Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

Wonderfruit 2018 ‘Thai Band Edition’ เก็บตกวงไทยที่เรารักในงานนี้

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Chavit Mayot

ครั้งแรกที่ได้รู้จักงาน Wonderfuirt ก็คิดว่ามันคือเทศกาลดนตรีที่รวมศิลปินทั้งวงไทยและเทศจากทั่วโลกนับร้อยไว้ในงานเดียว จนกระทั่งได้มาสัมผัสจริง ๆ ถึงเข้าใจคำว่า ‘lifestyle festival’ ว่ามันหลากหลายและน่าสนใจกว่าที่คิดมาก ถ้าใครอยากดูบรรยากาศงานรวม ๆ แนะนำให้อ่าน ‘พิสูจน์วงดนตรีและดีเจที่เหนือการคาดเดาตลอด 4 วันเต็มที่ Wonderfruit 2018‘ ซึ่งจะเห็นเลยว่านอกจากดนตรีก็มีดีเจหลากหลายแนว หรือกิจกรรมตั่งต่าง รวมไปถึงงานศิลปะมากมาย แต่แน่นอนว่าคนชอบเสพดนตรีแบบเราต้องตะเวนดูวงไทยและเอาใจช่วยทุกวงอยู่แล้ว นี่เลยเป็นระเห็ด ฯ พลีชีพที่จะตามดูศิลปินไทยเท่าที่ทำได้ในงานนี้ บอกเลยว่ามีแต่วงพีค ๆ ทั้งนั้น

14 ธันวาคม 2561

เริ่มกันที่ Abandoned House ที่เวที Living Stage หรือเวทีใหญ่สุดของงาน ทั้งสองมาพร้อมกีตาร์โปร่งตัวเดียว กลองเซ็ตสี่ชิ้นและคอรัสคนหนึ่งก็เอาอยู่เลย วงก็เปิดด้วยเพลง หลุมดำ ที่เราชอบที่สุด เสียงกีตาร์กับกลองเบา ๆ ลอยขึ้นมา คร่ำครวญได้บาดลึก outro กีตาร์โปร่งตัวเดียวคือกรีดแทงมาก แอบตื่นเต้นที่เวทีนี้ระบบเสียงดีโคตร ๆ สมกับเป็นเฟสติวัลระดับนี้ ต่อด้วย รู้สึกดี เสียงร้องกังวาน ท่อนโซโล่น่ารักมาก บ้านร้าง ขึ้นมาเป็นโฟล์กดิบ ๆ น้อยแต่มาก ขับเคี่ยวเราด้วยเนื้อเพลงที่ลึกซึ้งกินใจ โซโล่เติมซาวด์เหงาๆ ด้วยเม้าต์ออแกนเข้าไปอีก ฤดูฝัน อินโทรด้วยซาวด์ครบเครื่องทั้งกลอง กีตาร์โปร่ง กับเมโลเดียนตัวจิ๋ว และเพลงสุดท้ายที่ไม่รู้ชื่อกับเสียงกลองแน่น ๆ ขึ้นมาแบบนี้ กีตาร์โปร่งเหงา ๆ เพิ่งเคยดูวงนี้เล่นสดก็ประทับใจมาก เสียดายได้เล่นน้อยไปหน่อย

