11 ร้านที่มีอิทธิพลต่อวงการอินดี้ไทย
- Writer: Montipa Virojpan
ทุกแวดวงหรือธุรกิจต่าง ๆ ที่มีขนาดย่อมมักจะมีความเป็น community อยู่เนือง ๆ ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะทางแบบเดียวกัน ได้ร่วมสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อแบ่งปันกันเสพในวงแคบ ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่คาดหวังจะแบ่งปันความสนใจนี้ไปในวงกว้างกว่าเก่า ซึ่งแน่นอนว่าแวดวงเหล่านี้จะไม่สามารถขับเคลื่อนหรือขยายต่อไปได้ถ้าขาดการสนับสนุนช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการอินดี้แล้ว การขับเคลื่อนส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องความสัมพันธ์เชิงบุคคลมาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ในที่นี้เราหมายถึงผู้สร้างผลงาน ผู้ฟัง โปรดิวเซอร์ ค่ายเพลง สถานที่จำหน่าย หรือสถานที่สำหรับแสดงสด ที่ทุกคนในวงจรนี้จะต้องมีความเกี่ยวข้องกันโดยแยกขาดออกจากกันทีเดียวไม่ได้
สำหรับในบ้านเราแล้วเนี่ย เราก็สังเกตเห็นคอมมิวนิตี้เล็ก ๆ อบอุ่นหลายแห่งที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุน สร้างโอกาสให้กับวงดนตรีได้มีพื้นที่แสดงผลงานอย่างต่อเนื่อง แม้บางที่จะไม่ได้ดำเนินกิจการต่อแล้ว แต่พวกเขาก็เคยมีบทบาทที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับแวดวงนี้มาก่อน เราจะพาไปย้อนอดีตและสำรวจเหล่ามิตรสหายแห่งวงการอินดี้ที่ยังหลงเหลืออยู่กัน
น้อง ท่าพระจันทร์
กว่า 30 ปีที่ร้านขายเทป ซีดี และแผ่นเสียงคู่ใจชาวท่าพระจันทร์เปิดให้บริการกันมา แม้จะมีการย้ายทำเลที่ตั้ง แต่รุ่นใหญ่ไปจนถึงรุ่นเล็กต้องได้แวะเวียนมาที่ร้านเทปนี้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งช่วงหลังมานี้พวกเขาก็ได้ขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงพร้อมอุปกรณ์ดูแลรักษา แฟน ๆ สามารถแวะมาซื้อแผ่นของวงดนตรีนอกกระแสได้ที่นี่ รวมไปถึงสามารถดู live session กันภายในร้านได้อีกด้วย อย่างคราวก่อนนู้นเราก็เคยมาดู Abstraction XL ที่นี่ หลายคนคงสงสัยว่าร้านเล็กขนาดนั้นแล้วเขาจะเล่นกันยังไง คำตอบคือคนดูก็ยืนอยู่ในร้านบางส่วน และอออยู่รอบ ๆ ร้าน ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ถ้าไม่เชื่อไว้งานหน้ามาลองดูกันได้ อบอุ่นดีเชียวล่ะ
Harmonica
ร้านเล็ก ๆ ของ พุธ Wednesday ที่ซ่อนตัวอยู่ใน Ozono ใกล้ถนนเพชรบุรีนี้ เคยเป็นสถานที่ที่ให้วงเล็ก ๆ สายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น post rock, hard core, math rock มาจัดเฟสติวัลขนาดย่อม ทั้งยังเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของหลายวงดนตรีและแฟนเพลงได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างอบอุ่น หรือแม้กระทั่งวงต่างประเทศฝีมือจัดจ้านอย่าง Deerhoof ก็เคยแสดงสดที่นี่มาแล้ว แต่น่าเสียดายที่ Harmonica ปิดกิจการไปเมื่อประมาณสองปีก่อน ไม่เช่นนั้นเราคงจะมีพื้นที่ดี ๆ ให้ไปเสพดนตรีท่ามกลางกลุ่มผู้ชมคุณภาพที่หลงรักในเสียงดนตรีไม่ต่างจากพวกเรา แต่ที่น่าดีใจอย่างนึงคือแม้ร้านจะปิดไปแล้ว แต่แฟนเพจของร้านยังคงนำเสนอเรื่องราวดี ๆ แชร์อีเวนต์ และข้อมูลที่น่าสนใจในวงการอย่างสม่ำเสมอ
Cosmic Cafe
ย้อนกลับไปประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว คงมีคนฟังเพลงนอกกระแสน้อยคนนักที่ไม่เคยไปร้านกึ่ง open air ย่าน RCA ร้านนี้เป็นแน่ Cosmic Cafe เจ้าของเดียวกับ Moose Ekamai (ที่ปิดกิจการตามกันในเวลาหลายปีต่อมา) ถือว่าเป็นแหล่งขับเคลื่อนเพลงนอกกระแสที่เหนียวแน่นมากในช่วงยุคนึง เพราะเพลงส่วนใหญ่ที่เปิดในร้านก็เป็นเพลงยุค 90s Brit Pop อินดี้ร็อกร่วมสมัย หรือมีดีเจสายลึก สายทดลองมาบ้างเป็นครั้งคราว พร้อมอีเวนต์ที่ทำให้คอเพลงอินดี้ต้องแวะเวียนไปอยู่เสมอ อย่างเช่นงาน Tiger Translate ที่จัดงานแทบทุกเดือน รวมถึงเป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตวงเล็กวงใหญ่ทั้งไทยและเทศ Lucy Suicide, DCNXTR, Mac DeMarco, Cloud Nothings ก็เคยมาเหยียบที่นี่แล้ว
Sol Space
แม้จะมีหลายคนบ่นอุบถึงการเดินทางที่ค่อนข้างลำบากและหลงทิศกันเป็นประจำ แต่ Sol Space แถวเลียบด่วน รามอินทรานี้ เป็นเหมือนตลาดคนดนตรี และสเปซสำหรับจัดแสดงงาน และคอนเสิร์ต ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นงานของค่าย SO::ON Dry Flower เพราะเจ้าของคือคุณโคอิชิ ชิมิสึ นั่นเอง แต่ด้วยขนาดกระทัดรัด และบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน มีสวนร่มรื่น อบอุ่นนี้ก็ทำให้ทุกงานที่จัดมีความน่าสนใจอยู่เสมอ ทั้งงาน PAST.TELL ที่เพจ I Use Film เคยมาจัดนิทรรศการภาพถ่ายร่วมด้วยคอนเสิร์ตโฟล์กสบาย ๆ และงานดิบอย่าง Dirty Beaches ที่มีพราย ปฐมพร มาเล่นเปิด ก็ยังจัดมาแล้ว เรียกว่าเปิดกว้างสำหรับทุกแนวเพลงจริง ๆ
1979 Vinyl and Unknown Pleasures
ร้านขายไวนิลที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยทองหล่อ ตั้งอยู่บริเวณชั้นบนของร้านตัดผมของหนุ่มเนี้ยบอย่าง Black Amber และ workshop เครื่องประดับของพิม Yellow Fang ซึ่งทางร้านเขามีขายทั้งไวนิลมือสองและของใหม่แกะกล่อง รวมไปถึงเครื่องเล่น Crosley ด้วย แต่ก่อน ร้านนี้มักจะจัด afternoon session อยู่บ่อย ๆ แต่ช่วงหลังมานี้ค่อนข้างเงียบหายไป ซึ่งเราก็เสียดายอยู่เหมือนกัน หวังว่าจะกลับมาจัดอีกเร็ว ๆ นี้ เพราะก่อนหน้าก็มีทั้งวงอย่าง Triggs & the Longest Day หรือ Basement Tape มาเล่น ให้บรรยากาศแบบคอมมิวนิตี้เด็กบริทป๊อปอย่างแท้จริง
