The Sounds Between นิทรรศการศิลปะ ดนตรี ชวนหนีฝุ่นและความวุ่นวายไปสูดอากาศที่ป่ากลางเมือง
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Montipa Virojpan, Lalita Limpapoch and Parkpume Charoenviriya
ในวันที่ความแน่นหนาของฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพ ฯ เริ่มเข้าขั้นวิกฤตจนเริ่มหายใจไม่ออก เราเห็นค่าย Tomato Love Records ประกาศว่ากำลังจะมีเวิร์กช็อป The Sounds Between ที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ The Place Between แล้วเราก็ติดใจและเห็นด้วยกับคำกล่าวของ Keigo Torigoe ที่อยู่ในหน้าอีเวนต์ว่า
สุนทรียภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเสียงนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการฟังดนตรีเท่านั้น เสียงในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สุนทรียภาพให้กับชีวิต และเอาเข้าจริง ๆ แล้วเสียงในชีวิตประจำวันดูจะเป็นประสบการณ์ส่วนใหญ่ของผัสสะการได้ยินของมนุษย์
จากรายละเอียดของงานและองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นภายในวันนั้นทำให้เราตัดสินใจลงทะเบียนไปแบบไม่ต้องคิดมาก แม้จะไม่คุ้นเท่าไหร่ว่าสถานที่จัดงานในย่าน ‘บางกระเจ้า’ อยู่บนพิกัดไหนของแผนที่
The Place Between คือนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Among Others ที่อยากทดลองจัดงานขึ้น โดยชวนเพื่อน ๆ ศิลปินมาบอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางของการค้นหาตัวตนและความสงบสุขในขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ผ่านงานรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่จำกัด และเพื่อเป็นการได้กลับมาสำรวจตัวเองและสิ่งรอบ ๆ ใกล้ตัวอีกครั้งหลังจากที่มองข้ามไปเพราะถูกรบกวนโดยความวุ่นวายของโลก
คอนเซ็ปต์ที่พวกเขาต้องการจะนำเสนอเป็นอะไรที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการในทุกวันนี้ เพราะในแต่ละวันชีวิตเราวนอยู่กับตัวหนังสือ หน้าจอคอม มลพิษ รถติด คอนเสิร์ต และปาร์ตี้ ซึ่งถ้าเราต้องทำมันซ้ำ ๆ ในทุกวัน จากอะไรที่เราคุ้นชินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันมากจนเกินไปก็ทำให้เกิดอาการ ‘เฉา’ หรือ ‘หมดพลัง’ ขึ้นมาได้เหมือนกัน แล้วการที่เราเห็นว่าในงานนี้ก็จะมีกิจกรรม The Sounds Between ซึ่งเป็น soundwalk workshop ที่จะให้เราได้เดินสำรวจเสียงรอบ ๆ บางกระเจ้าเพื่อจะอัดและนำเสียงบรรยากาศพวกนั้นกลับมาทำเพลง ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ แม้ความรู้ทางทฤษฎีดนตรีเป็น 0 แต่เราก็อยากลองไปเรียนรู้และทำอะไรที่ไม่เคยทำ เผื่อว่าจะได้พบอะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยเติมไฟให้เราได้บ้าง
โดยก่อนจะได้เวิร์กช็อป ทีม Tomato Love Records ก็ให้เราเข้าไปลงทะเบียน เพราะเขาจำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 12 คนเท่านั้น แล้วโชคดีเหลือเกินที่เราก็สมัครทันและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม (ปรากฏว่าเห็นรายชื่อคนที่ผ่านการคัดเลือกนี่คือมีเพื่อนที่สนิทกันต่างคนต่างสมัครเข้าไปโดยไม่ได้นัดหมายอยู่หลายคน) เมื่อเราได้รับโทรศัพท์ยืนยันสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมจากทีมงาน และอีเมลแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ ของเวิร์กช็อปและการเดินทางมายัง Hiddenwoods สถานที่จัดงานในครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็ตื่นเต้นมาก อยากให้เช้าวันเสาร์มาถึงเร็ว ๆ
