‘Rhythm & Books & Friends’ ร้านหนังสือและไวนิลที่ทำให้เราไม่อยากลุกไปไหน
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Montipa Virojpan
27 ตุลาคม 2559
การมาหัวหินครั้งนี้จะทำให้การมาหัวหินครั้งต่อ ๆ ไปของมนต์ทิพาไม่เหมือนเดิม
เปล่า ทะเลหัวหินไม่ได้สวยน้อยลง ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวนิสัยแย่เพิ่มขึ้น อาหารทะเลยังสดอร่อย และแน่นอน รถในเมืองหัวหินยังติดเหมือนเดิม
แต่สิ่งที่ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อหัวหินเปลี่ยนไป เป็นเพราะเราได้ค้นพบสถานที่แห่งหนึ่ง
ขอย้อนกลับไปช่วงที่วางแผนจะลาพักร้อนมาที่นี่ เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เอนจอยอะไรเป็นพิเศษ เพราะตอนเด็ก ๆ ก็มาหัวหินอย่างบ่อย หนนี้เลยแค่อยากไปชาร์จพลังที่ลดไปเกือบครึ่งหลอดตลอดทั้งปีให้กลับมาลุยกับสิ่งที่ต้องเจอในชีวิตประจำวันกันต่อ ดังนั้นแผนที่วางไว้สำหรับทริปนี้ก็คือ กิน นอน นอน แล้วก็นอน (เล่นน้ำทะเล ถ่ายรูปวิวสวย ๆ น่ะมันเอาท์ไปแล้ว คนจริงมันต้องได้กินให้พุงแตกและได้นอนอย่างเพียงพอ!)
ซึ่งพอมาคิดดูอีกที… ได้มาทะเลกับแม่ทั้งทีก็อยากจะไปเปิดหูเปิดตาซักหน่อย เพราะไหน ๆ เราเองก็ไม่ได้มาหัวหินนานแล้ว ส่วนแม่เอง ถ้ามาหัวหินทีก็จะเป็นการทำงานที่ไม่ได้ไปสถานที่ท่องเที่ยวอื่นเท่าไหร่หรอก เลยขอพับแผนการนอนไว้ก่อน แล้วเปลี่ยนใจมาเปิดเว็บไซต์กินเที่ยวคู่บุญอย่าง BK Magazine เพื่อดูว่าที่หัวหินช่วงนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง จากการเลื่อนสายตาอย่างรวดเร็วก็พบกับที่ที่โคตรน่าไปในย่อหน้าสุดท้าย (ไม่รู้ว่าแม่อยากไปหรือเปล่าแต่เราจะต้องไปให้ได้)
เมื่อวันลาพักร้อนมาถึงวันแรก เราใช้เวลาเดินทางไปถึงหัวหินตอนค่ำเลยไม่ได้แวะเที่ยวมากนัก พอวันรุ่งขึ้นหลังจากที่กินอาหารจากที่พักเรียบร้อยแล้ว ก็รอให้ฝนซาลงในช่วงบ่ายถึงจะได้ออกไปไหน เราตัดสินใจไม่เอากล้องตัวใหญ่ไปด้วยเพราะคิดว่าฟ้าครึ้มแบบนี้ถ่ายฟิล์มออกมายังไงก็ไม่สวย เราตั้งใจขับรถไปตามหาสถานที่แห่งนั้นโดยเลี้ยวเขาไปในซอยแคบ ๆ ข้างวังไกลกังวลอันร่มรื่น แต่เชื่อไหมว่าบรรยากาศช่างซบเซาอย่างน่าประหลาด อาจจะด้วยความอึมครึมของท้องฟ้าในตอนนั้น แต่พอแม่เอ่ยปากเหมือนกันกับที่เราคิดทั้งที่เราไม่ได้พูดออกไปก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าคนหัวหินละแวกนั้นจะรู้สึกเหมือนกับพวกเราหรือเปล่า บทสนทนาประสาแม่ลูกอันยาวเหยียดก่อนหน้านี้ก็กลายเป็นความเงียบไปพักนึง แต่มารู้ตัวอีกที เราก็ขับมาถึงถนนใกล้ชายหาดที่เป็นที่ตั้งของเกสต์เฮาส์ที่ชื่อ Hua Hin Place แต่ Hua Hin Place ก็ไม่ใช่สถานที่ที่เราตั้งใจจะมาแวะซะทีเดียว
เราจอดรถเมื่อเห็นที่หมาย ด้านหน้ายังเกสต์เฮาส์มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งชื่อ Velo Cafe แต่การตกแต่งดูฮิปเกินกว่าตัวเกสเฮาส์ที่มีความโอลด์สคูลแบบไทย ๆ คาดว่าน่าจะเป็นคนละเจ้าของแต่อาศัยอาคารเดียวกันอยู่เท่านั้น เช่นกันกับสถานที่ที่เรากำลังตามหาโดยใน BK Magazine บอกว่าร้านตั้งอยู่ใน “สวนด้านหลังของ Hua Hin Place” เราเลยถามพนักงานต้อนรับเพื่อจะได้พาเราไปยังที่แห่งนั้น แต่ที่ไหนได้ ร้านกลับอยู่ตรง “สวนข้าง ๆ Hua Hin Place” ซะนี่ เรากับแม่เลยเดินเงอะ ๆ งะ ๆ ลงบันไดที่เปียกแฉะจากน้ำฝนไปพบกับสถานที่ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบในสวนขนาดเล็กน่ารัก ที่ที่ทุกคนเรียกขานว่า Rhythm & Books & Friends
เราด้อม ๆ มอง ๆ อย่างระแวดระวังจะได้ไม่ทำอะไรเด๋อ ๆ เพราะเกรงใจสถานที่ที่ดูเหมือนจะเป็นบ้านอยู่อาศัยหลังเล็กมากกว่าจะเป็นร้านขายอะไร แต่ก็ไม่ทันแล้ว เพราะตอนที่เราจะเปิดประตูก็ดันเปิดผิดด้านแถมยังเปิดไม่ออก จนคนข้างในส่งเสียงทักทายดังออกมา แล้วรีบปรี่ตัวมาเปิดประตูให้เรา ชายร่างสูงผมสีดอกเลาท่าทางดูเป็นมิตรถามคำถามแรกกับเราว่า “มองหาหนังสือแบบไหนอยู่หรือครับ”
