เจาะลึก Concrete and Gold อัลบั้มใหม่ของ Foo Fighters กับเซอร์ไพรส์ที่ทำให้เราต้องยิ้มตาม
- Writer: Montipa Virojpan
- Photo: BEC Tero
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา Fungjaizine มีโอกาสไปเป็นส่วนหนึ่งใน playback session ที่จะได้นั่งฟัง Concrete and Gold อัลบั้มล่าสุดของวงร็อกระดับโลก Foo Fighters ก่อนใคร และเราก็จะได้พูดคุยกับวงถึงที่มาที่ไปของอัลบั้มนี้ก่อนที่พวกเขาจะมุ่งหน้าสู่ชาเลนเจอร์ฮอล เมืองทองธานี เพื่อไปเล่นคอนเสิร์ตให้ชาวไทยได้โยกกันตัวหลุดเป็นครั้งที่สองหลังจากที่เคยมาเยือนเมื่อปี 1996 สมัยที่มีเพลงแค่หนึ่งอัลบั้มและไม่สามารถเล่นเพลงของตัวเองได้ทั้งหมด และการพูดคุยกับพวกเขาครั้งนี้ก็ทำให้เราได้รู้ถึงเบื้องหลังการทำงานที่เต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์ที่ทำเอาหัวใจของเราพองโต
Concrete and Gold เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 9 ซึ่ง Dave Grohl ฟรอนต์แมนของวงเล่าว่าทีแรกพวกเขาตั้งใจจะพักจากการทัวร์คอนเสิร์ตจากงานชุดก่อนสักปีนึง แต่ไป ๆ มา ๆ ก็พักไปได้แค่ 6 เดือนแล้วกลับมาเขียนเพลงอีกครั้ง ใช้เวลาอัดกว่า 4 เดือน โครงดนตรีในอัลบั้มนี้ได้อิทธิพลมาจาก heavy rock และ classic rock ที่พวกเขาชื่นชอบ ส่วนมากเริ่มมาจากการนั่งเล่นอะคูสติกกีตาร์ของเดฟไปเรื่อย ๆ โดยพยายามหาความแตกต่างในการเรียบเรียงแต่ละท่อนและพยายามคิดจังหวะใหม่ ๆ ให้กับเพลงของ Foo Fighters โดยเฉพาะกับเพลง Run ที่เดฟเล่าว่าเขาชอบท่อนกลองขัด ๆ ในเพลงเป็นพิเศษ
และการทำงานในครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับเหล่าผู้ฟังมาก เมื่อพวกเขาหันมาทำเพลงกับโปรดิวเซอร์คนใหม่ Greg Kurstin จากวง The Bird and the Bee ที่จับแต่งานสายป๊อป (ซึ่งเป็นตัวแม่ทั้งสิ้น) ไม่ว่าจะเป็น Adele, Lily Allen, Ellie Goulding หรือ Pink แต่ปีหลัง ๆ เขาก็ได้ทำเพลงให้วงร็อกเช่นเดียวกันทั้ง The Shins หรือ Liam Gallagher มาบ้างแล้ว “งานชุดนี้มันเลยเหมือนกับวง Motörhead พยายามทำเพลงแบบ The Beach Boys น่ะครับ” เดฟบอก โดย Taylor Hawkins มือกลองเสริมว่า แม้เกร็กจะทำเพลงป๊อปใส ๆ และโปรดิวซ์ให้ศิลปินสายดีว่ามาตลอด แต่ตอนเกร็กอายุ 12 เขาเป็นเพื่อนกับ Dweezil Zappa ลูกชายของ Frank Zappa และพวกเขาทำวงด้วยกัน อัดเพลงในสตูดิโอของซัปปา และมี Eddie Van Halen เป็นโปรดิวเซอร์ให้ด้วย (โหดจังโว้ยยยย)
ทั้ง 11 เพลงได้รับการสร้างสรรค์จากความร็อกอันเป็นตัวตนหลักของทั้งวงและเซนส์ป๊อปที่แปลกใหม่ ทำให้ Concrete and Gold มีความพิเศษและควรค่าแก่การฟังรวดเดียวจบ
T Shirt
สำหรับเพลงแรกก็ทำเอาเหวอเลยกับการเปิดอัลบั้มด้วยบัลลาดช้า ๆ กับท่วงทำนองที่บาดลึกจนน้ำตาคลอ เบสไลน์สวยงามดำเนินเรื่องราวอยู่ดี ๆ ก็ถูกเปลี่ยนฟีลให้กลายเป็นเพลงเดือด ๆ ขึ้นมาทันที แต่น่าเสียดายที่เซอร์ไพรส์นี้โผล่มาแค่ไม่กี่นาที ก่อนจะเข้าสู่เพลงต่อไป
Run
เพลงที่ถูกปล่อยออกมาให้ได้ฟังกันเป็นเพลงแรกในการกลับมาของพวกเขาที่สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมากในช่วงแรก กับสีสันที่แปลกใหม่ในการเรียบเรียงท่อน โดยเฉพาะกับท่อนกลองกระชั้น ๆ เร้า ๆ อันนั้น ตอนดูเขาเล่นสดนี่เต้นยับกว่าที่จินตนาการไว้ตอนฟังแบบ audio จริง ๆ
