Nowadays

ญารินดา แค่ได้คิดถึงก็เป็นสุขใจ

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam

หากเราลองพูดช่ือ ญารินดา ภาพแรกที่เด้งขึ้นมาในหัวของทุกคนคือสาวผมสั้นสีชมพูช็อคกิ้งพิงค์ กับเพลงเพราะตลอดกาลอย่าง แค่ได้คิดถึง แต่หลายคนอาจไม่รู้จักหรือลืมนึกไปถึงบทบาทอื่น ๆ ของเธอนอกเหนือจากการเป็นนักร้องมากความสามารถ ยิ่งช่วงนี้ที่เธอห่างหายไปจากงานดนตรีก็ยิ่งทำให้เราสงสัยว่าเธอหนีไปจับงานด้านอื่นอยู่หรือเปล่า ฟังใจซีนก็อยากรู้และอยากเจอเธอเหลือเกิน วันนี้เราจึงนัดมาจิบน้ำผักผลไม้กันแบบเฮลตี้ ๆ พลางพูดคุยถึงวันเก่า ๆ และอัพเดทชีวิตช่วงนี้ของเธอให้ทุกคนได้ทราบกัน

1

Part 1: The trails she belongs to

ขอย้อนไปตั้งแต่แรกสุด เข้าวงการมาได้ยังไง

เริ่มเขียนเพลงตั้งแต่ตอนอายุประมาณ 15-16 ตอนนั้นเรียนอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษ เราก็เขียนไปเรื่อย ๆ แล้วก็เริ่มอยากแชร์ให้คนอื่นฟังเลยทำเป็นเดโม่เทป ช่วงนั้นมีค่ายเพลงอยู่ไม่กี่ค่าย แล้วค่ายที่มีศิลปินที่เราชื่นชอบที่สุดก็คือแกรมมี่ เราก็เลยเอาเดโม่ไปที่ตึก แล้วโชคดีที่มีโอกาสได้นัดคุยกับพี่ดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) พอเอาให้ฟังแกก็คงถูกใจมั้ง หรือคุยถูกคอก็ไม่รู้ ก็เลยตัดสินใจว่าลองมาเล่นกันดู แต่ว่าตอนนั้นยังเรียนอยู่มัธยม เลยตัดสินใจกันว่าเดี๋ยวเรียนจบ ม.6 แล้วค่อยกลับมาทำ แต่ตอน ม.6 เอนท์ติดคณะสถาปัตย์ของ Cornell ที่อเมริกาซึ่งเราอยากเรียนมาก แต่ขณะเดียวกันก็อยากทำเพลงด้วย ไม่รู้จะทำยังไง เลยปรึกษากับพ่อแม่ ทีนี้พ่อกับแม่ก็บอกว่าไหน ๆ ก็เอนท์ติดแล้วลองไปเรียนก่อนไหม ถ้าเกิดไม่ชอบยังไงก็กลับมาทำเพลงได้ แต่ถ้าชอบขึ้นมาก็เหมือนเราได้โอกาสค้นพบตัวเองในอีกด้านที่เราสนใจ ก็เลยไปเรียนต่อ ตอนเรียนก็ปรากฏว่าชอบมาก ช่วงนั้นก็เขียนเพลงไปด้วยเพราะยังอยากทำเพลงอยู่ ไม่ได้อยากทำน้อยลงเลย พอจบปีหนึ่งก็เลยตัดสินใจดรอปแล้วกลับมาทำอัลบั้มที่เมืองไทย ก็เป็นอัลบั้มแรกออกมา พอเสร็จปุ๊บมันก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปเรียนหรือจะเลิกเรียนแล้วมาทำเพลง แต่ความที่ชอบที่นั่นและกลัวตามเพื่อนไม่ทันก็เลยตัดสินใจกลับไปเรียนยาว ๆ ให้จบ ระหว่างนั้นเราก็เล่นดนตรี แต่งเพลง ไม่ต้องออกเทปก็ได้ พอเรียนจบปริญญาตรีถึงค่อยกลับมาลุยงานเพลงต่อ

