‘ล่ามภาษามือในคอนเสิร์ต’ ช่วยสื่อสารให้คนหูหนวกสนุกกับคอนเสิร์ตได้มากขึ้น
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
- Writer: Montipa Virojpan
เห็นจะจริงกับคำที่เขาว่ากันว่า ‘ดนตรีไร้พรมแดน’ ‘ไม่มีกำแพงภาษา’ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราก็ฟังได้ และเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษาที่ร้องอยู่ในเพลงนั้น ก็สามารถมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวโน้ตในเสียงเพลงได้ แม้หลาย ๆ ครั้งเพลงสมัยใหม่กลับหยิบเอาเนื้อร้องเศร้า ๆ มาใส่ในดนตรีสนุก ๆ ทำให้บางทีเราก็เข้าใจ หรือตีความเรื่องราวในเพลงนั้นคาดเคลื่อนไปจากความต้องการของผู้ประพันธ์ แต่โดยพื้นฐานแล้วความไพเราะ ความเร้าใจของจังหวะในเสียงเพลง ก็สร้างความรู้สึกบางอย่างให้กับผู้ฟังได้อยู่ดี
แต่ตอนนี้ นอกจากว่ามันจะไร้พรมแดน ไม่มีกำแพงภาษาแล้ว มันยังไม่มีกำแพงทางกายภาพด้วย เมื่อ ‘คนหูหนวก’ ไม่เพียงรับรู้ถึงการมีอยู่ของเสียงและได้ยินเสียงในแบบที่ต่างไปจากคนทั่วไป แต่ยังรู้สึกถึงดนตรีได้มากกว่าคนธรรมดา ผ่านการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่กระทบกับวัตถุและทำให้เกิดเป็นเสียงออกมานั่นเอง สิ่งนี้ยิ่งเป็นข้อยืนยันได้ว่า ถ้าผู้บกพร่องทางการได้ยินไปอยู่ในคอนเสิร์ตซักงานนึงแล้วยิ่งได้ยืนใกล้ ๆ กับลำโพง ที่สามารถซึมซับย่านเบสกระแทกกระทั้นพวกนั้นได้ พวกเขาจะเอนจอยกับดนตรีขนาดไหน
ช่วงเวลาหนึ่งบน YouTube ก็มีไวรัลคอนเสิร์ตของ Kendrick Lamar มีผู้หญิงคนนึงทำท่าทางแปลก ๆ บนเวที เหมือนกับว่าแร็ปไปกับเขาด้วยจนกลายเป็นไวรัล เธอคนนั้นคือ Amber Galloway Gallego ผู้เป็นล่าม American Sign Language (ASL ภาษามือสำหรับคนอเมริกัน) ซึ่งกำลังเล่าเรื่องราวในเพลงผ่านภาษามือต่างหาก เธอได้แปลภาษามือในคอนเสิร์ตและเฟสติวัลมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโชว์ของ Lady Gaga, the Black Keys, Cher หรือแม้แต่ Twista ที่ว่ากันว่าเป็นแร็ปเปอร์ที่รัวโฟลวได้เร็วที่สุดคนนึง ทำให้ Vice ยกให้ Gallego เป็นเหมือน Jay-Z แห่งภาษามือฮิปฮอปเลยทีเดียว
Gallego เล่าว่าการเป็นล่ามภาษามือในคอนเสิร์ตของเธอนั้นช่วยลดกำแพงของการมีสิทธิที่จะได้รับความบันเทิงของผู้พิการทางการได้ยิน เธอใช้แชแนล YouTube และเว็บไซต์เป็นเหมือน community เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจกับคนทั่วไปว่ามีคนหูหนวกเป็นแฟนดนตรีอยู่จำนวนไม่น้อย พวกเขาอาจจะฟังเนื้อร้องไม่ออก แต่ก็ได้ยินเสียงกีตาร์ กลอง เบส (บางคนบอกว่าเขาเป็นแฟนตัวยงของ Aerosmith!) และผลักดันให้คนหูหนวกได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์อย่างที่คนอื่นได้รับอย่างเท่าเทียม เช่นกันกับการเป็น festivlagoers, concertgoers ซึ่งการมีอยู่ของ ASL ในที่เหล่านั้นทำให้มีคนหูหนวกเข้าร่วมงานมากขึ้นในทุก ๆ ปี