ต่อกันที่วงที่เราชอบมากอย่าง Møle The Explosion มาพร้อมโชว์เปิดวงได้บรรเจิดเหมือนเดิม แถมคอรัสยังเป็น Yanin ด้วย แต่วันนี้ออฟไม่มาพร้อมซินธ์ เริ่มด้วยซาวด์ขลัง ๆ ของ ชายคนแรกผู้มอบดอกไม้ให้เธอ เสียงคีย์บอร์ดระยิบระยับมาก เสียงโซโล่กีตาร์หวานเลี่ยนแทบละลาย เมื่อเธอฝันฉันตื่น เสียงประสานระหว่างออฟกับญาณินสวยงามมาก โดดเด่นด้วยไลน์กลองที่มีลูกเล่นแพรวพราวมาก วงก็จัดเซอร์ไพรส์ด้วยเพลงใหม่ให้เราได้ฟังที่นี่ที่แรกเลย ดนตรีเพราะมาก ย่อยองค์ประกอบให้เข้าถึงง่ายขึ้นไปอีก แต่ยังมีความสวยงามแบบการระเบิดของตุ่นอยู่ ขยี้ด้วยโซโล่กีตาร์ดุ ๆ ไปเลย แล้วอินโทรเท่ ๆ ก็ขึ้นมาต่อทันที เรียบเรียงได้ชดช้อย ดึงจังหวะให้เร็วขึ้นเพื่อความบันเทิง ‘มันกำลังที่จะสะท้อนความรู้สึกข้างใน’ เครื่องดนตรีทุกชิ้นดีดดิ้นกันสุดความสามารถ แน่นอนว่าต้องตบด้วยโซโล่กีตาร์เท่ ๆ เหมือนเดิม การเคลื่อนไหวของญาณินก็เข้ากับอารมณ์ของเพลง คีย์บอร์ดหวานหอมขึ้นมาก่อนจะเข้าดนตรี จันทราในแอ่งน้ำ เข้าด้วยเสียงนุ่ม ๆ ของญาณินตามด้วยเสียงของออฟมาเติม ดรอปแล้วเข้าท่อนฮุคนี่ก็เท่ชะมัดเลย ดนตรีก็โดนใจ ปิดโชว์ไปอย่างสวยงาม

15 ธันวาคม 2561

แล้วก็มาถึงหนึ่งในวงที่เราสนใจมาก ๆ กับโปรเจกต์ Adisak ของพี่เบิร์ด Desktop Error หรือเจ้าของค่าย Bird Sound พี่เขามาคนเดียวพร้อมกีตาร์ 2-3 ตัวและพิณตัวหนึ่งบนเวที Neramit มาถึงก็ใช้กีตาร์แอมเบียนต์ขยี้ซาวด์อันโหยหวนเข้ากับเสียงกลองแน่น ๆ ล้อไปกับเสียงคอรัสสาว ประดับด้วยเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่บีบเค้นเสียงอันอ่อนหวานหลอมละลายใบหู แล้วก็หยิบกีตาร์ที่ทำมาจากกล่องซิการ์ขึ้นมาซึ่งสาดคลื่นเสียงที่เฮี้ยนไม่แพ้กันออกมามากมาย ค่อย ๆ ไต่ระดับความพีคด้วยสำเนียงที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพลงที่สองเปิดด้วยซาวด์สังเคราะห์ป่า ๆ ชนเผ่าๆ ก่อนจะถูกซาวด์เดือด ๆ เข้ามาเบียดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เสียงกลองจังหวะหนัก ๆ ทะลวงเข้ามา ก่อนจะควงกีตาร์ตัวที่สองที่เป็นเหล็กขึ้นมา ตัวนี้มีเสียงหวานกลิ่นอายแบบร็อกแอนด์โรล พร้อมโชว์ไลน์กีตาร์เหลือร้ายสลับกับเอฟเฟคเอคโค่เพื่อให้เกิดซาวด์ที่แปลกหู เป็นโซโล่กีตาร์จากต่างมิติ เพลงที่สามก็เฮี้ยนไม่แพ้กัน เปิดด้วยลูปหลอน ๆ กระชากด้วยเสียงสังเคราะห์ดีด ๆ แล้วถูกีตาร์แอมเบียนต์ไปมา สะพายพิณปั๊บก็เปิดลูปกลองเท่ ๆ ขึ้นมา เพื่องัดเสียงพิณกับเอฟเฟกต์เอคโค่ให้เสียงเวิร์ลไปเกินเบอร์ แต่ก็ยังอารมณ์ความเป็นไทบ้านอยู่ด้วย ต่อด้วยเสียงสังเคราะห์บิดเบี้ยวไปมาน่าสนเท่ห์ กับจังหวะฉาบแบบรำวงนี่มัน แถมมากับเสียงกลองยาวอีก โอ้ย มันคือรำวงยุคมิลเลนเนียมชัด ๆ เสียงแคนก็แสบสันแล้วมีลวดลายที่ไม่ธรรมดา ตบพิณอย่างบ้าคลั่ง เพิ่มความพีคเข้าไปด้วยกลองยาวสังเคราะห์เดือด ๆ โคตรเซิ้ง ก่อนจะเฟดออกไปด้วยเสียงพิณเอคโค่ลอย ๆ เป็นโชว์ที่ประทับใจมาก ๆ