เพลงที่เราแต่งได้ถูกเอามาไว้ในอัลบั้มไหม

มีประมาณ 5 เพลงค่ะ ก็โชคดีมากที่ทีมพี่ ๆ เขาก็ให้โอกาสแล้วก็ช่วยติวเข้ม ทั้งพี่ดี้ พี่นิ่ม (สีฟ้า) บรูโน่ พี่แว่น พี่เจี๊ยบ ทุกคนช่วยกันเต็มที่ เหมือนเราส่งเนื้อเพลงที่เราเขียนไปให้เขาตรวจการบ้านเรา ช่วยแก้เนื้อเพลง ตบซ้ายตบขวาให้ ตอนนั้นรู้สึกพอใจนะว่าเราอายุแค่ 19 แต่เขาให้โอกาสเราทำเพลงที่เราเขียนออกมาตั้งครึ่งอัลบั้ม

กลัวไหมที่ตอนนั้นเพลง แค่ได้คิดถึง ดังมากจนคนไม่ค่อยพูดถึงเพลงอื่นและจะกลายเป็น one hit wonder

คิดค่ะ ตอนนี้ก็ยังคิดอยู่ เพราะเพลงนั้นมันเพราะจริง ๆ แต่ไม่ใช่เพลงที่เราเขียน มันเป็นเพลงที่ตอนนั้นออกมาก็ไม่ได้ดังเมื่อเทียบกับตอนนี้ คือถึงจะถูกปล่อยมาเป็นเพลงอันดับหนึ่ง แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนร้องอยู่จนถึงตอนนี้ อาจจะเป็นเพราะเพลงนี้คือเพลงโปรดของพี่นิ่ม แล้วพี่ดี้ก็ชอบด้วย เวลามีคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ ของ Green Wave เขาก็จะเอากลับมาร้องกัน และเพราะความที่เขาเอากลับมาร้องบ่อย ๆ นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ฮิตในหมู่คนฟังมากกว่า

ไม่ใช่ว่าเกิดดังขึ้นมาเพลงเดียวแล้วน้อยใจเลยกลับไปเรียนต่อ

ไม่ได้รู้สึกตรงนั้นเลยค่ะ คือตอนที่ออกอัลบั้มหนึ่งมามันคือหมดเวลาสำหรับตรงนี้แล้ว เราอยากเรียน แต่เราก็คุยกับพี่ดี้ว่าอัลบั้มต่อไปจะทำยังไง จะดรอปอีกหรอ แต่เรารู้สึกว่า โห เรียน ๆ ดรอป ๆ มันก็ไม่จบสักที แล้วเรื่องเพื่อนที่เราต้องปรับตัวอีก ก็เลยลุยเรียนไปยาว ๆ เลยดีกว่า

ช่วงที่กลับมาก็พบว่าญารินดาหันไปทำเพลงนอกกระแส

พอกลับมาเราก็ขนเพลงกลับมาอีก พอถึงตอนนั้นเราโตขึ้น ก็อยากควบคุมการผลิตงาน การแต่งเพลงของเราได้มากขึ้นด้วย ในตอนแรกก็เอาเพลงไปคุยกับพี่ดี้ว่าจะยังไงต่อดี คุยไปคุยมาแล้วเรารู้สึกว่า ด้วยตัวเนื้อหาของเพลง วิธีการแต่ง แนวทางที่เราอยากจะทำออกมาในแบบของเรา มันไม่ใช่เพลงที่เหมาะที่จะอยู่กับแกรมมี คือเพลงนั้นมันไม่แมสพอ แล้วตอนนั้นเราก็ไม่อยากที่จะปรับเปลี่ยนเพลงของเราให้มันแมสขึ้น ซึ่งเราเองก็อยากรู้ว่าจะทำทุกอย่างเองได้หรือเปล่า ก็เลยลองมาทำกับเพื่อนดีกว่า จะได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนเลย ตั้งแต่แต่งเพลง จนเรียบเรียง เข้าห้องอัด จัดคิวหาโชว์เอง คุมการผลิตเอง ขายเอง ทำบัญชีเอง

