล่ม มันเป็นความฝันของเราตอนแรก ๆ เราต้องการทำเพื่อออกมาเป็นเล่มเดียวเพื่อสรุปเรื่องราวของศิลปินอินดี้ทั้งหมดในยุคนี้ ทำขาย แต่มันยังไม่มีวันนั้นเกิดขึ้น คือยุคต่อไปก็อยากเห็นมันเป็นเล่ม อาจจะไม่ต้องออกทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ขอแค่มันมีการจับต้องได้เกิดขึ้น เพราะมันคือจุดสูงสุดของการทำนิตยสารแล้วมั้ง เพราะการทำนิตยสารมันมีคนซื้อ มีคนรออ่าน บางทีก็เจอแฟนคลับสมัยนู้นที่อ่านแล้วแบบ ทำไมไม่ทำเป็นเล่มเลย อยากเก็บไว้ ในใจเราก็อยากทำ แต่มาคิดอีกทีว่าฐานของคนอ่านเรื่องดนตรีมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น เราก็แบบ ไม่ไหวว่ะ ต้นทุนการผลิตมันสูง

ฝากถึงยุคใหม่ของ FJZ15025270_1245645968812024_5872719985918636955_o

ฝากคนอ่านที่อ่านบทความนี้ด้วยนะครับ ฝากให้กำลังใจ บก. ยุคใหม่ของเราด้วย จริง ๆ อิ๊กเป็นคนที่มีเซนส์ในการทำงานสูงมาก ถ้าในแง่ของนิตยสารอิ๊กจะมองขาดกว่า เรื่องวง อะไรแบบนี้ อยากให้คนอ่านเปิดใจรับวงหน้าใหม่เหล่านี้ด้วย เพราะเราอาจจะเข้าไปลึกไม่ถึงอิ๊ก อย่างปกเล่มต่อไปเนี่ย เป็นวงนอกกระแสที่มีฝีมือมาก อยากให้ลองอ่านกันดู อย่าเพิ่งเปิดข้าม เปิดใจกับมันมาก ๆ จริง ๆ FJZ มันก็เป็นกระบอกเสียงทั้งวงเก่า และวงใหม่ ค่อย ๆ อ่านมัน อย่าไปรีบ มันมีข้อมูลที่เราอยากนำเสนออีกมาก

บทบาทใหม่ของ อดีตบก.กันดิศ

15123094_634429146758947_3086459912422041051_o

ฝากกลุ่มดนตรีใหม่ชื่อ Malama ด้วยนะครับ พวกเรารวบรวมวงดนตรีอยู่ด้วยกันเป็นเหมือนครอบครัว คนอาจจะมองว่าเราไปทำค่ายเพลงหรือเปล่า จริง ๆ เราอยากพูดว่าคำว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มจริง ๆ ไม่ใช่ค่าย ค่ายนี่ต้องมีการดูแลเป็นระบบต่าง ๆ มากมาย แต่กลุ่มนี้เราให้ความอิสระกับวงมาก เราอยากให้ทุกคนมาอยู่ด้วยกัน มาสร้างผลงานดี ๆ ด้วยกัน มาช่วยกันทำวงการดนตรีให้โตขึ้นเหมือนที่เราทำให้ FJZ มันโตขึ้น อยากทำให้ทุกวงสามารถอยู่ได้เอง เลี้ยงตัวเองได้ เป็นการบอกทุกคนด้วยว่าเล่นดนตรีแล้วได้ตังนะ ไม่ใช่เล่นดนตรีไปวัน ๆ ไปกดไลค์เพจด้วย แต่เรายังทำ FJZ บ้างแหละ พวกคอลัมน์ ‘เห็ดหูหนู’ หนุ่ม ๆ ไม่ต้องเป็นห่วงครับ ผมจะสัมภาษณ์แค่ผู้หญิงเหมือนเดิมครับ

สำหรับ Fungjaizine เล่มต่อไป พวกคุณจะได้พบกับอะไร ขอให้ตั้งตารอไว้ให้ดี ๆ เราจะอัดแน่นไปด้วยบทความคุณภาพและเรื่องดนตรีที่น่าสนใจให้คุณได้อ่านอย่างเพลิดเพลินกันอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ ขอเชิญย้อนความหลังไปกับสารพัน Best of ทั้งฝั่งฟังใจ และ Fungjaizine ที่จะหยิบยกกลับมานำเสนออีกครั้งตลอดทั้งเดือนนี้

15252497_1271698242873463_9196057721779391782_o

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้