ก้อ ณฐพล การกลับมาในรอบหลายปี พร้อมจับมือคนดนตรีร่วมกันถ่ายทอดวิถี Funk
- Writer: Montipa Virojpan
- Photos: SpicyDisc
ปกติเราจะเห็นชื่อของ ก้อ—ณฐพล ศรีจอมขวัญ ในฐานะศิลปินเดี่ยวที่ทำเพลงรักสุดเพราะ ทั้ง กรุณา และ ฉันหวังว่าฉันผิด แต่หลายคนลืมนึกไปว่าอันที่จริงเขาเป็นหนึ่งในผู้ปลุกปั้นวงดนตรีในตำนานทั้ง POP, Groove Riders รวมถึงโปรเจกต์ The BoyKor และ The Ghost Cat ทั้งยังเป็นโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานให้ศิลปินหลายคนในวงการ และตอนนี้เขากลับมาแล้วกับอัลบั้ม Funk ที่เขาภูมิใจนำเสนอดนตรีแนวใหม่แบบที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ตอนนี้เราก็กำลังจะได้พูดคุยกับเขาว่าก่อนหน้านี้หายไปไหนมา และกำลังทำอะไรอยู่บ้าง
จริง ๆ ไม่ได้หายไปเท่าไหร่เพราะว่าทำงานเพลงตลอดเลย เพียงแต่ว่าในฐานะศิลปินเดี่ยวที่ออกอัลบั้มมาในชื่อ ณฐพล ศรีจอมขวัญ น่ะหายไปนาน น่าจะประมาณ 5-6 ปีได้ แต่ว่าระหว่างนั้นก็ทำโปรเจกต์เยอะแยะไปหมดเลย ตั้งแต่ The BoyKor, The Ghost Cat แล้วก็ทำงานเบื้องหลังให้กับศิลปินต่าง ๆ ทั้งในค่ายและนอกค่ายก็ยัง active พอสมควร แต่ตอนนี้ The Ghost Cat พักโปรเจกต์ไปก่อนครับ เพราะว่าเรากำลังคุยกันอยู่ว่า เอ… เราจะเดินหน้าต่อในรูปแบบไหนดี บวกกับคนนู้นก็จะไปทำอัลบั้มใหม่ของตัวเอง คนนี้ทำสตูดิโอ อะไรแบบนี้
อะไรทำให้กลับมาทำอัลบั้มของตัวเองอีกครั้ง
ตอนแรกไม่ได้คิดจะมาทำอัลบั้มเป็นชื่อตัวเอง แต่ว่ามีอยู่ช่วงนึงที่เราว่างแล้วเราอยากทำโปรเจกต์อะไรซักอย่าง เลยเริ่มที่จะทดลองงานดนตรี แต่งเพลงใหม่ ๆ ทำในวิธีใหม่ ๆ พอทดลองไปได้ซักระยะนึง เห็นมันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา รู้ว่ามันจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ก็เลยสรุปขึ้นมาได้ว่า เพลงต่าง ๆ ที่เราทำมันมีความเป็นดนตรีแนวจังหวะอยู่ รู้ตัวว่ายังชอบดนตรีดิสโก้ ฟังก์ แบบที่เราเคยทำกับ Groove Riders แต่พอจบจากตรงนั้นเราก็ไม่ได้ทำแนวนั้นอีกเลย ก็รู้สึกว่าเราก็คงจะอยากกลับมาทำเพลงแนวนี้แหละ เพียงแต่จะทำยังไงให้มันออกมาเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ได้ย้อนกลับไปทำแบบตอน Groove Riders ที่เคยถูกทำออกมาแล้ว ทำแบบเดิมไปก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ ทีนี้ก็เลยมีโจทย์ว่าจะทำยังไงให้เป็นฟังก์ในแบบของ ณฐพล ศรีจอมขวัญในปี 2017 แล้วเราก็ค่อย ๆ พัฒนางานอันนี้ขึ้นมาโดยใช้โจทย์นั้นแหละ แล้วก็รู้ว่าเราอยากทำดนตรีแนวฟังก์ที่มีส่วนผสมของดนตรีสดกับอิเล็กทรอนิก นำสองอย่างนี้มาผสมกัน แต่ผสมยังไงให้มันลงตัว อีกโจทย์คือถ้าเราจะทำอัลบั้มเดี่ยวอีกอัลบั้ม สองอัลบั้มที่ผ่านมามันเป็นอัลบั้มที่ผมเป็นคนร้องเอง แล้วก็เป็นดนตรีแบบโซลผสมป๊อป ซึ่งใช้ชื่ออัลบั้มว่า The Workings of the Soul อีกอัลบั้มก็ใช้คำว่า part II ออกมาสองอัลบั้ม มันอิ่มตัวแล้วตรงนั้น ผมเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ชอบเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ดังนั้นพาร์ตนั้นควรจะถูกปิดไปแล้ว นี่มันเป็นเหมือน episode ใหม่แล้ว ก็เลยคิดว่าไม่อยากจะร้องเองแล้ว ลองทำดนตรี แต่งทำนองขึ้นมา แล้วหาอีกคนที่เป็น singer songwriter มาแต่งเนื้อร้องและมาร้อง มันน่าจะได้อะไรใหม่ ๆ เพราะว่าเราเหลือที่ในจานนี้ไว้ครึ่งนึงให้เขาใส่สิ่งที่เป็นเขามา แล้วค่อยมาคนรวมกันเหมือนคนทำอาหารที่ได้นำเอาส่วนผสมใหม่ ๆ เข้ามาปรุงรสเข้าด้วยกัน ยังไม่ได้ทำก็รู้สึกสนุกไปกับมันละ นั่นก็เป็นความรู้สึกคร่าว ๆ ของการเริ่มต้นโปรเจกต์นี้
เลือกคนที่เหมาะจะมาร้องแต่ละเพลงยังไง
เลือกจากคนที่เราชอบ (หัวเราะ) สมมติเราทำเพลงเสร็จปุ๊บ เรารู้อยู่แล้วล่ะว่าเราชอบใคร อยากร่วมงานกับใคร ใครที่จะเหมาะสม สมมติเพลงรุ่นใหญ่ พอทำเสร็จแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มันมีความแสบอยู่นะ จะมีใครในเมืองไทยที่มีความแสบบ้างล่ะ ก็คิดได้แต่พี่คงเดช ซึ่งเป็นศิลปินที่ผมชอบมาตั้งแต่สมัยสี่เต่าเธอ แล้วรู้สึกว่าพี่เขาหายไปนาน ไม่ได้ทำเพลงเลย เลยโทรไปชวนว่ามาทำอะไรสนุก ๆ กันไหม แต่ละเพลงก็แบบนี้แหละครับ
สมมติเขาแต่งเนื้อเพลงมาแล้วก้อต้องเปลี่ยนทำนองตามไหม
ผมจะทำดนตรีคร่าว ๆ ไว้ 70% แล้วฮัมเมโลดี้เข้าไปให้เขา แล้วบอกคนที่จะมาทำด้วยว่า อยากทำอะไรทำเลยนะ อยากจะเปลี่ยนอะไรบอกได้เต็มที่ ไม่มีโจทย์อะไรให้เขา ไม่อยากจะไปบอกเขาว่า ‘เพลงนี้อยากพูดถึงคนรักที่อกหักแล้วไปมีชู้’ อะไรแบบนั้น ลองฟังแล้วชอบไหม ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ก็โชคดีที่ทุกคนชอบ แล้วทุกคนฟังก็มีไอเดียเป็นของตัวเองว่าอยากทำอะไรกับเพลงนี้ ส่วนมากก็ไม่อยากเปลี่ยนอะไรในเพลงผมเท่าไหร่
เครื่องดนตรีที่อัดในเพลงก้อเล่นเองหมดเลยไหม
อัลบั้มนี้มีคุณแชมป์จาก Crescendo และคุณหนึ่ง วินัย จาก Area51 เพลงสักวันก็มีกานต์ The Parkinson เป็นโซโล่พาร์ตตัวเอง
ถ้าให้แทนอัลบั้มนี้เป็นคนคนนึง คิดว่าคนคนนั้นเป็นคนยังไง
น่าจะเป็นคนที่ free spirit พอสมควรนะ เป็นคนที่มีทัศนคติของการอยากทำอะไรก็ทำ ถ้าใช้คำหยาบหน่อยก็เป็นคน ‘ช่างแม่ง’ จริง ๆ ส่วนมากแล้วผมก็ทำโปรเจกต์ของตัวเองเป็นแบบนั้น เพราะติดนิสัยไม่ดีแบบนี้มาตั้งแต่ทำงาน Bakery Music แล้ว แต่อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ทดลองเสร็จแล้วในห้องแล็บ ถึงเอาออกมาให้คนฟัง มันไม่ใช่แบบให้คนมานั่งลองอะไรที่ยังไม่เสร็จ
ขั้นตอนการทดลองของอัลบั้มนี้คืออะไร ต่างจากสองชุดแรกยังไง
