U2 and I การตั้งใจไปหาคำตอบที่รอคอยมานานกว่า 15 ปี
- Story and photos by Wee Viraporn
ผมรู้จัก U2 ในช่วงต้น-กลางยุค 90s พร้อม ๆ กับอีกหลายต่อหลายวงในช่วงที่เริ่มฟังเพลงสากล ผมไม่เคยชอบ U2 สุด ๆ แต่ก็ไม่เคยเกลียดจนไม่อยากฟัง ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับอัลบัมที่ทำให้พวกเขาค่อย ๆ โด่งดังขึ้นมาในยุคแรก ได้แค่ดู mv เท่ ๆ และเห็นคอนเสิร์ตเจ๋ง ๆ ในสเกลอลังการแบบที่ไม่คิดว่ามาจัดในประเทศไทย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะฝัน… ใช่ สำหรับวัยรุ่นไทยในยุค 90s การดูคอนเสิร์ตของวงระดับโลกหลายวงเป็นได้แค่ฝันจริง ๆ การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูคอนเสิร์ตยังเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในระบบความคิดเลยด้วยซ้ำ
จนประมาณช่วงปลายปี 2002 หรือต้นปี 2003 ผมชิงโชคได้รางวัลไปดูคอนเสิร์ต U2 ที่อเมริกา! ทุกอย่างดูเหมือนฝัน ผมกำลังชอบอัลบัม All That You Can’t Leave Behind และเชื่อว่า U2 กำลังกลับมาท็อปฟอร์มหลังจากที่ทำเพลงหวือหวาแต่ไม่ค่อยกินใจในช่วงครึ่งหลังของยุค 90s แต่สุดท้ายโชว์นั้นดันแคนเซิลด้วยเหตุผลอะไรก็จำไม่ได้ แล้วพอดีเป็นช่วงที่กำลังจะต้องไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้วยความยุ่ง บวกกับความไม่ค่อยสะดวกในการสื่อสาร ทำให้ขาดการติดต่อกับผู้จัดไปในที่สุด แล้วพอปี 2004 ที่ Apple ออก iPod U2 Special Edition พร้อมกับใช้เพลง Vertigo ในการโฆษณา ผมก็ซื้อมาแบบไม่ลังเล พร้อมกับ The Complete U2 Digital Box Set จาก iTunes Store แต่ก็ดันมีปัญหาดาวน์โหลดได้ไม่ครบ (การโหลดไฟล์ 400 กว่าเพลง ขนาดประมาณ 1GB กว่า ๆ ยังเป็นเรื่องลำบากพอสมควรในสมัยนั้น) ต้องรบรากับ Apple Support อยู่หลายตลบ คือถ้าซื้อแผ่นประเทืองจากพันทิพย์ก็คงง่ายกว่าแหละ แต่เราตื่นเต้นกับการจัดจำหน่ายวิธีใหม่ที่ถูกกฎหมายไง!
ความชอบ U2 ของผมไม่ได้มาจากแค่ตัวเพลง และไม่ได้มาจากความชื่นชมตัวบุคคล แต่ผมทึ่งในความเป็นวงที่เริ่มจากกลุ่มเพื่อนนักเรียนที่อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปีโดยไม่เปลี่ยนสมาชิก (Coldplay ในยุคเริ่มต้นยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากเป็นอย่าง U2 ในมุมนี้ และพวกเขาก็ทำได้จริง) นับถือการใช้ความดังในการสร้างแคมเปญรณรงค์เพื่อประเด็นทางสังคม (แม้จะมีคนหมั่นไส้ไม่น้อย) เช่น โปรเจค RED ก็ทำให้เราได้มี iPod, iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นสีแดง แถมได้บุญช่วยผู้ป่วยเอดส์ด้วย เป็นต้น
แม้จะมีอายุวงยืนยาวมาร่วม 40 ปี แต่ U2 ยังเป็นวงที่ขยันทำเพลงใหม่ ๆ กล้าทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งในการแสดงคอนเสิร์ต, การถ่ายทำมิวสิควิดิโอ และการจัดจำหน่ายเพลง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป การที่ U2 ร่วมมือกับ Apple เปิดตัวอัลบั้ม Songs of Innocence โดยยิงเข้า iPhone ทุกเครื่องในโลกแบบอัตโนมัติเมื่อปี 2014 ทำให้เกิดกระแสต่อต้านไม่น้อย ซึ่งมันอาจจะดีก็ได้ เพราะพวกน่าจะได้ตระหนักว่าตนไม่ใช่วงร็อกที่ครองใจคนทั้งโลกเหมือนในช่วงปลายยุค 80s อีกแล้ว
