‘ถึงจะไม่ทำเงิน แต่ Dub หล่อเลี้ยงจิตใจ’ ฟังเหตุผลที่ แก๊ป T-Bone ยังไม่หยุดทำ GA-PI ในงาน จับหูชนปาก 8
- Story and photos by Montipa Virojpan
7 เมษายน 2561
Jubhuuchonpak จับหูชนปาก งานเสวนาดนตรีดี ๆ และดนตรีสดจากศิลปินหาตัวจับยาก GA-PI ที่จะมาแบ่งปันคอลเล็กชันแผ่นเสียงส่วนตัวให้พวกเราได้ฟัง โดยจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 8 แล้ว
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้มาเยือนบ้าน Nitt Press ด้วยตัวเอง พบว่าสถานที่เป็นห้องแถวหนึ่งคูหาซ่อนตัวอยู่บนถนนพรานนก และถูกฉาบไปด้วยไฟนีออนสีแดงฉาน มีโปสเตอร์หนังยุคเก่าอัดเฟรมวางเรียงราย ข้างผนังแปะโปสเตอร์คอนเสิร์ตที่จัดโดยกลุ่ม The World May Never Know ซึ่งคืออีกหนึ่งผู้ร่วมจัดงานจับหูชนปาก บริเวณทางที่จะไปสู่หลังบ้านเป็นที่ตั้งของ turntable พร้อมแผ่นเสียงมากมาย และ ‘dubwise’ อีกอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ที่ทักทายผู้ร่วมงานตั้งแต่เปิดประตูเข้ามา เพราะหนนี้ก็มี แก๊ป—เจษฎา ธีระภินันท์ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ แก๊ป T-Bone จะมาพูดคุยกันแบบใกล้ชิดกับแฟนเพลงตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน เกี่ยวกับโปรเจกต์เดี่ยวของเขาในชื่อ GA-PI พร้อมด้วยวง Rootsman Creation, Fyah Burning และ Pinn Ball ที่จะมาแจมใน live session ค่ำคืนนี้กันด้วย
เวลาสองทุ่มนิด ๆ หลังจากเราจัดหาแก้วเครื่องดื่มประจำตัวได้แล้ว ก็มายืดหลบมุมดูพี่แก๊ปเปิดเพลงที่เขาชอบให้เราฟัง โดยก่อนที่เขาจะเปิดแต่ละเพลงก็จะเล่าว่าเขามีจุดเริ่มต้นการฟังเพลงจากอะไร และทำไมถึงขยับขยายมาที่เร็กเก้ได้ พี่แก๊ปเล่าว่าเขาเป็นคนชอบฟังเพลงพวก Otis Redding หรือ Stevie Wonder มาก่อน เพราะจริง ๆ ก็เป็นเพลงที่ฟังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แกพูดติดตลกว่าที่บ้านไม่ค่อยมีเงิน แต่รสนิยมดี มีคลองถมเป็นแหล่งหาแผ่นเสียง เรียกเสียงฮาครืนจากผู้ชม ซึ่งเพลงแรกที่เปิดก็มาจาก LP The Best of ของ Otis Redding ที่แกบอกว่าสอยมาจากร้าน Saxophone บาร์แจ๊สที่วง T-Bone เล่นประจำอยู่ นอกจากนี้ก็ฟังเพลงแนวอื่น ๆ ทั้ง Kitaro หรือ Eric Clapton ตั้งแต่ที่อยู่วง Cream เลยได้ลามไปฟังทั้งเพลงไซคีเดลิก หรือบลูส์ ด้วย
ในช่วงปี 80s ที่พี่แก๊ปเริ่มเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นเขามีโอกาสได้ฟังเพลงนิวเวฟ, อาร์ตร็อก, หรือพังก์ ผ่านรายการ Night Spot ที่ ป้าแต๋ว—วาสนา วีระชาติพลี และ พี่หมึก—วิโรจน์ ควันธรรม เป็นผู้จัดรายการ ณ ขณะนั้น ซึ่งเพลงแนว ๆ นี้ที่ได้ฟังก็ไม่พ้นวงอย่าง The Clash, Depeche Mode, Japan โดยแผ่นที่เปิดให้เราฟังแผ่นต่อไปมาจากวง The Police คือ Next to You และอีกเพลง น่าจะเป็นแทร็คที่ต่อกันคือ So Lonely ซึ่งเป็นเพลงที่เมื่อเขาได้ยินครั้งแรกก็เข้าใจว่าเป็นเพลงเร็กเก้ แต่อันที่จริงวงแค่ได้อิทธิพลมาจากแนวเพลงนี้เท่านั้น และที่ไม่น่าเชื่อก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่นอกจากเขาเคยเล่นวงบลูส์แล้ว ยังเล่นวงพังก์ที่คัฟเวอร์เพลงของ Sex Pistols หรือ Ramones มาก่อน (ไม่ใช่กับใครที่ไหนแต่เป็นพี่เม วง Kidnapper นั่นเอง) จากนั้นก็เล่าต่อว่าช่วงที่เป็นดีไซเนอร์ก็ได้ฟังงานของ Brian Eno ที่เคยเล่นคีย์บอร์ดให้วง Genesis ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงดนตรีหลายวงในยุคนั้น รวมถึงเพลง Once in a Lifetime ที่เขียนและโปรดิวซ์ให้วง Talking Heads ที่ก็เปิดให้ฟังในวันนั้นด้วย แล้วต่อมาเขาถึงได้หันมาฟังฟังก์และบลูส์นั่นเอง
