พาชมเบื้องหลังเทศกาลดนตรี Big Mountain ครั้งที่ 7 มหกรรมโจ๊ะหมู่บูชา
- Writer: Gandit Panthong
- Photographer: Son of Jumbo
ปรดมันส์อีกครั้ง โปรดมันส์อีกครั้ง !!!
ฟังใจซีนฉบับนี้ขอพาทุกท่านไปพบกับผู้จัดงานเทศกาลดนตรี มัน ใหญ่ มาก นั้นก็คือ ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋าเต็ดที่หลาย ๆ คนรู้จักกันนั้นเอง เบื้องหลังของความสนุกในงาน Big Mountain จะเป็นอย่างไร เชิญมารู้พร้อมกันได้เลยครับ
เรื่องราวความเป็นมาของ Big mountain ครั้งที่ 7 มหกรรมโจ๊ะหมู่บูชา
ตีมงานหลักของเราปีนี้มันคือคำว่า โจ๊ะ เลยครับ โดยจุดเริ่มต้นที่มาของตีมงานครั้งนี้มันมาจากตัวของผมเองเกิดความรู้สึกหมั่นไส้กระแสคอนเสิร์ต EDM ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้ ถามว่าผมฟังเพลงแนวนี้รึเปล่าฟังนะ งานเทศกาลดนตรีแนว EDM อย่าง Tomorrow Land ผมก็ไปดูเกือบทุกปี แต่แค่แอบรู้สึกหมั่นไส้ในความเห่อกับงานดนตรีที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้ว่าทำไมต้องจัดงาน EDM กันเยอะแยะเต็มไปหมดเลย ตัวผมขนาดไปงาน Tomorrow Land ยังแยกไม่ออกเลยว่า เพลงไหนเป็นเพลงไหนและก็เชื่อด้วยว่าคนดูในงานนั้นครึ่งนึงก็ยังแยกไม่ออกเหมือนกันว่า เพลงที่ฟังนี่มันเพลงแนวอะไร ทุกเพลงในงานมันคือ เพลงเต้นรำชัด ๆ เลย ทำให้ผมกลับมาคิดประยุกต์กับความเชื่อของคนไทยไปอีกว่า ประเทศเราอยู่กับเพลงเต้นรำมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว เพลงเต้นรำในแบบไทยมันอยู่มาทุกยุคทุกสมัยของวงการเพลงไทยบ้านเรา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอยู่ในสายเลือดนั้นเอง ผมก็เลยเอาตีมปีนี้เป็นตีมโจ๊ะไปซะเลยเพื่อประกาศให้โลกรู้กันไปเลยว่า คนไทยเต้นกันมาตั้งนานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเห่อกระแสเพลงเต้นรำเลย เราก็เลยตั้งชื่อตีมงานปีนี้ว่า “มหกรรมโจ๊ะหมู่บูชา” อาจจะเห็นว่าผมบอกว่าผมหมั่นไส้กระแสดนตรีแนว EDM นะครับ แต่จริง ๆ แล้วในงานครั้งนี้เราก็มีเวที EDM ให้คนไปเต้นรำเหมือนกัน งานของเราไม่เคยปิดกั้นแนวดนตรีใด ๆ คนที่มางานของเราก็จะได้เห็นมุมมองบรรยากาศภาพรวมต่าง ๆ ในงานว่ามันเป็นลักษณะของงานปาร์ตี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในงานนี้คุณจะได้ยินเพลงโจ๊ะ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาในงานอย่างแน่นอน
Big mountain ย้ายสถานที่จัดงาน