สองชุดแรกนั้นเป็นงานที่พยายามจะไม่ใช้ความคิดเลย คือเราแต่งอะไรเสร็จปุ๊บก็เขวี้ยงมันออกมาเป็นเพลงและทำ=เสร็จในเวลาอันรวดเร็ว คือสองอัลบั้มแรกเนี่ย ใช้ความรู้สึกมาก ๆ ไม่ได้พิถีพิถันกับการเรียบเรียงดนตรีหรือการทำซาวด์เท่าไหร่ เพราะเราต้องการเพลงที่จะได้ความรู้สึกเหมือนกับถ่ายรูปด้วยกล้องโพลารอยด์ ถ่ายปุ๊บรูปก็ออกมา มันไม่สามารถที่จะขอใช้แอพรีทัช เพิ่ม saturation หรือ brightness ใส่ฟิลเตอร์นิดนึง ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นงานที่เพียวหรือดิบ คนฟังอาจจะไม่รู้สึกนะ แต่สำหรับผมผมใช้วิธีแบบนั้น
อัลบั้มนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยเพราะเริ่มต้นจากการนั่งอยู่ในห้อง เหมือนเป็นห้องทดลองเอาสารเคมีตัวนี้ตัวนั้นมาใส่ ถ้าไม่ได้ก็เขวี้ยงทิ้ง อย่างเพลงรุ่นใหญ่เนี่ย กว่าจะทำเสร็จใช้เวลาร่วมปีเลย เพราะทำเวอร์ชันแรก ไม่ดี ทิ้ง เริ่มใหม่ คิดไม่ออก หยุดสามเดือน เริ่มใหม่ พอเริ่มดีแล้ว ยังไม่ใช่ ก็เก็บส่วนที่คิดว่าใช่ไว้ แล้วเอาส่วนที่ไม่ใช่ทิ้ง แล้วก็ทำใหม่ ทำแบบนี้หลายเพลงเลย ใช้วิธีแบบนี้ เพราะงั้นเป็นเรื่องของการทดลองเยอะมาก
อะไรที่อยู่ตั้งแต่ต้นจนจบบ้าง
บางครั้งก็มีครับ เช่นเพลง The Diarie เราเริ่มจากกลองที่เป็น preset โง่ ๆ เลย แล้วค่อย ๆ ทำขึ้นมา แล้วก็ลองไปทำกลองแบบอื่น มันไม่ใช่ ฟีลไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องไปเอากลองโง่ ๆ ที่เราเริ่มต้นนั่นแหละ เพราะมันดันเริ่มต้นจากสิ่งสิ่งนั้น แล้วเราก็ add on ไปอีก พอไปเปลี่ยนมันแล้วเหมือนเสาหลักมันพังไปหมดเลย ก็เลยต้องเก็บตรงนั้นเอาไว้แล้วพัฒนาต่อ คือมันเป็นอะไรที่เราคาดการณ์ไม่ค่อยได้สำหรับดนตรีของอัลบั้มนี้
ริฟฟ์เบสเพลงไหนที่ก้อชอบมากที่สุด
เราก็ชอบของเราทุกเพลงนะ แต่ล่าสุดก็คงจะเป็นเพลงรุ่นใหญ่เนี่ยแหละครับ คนอื่นเป็นหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ทุกครั้งที่เราฟังจะรู้สึกว่าอยากจะลุกขึ้นมาทำท่าเนิร์ด ๆ สนุก ๆ ฟังแล้วรู้สึกอินอะ อันนั้นเข้ามาในหัวเร็วมาก แล้วตอนนั้นเราไม่มีเบสก็หยิบเอากีตาร์โปร่งมาเล่น ใช้สายบนสุดของกีตาร์โปร่งแล้วใช้ไอโฟนกดอัด แล้วเราก็เล่นไม่ได้เพราะเราไม่ใช่มือกีตาร์ ก็ใช้วิธีร้องเอา ตั๊ด ต่าดาดั๊ด ต่าดา (ทำเสียงโน้ตเบส) เสร็จแล้วก็มาแปลเป็นไลน์เบสตอนมีเวลา แล้วขยายผลจนกลายเป็นเพลง
อัลบั้ม Funk นี่หลายเพลงเริ่มมาจากไลน์เบสก่อน อย่างเพลง Funk ก็ใช่ รุ่นใหญ่ ก็มาจากไลน์เบส แต่เพลง Evil มาจากไลน์เบสซินธ์ เรากำลังทดลองกับโปรแกรมอะไรบางอย่างแล้วมันก็ออกมาเป็นไลน์นี้ แบบ เฮ้ย เจ๋งว่ะ ก็เก็บตรงนั้นไว้ค่อย ๆ ทำ คงเป็นเพราะผมเป็นมือเบส เวลาทำเพลงเร็ว เพลงที่เป็นกรูฟ มันก็เลยเริ่มมาจากเบสที่เป็นเมโลดี้ อย่างเพลง Hormones หรือ Superstar ก็มาจากเบสก่อน แต่ว่าในอัลบั้มนี้ก็มีเพลง The Diary ที่มาจากการแต่งด้วยคอร์ดเปียโน แล้วฮัมเมโลดี้เข้าไป มันมาจากความรู้สึกว่า แต่ก่อนเราชอบฟังเพลง Girls Just Wanna Have Fun, The Goonies เพลงแบบนั้น ยุค 80s The Lost Boys ภาพแบบนั้นมันเข้ามา กลายเป็นเมโลดี้เพลงนี้โดยอัตโนมัติ พวกหนังเสื่อม ๆ ยุค 80s
แล้วอย่างเพลงเพื่อนซี้ล่ะ
จริง ๆ เพลงนี้ผมแต่งให้ศิลปินคนนึงของค่าย LoveIs แต่แต่งไปแต่งมามันมีท่อนนึงที่ต้องขึ้นเสียงสูง แล้วศิลปินคนนั้นไม่ใช่คนที่ขึ้นเสียงสูงเก่ง มันไม่เข้ากับเขา แต่เขาอะชอบเพลงนี้มากนะ ผมก็บอกว่า เดี๋ยวแต่งให้ใหม่ละกัน ขอเพลงกลับมาก่อน (หัวเราะ) แล้วก็ทำขึ้นมาเอง เนื้อเพลงพี่บอย ตรัย ทำเนื้อร้อง จริง ๆ เพลงนี้่ผ่านการทำเนื้อร้องมาสองรอบ รอบแรกไม่สำเร็จก็เลยรื้อมาทำใหม่อีกรอบ อย่างเพลงนี้ได้ตู่ ภพธร มาร้อง ไม่ได้ตั้งใจให้เขามา featuring เลยนะ แต่ต้องขึ้นเสียงสูง ต้องอาศัยเขา เพราะตู่เป็นคนร้องเพลงในแนว r&b แบบโมเดิร์นซึ่งผมชอบ แล้วมันก็เหมาะกับเพลงนี้ คนที่จะต้องร้องแบบนี้แต่มีกรูฟได้ ก็เลยอยากได้เขา เหมือนจะเล่นมวยปล้ำแต่ต้องใส่หน้ากาก เพราะเพลงนี้ไม่เหมาะมากกับการเป็น ตู่ ภพธร เขาเหมาะจะมาแนวอ้อนสาวหน่อย สาว ๆ ต้องกรี๊ด เพลงนี้มันคนละเรื่อง ก็เลยบอกว่า ตู่ พี่แค่ต้องการความสามารถของตู่ ใช้ชื่อว่า ‘ตี๋ ป๊อปคอร์น’ ก็ได้นะ (หัวเราะ) ตู่บอก พี่ ๆ ใช้ชื่อผมไปก็ได้นะ ไม่ได้ว่าอะไร กลัวเสียภาพพจน์เขาไงตอนแรก ก็เลยเอาเป้ วง Mild มาบาลานซ์กัน เพราะภาพลักษณ์ตู่นี่ขาวใสมาก ยิ้มนี่เหมือนโฆษณานาสีฟันดาร์ลี่ เลยต้องเอา bad boy กับ good boy มาถ่วงดุลกันให้เพลงนี้มีทั้งสองอย่าง ไม่งั้นจะสะอาดเกินไป หรืออย่างเพลง สักวัน ก็แต่งกับเปียโนขึ้นมา ตั้งใจจะแต่งให้ศิลปินอีกคนที่เขาขอให้แต่งให้ แต่แต่งแล้วเขาไม่ชอบ แต่เราชอบ เราก็เลยขอเอากลับมา เป็นเพลงที่ถ้าได้ฟังแล้ว มันจะมีซาวด์อิเล็กทรอนิกที่ผ่านการทดลอง ใส่เอฟเฟกต์ เป็นมู้ดโทน บรรยากาศที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ แต่สามารถหลับตาฟังแล้วจะมองเห็น เหมือนฝุ่นละอองอยู่ในอากาศ เจ๋งดี
อะไรคือรุ่นใหญ่ อะไรคือรุ่นเล็ก
เพลงรุ่นใหญ่นี่ไม่ได้หมายถึงตัวเอง แต่พีอาร์เขาเอาไปทำซะเราเป็นรุ่นใหญ่ ดูซิ ซวยเลย จริง ๆ พี่คงเดชเขาเป็นคนแสบอยู่แล้ว ตอนแต่งเพลงรุ่นใหญ่คือแต่งล้อพวกศิลปินรุ่นใหญ่ที่กร่าง ๆ ที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์พวกนี้ที่คิดว่าตัวเองเจ๋งที่สุด เท่ห์ที่สุดในประเทศ กลับมาแล้ว คนอื่นต้องหลบไป ฉันเท่ที่สุด ไม่เอ่ยชื่อละกันนะ ก็คนประเภทเนี้ย เราอยากจะเข้าไปล้อเขา นึกว่าตัวเองเท่ จริง ๆ แล้วคนก็แอบหัวเราะอยู่ข้างหลังกันทั้งนั้น แต่เราก็ล้อเลียนในแบบน่ารัก ๆ นะ ไม่ได้ไปด่าเขาขนาดนั้น ก็เป็นที่มาของเพลงรุ่นใหญ่ที่เอาไว้แซวศิลปินที่หลงตัวเอง ก็ไม่ได้มีใครชื่นชมเท่าไหร่ แต่อาจจะพูดถึงตัวเราก็ได้เพราะปัจจุบันเราก็อายุมากแล้ว กลายเป็นรุ่นใหญ่ที่มีรุ่นน้องหัวเราะอยู่ข้างหลังด้วยก็ได้เหมือนกัน (หัวเราะ)
สิ่งที่ยากที่สุดหรือท้ายที่สุดในการทำอัลบั้มนี้
