เต็มอิ่มไปกับเพลงไทยฟิวชันคุณภาพในอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรก ‘๑๐ บาท’ ของกึมดากึม
- Writer: Kunchanit Liengudom
- Photographer: Chavit Mayot
หลังจากที่เราได้เคยพูดคุยกับ กึมดากึม กันไปเมื่อสองปีที่แล้วถึงซิงเกิ้ล กำเเพงดิน, ขยะคน และ คนจนหน้ามนต์ เวลาก็เดินผ่านไปอย่างรวดเร็วจนตอนนี้อัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของพวกเขา ๑๐ บาท ก็ออกมาอยู่ในมือเราในที่สุด ด้วยส่วนผสมที่น่าสนใจของ กึมดากึม ตั้งแต่ชื่อวงที่ได้มาจากเนื้อเพลงจีน รวมถึงแนวเพลงไทยฟิวชันเนื้อหาเพื่อชีวิต ทำให้เรารู้สึกอยากติดตามทั้ง 13 เพลงในอัลบั้ม รวมถึงอีก 2 โบนัสแทร็คอย่างตั้งใจ
อาร์ตเวิร์กของอัลบั้ม ๑๐ บาท ได้รวบรวม element ความเป็นไทยต่าง ๆ ทั้ง รถเมล์ไทย, ยักษ์วัดแจ้ง, ไมโครโฟนผูกผ้าสามสี ฯลฯ และยังมีคอลลาจภาพนักบินอวกาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเป็นวิชวลไกด์ที่นำไปสู่เพลงต่าง ๆ ในอัลบั้ม แต่ที่ว่ามานี่ก็ฟังดูไม่น่าเกี่ยวกันเลย ความเป็นไทยกับนักบินอวกาศเนี่ยนะ? แต่เชื่อเถอะว่าทั้ง 15 แทร็คนี้กลมกล่อมและฟังเพลินแบบรวดเดียวจบ อิ่มคุ้มกับดนตรีแบบจัดเต็มที่มีทั้งกีตาร์ เบส กลอง คีย์บอร์ด และทรัมเป็ตผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้านของไทย
เปิดอัลบั้มด้วยซาวน์หม่น ๆ ของเพลง Sleep และดนตรีชวนลอยในช่วงอินโทร เนื้อหาเพลงพูดระหว่างการตื่นและการหลับฝัน เมื่อการตื่นขึ้นมาทำให้เราต้องพบกับความเป็นจริง ต้องทำอะไรซ้ำซากหรืออดทนกับอะไรเดิม ๆ การนอนหลับฝันต่อไปจึงดูจะเป็นทางออกเดียว ในเพลงมีดีเทลเสียงนาฬิกาปลุกประกอบเนื้อเพลงในช่วงสั้น ๆ เสียงทรัมเป็ตบรรเลงแสดงความเศร้า บาดลึก จนช่วงท้ายที่ซาวด์ดนตรีและเสียงร้องค่อย ๆ หนักขึ้น Sleep นำคนฟังไปถึงจุดพีคของเพลงพร้อม ๆ กับการระเบิดอารมณ์ทั้งหมดออกมา
พักเบรคกับ Intro ด้วยเสียงกีตาร์อะคลูสติกฟังเพลิน เสียงร้องฮัมเบา ๆ ที่คลอไปกับดนตรีทำให้เรารู้สึกสบายใจ ก่อนจะต่อเนื่องด้วย ขยะคน ที่มีเนื้อหาเพลงโดดเด่น ซึ่งหากฟังความหมายโดยตรงแล้วก็คงไปกระตุ้นให้เราคิดอะไรบางอย่างได้ในประเด็นเกี่ยวกับสังคมและความเป็นอยู่ อย่างตัวเราเองก็นึกถึงเรื่องการกินทิ้งกินขว้าง แต่พอได้ฟังท่อนฮุค ‘ขอบคุณของเหลือที่เธอให้มา ประทังชีวิตของฉัน’ ซ้ำไปซ้ำมามันกลับได้อารมณ์เสียดสีบางอย่าง ทำให้เราตีความไปถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้อีก