23 กุมภาพันธ์ 2562
ไม่คิดว่าความตื่นเต้นจะทำให้เรากะเวลาผิดไปหมด! เวิร์กช็อปเปิดให้ลงทะเบียนตอน 10 โมง และเราจะเริ่มบรรยายตอน 11 โมง แต่เวลาที่กำลังอ้อยอิ่งอยู่นั้นคือ 9 โมงนิด ๆ แล้วววว เรารีบพุ่งออกจากบ้านและขึ้น BTS หมอชิตไปลงสถานีบางนา พอถึงก็เป็นเวลาใกล้ 11 โมงแล้ว ว่าจะต่อมอเตอร์ไซค์วินให้ไว ๆ แต่ดันไม่มีสักคัน!!! เลยต้องโบกแท็กซี่แทน ดีที่รถไม่ติดมาก พอถึงท่าเรือหน้าวัดบางนานอก ก็เจอป้ายที่ให้ขึ้นเรือข้ามฟากไป Hiddenwoods ตอนแรกเห็นฝรั่งสองคนเดินสวนมาหน้าหวาด ๆ ก็งงว่ามีอะไร ลุงที่ท่าก็ถามเราว่า ไปร้านอาหารใช่ไหม เนี่ย 30 บาท เราก็คิดว่า น่าจะใช่แหละ แต่ทำไมไม่เห็นเรือข้ามฟากลำใหญ่ ๆ เลยหว่า แต่มีคุณลุงอีกคนนั่งเงียบ ๆ อยู่ด้วย แล้วลุงคนแรกก็พูดขึ้นมาว่า ฝรั่งกลัวเรือเล็ก เขาไม่เคยขึ้น ตอนนั้นความรีบและแพนิกของเราทำให้จับต้นชนปลายยังไม่ถูก แล้วพอเขาบอกให้จ่ายเงินให้ลุงอีกคน 30 บาท เราก็แอบงงว่า เอ้า ไปได้เลยหรอ ไม่เห็นมีเรือจอด ปรากฏว่า ลุงที่นั่งเงียบลุกขึ้น เดินนำไปตรงโป๊ะ แล้วปีนลงไปยังเรือเล็ก ๆ ของลุงที่จอดอยู่ใต้ท่าเรือ เราเห็นแล้วก็ช็อปไปแปป คือเรือเล็กมากกกกก จริง ไม่แปลกที่ฝรั่งจะกลัวเพราะเราก็กลัว! แต่จุดนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว กลัวไปไม่ทันฟังบรรยายมาก โดดลงเรือแล้วลุงก็จัดสปีดโบ๊ต fast and furious ยิ่งกว่าโทเร็ตโต ความเร็วมันก็แรงพอที่จะให้เรือที่มีผู้โดยสารเพียงสองคนมันเบาจนกระทบคลื่นแต่ละลูกแบบรุนแรง (ไม่เคยต้องนั่งเรือแล้วเกาะกาบเรือแน่นขนาดนี้) น้ำกระเซ็นเข้าหน้าหนูไปหมดแล้วลุ้งงงงง
แต่ความรวดเร็วทันใจสุด ๆ มาถึง Hiddenwoods ตอนสิบเอ็ดโมงนิด ๆ วิ่งไปลงทะเบียน แล้วเจอคุณน็อต Lab 5 Soundworks ถามว่าทำไมโผล่มาจากทางนั้น …คือทางที่เราเดินมาเขามีไม้กั้นห้ามผ่าน แต่เราก็ไม่รู้จะเดินยังไงต่อเพราะก็ขึ้นเรือมาจากทางนั้น เลยต้องข้ามมา… ก็บอกพี่เขาไปงี้ ก็ได้ความว่า อ้อ ฉันมาเรือคนละลำกับชาวบ้าน แต่เอานะ มาถึงแล้ว รีบซื้อกาแฟแล้วเข้าไปนั่งฟังบรรยายได้ทันเวลาแบบฉิวเฉียด
เล็กเชอร์ในวันนี้เป็นไปอย่างกันเองมาก ๆ เพราะคนที่บรรยายไม่ใช่ใครที่ไหนแต่คือเต๊นท์ Summer Dress / Game of Sounds ที่ถ้าใครติดตามเขามาในระดับหนึ่งจะพอทราบว่าเขาเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีโปรเจกต์เดี่ยวที่ทำเป็นดนตรีแอมเบียนต์ ซึ่งทีแรกเรากลัวว่าการบรรยายในวันนี้จะต้องมึนตึ๊บไปด้วยศัพท์เทคนิค แต่เอาเข้าจริงแล้วเขาก็อุตส่าห์เลี่ยงสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ส่วนตัวเราเองก็ตั้งใจเรียนเป็นพิเศษเพราะคิดถึงบรรยากาศในคลาสเล็กเชอร์มหาลัย (กะจะเอาท็อปเซคไปเลยงี้) ซึ่งเราก็เอาเนื้อหาเท่าที่จดได้มาเล่าให้อ่านกัน