เดเล่าว่าในมิวสิกวิดิโอที่เราได้ดูกันนี้เกิดจากการนั่งคุยกันเล่น ๆ ในวง พวกเขาแค่คิดว่าอยากจะทำอะไรก็ได้ที่ฮา ๆ โดยที่อยู่ในโลกของพวกเขาก็พอ ไม่ต้องคิดให้ไกลเกินตัว ซึ่งไอเดียที่ชนะก็เป็นของเทย์เลอร์ และเดฟเป็นคนกำกับเอง
Make It Right
เท่ตั้งแต่อินโทรที่กระชากหน่อย ๆ อีกเพลงที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับเราในความที่เป็นเพลงที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลหนักหน่วงแต่มีเมโลดี้น่ารักราวกับธีมซองของรายการ Sesame Street มีจังหวะขัด ๆ แบบที่โผล่มาโดยไม่ทันตั้งตัว ยิ่งพาร์ตกลองท้ายเพลงเท่มาก เหมือนจะไปสุดแล้วแต่ก็ไม่ยอมสุดจริง ๆ ซักที ยิ่งไลน์กีตาร์ตอนท้ายก็ขยี้แบบไม่รู้จะขยี้ยังไงแล้ว ยกให้เป็นอีกเพลงโปรดจากอัลบั้มชุดนี้
The Sky is a Neighborhood
อีกเพลงที่ปลุกวิญญาณร็อกแอนด์โรลกับจังหวะหนึบหนับกระชากใจ มีท่อนให้ร้องติดปากตามชื่อเพลง ที่บาง element ของเพลงมีความเป็นเพลง Because ผสมกับ I Want You (She’s So Heavy) ของ The Beatles แต่ขณะเดียวกันก็มีสำเนียงดนตรีที่ทำให้นึกถึงเพลงร็อกต้นยุค 2000s อยู่เหมือนกัน
La Dee Da
เสียงแตกของเอฟเฟกต์เบสในต้นเพลงเป็นอะไรที่สะพรึงมาก ประทับใจกับความหนึบหนับสั่นประสาท เหมือนเป็นส่วนผสมระหว่าง Nirvana ในการเล่นแบบกรันจ์ ๆ ทื่อ ๆ กับซินธ์เฟี้ยวฟ้าวโวยวายราวกับ Limp Bizkit แต่ไลน์กีตาร์ชวนให้นึกไปถึงไซคีเดลิกร็อกจากยุค 60s ในท่อนโซโล่ สนุกสุดมันราวกับจะให้เลือดไหลหมดตัวกันไปข้าง
Dirty Water
เพลงที่ขึ้นมาด้วยบทสนทนาคล้ายพูดผ่านวิทยุ เหมือนเป็นรายงานข่าวหรืออะไรสักอย่าง จากนั้นก็เข้าสู่ตัวเพลงที่ทำให้เรานึกไปถึงวงร็อกยุค 70s กับความที่มันฟังสบายแบบสุด ๆ แถมยังมีเสียงคอรัสสวย ๆ ของ Inara George นักร้องสาวแห่งวง The Bird and the Bee มาร่วมร้องในเพลงนี้ เดฟบอกว่าเสียงของเธอเข้ากับเมโลดี้มาก เหมือนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นนึงของเพลงเลย แต่ความพีคคือตอนท้ายเพลงร็อกชิว ๆ ก็กลายเป็นเพลงเดือด กลองกับกีตาร์สับรัว ๆ เหมือนหลอกให้เราตายใจแค่ต้นเพลงแค่นั้นแหละ
Arrows
ย่องมาต่อกันจนปรับหูแทบไม่ทัน แต่ในความเนิบนี้ยังหนักแน่นอยู่เหมือนเป็นเพลงที่เน้นลูกหวด อัดพลังพุ่งพล่านของกลองกับกีตาร์
Happy Ever After (Zero Hour)
คราวนี้เปิดมาเป็นโฟล์กที่เล่นกีตาร์อะคูสติกตัวเดียวใส ๆ คลีน ๆ กันเลย ลุ้นอยู่ทั้งเพลงว่าท่อนเดือดจะมาตอนไหน ปรากฏว่าไม่มีจ้า แต่ทว่าเนื้อหาของเพลงมันไม่ได้สดใสสมกับดนตรี เพราะเราลองตั้งใจฟังแล้วมันพูดถึงช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่สักวันมันจะผ่านไป ชวนให้นึกถึงฤดูร้อนอันแสนสั้น เป็นอะไรที่เล่นแบบเรียบ ๆ แต่เปี่ยมด้วยความหมาย และเศร้าแต่งดงามมาก ๆ สำหรับเรา
