Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

Strange Fruit ไวนิลบาร์ย่านสุขุมวิท เปิดบ้านต้อนรับเพื่อนใหม่ที่รักแผ่นเสียง

เครื่องดื่ม ดนตรี และการเต้นรำ คือของคู่กันมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติจะบันทึกไว้ได้ และเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ได้พัฒนาไปสู่รูปแบบความบันเทิงต่าง ๆ ทั้ง แจ๊สคลับ ดิสโกเทค มาจนถึงคอนเสิร์ตและปาร์ตี้แบบที่เราคุ้นเคยกันดี

แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่คนโหยหาความสนุกที่เคยสัมผัสในวันวาน เพราะเสน่ห์เฉพาะตัวของมันที่หาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ยุคนึงเราเคยฟังเพลงจากแผ่นเสียง แล้วเราก็เปลี่ยนไปฟังเทปคาสเซ็ต ซีดี และกลายมาเป็น mp3 และ สตรีมมิง แต่ขณะเดียวกัน บางคนก็ย้อนกลับไปหาซื้อแผ่นเสียง และคาสเซ็ตอีกครั้ง หรือบางที อาจเป็นเพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกปล่อยผ่านไปได้ง่าย ๆ เพราะยังมีคนที่หลงใหลมันอยู่เสมอ

จากที่เราเคยเขียนถึง listening bar ที่ญี่ปุ่นเมื่อครั้งก่อน ทำให้เราพบว่าขณะนี้บาร์ดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่กรุงเทพ ฯ เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้เราได้พบกับ Strange Fruit listening bar ย่านสุขุมวิทที่จริงจังเรื่องการเปิดเพลงจากไวนิล บรรยากาศของที่นี่ต่างจากหลาย ๆ ร้านที่เราเคยแวะเวียนไปจนเราอยากพูดคุยกับทีมผู้อยู่เบื้องหลังให้เข้าใจความเป็น vinyl bar ให้มากขึ้น

เรามาถึง Strange Fruit ก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย บรรยากาศในช่วงกลางวันแตกต่างจากตอนกลางคืนที่เราเคยมานั่งอย่างสิ้นเชิง ไม่นานนัก อ๊อฟมนต์ชัย ศรีจงใจ พาร์ตเนอร์ไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต Made by Legacy และผู้ก่อตั้ง vinyl lover community Olympic Digger เข้ามาทักทายและพาเราขึ้นไปยังชั้นบนของเวิ้งข้างโรงเรียนแจ่มจันทร์ เอกมัย 21 ที่ที่เคยเป็น Sugar Ray You’ve Just Been Poisoned ค็อกเทลบาร์ยุคแรกเริ่มที่นักดื่มรู้จักกันดี และไม่นานนัก ต๊อบ—ณภัทร เหล่าพลายนาค หรือ DJ TOB หนึ่งในสมาชิกฮิปฮอปภูเก็ต Southside ยุคแรก และดีเจฮิปฮอปเบอร์ต้น ๆ ของประเทศก็ตามมาสมทบ สองคนนี้คือผู้อยู่เบื้องหลัง Strange Fruit ร่วมกับ เติร์ก-สิทธานต์ สงวนกุล หนึ่งในทีมงาน Sugar Ray และโต้ง—พิทวัส พฤกษกิจ หรือ Twopee แร็ปเปอร์ชื่อดังที่ยังรันวงการอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้พวกเขาทั้งสี่ตั้งใจจะขยายอาณาจักรไวนิลที่พวกเขาชื่นชอบ ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่อินกับวิถี old school

อ๊อฟเล่าให้เราฟังว่า ก่อนจะมาเป็น Strange Fruit หลาย ๆ คนก็ยังคิดถึงบรรยากาศของ Sugar Ray ร้านเดิมเลยจะกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ปัจจุบันร้าน Sugar Ray ได้ย้ายไปที่ใหม่ในซอยสุขุมวิท 24 แล้ว หากกลับมาเปิดอีกอาจจะสร้างความสับสนได้ จนมีช่วงนึงที่เขาได้เดินทางไปญี่ปุ่น และพบว่าด้วยตัวกฎหมายเลยทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของคนที่นู่นยังติดกับ physical อยู่ และบาร์ต่าง ๆ ก็ได้ผนวกรวมเอาวัฒนธรรมการฟังซีดี ไวนิล เข้าไปในร้านด้วยการให้ดีเจเปิดจากแผ่นกันแบบจริงจัง อ๊อฟเลยได้แรงบันดาลใจจาก listening bars เหล่านั้น ประกอบกับการได้พาร์ตเนอร์ใหม่มาร่วมทีมคือต๊อบกับโต้ง ซึ่งมีความชื่นชอบในการฟังเพลงผ่านไวนิลเหมือนกัน เลยเกิดเป็นไอเดียที่จะทำให้ร้านใหม่ให้กลายเป็นไวนิลบาร์

“ไวนิลบาร์เขาไม่ต้องมีค็อกเทลแปลก ๆ เขาดื่ม campari soda คราฟต์เบียร์ gin tonic, highball ตามสไตล์ญี่ปุ่นจริง ๆ จะมีซีเรียสเรื่องดื่มก็ได้ แต่คนที่ไปพวกนี้เขาก็คาดหวังว่ามาฟังเพลงเป็นหลัก เราก็เลยได้คอนเซ็ปต์แบบนี้มา กับการที่เรามีความชอบฮิปฮอป ของเล่น อุปกรณ์ดีเจ เราเลยพยายามผสมผสานให้มีความเป็นบ้านผู้ชาย ให้คนที่มา Strange Fruit ได้รู้สึกว่ามาบ้านเพื่อนผู้ชายที่ชอบฟังเพลง มันเลยมี vinyl wall มีบูธดีเจที่เป็นพระเอกมากกว่าบาร์ แล้วเราก็ดรอปความเป็นตัวตนของ Sugar Ray ที่เน้นค็อกเทลให้มันน้อยลง แล้วดึงความเป็น music ให้มากขึ้น”

พอเปลี่ยนจาก serious cocktail bar มาเป็น serious music bar เจอความยากง่ายอะไรยังไงบ้าง

