Fungjai Crossplay ย้อนรอย 12 เพลง 12 artwork ที่คุณประทับใจ
- Writer: Montipa Virojpan
Fungjai Crossplay Recap
ในที่สุดโปรเจกต์สุดพิเศษจากฟังใจเดินทางมาถึงเพลงสุดท้ายแล้ว กับการร่วมมือกันระหว่าง 6 ศิลปินรุ่นพี่ และ 6 ศิลปินรุ่นน้อง ต่างค่าย ต่างแนว มาคัฟเวอร์เพลงของกันและกันในเวอร์ชันที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และสนุกมาก ๆ เลยทีเดียว และตอนนี้เราขอพากลับไปสำรวจว่าทั้ง 12 เพลงที่ผ่านมาว่ามีเพลงอะไรบ้าง
คลิกที่ภาพเพื่อรับฟังเพลงบนเว็บไซต์ฟังใจ
Summer Dress – บ้านของหัวใจ (Superbaker cover)
เมื่อวงดนตรีรุ่นใหม่สายชอบลองของ ต้องมาจับคู่ทำเพลงสายละมุนของวงป๊อปในตำนานอย่าง Superbaker โจทย์นี้จึงเป็นอะไรที่ยากสำหรับพวกเขาเมื่อต้องทำเพลงที่มีความพอดีอยู่แล้วให้มีความเป็นตัวเอง แต่แล้วพวกเขาก็สามารถสร้างสรรค์ บ้านของหัวใจ ออกมาได้เท่ เก๋ และมีสุ้มเสียงใหม่ ๆ ต่างจากต้นฉบับ ด้วยกลิ่นอาย neo-soul และการร้องคู่ประสานระหว่างเต๊นท์กับปอนด์ที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก
สำหรับภาพประกอบซิงเกิ้ลนี้ก็เป็นฝีมือของ อัญชลี อนันตวัฒน์ สไตล์การวาดของลี จะออกไปในทาง digital painting และการใช้ปากกา ลีคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง art gallery ชื่อดังย่านเจริญกรุง ‘Speedy Grandma’ “อยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเท่าอยู่กับคนที่เรารักค่า เหมือนอยู่บ้านเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นความรักอย่างหนุ่มสาวเท่านั้นด้วยค่า”
Superbaker – แพ้ทอม (Summer Dress cover)
ถึงตาวงรุ่นพี่อย่าง Superbaker ที่เอาเพลงช้ำรักแสนปลงตกแต่แอบกวน ทีสร้างชื่อให้ Summer Dress มาแล้วอย่าง แพ้ทอม มาบิดปรับทำใหม่เสียจนกลายเป็นเพลงบอสซาโนว่าอกหักน่ารักน่าชังไปเสียนี่ ด้วยเสียงของกอล์ฟ และซาวด์กีตาร์ยิ่งทำให้เพลงนี้มีความเป็น Superbaker ขึ้นทันตา
ปกของซิงเกิ้ลนี้ออกแบบโดย Son of Jumbo อดีตอาร์ตไดเร็กเตอร์แห่งฟังใจและ Fungjaizine โดยเขามีไอเดียในการทำภาพนี้จากการได้เห็นฉลากกล่องนม “ก่อนที่เราจะดื่มมันช่วยเตือนสติเราได้เสมอ นมทำให้ผมแข็งแรงขึ้น ที่ดื่มเพราะมันทำให้ผมรู้สึกอ่อนแอน้อยลง ส่วนเรื่องการเป็นที่สอง รองใครสักคน ไม่ใช่เรื่องโหดร้ายสักเท่าไรนัก เพียงแต่คำว่า พ่ายแพ้ ยังคงสถานะอยู่กับเรา เหมือน ‘ไม่ได้โทษใคร ไม่ได้โทษใคร.. แต่ช้ำใจ’ ทุกครั้งที่เหรียญเงินคล้องคอใครสักคนอยู่นั้น จะแอบเห็นแววตาโศกเศร้าภายใต้การเฉลิมฉลอง ดื่มไปเยอะ ๆ เลยยิ่งดี ดื่มให้กับความเจ็บปวดที่ยอมรับได้ ดื่มให้กับรางวัลรองชนะเลิศ เรียนรู้และสนุกสนานไปกับมัน”
โช โชตินันท์ – เดียวดาย และ แสงดาว (สิงโต นำโชค cover)