เต๊นท์เริ่มอธิบายหัวใจสำคัญของเวิร์กช็อปนี้นั่นคือการสำรวจ ‘soundscape’ ปกติเราจะได้ยินคำว่า ‘landscape’ ซึ่งคือภูมิทัศน์ พื้นที่ ธรรมชาติ สิ่งของที่เห็นรอบ ๆ ตัวเรา แต่พอเป็น soundscape มันก็จะหมายถึงเสียงที่มีผลกับพื้นที่รอบ ๆ เรานั่นเอง (ตอนนั้นเราก็แอบแซวว่า Soundscape ไม่ใช่ชื่อเพลงของวง Summer Dress หรอกหรอ ฮา) แล้วเขาก็เล่าต่อว่า R. Murray Schafer ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘The Tuning of the World’ เป็นทั้งนักประพันธ์เพลงและนักสิ่งแวดล้อม ได้ไปลองนั่งฟังเสียงในเขตพื้นที่ British Columbia และทำสำรวจว่าเขาได้ยินเสียงของสิ่งมีชีวิตว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนไหน ฤดูกาลไหน หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา ทำให้พบว่าในแต่ละยุคสมัย การเกิดเสียงต่าง ๆ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการของพื้นที่นั้น ๆ อย่างถ้าสมมติยุคที่ยังเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ สิ่งที่เราได้ยินก็อาจจะเป็นเสียงลำธารที่ไหลผ่าน หรือเสียงลมในทุ่ง แต่พอเกิดสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ขึ้นมา เกิดวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เราก็จะได้ยินเสียงของคนใช้ชีวิต เสียงเครื่องจักร เสียงการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น
Soundscape ก็สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ นั่นคือ referential listening และ reflective listening โดยแบบแรกคือการฟังเสียงรอบตัวเพื่อหาความสัมพันธ์กับสภาพความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งความน่าสนใจของการฟังแบบนี้จะทำให้ได้สังเกตว่า ยุคหนึ่งในอดีตที่เสียงของพื้นที่นั้นมีลักษณะแบบนี้ ในปัจจุบันเสียงที่ได้ยินในพื้นที่นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม ซึ่งหลายครั้งผลการศึกษาก็ทำให้พบว่า ‘เสียงมีการเปลี่ยนผ่าน’
ส่วนอย่างหลังคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวิร์กช็อปวันนี้ นั่นคือการฟังเสียงรอบตัวสามารถสะท้อนความเป็นตัวตน หรือความรู้สึกของเราได้อย่างไรบ้าง ส่วนมากอาจใช้ฟังเพื่อความสำราญใจ หรือเพื่อทำให้เกิดความพึงพอใจ เช่น บางคนอาจจะชอบบรรยากาศการทำงานในร้านกาแฟ บางคนชอบที่จะฟังเสียงคลื่น หรือบางคนก็หยิบเสียงนั้นมาตีความใหม่เพื่อความสุนทรีย์ อย่างบีโธเฟ่น นักประพันธ์ก้องโลก เคยแต่งซิมโฟนีชิ้นหนึ่งขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากเมโลดี้ของเสียงนกร้อง
จากแนวคิดด้านบนนี้ ได้ทำให้ Schafer ได้ตั้งกลุ่มศึกษา soundscape ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ‘The World Soundscape Project’ ที่เขาและทีมจะพากันออกเดินเพื่อสำรวจเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในทีมนี้ก็มี Hildegard Westerkamp เป็นผู้ริเริ่มการ soundwalk หรือการเดินในระยะสั้นเพื่อเปิดมิติการได้ยินของหู รับฟังสภาพแวดล้อมเพื่อให้ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา โดยเธอเคยกล่าวว่า ‘เราจะมีประสบการณ์โดยตรงกับเสียงรอบตัว และมันจะสอดคล้องกับตัวเราเป็นเวลานาน’ ซึ่งเต๊นท์ก็เสริมว่าเวลาที่เราลองบันทึกเสียงบางอย่างเอาไว้แล้วกลับมาเปิดฟัง เราจะสามารถนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นได้ไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับตอนที่เราถ่ายภาพแล้วย้อนกลับมาดูนั่นแหละ