จริง ๆ มันก็มีความ challenge หลายอย่าง อย่างนึงก็คือตัวเราเอง ทำยังไงให้เราได้ผลงานในรูปแบบใหม่ที่เราพึงพอใจและภูมิใจจะนำเสนอ ก็อัลบั้มนี้ใช้ชื่อว่า Notapol Srichomkwan presents FUNK ก็คือ ‘ณฐพล ศรีจอมขวัญ ภูมิใจเสนอ ฟังก์’ คำว่าฟังก์นอกจากจะแปลว่าแนวดนตรีแนวนึงแล้ว มันเหมือนกับทัศนคติอย่างนึง และเป็นศัพท์สแลงที่ฝรั่งใช้แทน f word ที่ไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่ มันรู้สึกพอดีกับสิ่งที่เราทำด้วย เราไม่ได้เป็นคนกักขละนะ แต่เวลาจะทำดนตรีอะไรสักอย่างเราจะใช้ความรู้สึกของเราเป็นจุดเริ่มต้น และเราจะไม่ค่อยมองว่ามันจะดังหรือไม่ดัง จะเป็นกระแสอยู่ตอนนี้หรือคนส่วนมากจะชอบหรือเปล่า เรื่องพวกนั้นไม่ค่อยมีผลกับการทำงาน แต่ว่าเราจะใช้ความรู้สึกเราเป็นตัวบอกว่าเราพอใจกับมันหรือยัง ในระหว่างที่เราทำเพลงเพลงนี้เราตื่นเต้นหรือเปล่า ชอบหรือเปล่า (FJZ: มันก็คือการ fuck it?) ถูกต้องเลยฮะ นั่นแหละคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่เราทำ ซึ่งจริง ๆ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรอก แต่ว่าเราถูกปลูกฝังทัศนคตินี้มาตั้งแต่ทำงานที่เบเกอรี่มา 8 ปี เริ่มต้นที่ตัวเรา ไม่ได้เริ่มที่การทำมาร์เก็ตติ้งว่าปัจจุบันดนตรีแบบไหนที่ฮิต รู้สึกว่าเราทำงานศิลปะอยู่ เราต้องสร้างงานอะไรบางอย่างที่เราภูมิใจก่อน เราถึงจะกล้านำเสนอให้คนฟังได้ ถ้าเราไม่ภูมิใจเราก็ไม่กล้าให้ใครฟัง
ได้เรียนรู้อะไรจากการทำอัลบั้มนี้
เยอะครับ จากการที่เราได้ร่วมงานกับศิลปินหลายคน แต่ละคนสอนผมเยอะ อย่าง ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เนี่ย เราส่งเพลงไปให้เขานานแล้วแต่ผ่านไปนานก็ยังไม่มีอะไรกลับมาสักที จนเขาบอกว่า พี่จะทำเมื่อไหร่พี่นัดผมเลยดีกว่า เพราะว่าเนื้อเพลงมันจะมาวันนั้นเลย (หัวเราะ) มาถึงปุ๊บเขาก็บอก เออเนี่ย ผมเพิ่งแต่งเมื่อเช้า แต่ยังไม่ได้แต่งท่อนแร็ปนะ เขาก็นั่งอยู่ตรงนี้แล้วเปิดเพลง นั่งเขียนท่อนแร็ป ใช้เวลาสิบนาทีเขียนเสร็จ เข้าไปร้องก็เสร็จแล้ว
แต่ละคนก็มีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน อย่าง กานต์ The Parkinson ก็จะเขียนมาก่อน แล้วก็มานั่งแก้ มาทำด้วยกัน หรืออย่าง จีน กษิดิศ เนี่ย ก็เป็นคนที่แปลกอีกคนนึง เพราะส่งไป ผ่านไปหกเดือนก็ไม่เกิดอะไรขึ้น จนเราต้องกลับมาคุยกันว่า เอ๊ะจีน หรือว่าไม่ชอบเพลง จีนก็บอก ‘เปล่าพี่ หนูชอบมากเลย จริง ๆ หนูแต่งเสร็จตั้งนานแล้วแต่เป็นภาษาอังกฤษ คือพยายามแต่งออกมาเป็นภาษาไทยแต่มันก็ยังไม่ดีสักที ทำไงดี’ เราก็บอกทำเป็นภาษาอังกฤษนั่นแหละ แล้วทีแรกเราจะเชิญเขามาอัดที่นี่ด้วย แต่เขาขอไปอัดที่คุ้นเคยละกัน ก็เลยไปอัดที่สมอลล์รูม เราก็เลยเห็นวิธีการอัดของเขา เหมือนเขากำลังแสดงอยู่บนเวที ต้องใช้ไมค์ handheld แล้วก็ร้อง คือไม่ได้ตั้งไมค์ไว้เพราะเขาทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะฟีลมันไม่มา เขาก็ร้องของเขาไปเรื่อย ๆ ก็แปลกดี เขาเป็นศิลปินที่ unique มาก จีนนี่เป็นคนที่ผมชอบมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย Futon แต่เขาก็เป็นคนแต่งตัวแรง ผมทอง เราก็ไม่กล้าเข้าไปคุย กลัว แต่พอรู้จักกันจริง ๆ เขาเป็นคนที่น่ารักมากเลย เป็นคนเก่งและมีเอกลักษณ์มาก เจ๋งมาคนนึงในประเทศเรา
ทำไมชอบเพลงฟังก์เป็นพิเศษ
ตั้งแต่ทำ Groove Riders แล้ว เป้าหมายของวงนั้นคือเราอยากจะทำเพลงที่คนฟังแล้วรู้สึกอยากจะโยกตามหรืออยากจะลุกขึ้นมาเต้น หรืออยากมี reaction ปฏิกิริยาอะไรบางอย่างกับร่างกายของคนฟัง อันนี้ก็เหมือนกัน เพลงฟังก์มันเป็นอย่างนั้นน่ะ แต่ในขณะเดียวกัน อย่างที่บอกว่ามันไม่เหมือน Groove Riders ซะทีเดียว มันแผกออกไปเพราะเราต้องการส่วนผสมใหม่ ๆ ของการเอาตัวเรากับศิลปินอีกคนมารวมกันแล้วได้อะไรใหม่ ๆ เหมือนอาหารใหม่ ๆ 6 ชาม ลองชิมดูสิ มีกุ๊กสองคนมาร่วมกันทำนะ ผมรู้สึกว่ามันสนุกและได้อะไรใหม่ ๆ ตามที่เราคาดหวังไว้จริง ๆ สนุกตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว ตอนทำกับศิลปินอีกคนก็สนุก พอทำเสร็จก็รู้สึกสนุกที่ได้ทำอะไรแบบนี้
จะหยุดตัวเองอยู่แค่ฟังก์ไหม
ทำแนวอื่นด้วยสิฮะ เมื่อวานก็เพิ่งไปเล่นกับ Modern Dog มา สนุกมาก ได้กลับไปเล่นเพลงร็อกอีกครั้ง มันจริง ๆ หรือ The Ghost Cat ที่ทำเพราะว่าไปเมืองนอกแล้วเสพงานศิลปะมาก็รู้สึกว่าอยากทำ new wave punk กับเขาบ้างเว้ย แต่ก็เข้าใจถ้าคนส่วนมากจะมองเราแล้ว identify เรากับแนวเพลงพวกนี้ ฟังก์ โซล ย้อนยุค เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราชอบมาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราชอบ เราชอบทำอะไรที่มันไม่ซ้ำ ที่มันเดินหน้าไปได้เรื่อย ๆ โอเคคนอาจจะยังไม่เก็ตแต่ขอทำละกัน ก็เราชอบอะ
เคยน้อยใจในการเป็นมือเบสไหม
ไม่เลยครับ ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีก่อนจะเป็นนักแต่งเพลงหรือโปรดิวเซอร์ซะอีก ก่อนเป็นศิลปิน เพราะงั้นสิ่งที่เราเริ่มต้นมันคือการเป็นมือเบส มันก็ค่อนข้างเติมเต็มไปแล้วในระดับนึง เพราะตอนอยู่เบเกอรี่เราก็เป็นทีมชาติ มีมือเบสแค่สองคน ผม กับ นอ วง Pause ถ้าไม่คนนี้ก็คนนี้แหละที่ต้องมาช่วยอัดเพลง ไม่คนนี้ก็คนนี้ที่ต้องไปขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ แล้วผมก็ได้เล่น ได้ทำอะไรแบบนี้เยอะแยะไปหมด เป็นทั้งมือปืนรับจ้าง นักดนตรีแบ็กอัพ เป็นมือเบสวงตัวเองด้วย แต่ปีนี้จะเป็นปีที่ผม fulfill การเป็นนักดนตรีของตัวเอง คือเราทำงานมาทุกรูปแบบแล้ว มีอยู่รูปแบบนึงที่เรายังไม่เคยทำและรู้สึกว่าต้องทำก่อนที่จะตายให้ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ คืออัลบั้มเพลงบรรเลง มันเป็นอะไรที่ท้าทาย และผมก็รู้นะว่ามันไม่ commercial หรอก และคนจำนวนน้อยมากที่จะฟัง แต่ผมรู้สึกว่าในฐานะที่เราเป็นนักดนตรีเราต้องไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ และปีนี้เป็นปีที่เราจะทำมันให้ได้ ตอนนี้อยู่ในช่วงซ้อม คิดว่าจะบันทึกเสียงในอีกไม่เกินสองเดือน ต้องกลับมาวอร์มนิ้ว เวลามันมีน้อย เดี๋ยวต้องโปรดิวซ์งานให้คนนี้ เพลงก็ต้องแต่งให้คนนั้น คุยกันสามเดือนแล้วเขารออยู่ แต่มันจะเป็นสิ่งที่เติมเต็มเราได้
