กลับไปที่โลกกับ 5 วงดนตรีภาษาสากลใน Rocket Launcher Presents Jump To The World!
- Story and photos by Geeraphat Yodnil
10 กันยายน 2560
ในวันที่ภาษาไม่ใช่ข้อจำกัดศักยภาพในการทำเพลงของวงดนตรีไทย ก็มีวงจำนวนไม่น้อยที่ทำเพลงออกมาเป็นภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ และต้องยอมรับว่าแทบทุกวงได้กลายเป็นขวัญใจของคอเพลงนอกกระแส ด้วยคุณภาพของผลงานที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้ชาติใด แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ดูวงเหล่านี้ทั้งหมดเล่นสดในงานเดียวพร้อมกัน
นั่นคือที่มาของจรวดลำที่ชื่อว่า ‘Rocket Launcher’ พาหนะบรรจุวงดนตรีนอกกระแสผู้ทำเพลงภาษาสากลเต็มลำ โดยที่ปลายทางของการเดินทางในแต่ละคนอาจจะเป็นดวงดาวที่ต่างกันออกไป แต่วันนี้ทุกคนจะมารวมตัวกันที่ Play Yard by Studio Bar
(20:15) สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับวงแรกในวันนี้คือพวกเขาเป็น Undiscovered Artist ที่ผ่านเข้ารอบ 3 วงสุดท้ายของรายการ Tiger Jams ครั้งที่ 2 ในชื่อ Diaries เพียงเท่านี้เลย พวกเขาคือวงร็อกโดยพื้นฐานที่ใส่ใจกับแนวเพลงอันเป็นส่วนผสมรองอย่างหาตัวจับได้ยาก มีความก้าวร้าวอย่างที่วง grunge ดี ๆ ควรจะมี แอบซ่อนความละมุนละไมชวนฝันอย่างที่วงป๊อปดี ๆ วงนึงจะเป็นได้ และบางครั้งก็มีความเป็น punk rock ที่เจือปนไปด้วยความเมามายจาก psychedelic (หลากอารมณ์มากจนไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดเกินขึ้นพร้อมกันในไม่กี่เพลง) ขอเดาเอาว่าท่อนเพลงของพวกเขาผ่านการ arrange และออกแบบที่ละเอียดและคิดมากอย่างท่อนต่อท่อน เรามองไม่เห็นสูตรสำเร็จอะไรเลย ผลลัพธ์มีแต่ความประหลาดใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่เพลงขึ้นและจบไป พาร์ต rhythm ก็แข็งแรง ทั้งยังมีความเข้าใจว่าเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นควรจะเกิดและดับในตรงไหนถึงจะพอดี เราจึงได้เห็นลายเบสที่ซุกซน ลายเมโลดี้กีตาร์ที่สวยงามโดยที่มีคอร์ดของกีตาร์อีกตัวซัพพอร์ตอยู่กับกลองอย่างชัด ๆ ในเพลงเดียว การเล่นสดที่ยอดเยี่ยมย้ำว่ายอดเยี่ยมทำให้เราอยากดูพวกเขาอีกซักครั้งทันทีที่โชว์จบลง และก็ทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งใน underrated band ที่น่าจับตามองที่สุดของเราไปในทันที หวังว่าเราจะได้พลิกอ่านไดอารี่หน้าต่อไปในเวลาที่ไม่นานเกินไปนัก
ช่วงต่อผ่านไปสู่วงที่ 2 ในระหว่างที่วงแรกกำลังลาจากไป ดูเหมือนจะเป็นเวลาที่ผ่านไปช้ามาก ช้าเสียจน ทำให้รู้สึกว่าแสงไฟนีออนที่ประดับภายในร้านวันนี้ดูสวยงามมากกว่าที่มันเคยเป็น และตอนนี้พวกเขาก็เซ็ตอุปกรณ์เสร็จพอดี
