Lose Yourself to Dance เมื่อวิทยาศาสตร์เผยความลับของการเต้น สมอง และเสียงเบส
- Writer: Piyakul Phusri
ขณะที่อ่านบทความนี้ หลายคนอาจจะกำลังฟังเพลงผ่านลำโพง หรือ หูฟัง และย่ำเท้าเบา ๆ หรือ กระดิกนิ้วไปตามจังหวะ
เราเดาว่าอาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะขณะที่เราพิมพ์บทความชิ้นนี้ เราก็เอาหูฟังเสียบหู ฟังเพลง ~outro ของ Mild Orange แล้วเคาะนิ้วกับขอบคีย์บอร์ดไปด้วย
เอ๊ะ…นี่เราขยับตัวตามเสียงเพลงไปโดยอัตโนมัติตามความเคยชิน หรือเพราะเพลงมันดี หรือเพราะกำลังเขียนงานไม่ออกกันแน่นะ…..
—————
ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเดินอยู่ริมถนนสายหนึ่ง คุณมองเห็นแสงไฟจากบาร์ริมทางอยู่ไกล ๆ และได้ยินเสียงดนตรีเต้นรำแผ่ว ๆ เมื่อคุณเดินไปใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ เสียงเพลงดังขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณเดินใกล้จะถึงบาร์ คอของคุณก็เริ่มโยกนิดหน่อยไปตามเสียงเพลง และพอถึงหน้าบาร์ คุณก็หันไปมองข้างในบาร์ แล้วคุณก็เดินผ่านมันไป แต่คอของคุณก็ยังโยกตามจังหวะต่อไปอีกนิดหน่อย ก่อนจะเดินอย่างปกติ เมื่อเสียงเพลงอยู่ห่างออกไป
ในกรณีแบบนี้ เราอยากเต้นด้วยตัวเอง หรือ สมองของเราอยากเต้นกันแน่?
มีสิ่งเร้ามากมายที่กระตุ้นการทำงานของศูนย์การให้รางวัลในสมอง (reward center) ซึ่งเป็นกลไกของสมองที่ตอบสนองสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เซ็กส์ ลมเย็น ๆ ที่พัดมาตอนอากาศร้อน บุหรี่ซักตัวหลังอาหารสำหรับคนติดบุหรี่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งศูนย์การให้รางวัลในสมอง ทำงานสัมพันธ์กับระบบควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย มีผลการวิจัยที่ระบุว่า เสียงดนตรีที่ถูกสร้างอย่างมีจังหวะ มีทำนอง กระตุ้นทั้งการทำงานของหู สมอง และระบบควบคุมการเคลื่อนไหว โดยเสียงดนตรีจะไปกระตุ้นสมองส่วน orbitofrontal cortex ซึ่งอยู่ด้านหลังดวงตา และสมองส่วน ventral striatum ที่อยู่ใจกลางสมอง มีงานวิจัยระบุว่า ยิ่งเรามีความสุขกับสิ่งที่ได้ฟังเท่าไหร่ กิจกรรมในสมองทั้งสองส่วนนี้ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ดนตรียังกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน cerebellum ซึ่งมีส่วนในการควบคุมจังหวะของการเคลื่อนไหวอีกด้วย
ดูเหมือนว่าคำตอบของคำถามข้างบนน่าจะเป็นเพราะ สมองของเราอยากเต้นตามสัญชาติญาณอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวมากกว่า จะเป็นความต้องการเต้นด้วยตนเอง ซึ่งแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมมนุษย์ถึงชอบการขยับร่างกายนัก แต่การขยับร่างกายไปกับเสียงดนตรีเป็นการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหลายส่วน ซึ่งไม่เฉพาะการได้ยินเสียงเพลงแล้วเต้นเท่านั้น การมองเห็นคนอื่นเต้น ยังกระตุ้นให้สมองของเราเกิดความสนใจได้ด้วย มีผลการศึกษาพบว่าสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของนักเต้นมืออาชีพจะทำงานมากขึ้นเมื่อเขาได้ดูการเต้นของนักเต้นคนอื่น ซึ่งเป็นการทำงานของเซลล์สมองที่เรียกว่า เซลล์สมองกระจกเงา (mirror neurons) ที่อยู่ในส่วนประมวลผลกลางของสมอง ดังนั้น เมื่อเรามองดูคนอื่นเต้น แม้เราจะไม่ได้เต้นไปด้วย แต่สมองส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเต้นก็ทำงานเหมือนสมองของคนที่กำลังเต้นโดยที่เราไม่รู้ตัว!
