Selina and Sirinya เรียกรวมพลแฟนโฟล์กซองที่งาน Gathering in the Glen เดือนนี้
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
การกลับมาของ Selina and Sirinya โฟล์กดูโอ้เจ้าของบทเพลง เรา (Our) และ อยู่ตรงนี้แต่แสนไกล หลังจากที่ฝากความประทับใจให้แฟนเพลงเมื่อปีก่อนในงาน Still Together ที่ถือเป็นการกลับมาเล่นดนตรีด้วยกันครั้งแรกในรอบ 5 ปีของพวกเขา ในปีนี้ นที และ ราม จะไม่ปล่อยให้แฟน ๆ รอนานอีกต่อไปแล้ว พร้อมเรียกรวมพลคนรักดนตรีโฟล์กมาเจอกันที่งาน Gathering in the Glen วันที่ 16 มีนาคมนี้ เป็นงานแรกก่อนเริ่มทัวร์สี่ภาค และเราก็ถือโอกาสชวนพวกเขามาพูดคุยถึงอดีตที่ผ่านมา และงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้
รามไปทำอะไรที่อเมริกา
ราม: มีครอบครัวอยู่ที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอรีกอน คือลูกยังเล็ก แต่ก็พยายามที่จะกลับมา มีทัวร์ มีเล่น ตอนนั้นมีลูกคนแรกเกิดที่นู่น ก็เลยต้องไปทำหน้าที่พ่อ (หัวเราะ) อยู่ไปก็มีลูกคนที่สอง เลยอยู่ยาว ชุดสองก็ทิ้งห่างไป 5 ปี พอมีลูกนี่คนละชีวิตเลย แต่ก็ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น เราโตขึ้นมาก แต่เราก็เอาตรงนั้นมาใส่ในเพลง
การใช้ชีวิตอยู่ที่นู่นแรก ๆ เจออุปสรรคอะไรบ้าง
ราม: เรียกว่า struggle เลย เพราะว่าที่นี่กับที่นู่นมันคนละวัฒนธรรมเลย แต่ก็นะ เหมือนเราได้เปิดโลก เพราะตอนเราอยู่ที่นี่เราก็ไม่คิดว่าที่นู่นจะเป็นแบบตอนที่ได้มาอยู่จริง ๆ ก็ถือเป็นโชคดีได้เจออะไรเยอะมาก ได้รู้ว่าพวกศิลปินฝั่งนู้นทำงานกันยังไง ถ้าเราจะทำงานต่อก็ต้องเรียนรู้ฝั่งนู้นด้วย
แล้วได้ทำเพลงของตัวเองตอนอยู่ที่นู่นหรือเปล่า
ราม: ตอนอยู่ที่นู่นเราไม่ค่อยได้ทำ ถ้าเขียนก็จะเอามารวมเป็น Selina and Sirinya แต่ก็จะมี Thai community ที่นู่น ส่วนมากเราก็จะเอาเพลงเราไปเล่นนี่แหละ เพราะคนที่นู่นเขาก็มีวงหลายแบบ พยายามเล่นให้เข้ากับกลุ่มเขา บางครั้งเราก็เล่นเร็กเก้แต่เอาเพลง Selina and Sirinya ไปคัฟเวอร์ อาจจะเป็นโฟล์กร็อกบ้าง
ศิลปินที่นู่นทำงานต่างกับเรายังไง
ราม: เขาจริงจังมากนะ แล้วเขาไม่เล่นคัฟเวอร์เลย แต่ละวงเล่นเพลงของตัวเอง แล้วทุก ๆ คืน แต่ละ theater เขาก็จะมีวงของเขา แล้วทุกวงเต็มที่มาก ถึงจะไม่ดัง ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเต็มที่เหมือนกัน กว่าเขาจะทำงานได้ดี ๆ เขาต้องแข่งขันกันเยอะมาก อย่างคอนเสิร์ต คนมา 200-500 คน นี่ดังแล้วอะ เพราะคนติดตามก็มีหลายกลุ่ม แนวเพลงก็ต่างกัน แต่มันก็เทียบกันยาก วัฒนธรรมเราไม่เหมือนกัน