ต่อเลยกับ Pyra ที่เคยร่วมงานกับเราในคอนเสิร์ต Freshly Picked เลยอยากเห็นพัฒนาการโชว์ของเธอ เปิดโชว์ด้วย performance art กับการเต้นป๊อปปิ้งเลียนแบบท่าทางสัตว์ต่าง ๆ ประกอบเสียงป่าฝน และลงไปล้อเล่นกับคนดู โดยมีไพร่าเดินสั่นกระพรวนไปมาในฝั่งคนดู สมาชิกแต่ละคนก็ค่อย ๆ ทยอยขึ้นมาบนเวทีพร้อมอินโทรที่มีความ spiritual นิด ๆ ไพร่าเป็นคนสุดท้ายพร้อมธงสีม่วงเข้มที่เขียนว่า Pyra ก่อนจะร่ายกวีลึกลับของเธอ และเปิดโชว์ด้วยเพลง White Lotus อินโทรมีความผสมกันระหว่างซาวด์ตะวันตกกับซาวด์พื้นบ้าน ก่อนจะเป็น downtempo โดยมีไพร่าเต้นประกอบไปด้วยกับแดนเซอร์เข้าจังหวะกันดีมาก เรียกว่าแปลกใหม่ในซีนเรามากเลย Let It Go อินโทรด้วยจังหวะที่มีความเป็นอิเล็กทรอนิกโซลเท่ ๆ ขึ้นมา ไพร่าลงมาร้องหน้าเวทีและมีปฎิสัมพันธ์กับคนดู ต่อด้วยเพลงที่เราคุ้นเคยกันดีกับ Regret Me และ Feather ที่ Pyra ลงไปนั่งเล่นกับคนดูอย่างเป็นกันเอง จริง ๆ เธอคงออกแบบโชว์มาเพื่องานนี้โดยเฉพาะเพราะมันมีความเป็น Wonderfruit มากเลย

กว่าจะวิ่งเปลี่ยนเวทีจาก Neramit มาถึง Living Stage Orbital XX ก็กำลังเล่นเพลงที่สองหรือสามแล้วอากับ Dry Roses เสียงซินธ์เดือด ๆ ชวนเต้นยับเลย ร้องสดด้วยน้ำเสียงมีเสน่ห์แบบนี้ก็ยอมใจเลย กีตาร์ก็พริ้ม vibes กำลังมาเลย พวกเขาก็จัด Alright ต่อ ละมุน ท่อน outro ขยี้ต่อด้วยคีย์บอร์ดน่ารักสุด ๆ ต่อด้วย Gravity ที่เดือดไม่แพ้กันและ Survive ที่หยุดเต้นไม่ได้โว้ย ดนตรียังตกแต่งด้วยเสียงสังเคราะห์หวาน ๆ รื่นหูมาก เต้นไปอย่าหยุดดดดด

