ให้เราได้เจอ ให้เราได้รู้จัก ‘Buddhist Holiday’ วงร็อกที่คุณจะรักแบบไม่ต้องมีเหตุผล
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Pradthana Chaijaroensuksakul
มั่นใจว่าเด็กที่เริ่มฟังเพลงนอกกระแสเมื่อหลายปีก่อนต้องมีชื่อของ Buddhist Holiday บรรจุอยู่ใน ‘Indie Starter Kit’ รวมกับอีกหลาย ๆ วงจาก No More Belts, Panda Records หรือ SO::ON Dry Flower แต่สำหรับคนที่เพิ่งได้ฟังเพลงพวกเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้แล้วเกิดสนใจขึ้นมาว่าเป็นใคร ทำอะไร มาจากไหน เราก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำวงอัลเทอร์เนทิฟร็อกที่ผสมผสานกลิ่นอายแบบไซคีเดลิกไว้ได้อย่างกลมกล่อม เลยชวน ติ—กิตติ ตั้งดำรงยศ นักร้องนำของวงมาย้อนอดีตและทำความรู้จักกับแฟนเพลงรุ่นใหม่กันที่นี่
Buddhist Hoiday เป็นวงที่ไม่ค่อยมีบทสัมภาษณ์ที่ไหน
ก็ไม่ค่อยได้ให้สัมภาษณ์ที่ไหนนะเพราะเป็นคนพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ) ก็มีบ้าง ยุคแรก ๆ ที่มีหนังสือพวก DDT หรือเวลาไปเล่นงานของ Fat Radio ทุกปีเขาจะมีหนังสือที่ทำซัพพอร์ต มีนิตยสารสีสัน มี MTV Trax ตอนนั้นก็มีพี่กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ เป็นคนเขียน แต่สมัยนี้เขาก็เลิกทำกันไปหมดแล้ว พวกคนที่เคยเขียนนิตยสารดนตรีก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นในวงการ ส่วนพวกออนไลน์ไม่มีเลย
ทำไมถึงเล่นไม่ค่อยบ่อย เป็นเพราะเลือกงานเล่นหรือเปล่า
สมัยก่อนไปหมดนะ แต่พอช่วงหลัง ๆ เราก็เริ่มที่จะเลือกงานที่ดูเหมาะสมกับที่เราเป็นอยู่ เหมือนอยากจะเล่นให้มันพิเศษหน่อย ไม่ก็ต้องเป็นงานที่เราอยากจะไป หลายครั้งเหมือนกันที่มีคนชวนให้เราต้องไปเล่นกับวงที่คนละแนว คนที่มาดูส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้มาดูเรา มันก็ผิดทางไปหน่อย อย่างตอนนั้นไปเล่นกับโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ ตอนเราเล่นนี่คนดูอึ้งเลย แต่พอโต๋ ‘ตึ๊งตึง’ ขึ้นมา คนกรี๊ดลั่น เราก็แบบ ทำไมเรามาเล่นตรงนี้วะ (หัวเราะ) คือตอนนั้นยังอยู่ค่ายเดียวกัน เขาก็ยัดเราเข้าไป ตอนนั้นมี Slot Machine มีบุรินทร์ด้วย ก็งง ๆ เราเป็นวงเล็กสุด เล่นกับ Thaitanium ก็เคยไปนะ (หัวเราะ) ก็ต้องเลือกบ้างไม่งั้นเดี๋ยวจะไปแล้วเขินเสียเปล่า ๆ แล้วด้วยความที่เราไม่ได้มีเพลงใหม่เลยบางคนก็ไม่รู้ว่าเรายังมีคนชวนไปเล่นอยู่เรื่อย ๆ เมื่อไม่นานมานี้ดีเจที่ Cat Radio ก็ถามว่า ‘พี่ไม่เล่นดนตรีแล้วหรอ’ (หัวเราะ) วันเสาร์นี้ก็จะมีงานฟังใจแล้วเนี่ย ไปเล่นแน่นอนโชว์ exclusive สำหรับแฟนเพลง exclusive ด้วย …บัตรหมดยังนะ (หัวเราะ)