เมื่อ U2 ประกาศว่าจะออกทัวร์ The Joshua Tree 2017 เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของอัลบั้มที่ทำให้พวกเขาได้ครองโลก จึงมีคำถามขึ้นมาหลายประเด็น หรือว่านี่คือการที่ U2 ยอมรับแล้วว่าตัวเองแก่ และไม่ cool อีกต่อไป? หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขายโชว์เพื่อสนอง nostalgia ของแฟนเพลงรุ่นลุงป้า? หรือจากนี้ไป U2 จะทำตัวเซฟ ๆ โกยเงินเฮือกสุดท้ายให้ได้มากที่สุดก่อนสมาชิกจะหมดสภาพ? ผมตั้งใจจะไปหาคำตอบจากโชว์ที่ Twickenham Stadium ในวันที่ 9 กรกฎาคม
วงเปิดของเย็นวันนั้นที่เป็นเหตุผลให้ยอมมารอตั้งแต่หัววัน คือ Noel Gallagher’s High Flying Bird! ใครเป็นแฟน Oasis คงรู้ว่า Noel ในวัยหนุ่มน้อยนั้นมี U2 เป็น idol สำหรับผมที่ไม่รู้จักเพลงของ Noel เองมากนัก ก็ดีใจที่ได้ฟังหลายเพลงฮิตของ Oasis เช่น Champagne Supernova, Half the World Away, Wonderwall รวมทั้ง Don’t Look Back in Anger ที่แทบจะกลายเป็นเพลงชาติแมนเชสเตอร์ไปแล้ว หลังเกิดการวางระเบิดที่คอนเสิร์ตของ Ariana Grande ในเดือนพฤษภาคม
พอถึงคิวของ U2 ตอนประมาณ 2 ทุ่ม 15 ท้องฟ้ายังสว่างเหมือน 4 โมงเย็นที่บ้านเรา Larry Mullen Jr. เดินออกมายังเวทีเล็กด้านหน้า แล้วนั่งลงหวดกลองขึ้นเพลง Sunday Bloody Sunday ก่อนที่กีตาร์ของ The Edge เบสของ Adam Clayton และเสียงร้องของ Bono จะตามไล่กันมา ตลอดเพลงแรกที่ทั้ง 4 คนอยู่บนเวทีเล็กร่วมกันโดยไม่ต้องพึ่งแสงไฟและจอภาพในการส่งพลังถึงผู้ชมที่อยู่กันเต็มสเตเดียม ตลอด 3 เพลงต่อมา คือ New Year’s Day, Bad (ซึ่งแอบแทรกเพลง Heroes ของ David Bowie มอบให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเหตุไฟไหม้ Glenfell Tower) และ Pride เห็นเลยว่าลุง ๆ ยังมีพลังล้นเหลือ ในขณะที่แฟนเพลงซึ่งอายุเฉลี่ยเกิน 45 ปีก็ยังแข็งแรงดี 😛
หลังจากนั้น สมาชิกทั้ง 4 จึงเดินขึ้นไปบนเวทีใหญ่ เพื่อเริ่มเล่นเพลงจาก The Joshua Tree เต็มอัลบัม ฉากหลังที่เป็นภาพต้นไม้อยู่นิ่ง ๆ เริ่มทำหน้าที่เป็นจอภาพขนาดใหญ่ที่สุด และมีความละเอียดสูงที่สุดเท่าที่ U2 เคยใช้มา แม้ว่าเวทีจะไม่มีเทคนิคพิเศษอะไรเลย เทียบกับที่เราคุนเคยกับความบ้าพลังของ U2 ในเวทีแมงมุมยักษ์ 360º แผงจอ LED ที่ทั้งวงสามารถเข้าไปเดินอยู่ข้างใน หรือโครงข่ายไฟที่เปลี่ยนรูปร่างเป็นทรง 3 มิติได้ และอีกสารพัดในทุกโชว์ตลอดช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ความตรงไปตรงมานี้กลับทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับผู้แสดงอย่างบอกไม่ถูก ภาพถ่ายทิวทัศน์โดย Anton Corbijn ช่างภาพคนเดิมที่ U2 เคยใช้งานเป็นประจำ ถูกใช้เป็นฉากหลังในสเกลมหึมาของ 3 เพลงแรก คือ Where The Streets Have No Name, I Still Haven’t Found What I’m Looking For และ With or Without You ได้อย่างทรงพลัง