เวอร์ชันใหม่สุดคราฟต์จาก โช โชตินันท์ หรือ โช Lullaby ที่ทำออกมาในสไตล์อัลเทอร์เนทีฟโฟล์ก มีจังหวะจะโคน anti-folk เบา ๆ เพิ่มมิติและสีสันให้กับเพลงนี้ ยิ่งฟังไปเรื่อย ๆ ยิ่งขนลุก เรียกว่าจับโมใหม่จนกลายเป็นเพลงเท่ ๆ อีกเพลงนึงเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นลูปกลอง ซาวด์ซินธ์เคว้งคว้าง จะเหงาก็ไม่ได้เหงาขนาดนั้น เพราะบทเพลงของเขามันโอบล้อมเราไว้อย่างเหนียวแน่นเหลือเกิน
“จากเพลงเดียวดายและแสงดาว ที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดถึงความเหงา ซึ่งความเหงามันคือสภาวะหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราคิดถึงใครสักคน หรือต้องการมีตัวตนในสายตาใครบางคน เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเกิดขึ้นมันก็พร้อมที่จะวนเวียนอยู่ในหัวและยากที่จะหลุดออกจากภวังค์นี้ ผมเลยพยายามตีความจากตรงนี้ บวกอารมณ์ความรู้สึกและ บรรยากาศต่าง ๆ ที่ได้จากการนำเพลงมาทำใหม่ของ โช Lullaby เมื่อนำทุกอย่างมาประกอบเข้าด้วยกันจึงออกมาเป็นปกนี้” Nut Dao กราฟฟิกดีไซเนอร์มือรางวัลจาก ‘PRACTICAL Design Studio’ ที่ล่าสุดได้ไปแสดงงานที่ Unknown Asia Osaka ประเทศญี่ปุ่นถึงสองครั้ง
สิงโต นำโชค – อยู่ให้ฉัน (Lullaby cover)
อัลเทอร์เนทิฟโฟล์กเวอร์ชันสุดร้าวรานจากสิงโต นำโชค ยิ่งทำให้เพลงอ้อนวอนสุดกรีดแทงนี้ทวีความบาดลึกยิ่งขึ้น แอบได้ยินทีมงานที่ไปถ่ายทำวิดิโอสัมภาษณ์ในห้องอัดว่า แทบจะร้องไห้ กันเลยทีเดียว ด้วยน้ำเสียงทอดถอนแทบจะขาดใจนี่แหละมั้งที่ทำให้ฟังแล้วใจหวิวแปลก ๆ
Juli Baker and Summer ได้รับหน้าที่ให้เป็น artist ออกแบบปกซิงเกิ้ลนี้ โดยป่านเล่าว่า โถปลาเป็นสิ่งของที่เราเอาไว้เก็บสิ่งมีชีวิตที่เห็นได้ใกล้ตา แต่เราไม่สามารถครอบครองคนที่จะไปไว้ได้ สุดท้ายก็คงทำทำได้แค่นั่งรอไปเรื่อย ๆ ฮือ เศร้าไปอีก
Yena – สายลม (Hugo cover)
จากเดิมที่มีความเป็นคันทรีร็อกสุด ๆ แล้ว พอมาถึงมือ Yena ยิ่งทำให้ความ local ถูกขับออกมาแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งสไตล์การร้องและซาวด์กีตาร์ที่อิงดนตรีพื้นถิ่นอยู่บ้าง ให้ความรู้สึกเป็นเพลงเพื่อชีวิตดิบ ๆ เข้ากันดีกับเนื้อร้องต้นฉบับได้เป็นอย่างดี
“เพลง สายลม ของคุณ Hugo สำหรับผมแล้วผมนึกถึงความเหน็ดเหนื่อยของการเดินทางและคิดถึงบ้าน ผมจึงคิดว่าภาพท่ีเหมาะ ก็น่าจะต้องเป็นภาพบรรยากาศของการเดินทางนี่แหละ แล้วบวกกับการเปรียบเปรยของเน้ือเพลงท่ีคุณฮิวโกร้อง ‘สายลมพาเดินทาง’ สายลมในท่ีน้ีก็อาจจะตีความว่าเป็นโชคชะตาหรือเหตุท่ีจำเป็นต้องออกเดินทางก็ได้ ซึ่งสิ่งของในภาพผมก็อยากให้มันสอดคล้องกับวิธีเปรียบเปรยของเค้าก็เลยแทรกมันเข้าไปในแบบของสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นภาพวิวปกติส่วนการใช้สี ผมอยากอิงไปกับสไตล์ดนตรีของวง Yena คือเป็นดนตรีท่ีสนุกแต่เน้ือเพลงท่ีค่อนข้างตรงไปตรงมา และมีการเสียดสีบ้าง ซึ่งมันน่าจะเหมาะกับการใช้สีแรง ๆ สด ๆ เพื่อให้สีมันไปขัดกับเรื่องท่ีอยากจะเล่าครับ” Bloody Hell Big Heads ผู้ออกแบบปกซิ้งเกิ้ล สายลม โดย Yena กล่าว