สมาชิกยุคแรกของ Buddhist Holiday ไปไหนกันหมด
มือกีตาร์ (สกล ศิริพิพัฒนกุล) ก็ยังเล่นอยู่ แต่งานเยอะ เป็นอาจารย์ แล้วก็เหมือนมีละครเวทีในบริษัทของแกรมมี่ ส่วนมือเบส (เอก โอตรวรรณะ) เขาก็ออกไปทำธุรกิจที่บ้าน แต่ตอนนี้ก็มี แปม (ธีรวุฒิ อิทธิวุฒิ) กับ โป้ว (ภิญโญ ใหม่ละเอียด) มาเล่นกลองกับเบสให้ แล้วหลัง ๆ พอมือกีตาร์ไม่ว่างก็จะมี เต๊นท์ (ศิวนัส บุญศรีพรชัย) มาเล่นให้ด้วย เหมือนจะเป็นวง Summer Dress อยู่แล้ว (หัวเราะ) คือวงนี้เป็นวงที่เล่นได้ดี มันจะมีช่วงที่พี่ป๊อก Stylish Nonsense เปิดร้าน Motorcycle Emptiness Bar ที่ทาวน์อินทาวน์ เขาก็ชวนไปทำไปเปิดเพลง ก็ได้เจอพวกนี้มาเล่น ก็ได้ดูกันบ่อย ย้ง Chladni Chandi ก็มาบ่อย ก่อนหน้านี้มีคนนู้นคนนี้มาช่วยหลายคนแหละ บางคนเก่งมากแต่คุยยากมันก็มีนะ แต่พวกนี้ลงตัวสุด คุยง่ายแล้วเข้าใจกัน ทำงานเร็วด้วย ความที่มันรู้จักกันมานานแล้วสนิทกันเลยเป็นจังหวะมากกว่า ก็ได้มาช่วยจนถึงทุกวันนี้ แต่เหมือนเขามาช่วยซัพพอร์ตแหละเพราะเพลงก็มีมาอยู่แล้ว ยังไม่เคยร่วมงานแบบขึ้นโครงเพลงใหม่ด้วยกันเลย ที่จะเล่นงาน Fungjai Lab ก็คงเป็นแก๊งนี้แหละ (หัวเราะ) เป็น ‘Summer Holiday’ เราน่าจะทำโปรเจกต์กันบ้างเนอะ
ทำไมถึงย้ายจาก Black Sheep ไปอยู่ Panda Records
จะเรียกว่าวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าง Black Sheep ก็เป็นลูก Sony Music อีกที ที่เขาปิดไป ตอนนี้เป็น BEC Tero Music แทน หรือร้านซีดีก็เจอแบบนี้กันหมด เดี๋ยวนี้คนไม่ได้ซื้อแผ่นเยอะขนาดนั้นเพราะเพลงเหมือนจะฟรีไปหมดแล้ว จะไปฟังเพลงบน YouTube เอาก็ได้ มีทุกเพลง เราก็ต้องหาทางออกด้วยการไปเล่นโชว์มากขึ้น วงอื่นก็คงเหมือนกัน แต่ส่วนตัวถ้าเราออกอัลบั้มเราก็อยากจะออกเป็นแผ่น เราโตมากับยุคซีดี มันจับต้องได้ รู้สึกได้มากกว่า อีกทางออกนึงคือศิลปินก็ไปทำเป็นแผ่นเสียงซะ จากยุคดิจิทัลย้อนกลับไปเป็นยุคเก่ากว่านั้นอีก คนกลับมาเล่นแผ่นเสียงกันเยอะ ซึ่งเดี๋ยวนี้เรามองว่ามันเหมือนเป็นของที่ระลึกมากกว่า คนที่จะซื้อก็ค่อนข้างเป็นแฟนของวง บางคนไม่มีเครื่องเล่นด้วยซ้ำ ซื้อไปวาง อย่างชุดล่าสุดที่ทำกับแพนด้าเราก็ทำเป็นแผ่นเสียง มีให้ฟังบน YouTube เพลงนึง แล้วไรต์แผ่นซีดีแถมให้แผ่นนึงเผื่อคนไม่มีเครื่อง ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีใครทำเลย แต่ตอนนี้ศิลปินเกือบทุกคนอยากจะทำแผ่นเสียงหมด อย่างแผ่นจากยุคเก่า ๆ ที่ผลิตครั้งแรกจะแพง ถ้ายังไม่แกะมาฟังนี่ขายกันได้สองสามพันเลย ส่วนยอดขายก็ไม่ได้ขายกันเป็นหลักล้านตลับแบบตอนยุคพี่เบิร์ด อย่างบ้านเราแผ่นเสียงขายได้ 300-500 แผ่นก็เก่งแล้ว เพราะเราไม่มีสื่อช่วยโปรโมตอะไร ฟังกันในกลุ่มปากต่อปากบอกกันไปว่ามีเพลงนี้ มีอัลบั้มชุดนี้ เราก็ไปเล่นตามงานเท่านั้นถึงจะสามารถไปถึงคนฟังได้ มันเป็นเรื่องที่โอเคตรงที่เราไปได้ด้วยเพลงจริง ๆ
เลยทำให้ Buddhist Holiday มีแฟนเพลงเฉพาะกลุ่มที่เหนียวแน่น
ใช่ ๆ มันมีคนที่ฟังมานานแล้ว มันจะมีพวกงานประจำปีอย่าง Cat T-Shirt เราจะได้ไปเจอคนเหล่านี้ บางคนชอบมาเล่าว่าผมฟังตั้งแต่เรียนมัธยม ตอนนี้จะเรียนจบมหาลัย ทำงานแล้ว ยังรอฟังอยู่ ก็ถือว่าโอเคนะ เหนียวแน่น
จุดเด่นอีกอย่างในเพลงของ Buddhist Holiday คือเนื้อเพลงที่ดูมีวาทศิลป์ ได้อิทธิพลแนวการเขียนมาจากใคร
เราก็เขียนที่เราอยากจะเขียนของเราแบบนี้แหละ เหมือนเราเล่าเรื่อง แต่บางคนเขาบอกว่าฟังไม่รู้เรื่องนะ (หัวเราะ) เพราะมันไม่ได้เล่าตรง ๆ ส่วนแรงบันดาลใจก็ไม่ได้มีขนาดนั้น แต่จะเป็นพวกเพลงไทยเก่า ๆ มันจะมีคำสวย ๆ อันนี้ชอบฟัง คำเขาวิจิตรวิลิศมาหรากว่าเรามาก แต่ของเรานานนะกว่าจะออกมาได้ เพลงดูเหมือนแค่ 4-5 นาที แต่ใช้เวลาคิดนานมากกว่ามันจะลงตัว ขีดฆ่าทิ้ง เขียนใหม่หลายรอบ แต่บางเพลงเขียนทีเดียวเสร็จเลยก็มี บางเพลงเกิดจากนอนฝัน อย่าง เหตุผล (หัวเราะ) ตื่นขึ้นมาเขียนจนจบเพลงเลย
ภาพในมิวสิกวิดิโอมาจากในฝันด้วยหรือเปล่า
ไม่เกี่ยวครับ อันนั้นโดนหลอกไปทำ (หัวเราะ) ที่ค่ายเขาให้น้องชายพี่โน้ส อุดม (สันติ แต้พานิช) มาทำ เขาเขียนสตอรี่บอร์ดมาโน่นนี่นั่นอลังการมาก เราก็นั่งรถตู้กันไปแต่เช้า แต่พอไปถึงไม่มีอะไรแบบในสตอรี่บอร์ดเลยนะ เป็นอีกเรื่องไปเลย มายิงปืนเป็นงานว้งงานวัดอะไรไม่รู้ มีคนถามบ่อยมากว่าไอ้ตุ๊กตาโยก ๆ มันมีความหมายว่าอะไร เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ต้องไปถามเขาเอง
งานชุดแรกกับชุดที่สองได้ทำในระยะเวลาใกล้ ๆ กันไหม
