เปิดหูเปิดใจ ลองเสพดนตรีทดลองหลากหลายแนว ในงาน Post-Loop Music Festival
- Writer & Photographer: Peerapong Kaewthae
19 มกราคม 2563
เพราะดนตรีไม่มีพรมแดน ถ้าเราคิดว่าเราฟังเพลงเยอะแล้วเมื่อไหร่ แสดงว่าเรายังฟังไม่เยอะอย่างที่คิดทันที ยิ่งถ้าไม่ได้มางาน Post-Loop Music Festival ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์นี้ อย่าบอกว่าตัวเองฟังเพลงเยอะเลย เทศกาลดนตรีขนาดย่อม ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้วงดนตรีทางเลือกทั้งหลายได้มาโชว์ของกัน บางวงก็อาจจะคุ้นชื่อกันอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายวงที่เราไม่เคยเห็นชื่อมาก่อนเลยก็มี ทั้งงานยังประกอบไปด้วยแนวดนตรีที่หลากหลาย ตั้งแต่ post-rock, math rock, instrument, ambient, electronic ไปจนถึงดนตรีทดลองจ๋า ๆ pure noise หรือ laptop music กันเลยทีเดียว มาแค่นี้งานนี้งานเดียว ก็ได้ฟังอะไรใหม่ ๆ เต็มหูไปทั้งวัน หรือให้คนที่ชอบดนตรีแนวนี้ได้มาเสพอะไรใหม่ ๆ พร้อมเป็นกำลังใจให้ศิลปินไปพร้อมกัน
งานก็เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง ฮอน Hope The Flower แห่ง ASiA Sound Space และ ทอมมี่ Srirajah Rockers ตัวแทนจาก Live Loop Asia แถมยังได้ผู้ใหญ่ใจดีอย่าง Brownstone เปิดบ้านต้อนรับศิลปินทุกคนอย่างเป็นกันเอง งานนี้ยังเป็นงานฟรีอีกด้วย เผื่อให้ทุกคนได้ลองเปิดใจเสพดนตรีที่จากอีกโลกหนึ่งกันให้เต็มอิ่มไปเลยตั้งแต่บ่ายโมงยันตีหนึ่ง
แต่ด้วยความที่สถานที่อยู่ไกลจากบ้านเรามาก กว่าจะเดินทางไปถึงก็ปาเข้าไป 4 โมงกว่าแล้ว กว่าจะเดินสำรวจอะไรทั้งหมดก็ใช้เวลาอยู่เหมือนกัน เป็นงานที่มีความหลากหลายทางดนตรีมาก ๆ จากการจัดเวทีไว้ถึง 5 ห้อง แบ่งเป็น ‘Asia Sound Space Stage’ ที่รวมวงสาย post-rock หรือ math rock ไว้ที่นี่ เวทีสองคือ ‘Live Loop Asia Stage’ ที่ให้สายอิเล็กทรอนิกลูป สาย noise หรือสาย ambient ได้โชว์กันเต็มที่ ส่วน ‘Brownstone Garden Stage’ ก็ให้สาย world มิวสิกจากทั่วโลกมาปล่อยของกัน ‘The Best Studio Stage’ เหมือนห้องทดลองของสาย laptop music หรือสาย noise ที่มีความอิเล็กทรอนิกหน่อย ๆ และเวทีสุดท้ายที่จิ๋วหน่อยกับ ‘Ageha Modular Stage’ เปิดพื้นที่ให้สายศิลปินสาย modular synthesizer มาอวดแผงวงจรกันอย่างเป็นกันเอง แถมศิลปินบางคนยังชักชวนให้ทดลองเล่นด้วย