เป็นคนชอบตะบี้ตะบันทำให้เสร็จหรือค่อยเป็นค่อยไป
เป็นคนที่ถ้าอินกับอะไรก็จะอินกับมันมาก เช่น อันนี้ไม่ได้ก็ทำไปเรื่อย ๆ เช่นบางทีเรานั่งทำอยู่ตรงนี้ 2-3 ชั่วโมงโดยไม่ดื่มน้ำ จดจ่ออยู่กับมัน พอรู้ตัวอีกทีทำไมคอมันแห้งอย่างนี้วะ หรือขาเส้นตึง ตะคริวกินไปหมดแล้ว เป็นนิสัยที่ไม่ดี ต้องหาวิธีเปลี่ยน มันไม่ดีต่อสุขภาพ
อัลบั้มนี้ใช้เวลาทำเป็นปีครับ บางเพลงก็ทำมาเกือบสามปี บางเพลงทำมาปีนึง บางเพลงใช้เวลาหกเดือน แต่ละเพลงไม่เหมือนกัน เพลงที่นานสุดน่าจะรุ่นใหญ่ครับ แต่เพลง Evil ที่ทำกับ จีน กษิดิศ จริง ๆ เพลงนั้นไม่นาน แต่ถูกทิ้งไว้นาน คือดนตรีทำไว้นานแล้ว แต่มันไม่ถูกทำให้เสร็จซักทีครับ แต่ว่ามันสนุกดี เหมือนทำโดยที่เราไม่รู้ว่าจุดจบมันจะไปอยู่ที่ตรงไหน
ถ้าให้ทำงานคนเดียว กับร่วมแจมกับคนอื่น ชอบแบบไหน
ชอบทั้งสองอย่างครับ จริง ๆ บางครั้งเราก็ต้องการทำงานคนเดียว หลาย ๆ ครั้งเราไม่อยากจะแชร์ความคิดกับใคร เพราะว่ามันส่วนตัวกับเรา อย่างอัลบั้มเดี่ยว หรือแม้แต่ Groove Riders เองก็เป็นวงในฝันของผมที่ผมทำขึ้นมา เป็นคนแต่งเพลงทุกเพลง ไม่ค่อยได้แชร์กับใคร เพราะบุรินทร์เขาเป็นนักร้อง เพื่อนอีกสองคนก็เป็นนักดนตรี สำหรับผมมันเหมือนมันมีความฝันที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ แต่เราแชร์เรื่องอื่น การแสดงอะไรก็ว่าไป แต่ว่ามันเหมือนลูกของเราที่ต้องเป็นคนประคบประหงมเลี้ยงดูขึ้นมาให้โตขึ้นมาด้วยตัวเราเอง ความรู้สึกแบบนั้นน่ะเราจะแชร์กับใครไม่ค่อยได้ ดังนั้นเวลาเราจะแชร์อะไรกับใครมันต้องรู้สึกสนุกแบบอัลบั้มนี้ หรืออย่าง The BoyKor ผมกับพี่ บอย ตรัย แต่งเพลงแล้วก็ต้องมาแชร์กัน บวกกันสองคน มันแล้วแต่สิ่งที่เราทำว่าเราทำอะไรอยู่
อย่างที่ก้อบอกว่าการทำเพลงเหมือนเป็นการทำงานศิลปะ แต่คนที่ทำงานศิลปะหลาย ๆ คนมีปัญหาเรื่องการจบงาน เหมือนทำไปก็ยังไม่พอใจ ก้อหาวิธีลงยังไง
แต่ก่อนผมก็เป็น perfectionist คนนึง จะพูดเสมอว่าถ้าย้อนกลับไปดูงานหลาย ๆ งานผมใช้เวลานานมาก แล้วจะไม่ปล่อยให้มันผ่านไปซักเม็ดเลย ถ้ามันไม่ดีจะต้องรื้อก็รื้อ จะต้องถอยหลังกลับกูก็ยอม ซึ่งเรามีความรู้สึกภูมิใจกับงานเรามากเพราะเราทุ่มเทมาก ๆ แต่พอเราโตขึ้น ประสบการณ์นึงที่ทำให้ผมเปลี่ยนไปคือการได้ไปบวชที่วัดป่า มันทำให้เรารู้ ทำให้เห็นว่าเราเคร่งเครียดกับงาน เราทำให้ตัวเราเป็นทุกข์มาก นอกจากจะทำให้ตัวเราแย่แล้ว เรายังไปทำให้เพื่อนร่วมงานเราแต่ละคนนี่แย่ไปด้วยเต็มไปหมดเลย อย่างตอนทำ POP นี่วุ่นวายไปหมด เห็นตรงนั้นแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว การได้งานที่เพอร์เฟกต์สมบูรณ์เต็มร้อยมันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญหรอก ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราเข้าใจผิด สิ่งที่เรียกว่าสมบูรณ์เต็มร้อยมันไม่มี อย่างแต่ก่อนผมชอบอัลบั้ม The Lift ที่ตัวเองทำมาก ทำเสร็จปุ๊บพรุ่งนี้เราตายได้แล้ว พอถึงวันนี้ลองกลับไปมอง ยังตายไม่ได้หรอก เราคิดว่าควรทำอัลบั้มที่ดีกว่าอัลบั้มนั้นขึ้นไปอีก พอกลับไปฟังแล้วเจอตรงนั้นพลาดตรงนี้พลาด แต่มันไม่สำคัญเลย แม้แต่ตัวเรายังไม่สมบูรณ์แล้วเราจะไปทำงานที่มันสมบูรณ์ได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ที่สำคัญคือเรา enjoy สิ่งที่เราทำ แล้วก็มีความสุขกับปัจจุบันที่เราทำ แล้วพอทำเสร็จถ้ามันไม่สมบูรณ์เราก็ยอมรับได้ เราต้องทำใจยอมรับว่ามันไม่สมบูรณ์เหมือนกับเรา แล้วความ inperfection นั้นมันเป็นเสน่ห์มากเลยสำหรับผม มันเป็นเสน่ห์อย่างนึงที่ทำให้ความเป็นคนมันเป็นคน ถ้าทุกอย่างเนี้ยบหมดมันก็คงไม่ค่อยเท่เท่าไหรนะ มันไม่มีเสน่ห์ แต่โอเค เราก็ต้องทำให้ถึงมาตรฐานจุดนึง เป็น standard ที่สูงนะ แต่ไม่ควรทำถึงขั้นทรมานกายจนเกินไป
เล่าให้ฟังเรื่องนึง สมัยที่ผมเรียนอยู่ที่ Berklee College of Music อันที่จริงก็เคยเล่าให้หลายคนฟังแล้ว มีครูคนนึงชื่อ Herb Pomeroy เป็นครูที่เป็นตำนานของที่นี่เลย เป็นคนเป่าทรัมเป็ตที่ใครจะเรียนกับเขาต้องออดิชันเข้าไป แล้วตอนที่ผมเรียนอยู่ตอนนั้นเป็นเวลาที่เขาเกษียณพอดี ทุกคนก็เลยจัดคอนเสิร์ตใหญ่ขึ้นมาที่โรงเรียน ศิลปินแจ๊สระดับตำนาน world class ทุกคนมาหมดเพื่อที่จะ celebrate ครูคนนี้ ผมจำได้เลยว่าเขาพูดบนเวทีว่า ‘ดนตรีเนี่ย ไม่สำคัญเท่าคน เพราะคนเป็นคนสร้างดนตรีขึ้นมา ดังนั้นเราอย่าไปซีเรียสมากว่าดนตรีต้องเจ๋ง แล้วลืมความรู้สึกของคน ไม่แคร์ว่าคนที่มาเล่นกับเราจะรู้สึกยังไง เพื่อนร่วมวงเราจะเป็นยังไง แคร์แต่ว่าดนตรีที่เราทำต้องเพอร์เฟกต์ที่สุด ไม่ใช่ ดนตรีมันถูกสร้างขึ้นมาจากคนต่างหาก’ ซึ่งตอนนั้นเราฟังแล้วไม่เข้าใจนะ แต่พอเวลาผ่านไปเนี่ยเราถึงเข้าใจว่า อ๋อ เออจริงด้วยว่ะ เราจะไปทำให้คนโน้นเครียด คนนี้เครียด แล้วต้องมารื้อใหม่ เอามารวมกัน ทำให้มันเพอร์เฟกต์ที่สุด คนสร้างดนตรีต่างหาก ไม่ใช่ดนตรีสร้างคน เพราะฉะนั้นเราต้องแคร์เพื่อนร่วมงานของเรา ต้องแคร์คนรอบข้างให้ระหว่างที่เราทำงานเรามีความสุข มีความสุขกับคนฟังด้วย นั่นคือประเด็นของการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ต้องเครียด แล้วเราก็มีชีวิตอยู่แบบเครียด ๆ สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างและตัวเอง เพราะงั้นคำตอบของการจบงานก็คือ เมื่อไหร่ที่มันจะต้องจบมันก็ต้องจบ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
แต่ละเพลงที่ทำได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง
เยอะมากเลย เรื่องใกล้ตัวก็มี ส่วนมากเนี่ยผมจะไปเมืองนอก ไป art museum ทุกครั้งที่ไปเมืองนอกเลยนะ ผมจะชอบมากเลยกับการไปดูงานศิลปะของคนอื่น ไปดูงาน painting หรือการไปดูหนังเรื่องนึงที่เรารู้สึกว่ามันเจ๋งมาก นี่ก็คือ inspiration แหละ คือการได้ไปเสพงานศิลปะของคนอื่นที่เรารู้สึกว่ามันมีพลังงานบางอย่างที่จะส่งมาถึงเราได้ อย่างผมเนี่ยผมชอบงาน impressionism ของ Pierre-Auguste Renoir มาก ก็จะไปดูงานของเขาแล้วพยายามจะศึกษาว่ารูปที่เราชอบเนี่ยเขาสร้างมายังไง ช่วงชีวิตของเขาช่วงนั้นมันเกิดอะไรขึ้นถึงได้ออกมาเป็นงานชิ้นนี้ มันมีพลังบางอย่างกลับมาที่ตัวเราแล้วทำให้เราอยากสร้างงานที่ดีแบบนั้นบ้าง งานที่ทำให้เราได้รู้สึกไปกับมัน appreciate มัน ก็อยากทำงานแบบนี้ให้คนมาฟังเพลงเราแล้วได้ความรู้สึกแบบนั้นกลับไปบ้าง จะได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่เหมือนเป็นพลังงานที่หมุนเวียน
อย่างปีที่แล้วผมไป MOMA (Museum of Modern Art) ที่ San Francisco ไปกับพี่ป๊อด ธนชัย ดูงานชิ้นนึงแล้วมันได้ inspiration ในการสร้างงานมาก ๆ เรากลับมาถึงปุ๊บเราอยากจะนั่งทำเพลงให้เสร็จตรงนั้นเลย มันเป็นพลังงานอะไรไม่รู้ แต่ผมจะสังเกตว่า หลาย ๆ ครั้งที่เราทำงานเยอะมาก ๆ เยอะเกินไปแล้วเราไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ ไม่ได้ไปเสพงานที่มันดี ๆ จะรู้สึก drained มาก ๆ เพราะงั้นสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่เราจำเป็นมาก ๆ ต้องมี input เหล่านี้เข้ามาที่ตัวเราเรื่อย ๆ
พอศึกษาและได้รู้วิธีการทำงานของศิลปินที่ชอบแล้ว ได้ลองเอาวิธีการของเขามาปรับใช้กับการทำงานของเราไหม
มันอาจจะไม่ได้แปรสภาพมาขนาดนั้น สมมติว่าเรอนัวตอนเขามีชีวิตอยู่เขาจนและลำบากมาก แล้วเราจะไปทำให้ตัวเองไปอยู่กระต๊อบ อยู่บ้านเพื่อนขอข้าวเขากินแบบนั้นก็ไม่ใช่ แต่ว่ามันเป็นเรื่องของอะไรบางอย่าง เช่น พวกศิลปิน impressionism ในยุคนั้นจะได้รับการปฏิเสธงานตลอด ถ้าศึกษาเนี่ย แล้วแกเลอรีต่าง ๆ จะไม่ยอมให้พวกเขาเอางานไปโชว์ มันก็เป็นความรู้สึกว่า เฮ้ย งานของเราถ้าตอนนี้มันยังไม่ถูกยอมรับก็ไม่เป็นไร แต่ว่าให้เรามั่นใจไว้ก่อนว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วเราตั้งใจทำงานนี้ ไม่ใช่ทำออกมาห่วย ๆ ไม่ตั้งใจ แล้วไปโวยวายใส่คนอื่น บางทีสิ่งเหล่านี้ก็ถูกซึมซับมาเหมือนกัน แล้วเรารู้สึกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ศิลปินหลาย ๆ คนที่เราชอบแต่ไม่ดัง แต่รู้สึกว่าเรา appreciate งานของคนคนนี้มาก ไม่ดังก็ไม่แคร์ แต่โคตรชอบเลย มันเจ๋งมาก ซึ่งคนนี้ก็ไม่ได้รางวัล Grammy Awards ขนาดนั้นด้วย เราก็รู้สึกว่าถ้างานบางอย่างที่มันมีคุณค่า มันก็มีคุณค่า มันอาจจะมีคุณค่ากับคนแค่คนเดียว แต่มันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทำอะไรต่อไปได้ แค่นี้มันก็คุ้มแล้ว
อาร์ตเวิร์กเป็นฝีมือของใคร
เมื่อปีที่แล้วตอนไปอเมริกา เราก็อยากทำงานอะไรบางอย่างที่… ไม่อยากได้กราฟฟิกดีไซเนอร์ที่ทำอาชีพออกแบบปกโดยเฉพาะมาทำ เบื่อมาก จริง ๆ ก็ไม่เคยทำแบบนั้นมานานละ อย่าง The BoyKor ก็ได้น้องมาวาดรูปให้ ผมก็เป็นแฟนงานเขาอยู่แล้ว ก็ชอบมาก อัลบั้มนี้เลยตอนไปทัวร์กับพี่ นภ พรชำนิ ที่อเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้เจอน้องคนนึงที่มีบริษัทดีไซน์อยู่ที่นิวยอร์กแล้วก็เพิ่งเรียนจบดีไซน์จากที่นิวยอร์ก ก็เลยได้คุยกัน จริง ๆ ไปดูงานเขา โอโห มีความเป็นอินดี้อาร์ตมาก แต่รู้สึกว่าคนที่อยู่นิวยอร์กมันต้องมี vibes อะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนคนที่อยู่กรุงเทพ ฯ แน่ ๆ ก็เลยถามเขาว่าสนใจจะมาดีไซน์ปกไหม เขาถามว่าอยากได้แบบไหน เราก็บอกว่าอยากได้งานที่เหมือนรูปที่ไปดูใน MOMA เขาก็เขียนรูปนี้ออกมาให้ พอเราเห็นก็รู้สึกว่าใช่เลย มันสามารถไปอยู่ใน MOMA ได้แบบไม่เคอะเขิน มัน blend in เข้าไปได้เลย เห็นแล้วก็ไม่ต้องบอกเลยว่ารูปนี้คืออะไร เราสามารถตีความได้ด้วยตัวเอง งานศิลปะมันควรจะเป็นแบบนั้น คืองานที่คนมองแล้วตีความเอาเอง ผิดถูกไม่รู้ แต่มันตีความได้ หน้าปกนี้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกชอบ
รู้สึกยังไงที่ตอนนี้เทรนด์ซินธ์ป๊อป 80s กำลังกลับมา
ดีมากเลยครับ เป็นสิ่งที่ผมชอบ ถ้าฟังอัลบั้ม Funk ก็จะเห็นว่ามีซาวด์ 80s อยู่พอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าปัจจุบันฮิตแล้วผมทำตามนะ มันเป็นเพราะว่ายุคแรกที่ผมเริ่มฟังเพลงมันคือยุค 80s ตอนอายุประมาณ 8 ขวบมั้ง เป็นครั้งแรกที่เรารู้ตัวว่าเราชอบฟังเพลงมาก สมัยก่อน พูดแล้วก็รู้สึกแก่ คือจะไปซื้อเทปรวมฮิตที่ห้างไทยไดมารู ซึ่งไม่มีแล้ว (หัวเราะ) ม้วนละ 25 บาทเอง เก็บเงินค่าขนมที่แม่ให้ไปซื้อเดือนละม้วน ๆ แล้วก็ชอบฟังเพลงมาก ยุคนั้นเป็นยุคที่มีเพลงแบบ The Culture Club, Karma Chameleon, Boy George นี่ดังมาก แล้วก็เป็นช่วงที่ซินธิไซเซอร์เริ่มมีผลมาก Kylie Minogue รายการ Music Box ดังมาก Duran Duran, Genesis, U2 ก็เริ่มมา เทปผีสมัยก่อนก็ยังถูก ๆ เราก็ซื้อไม่รู้อันไหนจริงอันไหนผี แต่นั่นคือยุคแรก ๆ ที่เราเริ่มฟังเพลงฝรั่งด้วย ซาวด์ของยุค 80s มันก็เลยติดอยู่ในหัวใจเราตลอดว่ามันคือจุดเริ่มต้นของเรา และเราก็ชอบมาตลอด ที่จริงผมก็ทำเพลงแบบนี้มาตั้งแต่ Groove Riders แล้ว เพลง The Lift ก็มีความ 80s อยู่ แต่ว่าปัจจุบันพอซาวด์ 80s มามันก็อาจจะพอดีกับสิ่งที่เราชอบ ก็โชคดี อย่างเพลง The Diarie เราก็ทำออกมาเป็น 80s แต่เราไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น คือเราชอบมันก็ออกมาธรรมชาติของตัวเรา พอดีกับ Polycat ที่เราฟังเพลงเขาแล้ว เฮ้ย เด็กพวกนี้ยุค 80s มันต้องเพิ่งคลอดมาจากท้องแม่แน่ ๆ มันไม่มีทางได้ฟังอย่างเรา ตอนนั้นเราก็ 8 ขวบ ก็เลยเป็นที่สงสัยว่ามันไปฟังตอนไหน มันไปชอบตอนไหนวะ แต่พอคิดไปคิดมา อ๋อ มันก็คงเหมือนเราแหละที่พอเราโตขึ้นมาเราก็กลับไปชอบเพลงยุค 60-70s พวกนี้ก็คงเหมือนกัน ก็เป็นที่มาของการชวนนะมาทำเพลง มาร่วมงานกันซักเพลงดีกว่าน่าจะสนุก