Studio Lam
ยังอยู่กันที่โซนทองหล่อ กับร้านสุดเท่ของดีเจ Maft Zai ที่ไม่ได้มีดีแค่การตกแต่งแบบอีสานร่วมสมัยจากระแนงไม้ไผ่และสีเทอร์ควอยซ์ของผนังร้าน แต่ยังมียาดองสูตรพิเศษให้จิบกันคนละกรึ๊บ หรือจะผสมเป็นค็อกเทลดื่มเก๋ ๆ ก็ได้ ข้าง ๆ กันมีร้านขายแผ่นเสียง Zudrangma Records ให้ไปเลือกหาแผ่นเพลงไทยฟังก์หายากกันด้วย สำหรับงานที่จัดในร้านนี้ส่วนมากก็จะเป็นดีเจที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเอาคอลเลกชันแรร์ ๆ ทั้งฟังก์ โซล แจ๊ส ฮิปฮอป เร้กเก้ หรือ world music ทั้งแอฟโฟร ละติน ญี่ปุ่น 80s มาเปิด หรือทุกคืนวันพุธจะมีวงมาเล่นสด โดยมากจะเป็นวงที่มีซาวด์ exotic เปี่ยมเอกลักษณ์ทั้งสิ้น ทั้ง Paradise Bangkok Molam International Band, Siang Hong Lions, Yaan, Rasmee, Chladni Chandi ใครอยากลองสีสันใหม่ ๆ ของดนตรีพื้นบ้านซาวด์เวิร์ล ๆ ที่นี่ก็เหมาะนักแล
Play Yard by Studio Bar
นอกเหนือไปจากหมูกรอบ และผักกาดดองอันเลื่องชื่อแล้ว ร้านเพลย์ยาร์ด ย่านลาดพร้าว ก็เป็นอีกสถานที่ที่วงดนตรีเล็ก ๆ หลายวงจะได้มีโอกาสมาทำการแสดงกันเป็นประจำ ซึ่งในเวลาต่อมา วงเหล่านั้นก็เติบโตกลายเป็นวงชื่อดังกันมากมาย รวมถึงเป็นร้านที่เปิดโอกาสให้โปรโมเตอร์หน้าเก่าและหน้าใหม่มาจัดงานอินดี้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงาน Get Out From En Circle, Black Meadows หรือ ฟังใจมัน เราก็จัดกันที่นี่นาจา และเมื่อปลายปี 2016 ที่มีเหตุให้นักดนตรีถูกแคนเซิลงานไปหลายราย ทางร้านก็มีโครงการช่วยเหลือนักดนตรีด้วยการลดราคาอาหารและเครื่องดื่มให้แบบใจดีสุด ๆ
Jam
หลายคนชอบจำ venue นี้สลับกับ The Jam Factory ย่านคลองสาน คนละที่กันเน่อ เพราะ Jam แกเลอรี่ขนาดเล็กกะทัดรัดประมาณ 15 คนยืนนี้ตั้งอยู่บริเวณซอยข้างทางด่วนตรงแยกสุรศักดิ์ หรือจะเรียกว่าซอยโรงน้ำแข็งก็ไม่ผิดนัก นอกจากจะมีเบอร์เกอร์สุดอร่อยให้ได้ชิมแล้ว ทั้งชั้นบนและชั้นล่างเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะ และด้านล่างก็มีพื้นที่สำหรับให้ดีเจหลากแนว หรือวงดนตรีนอกกระแสมาเล่นที่นี่ได้เสมอ ๆ นอกจากวงสายทดลองและสายลึกทั้ง Plern Pan Perth, Stylish Nonsense, Hariguem Zaboy ที่เคยมาเล่นที่นี่ ก็มีวงจากเดนมาร์กอย่าง Marching Church มาเล่นด้วยเช่นกัน และในคืนอื่น ๆ ก็มีกิจกรรมเล่นเกม 8-bit แลฉายหนังหาดูยากฟรีอีกด้วย
Soy Sauce Bar