—————
ถึงแม้ว่าสมองจะสั่งการให้ร่างกายขยับไปตามเสียง หรือขยับไปตามการมองเห็นคนอื่นขยับไปตามเสียงก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกเสียงที่ทำให้เราขยับอย่างมีจังหวะจะโคน หรือขยับร่างกายอย่างมีความสุข คงจะมีแต่เสียงที่มีทำนอง มีจังหวะ มีความแตกต่างของระดับเสียง ที่เราเรียกมันว่า ‘ดนตรี’ เท่านั้นแหละ ที่ทำให้มนุษย์ขยับร่างกาย หรือ ‘เต้น’ ไปตามเสียงนั้นอย่างมีความสุข ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดของดนตรีคือ ‘เสียง’ ที่กระตุ้นการทำงานของสมองของเราโดยตรงอย่างที่ว่ามาแล้ว
แต่เสียงอะไรในดนตรีที่กระตุ้นให้เราขยับล่ะ?
โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะเต้นไปตามจังหวะ (rhythm) มากกว่าทำนอง (melody) และโดยทั่วไป เสียงของเครื่องประกอบจังหวะที่เราคุ้นเคย เช่น เสียงกลอง ก็มักจะเป็นเสียงต่ำ หรือ เสียงเบส โดยเฉพาะดนตรีเต้นรำกลุ่ม electronic dance music (EDM) ที่กระทุ้งกระแทกรูหูขาแดนซ์ด้วยเสียงเบสที่ดุเดือด และหนักตึ๊บ ซึ่งผลวิจัยจากสถาบัน MARCS แห่ง Western Sydney University ออสเตรเลีย ระบุว่า คลื่นความถี่ต่ำที่เป็นองค์ประกอบทำให้เกิดเสียงต่ำในเพลงช่วยประสานการทำงานของสมองของเราเข้ากับจังหวะของเพลง หรืออีกนัยหนึ่ง เสียงเบสทำให้สมองรู้จังหวะ และสมองก็สั่งให้ร่างกายขยับไปตามเสียงเบส
นักวิทยาศาสตร์ของ MARCS ได้ทำการทดลองโดยให้อาสาสมัครฟังเสียงที่เล่นเป็นจังหวะทั้งเสียงสูง และ เสียงต่ำ และบันทึกกิจกรรมทางไฟฟ้าเคมีในสมองของอาสาสมัครโดยใช้เครื่อง electroencephalography (EEG) ก่อนจะพบว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นสมองมีความสัมพันธ์กับย่านความถี่สูง-ต่ำของเสียง โดยเสียงต่ำ หรือ เสียงเบส เป็นเสียงที่ ‘ล็อก’ สมองให้อยู่กับจังหวะได้ดีกว่าเสียงในย่านความถี่สูง เป็นคำอธิบายว่าทำไมเพลงที่มีเสียงเบสดุ ๆ หนัก ๆ ถึงมีโอกาสที่จะทำให้คนเต้นได้มากกว่า เนื่องจากสมองของมนุษย์สร้างความสัมพันธ์ตามธรรมชาติกับจังหวะผ่านเสียงเบสนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ระดับความดังของเสียงเบส ไม่ได้มีผลต่อกิจกรรมของไฟฟ้าเคมีในสมอง โดยได้ทดลองเปิดเสียงเบสเป็นจังหวะในระดับเสียงที่ต่างกัน ก่อนจะพบว่า การทำงานของสมองไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการทำงานของหูชั้นในรูปหอยโข่ง (cochlea) ซึ่งเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนการสั่นสะเทือนจากเสียงให้เป็นกระแสไฟฟ้าเคมีส่งผ่านระบบประสาทไปยังสมอง
หมายความว่า เสียงเบสที่ดังขึ้น ทำให้รูหูของคุณทำงานหนักขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้สมองของคุณ ‘ดีด’ มากขึ้นแต่อย่างใด