(21:04) The Young Wolf คือวงที่กำลังจะเล่นต่อไปนี้ เราชอบที่ตัววงสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยคอสตูมของฟรอนต์แมนและมือกีตาร์ที่แสดงให้เห็นเนื้อหนังที่มากกว่าปกติ พวกเขาเหมือนหมาป่าที่เสื้อผ้าไม่ใช่อุปสรรคในการดำรงชีวิต และเขี้ยวแรกของพวกเขาก็พุ่งใส่เราที่กำลังชื่นชมอยู่ในทันที เสียงร้องที่เจือด้วย high tone ที่ซาบซ่าน ร้อนแรงและเซ็กซี่นี้คือเอกลักษณ์อย่างที่เราไม่เคยพบเจอในวงไหน และพาร์ตดนตรีที่มีความเป็น blues กับ rock n roll อยู่สูงก็เป็นสิ่งที่คอยชูเสียงร้องและตัวดนตรีเองให้ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ท่อนเพลงที่เต็มไปด้วยความสะใจ ความหลอนจากเสียงแตกและลีดของกีตาร์ทั้ง 2 ตัวของพวกเขา แอบทำให้เรานึกถึงวงออสเตรเลีย unison สะใจอย่าง Wolfmother อยู่ไม่น้อย ตลอดโชว์เต็มไปด้วยคำหยาบคายที่จริงใจ (ทั้งจากเนื้อเพลงและ performance ) พวกเขาบอกคนดูรวมถึงเราว่าทุกเพลง base on เรื่องราวที่มี ‘ผู้หญิง’ เป็นตัวละครหลัก นั่นทำให้คมเขี้ยวของ The Young Wolf ยิ่งรุนแรงและเจ็บปวดมากขึ้น สำหรับเราพวกเขาคือหมาป่าที่เต็มไปด้วยความรัก ความกระหาย และความใคร่ การแสดงสดของพวกเขาสร้างความรู้สึกกลัวไปพร้อม ๆ กับความต้องการในตัวของพวกเขาให้เรา
ถ้า 20 นาทีเมื่อเช้าของคุณคือความเฮงซวย เราบอกได้เลยว่า 30 นาทีจากวงที่พึ่งจบไปสามารถล้างออกได้หมด
(21:58) อีกหนึ่งวงในวันนี้ที่แบกรับความเป็น Undiscovered Artist ติดตัวมาด้วย Nobuna นี่คือช่วงเวลาที่เดือดและรุนแรงที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ พวกเขาผลักเราเข้าสู่ฝันร้ายที่ผู้หลับไม่ต้องการจะตื่น ด้วยความเป็น metal core ที่หนักไปด้วยกระเดื่องคู่จาก bass drum ในพาร์ตกลอง ลายเบสที่อุดมไปด้วยย่าน mid และ high ที่เต็มเปี่ยม และเมโลดี้ที่เกิดจากเทคนิคการ sweep ของกีตาร์ ก่อนจะผ่านผู่เล่าเรื่องจากฟรอนต์แมนทั้ง 2 คน ดนตรีของโนบูนะทรงเสน่ห์ด้วยความหน่วงที่เกิดจากพาร์ต rhythm ที่หนักแน่นราวกับเป็นแรงโน้มถ่วง แต่กลับพาเราลอยขึ้นไปติดอยู่บนเพดานอากาศ นี่คือวงที่มี energy ในการเล่นสดสูงมากกกกก สามารถชักจูงให้ผู้คนสร้างสมรภูมิเดือด (circle pit) ได้อย่างที่ต้องการ เราอาจจะไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ในดนตรีสายนี้ซักเท่าไหร่นัก แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวงที่โดดเด่นและดีมากของสายนี้สำหรับเรา
2 วงสุดท้ายจะเป็นตัวตัดสินปลายทางของการเดินทางในครั้งนี้