ในงานยังมีตลาดเล็ก ๆ ที่ขายอาหารขายน้ำเปลี่ยนนิสัยเหมือนเทศกาลดนตรีทั่วไป และยังมีคนเอาสินค้าศิลปินมาขาย รวมไปถึงอุปกรณ์ของเล่นต่าง ๆ ทั้งซินธิไซเซอร์มือสองจิ๋ว ๆ ที่ไปขอทดลองเล่นกันได้เลย ชวนให้เราเข้าถึงแนวดนตรีเหล่านี้ได้ไม่ยากเลยทีเดียว
ด้วยความที่ทั้งห้าเวทีเล่นคาบเกี่ยวกันไปมา นี่วิ่งกันให้วุ่นเลยเพราะอยากดูหลาย ๆ เวทีอยู่ นี่ก็มาทัน สิริพรไฟกิ่ง แค่ท้าย ๆ โชว์แล้วเหมือนกัน รีเวิร์บพาเสียงกีตาร์ให้ร่ายรำไปมา กีตาร์สามตัวค่อย ๆ ไต่ระดับความพีคของอารมณ์ อย่างน้อยทัน Well ที่นวดเราด้วยกีตาร์นุ่ม ๆ แต่ยังแฝงด้วยอารมณ์อันเกรี้ยวกราดอยู่ครั้งด้วยรีเวิร์บหลอน ๆ กับจังหวะกลองที่ดุมาก กับ แก้ว ที่สับกลองกับรีเวิร์บกีตาร์ถักทอออกมาเป็นซาวด์เฮี้ยน ๆ เพราะเป็นเพลงสุดท้ายเลยกะปล่อยของเต็มที่ จังหวะก็มันจนบีบให้เราต้องโยกหัวตามจริง ดรอปแล้วขยี้กีตาร์ขึ้นมา ประกอบบรรยากาศอันน่าสะพรึงขึ้นมา แล้วระบายรีเวิร์บกีตาร์ลงไปให้รุนแรงสุด ๆ กรีดแทงหูเราอย่างบ้าคลั่ง เป็น post-rock ที่คิดถึงมาก ได้ดูสดรอบนี้ครั้งที่สองเอง แต่ก็ชอบเหมือนเดิมเลย
ต่อด้วย เจี่ยป้าบ่สื่อ post-rock สายดุที่ดนตรีเดือดดาลมาก เข้ามาพร้อมรีฟกีตาร์อันวุ่นวาย ร่ายมนต์สะกดให้คนที่ยังไม่รู้จักวงให้หยุดฟังทันที มีซินธ์เข้ามาทำให้อารมณ์เพลงมันแพรวพราวขึ้นไปอีกระดับ ตราตรึงใจไปกับ Rainy Day ประกอบซาวด์กันขึ้นมาเป็นดนตรีชวนผ่อนคลายแล้วค่อยไต่ระดับกลับมาบ้าคลั่งอีกครั้ง จนทุกคนโยกหัวพร้อมกันทั้งห้อง กีตาร์แผดเสียงใส่กันอย่างเร้าร้อนจนจบ 4388 ที่ระบายเข้ามาด้วยกีตาร์กับซินธ์มีกลองกระแทกอารมณ์อยู่ข้างหลัง ค่อย ๆ ประสานกันกลายเป็นฮุกที่เข้าถึงอารมณ์จนต้องโยกหัวตาม เลี้ยงอารมณ์มาไกลแล้วหยุดไปเฉย ๆ ปิดด้วย Moondog มาถึงก็กระแทกเราด้วยดนตรีเดือด ๆ เลย อัดทุกเครื่องดนตรีเข้ามาแบบไม่เกรงใจหู ยิ่งยาวต่อเนื่องแบบเอาตาย สลับจังหวะดุ ๆ ไปมาจนคนดูแทบคลั่ง โยกหัวตามทุกจังหวะ
แว้บมาดู Lucidlake ft. Kasemsmai กีตาร์ที่บรรเลงไปพร้อมกับคีย์บอร์ดช่วยกันถักทอ ambient นุ่ม ๆ ลอย ๆ ขึ้นมาท่ามกลางวิชวลสีแดงสด กล่อมเกลาทุกคนด้วยคำหวานผ่านสายกีตาร์แต่ละเส้นที่เปร่งเสียงกังวานออกมาในแต่ละโน้ต มีคีย์บอร์ดค่อยสร้างบรรยากาศอันสงบและอ่อนโยน พาทุกคนจมดิ่งหายไปในพื้นห้อง