กลับมาเพราะแฟนคลับเรียกร้อง
นที: ก็มีทักมาในเพจ ในเฟซส่วนตัวบ้าง พอมีคนเรียกร้องเราก็อยากจะจัดงาน อยากเล่น เป็นแรงให้กลับมาทำเพลง
ราม: ตอนเราเล่นที่ซอยปรีดี ฯ จัดบนดาดฟ้าปราดเปรียวสตูดิโอ เวทีกางมุ้งสีชมพู แต่เราก็ไม่คิดว่าบัตรจะหมดเร็วนะตอนนั้น ก็เว้นไป 5 ปี มันก็เป็นแรงที่ทำให้เราอยากกลับมาอีกแหละ กลับมาอีกทีเมื่อปีที่แล้วที่หลักแรกบาร์ เราหวังว่างาน Gathering in the Glen นี่ต้องเป็นงานที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ถ้ามันออกมาดี ก็อยากจะพยายามทำให้ได้ทุกปี แต่อาจจะไปเล่นที่อื่น ไม่ใช่ภูเขาแล้ว แต่ก็ยังเน้นความเรียบง่ายอยู่
รู้สึกยังไงที่แฟน ๆ ให้การสนับสนุนขนาดนี้ในการกลับมาครั้งนี้
ราม: รู้สึกดี
นที: แต่ก็รู้สึกแปลก ๆ เหมือนกัน ทีแรกก็แอบกลัวว่าจะมีคนมาหรือเปล่า ทุกงานอะ แต่ก็มีแฟนเพลงยุคแรก ๆ ตามมาฟังบ้าง ส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ๆ มา
ราม: แต่ก่อนเราไปเล่นกันเป็นกลุ่มเล็ก ไม่มีคนสนใจ (นที: ไม่มีคนฟัง) แต่เราเชื่อว่าก็ต้องมีสักคนที่ฟังอยู่
แปลกใจไหมที่อยู่ดี ๆ กระแสเพลงโฟล์กกลับมาบูมอีกแล้ว
นที: อาจจะเป็นช่วงเวลาที่พอดี แล้วก็มีคนทำเพลงที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Selina and Sirinya แล้วเขาก็ทำเพลง แล้วช่วงหลัง ๆ ก็มีงานดนตรีโฟล์กเกือบทุกเดือน ก็อาจจะทำให้เป็นกระแสขึ้นมา บวกกับการฟังเพลงของวัยรุ่นยุคนี้ด้วยหรือเปล่า ไม่รู้เขาฟังอะไรกัน
สำหรับน้อง ๆ ที่เพิ่งมารู้จักวง อยากให้ช่วยเล่าที่มาที่ไปของวงหน่อย
นที: เริ่มจากเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์ที่สุพรรณ แล้วก็เล่นคัฟเวอร์เพลงร็อกด้วยกันมาเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ยังไม่ได้คิดจะแต่งเพลง แล้วพอเข้ามหาลัยก็ยังเล่นกันอยู่ แต่สมาชิกวงเดิมก็แยกย้ายกันไป แล้วเหมือนจะฟอร์มวงอีกวง แต่ก็เลิกล้มไป เหลืออยู่สองคน เลยคิดจะทำเป็นวงโฟล์กเพราะแนวการฟังเพลงก็เปลี่ยนไปด้วยเพราะโตขึ้น จากชอบเพลงพังก์ ร็อกสนุก ๆ อะไร ก็มาฟังอะคูสติกง่าย ๆ ฟังสบาย ความหมายดีมากขึ้น ก็เริ่มเขียนเพลงในช่วงนั้น
ใครที่ทำให้หันมาสนใจโฟล์กได้
นที: ช่วงนั้นหันมาฟังอะคูสติกเพราะ Iron & Wine กับ Adam Green ยุคแรก ๆ
ราม: แต่จำได้ว่ามีช่วงนึงของ The Libertines ที่เขามาทำอะคูสติก อันที่เป็น Pete Doherty คนเดียว เราก็รู้สึกว่า เออ มันก็ได้นี่หว่า