จริง ๆ มันเป็นชุดที่ 2.5 ด้วยนะ มันมีความต่อเนื่องกันแหละ ชุดแรกออกมาได้สองปี ก็จะออกอีกชุดต่อกับทาง Sony แต่พอเอาไปให้เขาสามเพลง ได้ออกมากับ Black Sheep compilation พวกเพลง ความรู้สึก ไม่ได้อยู่ในอัลบั้ม ไป ๆ มา ๆ ค่ายก็ยุบ สามเพลงนั้นเลยไปติดค้างอยู่ แล้วพวกเพลงที่ไม่ได้ไปปล่อยที่ไหนแต่มีคนเคยได้ฟังแล้วก็อยากฟังเป็นออดิโอ เราก็เลยไปเสนอให้ออกเป็นอัลบั้มคู่อัลบั้มพิเศษ ลายการ์ตูนขาว ๆ ทำมา 500 ชุด มีสองแผ่น จะมีเพลงพวกนี้อยู่ แล้วมันก็มีเพลงที่แต่งไว้อยู่บ้างก็เอามาทำต่อในอีกชุดนึง อารมณ์มันจะคล้าย ๆ กัน แต่คนจะบอกว่าชุดล่าสุดจะฟังดูดาร์กกว่ามาก อันแรกฟังง่ายกว่านิดนึง มันคงจะเป็นความรู้สึกของเรา ณ ขณะที่แต่งตอนนั้นด้วยมั้ง ตามอารมณ์เพลงที่ออกมาเลย ฟังดี ๆ มันจะไม่เหมือนกัน แต่เพราะคนเล่นคนแต่งคนเดียวกันมันเลยออกมาคล้ายกัน
ทำไมถึงอินกับเพลงไซคีเดลิก
ตอนนั้นเราทำงานอยู่ Tower Records ไปทำงานเหมือนไม่ได้ทำงานอะเพราะมันเหมือนห้องสมุดเพลง เราเป็นพนักงานเราก็เปิดแม่งทุกอัน โห มันมีเพลงใหม่ ๆ เยอะมาก ยุคนั้นมันก็ 90s มีวงแบบ Blur, Oasis, Shed Seven, Suede, Manic Street Preachers ไรงี้ ที่ดัง ๆ เด็ก ๆ รู้จักกันในยุคนั้น แต่เราจะชอบ 70s ไซคีเดลิกมาก พื้นฐานก็ฟังตามจากที่บ้าน The Beatles มันจะมีอัลบั้มไซคีเดลิกอย่าง Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band พวก The Animals, Eric Burdon, The Velvet Underground ในยุคนั้นทุกวงเขาทำเป็นไซคีเดลิกหมด Jimi Hendrix อีก มีเยอะมาก แล้วได้แผ่นดีวีดี Woodstock Festival มาวนดูกับเพื่อนหลายรอบมาก วงพวกนี้เหมือนทำให้เรารู้สึกว่า โห เพลงในยุคนั้นมันเจ๋ง มันล้ำนะ แต่บางเพลงฟังไม่รู้เรื่องหรอก บางทีมันมีท่อนแปลก ๆ ไม่น่าจะเป็นเพลงได้ แต่มันดูมีเสน่ห์สำหรับเรา บางเพลงก็เล่นคอร์ดวนไปวนมาอยู่อย่างนั้นทั้งเพลง ยาว 7 นาที คนไม่ชอบก็ไม่ชอบไปเลย แต่มันใช่สำหรับเรา ก็ไปตามหาวงแปลก ๆ ฟัง บางวงก็จำชื่อไม่ได้แล้ว บางวงก็หนักเกินไปจนฟังไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) อย่างมีคนนึงที่ชอบมาก ๆ เลยก็นักร้องนำของวง Pink Floyd คือ Syd Barett เนี่ย ยุค Pink Floyd ที่ยังมีเขาอยู่เราก็ชอบนะ เชื่อไหมว่าตอนนั้นที่ Tower Records มีขายอยู่แผ่นนึง แต่คนไม่ค่อยยอมรับ พอเราเป็นพนักงานอยากฟังอะไรก็สั่งเข้ามาเผื่อตัวเองแล้วเก็บไว้ในล็อกเกอร์ (หัวเราะ) แต่เพลงเราก็มีความ 90s ด้วย มันคืออะไรที่ฟังรวม ๆ กันก็ออกมาเป็น Buddhist Holiday ชุดแรก