อ๊อฟ: 50% ของลูกค้าที่มาจากเครือ Sugar Ray ชอบ คือเรามีประมาณ 5 ร้านที่เป็น serious cocktail แต่อีกครึ่งนึงยังติเรื่องดื่ม เพราะว่าเขาดื่มร้านค็อกเทลจริงจังมาก่อน แบบที่จะสั่งค็อกเทลอะไรก็ได้ มีวิสกี้ให้เลือกเป็น 30 ขวดงี้ สุดท้ายพอเราอธิบายคอนเซ็ปต์เขาก็พอเข้าใจว่ามันเป็นอีกแบบนึง

เครื่องดื่มที่เสิร์ฟที่นี่มีอะไรบ้าง

อ๊อฟ: ชื่อร้านเราก็เป็นเพลงแล้ว Strange Fruit นี่ ของ Ella Fitzgerald แต่การตีความไม่เหมือนในเพลง อันนี้เราเหมือนเป็นผลไม้ที่ประหลาดอยู่ในป่า เรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนใครในแถวนี้ แล้วด้วยความที่ร้านเราเป็นไวนิลบาร์ก็จะตั้งชื่อที่มัน relate กับไวนิล turntable ต่าง ‘Deep Groove’ เป็นศัพท์ของแผ่นเสียงที่ร่องมันลึก ถ้าเข็มมันลงไปเล่นก็จะได้เสียงที่ดี อันนี้ก็จะมีความเข้มของค็อกเทลRound and Round’ คือแผ่นหมุนอยู่ตลอด เหมือนนอนไม่หลับ ก็มีส่วนผสมของกาแฟ ‘Dirty Hand’ ถ้าคนเขาคุ้ยแผ่นเสียง มือจะสกปรกจริง แล้วก็จะมีคลาสสิกค็อกเทล เครื่องดื่มประจำตัวของ Mayer Hawthorne คือ ‘Henny and Ginger Ale’ เลยเอามาใส่เพราะมันง่ายแล้วก็เป็น Hennessy ที่เราชอบ

คำจำกัดความของ ‘listening bar’ สำหรับพี่ คืออะไร

ต๊อบ: บาร์มันก็คือสถานที่ขายเครื่องดื่มใช่ไหม เราก็ใส่คอนเซ็ปต์ไปก่อนคำว่าบาร์ว่าอยากจะให้มันเป็นบาร์แบบไหน จะเป็น speakeasy bar, cocktail bar หรือ listening bar อันนี้คือคอนเซ็ปต์เพิ่มขึ้นมา vinyl bar ก็คือบาร์ที่ขายเครื่องดื่มและมีเพลงที่เปิดจากแผ่นเสียงให้ฟัง

อ๊อฟ: นั่นคือความแตกต่าง ต้องบอกว่าในกรุงเทพ มีไม่ถึง 10 ร้านที่เปิดจากแผ่นเสียงจริง

ร้านที่เปิดแต่ไวนิลมีที่ไหนบ้าง

อ๊อฟ: อาจจะมีเซ็ตอัพไวนิลไว้แต่ไม่ได้เปิดจริง ก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าให้นับว่าเปิดจากไวนิลจริง ก็คือ Smalls, Iron Balls Distillery & Bar เอกมัย กับ Iron Balls Parlour & Saloon อีกร้านคือ Alonetogether ชั้นสอง Lennon’s ที่โรงแรม Rosewood แล้วก็ Strange Fruit เนี่ยแหละ

ต๊อบ: Studio Lam เขาเป็น community ที่แข็งแรงมากในแนวนั้นของเขา (อ๊อฟ: Thai music, Isan funk ดั๊บ เขาเป็น Asian’s No.1 เลยนะ) หรืออย่าง GOJA พระโขนง

อ๊อฟ: เขาใช้คำว่าตัวเองเป็น music bar & gallery ก็ได้ เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นไวนิลเพราะมีดนตรีหลาย แบบ มีนักดนตรีไปแสดง มีดีเจ มี connection จากญี่ปุ่นมาเล่น เป็นอีกที่ที่รู้สึกว่ามีความเป็นตัวเองสูงมากไม่แพ้ที่ไหน

นอกจากแค่เปิดเพลงจากไวนิล ยังต้องมีการคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อะไรอีกบ้าง

อ๊อฟ: แต่ละร้านก็จะต่างกัน บางที่เขาทำเป็นคลับ ของเราทำเป็นบาร์ คาแร็กเตอร์ของเราใส่ความเป็นบ้าน สังเกตว่าเขาจะไม่ได้มาตั้งเป็นชั้นวางเหล้าเหมือนบาร์อื่น ๆ เรามีไฟนีออนดัด มีโปสเตอร์หนังฮิปฮอป มีของเล่น พวก soundsystem ก็เลยเลือก home speaker ที่มีความวินเทจด้วยหน้าตา คาแร็กเตอร์เสียงที่ออกมาก็จะไม่เพอร์เฟกต์ขนาดนั้น ไวนิลไม่เคยเพอร์เฟกต์อยู่แล้วสำหรับเรา แต่เราโหยหาสิ่งนี้ เราอิ่มจากดิจิทัลไฟล์ iTunes Spotify มาแล้ว เราเลยนำเสนอความชอบส่วนตัว

Listening bar ที่ญี่ปุ่นเขาดูจริงจังมากเลยนะ

อ๊อฟ: ที่ไปมาทั้ง 5 บาร์ต้องบอกว่า เขามีที่ซีเรียสสุด แล้วก็แบบลูกผสม แต่ละที่คาแร็กเตอร์ไม่เหมือนกันเลย มีทั้ง proper และไม่ proper มันเป็นวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้ว เพราะประเทศเขามีลิขสิทธิ์ให้ซื้อแต่ physical ไง และมี Tower Records เพราะงั้นคนจะเจอกับไวนิลตลอดเวลา

มีร้านนึง ร้านไซส์เท่าเราเลย มีคนเดียวยืนอยู่ในบาร์ เป็นทั้งดีเจ บาร์เทนเดอร์ และขายแผ่นเสียงด้วย ชื่อ Music Bar อยู่โตเกียว จริง ๆ เขาเป็นโปรดิวเซอร์และพี่ซื้อแผ่นเขาด้วยซ้ำ ประทับใจมาก ทำเองหมดเลย ก็เลยถามว่าทำไง เขาก็บอกว่า ตอนกลางคืนเขาจะเปิดเพลงจากไฟล์ดิจิทัล ขายเหล้า จะได้ขายแผ่นได้ด้วย แต่ไม่ให้ลอง ให้แค่ซื้ออย่างเดียวเพราะจะบริการส่วนอื่นไม่ทัน ส่วนกลางวันก็ขายแผ่น แล้วจะเปิดเพลงจากไวนิล เนี่ย มันก็เป็นไวนิลบาร์จริง แค่ไม่สามารถเปิดได้ตลอดเวลา