นที: เออ ใช่ จริง ๆ เรามาเป็นอะคูสติกจากวงร็อกที่เราฟังแล้วตอนหลังเขาเปลี่ยนมาเล่นอะคูสติก The Kooks อะไรพวกนั้น แล้วก็เลยมาชอบอะคูสติก แล้วหาเพลงอะคูสติกจริง ๆ ฟัง
ราม: ก็เลยลงลึกไปพวก Bob Dylan, Neil Young อะไรเก่า ๆ
รู้สึกยังไงเวลาที่คนพูดถึงวงโฟล์ก อะคูสติก วงแรก ๆ ในไทยแล้วคนจะนึกถึง Selina and Sirinya เป็นวงแรก ๆ
ราม: อาจจะเป็นช่วงเวลาที่มันพอดีด้วยมั้ง
นที: ตอนนั้นมันไม่ค่อยมีวงอะคูสติก วงโฟล์กเลย เราทำอยู่สักพักนึง (ราม: มีพี่จีน มหาสมุทร) Little Fox ก็เลยเหมือนมีแนวร่วม แกเป็นแรงบันดาลใจของเราด้วย ก็ฟังเพลงแกมาเรื่อย ๆ ณภัทร สนิทวงศ์ เราก็ชอบเพลงเขาเหมือนกัน
ทำไมถึงเอาชื่อแฟนมาตั้งชื่อวง
ราม: เหมือนเราได้แรงบันดาลใจมาจากวงฝรั่ง เป็นชื่อสองคน Belle & Sebastian แล้วทีนี้ก็คิดว่ามันพ้องกับชื่อแฟนของพวกเราด้วย
นที: ตอนนั้นพยายามหาชื่อที่มีความหมาย เราก็เลยคิดว่า คนรักก็มีความหมายไง แล้วมันเป็นตัว s พอดี
บรรยากาศของคนที่ไปดูงานโฟล์กสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกันยังไงบ้าง
นที: การดูคอนเสิร์ตอะคูสติกไม่ต่างกันเท่าไหร่
ราม: แต่มันได้คนละอารมณ์มั้งนะ ด้วยความหมายที่พวกเราพยายามนำเสนอ เวลาเราจัดงานก็อยากจะให้มันเป็นอะไรที่สงบ เงียบ ให้คนดูตั้งใจฟัง ในเพลงของเรามันจะออกไปทางธรรมชาติ เรื่องราวจะไปทางนั้น
โฟล์กของ Selina & Sirinya ต่างจากวงอื่น ๆ ยังไง
นที: เราจะพยายามไม่จำกัดความ ถ้ารู้สึกอะไร คิดอะไรได้ตอนนี้จะทำออกมา เหมือนอยากให้คนฟังจำกัดเองมากกว่า เพราะเราไม่รู้เหมือนกันว่าจะบอกยังไง
ราม: ช่วงแรก ๆ ที่เราทำเพลง She หรือ If ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้จำกัดว่าเป็นโฟล์กมากขนาดนั้นนะ พยายามทำให้เป็นโฟล์กร็อก แล้วทีนี้มันก็เหมือนที่บอก ไม่มีมือกลอง เหลือแค่สองคน ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้
ได้ฟังวงโฟล์กรุ่นใหม่ ๆ บ้างไหม
นที: ก็มีที่ได้ไปเล่นด้วยกัน อย่าง t_047 กับ เขียนไขและวานิช ก็เจอกันบ่อย
มองว่าวงการเพลงไทยตอนนี้กับเมื่อก่อนต่างกันยังไงบ้าง
ราม: ไม่ค่อยได้ตามเลย แต่เราจะรู้แหละว่าเราทำอะไรกันอยู่ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด
นที: ไม่ได้ฟังเลย ก็จะรู้จักแต่วงที่ไปเล่นด้วยกัน แล้วเจอกัน
เร็ว ๆ นี้จะมีเพลงใหม่ออกมาให้ฟังหรือยัง
นที: อัลบั้มสามก็มีออกมาให้ฟังเพลงสองเพลงแล้ว หลังจบงานนี่ก็จะค่อย ๆ ทำ เพราะก็ไม่รู้ว่ารามจะกลับมาอีกทีเมื่อไหร่ แต่พอกลับมารอบหน้าชุดสามต้องเสร็จแล้วแหละ
เวลาเขียนเพลงได้วางคอนเซ็ปต์แต่ละชุดไว้หรือเขียนทีละเพลง พอครบค่อยเอามารวมกัน
