ป้าย Parental Advisory คืออะไร ทำไมผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ?
- Writer: Nattapat Suthapornpat
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะเห็นป้าย Parental Advisory หรือป้ายผู้ปกครองควรให้คำแนะนำบนปกอัลบั้มเพลงกันจนชินตา แต่คุณรู้หรือไม่ว่าป้ายนี้จริง ๆ แล้วมันมีความหมายยังไง และอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดป้ายนี้ขึ้นมา?
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1985 ตอนที่ Tipper Gore ภรรยาของ Al Gore ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐ Tennessee ในขณะนั้น ได้ซื้ออัลบั้ม Purple Rain ของ Prince ให้กับลูกสาววัย 11 ปีของเธอ จากนั้นทั้งสองก็ใช้เวลาในการฟังอัลบั้มนี้ด้วยกันจนถึงเพลง Darling Nikki ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่อย่างตรงไปตรงมา พอได้ยินแบบนั้นเข้า คุณแม่ Tipper ถึงกับควันออกหู และได้ไปรวมตัวกับสมาชิกอีกสามคนคือ Susan Baker, Sally Nevius และ Pam Howar ซึ่งทั้งสามคนนี้เองก็เป็นภรรยาของคนที่มีอำนาจทางการเมืองจนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ The Washington Wives จากนั้นพวกเธอก็ตั้งศูนย์ข้อมูลดนตรีสำหรับผู้ปกครอง (Parents Music Resource Center หรือ PMRC) ขึ้นมาเพื่อเพิ่มการควบคุมเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง ลามกอนาจาร ยาเสพติด หรือเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีทั้งหลาย และต่อมาพวกเธอได้ทำลิสต์เพลง 15 เพลงที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือที่เรียกกันว่า ‘The Filthy Fifteen’ พร้อมตั้งชื่อเพลงแนวเพลงที่มีเนื้อหาเข้าข่ายดังกล่าวว่า ‘porn rock’ ซึ่งในลิสต์นี้ประกอบไปด้วยศิลปินอย่าง Prince, Madonna, Twisted Sister, AC/DC, Cyndi Lauper และอื่น ๆ
นอกจากนี้พวกเธอยังใช้เส้นสายทางการเมืองเพื่อกดดันศิลปินและวงการดนตรี ทำให้บรรดาสื่อต่าง ๆ ทั้งทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์พากันประโคมข่าวเรื่องนี้จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา (The Recording Industry Association of America หรือ RIAA) ก็ต้องออกมาเร่งหาทางแก้ไขด้วยการให้ค่ายเพลงเขียนบนปกอัลบั้มว่า ‘Parental Guidance: Explicit Lyrics’ แต่กลุ่ม The Washington Wives ต้องการอะไรที่มากกว่านั้น พวกเธอต้องการให้ร้านขายแผ่นเสียงต่าง ๆ เอาอัลบั้มที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกจากแผงขายหรือเอาไปวางไว้ในชั้นหลังร้านหรือห้ามวางขายแบบโจ่งแจ้ง นอกจากนี้พวกเธอยังต้องการเอาระบบการจัดหมวดหมู่เข้ามาใช้ด้วย โดยจะแบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่คือ X สำหรับเพลงที่มีเนื้อหาหยาบคายหรือเรื่องไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องเพศ V สำหรับเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง D/A สำหรับเพลงเกี่ยวกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ และ O สำหรับเพลงเกี่ยวกับความเชื่อที่ไม่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าทาง RIAA ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และยังยืนยันว่าจะใช้เป็นการเขียนคำว่า Parental Guidance: Explicit Lyrics บนปกอัลบั้มต่อไป
จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ถกเถียงกันไปมาจนวันที่ 19 กันยายน ในปี 1985 ได้มีการจัดตั้งประชุมวุฒิสภาเพื่ออภิปรายถึงเรื่องนี้ หรือที่คนเรียกกันว่า ‘The Porn Rock Hearing’ โดยฝ่าย PMRC ซึ่งมี The Washinton Wives เป็นแกนนำก็พยายามงัดหลักฐานต่าง ๆ ขึ้นมาสู้ แต่ทางฝ่ายศิลปินเองก็ไม่ยอมง่าย ๆ ซึ่งตอนนั้นมี Frank Zappa, John Denver และ Dee Snider แห่ง Twisted Sister เป็นหัวหอกก็ได้ออกมาคัดค้านการบังคับใช้ระบบของ PMRC เพราะว่าศิลปินควรมีเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่
Speech ของ Dee Snider
Speech ของ John Denver
Speech ของ Frank Zappa