เราทักทายกลับและตอบไปอย่างสุภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาแนะนำตัวว่าชื่อ ภาณุ หรือบาฟ เขาบอกกับเราว่ายังจัดระเบียบร้านไม่เรียบร้อยนักเพราะเพิ่งได้โต๊ะตัวใหม่มา ซึ่งเราก็เห็นหนังสือ (ส่วนมากจะเป็นของสำนักพิมพ์กำมะหยี่) กองโตวางอยู่บนโต๊ะตัวนั้นอย่างที่เขาว่า ไม่นานเขาก็ให้เวลาความเป็นส่วนตัวกับเราที่จะได้มองสำรวจไปรอบ ๆ ร้าน บริเวณด้านหน้าทำให้เห็นว่าร้านมีห้องหับกะทัดรัดเป็นสัดส่วน ด้านหน้าสุดจะมีชั้นหนังสือที่มีหนังสือเกี่ยวกับอาหาร ดนตรี ศิลปะ เพศศึกษา และวรรณกรรมคลาสสิกอยู่เต็มชั้น และไม่นานนัก จากคำแนะนำของ BK Magazine ทำให้เราเอ่ยปากถามถึงคลังสมบัติของเขาในที่สุด
“ไวนิลหรอ มีสิครับ ทางนี้เลย” ตอนนั้นเองที่เราอุทานในใจดังมากว่า “อีเหี้ย!” เพราะในห้องทางซ้ายมือของห้องหนังสือ รู้สึกได้เลยว่าตาตัวเองกำลังเป็นประกายเพราะมันคือห้องที่เต็มไปด้วยแผ่นเสียงจากยุค 50s มาจนถึงยุคร่วมสมัยที่ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบไว้เต็มชั้นวาง ตั้งแต่ Simon & Garfunkel จนถึง Lady Gaga จาก Nina Simone จนถึง Kendrick Lamar แต่ไม่ใช่แค่แผ่นเสียงของศิลปินที่ทุกคนรู้จักเป็นแน่ เพราะตอนที่เราลูบ ๆ คลำ ๆ แผ่นพวกนั้นอยู่ เขาก็ถามว่า “ชอบฟังเพลงแบบไหน อยากฟังแผ่นไหนเดี๋ยวผมเปิดให้เลย”
จริง ๆ เราก็ฟังได้หลายแนวอยู่นะ แต่สติสตางค์ที่เหลืออยู่น้อยนิดหลังจากเห็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเบื้องหน้าทำให้เราเลือกสรรคำตอบที่คิดได้ไวสุดตอนนั้น
“แปลกมาก” เอ้า โดนว่าแปลกเฉยเลย แต่ก็จริงนะ เพราะคนที่เรารู้จักแล้วฟังแนวนี้ก็มีไม่เยอะจริง ๆ นั่นแหละ ไม่นานเขาก็ตรงเข้าไปยังชั้นไวนิลแล้วควานหาวงดนตรีที่เข้าข่ายแนวเพลงที่เราบอกไปมาให้ “คนรุ่นคุณไม่ค่อยฟังไซคีเดลิกกันเท่าไหร่นะ งั้นลองแผ่นนี้แล้วกัน… รู้จักวงนี้ไหม”
เราพยักหน้าเมื่อเห็นแผ่นเสียง Grateful Dead อัลบั้ม The Grateful Dead ปี 1967 เขายิ้มแล้วนำแผ่นไปเล่นกับ turntable “เครื่องเสียงมีปัญหานิดหน่อย ลำโพงมันออกข้างเดียว” เขายืนกดสวิตช์เพื่อให้ลำโพงเข้าที่เข้าทาง แต่ทันทีที่หัวเข็มจรดลงแผ่น เสียงที่ออกมาทำให้เรามองข้ามความไม่สมบูรณ์แบบของเครื่องเสียงไปโดยปลิดทิ้ง ท่วงทำนองไซคีเดลิกร็อกยุคดั้งเดิมบรรเลงต่อไป ระหว่างนั้นแม่ก็เดินเข้ามาหาเราพร้อมกับหนังสืออีกสองเล่ม เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าแม่หยิบอะไรมาอ่าน พอเห็นว่าเล่มนึงคือ “กาแฟของคนอาหรับและอาหารของคนอื่น” ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเคยอ่านเมื่อสามปีที่แล้ว แต่ก่อนที่จะถามอะไรต่อแม่ก็พูดขึ้นว่า “เล่มนี้พี่เขาเขียนเองนะ”
เชี่ย… เออ มันงงขนาดนั้นเลยอะ นอกจากความตื้นตันดีใจที่ได้ฟังแผ่นเสียงหายากแล้ว นี่กูยังนั่งอยู่ในร้านของนักเขียนที่กูชอบอีกหรอวะ ตอนเขาแนะนำตัวเราก็ไม่ได้เอะใจอะไรทั้งนั้น ขนาดใน BK Magazine เขียนชื่อ ภาณุ มณีวัฒนกุล ไว้แล้วแท้ ๆ เรายังไม่เฉลียวใจเลย โอย ปล่อยไก่ตัวเบ้อเร่อ เราเลยรีบสารภาพบาปกับพี่บาฟว่าชื่นชอบงานของเขาและรู้สึกดีใจที่ได้มาเจอที่นี่ ที่ที่โคตรจะเป็น hidden place แต่สามารถชาร์จพลังเราได้ขนาดนี้
พี่บาฟก็ไม่ปล่อยให้เราเหวอนานจนเกินไปนัก เขารับคำชมแล้วหยิบงานของคนอื่น ๆ ออกมาให้เราลองฟัง ไม่ว่าจะเป็น An Introduction to Syd Barrett ซึ่งเป็นแผ่น compilation ที่รวบรวมงานของ Pink Floyd ชุดแรก ๆ ท่ีซิดเป็นคนเขียนกับงานเดี่ยวของเขาเอง แล้วตอนที่พี่บาฟเปลี่ยนเอาแผ่นของซิดมาเล่นแทนที่ Grateful Dead… ทุกคนเคยได้ยินคำว่ารักแรกพบกันใช่ไหม ครั้งแรกที่ได้ฟังเพลง Arnold Layne ของ Pink Floyd ซึ่งเป็นเพลงแรกในหน้า A มันก็เป็นแบบนั้น เราไม่ใช่แฟนตัวยงของ Pink Floyd แต่เราโคตรชอบงานชุด The Madcap Laughs ของซิด ซึ่งเมื่อเราได้ฟังเพลงของ Pink Floyd ที่เขียนโดยซิด ความเพราะ ความเพี้ยน ความพอดีในโน้ตตัวแรก แล้วอาร์ตเวิร์กของ LP ก็เฟี้ยวฟ้าวสวยหยดเสียเหลือเกิน ทำให้เราตัดสินใจซื้อไวนิลแผ่นนั้นโดยไม่ลังเล
เท่านั้นยังไม่พอ แผ่นต่อ ๆ มาที่ถูกหยิบมาเล่นก็มี Kendrick Lamar ชุด To Pimp a Butterflyพี่บาฟถึงกับยกให้เขาเป็น Bob Dylan แห่งวงการฮิปฮอป เราค่อนข้างแปลกใจทีเดียวที่พี่บาฟดูชอบเคนดริกมากทั้งที่เป็นศิลปินรุ่นใหม่ และเขาดูจะคะยั้นคะยอให้เราฟังแผ่นนี้ให้ได้ แล้วยังมีอัลบั้ม American Stonehenge ของ Robin Williamson & his Merry Band เจ้าของเดียวกับนักร้องนำ Incredible String Band วงไซคีเดลิกโฟล์กปลายยุค 60s ที่หลังจากพักวงไปก็ย้ายถิ่นฐานจากสกอตแลนด์มายังรัฐแคลิฟอร์เนียโดยมีคอมมูนอยู่ในป่า จับกลุ่มกับเพื่อนทำวงใหม่และผันตัวมาทำเพลง Celtic (เพลงของชาวพื้นเมืองโบราณที่อาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ เวลส์ อะไรพวกนั้น) ที่ใช้เครื่องดนตรีแบบเก่าในสไตล์การเล่นร่วมสมัย โดยเขาถือว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมเก่าให้คงอยู่ได้หาใช่การทำลาย เราได้ฟังเป็นครั้งแรกก็พบว่าเป็นโฟล์กล้ำ ๆ ที่เพี้ยนและหลอนหูมาก (คำชม)