แล้วการออกมาทำเองนี่ยากไหม

ยากนะ แต่เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลยด้วยความที่เราเริ่มจากศูนย์ ทุกอย่างใหม่หมด ดังนั้นมันก็เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ที่สนุกมาก ลองผิดลองถูกกัน แล้วมันไม่มีใครเอาเงินมาลงทุนกับเราแบบที่เราต้องรู้สึกเครียดเพราะกลัวว่าจะทำบริษัทเขาเสียหาย อยากทำอะไรก็ทำได้เต็มที่ ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เอาซีดีไปขายงาน Fat Festival ที่แดนเนรมิต เพราะก็ไม่ได้ทำเพลงมานานมากแล้ว ตอนที่ออกกับแกรมมี่มันก็ไม่ใช่กลุ่มเพลงอินดี้ ก็นั่งติดสติ๊กเกอร์ปกกันเองที่บ้าน ลองทำไป 300 แผ่น ปรากฏว่าขายไปขายมาก็ต้องทำเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนเป็น 6,000 แผ่น ซึ่งเราก็ เฮ้ย ขายหมดเร็วมาก แล้วตอนหลังก็ไปผูกกับ B2S ร้านน้องท่าพระจันทร์ ดีเจสยาม พอมันได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีกำลังใจมากขึ้น มีงานโชว์ไปเล่นที่นั่นที่นี่

2

ที่ไม่อยากไปออกกับค่ายใหญ่เพราะอยากคงเนื้อหาส่วนตัวที่ต้องการจะสื่อในเพลงนั้น ๆ ไว้หรือเปล่า

มันไม่เกี่ยวกับความส่วนตัวเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มันเป็นทิศทางของเนื้อหา ทำนอง วิธีการเรียบเรียง ซึ่งเราอยากทดลองอะไรใหม่ ๆ ซแล้วบริษัทใหญ่ ๆ เขามีพนักงานมากมายที่เขาต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บางทีเขาก็ไม่สามารถเสี่ยงมาทดลองกับเราได้

การมาร่วมงานกับสมอล์ลรูม

พอออกมาทำเอง เรากับเพื่อน ๆ ในวงทุกคนชอบมาก แต่ข้อเสียคือเหนื่อย เวลาไปเล่นโชว์ต้องแบกเครื่องดนตรีไปเอง ต้องรับนัดเอง เวทีก็ต้อง sound check กันเอง อย่างตอนอยู่กันบนเวทีคนนึงต้องวิ่งไปฟังที่เคาน์เตอร์แล้ววิ่งกลับมา คือในแง่ของการทำงานด้านอื่น ๆ มันเหนื่อยมาก ทุกคนก็เลยคุยกันว่าจะเอายังไงต่อดี เข้าค่ายดีไหม แต่เราก็รู้แล้วว่าอะไรที่เราชอบ ไม่ชอบ อะไรที่เราอยากทำ ไม่อยากทำ ก็เลยคิดมาว่า การเข้าค่ายคือเพราะเราต้องการความช่วยเหลือในแง่ไหนบ้าง เรื่องการโปรดิวซ์เพลง การเรียบเรียง การแต่งเพลง เรากับเพื่อน ๆ ช่วยทำกันเองแล้วเราแฮปปี้ แต่เราอยากให้ค่ายช่วยเหลือด้าน marketing เวลาไปทำโชว์ หรือให้สถานที่อัด ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้พอเข้าไปคุยกับพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) กับพี่เจ (เจตมนต์ มละโยธา) ที่สมอลล์รูมก็คุยกันถูกคอ แล้วก็เห็นเหมือนกัน เขาก็ให้โอกาสเรา ก็รู้สึกว่านี่น่าจะเป็นที่ที่น่าอยู่เลยมาอยู่ที่ค่ายนี้

การทำงานในสมอลล์รูมแตกต่างกับตอนที่อยู่แกรมมี่ไหม

เปรียบเทียบไม่ได้ค่ะ เพราะแกรมมี่เราทำตอนอายุ 19-20 ตอนที่กลับมาใหม่ ๆ ในขณะที่ตอนเราไปสมอลล์รูมเรามีผลงานที่เราทำเองที่พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำได้นะ

ไปเจอเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ในวงได้ยังไง

เป็นเพื่อน หรือเพื่อนของเพื่อน หรือบางคนที่เราไปนั่งฟังเพลงที่บาร์แล้วเห็นเขาเล่นเก่งมากก็ชวนมา อย่างโป้ ประกาศชัย สิงหนาท ที่เล่นทรัมเปต เราไปเจอเขาที่บราวน์ชูการ์แล้วเห็นเขาเล่นทรัมเปตเป็นเอกลักษณ์มาก ไม่เหมือนใครเลย ก็เดินเข้าไปคุย ชวนเขามาเล่นด้วยกัน แล้วเขาก็บ้าจี้ แบบ มาดิ เอาดิ ก็เป็นแนวนั้น คนอื่นก็จะเป็น connection กัน และกลายเป็นการรวมตัวกัน

