Article Story

ความฝันในยุค 80s : จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เรายังจะอยากเป็นศิลปินที่โด่งดังกันอีกหรือเปล่า

  • Writer: รัชพงศ์ โอชาพงศ์

บ้านเราอยู่คู่ความดราม่าในทุกวงการ เวลาเราดูประกวดร้องเพลง มักจะมีผู้เข้าประกวดอย่างน้อยสัก 1 คน ที่จะบอกว่า สมัครเข้าประกวดร้องเพลงรายการนี้เพราะอยากเป็นนักร้องจะได้เอารายได้จาการร้องเพลงไปรักษาแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ภาพเหล่านี้ผ่านตาท่านผู้ชมทางบ้านจนชาชิน ผมเองนั่งดูแล้วก็เกิดความรู้สึกอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือสงสัยว่าประเทศนี้ดูแลประชากรผู้เสียภาษีอย่างไร แต่เรื่องนี้คงไม่เหมาะที่จะมาพูดในนี้ เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ รายได้จากการเป็นนักร้องมันมากขนาดรักษามะเร็งให้แม่ได้เชียวหรือ

จากการคลุกคลีตีโมงกับแวดวงการผลิตศิลปินราว ๆ สิบกว่าปี เคยได้ยินคนเก่า ๆ ที่ทำงานเบื้องหลังวงการเพลงไทยนั่งคุยกันถึงเรื่องอดีตในสมัยที่วงการเพลงไทยเฟื่องฟู คนทำงานมีรายได้จากเงินเดือน (ที่เยอะจนเลี้ยงชีพได้) และยังมีค่าแต่งเพลงให้ถ้าเพลงที่เราแต่งผ่านการพิจารณา แถมยังมีเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากการขายเทปถึงแม้จะเป็นแค่ม้วนละ 10 สตางค์ต่อเพลงก็เถอะ แต่ลองคิดดูว่าอัลบั้มที่ขายไม่ค่อยได้ จะอยู่ที่ประมาณสองถึงสามแสนม้วน (ขายไม่ดีนะ อันนี้คือขายไม่ดี) แตกต่างกับการขายซีดีในยุคปัจจุบันถ้าใครขายได้ สามแสนแผ่นนี่คงปิดซอยฉายหนังกันเลยทีเดียว ส่วนนักร้อง ไม่อยากคิดว่านักร้องจะมีรายได้เท่าไหร่ ขายเทปได้ม้วนละ 2 บาท ค่าร้อง ค่าโชว์ตัว เดือน ๆ นึงไม่ต้องเล่นหลายที่ก็มีเงินใช้ แต่ทั้งหมดมันเกิดตั้งแต่ในยุค 80s ช่วงที่วงการเพลงไทยเฟื่องฟูขนาดดาราที่ดัง ๆ ยังต้องมาร้องเพลงกันแทบทุกคน

แต่โหมดพระอาทิตย์ตกก็เดินทางมาถึง เราเริ่มนับตั้งแต่นวัตกรรม MP3 ถือกำเนิดขึ้น การปรับตัวครั้งแรกของวงการอุตสาหกรรมเพลงคือการทุ่มตลาดปล่อยอัลบั้มเดือนละเป็นสิบ ๆ อัลบั้ม และลดราคาซีดีลง (เริ่มที่โลโซอัลบั้มปกแดงจากสองร้อยกว่าบาทเหลือแผ่นละร้อยกว่า ๆ) แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น รายได้จากซีดีลดลงเรื่อย ๆ สู่ยุคที่รายได้หลักคือการดาวน์โหลดควบคู่กับการแสดงสดตามร้านเหล้า

ทุกอย่างแย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันแม้แต่การดาวน์โหลดก็เอาไม่อยู่เสียแล้ว รายได้ส่วนใหญ่ที่เป็นเนื้อเป็นหนังจะอยู่ที่การแสดงสด ไอ้จะหวังกับยอดวิวใน YouTube ก็ต้องเป็นล้าน ๆ ถึงจะได้เงินคุ้มกับค่าห้องอัด แม้ว่าการเล่นสดตามร้านเหล้าจะเบ่งบานแต่ถ้าเราลองไปนั่งนับดูจะพบว่ามีวงแค่ไม่ถึง 10% ของนักร้องนักดนตรีทั่วฟ้าเมืองไทยที่มีงานเล่นอย่างสม่ำเสมอ แล้ววงที่ไม่ค่อยมีงานเล่นล่ะเขาอยู่อย่างไร