จนท้ายสุดก็ได้มีการประนีประนอมเกิดขึ้น โดยมีข้อสรุปว่าอัลบั้มที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมจะต้องเขียนคำว่า ‘Explicit Lyrics: parental Advisory’ บนปกอัลบั้ม ซึ่งค่ายเพลงและบริษัทผลิตแผ่นเสียงส่วนใหญ่ก็สมัครใจที่จะยอมทำตาม ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นการบังคับใช้ทั้งหมดแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ RIAA เพื่อเป็นการไม่ให้ PMRC มีอิทธิพลจนเกินไป หรือถ้าให้พูดง่าย ๆ ก็คือ RIAA ยังเป็นฝ่ายคุมเกมอยู่ และในปี 1990 บริษัทแผ่นเสียงหลายแห่งได้มีการหารือเพื่อการปรับปรุงป้ายขึ้นมาใหม่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนออกมาเป็นป้ายสี่เหลี่ยมสีขาวดำ และในปี 1994 ก็ได้มีการเปลี่ยนคำจากคำว่า Parental Advisory: Explicit Lyrics เป็น Parental Advisory: Explicit Content อย่างที่เราเห็นกันจนถึงทุกวันนี้
แต่เรื่องก็ยังไม่ได้จบแค่นี้ เพราะเจ้าป้ายนี้ได้สร้างความขัดแย้งให้กับวงการดนตรีในช่วงนั้นอยู่ไม่น้อย ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ต้องเลือกว่าจะขายหรือไม่ขายอัลบั้มที่มีป้ายนี้ติดอยู่ โดย Walmart เองก็เป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เลือกจะปฏิเสธการขายอัลบั้มที่ไม่เหมาะสมเพราะมันขัดกับภาพลักษณ์ขององค์กร จนทำให้ศิลปินหลายกลุ่มมียอดขายที่น้อยลง และเป็นการบังคับศิลปินทางอ้อมให้ทำ clean version หรือก็คือเวอร์ชั่นที่มีการปรับเปลี่ยนเอาเนื้อหาที่รุนแรงออกไป เพื่อที่จะทำให้อัลบั้มของพวกเขากลับเข้ามาขายในร้านค้าต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม ตัวอย่างเช่น อัลบั้ม As Nasty As They Wanna Be ของ 2 Live Crew ที่ออกมาในปี 1990 มีปกเวอร์ชั่นต้นฉบับที่ค่อนข้างวับแวมอย่างที่เราเห็นได้ในรูปข้างล่าง พอเปลี่ยนมาเป็น clean version ก็เอาข้อความมาพาดปิดก้นซะเลย
ภายหลัง PMRC และป้าย Parental Advisory ก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการเซ็นเซอร์ แต่ถ้าเรามองมุมกลับ ป้ายสติ๊กเกอร์นี้ยังสามารถเป็นสัญลักษณ์แห่งขบถได้อีกด้วย มีศิลปินหลายกลุ่มในยุค 80s ถึง 90s ได้ออกมาแต่งเพลงเพื่อโจมตี PMRC ตัวอย่างเช่น เพลง Mother ของ Danzig วงเมทัลจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ หรือเพลง Freedom of Speech ของแร็ปเปอร์ชื่อ Ice-T หรือแม้แต่ NOFX วงพังก์ชื่อดังก็ออก EP ชื่อ The P.M.R.C. Can Suck on This เพื่อมาด่ากราด PMRC และ Frank Zappa หนึ่งในศิลปินที่อยู่ใน The Porn Rock Hearing ก็ได้ปล่อยอัลบั้มชื่อ Frank Zappa Meets the Mothers of Prevention ออกมา ซึ่งในอัลบั้มนี้มีเพลงเด่นอย่าง Porn Wars ที่เอาเสียงพูดในการอภิปรายมา mash up แถมปกอัลบั้มนี้ยังมีการติดป้ายเตือนพร้อมเขียนข้อความจิกกัด PMRC ได้แบบแสบ ๆ คัน ๆ นอกจากนี้ Rage Against The Machine ยอดวงแร็ปเมทัลเองก็เคยประท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยการขึ้นไปเปลือยกายบนเวทีจนเป็นข่าวดังมาแล้ว
อัลบั้ม Frank Zappa Meets the Mothers of Prevention ของ Frank Zappa
ป้ายเตือนบนปกอัลบั้มที่จิกกัด PMRC ได้ดุเด็ดเผ็ดมันมาก ๆ
จนต่อมาป้ายนี้ก็กลายเป็นป้ายที่ศิลปินเอามาใช้เพื่อการโปรโมตมากขึ้น ขนาด Marc Weinstein ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Amoeba หนึ่งในร้านขายไวนิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงป้ายนี้ว่าเป็นเรื่องที่ล้มเหลว เพราะป้ายนี้กลายเป็นเครื่องมือที่ศิลปินเอามาใช้เพื่อเพิ่มยอดขายซะมากกว่า แถมยังทำให้เด็กวัยรุ่นค้นหาเพลงเจ๋ง ๆ ฟังได้ง่ายขึ้นซะด้วยซ้ำ จากนั้น PMRC ก็ดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ จนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 22 คน ก่อนจะยุติบทบาทลงในช่วงปลายของยุค 90s ทำให้ป้ายนี้ไม่ค่อยมีผลอะไรมากนักในภายหลัง การจะติดป้ายนี้เป็นเรื่องของการสมัครใจ แต่ก็ยังมีการใช้ต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันอย่างที่เรามักจะได้เห็นในปกอัลบั้มเพลงทั่วไป หรือสามารถพบเจอได้ตามมิวสิกสตรีมมิ่งอย่าง iTunes ที่จะเขียนแค่ตัว E ส่วน Spotify ก็จะเขียนคำว่า explicit สีเทา ๆ