6 ตุลาคม 2519 เพื่อนเอ๋ย พรู PRU

Article Story

‘เพื่อนเอ๋ย’ PRU เมื่อบทเพลงส่งสาส์นถึงประวัติศาสตร์ที่บางคนไม่อยากให้จดจำ

  • Writer: Montipa Virojpan

6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่หลายคนเคยให้ข้อมูลว่า ‘ไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้’
จนเมื่อเวลาล่วงเลย เมื่อสองปีก่อนนับเป็นวันครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงที่ข้อมูลข้อเท็จจริงและข้อมูลผู้เสียหายซึ่งเคยถูกปกปิดอยู่ในระหว่างการรวบรวม จนค่อนข้างสมบูรณ์ครบถ้วนและเริ่มถูกเผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมากครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ผ่านเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา‘ และ facebook fanpage ชื่อเดียวกัน รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลของคนรู้จักที่รู้สึกได้เลยว่า ทั้งตัวเองและอีกหลาย ๆ คนคงได้รู้และเห็นอะไรมากขึ้นแบบที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน (ขอบคุณที่นอกจากว่าเรามีอินเทอร์เน็ต ยังมีแรงบีบคั้นจากสังคมและรัฐที่ทำให้เกิดความสงสัย จนเริ่มมีความกล้าที่จะค้นลึกลงไปในแหล่งข้อมูลที่เมื่อก่อนเชื่อว่าสุ่มเสี่ยง รวมทั้งสื่อทางเลือกอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจ ตระหนัก และนำเสนอเรื่องที่หลาย ๆ คนอยากทำให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างจริงจังสักที) จนเมื่อกี้ก็นึกขึ้นได้ว่าเคยดูมิวสิกวิดิโอตัวนึงตอนเด็ก ๆ แต่ไม่เคยเข้าใจเรื่องราวในนั้น แค่นึกว่าเป็นวิดิโอเก่า ๆ ให้เห็นชีวิตสนุกสนานของวัยรุ่นยุคนั้น แต่พอกลับมาดูมาฟังอีกทีก็ไม่รู้ว่าน้ำตาพรั่งพรูมาจากไหน
6 ตุลาคม 2519
เพลง เพื่อนเอ๋ย ของวง Pru ฟังเผิน ๆ ก็ดูจะเป็นเพลงให้กำลังใจที่ดีมาก ๆ เพลงนึง แต่พอได้ฟังประกอบกับดูงานนี้กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับเรื่อง ‘Hi-So’ และ ‘Wondeful Town’ ที่เขาใส่ฟุตเทจวิดิโอการใช้ชีวิตที่มีสีสันของวัยรุ่นสมัยก่อนที่ตัดมาจาก source ต่าง ๆ จากที่ชีวิตกำลังมีแต่เสียงหัวเราะและความชื่นมื่น จนมีภาพช่วง 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏขึ้น การตีความในเพลงนี้ของเราก็เปลี่ยนไป ทั้งที่ภาพนั้นคือชัยชนะของคนรุ่นใหม่ที่สู้เพื่อความชอบธรรม (เหตุการณ์นั้นเป็นการลุกฮือของประชาชนจำนวนมากเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก) แต่เรากลับร้องไห้ออกมา เราร้องไห้ให้กับความกล้าหาญของวัยรุ่นกลุ่มนั้น ร้องไห้ให้กับความโหดร้ายที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกในสามปีต่อมา (6 ตุลาคม 2519 ) ซึ่งเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่หลายคนพยายามปิดหูปิดตาปิดปากราวกับสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง และร้องไห้ให้กับสิ่งที่หลาย ๆ สังคมกำลังเผชิญ มันคือความสิ้นหวัง แต่ขณะเดียวกันก็มีหวัง
เอาจริงว่าเพลงและภาพใน mv เพื่อนเอ๋ย ทำให้เรารู้สึกมีหวังมากขึ้นกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ดูไร้ทางออก ถ้าเรา ‘เข้าใจในทางที่เดินอยู่ และแน่ใจว่ามันถูก’ แบบในเนื้อเพลงอาจจะไม่เพียงพอนัก อย่างที่ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วว่าสื่อคือตัวกลางสำคัญที่นำเสนอข้อมูลให้ประชาชน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากให้มีสื่อที่สร้างความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น เพราะเท่าที่เห็นก็ยังมีคนปิดใจ ไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องนี้อีกมาก เพราะก็ถูกประโคมด้วยอคติหรือปลุกระดมความเกลียดชังแบบยุคนั้นไม่มีผิด (คนเห็นต่างในเหตุการณ์นั้นถูกผลักให้กลายเป็นกบฏ คอมมิวนิสต์ ผลาญชาติ แม้แต่คนในครอบครัวยังแจ้งจับลูกแท้  ๆ ของตัวเองได้) ยิ่งสมัยนี้ข้อมูลถูกแพร่กระจายทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วก็ยิ่งสามารถสร้างความเชื่อผิด ๆ ได้ง่ายขึ้นหากผู้รับสารไม่มีการคัดกรองข้อมูลที่ได้รับให้ดีก่อน คนที่เคยโดน unfriend จากสเตตัสที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็มีให้เห็นอยู่บ่อย
 
ถ้าพูดกันตรง ๆ ไม่ได้ ค่อย ๆ ซึมเข้าไปก็ยังดี อย่างเพลงและ mv นี้ก็เป็นอีกวิธีที่ดีเหมือนกัน มันอาจจะไม่ได้สื่อสารกับเราตรง ๆ ถึงเรื่องนั้น แต่เพราะมันเป็น pop culture เป็น medium มันอยู่ของมันมานานเป็นคลื่นใต้น้ำ รอให้มีคนสนใจและกลับไปหวนถึงมัยอีกครั้งแบบที่ใช้ได้ผลกับเรา อย่างตอนหลังก็มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวออกมาบ้าง เช่น ‘October Sonata’ หรือ ‘ดาวคะนอง’ ออกมาให้ผู้ชมได้ซึมซับเรื่องราวนั้นในอีกแง่มุม และเพื่อไม่ทำให้ใครลืมเลือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ร่วมกัน
 
การคุยกับอาจารย์ที่เคยสอนเราที่คณะเมื่อวานก็บอกว่าเด็กมัธยมสมัยนี้ก็เริ่มสนใจใส่ใจการเมืองมากขึ้นแล้ว เราก็พออุ่นใจที่อนาคตของบ้านเรายังพอมีหวังบ้าง จากการที่มีทั้งนักเคลื่อนไหว สื่อทางเลือกต่าง ๆ ที่เริ่มตีแผ่เรื่องราวออกมาแม้จะเป็นเพียงพื้นที่สีเทา ยังไม่สามารถฉายให้แจ่มชัดได้ตามขอบเขตความสามารถที่พวกเขามี ไปจนถึงพรรคการเมืองใหม่ที่พอจะเป็นความหวังใหม่ให้ประชาชนได้
อีกครั้ง อย่างที่พี่น้อยบอกว่า ‘เข้าใจในทางที่เดินอยู่ และแน่ใจว่ามันถูก ก็พอ’ ถ้าเชื่อ แล้วลงมือทำ ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม ถึงช้าหน่อยแต่อย่างน้อย ๆ เราก็ทำมันแล้ว
 
(ดัดแปลงจากต้นฉบับ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 7 ตุลาคม 2016)

เพลงเพื่อชีวิตจากป่าเขา สะท้อนเรื่องราวชีวิตคนยุคปฏิวัติ

Iranian Revolution ความเรืองรองของดนตรีที่หายไปกว่า 40 ปีหลังการปฏิวัติ

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้