ความจริงในความจริงเหล่านี้ คือ บางวงเรียกค่าแสดงโชว์ต่อคืนไม่กี่หมื่นบาท (ช่องว่างของค่าโชว์ระหว่างวงเล็ก ๆ กับวงดัง ๆ ห่างกันประมาณ 3 เท่าคือ หกหมื่นกับสองแสนห้าหมื่นบาท)

ในขณะที่โลกหมุนไป โมเดลธุรกิจเพลงก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ผู้บริหารค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งแถวลาดพร้าวซอย 15 ถึงขั้นออกนโยบายว่า ใครอยากเป็นศิลปินหน้าใหม่ค่ายนี้ก็ลงทุนทำมาสเตอร์มาแล้วเฮียจะทำโปรโมชันให้ จนยุติการผลิตซีดีโดยสิ้นเชิง มุ่งหน้าสู่ช่องโทรทัศน์ดิจิตอลและเครื่องสำอาง ความสงสัยก็เลยเกิดขึ้นมาว่า นี่ขนาดเจ้าของค่ายยังเอาตัวไม่รอดแล้วนักร้องหน้าใหม่ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าเพลงจะดังไหม จะเอาตัวรอดได้หรือเปล่า ไหนจะต้องมาร้องเพลงเพราะจะหาตังค์มารักษาแม่ ผมแอบนึกในใจว่าบางทีถ้าน้องเล่นหวยอาจจะมีโอกาสได้เงินรักษาแม่มากกว่าหวังไปออกเทปแล้วเอาตังค์มารักษาแม่ แน่นอนว่าเราอยากให้สิ่งที่เรารักมันเลี้ยงจิตวิญญาณเราและเลี้ยงปากท้องไปด้วย

แต่การตั้งเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (หมายถึงเราหวังจะรวยจากการเป็นศิลปิน ในยุคที่เฮียฮ้อกะอากู๋ยังไม่มีความหวังว่าจะทำเงินจากเพลงเลย) จะเป็นการหลอกตัวเองหรือเป็นการปลุกใจเราให้รีดเค้นพลังจนหยดสุดท้ายเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

เขียนมาถึงตรงนี้ก็แค่อยากจะให้ทุกท่านลองตั้งเป้าหมายในการฝึกเล่นดนตรี ฝึกร้องเพลงโดยลองตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองก่อนว่า “เราอยากเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะอะไร ถ้าดังแล้วไม่รวยเรายังอยากจะดังไหม อะไรคือความสุขในการสร้างสรรค์เพลง” ยุคนี้คือปี 2017 ไม่ใช่ 1980 แล้วนะ

Facebook Comments

Next:


รัชพงศ์ โอชาพงศ์

เป็นมนุษย์ที่ทำงานสองด้าน ด้านนึงก็เป็นนักแต่งเพลงเริ่มต้นที่สังกัด Music Bugs ในยุคที่บอดี้สแลมกะบิ้กแอส ออกไปเรียบร้อย (แต่ยังทันแต่งให้วงลาบานูน) อยู่ในยุคที่เขาทำเพลงแนว อีโม พังค์ แต่งให้ทั้ง Oblivious,Ritalinn,Harem Bell จนกระทั่งลาบานูนออกก็ออกบ้าง ย้ายไปแต่งเพลงที่ค่าย Mono Music แต่งเพลงให้กับ Girl Group ของค่าย ทั้งG-Twenty,Candy Mafia ในขณะที่ทำงานด้านเพลงไปอีกด้านหนึ่งก็ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วยเพราะทำมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย เกิดความสงสัยตั้งแต่เด็กๆว่าทำไมบ้านเราถึงมีแต่เพลงรักๆช้ำๆ หรือเพลงที่พูดแต่เรื่องตัวเอง เลยออกจาก Mono Music (หลังจากนั้นเขาก็เลิกจ้างยกทีมผลิตเพลงเพราะจะเปลี่ยนเอาทีมอื่นมาทำ) มาทำค่ายเพลงไม่แสวงกำไร Triple H Music ทำเพลงเน้นเนื้อหาสะท้อนการเมือง เศรษฐกิจ สังคม