จากนั้นก็โดนแผ่น Greetings from L.A. ของ Tim Buckley พ่อของ Jeff Buckley ที่ทำเพลงออกมาเท่ทั้งพ่อทั้งลูก แม่เราดูตื่นเต้นกับแผ่นนี้แล้วขอฟังเพลง Sweet Surrender ด้วย (ตัวจริงมาเองจ้า) พี่บาฟเล่าว่าสองคนนี้เสียชีวิตในวัยใกล้ ๆ กัน คนพ่อใช้ยาเกินขนาดในวัย 28 ส่วนคนลูกจมน้ำตายในวัย 30 ฟังแล้วก็เสียดายที่นักดนตรีเก่ง ๆ ทั้งสองคนต้องจบชีวิตในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่พวกเขาทิ้งไว้ให้เราคือเพลงโคตรเทพที่กำลังได้ฟังอยู่ตอนนี้
อย่าเพิ่งซึมกันไปค่ะทุกคน ยังมีเพลงที่น่าสนใจไม่แพ้กันอีกมากในคลังสมบัติของพี่บาฟ พอจบ Tim Buckley ก็มี Marianne Faithful ชุด Broken English มาให้โดน แค่ปกก็เก๋กู๊ดด้วยรูปพอเทรตของเจ้แกที่ทาบทับด้วยฟิลเตอร์สีน้ำเงินและโดดเด่นด้วยสีชมพูช็อกกิ้งพิงค์ที่ปลายบุหรี่ พี่บาฟเลือกเพลง Working Class Hero ที่ออริจินัลเป็นของ John Lennon แต่พอเป็นเสียงร้องของเจ้มาริแอนก็ชิค ๆ weird ๆ ไปอีกแบบ เสียงนางแปลกมีเสน่ห์มาก ที่สำคัญอัลบั้มนี้ของนางโดนแปะสติ๊กเกอร์ Parental Advisory บนปก แบบว่าคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองในการฟังเพลงชุดนี้นะฮะ ซึ่งพี่บาฟก็บอกอีกว่า ใครจะไปเชื่อว่าผู้หญิงห่าม ๆ แบบมาริแอนที่คนอื่นคิดว่าโตไปจะต้องเสียคน กลับกลายเป็นแม่ที่ดีของลูกในทุกวันนี้
ต่อกันด้วย Melanie Safka พี่บาฟพูดติดตลกว่าเธอเป็นแฟนเก่าของเขา เชื่อไหมว่าครั้งแรกที่เราเห็นหน้าของเธอบนปกอัลบั้ม Candles in the Rain นี้ เรานึกถึง Lana Del Rey เป็นคนแรก และพอได้ฟังน้ำเสียงเสียงที่ร้องออกมาก็ยิ่งทำให้นึกถึงลาน่าไม่มีผิด คือแนวเพลงไม่เหมือนกันหรอกนะ เมลานี่เป็นไซคีเดลิกป๊อปเท่ ๆ ตามยุคสมัย แต่ความออดอ้อนในน้ำเสียงแบบแคลิฟอร์เนียเกิร์ลแหบ ๆ ที่โหยหาชูการ์แด้ดดี้มันรุนแรงมากอย่างน่าประหลาด
ก่อนที่เราจะเพลินเพลินจำเริญใจกับบรรดาแผ่นเสียงหายากมากไปกว่านี้ เราเลยอยากชวนพี่บาฟมาพูดคุยทำความรู้จักให้มากขึ้น โดยมีเพลง Lay Down (Candles In The Rain) เล่นคลอไปกับบทสนทนาของพวกเรา
พี่บาฟเล่าว่าเขาอยากเปิดร้านแบบนี้อยู่แล้ว แต่การมาทำร้านหนังสืออยู่หัวหินคนเดียวหาใช่การปลีกวิเวกไม่ เพราะที่แห่งนี้เหมือนเป็นพื้นที่ทางเลือกที่มีสิ่งที่เขาสนใจ รอต้อนรับให้คนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กันได้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย
เมื่อก่อนเขาเป็นนักข่าวสารคดี โดยเริ่มเขียนใน “สยามมิตร” ที่เป็นหนังสือรายวันตั้งแต่ปี 2519 และเขียนงานสารคดีออกมาเรื่อย ๆ จนล่าสุดก็ไม่ได้เขียนมาระยะนึงแล้ว แต่เร็ว ๆ นี้เขาจะต้อง edit หนังสือ “1001 อัลบั้มที่ควรฟังก่อนตาย” ที่จะออกมาช่วงกลางปีหน้า เป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศที่เหมาะกับคนที่สนใจเรื่องดนตรี ในหนังสือเล่มนี้จะทับศัพท์ชื่อวงดนตรีหรือศิลปินเป็นภาษาอังกฤษเพื่อจะเป็นคู่มือให้นักฟังไปเลือกหาเพลงฟังได้ด้วย ซึ่งพี่บาฟบอกว่าจริง ๆ แล้วเขามีเรื่องที่อยากเขียน แต่จังหวะตอนนี้ไม่สะดวกที่จะเริ่มเขียนอะไรเป็นของตัวเอง เลยผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายหนังสือแทน
พี่บาฟเปิดร้านนี้ครั้งแรกคือเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว พอเปิดมาได้สี่ปีก็หยุดพักกิจการเพื่อไปต่างประเทศ จนกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งหนนี้กำลังจะครบปีแล้ว ด้วยค่าเช่าบ้านที่ไม่ได้ถูกมากนักเขาเลยทำให้ร้านหนังสือเป็นที่พักของเขาเองด้วยซึ่งก็เข้าท่าดี หนังสือในร้านจะมีไม่เยอะ เน้นไปที่สารคดีเรื่องอาหารการกิน ศิลปะ ดนตรี เพศศึกษา ธรรมชาติศึกษา ส่วนนิยายก็จะเป็นเรื่องที่พี่บาฟอ่าน เวลามีลูกค้ามาพูดคุยก็จะสามารถให้ข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนกัน ในอนาคตอาจจะมีจัดเวิร์กช็อปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเขียนหนังสือ เย็บปักถักร้อย หรือชงกาแฟ