วงการเพลงไทยมันไม่ได้ขึ้นอยู่เฉพาะที่คนทำเพลง แต่มันอยู่ที่คนฟังเพลงด้วย

การออกผลงานในชื่อ Yarinda & Friends

ช่วงที่เราออกมาทำเองใหม่ ๆ ก็ใช้ชื่อญารินดา ตั้งแต่ EP High on Dreams แต่เพื่อนเรามีบทบาทในการทำงานมาก ถ้าไม่มีเพื่อน ๆ นี่เราก็ทำไม่ได้ ตอนอัลบั้ม Try to be Nice ก็คิดว่า ไหน ๆ เราก็ทำด้วยกันแล้วออกเป็นวงแล้วกัน ถ้าออกเป็น Yarinda เฉย ๆ คนก็อาจจะคิดว่าเป็นคนเดียว แต่จริง ๆ มีคนมาช่วยเยอะแยะเต็มไปหมด ก็เลยออกในนามของ Yarinda & Friends แทน

การทำงานตั้งแต่ EP High on Dreamsและ 121 Thurston

ส่วนใหญ่จะอยู่กันที่ห้องรับแขกบ้านเพื่อน คือทุกคนมีงานประจำของตัวเองจก็ะนัดเจอกันทุกเย็นแล้วนั่งซ้อมดนตรี เล่นดนตรี อัดเดโม่กันในห้องรับแขก มันเป็นการทดลอง เป็นการมาแจมกัน เพื่อนบางคนที่เล่นดนตรีไม่เป็นก็มาช่วยเคาะนั่นเคาะนี่ มาร้องประสาน คนเกือบสิบคนแน่ะ บางทีเวลาขึ้นเวทีก็มากันเต็ม มี featuring เยอะแยะไปหมด เป็นการทำงานที่สนุกมาก แต่ก็วุ่นวายมากเหมือนกัน เพราะไม่ค่อยมีระบบระเบียบเท่าไหร่

ได้วัตถุดิบและแรงบันดาลใจในการทำเพลงจากที่ไหน

ส่วนใหญ่ก็รอบ ๆ ตัวค่ะ สิ่งที่เราเจอ สิ่งที่เราอ่าน สิ่งที่เราเห็นในทีวี เรื่องของเพื่อน อะไรที่มีคนมาเล่าให้ฟัง หรือเพลงบางเพลงที่แต่งกับเพื่อน ก็คือเรื่องของเขาที่มาเล่าแล้วเรารู้สึกเห็นด้วย จริงอย่างที่เขาว่า ก็เลยมาทำต่อด้วยกัน

ทำไมเพลงในอัลบั้ม Try to be Niceถึงได้ออกมาหม่น ๆ เป็นส่วนใหญ่

มันเป็นเรื่องช่วงวัยของเราในแต่ละอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็นมุมมองที่เรามีต่อสิ่งรอบตัว หรือคนรอบข้าง หรือความสัมพันธ์ของเรากับแฟน ซึ่งตอนนั้นต้องถือว่าเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ค่อนข้างจะยาก เพราะแฟนอยู่เมืองนอก เราอยู่เมืองไทย ซึ่งก็ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว เพิ่งเริ่มทำงาน ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของอะไรหลาย ๆ อย่าง เลยค่อนข้างดาร์ค เทียบกับอัลบั้ม Schools ที่สดใสกว่ามาก

อะไรทำให้เอาวงดุริยางค์เข้ามาเป็นองค์ประกอบของเพลงในอัลบั้ม Schools

จริง ๆ เราชอบเครื่องดนตรีเยอะ ๆ อยู่แล้วมาตั้งแต่แรก ถ้าได้ย้อนกลับไปในเพลง แค่ได้คิดถึง ตอนนั้นเราคุยกันว่าเราชอบออร์เคสตราทั้งวงนะ แต่ในความเป็นจริงมันยากที่จะทำให้ได้แบบนั้น แค่ได้คิดถึง มันถึงได้มีเครื่องดนตรีเยอะมากแต่จะใช้เสียงซินธ์เป็นส่วนใหญ่ พอเราเริ่มมาทำ Try to be Nice เอง เราก็เริ่มที่จะเอาเครื่องดนตรีนั่นนี่มาใส่มากขึ้น แต่พออัลบั้ม Schools ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วก็ลองมันทั้งหมดเลย ทั้งวงดุริยางค์ french horn วง quartet ซึ่งสนุกมากในการทำงานแต่ละขั้น เราก็ได้ลองใช้สถานที่ในการผลิตที่ต่างไป อัดในสนามบาส หรือว่าไปอัดกันในสระว่ายน้ำ ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การทดลองด้วย