ขั้นตอนการ soundwalk ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เริ่มจากการฟังเสียงตัวเองซึ่งเป็นเสียงที่ใกล้ตัวเราที่สุด เสียงเรานี่แหละที่เป็นบทสนทนาแรกกับสภาพแวดล้อมภายนอก อย่างเสียงที่เราเคลื่อนไหวร่างกาย การหายใจ หรือการเดินเหยียบก้อนกรวดก็ตาม เราจะใช้เสียงที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อปรับไม่ให้ทำเสียงดังหรือเบาจนเกินไปที่จะไปขัดกับเสียงที่มีอยู่แล้วในละแวกนั้น เพราะการทำ soundwalk เสียงของเราจะเป็น dialogue ที่มีผลมากกับพื้นที่ที่เรากำลังจะเข้าไป คนที่อยู่แถวนั้นอาจจะทำเสียงแบบหนึ่งอยู่ แต่พอเราเข้าไปเขาอาจจะเปลี่ยนไปทำเสียงอีกแบบก็ได้ (อย่างนี้เหมือนเวลาคุยกับเพื่อนเสียงแบบนึง แล้วอยู่กับแฟนเปลี่ยนไปใช้เสียงสองหรือเปล่านะ?) ดังนั้นหัวใจของการทำ soundwalk คือการตั้งใจฟังสิ่งรอบ ๆ มองหา aural perspective หรือมิติของเสียง (สูง ต่ำ สั้น ยาว ใกล้ ไกล) แล้วดูว่าเสียงไหนที่เราสนใจหรือดึงดูดเราเป็นพิเศษ
จากนั้นเต๊นท์ก็ลองเปิดเสียงแบบต่าง ๆ ให้เราได้ลองฟัง ไปจนถึงอธิบายการบันทึกเสียงด้วยฟอร์แมตต่าง ๆ ว่าไฟล์ลักษณะไหนเหมาะจะไปใช้กับงานแบบใด และแนะนำเครื่องมือในการทำ soundwalk และ field recording เบื้องต้น ปกติเราจะใช้เครื่องอัดเสียง หูฟัง ด้ามจับ แบตเตอร์รี ที่กันลมไว้ครอบหัวไมค์ที่อัดอีกที แต่ถ้าไม่สามารถหาเครื่องอัดได้ก็ใช้โทรศัพท์มือถือได้ นอกจากนั้นก็เป็นเทคนิคต่าง ๆ ในการอัด การตั้งค่าเครื่องมือ และข้อควรระวังต่าง ๆ หลังจากนั้นเราจะนำเสียงที่อัดได้มาประพันธ์ใหม่ โดยการเขียนเพลงขึ้นมาก็เป็นการตีความใหม่เสียงนั้น ๆ ทั้งในแง่ของการอธิบายลักษณะพื้นที่ที่ลงไปสำรวจ อารมณ์ การให้ความหมาย หรือจะทำออกมาให้ฟังยาก/ง่าย ก็ตามแต่จุดประสงค์ของผู้ประพันธ์ ในที่นี้เต๊นท์ยกตัวอย่างงานของ Westerkamp ว่าเธอทำผลงานชื่อ Into the Labyrinth ขึ้นมา เป็นงานที่เธอนำเสียงบรรยากาศในอินเดียที่อัดไว้มาเรียบเรียงใหม่ โดยเธอรู้สึกว่าการไปอยู่ที่อินเดียซึ่งเป็นสถานที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคยทั้งผู้คนและภาษา ทำให้เธอเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในเขาวงกตอันน่าพิศวง
ส่วนงานของเต๊นท์เองเป็นงานชื่อ Welcome to Bangkok จาก EP Bangkok Noise ที่เขาอยากหยิบมลภาวะทางเสียงซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของเมืองมาบอกเล่าความเป็นกรุงเทพ ฯ ผ่านการเรียบเรียงโดยใช้สุนทรียศาสตร์
เต๊นท์ได้อธิบายการใช้โปรแกรมการทำเพลงเบื้องต้น (ในที่นี้ใช้ Logic Pro กับ Garage Band) และสอนการเลือกวิธีที่จะเขียนเพลงเพลงนึงขึ้นมา หลังจากจบการบรรยาย ทุกคนที่เข้าอบรมก็ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่ม เพื่อเดินไปยังสามเส้นทางรอบ ๆ บางกระเจ้าและตลาดบางน้ำผึ้ง หลังจากนั้นทุกคนต้องนำเสียงที่บันทึกได้มาช่วยกันเรียบเรียงออกมาเป็นเพลงภายใต้โจทย์ ‘เรื่องระหว่างทาง’ ก่อนแยกกันเต๊นท์ก็ย้ำให้พวกเราลองบันทึกเสียงตั้งแต่ก้าวออกไปเป็นเวลาสิบนาที เพื่อให้ฝึกการโฟกัสเสียงที่จะได้ยิน หลังจากนั้นก็เลือกบันทึกเฉพาะเสียงที่สนใจได้
เราออกจากห้องเวิร์กช็อปตอนประมาณบ่ายโมงนิด ๆ สวมหูฟัง แล้วเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ ตั้งใจฟังเสียงที่ได้ยินผ่านไมโครโฟนของเครื่องอัด สารพันเสียงตีกันว้าวุ่นในโสตประสาท รวมถึงอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวทำให้เราต้องตั้งสมาธิพอสมควร เราได้ยินเสียงฝีเท้าของตัวเอง ฝีเท้าของเพื่อนในทีม เสียงคลื่นกระทบตอไม้ เสียงเรือยนต์วิ่งหึ่งอยู่ไกล ๆ เสียงนกร้อง เสียงลมพัดให้ใบไม้เสียดสีกัน จนเรามาหยุดอยู่ตรงกอไผ่สูงใหญ่กอหนึ่ง และเราถูกเสียงโอนเอนออดแอดของมันดึงดูด การเคลื่อนไหวเอื่อย ๆ ราวกับจะล้มลง แล้วกระทบกับไผ่อีกลำ แล้วเอนกลับสลับไปมาช้า ๆ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกของความไม่แข็งแกร่งมั่นคง แต่ยังต้องยืนหยัดอยู่เพราะโครงสร้างของตัวมันก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะผุพัง
จากนั้นเราก็ออกเดินต่อ ได้ยินเสียงเบรกและเสียงล้อจักรยานของนักท่องเที่ยว เสียงเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ เสียงโทรทัศน์ในบ้านของชาวบ้านละแวกนั้น เสียงเด็ก ๆ วิ่งเล่นกัน จนมายังตลาดบางน้ำผึ้ง เราได้ยินเสียงโฆษกพูดประชาสัมพันธ์ให้ทำบุญ เสียงแม่ค้าเร่ขายของ เสียงระฆังลมในร้านขายโมบาย เสียงเครื่องปั่นน้ำผลไม้ เสียงเครื่องคั่วถั่ว เสียงปลาดำผุดดำว่ายในบ่อ ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาจับจ้องเรากับท่าทีประหลาดที่ถือเครื่องอัดยื่นไปทางซ้ายทีขวาที ยอมรับว่าทำให้เสียสมาธิไปจากสิ่งที่ฟังอยู่บ้าง แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เราต้องโฟกัสกับเสียงที่เราต้องการจะอัดมากขึ้น ตอนนั้นเราก็นึกถึงสิ่งที่เต๊นท์พูดก่อนที่เราจะออกมาจากห้องเวิร์กช็อปอีกครั้งว่า “ที่เราอยากให้ทุกคนได้รู้คือ จริง ๆ แล้วบางกระเจ้าก็ไม่ได้สงบขนาดนั้น มันมีธรรมชาติก็จริง แต่ถ้าเดินเข้าไปในเขตชุมชนหรือในตลาดก็จะพบว่ามันยังมีความวุ่นวายอยู่ดี” มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
พวกเรากลับมาถึงที่เวิร์กช็อปประมาณสองโมงครึ่ง มีเวลาประมาณ 40 นาทีในการเอาสิ่งที่อัดมาได้ของแต่ละคนมาปะติดปะต่อเป็นเพลงความยาวขั้นต่ำ 1 นาที ก่อนอื่นก็เริ่มคุยกันถึงคอนเซ็ปต์ว่าอยากจะทำเพลงแบบไหนจะทำให้เป็นงานทดลอง เน้นเอาเสียงบรรยากาศที่อัดมาได้มาเป็นส่วนประกอบของดนตรีอย่างการทำบีต หรือทำนอง หรือจะใช้มันถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างออกมา พวกเราสรุปได้ความว่าจะเล่าเรื่อง ‘การใช้ชีวิตของคนที่ต้องอยู่ร่วมกับทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น’ โดยเราจะเขียนออกมาเป็นเพลงที่ผสมผสานระหว่างบีตของเครื่องจักร คลื่นน้ำ กับแอมเบียนต์ธรรมชาติที่พอจะเป็นเมโลดี้ได้ เริ่มเล่าเรื่องจากการทำสิ่งซ้ำ ๆ จนรู้สึกถึงความตึงเครียด วุ่นวาย เหนื่อยหน่ายกับระบบ และต้องการหาทางออกไปสู่ธรรมชาติอันสงบสุขอีกครั้ง ด้วยความคิดเท่านี้ก็ดึงเอาพวกเราหัวหมุนกันไปหลายตลบเพราะต่างคนต่างมีภาพในหัวไม่เหมือนกัน และด้วยเวลาเพียงเท่านั้นทำให้ไม่สามารถสำรวจ source ที่ทุกคนมีได้ครบถ้วน แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็นงาน industrial ที่ใช้ได้ทีเดียว ต้องขอบคุณบุ๊ค สต๊าฟประจำทีมเราที่สามารถตัดแปะวัตถุดิบของพวกเราได้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ขนาดนี้ (ถ้าไม่มีน้องพวกพี่ตายแน่ อ๊อก)
เมื่อทุกคนทำเพลงของตัวเองเสร็จแล้ว แต่ละกลุ่มก็ได้ออกมานำเสนอคอนเซ็ปต์และผลงาน ซึ่งแต่ละทีมก็มีไอเดียการเล่าที่ต่างกันไป รวมถึงเสียงที่บันทึกมาแม้จะเป็นเสียงจากละแวกเดียวกัน แต่ด้วยเวลาที่บันทึก หรือเสียงที่แต่ละคนสนใจก็แทบจะต่างกันทั้งสิ้น รูปแบบการเรียบเรียงเพลงก็ไม่เหมือนกันแม้แต่นิดเดียว ยิ่งเป็นการยืนยันทฤษฎีที่เต๊นท์เล่าไปตอนต้นว่า ‘แม้ทุกคนจะอัดเสียงมาจากที่เดียวกัน แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เสียงที่อัดมานั้นจะมีลักษณะตรงกันทุกประการ’ และช่วงท้ายสุดของเวิร์กช็อป เต๊นท์ก็สรุปให้พวกเราฟังว่า จริง ๆ แล้วจุดประสงค์ของเวิร์กช็อป The Sounds Between นี้ก็เพื่อให้เราที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกวุ่นวาย มีการเปลี่ยนแปลง และถูกปลูกฝังให้ต้องแข่งขันกับระบบ ได้หันกลับมาตั้งใจฟังสิ่งใกล้ตัวที่เรามักจะมองข้าม และเราก็จะพบกับความสงบภายใน ซึ่งหลังจากที่เราผ่านการเวิร์กช็อปนี้แล้ว มันก็เป็นอย่างที่เขาว่าจริง ๆ (ตอน soundwalk เนี่ยใช่ แต่ตอนคิดว่าจะเขียนเพลงออกมายังไง อันนี้เค้นหัวแทบจะระเบิดเลยจ้า ฮือ)
