Tom Odell เดี่ยวเปียโนบทเพลงแสนอบอุ่น ทรงพลัง ใน Jubilee Road 2019 Tour
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Tas Suwanasang
มีไม่กี่ครั้งที่เราจะมีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตที่สกาล่า โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนใจกลางสยามที่อยู่คู่กับวัยรุ่นมาหลายยุคหลายสมัย ก็ได้บรรยากาศขลัง ๆ แบบที่หาไม่ได้ที่ไหน การตกแต่งแบบเก่า เวทีตระหง่าน มีม่านเป็นฉากหลัง โถงสูง ระบบเสียงเซอร์ราวด์ เบาะนั่งสบายเป็นขั้นหลั่นกันไป คนที่ได้ไปดู Jake Bugg ตอนมาเล่นที่บ้านเราก็คงจะพอนึกออก ซึ่งบรรยากาศแบบนั้นกำลังจะกลับมาอีกครั้งพร้อมกับคอนเสิร์ตของนักร้อง นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ Tom Odell ที่มาเปิดการแสดงครั้งแรกในประเทศไทยสำหรับโปรโมต Jubilee Road อัลบั้มชุดที่สามของเขา ใน Tom Odell Jubilee Road 2019 Tour
27 มีนาคม 2562
เราเข้ามานั่งประจำที่นั่งของตัวเอง ช่วงประมาณกลาง ๆ โรง ฟังเสียงเพลงโฟล์กที่เปิดคลอไปเรื่อย ๆ ความสบายของที่นั่งทำให้เราเกือบผลอยหลับไป จนกระทั่งเวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ไฟเฮาส์ค่อย ๆ ดิมลงและสปอตไลต์ก็ฉายไปยังแกรนด์เปียโนที่ตั้งตระหง่าน ชายหนุ่มปรากฏตัวและนั่งลงหลังเปียโนตัวนั้นและทักทายผู้ชม ‘Hello everyone’ เสียงกรี๊ดของแฟนเพลงดังกึกก้องไปทั้งโรงหนัง นิ้วเรียวบรรจงพรมไปบนคีย์ ทำนองของเพลงไม่คุ้นหูดังขึ้น แต่พอตั้งใจฟังดี ๆ ก็พบว่านั่นคือเพลง Go Tell Her Now ในเวอร์ชัน one man show แค่เพลงแรกก็โชว์พลังเสียงให้เราขนลุกกันได้แล้ว
สิ้นเสียงขอบคุณ ทอมก็เล่าว่า นี่เป็นโชว์แรกของเขาในไทยและรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้มาเล่นที่นี่ เขาเลยอยากให้โชว์ในคืนนี้เป็นอะไรที่พิเศษมาก ๆ ด้วยการเล่นแค่เปียโนอย่างเดียว และเอาองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะทำให้หัวใจของเพลงหายไป เขาอยากให้ทุกคนได้รู้สึกคล้ายว่ามานั่งอยู่กับเขาตอนที่เขาเริ่มเขียนเพลงในอัลบั้มชุดที่สามขึ้นมาครั้งแรกด้วยเปียโนตัวเดียว และเพลงที่กำลังจะเล่นก็เป็นเพลงจากอัลบั้ม Long Way Down ซึ่งเป็นเพลงรักเพลงแรกที่เขาเขียนขึ้นมา ทันทีที่อินโทรบรรเลง คนดูก็ยิ่งส่งเสียงกรี๊ดและตบมือดีใจให้กับเพลง Grow Old With Me ซึ่งกลางเพลงเขาก็กระทืบเท้าเข้าจังหวะ ผู้ชมก็ตบมือตามไปด้วย