การเอาวงดุริยางค์มาใส่ในวงทำให้ทิศทางของเพลงเราถูกบังคับให้มีกลิ่นอายสดใสขึ้นกว่าชุดก่อนหรือเปล่า

ก็ไม่นะคะ ถ้าดูในอัลบั้มนั้นก็จะมีหลายเพลงที่ไม่สดใส แต่ก็ใช้เครื่องดนตรีออร์เคสตรา เครื่องสาย อะไรแบบนี้ แต่ด้วยเพลงคู่กันมันเริ่มมาด้วยความสดใสอยู่แล้ว คืออัลบั้มนี้แต่งเพลงกับพี่เชาว์ (เชาวเลข สร่างทุกข์) หลายเพลงมาก แล้วเพลงคู่กันคือนั่งคุยกับพี่เชาว์ว่า เฮ้ย เราอยากเขียนเพลงรักในมุมที่ไม่ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่แบบฉันรักเธอเพราะอะไรหรือมีอะไรที่มันดูดีพ คือมันเหมือนย้อนไปสมัยก่อน เราแอบชอบใครก็เอาชื่อเรากับชื่อเขามาเขียนแล้วแปลงเป็นตัวเลข เอามาบวกกันว่าได้กี่เปอร์เซนต์ จะไปรอดไหม อยากได้อารมณ์อย่างนั้นก็เลยเป็นเพลง idiot เนื้อหาไม่ได้มีเหตุผลอะไร แบบ เฮ้ย เธอใส่เสื้อเหมือนเราต้องเป็นเนื้อคู่เราแน่ ๆ เลย เป็นการรวบรวมความปัญญาอ่อนทั้งหลายของการชอบใครสักคนแล้วพยายามหาเหตุผลมาโน้มน้าวจิตใจทั้งที่เป็นเหตุผลงี่เง่า ซึ่งตัวเนื้อหามันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเอาดุริยางค์มาเล่น หรือจะไปเล่นกับน้อง ๆ มัธยมมันก็ดูเหมาะสมกับวัยของเนื้อเพลง แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับวัยของคนร้อง (หัวเราะ)

3

ทำไมถึงเลือกตีความ Heroes ให้ออกมาเป็นเพลงเศร้า

อันนี้จริง ๆ เป็นเพลงที่พี่เจเขียน ซึ่งตอนนั้นพี่เจบอกว่า มันก็มีด้านที่คนก็มองฮีโร่เป็นฮีโร้ที่เก่งกาจ ปราบเหล่าร้าย มีพลังวิเศษ ไม่ว่าจะเป็น Batman Ironman Superman แต่จริง ๆ มันก็มีด้านดาร์ค ซอฟท์ อ่อนแอของพวกเขานะ เลยคิดว่าถ้าเลือกเอามุมนั้นมาเล่ามันน่าจะต่างออกไป เกี่ยวกับอะไรที่มนุษย์คนอื่น ๆ สื่อถึงหรือสัมผัสได้ได้มากกว่าฮีโร่ที่จับต้องบางอย่างไม่ได้

แนะนำให้คนฟังฟังเพลงไหนมากที่สุด

ฟังทุกเพลงเลยละกันค่ะ (หัวเราะ) นึกไม่ออก เพราะมันไม่เหมือนกันเลย

ได้ร่วมงานกับ Greasy Cafe และ Singular ด้วย

จริง ๆ พี่เล็ก Greasy Cafe ก็เป็นเพื่อนร่วมค่ายตั้งแต่ที่สมอลล์รูมแล้ว แล้วพี่เล็กก็ชวนไปร้องเพลง ร่องน้ำตา ซึ่งเราก็ชอบเพลงพี่เล็กอยู่แล้ว คือวิธีการเขียนของพี่เล็กนั้นเป็นกวีจริง ๆ ก็ง่าย ๆ แต่ผลตอบรับก็โอเค ส่วนซิน Singular รู้จักมาตั้งแต่ทำอัลบั้มแรกผมสีชมพูแล้ว คือซินเป็นแฟนคลับ แล้วก็เป็นน้องที่น่ารักมาก มาช่วยทำเว็บไซต์ให้ พอเขาออกอัลบั้มก็โด่งดังมาก ชวนเราให้ไปร้องด้วยกัน เราก็ยินดี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งคู่

