ระเห็ดเตร็ดเตร่

YENA Live in Mahasarakham

  • Writer: กฤษฎ์ พรหมใจรักษ์
  • Photographer: กฤษฎ์ พรหมใจรักษ์

 

“อยากให้มาดูเทศกาลดนตรีที่มหา พาท่องโลกดนตรี สุดจริง ๆ ที่นี้ แนะนำ เมืองที่คนมองข้าม”

นี่คือข้อความบางส่วนจากคำเชิญชวนของมาส เพื่อนรุ่นน้องของผมคนนึงที่ปัจจุบันใช้ชีวิตด้านการศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาสมักพูดเสมอว่าจังหวัดมหาสารคามและมมส.เป็นที่ ๆ หลาย ๆ คนมักจะมองข้ามเมื่อนึกถึงศิลปะและดนตรี ทั้งที่จริง ๆ แล้วดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยวงดนตรีอิสระที่ผลิตผลงานใหม่ ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่องและมีชุมชนดนตรีที่ค่อนข้างแข็งแรงตลอดหลายปีที่ผ่านมา มาสรบเร้าและชักชวนผมให้ไปเยือนหลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยวันหยุดและเวลาอันน้อยนิดในการกลับมาเยี่ยมบ้านที่จังหวัดขอนแก่น ผมจึงเลือกที่จะใช้เวลานอนดูทีวีโง่ ๆ อยู่บ้านมากกว่าจะต้องนั่งรถข้ามจังหวัดไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งเอาเข้าจริง การเดินทางจากหน้าปากซอยบ้านของผมไปยังมหาวิทยาลัยสารคามโดยรถโดยสารประจำทางนั้นบางครั้งใช้เวลาน้อยกว่าตอนที่ผมนั่งรถเมลล์จากห้วยขวางเพื่อไปทำงานที่ถนนข้าวสารด้วยซ้ำไป “ไม่มีเวลาแล้วนะ เดี๋ยวกูก็จะไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว” ในเมื่อเพื่อนพูดมาซะขนาดนี้ผมคงจะปฏิเสธคำเชิญครั้งนี้ไม่ได้เสียแล้ว

audience01

18 พฤศจิกายน 2016

ผมเดินทางถึงเมืองขอนแก่นบ้านเกิดในเวลา 6 โมงเช้า ผมใช้เวลาตลอดทั้งวันในการนอนเปื่อยและใช้เวลาอยู่ที่บ้านก่อนที่การเดินทางจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในเวลา 6 โมงเย็น ผมออกไปยืนรอรถโดยสารประจำทางที่หน้าปากซอย สัมภาระทั้งหมดมีเพียงเป้หลังใบเล็กหนึ่งใบ ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงนิด ๆ ผมก็มายืนอยู่ที่จุดลงรถข้างมอใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเพียงไม่กี่อึดใจ มาสก็ขับเวสป้าสีขาวคู่ใจมารับผมที่จุดนับพบ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้มาเยือนมหาสารคามบ้างเป็นครั้งคราว ในทางกายภาพ เมืองนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ถนนที่ยังรอการบรูณะก็ยังรอการบูรณะอยู่อย่างงั้น สภาพแวดล้อมใน campus ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก เห็นจะมีแต่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นแทบทุกหัวมุมถนน มาสพาผมให้เก็บกระเป๋าที่ห้องก่อนจะรีบพุ่งตัวไปยังร้าน มหานิยม สถานแสดงดนตรียอดนิยมของมมส.และสถานที่จัดงานในคืนนี้

maha

ร้าน มหานิยม หนึ่งในสถานีบริการเครื่องดื่มและดนตรีสดที่ดำเนินกิจการยืนระยะยาวนานที่สุดในเมือง เป็นสถานบันเทิงที่สนับสนุนศิลปินอิสระและซีนดนตรีทางเลือกมาโดยตลอดหลายปี วงดนตรีอย่าง Mahafather ก็เริ่มต้นกันที่ร้านแห่งนี้ และยังเป็นสถานบันเทิงที่จัดงานดนตรีแนวทางเลือกที่ต่อเนื่องที่สุดแห่งนึงในภูมิภาคจนพอจะกล่าวได้ว่า 8 ใน 10 วงดนตรีอินดี้ที่เคยจัดทัวร์พาดผ่านภาคอีสานล้วนแล้วแต่ต้องมาสำแดงเดชกัน ณ ที่แห่งนี้ทั้งสิ้น ซึ่งวันนี้เป็นคิวของ Yena คณะดนตรีร็อกแอนด์โรลจากกรุงเทพมหานครที่จะมาเปิดการแสดงในคืนนี้พร้อมกับวงท้องถิ่นอีกสามวง