คนจนหน้ามนต์ แทร็คที่ยาวถึงหกนาทีสี่สิบห้าวินาที กับดนตรีโซลผสมผสานเครื่องดนตรีไทยฝั่งอีสาน พูดถึงความขมขื่นของชีวิตคนจนที่ขัดสนไปเสียหมด ฟังดูคล้ายการบ่นระบายปัญหาชีวิตให้เพื่อน ๆ ฟังกันเองมากกว่าจะเป็นการด่าทอเพราะเสียงร้องที่ฟังได้เรื่อย ๆ ของ วิว ท่อนที่(โคตร)ติดหูคนฟังอย่าง ‘คนจนหน้ามนต์ คนจนหน้าจน คนมนต์หน้ามนต์ คนมนต์หน้าจน’ ทำให้เราโยกตามและร้องคลอได้เรื่อย ๆ จนถึงช่วงครึ่งหลัง อารมณ์เพลงก็ค่อยๆพัฒนาขึ้น เสียงร้องโหยหวนระบายความคับแค้นใจประสานไปกับดนตรีร็อกจัดเต็มและเสียงทรัมเป็ตที่บรรเลงเสียดไปถึงใจ ก่อนที่องค์ประกอบทั้งหมดจะกลับมาที่เมโลดี้และซาวด์พื้นบ้านชุดเดิมช่วงเริ่มเพลงช่วยขับอารมณ์ให้ลดลงมาจนเพลงจบ
จากดนตรีน่ายักย้ายในคนจนหน้ามนต์ เปลี่ยนมู้ดมาล่องลอยไปกับ Contemporary Love ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงเสียงคีย์บอร์ดเพียว ๆ ในช่วงแรกทำให้เราจินตนาการถึงโมงยามช่วงค่ำคืน ยิ่งถ้าได้นั่งนิ่ง ๆ ฟังในห้องเงียบ ๆ โอย มันยิ่งทัช จับจิตกระทบใจจริง ๆ เสียงลีดกีตาร์ที่ขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของเพลงเหมือนเป็นการเล่าและดำเนินเรื่องราวบางอย่าง ซึ่งก็ถูกเล่าด้วยลีลาพริ้ว ๆ เรื่อยไปจนถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่อง นำไปสู่ กำแพงดิน ที่เชื่อมกันด้วยดนตรี จากภาพนามธรรมที่ยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างในแทร็คที่แล้วก็ถูกทำให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเพลงนี้ กำแพงดินบอกเล่าเรื่องราวความเริงรมย์และการเสพสุขจากความรักชั่วคราวของชายหนุ่มคนหนึ่งได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
ต่อด้วย เปิงสะเดิด ซึ่งเป็นอีกแทร็คนำร่องให้กับเพลงต่อไป แค่ชื่อเพลงก็พอจะได้ฟีลลิ่งและกลิ่นอายไทย ๆ บางอย่างแล้ว เสียงทรัมเป็ตเป็นเมโลดี้ผสานไปกับดนตรีจากวงกลองยาวทำให้เราเห็นภาพคล้ายงานฉลองประจำปี ที่มีชาวบ้านเดินแห่เรียงแถวฟ้อนรำกันอย่างครื้นเครงมาไกลๆ ต่อเนื่องกับเพลงถัดมาอย่าง ไทยบันเทิง ด้วยเสียงทรัมเป็ตเปิดตัวอลังการไปพร้อมกับกลองและซาวด์กีตาร์ มีเสียงโห่ฮิ้วรับส่งกันที่แสดงความสนุกสนานแบบไทย ๆ เนื้อเพลงพูดถึงความบันเทิงในแบบที่เราคนไทยเท่านั้นที่จะเข้าใจ ดูเป็นการปลุกใจให้รักชาติอยู่นิด ๆ เหมือนกัน โดยส่วนตัวชอบท่อนพรีฮุคที่ร้องว่า ‘เกี่ยวกับ! เกี่ยวกับ! เกี่ยวกับ! เกี่ยวกับ! เกี่ยวกับ ๆๆ…’ รู้สึกว่าคนฟังจะสามารถโยกและโพสค้างตามจังหวะได้ ไทยบันเทิงพูดถึงความสุข ความสนุกสนานแบบบ้าน ๆ ที่เราสามารถเก็บเกี่ยวมันได้ ณ ตอนนั้น ก็เหมือนกับที่เราสามารถเอ็นจอยไปกับเพลงนี้ได้ ณ วินาทีที่ฟังนั่นแหละ ยาวต่อไปกับแทร็ค ลาลาลา ที่มีจังหวะเท่ ๆ ชวนโยกตาม ‘ลาลาลาลาลา’ ที่ร้องซ้ำไปมาช่วงหลังค่อย ๆ ถูกเร่งจังหวะขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบตามไม่ทัน แต่ก็มันซะจนคิดว่าถ้าได้นำเพลงนี้ไปร้องเล่นกับเพื่อน ๆ ก็น่าจะบันเทิงแบบวายป่วงดีเหมือนกัน