เมื่อเข้าสู่ยุค 90s การฟังเพลงของพี่แก๊ปเริ่มกระจัดกระจายไปแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น เขาก้าวขาเข้าไปในโลกของ acid jazz, trip hop ด้วยความหลงใหลในการผสมผสานความเป็น old school และความร่วมสมัยในยุคนั้น โดยเพลงที่เปิดให้ฟังก็เป็นงานของ Guru เจ้าของอัลบั้ม Jazzmatazz ที่ทำให้คนรู้จักแนวเพลงนี้อย่างกว้างขวาง และเพลงที่ถูกนำมาเล่นชื่อ Lifesaver ที่เป็นงานที่ร่วมทำกับศิลปินอีกคนชื่อ Baybe อันที่จริงเราจะเรียกเพลงนี้ว่าเป็นแจ๊สฮอปก็ไม่ผิดนักเพราะเป็นการเล่นลูปกับกรูฟเพลงแจ๊สและมีบีตฮิปฮอปกับท่อนแร็ปในเพลงด้วย จากนั้นก็เป็นการพักช่วงแรกโดยมีเพลงเร็กเก้เปิดคลอรอให้ทุกคนพร้อมก่อนจะดำเนินรายการสู่ช่วงต่อไป
เกือบสามทุ่ม ทุกคนเข้ามาประจำที่นั่งของตัวเอง ตอนนี้พี่แก๊ปได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ dubwise หรือเครื่องเล่นดั๊บที่เป็นการต่ออุปกรณ์เล่นเสียงต่าง ๆ และเอฟเฟกต์เข้าด้วยกัน พร้อมกับแง้มให้ดูความอนาล็อกสุด ๆ ของเอฟเฟกต์รีเวิร์บรุ่นเก่าที่เป็นเพียงสลิงหนา ๆ ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของเสียง หรือ space drum ที่เป็นเพอร์คัสชันซินธิไซเซอร์ยุคแรก ๆ ที่ทำให้เสียงออกมาเป็นบีตแบบ retro-futuristic เหตุผลที่ทำให้เกิดอุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ชาวจาไมก้า ต้นกำเนิดของเร็กเก้และดั๊บ แทบจะไม่มีเครื่องดนตรีหหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงที่เพรียบพร้อมนัก พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ของที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ก็คิดค้นมันขึ้นมาเอง โดยสมัยก่อนจะเป็นการอัดเทปเพลงเพลงนึงแยกมาเป็นสี่แทร็ค แล้วต้องเรียนรู้ที่จะมิกซ์เอาแต่ละเสียงเข้าไปแล้วเล่นออกมาเป็นเพลงใหม่ที่บางครั้งอาจจะไม่มีเสียงนักร้องแบบต้นฉบับ พี่แก๊ปเล่าว่าเป็นเพราะพวกพ่อค้าเร่ขายของเขาก็ตัดเสียงร้องออกแล้วพูดขายสรรพคุณสินค้าไปแทนและใช้ backing track เพื่อดึงความสนใจจากคนโดยรอบ จนเป็นที่มาของ ‘raggamuffin’ ที่เป็นแนวเพลงหนึ่งของเร็กเก้ที่มีการแร็ปนั่นเอง และตอนนี้พี่แก๊ปก็สาธิตการดั๊บให้เราดู โดยชวน อุ้ม วง Rootsman Creation มาเล่นเพอคัสชันไปด้วยกันในเพลง Hi-Speed Love ของ Srirajah Rockers
จากนั้นพี่แก๊ปก็เล่าต่อว่าแกชอบเล่นดั๊บกับคนจริง ๆ มากกว่าจะเป็นเครื่องเสียงล้วน เพราะมันให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา อีกทั้งแทร็คเพลงต่าง ๆ ที่เขามี ส่วนมากจะเป็นงานออริจินัล ซึ่งอันที่จริงเขาสามารถนำเพลงเหล่านี้มาทำจำหน่ายต่อได้ แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำเพราะหลายงานก็ได้รับมาจากเพื่อนพี่น้องในวงการที่มีสัมพันธ์อันดีและมอบให้เขาด้วยความจริงใจ และเล่นเพลงจากวง T-Bone ให้เราฟังอีกเพลงก่อนนำเข้าสู่ช่วงต่อไป
