EASTSIDE BVNGKOK แร็ปเปอร์สร้างสรรค์ ปลดปล่อยความอัดอั้นของคนเมือง
- Writer: Montipa Virojpan
- Photos: EASTSIDE BVNGKOK
ฮิปฮอปยังคงเป็นแนวเพลงที่มาแรงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก อย่างที่รู้กันว่าหลาย ๆ ชาร์ตได้จัดให้แนวเพลงนี้เป็น ‘pop’ เพราะได้รับความนิยมอย่างมาก แถมยังกลายเป็น headliner ของเฟสติวัลระดับโลกหลายงาน แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็ไม่แพ้กัน เราได้ฟังเพลงมากมายจากศิลปินฮิปฮอปไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีสไตล์แร็ปแบบหนึ่งที่เป็นกระแสหลักอยู่ในบ้านเรา (ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันไปเสียหมด)
แต่มีอยู่วันนึงเราถึงกับต้องหันไปหารุ่นน้องที่ ฟังใจ ที่กำลังเปิดฮิปฮอปเพลงนึงซึ่งไม่คุ้นหูและมีบีตกับสไตล์แร็ปที่น่าสนใจทีเดียว แล้วยังมีการเอื้อนแบบเพลงไทยเดิม เสียงฉิ่ง เพลงรำวงกลองยาว หรือแม้แต่วัฒนธรรมงานบุญ งานบวช งานศพ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการ ‘ใส่ซอง’ เขาเอามาใส่ในเพลงนี้หมด ฟังดูเป็นการแซววัฒนธรรมอวดรวยในเพลงแร็ปของเด็กแก๊งฝรั่ง แต่เอามาใส่ element แบบไทย ๆ ที่เล่าว่า เฮ้ย! งานเพื่อนก็ต้องช่วยเว้ย ถึงแม้เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยจะมีตัง ยิ่งชอบมาก ๆ ที่คำอธิบายใต้วิดิโอใน YouTube บอกว่า ใส่ซอง เป็นเพลงของคนไม่มีเงิน ไม่มีเวลา แต่มีซอง! แล้วท่อนฮุกเขาก็ร้องว่า ถึงกูไม่ไปแต่กูก็ใส่ซอง ใส่ซองงงง ใส่ซองงงง ใส่ซองงงง ใส่ซองงงง เอ๊ยย เอ๊ย เอ๊ย เอ๊ย ไม่ว่าง ๆๆๆๆๆๆ อินในทุกไรห์มแร็ปเขาแหละ ยิ่งท่อนที่ร้องว่า อดอยากแล้วโว้ย! เสียงมันช่างรวดร้าววว สร้างสรรค์ขนาดนี้ทำให้อยากรู้มาก ๆ ว่า EASTSIDE BVNGKOK เป็นใครมาจากไหน
EASTSIDE BVNGKOK คือกลุ่มแร็ปเปอร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็เป็นแร็ปเปอร์ที่หลายคนน่าจะเคยเห็นผลงานของพวกเขามาบ้างจาก Rap Is Now หรือ Show Me The Money Thailand ทั้ง NLHz, Ninetembr, RPS รวมถึง JEEEN, BADGOD ที่ลีลาการแร็ปแต่ละคนก็ไม่ธรรมดา ลองตั้งใจฟังดี ๆ มีคนนึงเสียงหล่อเหมือนนักแคสต์เกม อีกคนก็แร็ปด้วยน้ำเสียงไทยเดิม อีกก็คนก็แร็ปเสียงยาน ๆ กวน ๆ นอกจากนี้ก็มี Toodie เป็น beatboxer/ hypeman ในไลฟ์โชว์ ส่วนโปรดิวเซอร์ที่จัดบีตให้เจ๋ง ๆ ในทุกเพลงเลยก็คือ MiNTH อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วก็อยากจะให้จำชื่อของพวกเขาไว้ให้ดี ๆ
EASTSIDE BVNGKOK เล่าว่าก่อนหน้านี้พวกเขารู้จักกันที่งานดนตรีของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละคนก็ทำบีตฮิปฮอปรวมถึงแร็ปกันอยู่แล้ว ต่อมาจึงตัดสินใจทำให้กลุ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงจังในปี 2018 แล้วก็ไม่ได้กะมาแร็ปลอย ๆ ด้วยนะ เพราะคอนเซ็ปต์เขาก็แน่นว่าต้องการจะนำเสนอความเป็นคนกรุงเทพ ฯ จริงๆ ไม่ใช่แค่ชื่อ ทั้งยังผสมเอา ‘ความไทย’ เข้ากับบริบทชีวิตคนเมืองในปัจจุบันที่ก็ยังต้องหาเงินกระเสือกกระสน อดทนกับมลพิษ ไหนจะต้องปาร์ตี้สังสรรค์ แล้วยังต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ นี่มันแร็ปเพื่อวัยรุ่นชนชั้นกลางชัด ๆ ทีนี้เราก็สงสัยว่าพวกเขาจะลองทำเพลงแร็ปป๊อปย่อยง่ายแบบที่เราได้ยินได้ฟังกันทุกวันนี้ในเพลงต่อ ๆ ไปบ้างหรือเปล่า