การมาเยือนของลูกค้าหลาย ๆ คน ก็มีทั้งคนที่แวะเวียนมาไม่นาน ไปจนถึงคนที่ตั้งใจมานอนเอนกายทั้งวัน “มีน้องคนนึงทำร้านอาหารอินดี้ชาบูอยู่ฝั่งตรงข้าม แรก ๆ ก็มาดูหนังสือเฉย ๆ แต่พอมาบ่อย ๆ ก็มาขอนอนพัก เพราะแกซักผ้าทำอะไรเสร็จก็ไม่อยากอยู่หอต่อ มันร้อน เลยมาที่นี่ แต่น้องเขาเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมากนะ ใช้เวลาที่นี่ทั้งวัน พอตกเย็น 5-6 โมงค่อยเดินไปทำงาน” ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็เป็นพวกนักอ่าน hardcore ชาวต่างชาติ หรือคนที่ walk in เข้ามาก็พอมีบ้าง แต่โดยรวมก็ยังไม่เยอะเพราะร้านยังไม่เป็นที่รู้จักนักแถมที่ตั้งยังดูเป็นอาณาเขตลึกลับ คนที่จะเข้ามาก็คงเป็นแฟนหนังสือของพี่บาฟที่บอกกันปากต่อปาก “มันก็อยู่ได้นะ ขายหนังสือ ขายศิลปะ ขายแผ่นเสียง แล้วการที่มีเฉพาะเรื่องที่เราสนใจก็เป็นการเลือกลูกค้าไปในตัว”
มีคนเข้ามาแบบงง ๆ หรือรู้สึกผิดที่ผิดทางไหม
“มีฮะ ไม่กล้าเข้าเลยก็มี คือเข้ามาปุ๊บ นี่ร้านขายอะไรเนี่ย แล้วเขาก็เดินออกไปเลย คือจะมีแบบที่ไม่เข้ามาอีกเลย กับคนที่รู้สึกว่าไม่เลวนะ ก็นั่งคุยกันต่อก็มี มันก็สนุกดีฮะเปิดร้านแบบนี้ ฝรั่งเองก็เหมือนกัน บางทีเขารู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย กับอีกพวกคือ อุ๊ย บ้านผมหนังสือเยอะกว่าร้านพี่อีก ผมบอกว่า ดีแล้วครับ อ่านเยอะ ๆ หนังสือมีแล้วต้องอ่าน ไม่ใช่มีแล้วไม่ได้อ่าน… เดี๋ยวผมขอไปเปลี่ยนแผ่นก่อน”
พี่บาฟทิ้งเราให้รอฟังคำบอกเล่าของเขา แล้วลุกไปเปลี่ยนแผ่นเสียงของ Melanie หน้า A ที่เพิ่งเล่นจบไปเป็นหน้า B แต่ระหว่างนั้นเอง เราสังเกตเห็นว่ามีภาพถ่ายลักษณะเดียวกันกับที่อยู่ในหนังสือของเขาแขวนอยู่เต็มบ้าน ตอนนั้นเราจึงฉุกคิดขึ้นได้ว่า เขาก็น่าจะเป็นคนถ่ายภาพเหล่านี้ด้วยตัวเอง
“สมัยก่อนรู้ไหมว่าค่าใช้จ่ายค่าเรื่อง ค่าภาพ ค่าอะไรแมงโคตรถูกเลย ต้องขายเหมารวม” เราเสริมไปว่า สมัยนี้นักเขียนก็ยังไส้แห้งอยู่เหมือนเดิม “เออ ไม่ได้ยินคำนี้มานานแล้ว แต่ถ้าคิดว่านักเขียนไส้แห้งแล้วนะ ลองมาเป็นพ่อค้าหนังสือดูสิ แห้งกว่า (หัวเราะ) มันคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักนะครับถึงจะสร้างมาตรฐานของนักเขียนบ้านเราขึ้นมาเพื่อเอามาวัดได้ว่า คนนี้เขียนแบบนี้ควรได้ค่าจ้างเท่านี้ จะให้คนที่เขียนมา 30 ปีได้เงินเท่ากับคนที่เริ่มเขียนเมื่อวานนี้หรอ มากกว่านั้นก็คือคุณภาพของคนทำงานมันโคตรสำคัญ
“เมื่อก่อนอาจจะมีการพูดว่า คนเขาเขียนหนังสือมากี่สิบปีเขายังไม่เรียกตัวเองเป็นนักเขียนเลย มึงมีหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กออกมาเล่มเดียว แถมพิมพ์เอง เรียกตัวเองเป็นนักเขียนแล้วหรอ แต่ว่าตอนนี้มันก็หายไปเพราะการเป็นนักเขียนมันไม่ได้หมายถึงหนังสือเป็นเล่มแล้ว จะเขียนลงในไหนก็ได้เพราะรูปแบบของหนังสือมันเปลี่ยนไป ดังนั้นคุณค่าหรือความหมายของนักเขียนมันคืออะไร มันก็อาจจะเปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน คนเขียนบล็อกก็อาจจะเป็นนักเขียนได้ Bob Dylan ยังได้รางวัล Nobel สาขาวรรณกรรมเลย (หัวเราะ)”
พอพี่บาฟพูดถึงประเด็นที่ถกเถียงกันเรื่องนักดนตรีชื่อดังได้รับรางวัลโนเบลแล้วเราก็อดที่จะชวนคุยต่อไม่ได้
“เอาจริงผมเห็นด้วยมานานแล้วตั้งแต่ว่าเขาถูกเสนอชื่อ เพียงแต่ว่า บ็อบ ดีแลนเขาร้องเสียงที่เขาเขียนให้คุณฟังไง คุณไม่ต้องอ่านก็ได้ (หัวเราะ) และผมว่าก็ให้เขาไปเหอะ เขาทำมานานจนอายุ 70 กว่าแล้วนะ แต่คนจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยมันเป็นเรื่องธรรมดามาก อย่าลืมว่าเมื่อหลายปีก่อน Sir Winston Churchill ก็ได้รางวัลโนเบลจากการเขียนสารคดี โนเบลมันเป็นรางวัลแบบ life time ไม่ได้ให้กับงานไหนโดยเฉพาะ แต่ชุดที่เด่นที่สุดของเชอร์ชิลคือการเขียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทุกคนไม่พูดอะไรเพราะเขาก็เขียนเป็นเล่มใหญ่ ส่วนบ๊อบ ดีแลนอาจจะดูแล้วเหมือนเขียนน้อยกว่า แต่ความสั่นสะเทือนทางอารมณ์เนี่ย คนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่มีภาพของบ็อบ ดีแลน ว่าเป็นนักต่อต้านสงคราม ซึ่งดีแลนปฏิเสธมาตลอดว่ากูไม่ใช่พวกนั้นเลย กูก็เป็นคนแต่งเพลง เพลงไม่ได้เป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อชนชั้น กูคิดยังไงก็เขียนแม่งอย่างนั้น งานชุดหลัง ๆ ของบ็อบ ดีแลนพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะ ตั้งคำถามเรื่องความรัก ชีวิต การเดินทาง เรื่องทะลึ่งตึงตัง เรื่องกระจุ๋มกระจิ๋ม งานของเขาแต่ละยุคสมัยไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ถ้าคุณตามงานของเขาคุณจะเห็นว่ามันเยอะมาก เนื้อหาของวรรณกรรมทุกอย่างใช้ความรู้สึก เพลงของบ็อบ ดีแลนก็เป็นแบบนั้น”
มาตรฐานของโนเบลคืออะไร
ผมไม่รู้เหมือนกัน มันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ผมจะบอกว่ามันคืออะไร แต่ถ้าให้รางวัลบ็อบ ดีแลน ผมว่าเขาไม่ต้องการเงินหรอก ที่เขาทำมาตลอดชีวิตนั้นได้มากกว่าสองแสนห้าหมื่นเหรียญนี่อีก ชื่อเสียงของบ็อบ ดีแลนก็เยอะแล้ว จะให้หรือไม่ให้เขาก็คงไม่ได้อะไร ถ้าบ็อบ ดีแลน ไม่รับก็จะกลายเป็นเรื่องเก๋ไปอีก แต่จริง ๆ ตอนนี้แกกำลังเล่นคอนเสิร์ตอยู่ที่ลาสเวกัส แกก็คงจะทำงานก่อนค่อยมาคุยกับทางโนเบลทีหลัง
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำที่ดูถูกคนที่ไม่ได้ฟังเพลงเหมือนคุณ พวกนักดนตรีรุ่นใหญ่ฝั่งคลาสสิกจะมาบอกว่าเหนือกว่าคนอื่นผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้ามากไปผมก็จะถามว่าแล้วดนตรีแนวอื่นมันผิดตรงไหน ผมจะฟังแล้วมันผิดตรงไหน คลาสสิกของคุณอยู่มาสองร้อยปี แต่อันนี้เพิ่งทำ ถามว่าถ้ามันอยู่ไปอีกสองร้อยปีจะยังมีคนฟังไหม อย่าง The Beatles ก็ยังมีคนฟัง
ที่ร้านของพี่บาฟนอกจากจะขายหนังสือแล้วก็ยังขายแผ่นเสียงด้วย
เพราะเราฟังเพลงไง ยุคนั้นมันไม่มีซีดี มีแต่เทป ซึ่งเทปมันก็โอเคนะ แต่ชอบแผ่นเสียงเพราะมันไม่ยืดแบบเทป มันอาจจะเป็นรอยแต่ก็ยังฟังได้ รู้สึกว่าเสียงดีกว่า แล้วก็ชอบอาร์ตเวิร์ก
แต่บางคนก็บอกว่าเสียงไม่เคลียร์ ฟังไฟล์ดิจิทัลดีกว่า
อันนั้นก็เป็นเรื่องของรสนิยม เรื่องของวัย แล้วก็ซอฟต์แวร์ มันก็ไปเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือเครื่องใช้ ลำโพง หรือการทำให้เสียงมันออกมา ถ้าคุณต้องการฟังเพลงจริง ๆ คุณต้องฟังให้มันเข้ากับยุคสมัยของ format นั้น เครื่องเล่นไม่ต้องดีเด่แค่ให้มันแมตช์กันกับเพลงที่ฟัง เสียงแบบไหนจะออกมาพอใจที่สุดก็ขึ้นกับหูของคุณนั่นแหละ คุณจะฟังเทป ซีดี MP3 ไม่มีอะไรดีกว่าอะไรหรอก มันอยู่ที่คุณรู้สึกยังไง
ช่วงที่เริ่มสะสมแผ่นเสียงเริ่มจากอะไร
ฟังไปเรื่อยตามยุคเลยฮะ พวก Led Zeppelin ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องฟังอะไร ก็ฟังไปเรื่อย ๆ มีตังก็ซื้อแผ่น แต่พอมาเป็นพ่อค้า Simon & Garfunkel ก็ขายได้เรื่อย ๆ มันก็เป็นการเริ่มต้นให้กับคนธรรมดาทั่วไปที่เขามาฟังแล้วประทับใจ แค่สองคนก็ทำดนตรีได้สุดยอดในยุคสมัยของเขา การใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ หรือกับเพลง The Sound of Silence มันเจ๋งอะ ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องดีมากที่ให้คนมาเริ่มฟังเพลงพวกนี้ซึ่งมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร อย่าง Bee Gees หรือ The Carpenters ใคร ๆ ก็ชอบ ผมว่ามันฟังง่าย คุณจะไปบอกว่าพวกนี้ห่วยได้ยังไง ไม่มีทาง คนที่ห่วยก็คือคุณเองอะ แล้วถ้าคุณศึกษาถึงเรื่องตัวโน้ตขนาดนั้นน่ะ Bee Gees ผมว่าเขายิ่งใหญ่มากนะ เทียบเพลง Another Brick in the Wall ของ Pink Floyd กับของ Bee Geesเพลง Stayin’ Alive โน้ตใกล้เคียงกันเลย หรือ Eric Clapton ก็ตรงปรี่ไปหา Bee Gees หลังจากที่เล่นเสร็จแล้วเพราะความเจ๋งของพวกเขา การประสานเสียงหรือเรื่องดนตรีก็ไร้ที่ติ พอมายุคนึงดนตรีมันเปลี่ยนไป อย่าง PJ Harvey ก็เป็นนักดนตรีอินดี้ผู้หญิงที่ผมชอบมาก เล่นกีตาร์แต่งเพลงได้ดี แล้วผมก็หลงรัก Amy Winehouse ฟังครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจ หล่อนสุดยอด ผมตื่นเต้นกับเสียงเขามาก จำได้ว่าผมได้ดู Adele กับ Amy Winehouse ขึ้นเวที The BRIT Awards ที่อังกฤษ อะเดลนี่เด็กมาก ผมไม่สนใจเลย ขณะที่เอมี่พอออกมา ทุกอย่างหลุดไปเลย แต่ผมรู้ว่าเขาจะเป็นศิลปินที่อายุไม่ยืน เอมี่เป็นคนที่เปราะบางมาก แฟนเขาเลวมากที่ทำร้ายผู้หญิงคนนึง ส่วนอะเดลตอนหลังเขาชัดเจนว่าของเขาต้องเป็นแนวนี้ ทำให้รู้ว่าการเห็นครั้งแรกบางทีอาจจะไม่ได้บอกอะไรมาก คนเรามีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ทุกวันนี้ผมชอบอะเดลมาก ทั้งเสียงเขา และวิธีการร้อง แต่น่าเป็นห่วงว่าแกชอบตะโกน
