Luss อีกด้านที่คุณไม่เคยเห็นของ เบน และ ปั้น Jelly Rocket กับแนวดนตรีที่พวกเขารัก
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
แฟน ๆ Jelly Rocket น่าจะตื่นเต้นกับโปรเจกต์เดี่ยวของสมาชิกที่ทยอยปล่อยออกมาให้ได้ฟังกัน ก่อนหน้านี้เราพูดคุยกับ ภัค Fluffy Pak ก็ได้เวลาของ ปั้น และ เบน ที่ตั้งใจถ่ายทอดตัวตนของพวกเขาที่ไม่ค่อยมีใครรู้ออกมาผ่าน urban sound ในฉบับของ Luss ศิลปินรายล่าสุดจากค่าย Wayfer Records หลังจากมีเพลงแรก Trippin’ เพลงสไตล์น่ารักสดใสแต่มีบีตเท่ ๆ ให้ได้โยกกันมีกระแสตอบรับที่ดีมาก ๆ ล่าสุดไม่กี่วันก่อนก็เพิ่งปล่อยเพลง Fool ออกมา ซึ่งทั้งสไตล์เพลงและลุคค่อนข้างฉีกจากเพลงแรกไปพอสมควร อะไรคือเหตุผลที่ทำให้แนวทางของวงเปลี่ยนไปขนาดนี้ หาคำตอบได้ที่ย่อหน้าถัดไป
ทำไมถึงใช้ชื่อว่า Luss
เบน: จริง ๆ ก็ชอบคำว่า ‘lust’ คืออยากให้ดนตรีฟังแล้วรู้สึกเซ็กซี่ แต่ถ้าใช้ t เลยก็จะลงตัวไปหน่อย เลยใช้เป็น s หน่ึงคือไม่ตรงตัวขนาดนั้น สองคือมันดูสวยกว่า
ปั้น: มีเบื้องหลังด้วยคือรู้สึกว่ามันคือความหลงใหลในดนตรีที่มี ก็คือ lust กับดนตรีเนี่ยแหละ (หัวเราะ)
แล้วสองคนมาเจอกันได้ยังไง
เบน: เราเล่นเบสให้ Jelly Rocket
ปั้น: แล้ว first impression คือเรารู้สึกว่าเบนทำได้หลายอย่างมาก ไม่ใช่แค่เล่นเบสอย่างเดียว ทางคอร์ดที่เบนคิดมันซับซ้อนกว่าที่เคยเห็นมา ด้วยความที่เราไม่รู้เรื่องด้นตรี
เบน: ที่เราเล่นได้หลายอย่างเพราะงี้ โดนบังคับเรียนเปียโนตั้งแต่เด็กประมาณ 5 ขวบจน 15 แล้วทุกครั้งที่ไปเรียนคือร้องไห้ตลอด ไม่อยากเรียน แล้วก็ไม่ได้เล่นเปียโนเก่ง แต่สิ่งที่มันได้มาคือเรื่องหู พอได้ยินคอร์ดแล้วจะรู้ว่าเมโลดี้ต่อไปควรจะเป็นแบบนี้ คือมันทำให้แต่งเพลงง่าย แล้วพอโตมาหน่อย เป็นวัยรุ่นก็อยากมีวง ทำเท่ จะเล่นกีตาร์ก็ฝึกเล่นกีตาร์ แต่สุดท้ายในวงไม่มีใครเล่นเบส เราก็เลยเสียสละไปเล่นเบส (FJZ: จุดจบมือเบสส่วนใหญ่) จริง แล้วหลังจากนั้นก็สอบเข้ามหาลัยก็เรียนเบส แล้วก็เล่นเบสเป็นแบ็คอัพมาตลอด 4-5 ปี สุดท้ายพอได้กลับมาโปรดิวซ์เพลงก็ได้ใช้คีย์บอร์ดที่เราเรียนมาสักที เบสก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นจากเปียโนก่อน