โดดมาเวที ‘The Best Studio Stage’ มี Knot Warong + Jin สมาชิกที่เราคุ้นเคยกันดีจาก Kinetics, Part Time Musicians, temp. ที่จริง ๆ มีร่างอวตารสายทดลองอยู่ กำลังปลุกปล้ำกับแผงวงจรตรงหน้า กดบีตสังเคราะห์ดิบ ๆ ให้โกลาหลไปด้วย noise เหมือนดนตรีทดลองหน่อย ๆ จนเกือบเทียบเท่า non-music ด้วยการจัดเรียงเสียงต่าง ๆ อย่างวุ่นวาย เหมือนเครื่องจักรกำลังเล่นดนตรีในแบบของตัวเองอย่างสุดความสามารถ
กลับมาเวทีใหญ่อีกรอบกับ วิมุตติ ที่มีส่วนประกอบอันโดดเด่นด้วย Thom AJ. MadsoN แห่ง อัศจรรย์จักรวาล กับกีตาร์รีเวิร์บนุ่ม ๆ ในการเล่าเรื่อง เติมกลองอันแน่น ๆ กับเบสอันดุดันเข้าไปจนกลายเป็น post-rock บาดลึกเข้าไปถึงจิตใจ บางเพลงใส่ความ gospel เข้าไปให้งดงามขึ้น ขับขานเสียงอันแหลมสูงไปพร้อมกับดนตรีอันเดือดพล่าน ท่ามกลางวิชวลละครเก่า ๆ เจอเพลง บางสิ่งที่ฉันไม่สามารถจะพูดกับเธอได้ เข้าไปหลงใหลไปกับแอมเบียนต์อันหอมหวานและเสียงกรีดร้องบาดใจ น่าจะบอกความเป็นวิมุตติได้ชัดเจนที่สุดแล้ว
Siwanut B หรือ เต๊นท์ Summer Dress, Games of Sound อีกหนึ่งศิลปินบนเวที ‘The Best Studio Stage’ ที่ใช้ซินธ์สองตัวสร้างซาวด์จ๋อง ๆ น่ารัก ๆ ในการประกอบลูปสนุก ๆ ขึ้นมา คัดสรรเมโลดี้กรู๊ฟ ๆ ขึ้นมา แล้วค่อยร้อยเรียงมันเข้าด้วยกันจนเป็นดนตรีรื่นหู แล้วเติม noise ลงไปทีละน้อยให้มันมีไดนามิกของความพิศวงให้มันสะกดใจเราได้ มีความอิมโพรไวส์นิด ๆ พร้อมพาทุกคนทะลวงทุกกำแพงทางดนตรีสู่โลกอีกด้านของเสียงสังเคราะห์ที่ไม่ไพเราะก็เป็นดนตรีได้เหมือนกัน
January บนเวที ‘Asia Sound Space Stage’ ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แอบฟังมานานเพิ่งได้ดูโชว์จริง ๆ พวกเขาเป็น math rock อีกวงที่น่าจับตามองมาก ๆ กับลูกเล่นทางดนตรีเหลือร้ายมาก เรียบเรียงได้รื่นหูน่าฟัง เข้าถึงง่ายด้วยจังหวะห้องที่ไม่ซับซ้อนเกินไป แต่ยังมีไดนามิกของดนตรีที่สนุกเข้าหูอยู่ สลับจังหวะอะไรได้เนียบ เพลินไปกับทุกเพลงเลย