รู้สึกยังไงตอนได้รางวัลจากสีสันอะวอร์ดส์ และคมชัดลึกอะวอร์ดส์ ชีวิตของเราเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน

ชีวิตไม่เปลี่ยน แต่รู้สึกภูมิใจมากว่า มันก็เป็นอีกอย่างที่พิสูจน์ตัวเรากับเพื่อน ๆ ว่าช่วยกันทำเองก็ได้ หรือว่า แนวเพลงแบบนี้มันก็ยังมีคนที่ appreciate ในลักษณะการทำงานแบบนี้อยู่

Feedback ของแต่ละอัลบั้มแตกต่างกันไหม

ตอบยากเพราะเราสนุกกับการทำงานมาก เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วความสำเร็จของการที่ได้ทำ และทุก ๆ วันที่เราได้ทดลองนั่นนี่ ได้นั่งในห้องอัด มีเพื่อนคนใหม่เอา french horn เข้ามาเป่า ตอนอัลบั้มเสร็จแล้วมาอยู่ในมือมันเหมือนว่าเรา complete แล้ว ไอ้ feedback ที่เราได้รับว่าขายได้เท่าไหร่เนี่ย เราสนใจกับตรงนั้นน้อยมาก เหมือนว่าพอตรงนี้จบเราก็ move on อย่างอัลบั้ม Try to be Nice หรือ Schools เราก็ไม่เคยไปถามสมอลล์รูมนะว่าขายได้เท่าไหร่ (หัวเราะ) รู้สึกโอเคกับทุกอัลบั้มที่ได้ทำ พอทำเสร็จ ได้เห็นภาพรวม ได้เห็นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นที่ใส่เข้าไป หรือเนื้อหาในเพลง มันก็เหมือนเป็นไดอารี่ของเรา

อนาคตถ้าได้ทำเพลงคิดว่าจะลองเอาเครื่องดนตรีแปลก ๆ อันไหนมาใช้อีก

เราไม่ได้แพลนล่วงหน้า เพราะงั้นเนื้อหาเพลงจะเป็นยังไงก็คงต้องไปดูเอาตอนนั้น ช่วงนี้พักไปยาวเลยตั้งแต่ช่วงไปเรียนปริญญาโท ยุ่งมาก พอกลับมาแล้วก็เหมือนเขียน ๆ แล้วก็ทำอยู่บ้าง แต่พอจะออกอัลบั้มก็ท้อง แพลนตรงนั้นก็เลยหยุดไป พอมีลูกก็เลยกลายเป็นความสนใจใหม่ เราก็เลยไม่ได้เขียนเพลง

เราสนุกกับการทำงานมาก เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วความสำเร็จของการที่ได้ทำ และทุก ๆ วันที่เราได้ทดลองนั่นนี่ ได้นั่งในห้องอัด มีเพื่อนคนใหม่เอา french horn เข้ามาเป่า ตอนอัลบั้มเสร็จแล้วมาอยู่ในมือมันเหมือนว่าเรา complete แล้ว ไอ้ feedback ที่เราได้รับว่าขายได้เท่าไหร่เนี่ย เราสนใจกับตรงนั้นน้อยมาก

Part 2: Amazing Nina

การเป็นคนหลายบทบาท ทั้งนักดนตรี นักแสดง พิธีกร อาจารย์ สถาปนิก เคยพบปัญหาที่จะต้องปรับตัวเวลามีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่าง ๆ บ้างไหม

ปกติเราไม่ค่อยปรับตัวนะ เราก็ค่อนข้างจะเป็นตัวของตัวเอง เสแสร้งไม่ค่อยเป็น ก็เป็นของเราแบบนี้ แต่ว่าส่วนใหญ่คนทุกคนที่เราสนิทหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คือถึงจะเป็นคนละสายงาน คนละวงการ ก็จะเป็นคน creative เหมือนกันหมด ยังไม่เคยเจอปัญหานะ หรือมีปัญหาแล้วก็ไม่รู้ (หัวเราะ)