(22:54) ความประหลาดใจของเราเกิดขึ้นทันทีที่เห็นจำนวนสมาชิกของวงที่ใช้ชื่อว่า Flammable goods มี 3 คน ซึ่งหมายความว่าน้อยที่สุดในงาน เพลง What a Wonderful World ของ Louis Armstrong ที่วงเลือกใช้เปิดตัว ทำให้รู้สึกเหมือนทางวงต้องการจะบอกเราว่า ‘โลกที่สวยงามไม่เคยมีอยู่จริงหรอก’ และแล้วเหล่าวัตถุไวไฟก็ทำการติดไฟตัวเองด้วยเพลงแรกที่ทำให้ความรู้สึกของเราไหม้ตามไปอย่างรวดเร็วจากวงร็อกที่มีพาร์ต rhythm หนักแน่นเกินกว่าจะเชื่อว่าเป็นวงดนตรี 3 ชิ้น พวกเขาสร้างโทนให้ดนตรีของตัวเองด้วยการใส่เสียงแตก (distrotion) ให้เบสที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนประจุไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ร่างตลอดเวลาและกล่อมเราด้วยเมโลดี้หลอนหูจากกีตาร์ก่อนที่จะระเบิดใส่เราอย่างรุนแรงด้วย rhythm ที่หนักหน่วงจากกลอง แต่ เพลงช้าของพวกเขากลับให้ความรู้สึกที่เย็นยะเยือกต่างจากสสารที่ตัววงเป็นวัตถุไวไฟ เลือกจบโชว์ด้วยเพลงที่ใช้ชื่อว่า Tiger ซึ่งสำหรับเราคือดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายที่สวยงามและบ้าคลั่งที่สุดก่อนที่หัวใจของเราจะได้ขึ้นไปอยู่บนดาวปลายทางของตัวเอง
30 นาทีสุดท้ายสู่จุดหมาย ‘ดวงจันทร์’
(00:02) Penny Time เราเคยมีความทรงจำร่วมกันครั้งแรกตอน Cat Foodival ครังที่ 2 เป็นวงที่ย้ำให้เราได้เข้าใจว่า ‘ดวงจันทร์’ ที่อยู่อีกไม่ไกลนั้นสวยงามมากขนาดไหน ความป๊อปที่ซ่อนอยู่ในความเป็น young American rock ในวันนั้นยังคงสุกสกาวมาจนถึงวันนี้ และเราก็คงจะต้องขอชมเหมือนเดิมว่า เมโลดี้ลีดกีตาร์มันฆ่าให้เรารู้สึกดีไปจนตายอีกครั้ง พาร์ต rhythm ที่สร้างความโดดเด่นให้เบสและกลองไปด้วยกันก็ยังคงอยู่ ที่เราชอบมากขึ้นกว่าครั้งก่อนคือเสียงร้องของฟรอนต์แมนที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นวัยรุ่นผู้ขบฎในกรอบของสังคม เสียงนั้นทำให้เราอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบ้า ๆ เสียจริง เพลงสุดท้ายที่มีที่มาจาก The Beatles ในชื่อ Helter Skelter ทำให้ช่วงเวลานี้ของ Penny Time เต็มไปด้วยผู้คนที่พากันเต้นรำด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม เราเชื่อว่าทุกคนต่างรู้ดีว่าความสุขที่เกิดจากช่วงเวลาในปลายทางในตอนนี้มันห่อล้อมพวกเราขนาดไหน
เป็นอีกงานที่แสดงให้เราเห็นว่าการจัดงานในสายดนตรีนอกกระแสแบบนี้ต้องใช้ทั้งใจและกายที่เต็มร้อยของทั้งผู้จัดและวงที่มาจริง ๆ เราแอบเสียดายที่เห็นคนน้อยในระหว่างที่เพลงแรกเริ่มเล่นแต่ไปเยอะเอาช่วงเพลงที่ 2 แทน เพราะเราเชื่อว่าไม่มีศิลปินคนไหนหรอกที่คิดโชว์เผื่อคนเยอะในเพลงที่ 2 การอยู่ดูจนครบทุกเพลงมันเป็นสิ่งที่ทำให้โชว์นั้น ๆ มีความหมายอย่างสมบูรณ์จริง ๆ นะ see you next time ในระเห็ดเตร็ดเตร่ ครั้งหน้าครับ : )