กับที่ JBS นี่เป็นร้านแรกที่ทำให้คนไทยทุกคนรู้จัก ออริจินัลเลย เจ้าของเป็นลุงอายุ 50-60 เปิดเพลงอยู่ในห้องอพาร์ตเมนต์ห้องเดียว บาร์มี 4 โต๊ะ ไฟสว่างเลย vinyl wall น่าจะ 3,000 แผ่น คอลเล็กชันของเขาเป็นแจ๊ส โซล ฮิปฮอป เก๋ามาก แล้วยังมีในห้องอีก เขาก็อยู่ในบาร์ตลอดเวลา เพลงดับก็ไม่สน ถามจะเอาไรแบบเหวี่ยง ๆ ตอนเงินไม่พอเขาก็บอกว่าไม่เป็นไร แต่เป็นประมาณว่าพวกมึงไปนั่ง’ พอนั่งกันครบโต๊ะ แล้วเขาก็ปิดไม่ให้คนอื่นเข้าร้านแล้ว เหมือนหงุดหงิดขี้เกียจดูแลแล้ว เพราะก่อนหน้าเราจะไปนั่งมันมีคนจากอินเทอร์เน็ต เป็นฝรั่งไปส่งเสียงดัง swag ใส่เขาอะ คือก็เข้าใจว่าเขาไม่เจอคนที่เสพไปป่วนก็เซ็ง แต่ตอนพี่ไปแล้วโดนเขาอารมณ์เสียใส่ก็ไม่อิน ด้วยอารมณ์อะนะ 

อีกบาร์ก็เจ๋งมาก ชื่อ Grandfather อันนี้เสียค่าเข้า หนึ่งคนเสิร์ฟ บริการ อีกคนทำค็อกเทล อีกคนเล่นแผ่นอย่างเดียว อยู่สเตชัน เล่นเพลงเดียวจบแล้วโชว์แผ่น แล้วเปิดเรื่อย ๆ แบบไม่มิกซ์เพลง เปิด 70s ซะเยอะ แล้วก็เป็น 33 RPM คือเขาทรีตตัวเองว่าจะเล่นแต่แผ่น 33 ไม่เล่น 45 

เนี่ย คนเขามี pure passion สูง เคยเห็นร้านอิซากายะเล็ก ที่นู่นไหมไหม คือมันเปิดประตูไป เจอร้านเล็ก ๆ บาร์เล็ก ๆ มีแค่นั้น มันเป็นวัฒนธรรมที่จะทำอะไรเล็ก แต่จริงจังตามความถนัด ตามความชอบของตัวเองกันอยู่แล้ว ไวนิลบาร์เล็ก ร้านเหล้าเล็ก มันมีทุกเมือง ไปโกเบเมืองเนื้อยังมีไวนิลเลย อยู่ตึกแถว ชั้น 8 คนต้องขึ้นไปหากันเอง แต่บ้านเราทำไม่ได้ เขาไม่ให้ทำพาณิชย์ในแฟลต คอนโด นั่นแหละคือเสน่ห์ของญี่ปุ่น

ต๊อบ: เคยไป Bloody Angel ไหม เป็นเล็ก ๆ น่าจะอยู่ชิบุย่า โตเกียว เจ้าของเป็นโปรดิวเซอร์ฮิปฮอปให้ ANARCHY

ที่ Strange Fruit จะมีไวนิลดีเจประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ เน้นเปิดเพลง soul funk disco hiphop r&b หรือบางสัปดาห์จะมีธีมพิเศษอย่าง Thai Night เปิดเพลงไทยจากไวนิล หรือ Rock Night สำหรับเพลงร็อก อัลเทอร์เนทิฟ 

อ๊อฟ: ดีเจที่เปิดประจำ ศุกร์ เสาร์ มีแน่นอน 4 ทุ่มถึงตี 1 จะมี Sarttra กับ Kaitod เปิด disco, boogie, indie-dance, rock, synth pop หรือ JR Grooves กับ DJ Pakin ต้องบอกว่าเป็นดีเจที่อายุหลัก 40 ปลาย 50 ต้น เขาจะเปิด 70s 80s disco soul ซะส่วนใหญ่ เป็นดีเจที่เก๋าในวงการ เขาเปิดที่คลับชื่อ Palace เป็น discoteque ในเมืองไทย ยุคนั้นไม่มีดิจิทัล ต้องเปิดจากไวนิลอย่างเดียว เป็นเหมือน Route 66 หรือ Demo ของยุคนี้ 

ต๊อบ: สมัยก่อนใครจะไปร้านเฟี้ยวสุดก็ต้อง Palace เนี่ยแหละ พี่คนนี้เขาไม่ได้เปิดประจำที่นั่น แต่เขาอยู่มาจากยุคนั้น เพราะงั้นเพลงยุค Palace จะเป็นอะไรที่ดีเจจะได้แผ่นเสียงบางอันมาจากวิทยุ เพราะแผ่นเสียงบางอันมันเป็นแผ่น promo ทีศิลปินเขาเอาไปแจกตามคลื่น เพราะสมัยนู้นแผ่นเสียงไม่ได้หาซื้อกันง่าย Palace เลยถือว่าเป็นที่ที่เพลงคูลสุด เพราะเป็นเพลงที่คลับอื่นไม่มี

อ๊อฟ: เสน่ห์ของไวนิลที่มันเชื่อมโยงกับ discoteque ความเจ๋งของมันคือ ค่ายศิลปินมันต้องส่งให้ เพื่อให้ดีเจคนนี้พยายามเล่น แล้วดีเจก็ต้องพยายามเล่นให้มันดัง พอเพลงก็จะดังแล้วดีเจเองก็จะได้รับความนิยมด้วย นี่คือดีเจสมัย 70s เหมือนคุณต้องเล่นเพลงให้ฮิต ถ้าไม่ฮิตก็ต้องหาเซ็ตใหม่ ซึ่งค่ายศิลปินจะส่งมาให้เรื่อย ถ้าคุณดังพอ ก็จะมีตะกร้าของคุณว่าได้แผ่นมาเรื่อย ทุกอาทิตย์