“พวกเราก็ฟังกันนะคร้บ มองว่ากำลังไปได้ดีเลยครับ เพราะเราฟังกันมาแต่ไหนแต่ไร เรารู้กันอยู่แล้วว่าทำเนื้อหาแบบไหนคนภายนอกฟัง เนื้อหาแบบไหนคนนอกไม่ค่อยฟัง กลุ่มที่เป็นเมนสตรีมตอนนี้เหมือนเป็นกลุ่มเปิดตลาดฮิพฮอพให้คนวงกว้างด้วยเนื้อหาที่คนย่อยง่าย ไม่ได้เล่าอุดมการณ์หรือเสียดสีสังคมอย่างเดียว แล้วผลตอบรับรู้สึกว่าคนในวงกว้างก็เปิดใจรับมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเลย ส่วนเรื่องการแต่งให้เกิดความติดหู พักหลัง ๆ ในตลาดเห็นได้ชัดมาก ๆ ครับ ทั้งวิธีการออกเสียง สำเนียง การเล่นคำซ้ำ ซึ่งสำหรับบางคนที่มีความสามารถในการแต่งมาก ๆ เรื่องพวกนี้จะดูเป็นสไตล์เค้าไปเลย แต่เชื่อว่าลึก ๆ แล้วมันจะมีแนวคิดเกี่ยวกับเทคนิคการตลาดอยู่ทุกเพลงอยู่แล้วแน่ ๆ ครับ ซึ่งมันจะส่งผลไปสู่งานเขียนถัด ๆ ไปของทุกศิลปิน ว่า จะเขียนยังไงให้คนจำ เขียนคำไหนให้มันติดหูคนดี ซึ่งน่าจะเป็นปกติของคนแต่งเพลงในวงการอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวเทคนิควงเราจะใช้อารมณ์กับสโคปหัวข้อเพลง ณ ตอนนั้นมากกว่า ไม่ได้ถึงขั้นจดจ่อขนาดที่ว่า ใช้คำไรดี ย้ำคำยังไงดีขนาดนั้น แต่คิดไรกันก็ลองฟรีสไตล์ อัดใส่ไมค์เล่น ๆ กันไป พอมันโดน มันก็โดนอะครับ”
อย่างที่พวกเขาเล่า สิ่งที่ทำให้ EASTSIDE BVNGKOK โดนสำหรับเราจริง ๆ เลยคือเนื้อหาที่หยิบมาเล่า บางไรห์มนี่ถึงกับคิดออกมาดัง ๆ ว่าแต่งได้ไงวะ มีทั้งเรื่องจิ๊กโก๋คนนึงอยากจีบสาว ก็เอามาแต่งเป็นเรื่องเป็นราวใน มนต์รักแก๊งสเตอร์ ซึ่งก็ทำให้นึกถึงวงเก่า ๆ ทั้ง Dajim หรือ Buddha Bless อยู่เหมือนกัน
แม้แต่การเสียดสีประเด็นร้อนฉ่าล่าสุดใน 500 ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาสนใจการเมืองเหมือนกัน
ไหนจะเรื่องศาสนาที่ชอบมีวาทกรรมเรื่อง ‘คนดี’ ‘คนไม่ดี’ เขาก็เอามาแร็ปให้เราขบคิดกันด้วยในเพลง บาป
และในเพลง พ่อมึงรวยอ่อ? ก็เป็นแร็ปดิสคนรวยที่ฟังไปก็ขำไปแบบ รวยหรอไอ่สัส กูเห็นมึงขับเบนซ์ กูเฟี้ยวกว่าเยอะ กูแม่งขับซาเล้ง ฮือ ๆ
ทว่าก็น่าสนใจอีกตรงที่ท่อนหลักของเพลงใช้ autotune แต่ก็มีท่อนนึงที่เลือกจะแซวเอาในเพลงซะงั้น ถ้าจำกันได้จะมีช่วงนึงที่เรื่อง autotune ก็เป็นประเด็นถกเถียงมาก ๆ ในซีน
“ผมมองว่ามันเป็นเทคนิคและความชอบส่วนตัวมากกว่า คนใช้เป็นก็รอด ใช้ไม่เป็นก็ตาย ในใต้ดินมีให้เห็นหลายเคสอยู่ อย่างถ้าคนร้องเพี้ยนมาก ๆ แต่อยากใช้ autotune ช่วยก็ไปไม่รอดครับ แถมมันยังจะสร้างมลพิษทางการได้ยินกับคนฟังซะด้วยซ้ำ ต้องร้องเพลงเป็นด้วยครับ เอาจริง ๆ สมาชิกในวงเราก็มีใช้เพื่อให้เกิดสไตล์ครับ แต่ไม่ใช่ทุกคน เพราะต่างคนต่างชอบไม่เหมือนกันและไม่ใช่ปัญหาอะไรครับ”
อะ ถ้าใครอยากไปลองดูพวกเขาโชว์กันสด ๆ ก็มีอีเวนต์แรกของปีที่งาน Art Street 2018 ‘ARTSLUM’ 19-20 ม.ค. 2561 ณ ดินแดนสถาปัตย์ลาดกระบัง นะจ๊ะ