ปั้น: เออ ก็เลยเป็นเหตุผลที่คิดว่าน่าจะเข้ากันในการเขียนเพลง ก็ไว้ใจมาก ๆ สไตล์ต่าง ๆ ก็เข้ากัน หลาย ๆ ทีที่ได้ฟังดนตรีก็รู้สึกว่าเบนเจ๋งดี แบบชอบมาบอกว่า เฮ้ยลองฟังเพลงนี้ดิ คอร์ดแม่งล้ำสัส แล้วจะเป็นคน perfect pitch คือจะบอกได้ว่าโน้ตไหนคือโน้ตไหน ณ ตอนนั้นเลย คนคนนี้ซับซ้อน
ตอนที่ปล่อยเพลง Trippin’ ออกมา กระแสตอบรับเป็นยังไงบ้าง
ปั้น: ด้วยความที่เพลงแรกเหมือนเราทำกันเอง แล้วก็ไม่ได้โปรโมตเท่าที่ควร ส่วน feedback ก็ดี มีคนคอมเมนต์ว่าชอบเยอะมาก ยอดวิวก็โอเค แต่เราว่าไปได้มากกว่านั้นอีก ถ้าเรามี connection ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราขาด เลยเป็นเหตุผลที่ลองเข้าค่าย Wayfer Records ดู
เบน: พี่โน่เขาทักมาบอกว่าชอบเพลง ตอนแรกก็ดูนิ่ง ๆ อยู่ แบบ เขาทักมาแปลว่าอะไรหรือเปล่าว้า แต่ก็นานนะ จนเราทำเพลงสอง เพลงสามเสร็จแล้ว ลองส่งให้เขาฟังอีกที
ปั้น: ปรากฏว่าเพลงที่สองเนี่ยเขาฟังแล้วเขาชอบ มันมีแนวทางของมันที่จะไปต่อได้อยู่ เพลงนี้จะค่อนข้างโตกว่าเพลงแรกมาก เขาเลยบอกว่าลองเข้ามาคุยกันไหม เพราะเหมือนเขาก็อยากลองหาศิลปินแบบนึงที่ยังไม่มี แล้วเราเองก็ต้องการคนที่มาซัพพอร์ตการโปรโมตด้วย
ก่อนหน้านี้ก็มี Wonderframe กับ D-Gerrard นี่
เบน: มี แต่ของเราไม่เหมือนเขานะ จริง ๆ เพลง Trippin’ นี่คือทำนานมาก ประมาณเกือบ ๆ ต้นปีที่แล้ว ทำกับพัด Folk 9 ไม่ได้โฟกัสอะไรมากมายเพราะทำอย่างอื่นไปด้วยเยอะมาก แล้วความจริงเราชอบฟังฮิปฮอปอยู่แล้ว r&b ก็ฟัง เลยคิดว่าลองมาทำอะไรที่ฟังง่าย ๆ ก่อนดูไหม แล้วถามว่าชอบอันนี้ขนาดนั้นไหม มันก็เป็นความชอบ ณ เวลานั้น
ปั้น: แต่ตอนนี้ก็ยังชอบอยู่นะ เพราะมันเป็นส่วนนึงของความชอบที่แตกออกมาอีกมากมาย แต่ถ้าได้ลองฟังเพลงสองมันจะเป็นตัวเรามากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงเพลงแรกที่เราบอกว่าใช้เวลาทำงาน จริง ๆ พวกเราก็ยังฟังฮิปฮอปที่ไม่ได้หนักมาก คือมีหลายแบบ แต่ ณ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่า ที่บ้านเราอาจจะมีแนวโหดมากอยู่ เราก็อยากจะลองทำแนวเบา ๆ บ้างก็ได้ ไม่ได้นั่งนึกถึงเรื่องทาร์เก็ต แค่อยากจะทำออกมาให้คนได้รู้จักในอีกด้านนึง แล้วก็ได้ออกมาเป็นเพลงนั้น
ย้อนกลับไปหลายปีหน่อย ตอน หวาย Kamikaze ออกมาแรก ๆ ก็ใช้คำโปรโมตว่าเป็น baby hiphop คิดว่าเพลงแรกของเราเป็นแบบนั้นไหม
เบน: มันก็ไม่เชิงแบบนั้นนะ เพราะเราไม่ได้ใส น่ารัก เต้น ๆ จริง ๆ ก็ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นฮิปฮอปขนาดนั้น อยากให้เรียกเป็น ป๊อป r&b ที่ใส่แร็ปลงไปนิดนึงดีกว่า
ปั้น: สิ่งที่ทำให้เราต่างจากคนอื่น ๆ ในค่ายเพราะเพลงเป็นภาษาอังกฤษด้วยแหละ แล้วเขาก็ไม่ได้มองแค่จะให้อยู่แต่ในบ้านเรา เพราะ Luss น่าจะมี potential ที่เราไปต่อได้ เหมือนเราก็โปรดิวซ์งานที่แปลกใหม่ได้ด้วย
เบน: ไม่ใช่แค่เนื้อเพลง ซาวด์ โครงสร้างเพลง คอร์ดอะไรต่าง ๆ จะซับซ้อนหน่อย เราก็ตั้งใจทำไม่ให้เป็นแค่ฮิปฮอปมัน ๆ เดือด ๆ อย่างเดียว ด้วยความที่เราเป็นคนเล่นดนตรี เล่นวงสดมาก่อน ก็ไม่อยากทิ้งสิ่งนั้นไป อยากให้คนดนตรีฟังแล้วรู้สึกว่าดนตรีเราแม่งโหดว่ะ ด้วย
หลังจากที่ผ่านมรสุมดราม่า mv ที่ผ่านมา ตอนนั้นจัดการรับมือกับมันยังไง
เบน: เหมือนตอนแรกที่ปล่อยเราก็ตั้งใจทำ ทำกันเองจริง ๆ วันที่ถ่าย mv คือคนทั้งกอง รวมตัวเองด้วยมี 5 คน คอสตูม พร็อพ ต้นไม้อะไรทุกอย่างเราขนกันมาเองหมดเลย ช่วยกันเตรียมกับเพื่อนที่เป็น art director เอาจริงมาก
ปั้น: พูดถึงตอนที่เพิ่งปล่อยไปแล้วมีคนมาคอมเมนต์ในทางนั้นก็รู้สึกใจแป้วนิดหน่อย แต่ไม่กี่วันก็หายเพราะรู้สึกว่ามันเป็นวงจรของสิ่งพวกนี้ ถ้าคนเขาจะคิดยังไงเราก็เปลี่ยนไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร
เบน: โฟกัสคนที่ชอบเพลงเราดีกว่า คนชอบมี คนไม่ชอบก็ต้องมีเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว
ปั้น: ก็มีหลาย ๆ อย่างที่เอามาปรับปรุงเหมือนกัน พวกคอมเมนต์ที่ไปในทางที่ดีเพื่อที่จะให้เราพัฒนา โตขึ้น มันก็มี รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีที่… (เบน: ที่เขาแสดงความเห็นมา พวกคอมเมนต์ที่ติเพื่อก่อ เราก็นำมาปรับปรุง) อันที่ติแบบไม่ลืมหูลืมตาเลย แรก ๆ เราก็เสียใจ ร้องไห้ มันไม่ใช่ intention ที่เราต้องการจะทำเลย ไม่รู้ว่าคนเขาคิดได้ไงขนาดนั้นวะ เรายังไม่รู้เลยนึกออกปะ นั่นแหละ แต่ก็หาย ฮึด ปรับปรุง แล้วคิดว่าเพลงสองก็เริ่มเป็นตัวของเรามากขึ้น มีคาแร็กเตอร์ขึ้นมาก ก็อยากให้ลองฟังดู
ปั้นอินฮิปฮอปมานานแล้วแต่ไม่ค่อยมีใครรู้
ปั้น: : โตมากับฮิปฮอป r&b ตั้งแต่เด็ก ๆ พวก Eminem, 50 Cent, Chris brown (เบน: คือถ้าเราเปิดเข้าไปในแอพ เลือกเพลย์ลิสต์ 2000 Hiphop ขึ้นมา ปั้นจะร้องได้ทั้งเพลงเลยเว่ย) โตมาหน่อยก็จะฟังพวก EDM, dubstep มันก็คือความชอบที่ค่อนข้างแหวกออกมาจากช่วงชีวิตที่ผ่านมาเหมือนกัน แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเราโดนดึงมาทางนี้จากสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวนี้กระแสฮิปฮอปมาแล้วถึงทำ ไม่อยากให้คิดแบบนั้น นี่คือแก่นของเราจริง ๆ มันแค่ไม่ได้มีโอกาสเพราะเราก็ทำวงมา ก็เรียนรู้เรื่องดนตรีอะไรหลายอย่างมาก ๆ คือต้องขอบคุณพี่โม ภัค และประสบการณ์ที่ได้จาก Jelly Rocket มาตลอด 4 ปีมาก ๆ ที่สอนอะไรหลายอย่างกับเราให้เราโตขึ้น และขอบคุณเพื่อนในวงที่เข้าใจเราด้วย ตอนนี้ที่พักไป มันก็อาจจะถึงจุดที่พวกเราออกมาค้นหาตัวเอง ปั้นก็อยากเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ได้ลองใส่ input เรา 100% ในเพลงดู
เบน: มันเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะพอดีที่เราได้เป็น co-producer ร่วมกับนีโน่ ซึ่งนีโน่เป็นคนทำเพลงฮิปฮอปเกือบครึ่งวงการ แล้วมันให้เราไปช่วยในพาร์ตดนตรีสดที่เครื่องดนตรีมันต้องอัดจริง ๆ เพราะเรามีความรู้เรื่องดนตรี ประกอบกับที่มันมีความรู้เรื่องโปรแกรม ซาวด์ คือเราก็เป็นคนชอบฮิปฮอปอยู่แล้ว แต่ฟังแต่ฮิปฮอปไทยอะ (ปั้น: ไม่นับตอนที่ฟัง Girls’ Generation นะ (หัวเราะ)) อันนั้นตัดไป! คือตอนเด็ก ๆ ไม่ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษก็เลยฟังไม่ออกไง เลยฟังฮิปฮอปไทยมากกว่า ชอบ Dajim ทุกอัลบั้มเลย ตั้งแต่ใต้ดินจนถึงบนดิน ฟังจนโต แต่ไม่ได้ชอบดนตรีนะ ชอบที่มันแร็ปเร็ว แร็ปโหด โจอี้ บอย Thaitanium สิงเหนือเสือใต้ ก็ชอบ เพลง r&b ก็ชอบมาแต่ไหนแต่ไร พอได้มาทำงานตรงนี้จริง ๆ ก็รู้สึกว่า เราอยากจะทำของตัวเอง ในแบบของเราเองที่คิดว่าเราชอบ ก็มาลองทำกันดู แต่เราก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นฮิปฮอป จริง ๆ กว้าง ๆ มันเรียกว่าดนตรี urban มันจะมีความ based on r&b ทางคอร์ดต่าง ๆ เราพยายามจะใส่ความแจ๊สเข้าไปในบีตฮิปฮอป มันเป็นการผสมกันหลาย ๆ แนว แล้วพอเราชอบฮิปฮอปก็เลยใส่แร็ปเข้าไปในแนวดนตรีที่เราชอบ