Hugo – กรุงเทพ (Yena cover)
เซอร์ไพรส์กันสุด ๆ กับ กรุงเทพ ที่เคยเป็นเพลงเพื่อชีวิตจังหวะสนุก แต่ Hugo ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า เพลงเพื่อชีวิตไม่จำเป็นจะต้องมีจังหวะจะโคนแบบเดียวกันเสียทุกครั้งไป เพราะเขาได้ทำให้เราว้าวสุด ๆ กับการปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นเพลงล้ำ ๆ ซาวด์ลุ่มลึก มีความหม่นดำลึกลับ แถมการเรียบเรียงก็ทำให้เพลงมีความหลากหลาย ได้ซาวด์เครื่องกระทบออกแนว world music และกลิ่นอายแจ๊สเจือเข้ามาให้เพลง classy ขึ้นมากโข
งานนี้ได้ Tuna Dunn อาร์ตไดเร็กเตอร์มือฉมังแห่งฟังใจ และ Fungjaizine มาออกแบบปกซิงเกิ้ลด้วยตัวเอง “เนื้อเพลง กรุงเทพ ของวง YENA พูดถึงชีวิตของเด็ก ๆ ในกรุงเทพที่ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่เรานึกภาพเอาไว้ ทั้งเด็กที่โดนพ่อแม่ทำร้ายหรือเด็กที่ไม่มีโอกาสได้ใช้วันหยุดเหมือนคนทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ฟังเนื้อหาที่ถูกเล่าออกมาแล้วเราก็นึกถึงการที่คนเลือกเกิดไม่ได้ เราเลยวาดมนุษย์คนหนึ่งในท่าทางเหมือนทารกที่อยู่ในท้อง โดยที่เขาถูกผูกมัดไว้แล้วว่าจะต้องเกิดมาเป็นประชากรชาวกรุงเทพ ฯ และด้วยเพลงที่เรียบเรียงใหม่ในเวอร์ชั่นของ Hugo ที่มีเสียงกลองและท่อน saxophone ที่มีความดิบ เราเลยทำให้มนุษย์ที่อยู่ในภาพมีรูปทรงที่อาจจะบิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ”
Stamp – เมื่อเธอมาส่ง (Polycat cover)
เพลงเต้นได้จังหวะสนุกของ Polycat ยุคแรกถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่โดยแสตมป์ ศิลปินอารมณ์ดีกับดนตรีอันสุดแสนจะมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะกับกีตาร์สุดเพราะในเพลงนี้ที่เล่นไล่โน้ตถี่ยิบในท่อนอินโทร ซึ่งต่อมาก็ผสมผสานเสียงซินธ์ลื่นไหลกับความเป็นบีท R&B และแดนซ์ฮอลในช่วงหลังได้อย่างลงตัว ยิ่งท่อนแร็ป-เร็กเก้ก็ถูกปรับมาเป็นการร้องทอดเสียงตามสไตล์แสตมป์เขาล่ะ
“ความทรงจำที่ผมมีต่อพี่สแตมป์ คือรุ่นพี่ที่คณะที่หน้าง่วง ๆ มึน ๆ ตลอดเวลา แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงความยียวน และความเป็นหัวโจกได้ ผ่านคำพูดไม่กี่คำของพี่แก ซึ่งบุคลิกของความเป็นหัวโจกแบบเงียบ ๆ นี่เอง ที่ผมคิดว่ามันคล้ายกันกับความเป็น Polycat ไม่ว่าจะเป็นเนื้อร้อง ท่วงทำนองดนตรี หรือแม้สไตล์การแต่งตัวลายพร้อยแบบ ‘ยากุซ่าฮาราจุกุ’ ก็ตาม ผมจึงหยิบเอาวิญญาณความกวนส้น และความเป็นหัวโจก แบบญี่ปุ่น ของ Polycat มาใส่สลับให้พี่สแตมป์ ด้วยการหยิบเอา composition และเทคนิคงานภาพพิมพ์ ukiyoe ของญี่ปุ่นโบราณ มาจัดวางใหม่ด้วย visual style แบบ anime และแปลทั้งหมดออกมาเป็นลายปักบนผ้าสีขาวล้วน ที่ดูเผินๆเหมือนจะไม่มีอะไร แต่เมื่อถูกแสงและเงากระทบกระทั่งเพียงเล็กน้อย ก็จะวาดลวดลายกวน ๆ ออกมาแพรวพราว เหมือนกับพี่แสตมป์ในความทรงจำของผมนั่นเอง” 56th Studio ผู้ออกแบบปกซิงเกิ้ล เมื่อเธอมาส่ง โดย แสตมป์ อภิวัชร์