ตัวผมก็เป็นแบบนี้ ‘ตัวผมก็เป็นแบบนี้จะให้พวกผมนั้นทำยังไง บางทีไม่มีแก่นสารไม่มีสัมผัสคล้องจองใด ๆ แต่ทำแล้วสบายใจ ก็ทำไปไม่ต้องสนใจใคร’
Guardian of the Galaxy แทร็ค instrumental อินโทรอีกหนึ่งแทร็คที่โคตรจะเท่ เสียงซินธ์ช่วงเริ่มเพลงทำให้เราเห็นภาพสเปซกว้าง ๆ ในอวกาศ ดาวเคราะห์หมุนเคว้งคว้าง ดวงอาทิตย์เปล่งแสงระอุ เสียงกีตาร์และคีย์บอร์ดที่เริ่มขึ้นเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นในการเดินทางออกจาก สถานีศรีวิไล ที่พาเราหลบหนีจากชีวิตเมืองแสนวุ่นวายแล้วออกไปผจญและชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ‘ข้างนอก’ ด้วยความที่เนื้อหาเพลงบางส่วนพูดถึงจุดหมายปลายทางที่อยู่ ‘นอกโลก’ บวกกับซาวน์ดนตรี neo-psychedelia ที่พอมาผสมกับเมโลดี้ร้องหรือลิกกีตาร์ทำให้เรานึกถึงวงป๊อปร็อกยุค 80s พวกนูโวหรืออะไรแบบนั้น ในช่วงพีคของเพลงทำให้เราจินตนาการภาพว่าพาหนะของการเดินทางครั้งนี้น่าจะเป็นจรวดอวกาศ ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าและพุ่งทะยานสู่โลกอีกฟากฝั่งอย่างอิสระ นำไปสู่แทร็คที่ 13 Time to Say Goodbye ที่บอกลากันด้วยเสียงทรัมเป็ต ชวนให้เราปล่อยใจตกอยู่ในความคิดและห้วงคำนึง
แต่เดี๋ยว! ยังไม่จบง่ายๆหรอก กึมดากึม ยังมีอีกสองโบนัสแทร็คซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นซาวน์แอมเบี้ยนล้วน ๆ ชื่อแทร็คว่า STU. B ชื่อเดียวกับสถานที่บันทึกเสียงเพลงในอัลบั้มนี้ ก่อนจะเซย์กู๊ดบายกัน (จริง ๆ) ด้วย แมว เพลงที่ทางวงบอกเอาไว้เองเลยว่าเป็นเพลงที่น่ารักและเรียบง่ายที่สุดในอัลบั้ม (mv เพิ่งออกมาด้วย อยากชวนให้ไปดูกัน) สไตล์การร้องและดนตรีบางส่วนทำให้นึกถึงเพลงไทยสมัยก่อนที่มีความชวนฝันอยู่น้อย ๆ ชวนเคลิ้มอยู่หน่อย ๆ เนื้อหาเพลงพูดถึงความเอาแต่ใจของสัตว์เลี้ยงขนฟูเจ้าของชื่อเพลง แต่เราเองพอได้ฟังท่อนฮุคซ้ำไปซ้ำมา ประโยค ‘แต่สุดท้ายฉันมันแค่ทางผ่านของเธอ’ ก็ทำให้เราไม่ได้นึกถึงแค่น้องเหมียวที่บ้านแล้วล่ะ
ถึงแม้ชื่ออัลบั้มนี้จะเป็นตัวเลขราคาที่น้อยเกินไปมากหากเทียบกับราคาคุณภาพของมัน แต่ ๑๐ บาท กลับเข้าถึงง่ายเหมือนการใช้เหรียญสิบหยอดตู้หมุนไข่เพื่อแลกกับสิ่งที่เฝ้ารอและคุ้มค่าแก่การครอบครองจริง ๆ