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ผลจากการทดลองนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเสียงเบสที่มีต่อสมอง และการเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่สูญเสียระบบการรับรู้ และระบบการเคลื่อนไหว เนื่องจากสมองถูกทำลาย และทำให้ภาพของความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี และการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาการรักษาผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
—————-
งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จาก McMaster University ในแคนาดา ยังช่วยเปิดเผยความสัมพันธ์อันสำคัญของเสียงเบสกับการได้ยิน และการทำความเข้าใจจังหวะของสมอง โดยได้ทดลองให้อาสาสมัคร 35 คน ฟังเสียงเปียโนสังเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ที่ดังเป็นจังหวะ 2 เสียง แต่ละเสียงมีย่านความถี่สูง-ต่ำต่างกัน เมื่อเสียงเปียโนดังถึงครั้งที่ 10 เสียงเปียโนที่มีโทนต่ำกว่า จะมาก่อนจังหวะที่ควรจะเป็น 50 มิลลิวินาที และเสียงเปียโนอีก 10 ครั้งต่อมา เสียงโทนสูงกว่า ก็จะมาก่อนจังหวะ 50 มิลลิวินาทีเช่นกัน โดยสมองของอาสาสมัครจะถูกสแกนเพื่อดูกิจกรรมในสมองขณะฟังเสียงทั้งสองแบบ ผลการศึกษาพบว่า สมองของอาสาสมัครมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเสียงเบสมากกว่าเสียงสูง คณะผู้ศึกษายังได้ทดลองให้อาสาสมัครเคาะนิ้วตามจังหวะที่ได้ยิน และพบว่าอาสาสมัครเคาะนิ้วตามจังหวะที่เหลื่อมเวลาของเสียงเบสได้ดีกว่าเสียงสูง ทำให้สรุปได้ว่า สมองของคนเราตอบสนองกับจังหวะที่เป็นเสียงเบสได้ดีกว่าเสียงสูง รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจังหวะที่เป็นเสียงเบสได้ดีกว่า และนี่คือวิธีการทำเพลงที่เราฟังอยู่ทุกวัน นั่นคือจังหวะถูกคุมด้วยเสียงโทนต่ำ สอดประสานด้วยทำนองที่เป็นเสียงโทนสูง ที่ดำเนินควบคู่กันไป โดยมีเสียงอื่น ๆ เข้ามาประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศ ความรู้สึก เพื่อกระตุ้นความต้องการรับฟังเสียง ความต้องการขยับร่างกาย ที่เป็นการสั่งการจากสมองโดยเราอาจจะรู้ตัวบ้าง หรือ ไม่รู้ตัวบ้าง
—————
บางคนเคยกล่าวไว้ว่า ‘ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลมีจังหวะในตัวมันเอง’ และวิทยาศาสตร์ก็ได้เปิดเผยให้เห็นถึงจังหวะที่อยู่ในเสียง และจังหวะที่เกิดขึ้นในสมองของเรา สอดประสานกันทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นการขยับเยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ แต่ก็ยังมีความลึกลับของเสียง และสมองอีกมากมายที่ยังรอการค้นพบ
ซึ่งในระหว่างนี้ เราก็คงต้องรอจังหวะกันไปก่อน…..