U2 สามารถรักษาโมเมนตัมของโชว์ไปได้ตลอด 40 กว่านาทีของ The Joshua Tree เพราะการอาเรนจ์เพลงเก่าโดยใส่ลีลาใหม่ลงไปอย่างร่วมสมัย และความเรียบง่ายของ visual กับ lighting เป็นหลักฐานว่าพวกเขาเคยครองโลกได้ด้วยความเจ๋งในการเล่นสด
ประโยคที่ Bono ชอบพูดในคอนเสิร์ตว่า “Thank you for giving us good lives.” ยังมีความหมายตรึงใจเหมือนทุกครั้ง และยังถูกย้ำด้วยการไล่ขอบคุณทีมงานเบื้องหลัง และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ร่วมทางกันมาตลอด 30 ปี
ครึ่งหลังของโชว์เริ่มต้นขึ้นด้วยวีดีโอการพูดคุยกับเด็กหญิงชาวซีเรีย เธอเล่าถึงอนาคตที่อยากเป็นทนายต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อนที่กล้องจะถอยออกมาให้เห็นว่าเธอยืนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ภาพความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ผู้อพยพคนอื่นและซากปรักหักพังจากสงคราม กลายเป็นฉากหลังที่ทำให้เพลง Miss Sarajevo (หรือควรจะเรียกว่า Miss Syria?) สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลงได้ที่ ระบบแสงสีรอบสนามกีฬาก็ทำหน้าที่ของมันกับสามเพลงมันของยุคต้น 2000s คือ Beautiful Day (ที่แทรกด้วย Starman ของ David Bowie), Elevation และ Vertigo
หลังจากโดดกันสามเพลงติด ก็ได้ Cool Down ลงมากับเพลง Mysterious Ways ที่ทางวงเชิญแฟนเพลงสาวคนหนึ่งขึ้นมาเต้นบนเวที และจอภาพข้างหลังก็จับภาพเธอไปเล่นเอฟเฟกต์คลิปดุ๊กดิ๊กเหมือนที่เราชอบเห็นกันบน Instagram stories ตามด้วยเพลง Ultraviolet พร้อมวีดีโอที่สดุดีผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์หลายคน ก่อนจะปิดท้ายอย่างนุ่ม ๆ ด้วย One ท่ามกลางแสงไฟจากโทรศัพท์ของผู้ชม หลังจบโชว์ผมได้คำตอบกับตัวเองว่า ใช่ U2 ยอมรับแล้วว่าตัวเองแก่ แต่พวกเขาเป็นคนแก่ที่ไม่ทิ้งความเก๋า ชื่นชมอดีตของตัวเองได้โดยไม่ยึดติดกับมัน ยังคงเป็นวงที่ควรหาโอกาสได้ดูสักครั้งก่อนตาย และผมจะรอฟังอัลบัมถัดไปของพวกเขาอยู่
ผมค่อย ๆ เดินออกจากสเตเดียมกลับไปยังที่พัก Airbnb โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง (ฟังดูเหมือนจะไกล แต่ถ้าเคยเดินไป-กลับคอนเสิร์ต Coldplay ที่ราชมังมาก่อน จะมองเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ) ระหว่างทางก็คิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าเปรียบวงดนตรีเป็นคน ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับ U2 ก็คงเป็นเรื่องราวของความทุลักทุเล ระหว่างหนุ่มสาวที่ชะตาไม่ค่อยต้องกัน และเจออุปสรรคพ่วงอุบัติเหตุอยู่หลายหน แต่สุดท้ายก็พอจะได้ใช้เวลาด้วยกันสั้น ๆ มันอาจจะเหมือนความฝัน แต่ก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรติดค้างกันอีก