Travis McCready กับความพยายามจะจัดคอนเสิร์ตครั้งแรก หลังเกิดโรคระบาด
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
- Writer: Peerapong Kaewthae
หลังจากที่เราต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับโควิดมาหลายเดือนแล้ว ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่างานคอนเสิร์ตหลังเกิดโรคระบาดจะเป็นยังไง เราจะได้เบียดกันหน้าเวทีอีกครั้งเมื่อไหร่
หลังจากที่ใคร ๆ เริ่มทดลองงานออนไลน์กันมากขึ้น หลายคนก็คงรู้สึกว่าประสบการณ์มันไม่เต็มร้อยเท่าไหร่ แต่เพื่อให้โรคระบาดซาลงจนหมดไปได้ social distancing ก็สำคัญ แต่ในรัฐอาร์คันซอกลับมีข่าวใหญ่ที่เรียกร้องความสนใจจากคนทั่วโลกได้ เมื่อเวนิวคอนเสิร์ตของเมืองอย่าง Temple Live กำลังจะจัดไลฟ์คอนเสิร์ตของ Travis McCready ขึ้นมาจริง ๆ (พอย้ำว่าคอนเสิร์ตจริงก็รู้สึกแปลกอยู่เหมือนกัน) นักร้องนำสายคันทรีร็อกจากวง Bishop Gunn ก็ตื่นเต้นมากที่จะได้เล่นดนตรีอีกครั้ง เขารู้สึกว่าโลกตัดขาดเขากับแฟนเพลงนานเกินไปแล้ว
โดยเวนิวจะหั่นความจุจากเต็มที่พันกว่าคนลงและขายบัตรเพียง 200 กว่าที่นั่งเท่านั้น โดยชูนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘fan pods’ หรือกล่องที่ตั้งห่างกัน 6 ฟุต ตามมาตรฐานของคำสั่งของผู้ว่าเรื่องการสร้างระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และยังขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากาก แถมมีการเช็กอุณหภูมิก่อนเข้างาน และจำกัดการเข้าห้องน้ำได้แค่ครั้งละ 10 คนเท่านั้น
คอนเสิร์ตนี้จะกลายเป็นคอนเสิร์ตแรกที่จะจัดขึ้นในอเมริกาหลังเกิดโรคระบาดขึ้น แต่มีความเสี่ยงว่าอาจจะล่มได้ เพราะว่าผู้ว่ากำลังจะผ่านกฎใหม่ในวันที่ 18 พฤษภาคม ให้งานมหรสพในร่มต้องจำกัดคนเข้าร่วมได้แค่ 50 คนเท่านั้น แม้จะประกาศหลังจากวันงานไปแล้ว 3 วัน แต่ผู้ว่าก็ยังกังวลว่างานนี้อาจมีความเสี่ยงได้
การพยายามจัดคอนเสิร์ตช่วงนี้ไม่ได้แค่วัดใจว่าคนจะอยากดูคอนเสิร์ตมากแค่ไหน แต่มันวัดกึ๋นของฝ่ายรัฐบาลในการบริหารจัดการบ้านเมืองในยามลำบากแบบนี้ด้วย ทางผู้ว่าให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขาชื่นชมในตัวเจ้าของเวนิวมาก ที่ตระเตรียมวิธีป้องกันผู้ร่วมงานอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการที่ได้มาตรฐาน แต่ยังไงมันก็ยังฝ่าฝืนกฎกระชับพื้นที่เสี่ยงอยู่ดี
โดยผู้จัดยกเรื่องโบสถ์มาโจมตีภาครัฐ ในเมื่อไวรัสสามารถติดต่อได้โดยไม่สนศาสนาหรือสีผิว ทำไมถึงอนุญาตให้คนไปโบสถ์ได้ แต่อนุญาตให้จัดคอนเสิร์ตไม่ได้ ทำให้เป็นประเด็นเผ็ดร้อนบนโลกโซเชียลเลยทีเดียว
แม้การจัดคอนเสิร์ตได้จะไม่ได้การันตีว่าพฤติกรรมคนฟังจะกลับมาเหมือนเดิมด้วยก็ตาม เพราะทุกคนก็ยังระวังตัวกันเหมือนเดิม แถมเวนิวที่เล็กเกินไปก็ยิ่งเสี่ยงด้วย แต่เจ้าของเวนิวก็บอกว่า คอนเสิร์ตนี้ก็กำลังจะ sold out แล้ว และถ้าไปด้วยดีเขาจะจัดงานต่อเรื่อย ๆ แม้มันจะทำให้ศิลปินและแฟนรู้สึกแปลก ๆ ไปบ้าง แต่มันก็ยังดีกว่าตอนนี้ที่จัดงานอะไรไม่ได้เลย