รู้สึกยังไงที่หลาย ๆ คนบอกว่าเพลง Luss อินเตอร์
ปั้น: ก็ไม่ได้รู้สึกยังไงเป็นพิเศษ เพราะยังไงก็อยากทำเพลงให้คนไทยฟังอยู่ดี แต่ก็ดีใจนะ คืออย่างเพลงไทยมันค่อนข้างแต่งยากด้วยความที่มีวรรณยุกต์ เลยทำให้เมโลดี้จำกัดมาก ๆ เพื่อให้คำที่ใช้ไม่เปลี่ยนความหมาย แล้วเราต้องใช้ความพยายามในการบิดเมโลดี้ให้เข้ากับคำนั้น ส่วนเมโลดี้ของเพลงพอเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่รู้สึกว่าต้องฝืนแต่งหรืออะไรเพราะเราใส่คำอะไรเข้าไปก็ได้ ความหมายก็เหมือนเดิม โดยที่ยังได้เมโลดี้เดิมที่เราแต่งออกมา ปกติเวลาเราแต่งเพลงบางทีเมโลดี้ก็มาก่อนคำนะ
มีคนเคยบอกว่าการเขียนเพลง ถ้าคิดแบบภาษาไทย เมโลดี้จะออกมาแบบนึง ถ้าคิดแบบภาษาอังกฤษ เมโลดี้จะออกมาอีกแบบนึง
เบน: ใช่ มันมีผลมากเลยกับการแต่งเมโลดี้ออกมาให้ฟังแล้วดูสากล อย่างที่บอกว่าภาษาไทยมีอักษรสูงกลางต่ำ สมมติอยากใช้เมโลดี้นี้แต่สระมันไม่ลง ก็เกิดการโกงคำ เปลี่ยนเมโลดี้ เลยแก้ปัญหาโดยการทำให้เป็นภาษาอังกฤษไปเลย (ปั้น: แต่เพลงสองมีไทยด้วยนะ เพลงสามก็พยายามใส่ภาษาไทยมากขึ้นเพราะว่า ก็คนไทยอะ (หัวเราะ)) เพลงสาม 70% ไปเลย เพลงสองคือประมาณ 40% ค่อย ๆ เพิ่มไป
เล่าที่มาที่ไปของเพลง Fool ที่เพิ่งปล่อยไปหน่อย
ปั้น: ความที่ทำเพลง Trippin’ มานานแล้ว ความชอบก็เปลี่ยนไป เลยอยากลองทำเพลงที่มันไม่ได้มีทางคอร์ดที่สดใสขนาดนั้น เพราะจริง ๆ แล้วเราก็ฟังแบบนี้มาเยอะ
เบน: คอร์ดเปลี่ยนมาเป็น minor ทีแรกจะเป็น major ฟังแล้วสดใส รวมกับภาพด้วย อันนี้ดนตรีเป็นแอมเบียต์ดาร์ก ๆ เหมือนฝนตกอยู่นี่หว่า ถ้าหลับตาแล้วลองฟังจะรู้สึกเทา ๆ หน่อย
ปั้น: ส่วนเนื้อเพลง ทุกเรื่องที่แต่งไม่ค่อยได้มาจากชีวิตตัวเอง แต่มันมาจากชีวิตคนรอบข้างที่เราเห็นมา เพลงมันพูดเกี่ยวกับการที่เรามีความรัก แต่ว่าเลิกกันแล้ว แล้วยังก้าวผ่านจุดนั้นไปไม่ได้ คือรู้สึกว่าหลาย ๆ คนที่เราสนิทแล้วเจอเหตุการณ์แบบนี้เขาพยายามจะ move on แต่มันไปไม่ได้ ก็เลยแต่งออกมาประมาณ ‘I’m a fool for your love.’