‘ขอบคุณครับ ตอนนั้นผมอยู่เมืองไบรตัน เมืองชายฝั่งของอังกฤษ ผมเขียนหลาย ๆ เพลงในอัลบั้ม Long Way Down ขึ้นที่นี่…’ ทอมหยิบฮาร์โมนิก้าขึ้นมาลองเป่า ‘…อันนี้ไม่ใช่เซ็กซ์ทอยนะครับ…’ เรียกไปหนึ่งฮาจากผู้ชม ‘ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเป่าฮาร์โมนิก้า คือผมไม่ค่อยได้เล่นมันเท่าไหร่ แล้วผมก็เป่าแย่มาก หลาย ๆ คนที่เล่นเป็นพอมาฟังผมเป่าอาจจะลุกหนีไปเลย ส่วนเพลงที่จะเล่นต่อไปนี้เป็น B side หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ผมเขียนขึ้นมาเพราะช่วงนั้นผมฟัง Bob Dylan บ่อยมาก ๆ เพลงนี้ชื่อว่า Behind the Rose ครับ’ เสียงเปียโนนุ่มนวล เล่าเรื่องอีโรติกให้กลายเป็นเรื่องโรแมนติกในความทรงจำหอมหวานที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งได้อย่างงดงาม แม้เขาจะเล่นฮาร์โมนิก้าได้ไม่เพอร์เฟกต์นัก แต่พวกเราก็ลุ้นเอาใจช่วยเขาไปตลอดเพลง ซึ่งมวลรวมของเพลงที่เขาถ่ายทอดออกมาก็ทำให้เราประทับใจอยู่ดี
‘เพลงต่อไปเป็นเพลงที่เขียนขึ้นมาตอนผมอยู่ที่ลอนดอน ตอนนั้นผมอัดเพลงในอาร์ตแกลเลอรี่ มันก็แปลก ๆ ดี เป็นเพลงอกหักนะ เขียนขึ้นในจังหวะชีวิตหนึ่ง ตอนผมอายุ 21 มีแฟนที่น่ารักมาก ๆ ผมคบกับเธอนานพอสมควร แต่หน้าหนาวปีนั้นเป็นหน้าหนาวที่ยาวนานที่สุด แต่ผมรู้ครับ… มันเป็นเพลงสุขปนเศร้าสำหรับผม’ เขาเกริ่นก่อนเล่นเพลง I Know เมโลดี้ของเขาช่างอบอุ่นสดใสแต่เนื้อหาสุดโศก อธิบายความรู้สึกที่เขาเล่ามาได้ดีมาก ๆ ‘เพลงต่อไปมาจากอัลบั้มชุดที่สอง Wrong Crowd ครับ ผมรู้สึกว่าช่วงชีวิตตอนนั้นแตกต่างไปจากเดิม รู้สึกแปลกแยกที่สุด แต่การเขียนเพลงนี้ผมก็หวังว่ามันจะทำให้ผมรู้สึกว่าได้กลับมาอยู่ที่บ้านของผมอีกครั้ง’ และเขาก็เล่นเพลงสุดเปล่าเปลี่ยวหัวใจที่ชื่อว่า Concrete ซึ่งพอเพลงนี้ถูกนำมาเล่นเป็นเปียโนเดี่ยว ๆ แล้วยิ่งรวดร้าว
ทอมรินน้ำจากเหยือกและยกขึ้นจิบ ก่อนจะบรรเลงอินโทรเพลง Magnetised ที่แฟนเพลงส่งเสียงเฮตั้งแต่ต้น ซึ่งเขาก็ได้โชว์สไตล์การร้องเท่ ๆ ในเพลงนี้ พลังเสียงพุ่งพล่านฉุดไม่อยู่แล้วจริง ๆ ก่อนจะขึ้นเพลง Constellations ที่ผู้ชมร้องกรี๊ดตั้งแต่โน้ตตัวแรก ๆ ของเพลง โห เราไม่คิดว่าการได้ฟังเพลงนี้แล้วต้องร้องไห้ออกมาจริง ๆ คือนอกจากเมโลดี้จะเพราะมาก ๆ แล้ว การเล่นเปียโนเปล่า ๆ มันทำให้เราได้ตั้งใจฟังเนื้อเสียงของเขา กับเนื้อหาในเพลงนี้คือเป็นการต้องยอมรับความจริงอันน่าปวดใจ รวดร้าวมาก ๆ