นะไปเอาวัตถุดิบพวกนั้นมาจากไหน
จริง ๆ ก็ยังไม่ได้ถาม (หัวเราะ) ว่าทำไมชอบ แต่ว่าตอนที่ร่วมงานกันก็รู้ว่านะเป็นคนเก่งและขยันมาก ก็เลยรู้สึกว่าวง Polycat สมควรแล้วที่จะดัง
แต่ละยุคก็มีแนวดนตรีของตัวเอง แล้วยุคนี้มีอะไร
EDM ไงครับ แต่ตอนนี้เริ่มเอาต์แล้ว แต่เมื่อก่อน EDM ก็เป็นของใหม่ของยุคนี้ แต่ว่ามันก็คงไม่จีรังยั่งยืนเหมือนกับทุกสิ่งแหละ จริง ๆ EDM ก็เพลงอิเล็กทรอนิกแหละ แต่มันกลายเป็น culture มันมี festival EDM ที่คนเป็นดีเจไปยืนบิดฟิลเตอร์เฉย ๆ แล้วคนมายืนเต้นกันยับเลย ไม่ได้มีคนร้องเพลงซักคนแต่คนก็สนุกสนาน เป็น culture ที่เกิดขึ้นมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ก็ยอมรับว่ามันเริ่มเฟด เริ่มถอยหลังมา ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอะไรโผล่ขึ้นมา ก็ต้องติดตามกันต่อไป จริง ๆ ก่อนหน้านี้ EDM ก็มีฮิปฮอป มันก็ค่อย ๆ มาของมัน
รู้สึกว่าดนตรีควรจะเป็น pure art หรือควรจะมาอยู่กับวิถีชีวิตและ culture มากกว่า
มันควรต้องอยู่ในชีวิตประจำวันของคน แต่แต่ละคนก็มีความชอบที่เหมือนกัน เพราะงั้นเราไม่สามารถบอกได้ว่าดนตรี pure art เป็นแนวดนตรีที่เจ๋งที่สุด ในขณะที่ดนตรีแนว commercial art มันไม่ดีเท่า เป็นไปไม่ได้ อย่างผมชอบดูหนังอาร์ต ภรรยาชอบดู romantic comedy จะไปบังคับให้เขาดูหนังอาร์ตดูเสร็จเขาก็อ้วกแตกพอดี หรือถ้าเราไปดูอย่างเขา ดูไป 20 นาทีเราก็คงหลับไปแล้ว การที่แต่ละคนมีความชอบที่ต่างกันเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ คือทำให้เรามีความหลากหลาย ได้เห็นว่าตรงนั้นก็เจ๋ง ตรงนี้ก็เจ๋ง อย่างเรายังชอบฟังดนตรีหลายแบบเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะเกิดขึ้น เราไม่ควรจะปิดตัวเอง สมมติเราเป็นนักดนตรีแจ๊ส เราจะบอกว่าแจ๊สเจ๋งที่สุด อย่างอื่นห่วยหมด มันไม่ใช่ คือถ้าเราเปิดใจเราก็จะได้รับสิ่งดี ๆ เต็มไปหมดเลยในทุกอย่าง ตั้งแต่แจ๊สยันพังก์ ทุกดนตรีมันมีดีของมันหมด
อะไรเป็นเสน่ห์ในดนตรียุคของก้อที่ยุคนี้ไม่มี และอะไรเป็นเสน่ห์ของดนตรียุคนี้แบบที่ยุคก้อไม่มี
โอ้ ไม่รู้ครับ แต่ตอบได้อย่างนึง ไม่รู้ว่าจะตรงคำถามหรือเปล่านะ ในยุคของผมเนี่ย ตอนที่เราเล่นคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ หรือไปทัวร์ ทั้ง POP และ Groove Riders นะ Modern Dog ที่ผมไปทัวร์ด้วย เราไม่เคยเล่นเพลงคัฟเวอร์เลย น้อยมาก คนที่มาขอให้เราเล่นคัฟเวอร์เราก็จะบอกเขาไปว่า โอเค เรายอมเล่นนะ แต่ว่ามันจะออกมาห่วยนะ ต้องยอมรับ แล้วเราก็เล่นเพลงของตัวเองด้วย มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคปัจจุบัน เล่นเพลงของตัวเองไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ แล้วก็ต้องเล่นเพลงคัฟเวอร์ของคนอื่นหมดเลย เป็นสิ่งนึงที่ตอนแรกผมก็ยอมรับว่าไม่เข้าใจ แต่ปัจจุบันเราก็เริ่มเข้าใจ มันมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นแบบนั้น อย่างที่บอกว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน ปัจจุบันคิดว่าถ้า Groove Riders กลับไปเปิดคอนเสิร์ตอีกครั้งและเล่นเพลงตัวเองทั้งหมดเหมือนแต่ก่อนก็อาจจะไม่ได้ มันคงจะไม่มีคนฟัง (หัวเราะ) คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นแบบนั้น
ผมเพิ่งไปทัวร์กับวง The Parkinson พอดีภรรยาของมือเบสเขากำลังจะคลอดลูก ก็เลยนึกสนุกขอไปแทนเขาแทน ก็ทำให้เราเรียนรู้อะไรมาหลายอย่าง The Parkinson นี่เป็นวงที่ดังมากนะ มีเพลง 5 เพลงก็ดังหมดเลย The Parkinson เป็นวงแนวไหนครับ โซลป๊อป ใช่ไหม แต่เขายังต้องเล่นเพลง Silly Fools, Blackhead (หัวเราะ) แล้วคนเฮมากเลย ตอนนั้นคนทุกคนลุกขึ้นมาโยกหัวพร้อมกัน ก็ทำให้เราเข้าใจ นอกจากนั้นยังเล่นเพลงพวกนี้เป็นเวลาสั้น ๆ แล้วเล่นเพลงของใครต่อใครเต็มไปหมด แต่ไม่สามารถเล่นได้จบเพลง จบฮุกแรกต้องเปลี่ยนเพลงละ ทีแรกก็คิดว่ามันทำแบบนี้ทำไมวะ ในเมื่อวงก็ดังจะตายอยู่ละ สมมติมีเพลงตัวเองไม่มาก เล่นซ้ำสามรอบคนก็ร้องดังทั้งสามรอบ ก็ยุคสมัยแหละ การไปสัมผัสอะไรแบบนี้ก็สอนเราหลายอย่าง ถ้าเราเปิดใจ ทำให้เรารู้ว่าปัจจุบันคนสมาธิสั้นจริง ๆ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์แบบนี้เราไม่มีทางจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นการที่ไปได้เล่นกับวง The Parkison ก็สอนอะไรเราเยอะ กานต์ก็สอนอะไรเยอะ ถ้าเราใส่ใจที่จะเรียนรู้ว่าคนปัจจุบัน ถึงแม้เพลงจะดังแค่ไหน ลุกขึ้นมา enjoy กับมันแค่ไหนสักพักจะกลับไปเล่นมือถือ ไปแชตกับคนนั้นคนนี้ละ ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ Groove Riders เล่นเพลง Hormones แล้วคนจะเต้นตลอด 5 นาที ปัจจุบันคนไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้ร้องจบฮุกกันคนก็กลับไปเล่นมือถือละ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เขากลับมามีส่วนร่วมกับเราคือต้องเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา ร้อง ๆ อยู่ต้องเล่นเพลงดังอีกเพลง เห็นเขากำลังจะไปหยิบมือถือเราก็ต้องเปลี่ยนให้เขาแบบ อ๊าาาา ชอบเพลงนี้ ละกลับมาฟัง (หัวเราะ) มันเป็นแบบนี้จริง ๆ
เหมือน Spotify ที่ห้ามนานไป ไม่งั้นคนจะกดข้ามแล้วศิลปินจะไม่ได้เงิน หรือแม้แต่ในวิทยุเองก็เป็น
สำหรับศิลปินก็มีนะ ถ้า 10 วินาทีไม่โดนก็ข้ามละ บางทีเราจะทำเพลงแบบค่อย ๆ เป็น curve ขึ้นมาแล้วไป climax ตอนจบเนี่ย ถ้าจะทำเพลง commercial ให้โดนคนนี่ทำแบบนั้นไม่ได้นะ มันจะต้องฟาดฉาบดัง ๆ รัว ๆ แล้วจบตรงนั้น จะมาค่อย ๆ บิ๊วก็ได้ แต่คนฟังก็จะมีแค่คนสองคน คนส่วนใหญ่เขาคงไม่ฟังและทนไม่ไหวที่จะไปถึงจุดนั้น