แล้วจาก Living Stage ก็มารอ อภิรมย์ เล่นต่อที่เวที SOT ซึ่งวันนี้มาแบบสบาย ๆ เป็นกันเอง วงเริ่มด้วยเพลง เดิมเดิม กับกีตาร์จังหวะละมุน น้ำเสียงเข้ม ๆ กลองสี่ชิ้นก็นุ่มนวลไปกับเสียงกีตาร์ เสริมด้วยเสียงจากคีย์บอร์ดให้กลมกล่อม ร้องไห้ เสียงกลองกับกีตาร์สดใสมาก พลังเสียงของพี่ต่ายนี่น่าฟังมาก ท่อนสร้อยก็เท่มากเลย ต่อด้วยอีกเพลงที่เราไม่รู้ชื่อ แต่พี่ต่ายบอกเลยว่าเขียนให้การเมืองไทย เนื้อหาก็เข้มข้นวิพากษ์สังคมดีมากกับเสียงกีตาร์หวาน ๆ น่าฟังมา ดวงตานั้น อินโทรด้วยเม้าต์ออแกน แล้วเข้าด้วยกีตาร์เท่ ๆ ท่อนโซโล่ที่ผสมกีตาร์กับคีย์บอร์ดและเม้าต์ออแกนเข้าด้วยกันคือความลงตัวที่สุด พี่ต่ายชวนคุยนิดหน่อยก่อนจะพูดว่า “ทุกคน ๆ ก็เป็นเหมือนเรือใบ อยากทำอะไรเป็นอะไรก็มุ่งไปในทิศทางของตัวเอง อย่าวอกแวก” แล้วจัดเพลง เรือใบ มา ทำให้อินกับเพลงเข้าไปอีก ก่อนจะเล่นเพลง 213 ซึ่งเล่าว่าถนนเส้นนี้ไปบ้านเกิดผ่านภูเขา จากบ้านไปนาน ๆ ก็คิดถึงบ้านเป็นธรรมดา อินโทรด้วยการเกากีตาร์หวาน ๆ เหงา ๆ งดงามด้วยโซโล่คีย์บอร์ด outro ที่เร่งจังหวะขึ้นกับกลองและกีตาร์ก็โคตรละมุนหู มาถึงเพลงที่เราชอบมาก ผิงไฟ ไลน์กีตาร์เชื่อมหลังโซโล่ร้ายกาจมาก ท่อนโซโล่ก็นุ่มนวลเกิน และ สบาย เสียงพี่ต่ายชวนผ่อนคลายมาก ๆ อ่อนโยนสุด ๆ ชวนคนช่วยกันร้องช่วงฮุคหลัง ทุกคนก็ร้องได้แน่นอน และจบด้วย เจ้าสาวไฉไล ที่ดนตรีน่ารักเหมือนเดิม ฮือ

แล้วก็กระชากอารมณ์ด้วยวงสายปั่นอย่าง Gym & Swim ต่อเลย อินโทรวงด้วยเสียงซินธ์หวาน ๆ มีความ 16 bit วอร์มคนดูด้วย Seagal Punch ที่แค่ขึ้นท่อนแรกทุกคนเริ่มเต้นกันแล้ว ต่อด้วย Throw It Away ที่จังหวะง่าย ๆ ชวนโยกเบา ๆ พอจบเพลงเฉลิมก็ถามทุกคนว่าอยากเต้นกันยัง งั้นมาหน้าเวทีเลยจ้า ก่อนจะจัด Bunny House ให้แบบจัดเต็มแบบซาวด์โคตรดีด ก่อนจะลดความมันลงมาหน่อยด้วย American High-School Sweetheart และซัดด้วย Surfin’ Baby ที่ยังสนุกเหมือนเดิม แล้วก็ขุดเพลง B side ของตัวเองอย่าง Ironman มาเล่นด้วย เป็นเพลงไทยเพลงเดียวของวง มีท่อนที่เป็น chiptune ด้วย กุ๊งกิ๊งดี ขยับร่างกายไปตามเสียงเพลงละมุนหูกับ What Time Is It There แล้วจัด Falling แบบมัน ๆ ต่อ เฉลิมก็ชวนคนดูขึ้นมาเต้นบนเวทีด้วยซะเลย ก็มีหนุ่มไทยกับสาวตาน้ำขาวขึ้นไปเต้นกับเฉลิมด้วย เป็นภาพที่น่ารักไปอีกแบบ Yuuwahu นี่เฉลิมโดดลงมาเต้นกับทุกคนเองเลย ฮุคสุดท้ายทุกคนบนเวทีก็จัดหนักมาก เข้า Sunrise ต่อเลย ท่อนดรอปนานเป็นพิเศษปกป้องเลยได้โชว์ไลน์กีตาร์เนียนกริบ ปิดด้วย Octopussy ที่ทุกคนรอคอย ดนตรีขึ้นปุ๊บมีคนกรี๊ดเลย รอบนี้เข้าด้วยกีตาร์ซะหวานเชียว แต่พอถึงท่อนฮุคทุกคนก็สะบัดอวัยวะทุกชิ้นกันเละเทะ โคตรมัน