ต๊อบ: จนถึงปี 2000s ต้น ที่ยังไม่มีซีดีหรือคอมพิวเตอร์ที่จะมาเปิดเพลงแบบสมัยนี้ คือการหาแผ่นเสียงมาเปิดในคลับก็ถือว่ายากมากแล้ว อย่างผมเปิดฮิปฮอป สมัยก่อนแผ่นเสียงฮิปฮอปที่ Music One หรือ Tower Records มันก็ไม่มีเท่าไหร่ ต้องสั่งมา เพราะงั้นเสน่ห์ของดีเจที่เปิดเพลงจากแผ่นเสียงก็คือมันมีแค่เราที่มี ใครชอบจะไปหาโหลดก็ไม่ได้ แล้วก็จะคิดว่าทำไงดีให้เราหาเพลงเจ๋ง แบบคนนี้ได้ เพราะงั้นคนอื่นหาไม่ได้ก็จะไม่มีคนตามไปฟังเท่าดีเจคนนี้

ไปเจอ JR Grooves กับ DJ Pakin ได้ยังไง

อ๊อฟ: พี่เป็นพาร์ตเนอร์ Made by Legacy ด้วย ก็ต้องคอยหาดีเจหรือทำไลน์อัพวงอยู่ตลอด ก็จะมีคนแนะนำกันมา ตอนนั้นมีรุ่นน้องแนะนำว่า เฮ้ยพี่ เอาคนนี้สิ ซึ่งเราก็ชวนเขามาเล่นครั้งนึงแล้วนะ แต่ปีนั้นพี่ไม่ได้ฟังเพราะพี่ยุ่งอยู่ เลยชวนพี่จูเนียร์มาอีกที ทำตัวให้ว่างแล้วฟัง ก็แบบ เฮ้ย นี่มันอะไรวะเนี่ย ถ้าเปรียบเทียบอายุเหมือนเขาเป็นพี่ชายคนโต เป็นพ่อ เขาอายุ 52 แล้ว วิธีที่เขาเล่นหรือต่อเพลงจากไวนิลมันทำให้พี่รู้สึกว่ามันว้าวอะ แบบ อะไรวะ ด้วยอายุเขาที่ผ่านยุค 70s 80s แล้วเขาเอามาเรียบเรียงในแบบยุคปัจจุบันที่พี่อินเหลือเกิน ก็รู้สึก appreciate ในสิ่งที่เขาทำมาก

ส่วนพี่ภาคินเขาเป็น technician อุปกรณ์ turntable, mixer เป็นคนติดตั้งอะไรต่าง ซึ่งพี่ให้เขาช่วยในแบบนั้นก่อน จนตอนหลังมารู้ว่าเขาก็เป็นดีเจ ก็รู้ว่าเขาเก็บแผ่นอีก เป็นคนชอบสะสมเครื่อง มันก็เลยมีความคล้าย กัน แล้วเขาก็ฟังเพลงรุ่นเดียวกันเลย พี่จูเนียร์มีความเป็น disco มากกว่า ส่วนพี่ภาคินเขาจะเป็น soul, house มากกว่า มันก็เลยได้สองคนตัวเก๋า ถ้าพูดจริง ในวงการคนเก็บแผ่นเขาก็เก็บมานาน เก็บเยอะ เล่นได้หลายแนว มีประสบการณ์ คำว่าเล่นไวนิล มันแค่วางแล้วก็เปิด มันก็มี แต่คนพวกนี้เขาต่อเพลง ทำได้ทุกอย่าง เลยทำให้รู้สึกว่าแจ๋วจัง

ต๊อบ: ผมเลยคิดว่าร้านนี้ ดนตรีเปิดได้ทุกแนวแหละ แต่มันเป็นการโชว์คอลเล็กชันของดีเจแต่ละคนว่าเขาเป็นคนฟังเพลงแบบไหน เหมือนเอาเพลงที่เราฟังอยู่ที่บ้านมาแชร์ให้ดีเจ ให้คนที่มานั่งดื่มได้ฟังกัน ไม่เหมือนร้านอื่นที่จะมานั่งขอเพลงกัน ถ้ามีก็เปิด ถ้าไม่มีก็ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นคลับปกติก็คงจะมีคนถามว่า ทำไมเปิดเพลงนี้ไม่ได้ ฉันอยากฟังเพลงนี้ฉันต้องได้ฟังสิ ซึ่ง ไวนิลบาร์ หรือ listening bar ประเภทนี้จะไม่มีปัญหาอย่างนั้นเลย เพราะคนมาเสพดนตรี เสพบรรยากาศ ผมถือว่าเป็นการสร้างทัศนคติให้คนฟัง การที่เราทำตรงนี้บวกกับสิ่งที่อ๊อฟมี Olympic Digger และเราเองก็ชอบฟังเพลง ผมว่าการฟังเพลงจากแผ่นเสียงมันเป็นซาวด์ที่เพราะที่สุดแล้ว ถ้าเกิดเราดูในโซนเอกมัย ทองหล่อ มันก็ไม่มีอะไรแบบนี้ เราก็ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น และผมว่าก็คงมีคนชอบแบบนี้อยู่ประมาณนึง ร้านเราไม่ได้ใหญ่ เราไม่ได้ต้องการคนเป็นพันคน และเราเชื่อว่ามันมีการบอกต่อ ส่งทอดกันอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากกว่าการไปเที่ยวอีกหลาย แบบ ไม่ได้บอกว่าอย่างนั้นไม่ดีนะ แต่แบบนี้ถ้าคนได้มาลองก็อาจจะชอบกัน

สังเกตว่าหลาย บาร์ตอนนี้พยายามเอาดีเจไปลง มันให้ประสบการณ์ต่างจากเปิดกับเพลย์ลิสต์ยังไง