เมื่อก่อนคนจดจำว่าก้อเป็นคนทำเพลงรักได้ดี ช่วงหลังมาได้เขียนเนื้อร้องบ้างไหมยังไงบ้าง
หลังจากที่แต่งงานมาสิบปีมีลูกมีครอบครัวแล้ว ก็ยอมรับตามตรงว่าปัจจุบันไม่ค่อยได้แต่งเนื้อเพลงเท่าไหร่แล้วเพราะจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำเพลงมาก แต่ผมเป็นคนที่ทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจจะไม่ดีก็ได้ เราเป็นทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ทำเพลง มันเลยไม่ได้โฟกัสไปที่อย่างใดอย่างนึง สมมติถ้าเราเป็นมือเบสอย่างเดียว เราอาจจะเป็นมือเบสที่เก่งที่สุดในประเทศไปแล้วก็ได้ แต่ด้วยความรู้สึกว่าเราอยากจะทำงานงานนึง แล้วเราอยากจะทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเองเพราะเรารู้สึกว่าเรามีเสียงบางอย่างในหัวบอกว่าเราจะต้องทำตรงนั้น แต่ถ้าเราเอาไปให้คนนั้นคนนี้ทำมันจะถูกเจือด้วยสีอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นในหัวเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเดินไปถึงสิ่งสิ่งนี้ที่เราเห็น เราต้องทำตรงนี้ด้วยตัวเองให้ได้ ซึ่งมันก็อาจจะเป็นข้อเสียที่ถ้าเราเป็นนักแต่งเพลงอย่างเดียวแล้วใช้เวลากับมัน 24 ชั่วโมง เราก็อาจจะกลายเป็น specialist ตรงนั้นไปแล้ว แต่เราไม่ใช่
ช่วงการทำอัลบั้มเดี่ยว ผมแต่งเพลงทุกวันเลยเป็นเวลาหลายเดือนมาก แล้วได้เพลงมาเยอะมาก ๆ สุดท้ายก็หยุด เพื่อที่จะไปทัวร์ หรือหยุดเพื่อที่จะไปโปรดิวซ์งานให้คนอื่น ก็ต้องไป concentrate การทำเพลง การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ทำยังไงให้ได้ซาวด์แบบที่เราต้องการ ก็ไปทำอะไรต่ออะไร เสร็จแล้วปัจจุบันก็กำลังจะทำอัลบั้มเพลงบรรเลง ก็หยุดการแต่งเพลงด้วยเหมือนกันเพื่อที่จะมาซ้อมเบส เพื่อให้เราอยู่ในระดับของนักดนตรีที่เรารู้สึกว่ามันใช่ เลยไม่ได้ไป concentrate ที่ตรงไหนสักที การแต่งเพลงก็เหมือนกัน ต้องยอมรับตามตรงว่า เราใช้ช่วงเวลาแต่ละปีในแต่ละช่วงชีวิต concentrate ในแต่ละสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าตอนนี้เราต้องทำอะไร หรือตอนนี้เราอยากทำอะไร จริง ๆ ก็อยากจะกลับไปแต่งเพลงมาก ๆ เพราะปัจจุบันก็เริ่มกลับไปซื้อหนังสือ Bruce Springsteen, Bob Dylan อะไรพวกนี้มาอ่าน แต่ก่อนตอนแต่งเพลงเยอะ ๆ ก็เป็นช่วงที่บ้า The Beatles, Paul McCartney, John Lennon มาก ก็จะไปศึกษาเนื้อเพลง วิธีแต่งคอร์ด เมโลดี้ของเขา ซึ่งสิ่งพวกนี้มันดีมาก มันกลับมาเป็น output ของเราได้
แต่ปัจจุบันเราห่างหายจากการแต่งเพลง โดยเฉพาะการแต่งเนื้อ พี่บอย ตรัย ที่เป็น partner ของเราก็เป็นหนึ่งในคนที่แต่งเนื้อเพลงที่เก่งที่สุดคนนึง แถมยังแต่งได้ดีกว่าเราด้วย (หัวเราะ) เราก็เลยแต่งแค่ทำนองกับเมโลดี้ แล้วโยนไปให้เขา ก็เลยกลายเป็นที่มาของ The BoyKor เดี๋ยวนี้แม้เราจะไม่ได้ออกอัลบั้ม แต่เราก็แต่งเพลงร่วมกันมาหลายเพลงในเบื้องหลัง และรู้สึกว่ามันก็สามารถทำได้เพราะเราก็ทำหน้าที่ของโปรดิวเซอร์และมีพาร์ตเนอร์มาช่วยเรื่องเนื้อเพลง และมันก็ออกมาได้ดีตามที่ต้องการ แต่เมื่อไหร่ที่เราอยากทำอัลบั้มเดี่ยวที่เป็น personal ก็อาจจะถึงเวลาที่เราจะต้องกลับไปจับปากกาขีดเขียนอีกครั้ง ยอมรับว่าอะไรที่เราไม่ได้ทำบ่อย ๆ ปากกามันก็จะไม่ลื่นเหมือนแต่ก่อน ต้องฝนพอสมควรกว่าจะกลับมาลื่นอีกครั้ง
ตอนที่ทำอัลบั้มเดี่ยวรู้สึกอะไรกับชีวิตถึงเขียนเพลงแบบนั้นออกมาได้
ตอนนั้นมีเวลาว่างในชีวิตเยอะมาก ปัจจุบันมีลูกชายสองคนแล้วเวลาว่างน้อยมาก (หัวเราะ) แต่ก่อนผมตื่นขึ้นมาตอนเช้าจะต้องแต่งเพลงให้ได้ทุกเช้า บางเช้าไม่ได้แต่งเพลงแต่จะเขียนความรู้สึกของตัวเองให้ออกมา คือจะเป็นหน้า ๆ เป็นเล่มอย่างนี้เลย มันก็เลยรู้สึกว่าทุกอย่างออกมาได้โฟลว เป็นธรรมชาติมาก แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่เรา… ปัจจุบันก็มีเพลงที่แต่งไว้เป็นแคตาล็อกเมื่อก่อน แค่ยังไม่ได้เอามาใช้ ก็ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นคำตอบคือถ้าเราทำอะไรเป็นมืออาชีพ มันจะออกมาเป็นธรรมชาติ และถ้าเราทำทุกวันเราสามารถดึงทุกอย่างมาได้ ขนาดว่าเราแค่มองออกไปเห็นต้นไม้แล้วมีลมพัด ใบไม้กำลังหวิว ๆ เราสามารถเอาตรงนั้นมาแต่งเพลงได้สบาย ๆ
จากวันนั้นจนวันนี้เจอข้อผิดพลาดและเอามาปรับแก้ยังไงบ้าง
เราก็เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำ ผมจะมีกฎเกณฑ์นึงคือ งานที่เราทำอยู่ตอนนี้ต้องดีกว่างานที่เราทำเสร็จไปแล้ว งานของ Groove Riders ชุดที่สองต้องดีกว่าชุดที่หนึ่ง POP หรืองานเดี่ยวก็เช่นกัน เราจะพัฒนาตัวเองยังไง เราก็ต้องเรียนรู้ ต้องไม่คิดว่าตัวเราเก่งแล้ว แต่ยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ กับทุกเรื่องและทุกคน กับนักดนตรีที่เป็นรุ่นน้องของเราเราก็เรียนรู้จากเขาได้ อย่างที่ผมบอก กับ The Parkinson ที่ผมไปทัวร์มาผมก็ได้เรียนรู้อะไรแบบนี้ แล้วเราเอาสิ่งนี้มาปรับใช้ได้หมด ปัจจุบันผมยังต้องดู YouTube อยู่ทุกวัน มันมีเทคนิคใหม่ ๆ ในการทำเพลงอะไรบ้าง ซาวด์แบบนี้ทำยังไง ต้องปรึกษาทุกวัน แล้วต้องทำให้เกิดงานใหม่ ๆ ทุกงานที่เราทำ
อะไรคือการที่บอกได้ว่าอัลบั้มนี้ดีกว่าอัลบั้มเก่า