ราม: คอนเซ็ปต์มันอยู่ในตัวอยู่แล้ว ในความชอบของพวกเรา อย่างชุดสองเนี่ยบางเพลงนานมากเพิ่งจะเอามารวมกัน
นที: ก็มีการมิกซ์ให้เพลงมันซาวด์เข้ากัน
แต่ละชุดซาวด์ต่างกันยังไง
ราม: ต่างมาก ชุดแรกเหมือนกำลังหาอยู่ ชุดสองรู้สึกว่าเราเจอทางแล้ว น่าจะลงตัว (นที: ชุดแรกยังเหมือนการทดลอง) แต่พวกอุปกรณ์เราจริงจังมาก หาซื้อไมค์ดี ๆ กันเลย เพราะถ้าเราไปยืนกับเสียงอะคูสติกแล้วก็ต้องไปโฟกัสกับเสียงตรงนั้น
ชุดสามอยากทำออกมาแบบไหน
นที: อยากทำให้มันแตกต่างนิดนึง
ราม: อยากให้มีสีสัน มีจังหวะมากขึ้น
เพลงไหนที่รู้สึกชอบเป็นพิเศษ
ราม: Still Together เพลงนั้นรู้สึกมีผลกระทบกับเรามาก เพราะช่วงนั้นไปที่อเมริกาใหม่ ๆ พูดแล้วขนลุกเลย (หัวเราะ) แล้วมันไกลกัน แต่คิดว่าจะทำงานด้วยกันอยู่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพลงก็ออกมาแบบนั้น ถึงเราจะอยู่ที่ไหนแต่เราก็ยังอยู่บนโลกเดียวกันอยู่ พยายามจะทำในสิ่งที่เราคาดหวังไว้ เวลามีคอนเสิร์ตแต่ละครั้งแล้วเราต้องกลับมา มันก็พ้องกับเพลง
นที: ก็น่าจะเพลงนี้แหละครับ อย่างคราวก่อนก็ใช้ชื่อนี้เป็นชื่องาน เพราะเป็นเพลงที่เวลาเราเล่นหรือถ่ายทอด มันรู้สึกแบบนั้น
ต้องจูนอะไรกันไหม
ราม: จูนนี่มันไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ต้องซ้อมแหละ เพราะฟีลลิ่งเรารู้กันอยู่แล้ว
นที: แค่การเล่นสองคนต้องทำให้กลับมานิ่งเหมือนเดิม เพราะก็ไม่ได้เล่นด้วยกันนาน
ช่วงที่รามไม่อยู่นทีก็ทำโปรเจกต์เดี่ยว Uncle Tree ต่างกับ Selina & Sirinya ยังไงบ้าง
นที: ถามว่าแยกกันออกขนาดนั้นไหมอาจจะยากอยู่ อาจจะเป็นเรื่องสไตล์ดนตรีและเนื้อร้องที่เป็นความคิดของผมคนเดียว จริง ๆ ก็พยายามทำดนตรีให้แตกต่างจาก Selina and Sirinya นิดนึง
ความต่างของวงโฟล์กค่อนข้างแยกยาก ยิ่งช่วงนี้ใคร ๆ ก็ทำเพลงอะคูสติกได้
นที: ผมมองว่าวงโฟล์กในบ้านเรามันไม่ค่อยต่างกัน แม้กระทั่งเรื่องซาวด์หรือคอร์ด คืออยากให้มันมีวงโฟล์กที่มันแปลก มีสไตล์ของตัวเองที่ชัดเจน คิดอยู่เหมือนกัน บางเพลงมันก็ดีนะ แต่ฟังแล้วมันเหมือนกันทุกวงเลย ซาวด์ ตีคอร์ดลอย ๆ ฉ่ำ ๆ มา แต่มันจะมีวงที่ลายเซ็นชัดมาก อย่าง Free Typewriter อันนี้ก็จะเป็นอินดี้โฟล์กที่ค่อนข้างแตกต่าง ฟิวชันเลย มีเมโลดี้ มีการร้องเฉพาะตัว อยากให้มีตัวเลือก ไม่งั้นฟังทั้งงานเหมือนกันทุกวง
ราม: แต่เราว่ามันอยู่ที่เนื้อร้องนะ ส่วนมากก็ใช้แค่กีตาร์โปร่งแหละ อยู่ที่ความหมายของเพลงมากกว่า ว่าใครอธิบายหรือสื่อออกมาให้รู้สึกแบบไหน อาจจะใช้คำซ้ำ ๆ กันก็ได้ แต่องค์ประกอบที่นำมาจัดวางน่าจะต่างกัน