อ๊อฟ: ต่างแน่นอน พี่มองว่าดีเจเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ ต้อง perform ในร้านอาหาร หรือบาร์ (ต๊อบ: บาร์เทนเดอร์เองก็ใช่ เขาต้องเขย่าเชคเกอร์) เหมือนกุ๊กด้วย ก็บอกได้ว่า บาร์เทนเดอร์อยู่บาร์ประเภทไหน ดริงค์อะไร เชฟนั้นเขาทำอาหารประเภทอะไร ดีเจที่อยู่ร้านนั้น ควรเปิดเพลงยังไง

ต๊อบ: พูดถึงการฟังเพลย์ลิสต์ มันเหมือนกับว่าดีเจทำเพลย์ลิสต์ออกมา เราก็ฟังไปเฉย แต่การที่บาร์มีดีเจมาเปิด ดีเจเขาจะเปิดเพลงจากสิ่งที่เขามองเห็น กับอารมณ์ของคนที่ดื่มอยู่ หรือบรรยากาศตรงนั้นเป็นยังไง มันต่างจากการฟังเพลย์ลิสต์แน่

อ๊อฟ: movement มันมีมากกว่า อย่างดีเจเห็นว่าตอนนี้คนกำลังสนุกขึ้น คนเยอะขึ้น เสียงดังขึ้น ดีเจก็จะเป็นคนคอนโทรลตรงนี้ แล้วดีเจที่เปิดไวนิลกับดิจิทัลก็ต่างกันระดับนึงเลย มันให้อารมณ์ต่างกัน

พูดถึง jam session หน่อย มันคืออะไร

อ๊อฟ: ถ้าเรื่องไวนิล อย่างของพี่มี #OlympicJam เวลาจัดงานก็จะมีดีเจ 7 คน คนละชั่วโมง แต่จะมีเว้น 1-2 ชั่วโมงให้ทุกคนมาแจมกัน จะมีชื่อในไลน์อัพหรือไม่มีก็ได้ ก็พกแผ่นมา 5 แผ่นแล้วมาแจมในช่วงที่ให้ไว้นั้นอะ 5 เพลง ถ้าคนน้อยหน่อยก็คนละ 7 เพลง บางทีคนละ 3 หรือ 1 เพราะคนเยอะ เราก็จะลงชื่อกันในกระดานเรียงคิวกันไป

ต๊อบ: มันคือการแชร์เพลย์ลิสต์ เพลงที่เราฟัง เหมือนเราหยอด jukebox เวลาเราไปร้าน ที่เราหยอดตู้เพลงแล้วต้องรอคิวจากคนที่มันเลือกเพลงมาสิบคนก่อนหน้าแล้วก่อนที่จะถึงคิวเรา เหมือนมันได้แลกกันฟังเฮ้ย เพลงนี้เพราะดีนี่หว่า’

อ๊อฟ: แล้วการเปิดหลาย คนมันก็คิดได้อีกว่า เขาเปิดอะไร แล้วเราจะแคร์ที่จะเปิดเหมือนเขาไหม หรือจะไม่สน เลือกแบบที่ตัวเองอยากเปิดไปเลย ก็ได้

คิดว่าเรายังมีความจำเป็นต้อง educate คนฟังไหม

ต๊อบ: ตอนนี้ทุกอย่างเราดูจาก YouTube ไม่เหมือนตอนมี MTV เราต้องรอหนึ่งวัน หนึ่งในหนึ่งอาทิตย์ มันจะมีช่วงฮิปฮอปอยู่วันนึง หรือจะรอแจ๊ส คือทุกอย่างต้องรอ เดี๋ยวนี้ใครอยากจะฟังอะไรคือไม่ต้องรอแล้ว คนสมัยนี้เลยรอไม่เป็น อยากฟังอะไรก็ได้ทันที ทุกสิ่งทุกอย่างเร็วมาก กลายเป็นว่าศิลปินทำเพลง ปล่อยออกมาใน YouTube ทำอะไรก็ได้ให้มันออกมาเป็นไวรัส catchy หรือเป็นกระแสที่สุด แต่ขาดศิลปะที่จะกลั่นกรอง เพลงแต่ก่อนใช้เวลามากกว่าสมัยนี้เยอะ เดี๋ยวนี้คนสมาธิสั้นเกินไปกว่าการที่จะเสพศิลปะ อะไรก็ตามผมรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตมันเร็วจนทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ความอนาล็อกของช่องเพลงสมัยก่อนมันก็เหมือนเราฟังเพลงจากแผ่นเสียง หรือเทปเนี่ยแหละ

อ๊อฟ: เพลงทำง่ายขึ้น คนอยากเป็นศิลปินมากขึ้น

ต๊อบ: เพลงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำเป็นอัลบั้ม ปล่อยเป็นซิงเกิ้ล เมื่อก่อนต้องรอว่าเมื่อไหร่เทป ซีดีมันจะออก เพื่อรอฟังเพลงที่เราชอบจริง บางทีมันไม่ใช่เพลงแรกที่อยู่หน้า A ด้วยซ้ำ มันก็ต้องนั่งฟัง มันรอได้ ทุกวันนี้มูลค่าหลาย อย่างมันก็ตกลง ฉันไม่ต้องรอฟังเพลงของคนคนนี้ มันก็ต้องมาแข่งกันกับความเร็วไม่พอ ต้องแข่งว่าจะอยู่ได้นานขนาดไหน เมื่อก่อนแทบมีมิวสิกวิดิโอไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้ใคร ก็มีได้ แต่ใครจะดูคุณ คำว่า ‘เพลงดัง’ วัดที่วิว หรือวัดที่โชว์ มุมมองมันหลากหลายมาก คนบางคนจะเอาแค่ยอดวิวไปปั๊มเงินต่อในช่องทางอื่น บางคนอยากทำให้ศิลปินได้ขายโชว์ ทุกคนได้หมดเลย แต่อยู่ว่าจะได้เท่าไหร่ อยู่นานได้เท่าไหร่ แค่นั้นเอง

Strange Fruit

พอเป็นแบบนี้แล้วก็ไม่มีคนมาคอยไกด์ว่าต้องฟังอะไร เลยมีการถกเถียงกันว่า รสนิยมที่ดีคืออะไร