อยากให้คนมองญารินดาว่าเป็นคนแบบไหน

ยังไงก็ได้ค่ะ ไม่ซีเรียส

ลูกศิษย์แอบกระซิบมาว่าตอนสอนจะดุมาก

ปกติเป็นคนละเอียดอยู่แล้ว จริงจังมากเวลาสอน เพราะเรารู้สึกว่า… ไม่รู้สิ คืออยากให้ได้ใช้เวลาได้คุ้มค่าที่สุด

รู้สึกท้าทายไหมพอต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่าง

แบ่งเวลายาก อันนั้นจะเป็นปัญหามากที่สุด ด้วยความที่เป็นคนชอบอะไรหลายอย่าง แล้วบางอย่างพออยากทำก็ปฏิเสธไม่ลง มันก็จะมีปัญหาเรื่องไม่มีเวลาให้กับทุกอย่าง หรือถ้าเราอยากใช้เวลาให้มากกว่านี้มันก็มักจะไม่พอ

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักแสดง

ชอบการแสดงมานานแล้ว เล่นละครเวทีตั้งแต่สมัยมัธยม แล้วก็เคยไปฝึกงานกับโรงละครซึ่งเราอินกับตรงนั้น แต่พอเรามาร้องเพลง แล้วทำสถาปัตย์ด้วย เวลามันก็หมดไปกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว มันหยุดยาวไปเลย เพิ่งจะมีโอกาสได้มาค้นพบความชอบอันนี้อีกครั้งตอนที่ได้ไปร่วมงานกับ GTH ซึ่งตอนนั้นทีมนักแสดง ทีมผู้กำกับ น่ารักมาก สนุกมาก วิธีการทำงานเหมือนเราได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ หรือศาสตร์ที่เราไม่ได้ให้ความสนใจมานานแล้ว

การได้รับบทนำในเรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว

เขาติดต่อมาให้ไปเล่นว่าบทเป็นประมาณนี้ พระเอกนางเอกเป็นคนสูงอายุ เราฟัง ๆ เรื่องแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจมาก พอตัดสินใจทำแล้วก็ได้ไปเรียนแอคติ้งกับพี่เงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) แล้วตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันสนุกมาก ก็เลยได้ไปเล่นละครเวที กุหลาบสีเลือด ด้วย แล้วก็กลายมาเป็นเพื่อนกัน

4

พูดถึงความแตกต่างในการทำงานกับโปรดักชันภาพยนตร์ ความจำสั้น ฯ อินทรีแดง และละครเวที กุหลาบสีเลือด

ลักษณะการทำงานเวลาอยู่ในแต่ละทีมมันจะไม่เหมือนกัน เหมือนใน อินทรีย์แดง พี่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เขาจะเป็นคนเน้นภาพมาก แล้วเขาจะเป๊ะในแง่ composition หรือ blocking เพราะฉะนั้นในเชิงของนักแสดงมันจะเน้นว่าเราควรจะยืนอยู่ตรงไหน หรือต้องหันไปทางไหน เพื่อให้ภาพออกมาได้สวยที่สุด ในขณะที่ทำงานกับพี่เงาะใน ความจำสั้น ฯ หรือ กุหลาบสีเลือด เนี่ย จะเกี่ยวกับการแสดงค่อนข้างเยอะ ในแง่วิธีการถ่ายทอดว่าเรารู้สึกอย่างไร หรืออินเนอร์เราตอนนั้นเข้ากับนักแสดงแต่ละตัวหรือเปล่า ซึ่งมันก็เป็นคนละแบบกันเลย ต้องทำการบ้านเยอะเหมือนกัน

ชอบทำอะไรในบทบาทเหล่านี้มากที่สุด

เลือกไม่ได้ค่ะ เพราะเราทำเพราะเราชอบ ถือว่าเราโชคดีที่มีโอกาสให้ได้ทำ แล้วก็มีโอกาสได้เลือก ถ้าเราไม่ได้รับโอกาสให้ทำตรงนี้เราก็คงไม่รู้