เล่าตอนที่เป็นพนักงาน Tower Records ให้ฟังหน่อย
ความจริงทำวงอยู่เนี่ยแหละ แล้วมือเบสเขาทำงานที่แผนกคลาสสิกของ Tower Records ก็ชวนว่า ‘มึงมาหากูเกือบทุกวันแบบนี้มึงก็มาทำงานเลยสิวะ’ เอ้า ได้หรออย่างงี้ เอาสิ ก็สมัครเลย แต่ตอนนั้นต้องทำข้อสอบเข้าด้วยนะ คิดดู เขาก็จะถามว่า เพลงนี้เป็นของวงอะไร เป็นแนวอะไร เหมือนเช็กพื้นฐานความรู้ดนตรี จริงจังมาก มีเพื่อนไปสอบตั้งสองสามครั้งแต่สอบไม่ติด ของเรานี่เป็นความจับพลักจับผลูมากกว่า แต่มันเป็นยุคเฟื่องฟูจริง ๆ เชื่อไหมวงดนตรีดัง ๆ เวลามาเล่นที่ไทยเขาต้องมาเดินที่ Tower Records ไม่ว่าจะเป็น Radiohead, Blur, Brett Anderson วง Suede, Michael Jackson ก็มาเดินวนในนี้นะ ลูกค้าเราก็เป็นนักดนตรีมากมาย Silly Fools, พี่ป๊อด Moderndog หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานก็เป็นศิลปิน จีน กษิดิษ, ดาจิม ก็เป็นเรื่องแปลก… ถือว่าไม่แปลกหรอก คนมันชอบดนตรีอยู่แล้ว
มีประสบการณ์ที่แฟนคลับทำให้รู้สึกประทับใจไหม
มี ๆ ที่จำได้ชัดเลยคือตอนงาน Stone Free คนมาดูเยอะมาก ยังดูคลิปใน YouTube ได้อยู่เลยนะ คนกระโดดกันแบบ โอ้โห มีคนถาม ‘พี่ติเอาอะไรให้น้องเขากินกันรึเปล่า’ (หัวเราะ) แต่มันสนุกมากเลยนะ ประทับใจ ประมาณตี ไม่น่าเชื่อว่าคนไม่นอนกัน ปกติต้องนอนกันแล้วนะ จริง ๆ ตามคิวคือเล่นประมาณห้าทุ่ม เลตมาเรื่อย ๆ จนตีสี่ งาน Cheeze Carboot Sale ที่ไปเล่นปีที่แล้วก็สนุก
อะไรที่ทำให้ยังทำวงมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะหลาย ๆ วงพอกระแสตอบรับไม่ดีก็ท้อไปก่อน
อยู่บ้านเราก็เล่นดนตรี เล่นมาตลอดจนเลิกไม่ได้แล้วมั้ง วงมันก็อยู่ของมันอยู่แล้ว เราแทบไม่ต้องทำอะไรกับมัน ทำงานกันสบาย ๆ เพลงเราก็แต่งไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีอะไรมากดดันสักเท่าไหร่ เราก็ทำอย่างที่เราอยากทำเนี่ยแหละ คิดแบบนี้ก็ทำออกมาแบบนี้ ถือว่าโชคดี อย่างอัลบั้มล่าสุดที่ออกอันนี้ก็หลายปีแล้ว เมื่อไหร่พร้อมก็เล่น แต่เวลาไปงาน Cat T-Shirt ก็มีคนถามว่าจะทำอีกเมื่อไหร่ ซึ่งบางทีความไม่กดดันนี่ก็ทำให้ไม่ออกอัลบั้มสักที (หัวเราะ) คือด้วยการขับเคลื่อนของวงตอนนี้มันมีแค่สองคน มันก็ง่ายสำหรับการตัดสินใจ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาก สมมติเราเป็นคนแต่งเพลง ก็เอาไปให้พี่สกลเล่นกีตาร์มา ใส่ไลน์เบส คิดกลอง ก็เสร็จ ง่าย แต่วงอื่นเขาอาจจะต้องคิดเยอะ คนเยอะ เรื่องเยอะ นัดยาก เลยเป็นปัญหา