เบน: ซึ่งเนื้อเพลงก็โตขึ้นกว่าเพลงที่แล้วด้วย (ปั้น: มันจะหนุก ๆ ความรักไม่จริงจัง) โตขึ้นทั้ง vibes ดนตรี ลุคเราก็เลยปรับให้มันดูผู้ใหญ่ขึ้น คุมโทน ไม่เอาแล้วสีสัน เป็นดำแดงแทน
ปั้น: ทุกอย่างมันมาจากความรู้สึกที่ได้ฟังเพลง ตีความออกมาเป็นภาพ คอสตูม โลโก้ แล้วปกติเวลาแต่งเพลงก็ไม่ได้มาจากเนื้อเพลงก่อน ส่วนใหญ่จะเน้นการขึ้นโครงเพลงก่อน แล้วใส่เมโลดี้ ค่อยใส่เนื้อ แล้วเพลงนี้ก็มีโอกาสทำกับนีโน่ ก็บอกฟีลไปว่าอยากจะได้ซาวด์ยังไงตาม direction ที่คิดมาในหัว แล้วเบนจะขึ้นคอร์ดมา
เป็นวงที่ให้ความสำคัญกับแฟชันด้วย
ปั้น: ค่อนข้างอยากจะแคร์เรื่องนั้นมากขึ้น
เบน: เราก็ชอบแฟชันอยู่แล้ว คือความชอบเราก็มีไม่กี่อย่าง ชอบการแต่งตัว แฟชัน ดนตรี ก็อยากจะทำสิ่งที่เราชอบออกมาในงานนี้ ก็บอกทีมงานว่าอยากได้อะไร แล้วเขาก็ช่วย ๆ หาให้
ในซีนฮิปฮอปรุ่นใหม่ Luss อยาก positioning ตัวเองไว้ในจุดไหน หรืออยากให้คนฟังมองเราแบบไหน
เบน: เราอยากให้บางคนที่ชอบฮิปฮอปมาก ๆ อาจจะยังไม่เคยมีโอกาสได้ฟังการแร็ปหรืออะไรที่มันกึ่ง ๆ จะเป็นฮิปฮอป แต่มีความเป็นแบนด์ด้วย (ปั้น: เพราะการที่เราเล่นสด เราพยายามเอาดนตรีสดมารวมด้วย) เราโฟกัสที่การเล่นสดมาก จะไม่เป็นแบบเอาแทร็คมาเปิด แล้วร้องตาม เราหาสมาชิกแบ็คอัพอีกสี่คนมาช่วยเล่น คือถ้าเกิดได้ฟังเพลงแล้ว มาดูเล่นสดของเพลงเดิมจะได้อีกฟีลนึง เป็นการผสมเครื่องดนตรีสดเข้าไปไม่ว่าจะเป็นกลอง เบส อยากให้คนมองเราเป็นแนวทางใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยเห็นในไทยมากนัก
ถ้าให้เห็นภาพคือจะคล้าย ๆ Anderson .Paak หรือ Oddisee หรือเปล่า
เบน: จริง ๆ ก็ชอบแบบนั้นนะ ชอบมากด้วย แต่เขาอาจจะมีความกรูฟ ฟังกี้กว่า แนวเราไม่ได้สนุกขนาดนั้น ดนตรีจะดาร์ก ๆ กว่า แต่เวลาเล่นสดก็คำนึงให้คนดูสนุกด้วย
ปั้น: ทุกอย่างมันเบสมาจากความชอบของเรา ไม่ได้มีแค่ฮิปฮอป r&b แต่มีซาวด์อิเล็กทรอนิกเข้ามาด้วย ซึ่งเพลงต่อ ๆ ไปจะชัดขึ้นเรื่อย ๆ แหละ
เห็นว่ามี first listening session ที่เอาเพลงไปให้หลาย ๆ คนในวงการลองฟัง เป็นยังไงบ้าง