being-gu

ผมไปถึงสถานที่จัดงานในเวลาประมาณสองทุ่ม ผู้คนในร้านเต็มและแน่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ค่าผ่านประตู 100 บาท ขณะที่ผมก้าวเท้าเข้าไป บนเวทีก็เริ่มการแสดงได้สักพักแล้ว Being Gu ศิลปินคนแรกเป็นผู้ทำหน้าที่เปิดงาน เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานในลักษณะของ one-man band/ looping guitar ที่ทำโชว์ออกมาได้สนุกและลงตัว สำหรับโชว์นี้ของ พี่แบน aka Being Gu ก็ยังรักษามาตฐานไว้ได้อย่างดี แม้เจ้าตัวจะประกาศออกไมค์ระหว่างการแสดงว่าวันนี้ตัวเองไม่ค่อยสบายนักแต่การแสดงของพี่แบนเรียกได้ว่าแรงดีไม่มีตกเลย และถึงแม้ว่าโชว์นี้จะเน้นหนักไปทางการคัฟเวอร์ แต่ Being Gu ก็นำเพลงหลาย ๆ เพลงที่เราคุ้นหูมาเรียบเรียงใหม่ได้อย่างน่าสนใจด้วยกีตาร์โปร่งหนึ่งตัว เอฟเฟกต์หนึ่งแผง และเสียงร้องที่เอาคนดูอยู่หมัด เป็นหนึ่งในศิลปินจากภาคอีสานที่หน้าจับตามองที่สุดในขณะนี้ สำหรับใครที่ชอบสไตล์ดนตรีแบบ Ed Sheeran ถูกใจแน่นอน

%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%b3

ศิลปินลำดับถัดไป เป็นศิลปินที่ผมขอยกให้เป็นไฮไลท์ของค่ำคืนนี้จริง ๆ ช่างหำ หรือ ต่อ เกริกฤทธิ์ วิเศษศิริ มือเบสจากคณะ Mahafather กับอีกโปรเจคทางดนตรีในสไตล์ alternative folk rock ที่วันนี้มาเล่นกันแบบ full band กับการแสดงสดที่น่าจะเรียกได้ว่า “โคตรท้อปฟอร์ม” นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูช่างหำเล่นสด และเป็นครั้งแรกที่ผมได้ตั้งใจฟังเพลงของช่างหำแบบจริง ๆ จัง ๆ หลังจากได้ฟังผ่าน ๆ มาบ้างใน YouTube เปิดโชว์ด้วย เพลงหน้าฝน ซึ่งแค่เพียงเพลงแรก มหานิยมก็ทำให้ผมต้องทึ่งในพลังงานของผู้ชมในงานเมื่อผู้คนในงานเริ่มร้องประสานเสียงไปกับบทเพลงกันลั่นร้าน เมืองนี้มีของอย่างที่มาสว่าไว้จริง ๆ แน่นอนในคืนวันศุกร์แบบนี้ การมานั่งดื่มเพื่อหาความสุขสำราญกับเพื่อนฝูงนั้นได้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของประเทศไทยมาอย่างช้านานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่าคืนนี้ ที่นี่ แตกต่างจากวันศุกร์ทั่ว ๆ ไปของผม คือจำนวนผู้ชมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในร้านต่างกู่ร้องกับบทเพลงของศิลปินในท้องถิ่น ผู้ที่มาจากบ้านและสถานศึกษาเดียวกับพวกเขา ทุกคนต่างมาร่วมเสพดนตรีและเฉลิมฉลองให้กับความเยาวน์วัยที่มีได้เพียงแค่ครั้งเดียว เพลงแล้วเพลงเล่า My Life, Me?, ความพยายามสุดท้าย ผู้คนต่างพาร้องฮัมเพลงโดยไม่มีทีท่าว่าจะหมดแรง ช่วงกลางโชว์ทางวงมีการเล่นคัฟเวอร์นิดหน่อยซึ่ง re-arrange ออกมาได้อย่างหน้าสนใจ “ลุกขึ้นมาสนุกกันได้นะครับ หรือจะก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ต่อไปก็ตามใจ” คุณต่อแซวคนดูเล็กน้อยและทุกคนก็ไม่ถือสา และปิดท้ายโชว์ตัวเองด้วย 500 กม. เพลงที่พูดชีวิตที่ต้องดิ้นรนของเด็กต่างจังหวัดในเมืองหลวง เพลงฮิตของทางวง เรียกได้ว่า ช่างหำ คือ hometown hero ของ มมส. อย่างแท้จริง