ฟังงานของนักดนตรีรุ่นใหม่ ๆ แล้วคิดว่าเขามีอะไรที่เราไม่มี หรือเรามีอะไรที่เขาไม่มี
เด็กรุ่นใหม่เก่ง ๆ เยอะเลย อย่างเดี๋ยวนี้เขาทำเพลงมาแล้วสามารถออกสื่อเองได้เลย คือง่ายกว่ามาก สมัยเราต้องทำเดโม่ใส่เทปคาสเซ็ตไปเสนอตามค่ายต่าง ๆ ต้องพกไว้ในกระเป๋าเลย กว่าจะให้คนได้ฟังเยอะ ๆ มันยากกว่ามาก เดี๋ยวนี้แค่ลงใน YouTube ก็ได้แล้ว นี่คือสิ่งที่ดี แต่ที่ไม่ดีคือความพยายาม นี่ความคิดเห็นส่วนตัวนะ ด้วยเมื่อก่อนพอมันต้องใช้ความพยายามมาก ๆ มันก็ต้องเคี่ยวเข็ญกับเพลง เราจะต้องกลับมาคิดก่อนจะปล่อยให้คนอื่นฟัง ต้องให้คนลองฟังแล้วเขาก็จะมีการติหรือแนะนำ กลับมาบ้านเราก็ฟัง แก้อีกรอบ ค่อยปล่อย แต่เดี๋ยวนี้อาจจะทำเสร็จแล้วปล่อยเลย ฉับไว รวดเร็ว แต่ถ้าได้กลั่นกรองก่อนมันก็จะดี
เชียร์วงรุ่นใหม่ ๆ วงไหนบ้างไหม
ก็ต้อง Summer Dress สิ (หัวเราะ) ไม่ค่อยได้ตามข่าวเท่าไหร่นะ แต่จะมีผ่าน ๆ หูบ้าง พวก The Toys ที่เขาเปิดบ่อย ๆ บางทีได้ยินเพลงแต่ไม่รู้หรอกว่าของวงไหน
พอมีเพลงแค่สองอัลบั้มแล้วต้องเล่นเพลงตัวเองซ้ำ ๆ มีเบื่อบ้างไหม
เอาจริงมันก็ไม่ค่อยได้เล่นเยอะ นาน ๆ ทีก็ไม่เบื่อหรอก เล่นได้ (ยิ้ม)
จะมีเพลงใหม่หรือยัง
มีแน่นอน แต่ไม่รู้เมื่อไหร่นะ ทำตามอารมณ์ สบาย ๆ คนฟังก็สบาย ๆ มั้ง รึเปล่า? แต่ออกแน่นอน สัญญา
อยากให้คนที่ไม่รู้จัก Buddhist Holiday ได้ลองฟังเพลงอะไรถึงจะรู้จักตัวตนของวงมากขึ้น
จริง ๆ มันก็เป็นเราหมดแหละ เอาพวกเพลงที่คนไม่ค่อยได้ฟังแล้วกัน ภาพที่ไม่เคลื่อนไหว ตอนนั้นส่งไปคลื่นก็ไม่เปิดด้วยนะ อาจจะยาวไป เพลงมัน 5 นาทีได้
ฝากอะไรถึงแฟน ๆ หน่อย
แฟน ๆ วง Buddhist Holiday อยากให้มางานนี้กันเยอะ ๆ เพราะเราไม่ค่อยได้เล่น เวลาไปงานต่าง ๆ น้อง ๆ จะมาถามว่าเมื่อไหร่จะมีโชว์ เมื่อไหร่จะเล่นสักที คราวนี้แหละ ต้องมากันนะครับ เจอกันแน่นอน แล้วก็มีเพลง B side มาฝากด้วย เล่นกับวงอื่น ๆ ที่เล่นด้วยกันในงานนี้ Chladni Chandi, Cloud Behind, Diaries ลองฟังดู
พบกับ Buddhist Holiday ได้ที่งาน Tiger presents Fungjai Lab : Psychedelic 101 9 มิถุนายน นี้ ที่ Glow Fish สาธร รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก ที่นี่