ในปี 1990 นักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้พิการต่างยินดีเมื่อร่างกฎหมายคนพิการอเมริกันผ่านการพิจารณาและถูกบังคับใช้ ทำให้คอนเสิร์ตเริ่มจัดให้มีโซนพิเศษสำหรับผู้พิการหรือคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ สำหรับคนหูหนวกจะได้จุดที่อยู่ใกล้ลำโพงมาก ตามธรรมดาโซนนั้นจะเป็นที่ที่เราต่างวิ่งหนีเพราะเสียงที่ดังเกินกว่าจะเพลิดเพลินกับเสียงเพลงได้ แต่สำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่บริเวณนี้เป็นเหมือนโซน VIP เพราะเขาจะสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสะเทือนของเสียงได้เป็นพิเศษนั่นเอง หรือแม้กระทั่งตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อบัตรคอนเสิร์ต ลูกค้าสามารถเลือกได้ด้วยซ้ำว่าต้องการให้ใครมาเป็นล่ามแปลภาษาให้พวกเขา
แวดวงของ ‘ล่ามภาษามือ’ ในคอนเสิร์ตมีผู้เชี่ยวชาญภาษามือหลายคนที่ร่วมพัฒนาการแปลให้สอดคล้องกับเนื้อหาในดนตรี เพราะมันมีไวยกรณ์และรูปประโยคเฉพาะตัว แนวคิดของภาษามือคือการอธิบายเพื่อให้ได้เข้าใจไอเดีย หรือความรู้สึกของคำคำนั้น บริบทนั้น ๆ และใส่มันลงไปให้ตรงกับจังหวะในเพลง ซึ่งนั่นจะทำให้คนหูหนวกร้องตามและมีอารมณ์ร่วมกับเพลงได้ ซึ่งบางทีเราจะเห็นการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางของล่ามขณะแปลเช่นเดียวกัน โดย ‘ล่ามภาษามือ’ ก็จะแบ่งการทำงานออกไปตามสายดนตรีที่ตัวเองถนัดหรือชื่นชอบ ทำให้ผู้ฟังได้รับประสบการณ์ร่วมในฐานะแฟนเพลงมากที่สุด
เคยมีคลิปที่มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ด้านล่างเวทีใกล้ ๆ กับลำโพง โดยมีกลุ่มคนกระโดดโลดเต้นอยู่ใกล้กับเธอเป็นจำนวนมากราวกับว่าพวกเขามาดูเธอเล่นคอนเสิร์ตซะเอง ทำให้แม้แต่แร็ปเปอร์ Waka Flocka Flame ก็คิดว่าเธอขโมยซีนทำให้คนดู hyped จากท่าเต้นของเธอ จนเขาลงมาเต้นไปกับเธอด้วย
แม้ทุกคนจะอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่าง แต่เราก็หวังให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความสุข ได้อย่างเท่าเทียม น่าดีใจที่โลกของเรามีความเอื้อเฟื้อและเห็นอกเห็นใจแก่เพื่อนมนุษย์เสมอ ไม่แน่นะ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นล่ามภาษามือในคอนเสิร์ต Bodyslam ก็ได้
อ้างอิง
At a Twista concert, sign language interpreter becomes the star
Inside the World of Concert Sign Language Interpreters
อ่านต่อ
คนหูหนวกนอกจากจะได้ยินเสียงแล้ว ยังรู้สึกถึงดนตรีได้มากกว่าคนธรรมดาอีกนะ
‘นี่มันยุคของพวกเราแล้วเว่ย!’ สำรวจเพลงก่อนยุค 2020 — Bedroom Studio, Gen Z และหลายปัจจัยที่ทำให้แนวเพลงเปลี่ยนไป