Article Story

Focus เบลอว่ารักแถบ : หนังสั้นที่เต็มไปด้วยเพลงเพราะสำหรับคนมอง(ความรัก)ไม่ค่อยชัด

  • Writer: Montipa Virojpan

ถ้าคุณรู้ตัวว่ากำลังจะตาบอด สิ่งที่คุณอยากมองเห็นเป็นครั้งสุดท้ายคืออะไร?

นี่คือคำถามที่เป็นแก่นสำคัญของหนังสั้นเรื่อง ‘Focus เบลอว่ารักแถบ’ ที่หลายคนเคยดูกันแล้ว (คงไม่ช้าเกินไปใช่ไหมถ้าจะบอกว่า เราเพิ่งได้ดู!) ด้วยความที่สงสัยว่าหนังมันดียังไงหว่า เพราะชื่อหนังจะชวนจั๊กจี้มาก แต่จากกระแสที่ทุกคนแห่กันแชร์จนล้น newsfeed ขนาดนี้ก็ต้องยอมพิสูจน์แต่โดยดี แล้วก็ได้รู้เหตุผลว่าทำไมคนถึงได้พูดถึงหนังเรื่องนี้กันมากขนาดนั้น หลัก ๆ เลยเราว่า ไม่ใช่แค่ความดีงามของนักแสดงหลักสองคนในเรื่อง โดยเฉพาะฝ่ายชายคือหนุ่มฮอตสุดฉุดไม่อยู่ของช่วงนี้อย่าง กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ที่ดำเนินเรื่องและแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ (และหล่อ /จบ.) แต่เนื้อหาและการนำเสนอของตัวหนังเองก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน

‘Focus เบลอว่ารักแถบ’ คือเรื่องราวของ แทน ช่างภาพหนุ่มที่กำลังจะตาบอด ได้ไปพบกับ จูน แฟนเก่าสมัยมัธยมโดยบังเอิญ และจับพลัดจับผลูชวนกันไปเที่ยวเชียงใหม่เพื่อดูพระอาทิตย์ตกเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนที่จะมองไม่เห็นอีกตลอดไป

อ่านเรื่องย่อจากย่อหน้าข้างบนไปแล้วบางคนอาจจะรู้สึกว่า แล้วมันน่าดูยังไงวะ? เล่าแบบไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญละกัน คือหนังสั้นเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังหลาย ๆ เรื่องที่เลือกจะเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนคู่หนึ่ง แต่ความน่าสนใจคือมันเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดหลังจากความสัมพันธ์ในอดีตอีกที หมายถึงว่าคุณอาจจะเคยเป็นแฟนกัน แล้วเลิกรากันไปเพราะเมื่อก่อนพวกคุณอาจจะมีความคิดไม่ตรงกัน ไม่เข้าใจกัน หรือยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่สองคนจะมาคบกัน แต่ถ้ามาเจอกันใหม่แล้วความรู้สึกดี ๆ ยังหลงเหลืออยู่ มันจะเป็นไปได้ไหมที่พวกคุณจะกลับมาสานสัมพันธ์และเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง

screen-shot-2560-03-15-at-10-48-09-am

สิ่งที่เราชอบในหนังเรื่องนี้นอกจากจังหวะการเล่าเรื่องที่ครบรส ทั้งตลก ซึ้ง อบอุ่นหัวใจ หรือการเลือกใช้แสงสีเสริมความมีเสน่ห์ของภาพ ก็จะมีเรื่องเทคนิกการตัดต่อที่น่าสนใจเนี่ยแหละ ยกตัวอย่างเช่น ความที่พระเอกของเรื่องใกล้จะมองไม่เห็น เขาก็จำลองให้คนดูได้เห็นในมุมมองของพระเอกมองสิ่งต่าง ๆ แบบมัว ๆ ไปด้วย แบบนี้ยิ่งทำให้เราเข้าใจความอึดอัดของพระเอกได้เยอะเลย อีกสิ่งที่พบบ่อยในนี้เห็นจะเป็นการตัดต่อแบบ jump cut ที่เล่าฉากนึงอยู่ดี ๆ ก็ตัดภาพไปอีกฉากนึง ซึ่งมันสามารถสร้างแก๊กให้เราขำพรวดได้แบบไม่ทันตั้งตัว หรือการเล่าแบบ surreal ที่ประโคมดนตรีออเคสตร้าเข้ามาในฉากเพื่อให้ดูเป็นการเล่าเรื่องตามมโนภาพของอีกฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริงก็สร้างเสียงหัวเราะได้ดี แล้วยังมีเรื่องการเรียงลำดับเวลา คือตามปกติแล้ว มันควรจะเป็นบทสนทนาโต้ตอบของตัวละครในสถานที่เดียวกันบนเส้นเวลาเดียวกันถูกไหม แต่เรื่องนี้เขาใช้วิธีตัดสลับ dialogue ของตัวละครในสถานที่นึง กับอีกตัวละครที่อยู่อีกที่นึง ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่น่าจะโต้ตอบบทสนทนาเดียวกันได้เพราะอยู่คนละที่กัน แต่เราเข้าใจว่า การเปลี่ยน location ไปเรื่อย ๆ ไม่เรียงลำดับนี้คือการเล่า timeline ที่สองคนได้ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ด้วยกันนั่นแหละ แค่บทพูดมันน่าจะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกขัดแย้งที่เป็นปมในใจลึก ๆ ต่ออีกฝ่ายที่ติดตามพวกเขาไปในทุกที่นั่นเอง และที่โหดสุดคือการเอาภาพหรือห้วงคำนึงต่าง ๆ ที่ติดอยู่ในความทรงจำของตัวละครมาขยี้ได้ถูกจุดถูกเวลา สารภาพว่าแอบน้ำตาซึมไปหลายซีนอยู่เหมือนกัน