อ๊อฟ: มีสองมุมกับสองยุค เทคโนโลยีมันมีข้อดีข้อเสีย แต่สังเกตดูว่าทำไมศิลปินใหม่ กลับมาปั๊มไวนิล เพราะคนก็ยังโหยหา ไม่ว่าจะยุคเก่าหรือยุคใหม่ที่เข้าใจมัน ทุก ยุคมันจะมีกลุ่มของมันแหละว่าจะอยู่ได้มาก หรือมีอิทธิพลกับสังคมขนาดไหน ถ้าลองมองในทุก สื่อมันจะมีแผ่นไวนิลกับ turntable อยู่ในทุก การโฆษณา พี่เลยคิดว่ามันเหมือนทุกอย่างที่อิ่มไปแล้วแล้วกลับมา แล้วมันมีมากกว่าแค่การฟังเพลงได้ มันมีงานศิลปะบนปก มันเป็นของตกแต่ง ของสะสม มันมีไลฟ์สไตล์เข้ามาผสมเพิ่มไปด้วย

รู้สึกยังไงกับที่คนทรีตมันเป็นของตั้งโชว์ เอาโค้ดในแผ่นมาโหลดดิจิทัลไฟล์ฟังในมือถือ

ต๊อบ: อย่างน้อยก็มีแผ่นมาเก็บไว้ที่บ้าน จะเอาไฟล์ไปฟังในมือถือ บนรถ ก็ไม่ผิด สะดวก แต่การมีแผ่นผมถือว่ามันเป็นศิลปะที่จับต้องได้ ทุกวันนี้เราฟังสตรีมมิง มันก็แค่ฟังเข้าหูไป อันนี้ได้มานั่งจับ ดูอาร์ตเวิร์ก ดูเครดิตว่าใครเขียน

อ๊อฟ: ส่วนตัวเรามองว่าเทคโนโลยีมันดี เราชอบอะไร เราเป็นใคร ทำอะไรเราก็แยกแยะ มันดีหมดแหละ แต่แบบไหนมันดีสำหรับใคร คนสะดวกฟังในมือถือเพราะเขาฟังตอนวิ่ง บางคนเปิดเพลงมาทั้งชีวิต วันนึงอยากอยู่บ้านอยากลองเปิดเพลงด้วยไวนิล มันก็ได้ มันมีข้อดีของมันหมด ข้อไม่ดีของมันก็มี เพราะอะไรเราถึงไม่ชอบ ก็แค่ให้รู้ตรงนั้นไว้ พยายามมองทุกอย่างให้เป็นเหตุและผล มันจะดี

คิดว่ามีแนวโน้มที่คนจะกลับมาสนใจไวนิลเยอะขึ้นไหม

อ๊อฟ: มี เอาจริงคนสมัยนี้เห็นอะไรก็ตื่นเต้นหมด ไม่ว่าจะดีเจเปิดดิจิทัลหรือไวนิล เลยคิดว่าบางครั้งไม่ต้องพูด ไม่ต้องชวนด้วยซ้ำ แค่ทำให้ดู เดี๋ยววันนึงถ้าสนใจจริง ก็จะคลิกเอง อย่างประสบการณ์ตรงพี่เล่นอยู่ดี เด็กมาถาม เขายังไม่เคยซื้อแผ่น อยากเล่น แต่ไม่รู้จะยังไง พี่ก็จะแนะนำว่าไปลองฟังก่อน แนะนำร้านขาย เขามีเว็บไซต์นะ เราสอนจาก beginner ว่าซื้อเครื่องที่ถูกก่อน อย่าลงทุนเยอะ ให้รู้ก่อนว่าชอบไม่ชอบ แล้วจะซื้อแผ่นแพงเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีปัญหา เราจัดงาน Olympic Digger อยู่แล้ว ที่ Made by Legacy มันก็เป็นไวนิลเซ็ตอัพอยู่เรื่อย เข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้เลย

ต๊อบ: สิ่งที่อ๊อฟทำมันตอบคำถามก่อนหน้านี้เลย การจัดงานแบบนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้คนได้เห็นภาพว่ามีอะไรแบบนี้อยู่ โตขึ้นมาเดี๋ยวเขาจะเข้าไปเสพเอง

Strange Fruit

มีแหล่งไปคุ้ยแผ่นที่ไหน

อ๊อฟ: เมืองไทยก็มีบ้านของฝรั่งคนนึงชื่อบรูซ อีกคนคือ NANZIEE เขาเป็นอดีต Olympic Digger เปิดร้านชื่อ Vinyl Feeling – 45s WARS ขายแผ่น 45 ทั้ง soul funk hiphop r&b สายนี้จริง 4,000 แผ่น เทสต์พี่สุด นั่งอยู่ครึ่งวัน อีกที่ก็คือ Vinyl & Toys มันเปิด 24 ชั่วโมงด้วย ทุกวันนี้พยายามหักห้ามตัวเองไม่ให้ซื้อแผ่น ซื้อน้อยมาก ไม่เกินสิบแผ่นภายในสามเดือน บังคับให้เล่นแผ่นเดิมเพื่อฝึกตัวเองให้รู้จักแผ่นจริง ทำให้แผ่นมีค่า ไม่ใช่แค่ซื้อมาเก็บ พี่มองไปถึงมุมนั้นแล้วอะ เอามาแชร์ดีกว่า จะได้รักมันมากขึ้น 

ต๊อบ: ผมไป Vinyl & Toys อยู่แค่ประมาณสองลังก็ได้ของดีแล้ว แล้วก็ร้านแผ่นเสียงประดิพัทธ์ แล้วก็ 8Musique กับ Bungkumhouse Records ฝั่งตรงข้าม นั่นคือหลัก

อ๊อฟ: อีกทีพี่ชอบไป dig ต่างประเทศ มันจะได้อะไรที่นึกไม่ถึง ราคาก็ดี แล้ววิธีการจัดแผ่น การคลีนแผ่น มันน่าซื้อ เทสต์มันหลากหลายมาก มีเครื่องให้ฟังสี่มุม สี่แบบ ด้วยความ luxury ของสภาพร้าน แต่ไม่ได้ถูกและไม่ได้แพงจนเกินไป เหมือนบ้านคนแต่จัดมีระเบียบ มีห้องน้ำให้ อันนี้คือที่สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ ญี่ปุ่น ถ้าถามแพน (หทัยชนก อรรถบุรานนท์) จะบอกว่ายุโรป เพราะแผ่นมันเยอะ เต็มถนนไปหมด แผ่นละดอล