แต่บางคนก็เชื่อว่าวงโฟล์กควรจะเรียบง่าย ปรุงแต่งน้อยที่สุด
ราม: เราไม่เชื่ออย่างนั้นนะ บางครั้งถ้ามันต้องการ เราก็ต้องเพิ่ม ถ้ามันไม่ต้องการก็ปล่อยไว้อย่างนั้น อยู่ที่ความหมายของแต่ละเพลง แล้วพวกคอนเสิร์ตเราก็พยายามเอาเบิร์ด Desktop Error หรือ ย้ง Chladni Chandi มาช่วยเล่นเพื่อสื่อสารอะไรใหม่ ๆ เราว่ามันเป็นการช่วยเสริม อย่างเสียงไวโอลิน เสียงสไลด์กีตาร์ มันทำให้ความหมายมันเพิ่มมากขึ้น อย่างเราจะพูดถึงสายลม บางครั้งมันยังไม่ชัดพอ เราอยากให้คอนเสิร์ตแต่ละครั้งมีอะไรที่แตกต่างด้วย ไม่งั้นจะดูน่าเบื่อ
เท่าที่เคยเล่นมา ชอบงานไหนที่สุด
นที: งานตัวเองที่เชียงใหม่
ราม: รู้สึกดีมากเลย ต้นไม้กลายเป็น acoustic panel เลย พวกใบไม้อะไรช่วยซับเสียงหมด บางครั้งเราต้องไปจูนซาวด์รีเวิร์บอะไร แต่ที่เชียงใหม่นี่เสียงโอเคเลย บรรยากาศดีมาก เราก็เลยพยายามหาที่เล่นเป็นป่า ๆ แล้วมันก็เข้ากับอะคูสติกดี ความเป็นไม้ ๆ
นที: แต่มันก็แล้วแต่นะ ในเมืองก็เล่นได้ จริง ๆ เราอยากเล่นในโรงหนังเก่า ๆ หอประชุมซาวด์ดี ๆ เราฟังเล่นเองก็อยากได้ที่ ๆ ซาวด์โอเค
ราม: ที่เราเล่นมาก็มีปัญหาพวกซาวด์นะ เพราะเราจะใช้เทคนิค (นที: ไมค์ condenser จ่อ เพราะเราไม่อยากใช้ไฟฟ้า) อยากได้บรรยากาศ ก็เลยเซ็ตยาก แต่เราเชื่ออย่างนึงนะ ถ้าเสียงที่คนได้ยินตรงนั้นออกมาเหมือนที่เราตั้งใจ มันก็สะกดอยู่นะ เสียงดี ๆ หน่อย
นที: จริง ๆ ก็เหมือนดนตรีทุกแนวแหละ ถ้าซาวด์ดี ๆ
งานไหนที่ไปเล่นแล้วรู้สึกแปลกที่สุด
นที: ตอนแรก ๆ ไปเล่นร้านที่มีโต๊ะพูล ที่รามใส่ชุดชั้นใน รู้สึกงานนั้นไปเล่นแล้วเฟล ไม่มีคนฟัง
ราม: คนกินเหล้าเฮฮาโผงผาง เราเล่นเราก็เหนื่อยเนาะ อยากให้คนได้ลองฟัง
นที: สถานที่ไม่ได้แปลก แต่ความรู้สึกมันแปลก
ราม: เยอะ หลายงานเลย ช่วงแรก ๆ แอมป์ไม่ติดบ้าง แต่เราพยายามจะทำให้ดีที่สุด
อะไรทำให้ตอนนั้นใส่ชุดชั้นในไปเล่น
นที: ยังติดความร็อกอยู่ (หัวเราะ)
ราม: พยายามให้เป็นผู้หญิง อยากให้มันแปลก ๆ ตอนแรกคิดว่าจะเป็นอีกฟีลนึงแต่มันไม่ใช่
คำแนะนำสำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่
ราม: ต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ ว่าสักวันนึง… ไม่รู้ตอนเราทำ เราเชื่อนะว่าเราทำสิ่งที่เรารัก
นที: ไม่ได้คาดหวังอะไร มีเวลาทำก็ทำ (หัวเราะ) แต่ก็ยังทำมาเรื่อย ๆ ไม่เลิกทำ อย่าหยุดทำ