แม้เนื้อเพลงจะมีพูดถึงยอดมนุษย์คล้ายกับเพลง My Hero จากอัลบั้ม The Colour and the Shape แต่ทั้งสองเพลงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เดฟเล่าว่าเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่เขาขาหักและต้องขึ้นเล่นในทัวร์ครั้งที่แล้ว อยู่ดี ๆ เขาก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างต้องจบลง และเขาจะต้องอยู่เพียงลำพังในวาระสุดท้าย เขาอาจจะกำลังเต้นรำช้า ๆ อยู่ในห้องมืดที่มีแสงสว่างจากเทียนเล่มเล็ก ๆ เพียงเล่มเดียว เพราะทุกคนได้หายไป ไม่ก็เลือกที่จะเดินจากชีวิตของเขาไปหมดแล้ว
Sunday Rain
กลับมาเป็นเพลง upbeat ขยับแข้งขา เป็นเพลงเน้นกีตาร์จังหวะชวนโยก เบสหนึบมาก มีความเป็น classic rock เก่า ๆ แต่แอบมีเสียงซินธ์ฟิ้ว ๆ ที่คิดว่าน่าจะทำเลียนเสียงหยดน้ำฝนแหมะ ๆ ยิ่งตอนหลังมีพาร์ตที่อยู่ดี ๆ floor tom ก็โผล่มาได้เท่มาก ท้ายเพลงมีเสียงเปียโนอ่อนโยงบรรเลงแทรกซ้อนขึ้นมากับกีตาร์ที่กำลังเกรี้ยวกราดอยู่
ความพิเศษของเพลงนี้คือเทย์เลอร์เป็นคนร้อง และที่พิเศษกว่านั้นคือ Paul McCartney แห่ง The Beatles เป็นคนรับหน้าที่ตีกลองในเพลงนี้ พอลเป็นเพื่อนกับวงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้รับการเชิญชวนให้มาที่สตูดิโอเป็นครั้งแรกขณะที่กำลังอัดเพลงนี้ พอลไม่เคยฟังเพลงมาก่อนจนเทย์เลอร์บอกให้เขาลองฟังและลองตีดู “พาร์ตกลองของเขามหัศจรรย์มากครับ เขาคือพอล แมคคาร์ทนีนะคุณ มันเลยมีความเป็นกลองแบบคลาสสิกร็อกจริง ๆ” เดฟเล่าอีกว่า พวกเขาอัดกลองของพอลแค่สองเทคก็ผ่านเลย แต่หลังจากที่วงกำลังพักจิบชาแล้วออกมาสูบบุหรี่กันที่ลานจอดรถหน้าสตูดิโอ ก็มีคนวิ่งมาบอกว่าพอลอยากเล่นเพิ่มอีกสักเทคสองเทค สร้างเสียงเฮครืนลั่นห้องสัมภาษณ์เลยทีเดียว
The Line
พูดได้เต็มปากว่านี่คือเพลงที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ฟัง Foo Fighters ในแบบที่คุ้นเคย คือความแมน ๆ บอย ๆ ลุย ๆ กับเมโลดี้สว่างเปี่ยมด้วยความหวัง อัดแน่นด้วยความเท่ตลอดทั้งเพลง
Concrete and Gold
เพลงปิดท้ายอัลบั้มที่ใช้เป็นชื่อของอัลบั้มด้วย เป็นเพลงช้าที่เน้นเอฟเฟกต์เสียงแตกรุนแรงเหมือนต้องการสร้างบรรยากาศความขลังและความไม่อยู่กับร่องกับรอยในมิติของเสียง เสียงร้องเลือกที่จะให้เป็น lo-fi ฟังรวม ๆ ทั้งเพลงแล้วรู้สึกเคว้งคว้างราวกับความฝัน ไม่รู้ว่าสิ่งในคือเรื่องจริง และดูเป็นพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ในขณะเดียวกัน
เดฟบอกว่าที่เขาเลือกให้เพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้มเพราะเขาอยากให้เพลงปิดเป็นเพลงที่มีเมโลดี้สวยงามเปี่ยมด้วยความหวัง ไม่อยากให้เป็นเพลงเดือด ๆ มาทั้งหมด อีกอย่างคือเขาเคยถามพอล แมคคาร์ทนีว่าจะเลือกเพลงสุดท้ายของอัลบั้มยังไง พอลตอบมาสั้น ๆ ว่า “ผมมีเพลงชื่อ The End” เดฟทำหน้าเจื่อน แล้วทุกคนก็ฮากันลั่นห้องสัมภาษณ์อีกครั้ง
อ่านมาจนถึงตอนนี้อาจจะนึกไม่ออกว่าแต่ละเพลงเป็นยังไง (แต่ยังดีมี Run กับ The Sky is a Neighborhood ออกมาให้ฟังกันแล้ว ส่วนคนที่ได้ไปดูคอนเสิร์ตก็ได้ฟัง Sunday Rain กันมาแล้วโนะ) เอาเป็นว่า รอฟังอัลบั้ม Concrete and Gold พร้อมกัน 15 กันยายนนี้ แล้วมาเล่าให้ฟังหน่อยว่าพอฟังครบทั้ง 11 เพลงแล้วรู้สึกเหมือนหรือต่างจากที่เราเขียนไว้ยังไงบ้าง