ต๊อบ: มีอีกที่นึงเคยไป มันแปลกมากที่ห้างในบาห์เรน (หัวเราะ) ในที่แปลก แบบนี้จะมีแผ่นเจ๋ง ที่คนไม่ค่อยสนใจอยู่เยอะมาก แล้วก็ Disc Union ที่ญี่ปุ่น ดีมาก

ทำยังไงให้การเปิดเพลงเดิม แผ่นเดิมไม่น่าเบื่อ

ต๊อบ: มันเล่าเรื่องใหม่ได้ วิธีของผม ตั้งแต่เมื่อก่อนที่ใช้แผ่นเสียงเปิดเพลง แผ่นที่จะใส่ในกระเป๋าแผ่นเสียงใบนึง มันใส่ได้ 30 แผ่น เพราะฉะนั้นต้องเปิดจบเพลงละ 3 นาทีโดยประมาณ และทั้งหมดกระเป๋านั้นจะได้ชั่วโมงเดียว เพราะงั้นเมื่อก่อนตอนผมเปิดแรก 5 ชั่วโมงในคืนเดียว จะทำยังไง เพลงต้องซ้ำอยู่แล้ว บางทีเราจะมาร์กเอาไว้ ว่าจะเข้าเพลงนี้ตรงกลางเพลง มันจะมาร์กไว้ได้ ใช้สติกเกอร์ แล้วมันจะเข้ากลางเพลงตรงนั้นพอดี กลับมาเปิดอีกที เปิดตั้งแต่ต้นเพลงจนจบเพลง แล้วก็เปลี่ยนไปเข้าอีกเพลงนึง สลับวิธีการเล่าเรื่อง

Strange Fruit

เดี๋ยวนี้ดูเหมือนใครจะเป็นดีเจก็ได้

ต๊อบ: ดีเจเดี๋ยวนี้เป็นง่ายจริง สมัยก่อนการเปิดเพลงก็ยากแล้ว เราจะมีเพลงมาเปิดไม่ได้หาง่าย เดี๋ยวนี้อุปกรณ์ก็หาง่าย สกิลที่จะต้องใช้ในการเปิดเพลงก็น้อยลง เมื่อก่อนคือการต้องฝึกนับห้อง นับจังหวะ หลายคนไม่รู้ความเร็วเพลง bpm เดี๋ยวนี้มันโชว์ในคอมพิวเตอร์ คีย์เพลงโชว์หมด โหลดเพลงฟรีด้วย ไม่ต้องซื้อแล้วเอามาเปิดหากินก็ทำกันเยอะ แต่ใครล่ะที่เป็นดีเจคุณภาพ และคนยอมรับจริง

มีไม่กี่คนนะ ที่จะทำให้เป็นคนโดดเด่นออกมาได้ ตรงนั้นยากกว่ากันมาก สำหรับผม อะไรที่วัดว่าใครเก่งกว่าใคร คือการทำให้เห็นว่าใครเปิดเพลงได้สนุกกว่า สมมติเรานั่งฟังดีเจที่ทำ mixtape ใครที่ทำเซ็ตนั้นแล้วคนโหลดไปฟังเยอะกว่า ทุกอย่างวัดกันด้วยตัวเลขแล้วเดี๋ยวนี้ แต่มันก็จะมีพวกส่วนน้อยอีก สมมติแบบที่อ๊อฟเจอพี่จูเนียร์อะ แบบพี่เขาโคตรเจ๋งเลย แต่เราจะไปหาแบบเขาดูได้ที่ไหน มันก็กลายเป็นว่าวัดไม่ได้หรือเปล่าว่าใครเจ๋งกว่าใครตรงไหน

อ๊อฟ: ถ้ามองให้เป็นกลาง สมมติพี่เป็นดีเจ พี่ต้องเปิดเพลงในงานนั้น แล้วพี่จะทำให้คนในงานสนุกได้ไหม แล้วคำว่าเก่ง ไม่เก่ง พี่วางไว้เสมอ เพราะเก่งไม่เก่งคือเรื่องนึง แต่ความรู้และการเอาคนดูอยู่ หน้างานในคืนนั้น เอาอยู่ไหม แต่ละคืนก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเปรียบเทียบดีเจสองคน คนนึงสแครช โยนแผ่นเก่ง แต่สุดท้ายคนไม่เต้น อีกคนเปิดทุกเพลง มิกซ์ต่อเนื่องธรรมดา แต่คนเต้นสนุก ทีนี้จะมองว่าใครเก่งกว่าล่ะ สำหรับพี่เลยมองว่า คุณ handle crowd ให้เขาสนุกกับเพลงได้ไหม บางครั้งเพลงสนุกไม่ใช่เพลงเร็วนะ อย่างคนจะร้องตามเพลง ใจนักเลง อะ นั่นคือสนุก หรืออยู่ดี เป็น Maroon 5 หรือ Can’t Take My Eyes Off Of You เวอร์ชันออริจินัล เพราะงั้นมันคือ knowledge ของคุณล้วน เลย

ต๊อบ: บางทีมันไม่สามารถวัดได้ บางทีคนนี้เก่งสำหรับเรา แล้วไอ้นี่ไม่เก่งเลย เพราะมันคือรูปวาด แล้วเราดูแล้วอาจจะรู้สึกว่า ทำไมมันแพงถึงห้าร้อยล้านได้วะ พอดูชื่อ อ๋อ ปิกัสโซ อีกอันสามร้อยล้าน กูไม่เห็นเก็ตเลย แต่จริง เป็นงานแวนโก๊ะงี้ ถ้าสมมติเราไม่รู้ล่ะว่าใครวาด เราจะรู้ไหมว่ามูลค่าของมันเหมาะสมกับราคานี้ไหม มันก็ขึ้นอยู่กับคนฟัง บางทีเราก็รู้สึกว่ารูปของนักวาดดัง มันไม่ควรแพงขนาดนั้น เพราะเราให้ value มันต่างกัน อย่างของดีเจอะ คือเอาให้คืนนั้นจบสวย นั่นคือเก่งแล้ว