Polycat – Animation (Stamp cover)
จากเวอร์ชันออริจินัลที่เราว่าโคตรกวนแล้ว ยิ่งมาเจอฝีมือการสร้างสรรค์ของ Polycat ด้วยแล้วความกวนโอ๊ยนี้ยิ่งถลำไปไกลแบบฉุดไม่อยู่ แถมยังได้เสียงร้องของ เจน electric.neon.lamp และซาวด์เปียโนเพราะ ๆ มาสร้างความนุ่มละมุนให้เพลงนี้ไม่เกรียนจนเกินไป โดยกลิ่นอายมวลรวมของเพลงก็เป็น chill hop, R&B ที่เก๋และชวนโยกสุด ๆ รวมถึงท่อนแร็ปที่เพิ่มเข้ามาก็น่ารักยียวนเอามาก ๆ
Be Our Friend ผู้ออกแบบปกซิ้งเกิ้ลนี้เล่าไอเดียของพวกเขาว่า แนวคิดในการออกแบบงานชิ้นนี้มาจากการเล่นคำของชื่อโปรเจกต์ Crossplay เกิดเป็นงานออกแบบเชิงกราฟฟิกผสานกับการออกแบบเชิงพื้นที่ให้ดูเสมือนว่าไขว้กันอยู่ คล้ายกับภาพลวงตาโดยคำว่า Cross ยังสื่อถึงการสอดประสานเสน่ห์ของเครื่องซินธิไซเซอร์เข้ากับแนวดนตรีสมัยใหม่ของวง Polycat ได้เป็นอย่างดี
Penguin Villa – Vintage Pic (Solitude is Bliss cover)
เพลงต้นตำรับที่ทำให้ทุกคนรู้จักกับ Solitude is Bliss ถูกนำมาทำใหม่โดยฝีมือของ เจตมนต์ มละโยธา หรือ เจ Penguin Villa กับความก้องกังวานของเสียงประสานในท่อนฮุค ซาวด์กีตาร์โดดเด่น โดยเฉพาะกับท่อนโซโล่ก่อนเข้าฮุคสุดท้าย และท่อนที่เป็นเสียงร้องฮัมทำนองเพิ่มขึ้นมายิ่งทำให้เพลงนี้ยิ่งขลัง และโหยหาอดีตกันแบบสุด ๆ
ปริพัฒน์ สินมา พูดถึงแนวคิดของภาพปกเพลง Vintage Pic นี้ว่า เขารู้สึกว่ารูปแบบทำนองใหม่ของ Penguin Villa เพิ่มความชัดเจนทางความรู้สึกขึ้น และอยากสื่อสภาวะของการคิดถึงภาพในอดีต ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ Edward Hopper ภาพเด็กผู้หญิง ที่กำลังเดินทางไปในที่ที่ใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน ความเดียวดายและสิ่งรอบข้างที่เธอเห็น ทำให้เธอเดินทางกลับไปยังภาพในอดีต
Solitude is Bliss – ออกไปข้างนอก (Penguin Villa cover)
ความลงตัวระดับพระกาฬของ Solitude is Bliss วงดนตรีเชียงใหม่ ที่หยิบเอาป๊อปร็อกน่ารักสดใสมาทำใหม่ในสไตล์นีโอไซคีเดเลียที่ชวนล่องเสียเหลือเกิน แล้วยังมีนอยซ์ต่าง ๆ ที่หยิบมาใส่ได้ลงตัว แต่ขณะเดียวก็ยังไม่ทิ้งความสดใหม่แบบที่ต้นฉบับทำไว้ได้เป็นอย่างดีไปแม้แต่น้อย ยิ่งฟังดนตรีไปพร้อมกับเนื้อหาในเพลงแล้วด้วยยิ่งทำให้อยาก ออกไปข้างนอก แบบที่เพลงบอกจริง ๆ