ตอนเวลาประมาณสี่โมงครึ่ง แดดร่มลมตกพอดี ก็เป็นช่วงแสดงดนตรีแอมเบียนต์จากศิลปินที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ทั้ง Flower Dog หรือโปรเจกต์เดี่ยวของแนท มือกีตาร์ Summer Dress ร่วมกับ ณป่าน มือกีตาร์ Hariguem Zaboy และเต๊นท์ กับน็อต มาเป็นดูโอ้โมดูลซินธิไซเซอร์ในชื่อ Tomato Lab 5 เพลงของพวกเขามีทั้งการบรรเลงกีตาร์ฟังสบาย เล่นออกมาเป็นโน้ตโดด ๆ สอดประสานซินธ์ล่องลอย ไปจนถึงการทำ looping guitar ผสมกับแอมเบียนต์ที่ให้ความรู้สึกเป็นเลเยอร์ของเสียงหนา ๆ มีทั้งเสียงน้ำผ่อนคลาย ไปจนถึงพาร์ตที่ให้ความรู้สึกตึงเครียด พิศวง ราวกับล่องลอยอยู่ในอวกาศไร้การควบคุม บางช่วงก็มีการใส่เสียงบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างพวกเขา นัดหมายว่าจะไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ เป็นการเรียบเรียงเพลงที่เหมือนจะอิมโพรไวส์ แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาน่าจะออกแบบโชว์มาแล้วประมาณนึง ซึ่งสำหรับเราแล้วโชว์ในวันนั้นก็หลากอารมณ์ ครบรส ทว่าเข้ากับบรรยากาศของสถานที่ และผู้ชมเองก็ตั้งใจฟังพวกเขามากทีเดียว
จบจากการแสดงนี้ไปแล้วก็ต้องพักรอการแสดงต่อไปเซ็ตเครื่องไม้เครื่องมือกันก่อน เราเลยลุกไปดูนิทรรศการอีกส่วนของ The Place Between ที่เป็นการนำเสนองานศิลปะไม่จำกัดรูปแบบของศิลปิน illustrator ที่มาทั้งแบบภาพวาด เพนติ้ง ประติมากรรม ซึ่งน่าสนใจและนำเสนอตัวตนของแต่ละคนได้ดีมาก
จนเวลาเกือบหกโมง ก็เป็น session ดนตรีสดของวงดนตรีที่กำลังน่าจับตามองมาก ๆ แบบที่พูดชื่อแล้วทุกคนต้องร้องอ๋อ เริ่มกันที่วงน้องใหม่ไฟแรง แต่ปุปับก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 15 นั่นคือ Soft Pine แต่วันนี้เมี่ยงมือเบสไม่มาเพราะติดสอบทำให้ได้เพื่อนอีกคนมาเล่นแทน เปิดมาด้วยอินโทรสุดนุ่มละมุนกับซาวด์กีตาร์น่ารักให้เราได้ปรับหูจากโชว์แอมเบียนต์ที่แล้วเข้าสู่ความมีจังหวะจะโคนบ้าง ต่อด้วยเพลงกีตาร์ย้วย เบสหนุบหนับอย่าง Morning และเพลงทำนองน่ารัก เนื้อหาเศร้า ใน Lido แต่บอกเลยว่าทุกคนจะติดใจลิกกีตาร์ แต่วแน้ว ๆ ของเพลงนี้แน่ ๆ เพราะเป็นจังหวะโจ๊ะ ๆ แต่ยังฟังสบายตามสไตล์อินดี้ป๊อป และโซโล่ก็น่ารักมาก จบเพลงนี้ เอ๊กซ์ ฟรอนต์แมนกล่าวขอบคุณ “แต่ยังไม่จบครับ อยากพูดเฉย ๆ” จากคนขี้อายกลายเป็นกวนขึ้นมาซะงั้น เขาเล่าว่านี่เป็นงานแรกของ Tomato Love Records ที่จัดขึ้นร่วมกับ Among Others และเล่าส่วนต่าง ๆ ภายในงาน จากนั้นก็แซวไวกิ้ง มือกีตาร์และคีย์บอร์ดว่ามีอะไรจะพูดหรือเปล่า เห็นกระซิบ ๆ อยู่ ไวกิ้งเลยบอกว่า “เพลงต่อไปชื่อ เผลอนอนต่อ” ได้เวลาของเพลงแรกที่พวกเขาปล่อยออกมาและทำให้หลายคนโดนตกไปตาม ๆ กัน ก็เนื้อหาเพลงตรงใจวัยรุ่นขนาดนั้น แล้วต่อด้วยเพลงบรรเลง My Sweet Egg เล่นกีตาร์สลับคอร์ดกุ๊งกิ๊ง แต่บีตท่อนฮุกหนักแน่นดีมาก แล้วอยู่ดี ๆ พวกเขาก็ดึงย้วยเล่นช้ากว่าปกติ อยากเอนหลังเลยค้าบ ส่วนช่วงท้ายเพลงเอ๊กซ์ก็สลับมาใช้เอฟเฟกต์อีกตัวให้เสียงสดใสกว่าเดิม และปิดท้ายด้วยซิงเกิ้ลใหม่ที่พวกเขาเพิ่งปล่อย Indoor Plant ซึ่งช่วงอินโทรก็จัดเป็นแอมเบียนต์ที่เพลินมาก ตอนขึ้นเวิร์สนี่ยังคงความย้วยได้อย่างดี และเราก็พบว่าเพลงนี้เมื่อถูกนำมาเล่นที่ Hiddenwoods แล้วคือเข้ากับบรรยากาศมากจริง ๆ