16 ธันวาคม 2561

เปิดวันด้วย Yensuk ตั้งแต่บ่ายสามเลยที่ Theatre Stage แดดกำลังระอุ แต่วงก็เล่นได้เดือดไม่แพ้กัน เครื่องดนตรีแน่นมาก กีตาร์สามตัว เบส ซินธ์ แถมมีไวโอลินกับวงเพอร์คัชชันด้วย มีลูกเล่นน่ารัก ๆ ด้วยการเปิดโชว์ทักทายคนดูด้วยดนตรีมงแซะมาก ๆ ก่อนจะกระชากเข้าเพลงเดือด ๆ แบบ Bless of Ganesha ทั้งจังหวะทั้งดนตรีมันต้องโยกหัวตามจริง ๆ ขึ้นด้วยอินโทรหลอน ๆ ของ Born กลองและกีตาร์ค่อย ๆ เรียกคนดูไปพร้อมเสียงสวดอันทรงพลัง จับใจความได้ลึกซึ้ง เปลี่ยนจังหวะเบา ๆ กันบ้างกับ Herb แต่ยังมีดนตรีที่หนักหน่วงเหมือนเดิม ท่อนโซโล่นี่ขยี้กีตาร์กันได้สุดมาก Torture เสียงกีตาร์ดีดขึ้นมาเลย แถมมีซาวด์ดูด ๆ กับจังหวะแบบเพลงไทยเดิม ใช้ไวโอลินแทนเสียงแคนได้เท่มาก ท่อนโซโล่ก็ม่วนมาก ๆ เลย ท่อน outro ยิ่งเร่งจังหวะจนเซิ้งกระจายแล้วลงสวยมาก Worship อินโทรดุมาก มีกลิ่นอายแบบอินเดียอยู่ด้วย นิรันทร์อยู่ กีตาร์กับไวโอลินหวาน ๆ ตีคู่กันขึ้นมา กลองขึ้นมาร้อยเรียงทุกเสียงบนเวทีเข้าด้วยกัน โซโล่ก็จัดเต็มมาก มีกีตาร์สามเลเยอร์ ท่อนดรอปก็สานต่อด้วยไวโอลิน Balance อินโทรยังเฮี้ยนเหมือนเดิม จังหวะก็เหลือร้ายมากเลย ฮุคเอาเรื่องมาก สับกีตาร์กันเละเทะ ก่อนจะกระชากเข้าท่อนโซโล่ที่เฮี้ยนมาก อยู่ดี ๆ ก็เข้าเพลงไทยเดิม ไวโอลินกับกีตาร์แทนขลุ่ย มีฉิ่ง มีอะไรจริงจังมาก โซโล่ทิ้งทวนหนัก ๆ อีกชุดได้โคตรเท่ ขยี้จังหวะขึ้นมาจนเลยจุดพีคไปแล้ว