ได้แผ่นหายากมาจากที่ไหนบ้าง
เยอะมากเลยตอนไปต่างประเทศ มีร้านแผ่นเสียงหรือมีตลาดก็เข้าไปดูแล้วก็มักจะเจอแผ่นดี ๆ แล้วมันเป็นช่วงที่คนเขาระบายแผ่นเสียงออกไง เพราะเขาตื่นเต้นกับซีดีเราก็เลยซื้อ ๆ ไว้ พอเปิดร้าน คนกลับมาตื่นเต้นกับแผ่นเสียงเราก็ว่าดี แต่ตอนหลังผมฟังแผ่นเสียงมากกว่าซีดีนะ MP3 ก็ฟังเวลาทำงาน แผ่นเสียงมันเป็น manual ถ้ากวาดบ้านหรือทำอาหารอยู่จะฟังแผ่นเสียงไม่ได้ เพราะพอหมดหน้าก็ต้องลุกไปเปลี่ยน แผ่นเสียงมันทำให้เรามีสมาธิกับการฟัง ขณะที่ซีดีหรือสื่ออื่น พอกดเล่นปุ๊บก็ทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยได้
การฟังแผ่นเสียงจะทำให้การฟังเพลงเป็นอัลบั้มกลับมาเป็นที่นิยมขึ้นไหม
อาจจะไม่ขนาดนั้น แค่ตื่นเต้นที่ format มันใหญ่ ปกมันสวย มองเห็นชัดเจน มันเป็นเรื่องของความรู้สึกของเราที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่มหัศจรรย์สำหรับคนยุคเรา ว่าเฮ้ย พลาสติกมันมีเสียงออกมาได้ไงวะ ตอนที่ซีดีออกมาคนก็บอกว่าแผ่นเสียงตายแล้ว เราเองยังคิดเลย จำได้ว่าไปบ้านเพื่อน เพื่อนเปิดซีดีให้ฟังเนี่ย ผมบอกว่าบ้านมึงน้ำรั่ว คือมันเปิดซาวด์ต่าง ๆ ให้ฟัง มีเสียงเปิดจุกก๊อก เสียงฝนตก แล้วเรารู้สึกว่าน้ำไหลมาจริง ๆ มันก็บอกว่าเนี่ย ซีดี มึงเข้าใจไหม แผ่นเสียงที่มึงฟังน่ะตายแล้ว มันชัด เสียงดี ในแง่ของคนฟังเพลงที่เบสต้องได้ยินความทุ้ม แน่นอน ซีดีมันดีกว่า แต่แผ่นเสียงมันก็มีความก้องกังวาน มีความอวล ๆ อบอุ่น มีบุคลิกของมันเอง เช่นเดียวกับ MP3 หรือ format อื่น ก็แล้วแต่เราว่าชอบแบบไหน
เป็นคนฟังเพลงเยอะและลึกพอสมควร
ไม่ลึกหรอกผมมันคนฟังอย่างเดียว คนที่เป็นนักดนตรีหรือเรียนดนตรีเขามาคุยกันเรื่องที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง คุณจะมีทฤษฎีอะไรมาก็เรื่องของคุณแล้วกัน
พี่บาฟลุกไปเปลี่ยนแผ่นอีกครั้งหลังจากที่ Melanie ถูกเล่นครบทั้งสองหน้าแล้ว คนต่อไปที่เขาจะแนะนำให้เรารู้จักคือ Fred Neil
สมัยก่อนวงดนตรีก็เล่นทั้งวงแล้วอัดลงแผ่นเสียง
ใช่ครับ มันน่าสนใจตรงนี้ ลองคิดดูแล้วกันว่ามันเจ๋งแค่ไหน ศิลปินหลาย ๆ คนก็ยังทำแบบนั้น Bob Dylan ก็ทำ รุ่นใหม่อย่าง Jack White ก็ทำ มันสนใจมากแล้วยังทำเพลงทดลองบ้า ๆ บอ ๆ ของมันออกมาเรื่อย ก็ได้ใช้เสียงดนตรีของตัวเองทำตรงนั้น มันมีความมหัศจรรย์ของแผ่นเสียงอยู่ อย่างโดนส่วนตัวผมเนี่ย แผ่นที่อัดมาดี ๆ แล้วเล่นกับเครื่องเสียงที่ไม่ต้องดีมากเนี่ย คุณไม่เพียงได้ยินเสียงดนตรี แต่คุณจะเห็นตำแหน่งของเครื่องดนตรีด้วยว่าตั้งอยู่ตรงไหน มันคือความรื่นรมย์ที่พอถึงจุดนึงแล้วเราก็จะแสวงหาตรงนี้ สมัยเป็นเด็ก ๆ คุณอาจจะอยากถือกระเป๋าอะไรก็ได้ แต่พอโตขึ้นมาหน่อยคุณต้องใช้ยี่ห้อนี้ ถามว่าทำไม ไม่ใช่ติดยี่ห้อหรอก คนที่มาว่าเราเขายังไม่เข้าใจว่ามันดีจริง ทนจริง ดนตรีก็เหมือนกัน อย่าไปฟังเสียงของคนพวกนั้น สุดท้ายก็รสนิยมของเราเอง ถึงจุดนึงก็จะมีคนไปหาฟังอะไรแปลก ๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมันก็ดีนะ
ของบางอย่างที่เป็นสิ่งใหม่สำหรับคุณอาจจะเป็นของเก่าแต่คุณเพิ่งเคยเจอ ถ้าคุณคิดได้แบบนี้ ของใหม่มันไม่จำเป็นต้องใหม่เสมอไป แล้วคุณจะมีความสุขกับมัน ทำไมคุณจะต้องวิ่งตามเพื่อให้ได้เจอสิ่งใหม่อยู่ตลอด โดยเฉพาะเรื่องดนตรีกับศิลปะที่มีเยอะมาก แค่ให้มันใหม่สำหรับเราก็พอแล้ว
บางคนคิดว่าถ้าฟังแนวนั้นแนวนี้แล้วจะดูเท่ เป็นความเข้าใจที่ผิดหรือเปล่า
ไม่หรอก มันเป็นที่ตัวเขาเองเข้าใจแบบนั้นเองมากกว่า เขาคงไม่รู้สึกผิดอะไรด้วย คุณฟังเพลงของคุณ ผมก็ฟังเพลงของผม แต่ผมก็อาจจะฟังวงที่คุณชอบด้วย อย่าง Fred Neil เนี่ย ก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ถ้าเพิ่งมาฟังก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ของบางอย่างที่เป็นสิ่งใหม่สำหรับคุณอาจจะเป็นของเก่าแต่คุณเพิ่งเคยเจอ ถ้าคุณคิดได้แบบนี้ ของใหม่มันไม่จำเป็นต้องใหม่เสมอไป แล้วคุณจะมีความสุขกับมัน ทำไมคุณจะต้องวิ่งตามเพื่อให้ได้เจอสิ่งใหม่อยู่ตลอด โดยเฉพาะเรื่องดนตรีกับศิลปะที่มีเยอะมาก แค่ให้มันใหม่สำหรับเราก็พอแล้ว