ดอกฝิ่น (AR): บางทีตามค่ายเพลง ศิลปิน ตอนเอาให้ฟังไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับวงเลย บอกแค่มีวงใหม่ของ Wayfer Records มาให้ลอง ที่เห็นเขาตอบกันไม่ได้บรีฟนะ เราก็ชอบอะไรที่มันจริง ซึ่งผลก็ออกมาอย่างที่หวัง คือของมันดีอะเนาะ (หัวเราะ) มั่นใจอยู่ ๆ อย่างพี่บอล Scrubb เขาฟังแล้วรู้เลยว่าเสียงปั้น เขาบอกว่าเป็นแฟนเพลงอยู่แล้ว
ปั้น: พี่ร้าน น้องท่าพระจันทร์ เขาก็จำได้แต่เขานึกไม่ออกว่าใครเว่ย เขานึกไม่ถึงว่าเราจะมาทำแบบนี้ (หัวเราะ) รู้สึกดีที่คนนึกไม่ถึง แปลว่าเราค่อนข้างฉีกมาจากเดิมในระดับนึงเหมือนกัน
งานแรกที่ได้เล่นเปิดให้ Tennyson เป็นยังไงบ้าง
ปั้น: งานนั้นโคตรตื่นเต้น ประหม่า มีเทคนิคขัดข้องหลายอย่าง
เบน: ด้วยความที่เป็นงานแรกด้วย เวลาซาวด์เช็กก็มีไม่เยอะขนาดนั้น แต่เราทำเต็มที่
ปั้น: เรื่องซาวด์เช็กด้วยความที่วงเราต้องเปิดแทร็คไปด้วยแล้วก็มีเครื่องดนตรีจริงไปด้วย แล้วถ้าคนที่ไม่เคยไปเล่นอะ ก็ไม่รู้ว่ามันจะเซ็ตนานขนาดนั้น
เบน: คือด้วยไลน์มันมีเยอะมาก เยอะกว่าการเล่นสดของวงที่เราเคยเล่นด้วยที่ผ่าน ๆ มา เพราะมันจะมีดรัมแพด มีกลองจริง เบส ซินธ์เบส ไมค์ กีตาร์ คีย์บอร์ด เยอะมาก นี่ยังไม่หมดนะ ยังมีอีกหลายอย่าง แต่มันต้องใช้เวลานานมากในการเซ็ตอัพ คนไม่พอด้วย งานแรกทุกอย่างเลยล่ก ๆ ทำให้เราเล่นได้ไม่เต็มที่ขนาดนั้นเพราะเรากังวลเรื่องซาวด์ด้วย แต่ว่า… ถ้าถามเราเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่สำหรับงานแรก
ปั้น: ก็อะไรที่ผิดพลาดในงานแรกวันนั้นก็เอามาปรับปรุงในงานที่สอง ซึ่งรู้สึกว่ามันดีขึ้น งาน When I Say Hip เขา position ตัวเองว่าเป็นฮิปฮอปนอกกระแส เป็นงานที่เล่นแล้วสนุกมากถึงแม้คนจะไม่ได้เยอะ (เบน: เป็นงานแรกที่เขาเล่นเพลง ประเทศกูมี) เราแบบ ตอนแรกไม่กล้าอยู่ กลัว นึกว่างานจะไม่ได้มีแล้ว พี่เขามาช้าเพราะติดสัมภาษณ์ แล้วเราก็โทรหาเขาไม่ติด (หัวเราะ) นั่นแหละ ก็เอาไปปรับปรุง แล้วไม่ได้เล่นงานที่คนน้อยแบบนี้มานานแล้วแต่เป็นงานที่สนุกที่สุดและเป็นตัวของตัวเองที่สุดเท่าที่เคยแสดงมา
เบน: วันนั้นบนเวทีคือทุกคนในแบนด์บอกว่าปั้นดูเป็นตัวเองมาก ๆ อยู่ดี ๆ ปั้นก็ดูสนุก เต็มที่ เราไม่เคยเห็นปั้นเป็นแบบนั้นบนเวที ซึ่งพอเราได้ energy แบบนั้นก็ทำให้ทุกคนดูสนุกไปด้วย วงก็ลื่นไหลกว่าปกติ
