สวัสดีเรามาจากอนาคต มาลองทำเพลงด้วยคลื่นสมองกันเถอะ
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Tas Suwanasang
การจะเขียนเพลงดี ๆ ขึ้นมาซักเพลงนอกจากแรงบันดาลใจดี ๆ ซักเรื่อง บาดแผลสด ๆ ซักรอยและประสบการณ์ความบอบช้ำในชีวิตอันพรั่งพรูแล้ว เรายังต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้าง หาความรู้หรือสิ่งดี ๆ มาใส่สมองตลอดเวลา เพื่อให้เราได้รังสรรค์ดนตรีที่ไม่มีใครเหมือนขึ้นมาบนโลก สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในหูของคนฟัง แต่จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถเสียบสายเคเบิ้ลตรงจากสมองสู่มิกเซอร์แล้วออกมาเป็นเสียงดนตรีอันน่าตกตะลึงได้ทันที ขอแนะนำให้รู้จัก Jason Snell หรือทุกคนรู้จักเขาในนาม Bombardier
ด้วยความที่ชอบคลุกคลีอยู่กับการเขียนโค้ดมาตั้งแต่เด็กทำให้เขาเป็นนักทดลองที่ปราดเปรื่องกับความรักในเสียงดนตรีตั้งแต่วัยรุ่น เขาจึงเริ่มทดลองทำอาร์ตฟิล์มผ่านการแคะแกะเกาของที่มีอยู่เพื่อทดลองว่ามันจะมีเสียงยังไง อย่างการหยิบไวนิลมามิกซ์หรือเอากีตาร์มาจ่อกับแอมป์ให้เกิดฟีดแบ็กที่คาดเดาไม่ได้ จนหันไปสนใจมิวสิกลูปและสายเทคโน
ยิ่งการทำงานในสายงานบันเทิงอย่างเข้มข้นทำให้เขาอยากลองสร้างอะไรใหม่ ๆ บ้าง จึงหยิบจับดนตรี industrial ที่ตัวเองหลงใหลมาพัฒนาต่อ จากการทดลองอันฟุ้งเฟ้อผ่าน drum & bass หรือ breakcore ผลลัพธ์ของมันคือที่คาดหัวซึ่งตรวจจับคลื่นสมองของเขา และส่งสัญญาณออกมาเป็นจังหวะดนตรีเท่ ๆ ผสมผสานกันออกมาเป็นดนตรี dark wave สุดหลอนน่าฟัง
อธิบายหลักการทำมันแบบรวบรัดเลยคือ สมองของคนเราจะสร้างคลื่นสมองได้หลากหลายแบบตามอารมณ์ความรู้สึกของเรา เราตรวจจับมันออกมาได้เป็นคลื่นความถี่ของกราฟ ยิ่งเรามีความเครียดมากเท่าไหร่กราฟก็จะยิ่งเบียดตัวกันหนาแน่นและพุ่งขึ้นลงอย่างรุนแรง แต่ถ้าเราสงบหรือนอนหลับ กราฟก็จะเรียบนิ่งสงบ Jason เลยสร้างที่คาดหัว EEG ตรวจจับคลื่นสมองและส่งข้อมูลทั้งหมดเข้าไปในแอปพลิเคชั่นที่เขียนขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อเปลี่ยนกราฟเหล่านั้นให้กลายเป็นเสียงดนตรี ทำให้ดนตรีของเขาถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ล้ำลึกกว่าใคร ในโชว์ของเขาก็มักจะให้แฟนเพลงขึ้นมาทดลองใช้เจ้าเครื่องนี้ดู ความน่าตื่นเต้นมันอยู่ตรงที่สมองของทุกคนก็สร้างเสียงดนตรีที่แตกต่างกันไปเลย
นอกจาก Jason Snell แล้ว ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่หยิบคลื่นสมองมาสร้างเสียงเพลงได้น่าทึ่ง หนึ่งในนั้นคือ Brian Foo ที่สร้างเพลง Rhapsody ขึ้นมาด้วยข้อมูลจากคลื่นสมองของคนไข้นิรนามคนหนึ่ง ใช้เสียงดนตรีเข้ามาบรรยายว่าสมองคนคนหนึ่งก่อนป่วย กำลังป่วยและช่วงที่หายป่วยมันเป็นยังไง โดยแบ่งเป็นสามช่วงใหญ่ ๆ ในเพลงยาว 4 นาทีนี้ จะสังเกตได้ว่าก่อนป่วยจะมีแค่เสียงเครื่องดนตรีบรรเลงน่าฟัง แต่พอเริ่มโดนโรคร้ายรุมเร้าก็มีจังหวะที่ตื่นเต้นขึ้น เครื่องดนตรีก็มากขึ้นไปด้วย ลองฟังด้วยตัวเองดู
นอกจากคลื่นสมองที่ถูกกระตุ้นด้วยความเจ็บป่วยภายในแล้ว มันยังถูกรบกวนด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันบอบช้ำและอ่อนล้าอีกด้วย ทำให้เสียงดนตรีที่ประมวลผลออกมายากเกินจะคาดเดาได้เลย คลื่นสมองเลยเป็นสิ่งอัศจรรย์หรือปริศนาที่น่าสนใจมาก ทั้งสองคนก็เป็นแรงบันดาลใจชั้นดีในการทดลองที่จะสร้างสรรค์ดนตรีใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่เหลือก็อยู่ที่สมองของเราแล้วว่าจะพาเสียงเหล่านี้ไปได้ไกลแค่ไหน
บทความที่คุณอาจจะสนใจ
7 ช่อง YouTube รวมเทคนิคการทำเพลง ที่นักดนตรีทุกคนต้องสับตะไคร้เอาไว้
จากคนฟังเพลงสู่คนทำเพลง ความยากลำบากที่แค่ฟังคงไม่เข้าใจ