ตอนนี้ทำอะไรอยู่

สอน International Program in Design and Architecture (INDA) ที่จุฬา ฯ อยู่ แล้วก็เป็น design director อยู่ที่บริษัทออกแบบชื่อ Hypothesis แล้วก็กำลังจะมีมินิซีรีส์ช่อง GMM 25 เริ่มถ่ายเสาร์นี้ อันนึงน่าจะ on air ช่วงพฤศจิกายน อีกอันไม่รู้ว่าต้นปีหน้าหรือเปล่า ยังไม่รู้เรื่อง timing มีอยู่สองอันค่ะตอนนี้ที่แพลนงานอยู่

ถ้าไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลยจะไปอยู่ตรงจุดไหน

เลี้ยงลูกค่ะ คือ ณ จุดนี้นะ ชัวร์ ๆ

บทบาทใหม่กับการเป็นแม่

มันเปลี่ยนไปเลย ตอนนี้คือเวลาที่เราว่างพอกลับมาบ้าน ปกติที่เราเคยเล่นดนตรี เขียนเพลง เราก็เล่นกับลูก ให้มาเขียนเพลงแทนเราก็ไม่เอา น้องไทรนี่มันมาก เป็นคนที่แอคทีฟมาก คือจะเล่นไม่หยุดเลยจนหลับ

มีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำไหม

ไม่มีค่ะ ไม่อยากเรียกว่า complete เพราะอาจจะมีอะไรที่เรายังไม่รู้จัก ที่นึกไม่ถึง ที่จะมีคนติดต่อมาในอนาคต หรือมีโอกาสที่พอได้ไปลองทำแล้ว โห ชอบมาก ก็อาจจะมีก็ได้ ไม่ได้รู้สึกว่าจบแค่ตรงนี้ เพราะชอบลองอะไรใหม่ ๆ แต่ก็ไม่มีเวลา แค่นี้ก็ล้นแล้ว

มีหลายคนที่ยกให้ญารินดาเป็นไอดอล รู้สึกยังไง

ยินดีค่ะ… ปลิ้มค่ะ (หัวเราะ)

แฟน ๆ บ่นคิดถึงขนาดนี้จะมีโอกาสกลับมาทำเพลงไหม

อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้บอกว่าเราจะไม่ทำแล้ว แต่เราไม่มีแผนตอนนี้ คือเราก็อยู่กับปัจจุบัน enjoy กับตอนนี้ แล้วอยากใช้เวลากับลูกให้ได้มากที่สุด โปรเจคอื่น ๆ ที่เรามีตอนนี้ก็ค่อนข้างจะเยอะมาก พวกงานสถาปัตย์มีอยู่หลายงานที่ทำกับออฟฟิศ อยากทำให้ดีเหมือนกัน ก็เลยพักเรื่องเพลงไว้ก่อน

ฝากอะไรทิ้งท้ายไว้หน่อย

ฝากอะไรดี (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันมีเพลงใหม่ ๆ ออกมาเยอะมาก ทั้งในเมืองไทยและในโลกที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในแง่การทดลอง การทำเพลง การเขียนเพลง ใส่ลูกเล่นนั่นนี่อะไรใหม่ ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มันง่ายมากที่เราจะหาเพลงอะไรแบบนี้ฟัง มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไปร้านเทปแล้วไม่มี แบบ ยากมาก ตอนนี้เราเสิร์ชทุกอย่างได้หมดเลย เพราะงั้นก็อยากให้ลองค้นหาดูว่าอะไรที่ตัวเองชอบ ลองหามาฟัง คือวงการเพลงไทยมันไม่ได้ขึ้นอยู่เฉพาะที่คนทำเพลง แต่มันอยู่ที่คนฟังเพลงด้วย ถ้าคนฟังเพลงเรามีรสนิยมที่กว้างขึ้น และยอมรับแนวเพลงต่าง ๆ มากขึ้นได้ ก็จะช่วยให้วงการของเรามีเพลงที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

เจ้าตัวฝากไว้แล้วขนาดนี้ ฟังใจซีนก็ขอฝากด้วยอีกคนถึงใครที่ยังไม่หายคิดถึงญารินดา สามารถตามไปอัพเดทความเคลื่อนไหวของเธอกันที่ official fanpage และรับฟังเพลงของ Yarinda & Friends บนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้