เมื่อวงแรกแสดงจบไป แจน—ณัฐนิช โรจนถาวร หนึ่งในตัวแทนของ Among Others ผู้จัดงานก็ออกมาเล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดนิทรรศการนี้ เธอเล่าว่าตั้งแต่ที่เธอและเพื่อน ๆ เรียนจบด้านศิลปะมาก็ยังไม่เคยได้ทำงานด้านนี้เลย และเนื่องจากรู้จักกับเจ้าของสถานที่และเห็นพื้นที่นี้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างใหม่ ๆ ก็คิดไว้ว่าถ้ามีโอกาสได้ทำอะไรสักอย่างกับพื้นที่นี้ก็คงจะดี ซึ่งสิ่งที่เธอทำก็ตรงกับจุดประสงค์ของนิทรรศการที่อยากให้ทุกคนได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง ได้ลองใช้ความคิด หรือได้พักจากสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันอย่างเช่นงานประจำ มาเจออะไรแปลกใหม่ในพื้นที่ว่างแห่งนี้ นี่แหละคือ The Place Between
เวลาประมาณ 6.45 ก็ถึงคิวของวงป๊อป Folk9 ที่เพิ่งมีงานเปิดอัลบั้มเต็มชุดที่สองไปเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเราเสียดายมาก ๆ ที่พลาดงานครั้งนั้นเพราะจัดชนกับอีกงานนึง ดังนั้นนี่จะเป็นครั้งแรกที่เราได้มาฟังงานใหม่ในอัลบั้ม Chinese Banquet ของพวกเขาแบบสด ๆ เริ่มกันที่เพลงแรกที่แค่ขึ้นอินโทรซาวด์จีน ๆ มาก็ต้องรู้เลยว่านี่คือ แว่นกันแดด อย่างแน่นอน จะบอกว่ามีช่วงนึงที่เพลงนี้ติดอยู่ในหัวเราไปทั้งวัน และในวันนี้ก็มีผู้ชมบางคนสามารถร้องตามได้ เสียดายที่ไลน์กีตาร์เด่น ๆ ของเพลงในโชว์นี้เบาไปหน่อย ส่วนเพลงต่อไปก็ยังมีความจีนอยู่ด้วยซาวด์ของคีย์บอร์ด ซึ่งแต่เดิมพัดเป็นคนเล่นกีตาร์ ก็ย้ายไปเล่นตำแหน่งนั้นแทน และได้เอ๊กซ์ Soft Pine มาเล่นกีตาร์แทนเขา นี่คือเพลง The Waiter ที่เป็นเพลงจังหวะสนุก ๆ ภาษาอังกฤษที่น่าเอ็นดูเสียเหลือเกิน จบเพลงนี้ กราฟ ฟรอนต์แมนบอกว่าพวกเขาจะเล่นเพลงจากอัลบั้มใหม่ทั้งหมด เพลงต่อไปก็เลยเป็น เงือก เพลงช้า ๆ ฟังแล้วพาซึม เหมือนพวกเขากำลังเล่าเรื่องเปรียบเทียบผู้หญิงคนนึงที่ดูจะไม่เปิดใจกับเขาขนาดนั้น ว่าเหมือนนางเงือกที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษ ไม่เหมือนใคร แต่ก็มีความลึกลับ ระหว่างที่กำลังฉงนในความพิศวงของเธอ เราอาจจะไม่รู้ตัวในวันที่เธอหายไปจากชีวิตเรา และถ้าเราพยายามตามหาเธอก็คงจะหาไม่พบ เพลงนี้มีความเป็นแจ๊สที่รื่นรมย์อยู่ในช่วงโซโล่ซึ่งเราชอบมาก ต่อกันด้วยเพลงนุ่ม ๆ เซ็กซี่ ๆ อย่าง Kiss ที่เมโลดี้กีตาร์ย้วย ๆ ในเพลงดีงามเหลือเกิน คีย์บอร์ดก็น่ารักมาก ๆ และตามด้วยเพลงโปรดของเราในอัลบั้มนี้นั่นคือ Plant มาเป็นจังหวะดิสโก้เท่ ๆ แต่มีซาวด์ซินธ์ขี้เล่น กุ่งกุงกุ๊งกุงกุง เหมือนเป็นเพลงประกอบวิดิทัศน์การสอนปลูกต้นไม้ ตามด้วยเพลง Romantic Scene และ Erotic Scene ตามลำดับ เอ้อ พอฟังเพลงอัลบั้มนี้แล้วก็รู้สึกว่ากลมกล่อมและชัดเจนในแนวทางของชุดใหม่นี้ดีจังเลย
