Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

น้อย ๆ แต่ 100% ที่งาน FolkJamm #จากทะเลสู่ภูเขาเรามาฟังโฟล์ก

  • Writer: Piyakul Phusri
  • Photographer: Piyakul Phusri and Jarudet Chailert

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีงานโฟล์กเล็ก ๆ ที่เชียงใหม่บรรยากาศอบอุ่น ๆ เป็นกันเอง ในชื่องาน FolkJamm #จากทะเลสู่ภูเขาเรามาฟังโฟล์ก จัดโดยทีมงานแจ่มเจริญย์ วินเทจ เชียงใหม่ ศูนย์รวมนักดนตรีอินดี้โฟล์กที่ส่งนักดนตรีจากอินดี้ซีนในเชียงใหม่ให้กลายเป็นศิลปินดังไปแล้วหลายคน ซึ่งครั้งนี้มาพร้อมธีมการแลกเปลี่ยนบรรยากาศทางดนตรีของโฟล์กจากเมืองชายทะเล และโฟล์กจากเมืองภูเขา ที่พิเศษสุด ๆ คือมีศิลปินอินดี้โฟล์กสองสาวจากเกาหลีใต้บินตรงมาร่วมแสดงด้วย

 

งานนี้เริ่มแสดงกันตั้งแต่บ่ายโมงยาวไปจนถึงเที่ยงคืน ที่เฮือนไม้ซาง บูติค ฮัท แต่เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดของเชียงใหม่ เราเลยตัดสินใจไปร่วมงานในช่วงเย็น ๆ เพราะสู้แดดไม่ไหว ทำให้พลาดชมการแสดงของ พราหมณ์ จอร์จ, ณรงค์ชัย ดอกไม้เพลง, คณะ 888, Boonpunt, Windy, พีท และ บันทึกของปิติ และ Yellow Stoner ไป ก่อนที่จะหาที่นั่งฟังเพลง เรามีโอกาสได้คุยกับพี่ตุลย์ – ตุลย์เมธี เกิดแต้ม เจ้าของร้านแจ่มเจริญย์ และเป็นผู้จัดงานถึงที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้ โดยต้องการเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินโฟล์กหน้าใหม่ได้แสดงฝีมือ และให้เสียงดนตรีจากต่างภูมิภาคได้เดินทางมาเจอกัน และเป็นโอกาสดีที่ได้ดึงศิลปินจากต่างประเทศมาร่วมแจมในงานนี้ด้วย

เรามาถึงงานตอนที่ White Cigarette กำลังเล่นเพลง ทำไมไม่เป็นฉัน โดยมี แมนรัตน์ และ เตชินทร์ กำลังร่วมแจมกีต้าร์ และคีย์บอร์ด ฝีมือของ บอล – อัศนัย ไชยรักษา ที่วันนี้มาในนาม White Cigarette คอโฟล์กเชียงใหม่คงรู้กันดีอยู่แล้วว่าเล่นได้เนี้ยบทั้งเพลงภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ยิ่งวันนี้ได้กีตาร์มาเสริมอีกไลน์ และเสียงคีย์บอร์ดคลอ สลับกับโซโล่ ยิ่งทำให้เพลงอย่าง สมหวัง และ flower มีมิติที่สมบูรณ์ และกลมกล่อมยิ่งขึ้น

แสงอาทิตย์ลับเหลี่ยมดอยสุเทพไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่แสงสุดท้ายกำลังจะจากไป ก็เป็นเวลาของแขกพิเศษอย่างพี่ Chang Brown Hat หนุ่มร่างท้วมเสียงเหงาสุด ๆ ที่มาพร้อมหมวกสีน้ำตาลเป็นเอกลักษณ์ ถึงจะมาคนเดียวแต่ก็ครบถ้วนกระบวนความเพราะจัดเต็มทั้ง Loop recoding ฮาร์โมนิก้า รวมกับฝีมือกีต้าร์ที่ในความคิดเราพี่แกคือเบอร์ต้น ๆ ของเชียงใหม่คนหนึ่ง ทำให้เพลงเนื้อร้องสวย ๆ อย่าง สวัสดีครับ ดั่งเงา และ บางคราวใจอ่อนแอมันต้องมีแพ้บ้างเป็นธรรมดา สร้างบรรยากาศของงานช่วงเย็นให้อบอุ่นอย่างเหงา ๆ ท่ามกลางเสียงจิ้งหรีดที่ร้องดังมาจากต้นไม้ใหญ่