อีกร้านที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ Soy Sauce Factory ที่เป็นแกเลอรี่สไตล์ลอฟท์ดิบ ๆ ได้รับการรีโนเวทจากโรงซีอิ๊วเก่าโซนตลาดน้อย ล่าสุดเขาได้ขยายไลน์ธุรกิจมาเป็นบาร์แบบชัด ๆ กันแล้ว จากที่ก่อนหน้าเคยมีแก๊ง Conflakes มาจัดธีมคอนเสิร์ตน่ารักกิ๊บกิ้วไปแล้ว ยังมีงานอิเล็กทรอนิก Delicate Decibel ที่มาจัดที่นี่ จนภายหลังก็เริ่มมีงานที่ทางร้านจัดเองตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากที่เห็นจะเป็นวงร็อกสายเดือด Degaruda, Brand New Sunset และจะมีวงที่มาเล่นอยู่บ่อย ๆ อย่าง Jinta นั่นเอง
Speakerbox
ถ้าใครไปเดินเล่นตลาดรถไฟรัชดาก็จะพบร้านที่ดูเหมือนเป็นกล่องเล็ก ๆ และมีวงดนตรีคัฟเวอร์อัลเทอร์เนทีฟเล่นอยู่เป็นประจำ แต่ช่วงปีที่แล้วนี้เอาที่มักจะมีงานที่ทางร้านจัดเป็นอีเวนท์ให้มีวงดนตรีนอกกระแสหน้าใหม่ ๆ มาเล่น ทั้ง Penny Time, Bomb At Track, Flammable Goods และมีการออดิชันวงดนตรีให้ผู้ชมได้ดูกันสด ๆ ตรงหน้าเป็นการวัดใจไปเลย เป็นอีกตัวเลือกดี ๆ ที่จะเปลี่ยนบรรยากาศมากินเบียร์เชียร์บอลก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าหนาว ตกกลางคืนมีลมเย็น ๆ นี่เหมาะมาก
Brownstone
เขยิบมาไกลนิดนึงสำหรับร้านสุดชิวย่านอ่อนนุช ที่นอกจากจะมีห้องซ้อมดนตรีและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแล้ว ยังมีคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นชื่อ Ageha ของฮอน Hope the Flowers อยู่ในบริเวณข้างเคียงด้วย แนวดนตรีจากที่เราสังเกตมาสำหรับ Brownstone นี้ก็จะเป็นคอมมิวนิตี้ชาวโพสต์ร็อกแห่งใหม่ เพราะจากหลายอีเวนต์ที่จัดมาก็จะพบเจอวงอย่าง Inspirative, ศิริพรไฟกิ่ง, เจี่ยป้าบ่อสื่อ, Spring Fall Sea ได้ที่นี่ แต่งานที่ผ่านมาก็มีงานที่ชวนวงอะคูสติกที่ห่างหายไปอย่าง Into the Air กลับมาเล่นด้วยเหมือนกัน เรียกว่าลมดีและเป็นกันเองเหมือนนั่งอยู่สวนหลังบ้านกันเลย
ทั้งหมดที่เราเล่ามานี้อาจจะไม่ครอบคลุมหมดทุกที่ที่เป็นพื้นที่สนับสนุนดนตรีนอกกระแส อาจจะยังมีร้านเล็ก ๆ ผุดขึ้นมาใหม่ในซอกหลืบที่เรานึกไม่ถึงหรือไม่เคยไปมาก่อน ถ้าอยากแบ่งปันให้ไปสนับสนุนกันก็สามารถทิ้งไว้ได้ในคอมเมนต์เลย และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด นอกจากว่าจะมีร้านให้เราไปเสพอะไรแบบนี้กันบ่อย ๆ แล้ว คนฟังเองก็อย่าลืมสนับสนุนผลงานศิลปินกันแบบถูกลิขสิทธิ์และไม่เกเรด้วยนะ ไปดูโชว์ก็อย่าเวียน wristband กัน (แอบได้ยินมาจากผู้จัดหลาย ๆ งาน ไม่น่ารักเลย) ช่วยกันคนละไม้คนละมือให้วงการเพลงนอกกระแสของเราเข้มแข็งและกว้างไกลยิ่ง ๆ ขึ้นไปเลย เย่