และที่จะไม่ให้พูดถึงไม่ได้เลยคือการเลือกเพลงมาใช้ประกอบการดำเนินเรื่อง หนังหลาย ๆ เรื่องสอบตกในจุดนี้ ที่พอเพลงขึ้นมา เราจะสัมผัสได้ถึงความคลื่นเหียนเลี่ยนเกินมู้ด แต่กับเรื่องนี้ จังหวะที่เพลงค่อย ๆ ขึ้นมามันกลับทำให้บรรยากาศในเรื่องกลมกล่อมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (แถมยังเอาการ mute มาใช้เป็นแก๊กขัดฟีลได้อีกต่างหาก) ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าใครตั้งใจฟังความหมายของแต่ละเพลงก็จะยิ่งเก็ตกับสิ่งที่หนังต้องการจะสื่อได้มากขึ้นด้วย

screen-shot-2560-03-15-at-10-35-48-am

อย่างเพลงแรกจาก Costlywood – Last Man ถ้าใครนึกไม่ออก นี่คือเพลงที่อยู่ในฉากบาร์ที่แทนกับจูนได้กลับมาเจอกันเป็นครั้งแรก ซึ่งเพลงจะถูกเปิดคลอเป็นแบคกราวด์ในฉากนี้เท่านั้น แต่ถ้าอยากฟังชัด ๆ เราก็จัดให้ ขอบอกว่านี่เป็นเพลงสไตล์โฟล์กร็อกน่ารักสดใสที่เป็นการเปิดอารมณ์ความรู้สึกแรกของตัวละครที่แอบเหงาหงอยหน่อย ๆ และเกริ่นถึงบรรยากาศของหนังได้ประมาณนึงเลยล่ะ

screen-shot-2560-03-15-at-10-38-24-am

ตามมาด้วย ฉันเห็นสายตา (I See the Eyes) ของ Basement Tape วงร็อกที่ผสานเอาแนวดนตรีย้อนยุคหลากหลายทั้งอัลเทอร์เนทิฟ การาจ หรือแม้แต่ป๊อปร็อก และความ lo-fi มารวมด้วยกันเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของวง โดยเพลงนี้ดูจะเป็นเพลงน่ารัก ๆ ที่ทั้งดนตรีและความหมายของเพลงเองนำมาใช้เล่าเรื่องราวบทใหม่ของแทนกับจูนที่เริ่มออกเดินทางไปด้วยกันในเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี

screen-shot-2560-03-15-at-10-40-08-am

อีกเพลงนึงที่พอขึ้นอินโทรมาก็ทำให้เราขนลุกคือ Winter’s Love ของ My Life as Ali Thomas ทั้งตัวดนตรีโฟล์กร็อกช้า ๆ ซึ้ง ๆ ถูกบรรเลงไปในฉากที่แทนกับจูนเดินไปบนสะพาน เป็นช่วงที่พวกเขาได้ใช้เวลาด้วยกัน และคงจะได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเองแบบที่ยังไม่ได้พูดกัน เป็นฉากที่โรแมนติกมาก ๆ และเรารู้สึกว่าเพลงได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่

screen-shot-2560-03-15-at-10-40-36-am

เพลงสุดท้ายที่ถูกพูดถึงมากที่สุดจนได้กลายมาเป็นมิวสิกวิดิโอเพลงประกอบภาพยนตร์หลักของเรื่องไปแล้วอย่าง Untitled 001 (Paralysed) เพลงฮิตจาก Stoondio ที่ทุกคนคงเคยฟังกันมาแล้ว และไม่น่าเชื่อว่าพอถึงท่อน ‘ได้โปรดอย่าเคลื่อนไหว ได้โปรดอย่าหนีไป ได้โปรดอย่าหายไป’ พอผนวกพลังกับเรื่องราวและภาพที่หนังสื่อออกมาจะทำให้มีพลังทำลายล้างขนาดนี้

ซึ่งเมื่อประมาณวีคก่อน เขาก็ได้ปล่อยเวอร์ชันที่ได้เห็นมุมมองของพระเอกในแบบชัด ๆ มาให้ได้ดูกัน บวกกับบางช่วงบางตอนของหนังที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในเวอร์ชันแรก ยิ่งเป็นการตอกย้ำอารมณ์และเติมเต็มเรื่องราวให้ได้อิ่มเอมกันแบบสุด ๆ เขียนมาถึงขนาดนี้แล้วจะรออะไร ใครที่ยังไม่ดูก็ขอให้ได้ลองดูกันสักนิด หนังสั้นเรื่องจะทำให้คุณน้ำตารื้น ไม่ก็อมยิ้มไม่หุบอย่างแน่นอน

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้