แล้วก็ถึงเวลาของวงสุดท้ายในงานนี้อย่าง Supergoods ซึ่งในโชว์นี้เห็นว่าพวกเขาไม่มีมือคีย์บอร์ด เราก็นึกสงสัยแล้วว่าจะทำโชว์ออกมาแบบไหน เพราะทุกทีที่ได้ดูวงนี้จะมีความกรูฟโซลชัดมากก็เพราะคีย์บอร์ดเนี่ยแหละ เปิดมาด้วยเพลงแรกในเวลาทุ่มครึ่งกับ Come Rain or Come Shine เพลงจังหวะสนุก ๆ ที่เราชอบมาก ๆ ของพวกเขา ซึ่งพอไม่มีคีย์บอร์ดแล้วก็ไม่ชินจริง ๆ แต่ก็เพราะดีไปอีกแบบ ต่อด้วยเพลง Blue Dream เพลงแรกที่พวกเขาปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการ ถูกเอาไปรีอะเรนจ์จนหวานขึ้นมาก ซึ่งเราชอบเวอร์ชันนี้จัง มันดูไม่ระทมแบบออริจินัล แต่เป็นอะไรที่ชวนฝัน คืออันนั้นจะเหมือนแบบ ฉันตื่นขึ้นมาแล้วพบว่านั่นคือความฝันนะ ไม่อยากตื่นเลย เซ็งจังวะ แต่อันใหม่นี่คือฝันเมื่อคืนดีจัง คงจะดีนะถ้าได้ฝันต่อ คือความเข้มข้นในความรู้สึกจะต่างกันประมาณยึง และเวอร์ชันที่เล่นสดที่งานนี้ก็ทำเอาเราร้องไห้ไปเลย ตอนท้ายเกิดการอัพบีตขึ้นมาได้เท่มาก มีท่อนอิมโพรไวส์ร้องว่า ‘แม้แต่นอนหรือหลับตา ทุกครั้งเห็นภาพเธอ’ คือดีมากกก ไม่ไหวแล้วววว จากนั้นพวกเขาก็คัฟเวอร์เพลง Please ของอะตอมได้ละมุนมาก ตามด้วยงานจากตะแม่ Sade ใน Love is Stronger Than Pride เสียงของมาย นักร้องนำคือสะกดเราไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงจังหวะกลองในเพลงนี้ก็โดดเด่นเอามาก ๆ และส่งท้ายงานในค่ำคืนนี้ไปด้วย Bye Bye ซิงเกิ้ลล่าสุดที่ปล่อยออกมา มายบอกเรื่องราวในเพลงนี้คร่าว ๆ ประมาณว่าความสัมพันธ์อะไรที่ไม่ดีก็ให้ตัดทิ้งไปซะ เลือกอะไรที่มัน sparks joy เราดีกว่า ซึ่งเพลงนี้ก็หยิบมารีอะเรนจ์เป็นเพลงนุ่ม ๆ ที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ คือสน็อปกับเอิมมือกีตาร์ได้มาช่วยกันคอรัสด้วย (ก็เพราะว่าไม่มีคีย์บอร์ดก็ต้องหาทางลงกันเด้อ) แล้วมีท่อนหลังโซโล่ที่ขึ้นผิดจังหวะ แต่วงก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เนียนมากแบบถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่าขึ้นผิดท่อน เนียนขนาดนี้คือเซียนแล้ว ส่วนช่วงหลัง ๆ ของเพลงก็เปลี่ยนสไตล์เพลงมาเป็นประมาณดรีมป๊อปจนเราเหวอไปเลย ยิ่งช่วงท้ายสุดก็สลับมาเป็นเร็กเก้ เซอร์ไพรส์เยอะมากกกก เป็นโชว์ที่อิ่มและประทับใจมาก ๆ เพราะเราไม่เคยฟัง Supergoods เล่นออกมาในเวอร์ชันนี้แล้วก็สร้างบรรยากาศแบบใหม่ที่ดีคนละแบบไปเลย
ได้เวลาอันสมควรที่จะกลับเข้าเมืองกันแล้ว คนร่วมงานหลาย ๆ คนที่มาด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็เริ่มแยกย้ายกัน ส่วนคนที่มาทางเรืออย่าง ๆ เรา ๆ ที่งานเขาก็จองเรือข้ามฟากลำใหญ่ไว้ให้รอบแรกตอนสามทุ่มครึ่ง ทำให้เราได้นั่งชิลกันต่ออีกพักใหญ่ ๆ นั่นเลยทำให้เราได้มานั่งทบทวนถึงกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในหลายปีที่เราได้กลับมาทำอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นการรีเฟรชเราที่ล้าจากงานที่ผ่าน ๆ มาได้ดีมาก ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้แชร์ความคิดกับคนอื่น ๆ แล้วก็ได้ฟังดนตรีดี ๆ ได้ดูงานศิลปะที่หลากหลาย ได้สำรวจพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ได้ค้นพบว่าบางกระเจ้าไม่ได้มายากอย่างที่คิด แถมยังเป็นทางเลือกให้เราได้มาสูดอากาศฟอกปอดกันก่อนจะกลับไปต่อสู้กับชีวิตในเมืองกันต่อแหละนะ ขอบคุณ Among Others และ Tomato Love Records ที่จัดงานลักษณะนี้ขึ้นมา งานน่ารัก ร่มรื่น และกันเอง ดีใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้นะ ส่วนใครที่อ่านแล้วสนใจว่าสองกลุ่มนี้เขาจะทำอะไรสนุก ๆ ขึ้นมาอีกก็ต้องรอติดตามในแฟนเพจของพวกเขาไว้ได้เลย 🙂