ให้คนมานั่งฟังเพลงได้ชิว ๆ แบบนี้ดูเป็นคนไม่หวงของเลย
หวงเหมือนกันนะ สมัยเด็ก ๆ มีคนมายืมแผ่นเสียงแล้วไม่คืน พอไปทวงก็บอกว่าคืนแล้ว ซึ่งมันก็ทุเรศ คือเราหวงแบบนั้น ถ้ามายืมอาจจะไม่ให้ แต่ถ้ามานี่แล้วมาขอฟัง นี่คือการแบ่งเพลงกันฟัง แต่เมื่อสองสามปีที่แล้วตอนเปิดร้านเก่า ก็มีเด็กคนนึงบอกว่าเป็นดีเจ ภาพของดีเจในหัวผมก็คือต้องรู้เรื่องเครื่องมืออะไรพวกนี้ แต่เขาไม่รู้ แล้วเขาก็มาทำหัวเข็มเราหักไปอันนึง ปัญหาของเด็กสมัยนี้คือถ้าไม่รู้ก็ต้องถามหรือบอก ถ้าคุณบอกว่าตัวเองโง่มีแต่คนเขารักคุณ มีแต่คนอยากจะสอนคุณ แต่ถ้าคุณทำตัวฉลาดแล้วไม่ได้ฉลาดจริง ๆ มันก็เสียหลายอย่าง ถึงบอกว่าอยากฟังอะไรฟังได้เลย แต่ผมขอเป็นคนเปิดให้ สบายใจเรากว่า ผมชอบอยู่แล้วที่จะได้แนะนำแลกเปลี่ยนกัน แต่มันก็จะมีคนรุ่นอายุ 60 กว่า พวกรุ่นพี่ผมเนี่ย พอเขาชอบอะไรแบบนี้ก็จะพูดแต่เรื่องเครื่องเสียงของเขา พูดว่าเขาฟังเพลงแบบนี้ แผ่นแบบนี้ สำหรับเราอาจจะไม่ได้ฟังแบบนั้นแล้วแต่ก็ฟัง แล้วมันมีเด็กรุ่นใหม่ที่ตื่นเต้นมาก บอกเราว่าไปเจอนั่นมา นี่มา อีกพวกก็จะมาทดสอบว่าเคยฟังพวกนี้ไหม นี่คือรสชาติและสีสันที่หลากหลายที่ผมได้เจอ แล้วก็คิดว่าก็ดีนะ แต่เรามีสิทธิที่จะอธิบายหรือบอกเขาว่ามันชักจะมากไปหรือเปล่า ถ้าไม่มีอะไรที่ล้ำเส้นก็ไม่เป็นไรเพราะเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกของคน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำที่ดูถูกคนที่ไม่ได้ฟังเพลงเหมือนคุณ พวกนักดนตรีรุ่นใหญ่ฝั่งคลาสสิกจะมาบอกว่าเหนือกว่าคนอื่นผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้ามากไปผมก็จะถามว่าแล้วดนตรีแนวอื่นมันผิดตรงไหน ผมจะฟังแล้วมันผิดตรงไหน คลาสสิกของคุณอยู่มาสองร้อยปี แต่อันนี้เพิ่งทำ ถามว่าถ้ามันอยู่ไปอีกสองร้อยปีจะยังมีคนฟังไหม อย่าง The Beatles ก็ยังมีคนฟัง เราก็โมโหนะ เข้าใจว่ามันก็มีทุกยุคทุกสมัยแหละคนแบบนี้ แต่สำหรับผมไม่ว่าจะเป็นดนตรีมันไม่ผิด ดนตรีเป็นเครื่องเยียวยา ผมว่าผมฟังแล้วรู้สึกดี คุณเศร้า คุณฟังดนตรี คุณมีความรัก คุณฟังดนตรี ดนตรีนี่ได้หมดเลย
คนฟังเพลงควรจะใจกว้าง
ผมว่าคนฟังเพลงน่าจะเป็นคนที่มีใจเปิดกว้าง เหมือนคนที่ชอบงานศิลปะทุกอย่าง หนังสือก็ดี หนังก็ดี แต่ดนตรีจะทำให้เรากว้างที่สุด มันไม่มีอย่างอื่นนอกจากเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดแล้ว
ศิลปินใหม่ ๆ คนไหนที่ฟังแล้วรู้สึกว้าว
Kendrick Lamar นี่ผมตื่นเต้นกับเขามาก ทุกวันนี้นักร้องใหม่ ๆ มาเร็วมาก ตามฟังไม่หมด Adele นี่ถือว่าใหม่ไหม ก็ชอบนะ นักดนตรีออสเตรเลียก็ชอบอยู่หลายวง นิวซีแลนด์ก็ไม่เลว แต่ดูจะออกมาคล้าย ๆ กันหมดเลย อย่าง Lorde เนี่ย อย่างอื่นก็เฉย ๆ หรือดนตรีร็อกบางอันก็แปลกนิดนึงตรงที่พอมีท่อนนึงขึ้นมา พอฟังแล้วไปเหมือน The Beatles แล้วจะไปทำทำไม เขาทำมาแล้ว ไม่ทำอะไรให้ใหม่ ๆ
พี่บาฟทำให้นึกถึง David Bowie คิดยังไงกับคนที่ทำเพลงมาหลายยุคหลายสมัย จนยุคสุดท้ายของเขาที่อายุมากแล้วก็ยังทำเพลงออกมาได้ล้ำอยู่
ผมเคยไปดูเขาเล่นที่สนามกีฬากองทัพบก ล้มเหลวมาก คนไทยไม่เก็ตอะ จับกลุ่มกินเบียร์ยืนมอง แล้วสถานที่ไม่ดี โบวี่ก็ไม่ได้เอนเตอร์เทนขนาดนั้น คงร้อนมั้ง Phil Collins สนุกกว่า ผมยังเต้นรำเลย แต่ความจริงโบวี่เขาเป็นคนเก่งนะ แกไม่ได้เก่งเรื่องดนตรีอย่างเดียว แต่ทุกอย่าง ที่สำคัญเพื่อนแกดีมาก คนร่วมสมัยของแกไม่ว่าจะเป็น Brian Eno ใครต่อใครในยุคนั้นสุดยอด เพลงชุดใหม่ Blackstar ก่อนเขาจะตายนี่ผมก็ชอบมาก ทันสมัยมาก เป็นผลงานที่สุกงอม