ปั้น: มันลื่นไหลมาก ๆ เราเป็นคนขี้กังวลหนักมากทุกครั้งก่อนขึ้นเวที ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นนะ แต่ไม่เคยรู้สึกปลดปล่อยขนาดนี้มาก่อนในชีวิต
เป้าหมายของ Luss ในตอนนี้
ปั้น: เป้าหมายไกล ๆ คืออยากจะทำอัลบั้ม แต่ใกล้ ๆ นี้คือมีเพลงสามรอแล้ว แต่อยากจะลองปล่อย Fool แล้วดูว่าทิศทาง กระแสจะเป็นยังไง แล้วเอามาปรับปรุง เผื่อจะทำเพลงที่ ยังเป็นตัวของตัวเองอยู่ด้วย แต่คนก็ฟังได้ด้วย
เบน: เป็นคำถามที่ตอบยากนิดนึง คืออนาคตก็อยากจะมีงานโชว์เยอะ ๆ แต่เป้าหมายจริง ๆ ที่อยากได้คืออยากได้การยอมรับมากกว่าว่า Luss เป็นวงที่มีส่วนผสมของหลายอย่างรวมกันแล้วมันลงตัว เหมือนพอพูดถึงวงเราแล้วคนดนตรีก็ชอบ คนฮิปฮอปก็ชอบ
ปั้น: ทั้งในไทย แล้วก็อยากจะมีโอกาสไปต่างประเทศด้วยเหมือนกัน ที่บอกว่าอยากเป็นที่ยอมรับในไทยเพราะเข้าใจว่า material อันนี้มันค่อนข้างไม่เป็นที่นิยม อาจจะใหม่สำหรับกลุ่มคนฟัง เนื้อเป็นภาษาอังกฤษด้วย ก็ลุ้นกับ feedback อยู่ว่าคนชอบไหม มันไม่ได้ฟังง่ายขนาดนั้น
เบน: ช่วงที่เราทำ ๆ เราก็ฟังบ่อย แต่พอทำเสร็จแล้ว กลับมาย้อนฟัง ก็รู้สึกว่าเพลงเราก็มีอะไรเยอะเหมือนกันนี่หว่า คิดว่าคนฟังจะรู้สึกว่าเพลงเราเหมือนเป็นการเดินทางไปเรื่อย ๆ แต่ละท่อนมันก็เหมือนการที่เราไปอีกห้องนึง เราเปลี่ยนหมดเลย อย่างพอเข้าท่อนนี้เป็นความรู้สึกนึง เข้าอีกท่อนจะเป็นอีกความรู้สึกนึง
ฝากผลงานของ LUSS
ปั้น: ฝากติดตามวง Luss ด้วยนะคะ แล้วก็เพลง Fool ปล่อยออกมาแล้ว แชร์ ๆ กันเยอะ ๆ ด้วย ตอนนี้เราเข้ามาอยู่ในค่าย Wayfer Records แล้วก็อยากให้ติดตามศิลปินคนอื่น ๆ ในค่ายด้วย เดี๋ยวเราจะมีเล่นกับ Telex Telexs ที่งานโบกไก่ด้วย เล่นเปิด ตื่นเต้นมาก 20 ธันวาคมนี้ ไปดูสดกันเยอะ ๆ งานเปิดตัวอัลบั้มแรกของเขา ไปเชียร์เขา เชียร์เราด้วย ไม่ได้เล่นสดมาเป็นเดือน ๆ แล้ว ครั้งนี้ก็เตรียมเพลงมาไม่เหมือนเซ็ตที่แล้ว ถ้าอยากฟังเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อยก็มาฟังสด ๆ ได้ที่นี่นะคะ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Luss ได้ ที่นี่
ปั้น Jelly Rocket ควง เบน ประเดิมงานฮิปฮอป R&B น่ารักสดใส L.U.S.S & Trippin’
FLUFFYPAK โปรเจกต์เดี่ยวของ ภัค Jelly Rocket ที่เธอบอกว่า “จะต้องโตขึ้นแล้ว”