เรื่องสำคัญของเราเลยครับ เรื่องการย้ายสถานที่จัดงานของเรา เนื่องจากว่าที่เดิมโบนันซ่า เขาใหญ่เนี่ย ทางเราใช้พื้นที่ของเขาเต็มครบทุกไร่มาประมาณ 2 – 3 ปีแล้วแถมบัตรเข้างานมันก็ Sold Out ด้วย แล้วเราเพิ่มพื้นที่การจัดงานไม่ได้ด้วย เพราะพื้นที่มันมีจำกัด ทำให้ทางเราจึงต้องมองหาที่จัดงานใหม่มา 2 – 3 ปีเหมือนกัน โดยสถานที่ที่เราเจอคือ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีครับ ซึ่งพื้นที่มันเยอะกว่าที่งาน Big mountain เคยมีอยู่ 2 เท่า สมัยก่อนเราใช้พื้นที่อยู่ประมาณ 700 กว่าไร่ แต่ที่แก่งกระจานที่เราไปเจอเนี่ยมันมีขนาด 1500 ไร่ ซึ่งก็มองไว้เผื่ออนาคตได้เลยครับ ปีนี้ทางเราคงจะยังไม่ใช้พื้นที่ทั้งหมด 1500 ไร่แน่นอน ปีนี้จะใช้ประมาณ 800 กว่าไร่ อาจจะถึง 900 ไร่ก็ได้ถ้าบัตรเราขายได้เยอะ (หัวเราะ) ภาพรวมตอนนี้เราก็จะดูๆ ไว้ครับว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ Big mountain จะขยายใหญ่ขึ้นและเติบโตมากกว่าเดิมยิ่งขึ้น
มีกระแสเกิดขึ้นมั้ยจากการย้ายสถานที่จัดงาน Big mountain ในครั้งนี้
มีบ้างมันเป็นเรื่องธรรมดาครับ สัดส่วนของปัญหาในเรื่องนี้มันจะมีแค่ 30 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดครับ โดยมันจะแบ่งเป็นคนในพื้นที่ซะเป็นส่วนใหญ่ครับ ดังนั้นเสียงที่ดังเป็นพิเศษหน่อยจะเป็นเสียงของคนในพื้นที่เดิม เพราะว่า งานมันเคยจัดอยู่หน้าบ้านเขาไง ทีนี้มันถูกย้ายไปจัดที่อื่น เขาก็ต้องบ่นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ทางเราก็เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องไปสื่อสารกับคนในพื้นที่แก่งกระจานทั้งหมด บอกพวกเขาว่า เราจะจัดงานนี้ขึ้นในบริเวณนั้น บอกคนในจังหวัดเพชรบุรี อำเภอชะอำ หัวหิน หรือจังหวัดราชบุรี เพราะ คนระแวกนั้นจะเป็นคนที่มาทดแทนฝั่งปากช่องและโคราชครับ ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง ทุกคนมีทั้งชอบและไม่ชอบ ส่วนคนกรุงเทพเขาก็ไม่ได้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไรนะ เพราะว่าเขาก็ต้องออกจากบ้านไปดูคอนเสิร์ตสักที่หนึ่งอยู่ดี ถ้าเทียบเอากรุงเทพเป็นจุดศูนย์กลางนะ แก่งกระจานกับเขาใหญ่นี่มันไม่ต่างกันเลยครับสำหรับการเดินทาง
การเดินทางไปง่ายหรือยากกว่าครั้งก่อน
พอ ๆ กันไม่ต่างกัน ถ้าขับรถไปจะง่ายกว่าเดิมด้วย เริ่มจากออกกรุงเทพไปทางถนนเส้นพระราม 2 มันก็จะเจอทางเลี้ยวซ้ายตรงทางที่ไปจังหวัดเพชรบุรีแล้วไปทางเส้นอำเภอชะอำไปง่ายครับ ส่วนไอ้ทางเข้างานของปีเนี่ยมันยังไม่ถึงจังหวัดเพชรบุรีเลย พ้นพระราม 2 ไปนิดเดียวก็ถึงจุดเข้างานแหละ ระยะทางเข้างานมันประมาณ 40 กิโลได้ ซึ่งมันเป็น 40 กิโลที่เดินทางสบายกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาเลยครับ ครั้งนี้มันจะเป็นถนนเข้าไปจนถึงงาน Big mountain เลย ส่วนถ้าใครไม่ได้เดินทางรถยนต์ส่วนตัวเลย ทางเราจะดีลกับวินรถตู้ไว้ให้เดินทางไปถึงงานได้เลยด้วยครับ ความสะดวกในการอยู่ครบเท่าเดิมเลยครับ รับประกัน
เวทีคอนเสิร์ตในงานครั้งนี้มีกี่เวที
เวทีคอนเสิร์ตในงานครั้งนี้มีกี่เวที รอบนี้มี 9 เวทีเท่าปีทีแล้วเลยครับ โดยแยกเป็นแต่ละเวทีได้ดังนี้ครับ