วิ่งกลับมา Neramit อีกวันกับ ต้นตระกูล นักดนตรีพื้นถิ่นอีสานของแม่ Rasmee อันนี้คือโปรเจกต์เดี่ยวของเขาที่มาในแนวเพลงอิเล็กทรอนิกแต่ผสมกลิ่นอายของความเป็นไทยลงไปด้วย เพลงแรกเปิดด้วยเสียงแล่ แล้วกระชากเข้าความโมเดิร์นทันทีด้วยจังหวะมัน ๆ แต่ยังโดดเด่นด้วยเสียงพิณ คือเอาพิณมาใช้แทนกีตาร์ในแนวเพลงต่าง ๆ จนเพลงแม่งมีกลิ่นอายความม่วนในทุกเพลงเต้น เพลงสองนี่ซาวด์ขึ้นมาเป็นดิสโก้เลยจ้ะ แล้วจับพิณกดเอฟเฟกต์หวาน ๆ ซัดโซโล่งาม ๆ เข้าไป โคตรเข้ากัน เพลงสามก็เอาสำเนียงไทยเข้าไปอยู่ในเพลงอิเล็กทรอนิก้าได้อย่างละมุนหูมาก ก่อนพี่ต้นตระกูลจะชวนฝรั่งเต้นเป็นภาษาอังกฤษ แล้วพูดเป็นสำเนียงอีสานซ้ำชวนทุกคนมาเต้นกันน่ารักมาก ก่อนจะกดเพลงสี่เป็น drum and bass มาอย่างมัน แล้วเติมด้วยเสียงพิณงาม ๆ เข้าไป แถมยังให้มือเบสของวงได้โซโล่เบสโชว์อย่างเท่มาก เพลงห้าก็มาเหนืออีกด้วย downtempo พร้อมใส่เอฟเฟกต์ให้พิณเสียงหวานหยดย้อยล้อไปกับดนตรีหนึบ ๆ ของมัน เพลงที่หกนี่แคนก็มาว่ะ อินโทรด้วยโซโล่แคนนุ่ม ๆ แล้วกระชากเข้าแทรนช์งาม ๆ ชวนโยกมาก ซึ่งแคนก็ลงตัวกับเครื่องดนตรีทุกชิ้นได้ลื่นหูมาก ระยิบระยับหูไปหมดเลย เพลงที่เจ็ดก็ชวน Pinnball หมอพิณจากวง Ga-Pi ของแก๊ป T-Bone มาด้วย ม่วนกระจายเลยจ้า ต้นตระกูล ก็หยิบแคนมาโซโล่ตาม มีท่อนให้คีย์บอร์ดโซโล่แล้วกลองกับเบสก็ตาม โคตรกรูฟเลยโว้ย ก่อนจะซัดเพลงสุดท้ายด้วย อีสานลำลอง ที่เราคุ้นเคย ก็เนียบกริ๊บ 

แล้วก็ไปเกาะเวที Theatre Stage อีกรอบเพื่อดู Costlywood มาถึงกำลังเล่น ไม่ไปไหน หนึ่งในสองเพลงไทยของพวกเขาซึ่งดนตรีก็หวานเท่มากเลย ตามด้วยดนตรีเท่ ๆ ของ Dancing By Your Side ชวนคนมาเต้นหน้าเวที ร็อกโอลสคูลสไตท์กอะเกน Maryland ท่อนโซโลเหลือร้ายมาก กีตาร์นี่แย่งซีนเว่อ Chang Your Mind จังหวะกลองเบา ๆ กับเสียงเท่ ๆ นี่มันลงตัวมาก คลอด้วยเสียงกีตาร์หวาน ๆ ช่วงโซโล่ก็ลีดกีตาร์ได้โดดเด่นดุดันเหมือนเดิม ทักทาย แค่อินโทรก็ต้องโยกตามแล้ว แล้ววงยังเลือกเพลงของ Queen มาคัฟเวอร์อีกสองเพลงซึ่งเรียกเสียงกรี๊ดจากฝรั่งได้เยอะมาก ตบท้ายด้วย Be Patient โซโล่ทิ้งท้ายแบบจัดเต็มมาก