ฝั่งผู้ว่าก็ยังไม่ได้ออกมาสั่งยกเลิกหรืออะไร วันศุกร์นี้เราอาจจะได้เป็นพยานในบรรทัดหนึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรีก็ได้ ว่าไลฟ์คอนเสิร์ตก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากแค่ไหนในยุคที่มีโรคระบาด
หลาย ๆ เมืองในอเมริกาอย่างรัฐมิสซูรีก็เริ่มผ่อนปรนงานรื่นเริงมากขึ้น แต่ก็ยังมีไกด์ไลน์ที่เข้มข้นอยู่เพื่อไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งเจ้าของเวนิวหรือเจ้าของสถานที่จัดคอนเสิร์ตต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไลฟ์คอนเสิร์ตคือทางรอดเดียวของพวกเขา ซึ่งบางที่มีงานกว่า 750 งานตลอดทั้งปี ตั้งแต่งานแต่งไปจนถึงคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัล แต่โรคระบาดทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก
โดยที่ความช่วยเหลือจากรัฐก็ไม่ได้ครอบคลุมคนเหล่านี้มากพอด้วย นโยบาย Paycheck Protection Program หรือ ‘สินเชื่อเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจจากภาครัฐ’ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์พวกเขา ในเมื่อพวกเขาไม่มีทางรู้เลยว่าจะกลับไปจัดคอนเสิร์ตกันได้อีกเมื่อไหร่
ในอเมริกา ภาครัฐก็พูดเหมือนกันว่าคอนเสิร์ตจะอยู่ในกลุ่มความบันเทิงท้ายสุดที่จะได้ปลดล็อก จนกว่าจะมีใครผลิตวัคซีนได้ ไลฟ์คอนเสิร์ตอาจจัดไม่ได้ไปจนถึงปีหน้าเลยทีเดียว ทำให้พวกเขาต้องหาวิธีใช้พื้นที่เวนิวให้เกิดประโยชน์ที่สุด ในยามที่ความบันเทิงแบบเดิม ๆ อาจอันตรายเกินไป
แต่เจ้าของเวนิวทั้งหลายก็ยังพยายามคิดบวกให้มากที่สุดเมื่อได้คุยกับสื่อ แม้การดูคอนเสิร์ตผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถืออยู่บ้านอาจไม่ถึงใจ แต่บางคนก็ยังพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อดู ใครหลายคนยังเคยจ่ายเงินเยอะมากเพื่อให้ได้ไปดูวงที่เราชอบทุกที่บนโลก ทำไมเขาจะยอมเสียเงินนิดหน่อยเพื่อฟังเพลงดี ๆ ยังไงเพลงก็ยังนำความสุขมาสู่กลางใจทุกคนได้ตลอดเวลา
อย่างที่เคยบอกว่า การที่ศิลปินเล่นดนตรีไม่ได้ ไม่ได้เจ็บกันแค่ไม่กี่คนในวง แต่ยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยในอุตสาหกรรมอีกมากมายทั้งซาวด์เอนจิเนียร์ คนออกแบบเวที คนออกแบบแแสง หรือกราฟิกบนเวที รวมไปถึงค่ายเพลงและคนดูแลศิลปินอีกมากมาย เจ้าของเวนิวก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน หวังว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้รัฐบาลบ้านเราได้เฉลียวใจ ตระหนัก และหันมาให้ความสำคัญกับซีนดนตรีไทยมากขึ้น
อ้างอิง
mic.com
pitchfork.com
nytimes.com
stereogum.com