ราม: เพราะบางครั้งกว่าวงเราจะมาถึงขนาดนี้ก็เป็นสิบปี บางครั้งเวลามันต้องรอให้เพลงอิ่มตัว บางครั้งเราผลิตเพลงออกไป เพลงอาจจะไม่มีความหมาย แต่เวลาผ่านไปเมล็ดเล็ก ๆ มันก็ค่อย ๆ โต
จะมีวงไทยเป็นตำนานโฟล์กแบบต่างประเทศหรือเปล่า
นที: มันยังไม่ถึงขั้นเป็น culture นะ (ราม: มันเปรียบไม่ได้ อเมริกันโฟล์กมัน..) แทบจะทั้งประเทศเลย ถ้าพูดเฉพาะกลุ่มพอจะนึกออก แต่ถ้าตำนานแบบในบ้านเรานึกไม่ออก
ราม: ก็มีจรัล มโนเพ็ชร ลืมไปได้ไงเนี่ย โฟล์กจ๋าเลยนะ กีตาร์โปร่งหลายตัวเลย
พูดถึงงาน Gathering in the Glen ที่ราชบุรีหน่อย
ราม: เหมือนโลกตอนนี้มันต้องการกลับคืนสู่ธรรมชาติ อยากให้เขาได้ไปสัมผัสอะไรที่อยู่กับธรรมชาติ ได้ไปฟังเพลง เห็นภูเขา ต้นไม้ โดยเฉพาะคนเมือง จะได้รู้สึกถึงความสำคัญต่อชีวิต บางครั้งเราใช้ชีวิตวุ่นวาย ไปชิลบ้างได้ไหม พาเพื่อนไปแคมปิ้ง ฟังเพลงริมลำธารสบาย ๆ
นที: เราจะโฟกัสที่ตอนกลางวัน คนจะได้ตั้งใจฟังเพลง เดี๋ยวพอดึก ๆ แล้วคนจะเริ่มเมา (หัวเราะ)
ราม: เราก็พยายามจะให้เป็นคอนเซ็ปต์อยู่กับธรรมชาติ จะไม่ให้มีขยะ เพราะเราใช้สถานที่ตรงนั้น เราเอาต้นไม้พวกนั้นมาปลูกในเมืองไม่ได้
นที: เราก็จะพยายามที่จะสร้างคอนเสิร์ตโฟล์กที่เราอยากจะทำ ซาวด์ใช้ไมค์จ่อ ให้ทุกคนได้ฟังเพลงจริง ๆ มองธรรมชาติไปด้วย ถึงเวลานอนก็นอน จะไม่มีคอนเสิร์ตยาวไปถึงเช้า เหมือนมาเที่ยวพักผ่อน
ราม: เราจะใช้แสงอาทิตย์ยามโพล้เพล้ ใช้ใบไม้เป็นรีเฟล็ก แทนที่จะใช้ไฟ เราก็เอาสิ่งที่มันสวยอยู่แล้วมาใช้ ไม่ต้องไปตกแต่งอะไร แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นยังไงนะ (หัวเราะ) แล้วก็ได้แรงบันดาลใจจากงาน Pickathon ที่พอร์ตแลนด์แหละ แต่บัตรโคตรแพงเลยนะ ยังไม่เคยไป เขาเป็น 3 วัน 2 คืน เฟสติวัลกินอยู่ในป่า ส่วนใหญ่เป็นวง bluegrass โฟล์ก ๆ
อยากเห็นอะไรในซีนดนตรีบ้านเราอีกบ้าง
ราม: ส่วนตัวแล้ว เพลงพวกเราจะไปทางธรรมชาติ แล้วมันช่วย healing อยากให้มีคอนเสิร์ตแบบนี้เยอะ ๆ ให้เขารู้สึกซึมซับธรรมชาติด้วย เราว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ มันทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายด้วย ก็แล้วแต่คนนะ แต่เพลงอะคูสติก อะไรที่มันง่าย ๆ อาจจะทำให้คนมองอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องไปมองให้มันยาก มันอาจจะมีความสวยงามในนั้นก็ได้ ไม่ต้องไปเติมแต่งอะไรมันมาก
ฝากถึงแฟน ๆ หน่อย
นที: ไม่มีอะไรมากนอกจากคำขอบคุณ ที่เราอยู่ได้ก็เพราะคนที่ยังฟังเพลงพวกเรา คอยตามไปดู ก็ขอบคุณมากครับ
ใครที่คิดถึงและอยากไปดูวงแบบสด ๆ สามารถติดตามตารางทัวร์ของพวกเขาได้ที่ด้านล่างนี้