ที่พลาดไม่ได้อีกหนึ่งคนคือ ประดิษฐ์ แสงไกร ดีกรีอาจารย์สายอิเล็กทรอนิก ครั้งนี้เข้ามาในฐานะศิลปิน modular ที่ล้อเล่นกับเจ้าแผงวงจรที่มีสายไฟระโยงระยางเต็มไปหมด กลายเป็นโชว์ pure noise ที่น่าพรั่นพรึงอยู่ เหมือนเป็นวาทยากรที่คอยกำกับเสียงแต่ละห้วงให้หนักเบาขึ้นลงอย่างกับวงออร์เคสตราจิ๋ว ปล่อยให้มันแผดเสียงสังเคราะห์ในแต่ละย่านอย่างอิสระ ราวกับคอมพิวเตอร์กำลังร้องเพลงประสานเสียง คนฟังไม่สามารถคาดเดาอะไรในโชว์เหล่านี้ได้เลย ได้แต่เปิดใจกับคลื่นเสียงที่ถูกสังเคราะห์ออกมา ด้วยบีทอันไร้รูปแบบ ทำให้มันประกอบขึ้นมาเป็นดนตรีดิบ ๆ ที่ชวนสุนทรีย์จนน่าประหลาดใจอยู่เหมือนกัน
ต่อด้วย Wuttipong L ผู้ประกอบบีตอันละเล็กละน้อยเข้าด้วยกันให้เป็นดนตรีแอมเบียนต์นุ่ม ๆ ชวนผ่อนคลาย พริ้วไหวไปมาเหมือนผิวน้ำ ก่อนจะตบแต่งพวกมันด้วยซาวด์สังเคราะห์หวานแหลมทุ้มสลับกันไปผ่านของเล่นบนโต๊ะ ก่อนจะไต่ระดับความเฮี้ยนขึ้นไปถึงขั้นเป็น noise แสบ ๆ คัน ๆ จมดิ่งลงไปสู่บรรยากาศอันน่าสะพรึงคุกคามทุกคน
ปิดท้ายค่ำคืนนี้กันด้วย Noxnoi โปรเจกต์เดี่ยวของ พี่เบิร์ด Desktop Error เข้าสู่วิถี world music เต็มตัวแล้ว ด้วยลูปซาวด์สังเคราะห์ที่มีความเย็นสบาย ร่ำรวยไปด้วยเพอร์คัสชั่นหวาน ๆ พร้อมซินธ์ที่มาเติมความวาไรตี้ให้ซาวด์สนุกขึ้น แน่นอนว่าพระเอกก็ต้องเป็นกีตาร์แอมเบียนต์ที่ดัดแปลงให้เล่นด้วยการสีและดีดไปพร้อมกัน สร้างบรรยากาศอบอุ่นมีมนต์เสน่ห์บางอย่างชวนเคลิบเคลิ้ม มีกลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้านหน่อย ๆ แถมยังทำงานกับลูปได้รื่นหูมาก เพลงหลัง ๆ ก็คว้าพิณตัวเก่งออกมาบรรเลงได้หฤหรรษ์ พาเราล่องลอยไปกับซาวด์และวิชวลอันลึกลับและเสียงพิณที่สะกดทุกคนได้จริง ๆ
เสียดายมากที่ตอนดึก ๆ ยังมีศิลปินอีกมากมายที่เราอยากดู โดยเฉพาะ Yaan แต่ต้องหนีกลับบ้านก่อนเพราะบ้านไกลจริง พอได้มาที่งานจริง ๆ แล้ว Post-Loop Music Festival ก็ดูเป็นงานที่สดชื่นและสร้างความแปลกใหม่ให้กับพื้นที่และซีนดนตรีอยู่เหมือนกัน ทำให้เห็นเลยว่าจำนวนคนที่หลงใหลในซีนดนตรีตรงนี้ก็มีเยอะมาก ทั้งจำนวนศิลปินที่มาร่วมงานและจำนวนคนที่เยอะกว่าที่คิดไว้มาก ๆ เป็นโชคดีของทุกคนจริง ๆ ที่มีคนจัดงานแบบนี้ขึ้นมา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้จัดได้ปีละครั้งสองครั้งเลย อย่างน้อยเป็นกำลังใจให้ศิลปินซักหน่อยด้วยพื้นที่สำหรับโชว์ ก็ได้แต่หวังว่าคนหมู่มากจะเปิดใจและหันมาลองเสพงานแบบนี้ดูบ้างแหละ