เวที Main Stage เวทีนี้เป็นเวทีที่รวมบรรดาวงดนตรีใหญ่ ๆ ที่มีแฟนเพลงเยอะๆ ทุกแนวเพลงไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น Bodyslam, บี้ เดอะสตาร์, คาราบาวก็จะอยู่เวทีนี้
เวทีวัว ปีนี้เราไปสร้างวัวตัวใหม่ที่แก่งกระจานครับ สร้างแบบถาวรเลยเหมือนคราวที่แล้ว ทางเราก็สร้างทิ้งไว้ที่โบนันซ่าให้เป็นอนุสรณ์ของงาน Big mountain ไป (หัวเราะ) ส่วนเวอร์ชั่นที่เรากำลังทำอยู่ก็เป็นเวอร์ชั่นอัพเกรดยังไงรอดูที่งานนะครับ ส่วนวงที่จะมาเล่นเวทีนี้ก็จะเป็นวงชิว ๆ หน่อยฟังสบาย ๆ
เวที Rock Village เดิมทีเวทีนี้ชื่อเวทีห่าน สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อ เพราะปีหน้าเราจะมีเทศกาลดนตรี Rock เกิดขึ้นครับ ปีนี้ในงานก็เลยเอาเวทีนี้เป็นตัวสตาร์ทก่อนเลย ร็อคเน้น ๆ ครับเวทีนี้
ผับอโคจร โดยน้าเน็ก เหมือนเดิมครับ เราจำลองผับบรรยากาศชานเมืองมาให้ทุกท่านแน่นอน ใครที่ชอบอะไรเรื้อน ๆ ของผับนี้ก็ยังคงอยู่ อย่ารอช้าครับมาได้เลย
เวทีซอย 2 เวทีที่จำลองผับแถวสีลม ซอย 2 ทุกคนเข้าได้หมดนะมันไม่ใช่เฉพาะเกย์เท่านั้น บรรยากาศแบบนี้มันเต็มไปด้วยความสนุก อยากรู้เป็นอย่างไรต้องลอง
เวที Egg Stage แต่ก่อนชื่อเวทีปากช่อง สำหรับวงหน้าใหม่ที่ยังไม่มีแฟนเพลงเยอะ รวมถึงวงที่น่าสนใจแต่ไม่ได้ทำเพลงในแนวกระแสหลัก ซึ่งเราอยากให้เขาได้เล่นอยู่ในงานเรา
เวทีหลังคาแดง เวทีนี้แนวดนตรีค่อนข้างหลากหลายนะ บางวงแนวทดลองอะไรแบบนี้เราก็จะให้ไปเล่นหลังคาแดง พวกงานศิลปะ งานแสดงละครอะไรต่าง ๆ จะอยู่ที่เวทีนี้หมดเลย
Dancing Tree เป็นเวทีแนว EDM เปิดเพลงเต้นกันไปเลยฮะ ใครอยากเต้นเชิญเวทีนี้ด่วน
เวทีบาร์รำวง เวทีควบคุมงานด้วยโจอี้ บอย อยากรู้ว่าบรรยากาศงานรำวงจะสนุกสนานขนาดไหน ขอเชิญมาร่วมรำวงกันที่เวทีนี้ครับ
ศิลปินต่างชาติในงาน Big mountain ปีนี้
ตอนนี้อยู่ในระหว่างการคอนเฟิร์มกันอยู่ครับ ที่ผ่านมาเนี่ยงาน Big Mountain คนฟังดนตรีในย่านเอเชียจะรู้จักเยอะแล้วนะครับ พวกโปรโมเตอร์งานดนตรีต่างๆ เขาก็มาเดินงานเราทุกปี ส่วนสำหรับศิลปินต่างชาติที่จะมาเล่นในครั้งนี้ ตอนนี้อยู่ในระหว่างที่เราคัดเลือกอยู่ครับ เพราะมันเยอะมาก ๆ จริง ๆ ดังนั้นเร็วๆ นี้จะประกาศให้ทราบทันทีโปรดรอติดตามครับ
แล้วในอนาคตจะมีโอกาสจะได้ดูวงใหญ่ๆ ของศิลปินต่างชาติในงาน Big Mountain มั้ย
ใน Big Mountain คงจะไม่นะครับ หลังจากเราคิดทบทวนมาหลายครั้งแล้ว งานนี้มันควรจะเติบโตไปเป็น Music Festival สไตล์ Local มากกว่าเพราะว่าสิ่งนึงที่มันเป็นอุปสรรคเลย คือ ราคาบัตรเข้างานครับ ผมไม่สามารถจ้างวงดัง ๆ มาได้ เพราะ เราขายบัตรอยู่ที่ราคา 2,000 บาท แถมยังลดลงเหลือ 1,600 บาทอีก แบบนี้มันจ้างวงใหญ่ ๆ มาไม่ได้แน่นอนครับ ถ้าจะทำได้คนดูต้องประมาณ 3 แสนคนครับ ถึงจะจ้างได้ก็ลองคำนวณดูก็ได้ว่าตังค์ที่ได้จากค่าตั๋วมันเท่าไร ต้องลงทุนเท่าไร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามทางเราอยากจะทำสิ่งนี้อยู่แล้วแต่จะเป็น International Music Festival เลย อันนั้นก็จะคิดงานกันอีกแบบเลย ทำให้คนที่ฟังเพลงสากลจริง ๆ ได้ดูวงดนตรีดี ๆ กันซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าก็กำลังวางแผนอยู่ครับ
Big mountain ครั้งนี้จำกัดจำนวนคนเข้างานมั้ย
จำกัดครับ แต่จะเป็นการจำกัดแบบหลวม ๆ มากกว่า เหตุผลคือว่า ผมไม่อยากประกาศ Sold out อย่างปีที่แล้วเราเจอปัญหาที่ว่า พอประกาศขายหมด พวกตั๋วผีนี่ขึ้นราคากระหน่ำเลยกลายเป็นใบละ 7,000 บาทก็มี ผมก็รู้สึกสงสารคนที่เขาซื้อบัตรไม่ทันด้วย อย่างปีที่แล้วเราก็ใช้วิธีกั๊กตุนบัตรไว้จำนวนหนึ่งเพื่อขายหน้างาน เพราะ อย่างน้อย ๆ เราก็สามารถขายให้กับคนที่เดินเข้ามาซื้อหน้างานได้ด้วย เพราะฉะนั้นแล้วทางที่ดีเอาชัวร์ ๆ ซื้อเลยได้อย่างดีครับ ปีนี้มันสะดวกขึ้นตรงที่ซื้อ 7 – Eleven ได้ด้วยง่ายหายห่วง ยังไงก็อยากให้อย่าประมาทกับเรื่องบัตรเข้างานจะดีที่สุดครับ อยากดูก็ซื้อเลยตัดปัญหาเรื่องตั๋วหมดได้ด้วย
เรื่องตั๋วผี ทางทีมงานมีวิธีจัดการกับมันอย่างไรบ้าง
บอกเลยว่าการจัดการกับมันยากมากครับ อย่างแรกเลยคือ การซื้อตั๋วผีมันไม่ผิดกฏหมายนะ อันนี้เป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่เข้าใจ ตอนนี้วิธีกำจัดตั๋วผีได้อย่างเดียวสำหรับผมเลยคือ การใช้วิธีแบบนักเลง ยืนขู่เอากันไม่ให้เอาพวกคนขายไปขายหน้างานก็พอแล้ว เพราะจริงๆ แล้ว คนกลุ่มเนี่ย แค่เราจอดรถมันก็เดินมาหาเราแล้ว มันไม่ใช่เรื่องผิดกฏหมายด้วยไง มันเป็นเรื่องความพึงพอใจระหว่างคนซื้อกับคนขายเพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นคุณต้องทำใจเลยว่า หนึ่งทางเราไม่สามารถเอาผิดกับคนพวกนี้ได้ สองหากเราพิมพ์ไว้บนหน้าบัตรว่า ห้ามขายต่อมันก็ไม่ได้อีก กฏหมายยังไม่รองรับในเรื่องนี้ การทำงานมันเป็นแก็งค์มีคนทำอาชีพแบบนี้เยอะมาก มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่งานนี้งานเดียว อาชีพนี้มันเป็นอาชีพสีเทาจะว่าผิดกฏหมายก็ไม่ผิดจะว่าเอาเปรียบมันก็เรียกได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางเดียวที่แก้ไขได้เลยคือ อย่าซื้อ เราต้องใจแข็งเลย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เราจะไปดูฟุตบอลทีมชาติไทย ถ้าคุณชอบ แต่คนดูอีกหลาย ๆ คนไปสนับสนุนบัตรกันจนหมดแล้ว คุณก็ต้องใจแข็งไม่ดูมัน ต้องทำใจว่าซื้อไม่ทันจริง ๆ ให้นึกว่าเหมือนเวลามันมีหลายอย่างที่เราไปไม่ทันแล้วคุณก็อดอ่ะ คุณไปกิน ร้าน After You ในวันที่คนมันเยอะคุณก็กินไม่ได้หรือคุณจะไปดูหนังเรื่องที่ชอบ รอบนี้มันเต็มคุณทำไงอ่ะ ก็ต้องไปดูรอบอื่น ทุกอย่างมันต้องทำใจและใจแข็งกับมัน ทางเดียวเลยที่จัดการได้เลยคือ อย่าซื้อเถอะ
ร้านอาหารที่ขายในงาน
ปีนี้มันจะมีโซนอาหาร 4 แบบเลย โซนหลัก ๆ ก็พวกร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกระเพาะปลา ฯลฯ โซนที่ 2 การขายข้าวไข่เจียวก็ยังอยู่นะ โซนที่ 3 ก็ร้านส้มตำ ร้านลาบ ที่เพิ่มมาอีกโซนนึงเลยก็มีโซน Food Truck ครับ ช่วงนี้คนไทยกำลังทำธุรกิจแนวนี้อยู่เยอะมาก มันก็น่าจะเป็นอาหารอีกแบบที่แถมมันไม่ซ้ำกับอาหารอย่างอื่นในงานด้วย
อะไรคือสิ่งที่คนดูไม่ควรพลาด Big mountain
โห่ มันพูดยากมากเลยอ่ะมันเป็นเหมือนช้างอ่ะ Big Moutain คล้ำตรงไหนก็เจอสิ่งที่คุณอยากเจอ มันจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นมันจะขึ้นอยู่กับ Lifestyle ของคนฟังด้วย บางคนชอบที่จะนั่งปักหลักอยู่ที่เวทีใหญ่ บางคนชอบเวทีวัว บางคนชอบเวทีร็อค ทุกคนมีความชอบแตกต่างกันไปครับ มันจึงพูดยากครับว่าอะไรเป็นสิ่งที่คุณห้ามพลาด ดังนั้นเรื่องอื่นๆ ถ้าเป็นเรื่องกินมันก็มีหลายร้านให้เลือกครับ
ถ้าป๋าเต็ดเป็นคนดู ป๋าเต็ดจะชอบดูเวทีไหน
ผมชอบเวทีหลังคาแดง เวลาไปงานดนตรีผมจะชอบเดินดูเวทีวงดนตรีเล็ก ๆ ไปหาวงดนตรีที่เราไม่รู้จักไม่เคยฟังมาก่อน จะเป็นคนชอบเวทีแบบนี้มาก ๆ มันจะทำให้เราได้ตื่นเต้นกับการฟังเพลงมาก ๆ ผมรู้สึกว่าการไปงานดนตรีหัวใจหลักของมันเลย คือ การไปเจอกับวงดนตรีที่เรายังไม่รู้จัก เราอาจจะมีเป้าหมายวงดนตรีหลักของเราละว่าจะต้องดูวงที่ชอบ แต่ในช่วงเวลาอื่นของงานมันก็ต้องผจญภัยอ่ะ แล้วก็หลายครั้งผมจะเจอวงที่ชอบจากการทำแบบนี้เยอะมาก ๆ อย่างปีที่แล้วมันมีงานเทศกาลดนตรีที่ประเทศฝรั่งเศส ชื่อ MAMAFEST แล้วไปเจอวงชื่อ Scarecrow วงนี้มีคนดูประมาณ 100 คนกว่าได้ครับ มันเป็นวงที่เอา Hip – Hop ผสม Blues ผสม Rock เล่นดีมาก ๆ จนต้องชวนมาเล่นงาน Big Mountain อ่ะ ปีที่แล้วใครได้ดูวงนี้ก็จะแบบมันเจ๋งมากจริง ๆ ถ้าจะมีอะไรที่ไม่ควรพลาดเลยมันก็ควรเป็นเรื่องแบบนี้ละ อย่าพลาดที่จะตระเวนดูวงดนตรีหน้าใหม่ ๆ ไม่แน่คุณอาจจะเป็นแฟนเพลงเขาไปเลยก็ได้ใครจะไปรู้
วงดนตรีของไทยที่น่าสนใจในตอนนี้
ปีที่แล้วในงาน Big Mountain ผมดูวงของนทชื่อว่าวง The Krrrrr อะไรอย่างเนี่ย น่ารักดีนะ เรื่องซาวด์อะไรก็ตามโอเคเลย ส่วนปีนี้ในงาน Big Mountain ที่ตัวเองอยากดูมากคือวง Solitude is bliss ผมบอกลูกน้องไว้เลยว่า กูจะดูวงนี้ กูไม่มีเวลาไปดูที่งานเห็ดสด กูจะดูในงานตัวเองแล้วกันนะ (หัวเราะ) อยากดูมากจริง ๆ ครับวงนี้
อนาคตของผู้จัดงานคอนเสิร์ตคิดว่าอาชีพนี้มันจะเป็นอย่างไรบ้าง
มองว่ามันเป็นเรื่องดีนะ ผมถือว่าการแข่งขันมันจะก่อให้เกิดการพัฒนานะ ณ วันที่ผมเริ่มทำ Fat Festival นั้นก็เกือบ 20 ปีแล้ว ตอนนั้นงานดนตรีน้อยมาก ๆ เลยไม่มีใครกล้าจัดอะไรกันเลย แล้วพอหลังจากนั้น 7 ปีที่แล้วผมเริ่มทำ Big Moutain ตอนนั้นเทศกาลดนตรีเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดเลย แม่งเหมือนกันหมดเลย ศิลปินยังเหมือนกันเลยอ่ะ ทุกงานแบบหน้าเดิม ๆ จำได้เลย เราก็เลยต้องพยายามทำให้งานเรามันมีจุดต่าง จุดต่างของเราคือเรื่องความใหญ่ทีนี้มันก็จะเลือกวงได้เยอะกว่า ไลน์อัพเรามันก็จะหลากหลาย เราก็ตั้งเป้าหมายไว้อย่างนั้น ตอนนี้รู้สึกว่าหลังจากงานมัน ใหญ่ มากแล้ว เรื่องของงาน Music Festival ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดทั้งรายใหม่ รายเก่า ก็พยายามสร้างจุดเด่น สร้างเอกลักษณ์ของงานออกมา ซึ่งมันเป็นเรื่องดีนะ เทียบกับจำนวนของคนในบ้านเรา ถ้าลองไปเปิดตารางในยุโรปหรือแค่อังกฤษอย่างเดียว ช่วง Summer นี่ทุกอาทิตย์มีเป็น 10 งาน คือเรายังทำได้มากกว่านั้น ผมไม่รู้สึกกลัวไม่รู้สึกเหนื่อยที่มีงานเกิดขึ้นเยอะ แต่ผมกลับรู้สึกว่าเหมือนมีเพื่อนร่วมวงการเพิ่มขึ้นมากกว่า
6 ปีของ GAYRAY ถือว่าล้มลุกคลุกคลานบ้างรึเปล่า
มันก็มีบ้างนะ คือ บริษัท GAYRAY มันถูกตั้งขึ้นมาเพราะจะทำงาน Big Mountain อย่างเดียว แต่พอเอาเข้าจริงมันก็ทำแบบนั้นไม่ได้ คือ ทางเราทำงาน Big Mountain อย่างเดียวได้นะ แต่คนที่จ่ายเงินเดือนให้เราเขาไม่ยอมให้ทำงานนี้งานเดียวไง อยากให้เราทำอย่างอื่นด้วย ซึ่งมันก็ผิดไปจากเป้าหมายตั้งต้นตอนแรกไป แต่ในขณะเดียวกันมันก็ถือว่าสนุกไปด้วย เพราะที่ผ่านมามันก็มีงานที่ประสบความสำเร็จ งานที่ล้มเหลว งานที่ขายบัตรหมด งานที่ขายบัตรไม่ได้ งานที่เจ๊งแบบเละเทะเลย ซึ่งก็จะเรียกว่าล้มลุกคลุกคลานก็ได้ แต่สำหรับผม ผมไม่เคยมองว่า การล้มเหลวมันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังหรือเป็นเรื่องที่ทำให้เราเสียฟอร์ม ผมถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มองมันเป็นบทเรียนมากกว่า เวลาเราทำงานแบบนี้ ไม่ว่างานมันจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งคือเราจะเก่งขึ้นแน่นอน เราทำงานสำเร็จก็จะทำให้เราเก่งขึ้น เราทำงานล้มเหลวก็จะทำให้เก่งขึ้นเช่นกัน ตราบใดที่เราตั้งใจทุ่มเทให้กับมัน สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือ ตัวเรา และครั้งหน้าถ้าจะล้มเหลวมันก็จะเป็นการล้มเหลวเรื่องใหม่ที่อาจจะใหญ่กว่าเดิมก็ได้ใครจะไปรู้
อนาคตของ GAYRAY จะเป็นอย่างไรบ้างหลังจากนี้
ปีหน้าเรามีอะไรเจ๋งๆ ให้ดูกันอีกเยอะเลยครับ คือ ตอนนี้ในแง่สิ่งที่ผมรับผิดชอบเปลี่ยนจากรับผิดชอบเรื่อง GAY RAY อย่างเดียว มารับผิดชอบงานด้านโชว์ทั้งหมดของแกรมมี่ ซึ่งทำให้งานมันก็จะเยอะขึ้นด้วย แต่ผมก็จะวางให้แต่ละทีม ในภาพของทีมโชว์ก็จะมีทีม GAYRAY, Idea Fact, GMM LIVE เราก็พยายามให้แต่ละทีมมีลายมือของตัวเองแต่ว่าร่วมกันผลิตงานออกมาให้ได้เยอะขึ้นสอดคล้องในทุก ๆ ด้านในแง่ของอุตสาหกรรมเพลง ปีหน้าเรามีงานเยอะมาก ปีหน้าเราจะทำ Music Festival เยอะขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ 3 อันเลยที่ไม่เหมือนกันเลย มีทั้งงานในกรุงเทพ งานต่างจังหวัด Outdoor indoor มีหมดเลย มีคอนเสิร์ตของศิลปินเกิดขึ้นเยอะมาก ๆ แต่ปีหน้าเจอกันบ่อยแน่
GODUNG ตอนนี้ยังมีอยู่มั้ย
GODUNG ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้วครับ มันเป็นความผิดพลาดในแง่นึงตรงที่เราบริหารชุมชนของนักดนตรีไม่ได้เลย เราให้ความสำคัญกับเว็บไซต์เกินไป คือ ถ้าเราทำการบ้านดีกว่านี้ มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ Social Media ดีกว่านี้ มันก็จะไม่หายไปครับ
คอนเสิร์ตวงต่างประเทศละ เราจะได้เห็นป๋าเต็ดพาวงไหนมาเล่นอีกมั้ย
เรายังไม่ทำวงนอกนะ ตอนนี้เราขอทุ่มเทโฟกัสไปกับเรื่องที่ถนัดก่อนดีกว่า แต่ว่าได้วางแผนไว้แล้วสักวันนึง เราจะทำให้มันเกิดขึ้นแน่ ๆ และทำให้มันใหญ่ ๆ มากด้วย ถ้าในฝันที่วางไว้ คืองาน Big Moutain มันจะกลายเป็นงานอนุบาลไปเลย ตั้งใจว่าไอ้งานนั้นกะว่าทำเป็นงานสุดท้ายก่อนเกษียณครับ
ภาพรวมของวงการเพลงไทยในตอนนี้
มันเป็นยุคที่บรรดาคนในวงการเพลงยังมึนๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่ การบริโภคเพลง ทั้งหมดเลยไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่หรือค่ายเล็กรวมไปถึงศิลปินที่ไม่มีค่าย ทุกคนยังงงๆ กันอยู่ สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือ ถ้ามองในแง่ภาพรวม วงดนตรีระดับที่เป็นซุปเปอร์สตาร์เกิดใหม่ช้ามากเกินไปตอนนี้ เวลาที่เรามองไปยังเฮดไลน์ของเทศกาลดนตรีที่จัดกันอยู่ มันซ้ำมาก ๆ ตั้งแต่ทำ BIg Mountain มา 7 ปี วงที่ขึ้นมาเป็นเฮดไลน์เนอร์ใหม่ๆ เนี่ยนับนิ้วได้เลย ก็มีแบบ Slot Machine , 25 Hours , Lomosonic นอกนั้นนี่เริ่มไม่แน่ใจแหละ มันพูดยาก ๆ มากอ่ะเรื่องนี้ นี่คือ สิ่งที่เป็นปัญหา เราไม่รู้จะสร้างความดังด้วยอะไร ถ้าเป็นแต่ก่อน คุณเป็นค่ายเพลงใหญ่คุณสั่งให้ดังได้ คุณสามารถบอกนักร้องได้ว่า ผมจะทำให้คุณดัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครกล้าพูดแบบนี้กับใครทั้งสิ้น สำหรับวงอินดี้ที่ไม่ได้อยากดังมาก เขาก็ไม่สามารถทำให้มันเป็นที่รู้จักหรือหลุดไปจากกลุ่มที่พวกเขารู้จักได้ ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่าก็คือ โลกในแง่ของมีเดียมันเปลี่ยนจากสิ่งที่เขาเรียกว่า คลื่นลูกที่ 3 เข้ามาสู่คลื่นลูกใหม่แล้ว ตอนนี้มันเข้ามาสู่ยุค Social Media เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เราหย่อนของลงไปแล้วมันจะกลายเป็นที่รู้จัก แชร์ของมากไปคนก็หาว่า Spam แชร์น้อยไปก็ทำยังไงจะให้มีคนรู้จักวะ แต่ข้อดีของสิ่งนี้มันทำให้เราต้องไปโฟกัสที่ตัวเพลง อย่างไรก็ตามถ้าเพลงคุณดี มันจะมีกลไกลทางธรรมชาตินำพาให้เพลงของคุณเป็นที่รู้จักเอง แต่ว่ากลไกลทางธรรมชาติมันทำงานช้า ดังนั้นปีนึงมันจะมีเพลงแบบนั้นน้อยมาก เรารู้อยู่ว่าจริงๆ มันมีเพลงดีๆ ศิลปินหน้าใหม่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น แต่ว่ามันยังค้นพบวิธีการไม่เจอ คือบางคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย ผมทำเพลงมันคือความสุขของผม แต่ถ้ามองคนทำเพลงในฐานะอาชีพนักดนตรีความดังมันมีผลนะ มันเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนนึงที่จะให้คุณดำรงอาชีพนี้ได้อ่ะ ดังนั้นตอนนี้เหมือนมันแยกเป็น 2 กลุ่ม นักดนตรีอาชีพ เล่นตามผับ อะไรพวกนี้ แต่ถ้าคนทำเพลงที่สร้างงานมันหาเงินจากอาชีพนี้ไม่ได้ เวลาจะไปเก็บเงินตามผับก็โดยโวยต่าง ๆ นานา ซึ่งคนไทยไม่ได้มองตรงนี้เป็นจุดหลักไง เวลาบอกว่าเพลงเป็นสินค้าเนี่ย จะมองว่าเป็นการไปดูถูก ความจริงคำว่าสินค้าในที่นี่ มันคืออาชีพอ่ะ มันเหมือนผมสร้างจักรยานมา แต่พอเป็นเพลงแล้วแบบคนก็ไม่เข้าใจอยู่ดี มันเป็นเรื่องน่าปวดหัวมาก มันเป็นเรื่องของทัศนคติล้วน ๆ เลย คนไทยไม่มองคนทำเพลงเป็นอาชีพคนทำเพลง จะบอกว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ก็ไม่เชิง เพราะเราก็เห็นชาวบ้านโพสโวยวายกันอยู่เหมือนเดิมว่าเอาภาพเราไปใช้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเพลง ไม่มองแบบนี้เลย คือการที่นักดนตรีในผับเล่นเพลงของคนอื่น มันเป็นเรื่องที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แน่ ๆ มันเป็นการเอาเพลงคนอื่นไปหากิน เพราะว่า ถ้าเพลงไม่ดังคุณก็ไม่เล่นป่ะละ ไม่ว่ามันจะช่วยโปรโมทหรือไม่ก็ตาม มันก็คือการไปเอาของเขามาเล่นมันก็ต้องจ่ายตังค์ป่ะครับ และสิ่งนึงที่คนร่วมวงการด่าไปด้วยก็คือ คือ เขาไม่ได้เก็บเยอะเลยนะ เขาเก็บเป็นเดือน เขาเก็บที่ร้าน ร้านจ่ายต่อเดือนหลักพักเองนะ มันถูกกว่าจ้างพนักงานล้างจาน 1 คนอีกอ่ะและมันเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่เหรอเพลงพวกนี้ และอีกแบบนึงก็คือถ้าคุณไม่พอใจที่จะจ่าย คุณก็ไม่ต้องเล่นเพลงเขาก็จบแหละ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าจะให้ดีคือ อยากให้วงดนตรีในไทยเล่นเพลงตัวเองมากขึ้นด้วยซ้ำ มันเป็นวงจรที่งง ๆ นั้นเองครับ ทุกคนต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้เท่านั้นเองครับ
พื้นที่ขายของโดยป๋าเต็ด
จริง ๆ ไม่มีอะไรจะฝากนะครับ ก็ขอบคุณที่ติดตามและก็ขอให้สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ และก็เชื่อว่าคนที่อยู่ในชุมชนนี้ขอให้มีความสุขในการฟังเพลง และถ้ามีโอกาสมาที่ Big Mountain ก็ขอให้สนุกนะครับ แล้วเจอกัน