‘ขอบคุณครับ อัลบั้มใหม่ของผมชื่อ Jubilee Road นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมได้มาอยู่ที่นี่กับพวกคุณในวันนี้ ตอนนั้นผมอายุ 26 ก็ตั้งใจจะลงหลักปักฐานอยู่ที่ถนนจูบิลี เป็นครั้งแรกที่ผมรื้อกระเป๋าเดินทางของตัวเองออกมา เดินไปซื้อขนมปังอบใหม่ที่เบเกอรี่ได้ทุกเช้า เรามีชุมชนเล็ก ๆ ที่อบอุ่น มีคนหลากหลายวัยอยู่ด้วยกัน การเขียนเพลงของผมในอัลบั้มนี้คือการนั่งมองออกมาจากหน้าต่างของห้องนั่งเล่นที่บ้าน แล้วผมก็บันทึกภาพบนถนนทั้งสายนั้นผ่านสายตาของผม ซึ่งทำให้ผมค้นพบคำใหม่ ๆ และวัตถุดิบที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต เอามาเขียนเพลงพวกนี้… คุณคงเบื่อที่ผมจะเล่าแล้วมั้งเนี่ย นั่นแหละครับ ผมเขียนเพลงขึ้นมาที่ห้องนั่งเล่น เพลงนี้ชื่อ Jubilee Road’ โห พอได้ฟังสด ๆ แล้วเราพยายามนึกภาพของถนนจูบิลี่ที่เขารัก รู้สึกอบอุ่นหัวใจมาก
‘ที่ลอนดอนมีบ่อนเยอะมากครับ เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจากบ่อนเล็ก ๆ บนถนนจูบิลี่ แต่ทุกคนที่เข้าไปนี่รู้สึกเหมือนไปเล่นพนันที่ Casino de Monte-Carlo รวมถึงสถานที่หลาย ๆ ที่ที่ฉวยโอกาสจากคนที่ติดเหล้า ติดพนัน เพราะคนติดพนันที่ยังคงเล่นพนันเพื่อความพึงพอใจของตัวเองและคนรอบข้าง เพียงเพราะเขาคิดว่ามันจะช่วยทำให้ตัวเองรู้สึกดี เพลงนี้ชื่อ Queen of Diamonds ครับ’ และ If You Wanna Love Somebody คือเพลงที่เขาเล่นต่อจากเพลงที่ว่า ซึ่งท้ายเพลงเขาก็อัพบีตด้วยการกระทืบเท้าตามจังหวะ ส่วนคนดูก็ช่วยตบมือเข้าจังหวะด้วย ‘ขอบคุณครับ เหลืออีกไม่กี่เพลงที่จะเล่น หนึ่งในนั้นอาจจะไปอยู่ในอัลบั้ม 4 หรือ 5 ค่อนข้างใหม่มากทีเดียว เป็นเพลงเศร้าอีกแล้ว (หัวเราะ)’ เพลงนี้ชื่อ Tears that Never Dry คือทันทีที่เขาขึ้นอินโทรมา คอร์ดสวยมากกกกกกก ฟังแล้วขนลุกเกรียวเลย ทั้ง dynamic และ resonant ของเพลงคือดีงาม ลงตัว รวดร้าวมาก เหมือนเพลงบัลลาดเปียโนบรรเลงปี 90s ประกอบหนังชีวิต ๆ รอฟังเวอร์ชัน audio แล้วว่าเขาจะปั้นมันออกมาเป็นรูปแบบไหน
แล้วก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของโชว์ ’ขอบคุณมากครับที่มาดูผมในคืนนี้ หวังว่าผมจะได้มาเล่นที่นี่อีกกับวงของผม ผมรักที่นี่’ เพลงฮิตของเขา Another Love ถูกเล่นเป็นเพลงปิด หลายคนร้องตามเพลงโปรดของตัวเองไปเบา ๆ เพราะเกรงว่าจะทำลายมนต์ขลังในคอนเสิร์ตครั้งนี้ แต่ช่วงท้ายเขาก็กระทืบเท้าสร้างสีสันให้เพลงเช่นเคย เมื่อจบเพลง ทุกคนตบมือและส่งเสียงกรี๊ดให้เขาเกรียวกราว ทอมลุกขึ้นมาโค้งขอบคุณและบอกลาทุกคน น่าเสียดายที่จบจากเพลงนี้หลายคนคาดหวังจะได้อังกอร์เพราะมีอีกหลายเพลงที่เขาไม่ได้เล่น หวังว่ารอบหน้าเราจะได้ดูเขาเล่นเพลงที่อยากฟังที่เหลือกับ full band อย่างที่เขาสัญญาไว้นะ