คือการแต่งเพลงได้เพราะกว่า หรือทำซาวด์ได้เจ๋งกว่าเพลงที่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องแต่งให้เพราะกว่าทุกครั้งหรอก แต่ตัวเราต้องรู้สึกว่าการพัฒนามันเกิดขึ้น ไม่ใช่เรานั่งกินเหล้าอยู่บ้านแล้วทำ มันไม่มีทางเจ๋งกว่าหรอก มันก็ห่วยลงเรื่อย ๆ แต่ตัวเราต้องรู้เองว่าเราขวนขวายที่จะพัฒนานี้ได้มันก็เกิดขึ้นเพราะเรากำลังทำในสิ่งที่เรารักอยู่ ถ้าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักมันไม่มีทางดีขึ้นได้ อย่างฟังใจอะครับ ก็รู้เลยว่าคนที่ทำอยู่ก็กำลังทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่งั้นมันไม่พัฒนาหรอก ก็เราเป็น music nerd อะ แต่มันเห็นได้จากตัวงาน ว่ามันมีพัฒนาการจากการเป็นโคตรอินดี้ตอนนี้มันขยายขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว มันพัฒนาขึ้นมากและมันสัมผัสได้ มันไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งคุยกันว่า เอ้อ คนนี้ พอเห็นงานมันก็รู้แล้วว่ามันมีพัฒนาการหรือมีหัวใจอยู่ในนั้นหรือเปล่า
ปกติคนจะเลือกฟังแต่เพลงหรือศิลปินที่ตัวเองรู้จัก ในฐานะโปรดิวเซอร์ ก้อมีวิธีทำให้คนฟังเพลงหลากหลายมากขึ้น
ตอบไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้าตอบได้ป่านนี้งานของผมเองคงดังหมดทุกชิ้น ไม่รู้จริง ๆ ทุกยุคทุกสมัยหลายสิ่งก็เปลี่ยนแปลงไปนะ พฤติกรรมของคนฟัง เทคโนโลยีก็มีส่วนมากใช่ไหม แต่ก่อนคนฟังเพลงจากเทป ซีดี ตอนนี้ฟังจากสตรีมมิง เมื่อก่อนฟัง MP3 แผ่นผี เดี๋ยวนี้แผ่นผีก็กลายเป็นผีไปแล้ว ทุกคนฟังเพลงจาก YouTube กันหมดแล้ว แต่เทคโนโลยีก็ทำให้คนแต่ละรุ่นมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป ศิลปินทุกคนรวมถึงเราเองก็ต้องปรับตัว จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ซึ่งตัวผมเองเนี่ยก็ยอมรับว่ามีอยู่ช่วงนึงที่งงไปเหมือนกันว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถึงเปลี่ยนไปขนาดนี้ แต่พอเราเริ่มรับรู้ได้และเข้าใจ ก็ต้องปรับตัวเราไปตาม ไม่ได้หมายความเราต้องยอมทำอะไรที่เราไม่ชอบนะ แต่เราต้องเข้าใจคนฟังว่าปัจจุบันเขาเป็นแบบนี้
คนที่เป็นโปรดิวเซอร์เก่ง ๆ ในไทยมีใครบ้าง
โหเยอะมากเลย จริง ๆ ใกล้ ๆ ตัวก็มี กานต์ The Parkinson ก็เก่งมาก ฟังอัลบั้มของวงเขาที่เขาโปรดิวซ์เอง แล้วรู้สึกว่าในอนาคตเขาต้องเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีแน่ ๆ ตอนนี้เขาก็เริ่มโปรดิวซ์ละ ก็เฝ้ารออยู่ว่างานเขาจะออกมาเป็นยังไง อย่าง เป้ Mild ก็เป็นโปรดิวเซอร์ มีลักษณะงานเฉพาะตัว ก็ทำออกมาดีมาก ประสบความสำเร็จมาก ก็เป็นคนเก่งอีกคนนึง พี่บอย โกสิยพงษ์ก็แน่นอนอยู่แล้ว เป็นอาจารย์ผม ผมเพิ่งเจอแต่ก่อนเขาเป็นโปรดิวเซอร์ของ Genie Records ตอนนี้ทำอยู่ Wayfer Records ชื่อน้องโน่ (ดนัย ธงสินธุศักดิ์) คนนั้นก็เก่ง ไปฟังงานเขาแล้วดีมาก วง ETC ก็โปรดิวซ์งานของตัวเองได้เก่งมาก คุณบอล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เก่งมาก ตอนนี้แกเป็นโปรดิวเซอร์ให้บุรินทร์อยู่ แล้วก็เป็นให้อะตอม เยอะมากเลย ผมต้องลืมใครไปแน่ ๆ
นอกจากเพลงบรรเลงแล้วจะมีโปรเจกต์อะไรอีกไหม
ไม่รู้จะบอกเลยดีหรือเปล่า แต่ว่ามันเป็น phase ที่เราวางไว้ว่าจะทำทั้งหมด 3 phases ด้วยกัน บอกก็ได้อะ จะทำ Groove Riders นี่แหละครับ แต่เป็น Groove Riders ที่ไม่ครบสี่คน เพราะว่าบุรินทร์ก็ไปเป็นศิลปินเดี่ยว แต่เราไม่ได้ทะเลาะกันนะ ก็เป็นพี่น้องกันรักกันเหมือนเดิม แต่พอเราโตมาแล้วเนี่ยแต่ละคนก็ต้องยอมรับว่ามีเงื่อนไขในชีวิตที่มากขึ้น ทุกอย่างมันไม่ได้ลงล็อกเหมือนเดิม ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโกรธกัน แต่เราก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตกันและกันอยู่เหมือนเดิม เราก็จะเริ่มจากโปรเจกต์แรกด้วยการเอาเพลง Groove Riders มาทำเป็นเพลงบรรเลง มันฟังดูแหกมาก แล้วก็รู้สึกว่าเป็นการทำสิ่งที่ท้าทายสิ่งนึงในชีวิต แม้จะไม่ได้เป็นอะไรที่ commercial แต่ในแง่ของการเป็นนักดนตรี มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่าง phase ที่สองคือการไปทัวร์อีกครั้งในอีกรูปแบบนึงที่ไม่ได้มีนักร้องนำเป็นบุรินทร์ มันก็เป็นการท้าทาย เพราะว่าเป็นศิลปินที่เป็นบิ๊กเนม เป็นซุปเปอร์สตาร์ ทีนี้เราจะทำยังไง จุดสุดท้ายคือการทำเพลงใหม่ออกมา ตอนนี้โคตรจะท้าทายเข้าไปใหญ่ ซึ่งไม่รู้จะทำแต่ละจุดนั้นสำเร็จหรือเปล่า แต่เรามีแพลนอยู่แล้ว เราก็ต้องค่อย ๆ ทำไป อาจจะใช้เวลาหน่อย
มีนักร้องในใจหรือยัง
ยังไม่มีครับ นี่ไง นี่คือความท้าทายของชีวิต ถ้าทุกอย่างมันถูกต่อมาแล้วมันก็นอนอยู่บ้านเฉย ๆ ได้แล้ว ต้องมีการท้าทายแบบนี้แหละครับ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเพลง รุ่นใหญ่ ที่ปล่อยออกมาเพลงแรก ตอนนี้ก็พอจะรู้ว่าคงไม่ใช่เพลง commercial แต่มันเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนเห็นภาพว่ากูบ้าจริงนะ ไม่ได้ล้อเล่นนะเว้ย แต่เพลงที่กำลังจะปล่อยที่เป็น commercial อย่าง The Diary กับเพลง สักวัน เนี่ย ก็คงต้องดูกระแสสองเพลงนี้ก่อน เพราะว่าเราอยากจะมีคอนเสิร์ตไซส์กลางประมาณ 2,000 คน จะรวบรวมเอาพี่น้องศิลปินที่มาร่วมงานกับเรา ตุล ตู่ กานต์ พี่คงเดช กับอีกหลายคน ซึ่งยากมากที่จะเอาทุกคนมารวมกัน เราก็อยากจะไปทัวร์แต่จะทำได้มันก็ยาก เลยคิดว่าจะทำคอนเสิร์ตที่นอกจากเราจะอยู่อัลบั้มเดียวกันแล้วเรายังจะได้อยู่บนเวทีเดียวกันด้วย ถ้าทำได้นะ ก็ต้องดูก่อนว่าสองเพลงนี้จะได้รับการตอบรับดีมั้ย ไม่งั้นก็จะไปทำกับ ฟังใจ ก็ได้ ก็พอแล้ว
ฝากอะไรถึงแฟน ๆ ให้หายคิดถึง
ฝาก ฟังใจ ด้วยนะครับ ก็จะมีศิลปินอย่างพวกเรานี่แหละที่จะไปอยู่ในนั้น ให้วงการเพลงไทยได้มีอะไรแบบนี้ ผมว่าปัจจุบันวงการเพลงไทยมีวงใหม่ ๆ ดี ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นเยอะมาก ๆ ผมอาจจะคิดต่างจากคนอื่น ผมไม่รู้คนอื่นคิดยังไง แต่ผมว่ายุคนี้แหละคือยุคทองของวงการเพลงไทย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือคนฟังต้องสนับสนุน ไม่งั้นศิลปินเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ร่วงไปทีละคน ๆ ก็คงต้องช่วยกันให้เขาพัฒนาเป็นศิลปินที่ดีขึ้นไปอีก