มาถึงจุดนึงผมรู้สึกว่าตัวเองกลับไปฟังเพลงยุค 80s 90s พวก The Smiths หรือ Joy Divisionคือฟังแล้วมันไม่ใหม่หรอก แต่เราพยายามทำตัวกลับไปเป็นคนยุคนั้นที่ได้ฟังเสียงแบบนั้น มันก็คงจะเจ๋งมาก ๆ เพราะเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับพวกเขา แล้วเราก็ได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ กับความเชื่อใหม่ ๆ ของเรา แล้วพอกลับมาตรงนี้เราก็ได้เห็นว่าดนตรีมันไปไกลแค่ไหนแล้ว มันเปลี่ยนไปจริง ๆ แต่พอถึงตอนนี้มันก็ไม่ได้พัฒนาไปไหนอีกเพราะคนเจ๋ง ๆ เมื่อก่อนทำอะไรไว้เยอะมาก การที่คนรุ่นใหม่จะขึ้นมาทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาก็เป็นเรื่องยากแล้ว เหมือนที่ Bob Dylan บอกว่าทำไมยุคนั้นทำออริจินัลได้ เพราะยุคนั้นยังไม่มีออริจินัลไง ทุกคนก็อยากเป็นออริจินัลกันหมด คนสมัยนั้นคงมีเวลาว่างกันเยอะ ไม่มีอะไรทำ ก็เล่นดนตรีกันไป สมัยนี้ต้องเลี้ยงลูก ทำโน่นนี่ เยอะแยะ แกก็พูดแบบน่ารัก ๆ ของแก ผมว่าเขาเป็นบุคคลที่ร้อยปีจะมีสักคนที่เป็นแบบนี้ เหลือเชื่อที่ผมดูคนเสิร์ตของแกแล้วรู้สึกทึ่ง เผอิญได้ดูคอนเสิร์ตของหลายวงที่มีชื่อเสียง อย่าง The Rolling Stones ตอนไปดูคุณก็รู้ว่านี่คือเพลงอะไร แล้วเขาจะเล่นเหมือนแผ่นเปี๊ยบเลย แต่บ็อบ ดีแลนเขาจะเอาเพลงของเขามาเล่นอีกแบบนึง ซึ่งคนควรจะเสียตังไปดู นี่คือคอนเสิร์ตที่เขาไม่เอาเปรียบคนและแสดงถึงความฉกาจฉกรรจ์ของแก
เสียงแบบไหนจะออกมาพอใจที่สุดก็ขึ้นกับหูของคุณนั่นแหละ คุณจะฟังเทป ซีดี MP3 ไม่มีอะไรดีกว่าอะไรหรอก มันอยู่ที่คุณรู้สึกยังไง
พูดถึงช่วงนี้ รู้สึกยังไงกับที่มีคนไปบอกคนที่ใส่หูฟังว่าการฟังเพลงในช่วงนี้ไม่เหมาะสม
อันนี้ก็ลำบาก อย่าไปละเมิดเขาเลย การแสดงออกว่าฉันรักมากกว่า ฉันเข้าใจมากกว่า หรือไปบอกคนอื่นว่ามึงต้องแบบนั้นแบบนี้ มันก็ผิดตั้งแต่คิดแล้ว คุณไม่มีสิทธิไปตัดสินใคร ไม่ว่าจะเรื่องมาตรฐานของไทย ของประเทศไหน หรือของดาวอังคาร ก็จะมีการพูดว่าต้องมีความเข้าใจในกาลเทศะ อันนี้ก็ว่ากันเป็นเรื่องเป็นราวไป แต่การที่ชี้นิ้วแล้วตัดสินฟันธง ผมไม่ค่อยฟันธงอะไรใคร ชีวิตมันมีมากกว่าแค่ถูกผิด มันมีเยอะกว่านั้น ชีวิตแม่ง… บางทีที่เห็น ๆ อยู่ว่าเป็นอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วมันยังไม่ใช่น่ะเคยเจอไหม เหมือนเป็นหมอกหรือควัน ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราก็ชื่นชมมันไป ที่ไหนได้คนเผาป่ากันชิบหายวายป่วง แล้วเราก็ยกยอควันนั้นว่ามันเป็นหมอกที่สวยงาม มันก็เป็นแบบนั้น
ฝากถึงนักฟังรุ่นใหม่
ฟังให้หลากหลาย ฟังทุกรูปแบบ อย่าไปสนใจว่าจะเป็น format อะไร ที่สำคัญคือมีความสุขกับการฟังเพลง
ฝากถึงคนที่จะแวะเวียนมาที่ร้าน
มีเวลาว่าง ๆ ก็แวะมานั่งพูดคุยสนทนากัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องดนตรี ศิลปะ การแต่งกาย อาหาร รสนิยมทางเพศได้หมด ผมไม่สนใจว่าคุณจะเป็นยังไง ผมมองว่าเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด
หลังจบการพูดคุยอย่างอิ่มหนำเมื่อสักครู่ เราก็เดินกลับมานั่งที่ห้องไวนิลและฟังเพลงต่อสักพักจนสมควรแก่เวลาที่จะต้องออกเดินทางต่อ ตอนนั้นเองเราสังเกตว่าแม่ของเราแฮปปี้มาก ผิดคาดที่ไม่ยักบ่นอะไร ทีแรกนึกว่าจะเบื่อซะอีกแต่กลับนั่งอ่านหนังสือไปตบเท้าตามจังหวะไป สุดท้ายก็ได้เปิดโลกทั้งแม่ทั้งลูกอย่างที่ตั้งใจไว้จริง ๆ และเป็นครั้งแรกที่เราได้เปิดเผยรสนิยมการฟังเพลงให้แม่แบบหมดเปลือก คือแม่เราเซอร์ไพรส์มาก ถามใหญ่เลยว่าเริ่มฟังเพลงแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ทั้งที่จริง ๆ เราก็เปิดฟังตอนอยู่หน้าคอมที่บ้านตลอดปน ๆ กันกับเพลงไทยและเพลงร่วมสมัยอื่น ๆ แต่เขาไม่ได้ตั้งใจฟังมั้ง กลายเป็นว่าการได้ใช้เวลาร่วมกันกับแม่ครั้งนี้เลยได้เพื่อนฟังเพลงเพิ่มอีกคน ก็คือแม่ตัวเองที่เป็นนักฟังตัวยงจากยุคนั้นนั่นแหละ และต้องขอบคุณการขับรถมาต่างจังหวัดด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทำให้เราได้เจอกับมนุษย์ที่น่าสนใจที่สุดคนนึงที่ช่วยเปิดโลกการฟังเพลงของเราขึ้นไปอีกระดับ
เรากอดแผ่นเสียงของ Syd Barrett ออกมาจากอาณาจักรส่วนตัวของพี่บาฟ เขาเดินมาส่งเรากับแม่และขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และไม่ลืมที่จะชวนให้มาใช้เวลาแบ่งปันประสบการณ์การฟังและการอ่าน ณ ที่แห่งนี้ในโอกาสต่อไป ซึ่งถ้าเราได้มาหัวหินอีก Rhythm & Books & Friends จะถูกใส่ลงไปในแผนการเดินทางครั้งหน้าของเราอย่างแน่นอน
Rhythm & Books & Friends ร้านหนังสือของ บาฟ – ภาณุ มณีวัฒนกุล ตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ ข้างเกสเฮาส์ชื่อ Hua Hin Place และร้านกาแฟ Velo Cafe บนถนนแนบเคหาสน์ สามารถทะลุเข้ามาถนนเส้นนี้ได้โดยขับผ่านซอยหัวหิน 53 ข้างวังไกลกังวล