ประมาณสี่ทุ่มกว่า ‘Baby I’m Bored Live Session’ Vol. 4 ก็เริ่มขึ้น GA-PI มาประจำที่พร้อมด้วย อุ้ม และ อุ้ย มือแซ็กโซโฟนแห่ง Rootsman Creation เริ่มบรรเลงดั๊บโดยมีคนนำเต้นสองคนถ้วน คือฉันและแฟนฉันเองจ้ะ ก็เขิน ๆ นิดนึงเหมือนกัน แต่เพลงเขาหนึบหนับขนาดนี้ไม่โยกก็ไม่ได้แล้วล่ะ ไม่แน่ใจว่าเพลงแรกที่เล่นคือเพลงอะไร แต่เพลงที่สองมีความคล้ายว่าจะเป็นเพลง เดิน ของ Rootsman Creation (อันนี้ไม่แน่ใจจริง ๆ ขออภัยหากผิดพลาดค่ะ) จากนั้นจึงเป็น นักกินผัก ของ Srirajah Rockers ที่ตัดท่อนร้องออกไปเหลือแค่ฮุก นำมาใส่เป็นช่วง ๆ เน้นการบรรเลงทำนองกับบีต และเพลงต่อมาก็ได้ Pinn Ball, Fyah Burning และมือเทเนอร์แซ็กโซโฟน มาแจม โยก ๆ หนึบ ๆ กันไป จนอยู่ดี ๆ ก็เล่นเพลงโอลสคูลฟังก์เท่ ๆ เลย เต้นเป็นบ้า ดีงามมาก เรียกว่าเซอร์ไพรส์เพราะไม่คิดว่าจะเล่นเพลงแนวอื่นด้วย ก่อนจะกลับมาที่เร็กเก้ดั๊บจบไปอย่างงดงาม
ในช่วงสุดท้ายของงานก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมถามคำถามกับพี่แก็ป ทำให้เรารู้ว่าการมาเป็นศิลปินของพี่แก๊ปคือความเบื่อจากการเป็นดีไซเนอร์และมาเริ่มเล่นวงร็อกกับเพื่อน ๆ เคยเปิดบาร์เร็กเก้ที่ข้าวสาร จนได้รับการชักชวนให้เข้าวงทีโบน ที่ครั้งแรกได้ร้องเพียงสองเพลงเท่านั้น แต่ก็ทำให้คนจดจำน้ำเสียงของเขาและกลายมาเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา อีกทั้งได้ทราบว่าศิลปินไทยที่พี่แก๊ปชอบ (ที่ไม่ใช่ BNK48 ไม่รู้พูดจริงหรือพูดเล่น) คือ คำรณ สัมบุญณานน เจ้าของเพลง คนบ้ากัญชา โดยให้เหตุผลว่าเป็นกบฎทางดนตรีตัวจริงในยุคนั้น และเพลงแรกที่ร้องตอนเด็ก ๆ คือเพลงสิบหมื่น
มีอยู่ประเด็นนึงที่พิธีกรถามถึงสาเหตุที่เขาหัดดั๊บและทำ Jahdub Stido ขึ้นมา พี่แก๊ปเล่าว่ายุคนั้นยังไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่เขาทำ (เร็กเก้/ ดั๊บ) การจะให้โปรดิวเซอร์ที่ทำเพลงร็อกมาทำเพลงแนวนี้ให้ก็คงจะไม่ใช่ เขาจึงต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นก็เป็นช่วงที่เขาทำโปรดิวซ์ในค่าย Eastern Sky Records ที่มีศิลปินในค่ายอย่าง พราว, Paradox, Stylish Nonsense, และ Siam Secret Service ไปพร้อม ๆ กัน พี่แก๊ปพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า แม้มันจะเป็นแนวเพลงที่ไม่มีใครเก็ต หรือไม่เคยทำเงินให้เขาได้เลยก็ตาม เขาก็จะไม่หยุดทำมัน เพราะยังไงเพลงดั๊บก็คือสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจมาจนถึงทุกวันนี้ และตอนนี้ใน Jahdub Stido ก็มีศิลปินในสังกัดอย่าง Rootsman Creation, Fyah Burning, Pinn Ball และกำลังจะได้มิกซ์ให้กับ The Skints วงเร็กเก้จากอังกฤษด้วย
เป็นครั้งแรกของการมาร่วม จับหูชนปาก ซึ่งวันนี้ก็รู้สึกว่าได้อะไรเยอะมาก นอกจากได้เพลงใหม่ ๆ มาฟังก็ได้รู้ที่มาที่ไปของพี่แก๊ปมากขึ้น ได้เห็นกระบวนการดั๊บ ได้ดูโชว์ดี ๆ อีกโชว์ แล้วยังได้แง่คิดกับจุดประกายการดำเนินชีวิต เรียกว่ารับไปเต็ม ๆ ในงานนี้งานเดียว ใครที่ยังไม่เคยมาเราอยากให้ลองมาสักครั้ง เพราะแขกรับเชิญแต่ละคนก็คงไม่ได้มาเปิดเพลงแบบนี้ให้ฟังหรือนั่งคุยกันแบบใกล้ชิดอย่างนี้บ่อย ๆ (รอบก่อนหน้ามี Srirajah Rockers, เล็ก พราว, จีน มหาสมุทร, Buddhist Holiday, Selina and Sirinya, Into the Air ไม่ธรรมดาจริง ๆ) ติดตามกันดูว่าครั้งหน้าจะมีใครมาร่วม จับหูชนปาก กันได้ที่ https://www.facebook.com/Nittpressbkk/