“เพลงออกไปข้างนอก พูดถึงการที่เราพาตัวเองออกไปจากภาวะที่คุ้นเคยเพื่อเปิดใจรับสิ่งใหม่ โดยจุดเริ่มต้นล้วนมาจากข้างในของตัวเราเอง เหมือนการเลือกที่จะออกเดินทางไปอย่างสันโดษ เพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวง Solitude is bliss ที่หมายความว่า ‘ความสันโดษคือความสุขสุดยอด’ ทำให้ผมนึกถึงภาพคนที่เดินออกมาจากภายในจิตใจของตัวเอง มาเจอสิ่งที่เหมือนจะคุ้นเคยแต่กลับอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป คล้ายกับชุดประสบการณ์ใหม่ที่มีส่วนที่เช่ือมโยงกับประสบการณ์ในอดีตเสมอ โดยตัวภาพนั้นผมเลือกการรวบรวมภาพจากสื่อที่ผ่านมาของทางวง และนำมาจัดองค์ประกอบให้กลายเป็นภาพใหม่ เช่นเดียวกันกับการนำเนื้อหาของเพลงเดิมมาตีความและสร้างใหม่เป็นเวอร์ชั่นของทางวงครับ” ณัฐภัทร เหลืองรุ่งทิพย์ หรือ นภคด NPKD นักออกแบบฝีมือจัดจ้านผู้รับหน้าที่สร้างสรรค์ปกซิงเกิ้ล ออกไปข้างนอก โดย Solitude is Bliss
Jelly Rocket – ย้อนเวลา (Scrubb cover)
เวอร์ชันใหม่โดยสามสาว Jelly Rocket เป็นการตีความเพลง ย้อนเวลา แบบที่เข้ากับตัวตนของวงได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็นการค่อย ๆ ย้อนเวลาไปตามชื่อเพลง กลับไปช้า ๆ เสียจริง ด้วยการร้องทอดเสียง ยืดจังหวะให้ช้าลง เน้นนำเสนอซาวด์กีตาร์อ่อนโยนกับเสียงร้องหวานใส เปี่ยมพลังที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกของหญิงสาว
มานิตา ส่งเสริม กราฟฟิกดีไซเนอร์ผู้ออกแบบปกซิงเกิ้ลนี้กล่าวว่า ความรู้สึกหลังจากฟังเพลงย้อนเวลาในแบบของ Jelly Rocket ทำให้นึกถึงสีหวาน ๆ โรแมนติกแบบเท่ ๆ อาจจะเพราะเนื้อหาเพลงที่ฟังแล้วปลายเปิดเหมือนมีคำถามอยู่ โดยเลือกใช้การออกแบบในสไตล์ของกราฟิกอาร์ตที่ดึงสัญลักษณ์ของนาฬิกา และตัวอักษรมาผสมกัน สีที่โดดออกมาคือช่วงเวลาที่ถูกแบ่งหรืออาจย้อนกลับไป เล่นกับมุมมองแบบเรขาคณิต ซึ่งตัวอักษรในวงโคจรช่วงแบ่งเวลานั้นก็มีทิศทางที่บิดเบือนตามองศาของวงกลม
Scrubb – ลืม (Jelly Rocket cover)
คงต้องใช้คำว่า สครับบ์นี่มันสครับบ์จริง ๆ ด้วยซาวด์ เสียงกีตาร์ของบอล ด้วยบรรยากาศของเพลง และเสียงร้องของเมื่อยนี่แหละที่ทำให้สครับบ์ยังอัดแน่นไปด้วยความเป็นสครับบ์อยู่วันยันค่ำ การปรับทำนองป๊อปให้มีความล่องลอยเบาบาง โดยไม่ได้ยัดเยียดความเป็นตัวตนเข้าไปจนรู้สึกไม่พอดีทำให้เราฟังเพลงนี้ได้เรื่อย ๆ
สุทธิภา คำแย้ม ผู้ออกแบบปกซิงเกิ้ล ลืม โดย Scrubb ว่า เมื่อฟังแล้วทำให้นึกถึงการสนทนากับตัวเอง มีความเหงา และความเศร้าที่ไม่ฟูมฟาย เหมือนผ่านเวลา และเหตุการณ์มาแล้ว แต่เป็นบรรยกาศดี ๆ ที่พาอารมณ์กลับมาให้คิดถึง จังออกมาเป็นภาพปกหน้าตาอย่างที่เราเห็น
ครบถ้วนกระบวนความทั้ง 12 เพลง 12 ศิลปิน กับ 12 ไอเดียในการสร้างสรรค์ปกซิงเกิ้ลสุดบรรเจิดของ 12 นักออกแบบที่ทำให้โปรเจกต์สนุก ๆ นี้ของฟังใจเสร็จสมบูรณ์ขึ้นมา หวังว่าปีหน้าเราจะมีความสนุกแบบนี้มามอบให้ผู้ฟังทุกท่านอีกเช่นเคย ขอบคุณที่ให้การตอบรับที่ดีตลอดมา แล้วเจอกันใหม่นะ