และวงไทยวงสุดท้ายที่เราได้ดูในงานคือ Ga-Pi ที่แท็กทีมมากับ Fyah Burnning เริ่มโชว์ด้วย Pinnball ที่โซโล่พิณได้ม่วนคัก ๆ เรียกร้องความสนใจของทุกคนก่อนน้าแก็บจะจัดซาวด์เร็กเกหนึบ ๆ ขึ้นมา ผสมกับเสียงพิณเข้าไปแล้วโคตรดี Fyah Burnning ก็ขึ้นมาแร็ปอะดั๊บโชว์แบบเบสิก ๆ ก่อนจะเปลี่ยนซาวด์อีกแบบที่หนึบกว่าเดิม ขยี้ด้วยเสียงสังเคราะห์แสบทรวงบวกกับวิชวลที่สีสันแสบตา ทำให้เพลงมันเขียวมาก ๆ คนดูก็เต้นกันยับก่อน B-King ขึ้นมาแร็ปด้วย ดนตรีก็ทะเล้นมาก แร็ปกันไหลยาวไปเลย แล้วน้าแก็บก็เรียกเพื่อนขึ้นมาอีกคนเพิ่มความหอมหวานให้กับดนตรีเร้กเก้มากด้วยซาวด์ mellow สุด ๆ แต่ไม่วายก็โดนน้าแก๊ปสาดด้วยเสียงสังเคราะห์เขียว ๆ Pinnball ก็ไม่ยอมแพ้ หาโอกาสแจมด้วยพิณเป็นพัก ๆ ซึ่งเพลงต่อ ๆ มาก็มีช่วงที่ Pinnball ได้กดเอฟเฟกต์โหด ๆ โซโล่พิณโชว์ด้วย เรียกเสียงกรี๊ดจากทุกคนได้ ทั้ง Fyah Burnning กับ B-King ก็ชวนกันไหลไปใกล้ทั้งภาษาไทยทั้งภาษาอังกฤษได้สมูธมาก เชื่อว่าเป็นอีกโชว์อีกทุกคนต้องประทับใจ

ระหว่างที่กำลังนั่งหมดแรงรอคนในทีมกลับมาร่วมตัวกันเพื่อพักผ่อนเตรียมทำงานในวันต่อไป ดันไปนั่งอยู่เต๊นท์ Dag x Jam Factory ก็เจอเซอร์ไพรส์ด้วย Stylish Nonsense ที่กำลังอิมโพรไวส์กันสุดตัวด้วยของเล่นเต็มโต๊ะ แถมเล่นกันแบบไม่สนใจใครค่อย ๆ ไหลจังหวะดนตรีอันแปลกประหลาดไปเรื่อย ๆ นั่งไปซักพักก็พบความเพลิดเพลินในเสียงสังเคราะห์เหล่านั้น เผลอแป๊ปเดียวก็นั่งอยู่เกือบชั่วโมงไปแล้ว ทีมครบปุ๊บก็พุ่งกลับบ้านพักทันที

เหมือนคุยกันในทีมเล่น ๆ ว่าวงไทยที่จะได้ไป Wonderfruit นั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นวงที่มีดนตรีแปลก แต่พอเราได้ไปไล่ดูจริง ๆ แล้วเราว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่วงเหล่านี้จะได้มาเล่นที่งานระดับคือฝีมือและดนตรีที่บอกความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างชัดเจนมากกว่า เพราะหลายวงก็มีดนตรีที่น่าตื่นเต้นและแหวกแนวไม่เหมือนใครเลยจริง ๆ เอาจริงแค่ดูวงไทยเราก็อิ่มแล้วนะ ถ้าตกหล่นวงไทยวงไหนไปต้องขอโทษจริง ๆ เพราะสังขารไม่อำนวย แต่เราสัญญาว่าจะพูดถึงทุกคนให้มากที่สุด อยากให้วงไทยทำงานกันเยอะ ๆ จะได้ไปเจอกันใน Wonderfruit ปีหน้า

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา