Tranquility Base Hotel & Casino อัลบั้มที่เราขอถวายตัวเป็นแฟนเพลงของ Arctic Monkeys อีกครั้ง
- Writer: Montipa Virojpan
วันที่ 5 เมษายน ทั่วโลกพร้อมใจกันแชร์คลิปสั้น ๆ ที่เป็น teaser เรียกน้ำย่อยของ Tranquility Base Hotel & Casino งานชุดใหม่ของวงร็อกอังกฤษวงหนึ่ง ซึ่งบางคนก็โตมาพร้อม ๆ กับเพลงของพวกเขา หรืออาจมีวงนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการฟังเพลงด้วยซ้ำ
ระหว่างความตื่นเต้นดีใจที่จะได้ฟังเพลงใหม่ ก็มีภาพนิ่งของวงปล่อยออกมาให้เราได้เห็นลุคใหม่ของ Alex Turner, Matt Helders, Jamie Cook และ Nick O’Malley จากเด็กหนุ่มบ้าบิ่น แหกคอก ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับอัลเทอร์เนทิฟสุดคลั่งที่แทบจะเป็นปรากฏการณ์ของวงการดนตรีในยุคนั้น สู่ชายหนุ่มมาดขรึม ที่นอกจากริ้วรอยบนใบหน้า ผมเผ้าที่ข้ามผ่านเวลา หรือความเรียบเท่ในเครื่องแต่งกายที่เห็นแล้วอดแซวไม่ได้ว่าเป็นนายแบบให้แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นชื่อดังยี่ห้อนั้นหรือเปล่า ก็มีเพลงจากงานชุดล่าสุดนี่แหละที่เป็นเครื่องพิสูจน์การเติบโตของผู้ชายกลุ่มนี้
วันที่ 11 พฤษภาคม Arctic Monkeys กลับมาแล้วกับ Tranquility Base Hotel & Casino สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 หลังจากที่ปล่อยให้นั่งรอมาเดือนกว่า ๆ (ก่อนหน้านี้มีบางคนได้ฟังไฟล์ที่หลุดรอดมาจากมุมมืดของอินเทอร์เน็ต แต่เราอดใจรอ official หวังจะได้ฟังไฟล์ที่คุณภาพดีกว่า) เราก็ไม่รอช้ารีบเข้า Spotify ไล่ฟังตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย
ทันทีที่กดเล่นเพลง Star Treatment แทร็คแรกของอัลบั้มก็ต้องบอกว่า ‘ยอมเธอตั้งแต่เปียโนติ๊งแรก’ ความรู้สึกนี้ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะบรรยากาศของเพลงนี้ทำให้เรานึกถึงความลุ่มลึกแบบอัลบั้มล่าสุดของ The Last Shadow Puppets และความสวยงามราวต้องมนต์ของเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Submarine’ เราต้องอ่อนระทวยไปกับการทอดเสียงขับกล่อมสุดเซ็กซี่ที่ร้องคลอไปกับดนตรีเปียโนบัลลาด กึ่ง chamber music กึ่ง muzak ที่แม้คุณ ต่อ คันฉัตร จะบอกว่าเหมือนเพลงที่เปิดในลิฟต์โรงแรม แต่เราก็อดไม่ได้จริง ๆ ที่จะเผลอโยกตามไปกับจังหวะเนิบนาบเย้ายวนนี้ แล้วอัลบั้มนี้ก็สามารถเรียบเรียงการเชื่อมจากเพลงหนึ่งสู่อีกเพลงได้อย่างแนบเนียน เราแทบไม่รู้สึกถูกขัดจังหวะจากความเงียบระหว่างแทร็คแม้แต่น้อย ซึ่งการมาถึงของเพลงที่สอง One Point Perspective ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะต้องรักอัลบั้มนี้แน่ ๆ กับเมโลดี้สุดงดงาม พร้อมกับเซอร์ไพรส์โซโล่กีตาร์ไฟฟ้าที่ซาวด์แปร่งผิดที่ผิดทาง แต่กลับลงตัวในดนตรีนุ่ม ๆ อันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเพลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ แถมซ่อนไลน์เบสสุดน่ารักไว้ภายใต้เสียงซินธ์อันละเมียดละไมได้อย่างกลมกลืน ก่อนจะส่ง American Sports เข้ามาให้ฟังต่อแบบไม่ทันตั้งตัว การบรรเลงคีย์บอร์ดที่เสียงละม้ายคล้ายฮาร์ปซิคอร์ดทำให้นึกถึงดนตรีบาโร้ก ระคนกับสไตล์ดนตรีไซคีเดลิกจากกลองและเมโลดี้เบสหนึบหนับ ที่สามารถโยงมาต่อกับเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งเรารู้สึกว่าเพลง Tranquility Base Hotel&Casino นี่มันโคตรจะ post-Arctic Monkeys-ish จะเป็นยังไงต้องลองไปฟังเอง ส่วนเพลงต่อไป Golden Trunks ที่ขึ้นมาด้วยกีตาร์ทื่อ ๆ ดนตรีดาร์ก ๆ การประสานเสียงที่ยิ่งขับเน้นความพิศวงงงงวยราวกับหลุดมาจากมิวสิคัลหลอนอย่าง ‘The Phantom of the Opera’ แต่ตอนท้ายก็เผยไต๋ออกมาว่าตัวเองเป็นเพลงที่น่ารักเมโลดี้ไพเราะขนาดไหน
เราขอสปอยล์ผู้อ่านแค่ครึ่งอัลบั้ม อยากให้ได้ลองฟังกันดูแล้วมาบอกหน่อยว่ารู้สึกยังไงกันบ้าง แต่สำหรับเราตอนนี้ฟังวนมาเป็นรอบที่สามแล้วตั้งแต่ช่วงเช้า บอกได้แค่ว่าอีกหกเพลงที่เหลือทั้ง Four Out Of Five, The World’s First Ever Monster Truck Front Flip, Science Fiction, She Looks Like Fun, Batphone และ The Ultracheese นี่เราชอบหมดเลย ถึงเพลงเหล่านี้จะไม่โฉ่งฉ่างหรือโยกจนคอหลุด แต่มีความเก๋าเกมที่เท่เหลือร้ายจากการมิกซ์ เรียบเรียง ลูกล่อลูกชนแพรวพราวและกลิ่นอายที่นำความร่วมสมัยไปอิงกับดนตรียุคเก่า ถ้าให้จำกัดความ Tranquility Base Hotel&Casino คงเปรียบได้กับผู้ชายสูงวัยทรงเสน่ห์ที่ทำให้เรายอมตกเป็นทาสรักแบบไม่ลืมหูลืมตา
ว่ากันตามตรง ยังจำช่วงที่อัลบั้ม AM (2013) หรือ Suck It and See (2011) ถูกปล่อยออกมาแรก ๆ แล้วแฟนเพลงหลายคนรวมถึงเรารู้สึกหงุดหงิดกับแนวดนตรีที่เปลี่ยนไป ถึงขั้นแบนและก่นด่าพวกเขา ไม่ยอมฟังชุดนั้นและหยีทุกครั้งที่เพลง Do I Wanna Know? ถูกเปิดที่ไหนก็ตาม แต่เมื่อเราเปิดใจกับความเปลี่ยนแปลงของวงดนตรีที่เลือกหนทางเดินใหม่ที่ใช่สำหรับพวกเขาในวัยนี้ ก็เกิดการยอมรับได้และค้นพบว่าแนวเพลงใหม่ที่พวกเขาทำออกมาก็ไม่ได้แย่แม้แต่น้อย ไป ๆ มา ๆ ก็ปรับหูได้ และกลายเป็นว่าชอบทั้งสองอัลบั้มไปแล้ว หรือแม้กระทั่งอัลบั้มชุดล่าสุดนี้ เชื่อว่าหลายคนก็ผิดหวังเพราะอยากให้พวกเขากลับมาทำอะไรหนัก ๆ เสียงดัง ๆ กระโดดโลดเต้นได้แบบ Whatever People Say I Am, That’s What I’m Not (2006), Favourite Worst Nightmare (2007) หรือ Humbug (2008) แต่เมื่อคนคนนึงโตขึ้น รสนิยมหรือความคิดก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา วงดนตรีเองก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่กับ Arctic Monkeys แต่ตัวเราเองที่เป็นแฟนเพลงยังไม่เหมือนเดิม ซึ่งส่วนตัวเราแล้วการได้ฟังอัลบั้ม Tranquility Base Hotel & Casino อัลบั้มใหม่ในรอบ 5 ปี ในวัยที่เราต่างเติบโตขึ้นจนเข้าใจและยอมรับในความเปลี่ยนแปลง ลองมองกันที่ตัวดนตรีจริง ๆ และพยายามไม่ยึดติดกับงานที่ผ่านมา ก็ทำให้เราตกหลุมรักพวกเขาอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกหลาย ๆ ครั้ง /กดเล่นซ้ำวนไป
ฟังอัลบั้ม Tranquility Base Hotel & Casino ของ Arctic Monkeys บน Spotify ได้ ที่นี่