yena01

หลังจากโชว์ของช่างหำจบลง ก็ถึงคิวสามหนุ่มร๊อคแอนด์โรลจากกรุงเทพ Yena พวกเขาสวมเสื้อยืดเรียบ ๆ และกางเกงขาม้า ขอสารภาพตามตรงว่าผมไม่เคยฟังงานของพวกเขามาก่อน อาจจะมีได้ฟังผ่านหูมาบ้างก็จะเป็นผลงานคัฟเวอร์เพลง สายลม ของ ฮิวโก้ ที่ทางวงได้หยิบมาเรียบเรียงใหม่ในโปรเจค์ Fungjai Crossplay ซึ่งฟังแล้วค่อนข้างเฉย ๆ ผมพึ่งรู้จักหน้าค่าตาของสมาชิกครั้งแรกจริง ๆ ก็เมื่อตอนที่ กุล มือกีตาร์ของวงมาขอเก้าอี้จากโต๊ะพวกผมที่นั่งข้าง ๆ กันนี่เอง เอาล่ะ สำหรับโชว์ของพวกเขาอาจจะไม่ได้หวือหวามากมายซึ่งสามารถเข้าใจได้จากคอนเซปต์และแนวทางของวงอันเป็นที่แน่นอนว่าพวกเขาเน้นหนักในส่วนของเนื้อหาของบทเพลงที่พูดถึงเรื่องชีวิต การตรากตำของชนชั้นกรรมาชีพ ความเท่าเทียม และความหวัง ถึงแม้จะเป็นวงดนตรีสามชิ้น แต่การแสดงก็ไม่มีข้อติติงหรือบกพร่อง และชาวมหาสารคามก็ให้การต้อนรับพวกเขาอย่างดี เท่าที่จำได้ (คืนวันศุกร์+สุรา คุณก็รู้ว่ามันเป็นไง ขออภัย) ทางวงซัดไปประมาณครึ่งชม.เล่นจนเพลงหมดเลย แต่คนดูก็ยังตะโกนขอเพลงไปอีก โถขี้ เพลงฮิตล่าสุดของวงถูกหยิบขึ้นมาบรรเลงอีกครั้งพรัอมกับเสียงของทุกคนในร้านที่ร่วมร้องไปด้วยกัน เป็นการจบโชว์ครั้งแรกของ Yena ที่มหาสารคามอย่างน่าประทับใจ

สำหรับตัวผม เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาแล้วว่าซีนดนตรีของจังหวัดมหาสารคาม หรือถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นซีนดนตรีเกิดใหม่ที่น่าจับตามองอย่างแท้จริง เพราะไม่แค่เพียงการมีสถานที่แสดงดนตรีที่วิสัยทัศน์ที่กล้านำเสนอวงดนตรีหรือศิลปินอิสระที่น่าสนใจอย่าง มหานิยม วงดนตรีอิสระของที่นี่ก็ถือว่าทำเพลงออกได้เฉียบขาดและน่าสนใจ แต่ที่สำคัญสุดไม่ว่าจะเป็นวงในบ้านหรือวงจากกรุงเทพ ฯ หรือที่ไหน เมืองนี้มีฐานคนดูที่พร้อมเปิดใจและสนับสนุนดนตรีดี ๆ ที่แวะเวียนมาเยี่ยมพวกเขาเสมอ นี่คือส่งที่ผุดขึ้นมาในหัวขณะที่ 1991’s วงดนตรีวงสุดท้ายของคืนนี้ผู้เป็นขวัญใจเจ้าถิ่นกำลังร้องบรรเลง

 

Facebook Comments

Next:


Sarun Pinyarat

ท้อป ศรัณย์ ภิญญรัตน์ เคย: เรียนออกแบบที่ไทยและฟินแลนด์ / ทำงานที่ Startup ใน Sillicon Valley ชอบ: ฟังเพลง / ดูหนัง / อ่าน / การเล่าเรื่อง / บูมบูม เป็น: ผู้ก่อตั้งฟังใจ / นักออกแบบ / คนคิด / คนเจรจา / คนลงมือทำ / นักเขียนจำเป็น