อ๊อฟ: บางคนเก่งฮิปฮอปสุด แต่ให้ไปเปิดอย่างอื่น เปิดไม่ได้เลย เรียกว่าเก่งไหม หรืออย่างไปดูเขาเปิดฮิปฮอปอีกที จำได้ว่าเก่งมากเลย แต่คนดันไม่ฟังฮิปฮอป คนเอาดิสโก้ เอาเพลงไทย ก็กลายเป็นเขาไม่เก่งในคืนนั้นเลย เพราะงั้น ใครก็ได้ที่อยู่หลังบูธดีเจ แล้วทำให้คนหมู่มากเต้นได้มากกว่า จะเปิดเพลงเสี่ยวแค่ไหนและใครด่าก็แล้วแต่ แต่ถ้าคนหมู่มากสนุก เขาชนะ เพราะเขาถูกจ้างมาให้คนในงานสนุก แค่นี้เอง

Strange Fruit

ต่างกรรม ต่างวาระ

อ๊อฟ: ใช่ ก็ต้องดูอีกว่าเขาจ้างมาให้เราเล่นแบบไหน ลูกค้าอยากได้อะไร เราคือใคร และเราแปรตัวตนตัวเองเข้าไปได้ขนาดไหน บางงานถ้ารู้สึกฝืนมาก เปิดไม่ได้ ก็จะแนะนำคนอื่นให้เปิดแทนด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าเขาเหมาะกว่า ไม่ต้องเสียตัวเอง แต่บางทีอยากจะเรียนรู้ ท้าทายตัวเองก็ได้ แต่ก่อนพี่แอนดี้ EDM พี่ต้องไปเรียนรู้มัน ทุกวันนี้มันคือการ challenge ถ้าเราเอาชนะมันได้คือเจ๋งมาก หรือแบบเพลงนี้เรารู้สึกว่าเสี่ยว แล้วเขาขอ เราไม่เปิดให้เขา เราก็เสี่ยวเหมือนกันนะ

ต๊อบ: เพลงทุกเพลงมันต้องเป็นเพลงที่ดีในระดับนึง เขาถึงขอฟัง มันอาจจะแค่เราไม่ชอบหรือเปล่า

อ๊อฟ: ต้องมองให้เป็นกลาง เขาจ้างเรามาทำไม เราจะเก๊กใส่เขาไหม พี่มองการเป็นดีเจมันเป็นการบริการ เป็น entertainer ด้วย

ต๊อบ: เราไปเอนเตอร์เทน เราไม่ได้นำเสนอ แต่ถ้าเขาจ้างให้เราไปนำเสนอ เราค่อยไปซัดสิ่งที่เราชอบ ไปแชร์ให้เขาฟัง

อ๊อฟ: ตอนเป็นใหม่ พี่ก็มีกำแพง จะเปิดแต่เพลงคูล แต่สุดท้าย คูลมึง แต่ไม่คูลเขา กลายเป็นว่ามึงอะไม่คูลเลย ก็เลยกลับไปด่าตัวเอง เข้าใจให้ใหม่ ว่าดีเจคืออะไร แล้วคุณจะอยู่ในอาชีพนี้ด้วยความรัก ด้วยแพชชัน ด้วยหน้าที่ยังไงให้มีความสุข ไม่งั้นคุณจะทำร้ายเขาและจะทำลายตัวเอง มันสำคัญมาก เลย เข้าใจเขา เข้าใจเรา

อยากให้ Strange Fruit ไปถึงจุดไหน

ต๊อบ: อยากให้เป็นที่ที่คนพูดถึงในย่านแถว นี้ ว่าถ้าจะมาโซนนี้ต้องมาที่นี่ อยากให้เป็น community หรือบาร์ที่คนอยากจะฟังเพลงอะไรแบบนี้แล้วนึกถึง ให้พูดกันปากต่อปากไปได้

อ๊อฟ: เวลาไปเมืองนอก หรือใครมาเมืองไทย เขาจะถามหาบาร์ คลับ คุณอยากจะชิล อยากจะ explore แบบไหน พี่อยากเป็นหนึ่งในบาร์กรุงเทพ ที่ทุกคนที่อยู่ที่นี่จะแนะนำให้คนกลุ่มอย่างพี่ที่เล่นไวนิล สะสมแผ่น แล้วมองหาร้านแบบนี้อยู่ ก็ให้มาร้านนี้ เพราะเขาเปิดเพลงจากไวนิลกันจริง เขาไม่ใช่แค่มาวาง LP เฉย ถ้าคืนไหนเขาไม่เล่นไวนิล ก็เปิดเพลย์ลิสต์ แล้วก็จะมีเซอร์ไพรส์ จริง ทำกันมาแล้วครั้งนึง จะทำต่อเดือนนี้ ชื่อ Digital Thursday เขาจะคิดว่า ทำไมมึงเล่นแต่ไวนิล คนเขาไม่ได้เล่นไวนิลแต่อยากเป็นดีเจร้านเราเขาจะได้รู้สึกว่า แหกออกจากกฎ จะเอาเพื่อน คนที่ไม่เป็นดีเจ หรือเป็นดีเจอยู่แล้ว มาแจมกับเรา เอา USB มาเสียบได้เลย เป็นอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์ที่ออกจากความ strict จากไวนิลซักวันนึง

Strange Fruit

ความอินและจริงจังในสิ่งที่พวกเขาทำ ทำให้เราฟังเพลินจนลืมดูเวลา เอาเป็นว่าใครอยากมาลองจิบค็อกเทลง่าย ๆ ได้บรรยากาศแบบมาเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน และฟังเพลงที่เปิดจากไวนิลจริง ๆ ก็แวะมาที่ Strange Fruit ที่ซอยแจ่มจันทร์ ทองหล่อ 20 เอกมัย 21 ได้ แต่เข้าไปเช็กตารางกันก่อนได้ ที่นี่ ส่วนคืนนี้เราว่าจะแวะไปซักหน่อยเพราะเขามีดีเจเปิด hiphop, r&b แหละ ไว้มาชนแก้วกันได้ 😉

อ่านต่อ
Listening Bars เทรนด์ใหม่ของคนที่อยากจิบเหล้าเคล้าดนตรี (แบบจริงจัง)
‘นี่มันยุคของพวกเราแล้วเว่ย!’ สำรวจเพลงก่อนยุค 2020 — Bedroom Studio, Gen Z และหลายปัจจัยที่ทำให้แนวเพลงเปลี่ยนไป
Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้