ความมืดเริ่มปกคลุมสถานที่จัดงาน แต่ก็ขับให้แสงสีเหลืองของหลอดไฟสว่างจัดขึ้น ได้เวลาของ ชฮม. หรือ พี่ชา แห่งวง Harmonica Sunrise หรือ พี่ชา สุเทพการบันเทิง (เป็นหลายสถานะเหลือเกิน) ที่ยืนหยัดยืนยงอยู่ในซีนดนตรีโฟล์กเชียงใหม่มานานกว่า 10 ปี ทั้งการเล่นดนตรีในร้าน เล่นเปิดหมวก และ เล่นกับวงต่าง ๆ ที่คืนนี้จัดเต็มทั้งเพลงของ Harmonica Sunrise และ side project ต่าง ๆ มาให้แฟน ๆ หายคิดถึง ทั้งเพลง ชะตา feeling ok ทำใจดี ๆ ไว้ เหงา ออกไปข้างนอก เจ้าพระยาอาลัย และ นิมมานเหมันต์ เฉียบขาดทั้งคำร้อง และดนตรี รวมไปถึงที่มาของแต่ละเพลงที่ล้วนแล้วแต่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ และชีวิตของนักร้องเอง แถมช่วงท้ายยังมี เอกชัย เทพรักษา หรือ แซ็กป่า มือแซ็กโซโฟนมากฝีมือที่มีพลังงานชีวิตล้นเหลือมาแจมสร้างสีสันอีกด้วย

ขยับตัวยืดเส้นยืดสายขณะรอเปลี่ยนวง ภายในงานนอกจากจะมีบูธอาหาร และ เครื่องดื่มมาจำหน่ายแล้ว ยังมีบูธงานฝีมือ สินค้าแฮนด์เมด สินค้ามือสอง ไปจนถึงศิลปินวาดภาพเหมือน มาให้บริการสำหรับคนชอบงานประดิดประดอย และของเก่ามือสองอีกด้วย

ต่อเนื่องกับศิลปินที่นักฟังเพลงยามค่ำคืนในเมืองเชียงใหม่อาจจะคุ้นหน้ากันอยู่อย่าง เรืองฤทธิ์ บุญรอด เจ้าของฉายา ‘แสตมป์ดอย’ หนุ่มภาคกลางที่ใช้ชีวิตในเชียงใหม่มา 7 ปี จนแทบจะกลายเป็นคนเชียงใหม่ไปแล้ว คืนนี้มี เตชินทร์ มาช่วยบรรเลงคีย์บอร์ด มาพร้อมเพลงความหมายดี ๆ น่ารัก ฟังแล้วมีกำลังใจอย่าง จดหมายจากอ่างแก้ว เธอ ทะเลดาว ขอโทษทีที่ต้องให้รอนานนะครับ ใจ และเพลง เสน่ห์มูเส่คี ที่ได้ คลี – ณัฐวุฒิ ธุระวร จากวง KLEE BHO มาร่วมขับร้องบทเพลงชีวิตปะกาเกอะญอจากป่าสนวัดจันทร์ ปิดท้ายด้วยเพลง ฤดูกาล เข้ากันดีกับอากาศที่เริ่มเย็นลงทีละน้อย

ตกค่ำ ผู้ชมราว 50 ชีวิต ที่นั่งกันอยู่ริมขอบทางเดินเริ่มทยอยปูเสื่อจับจองที่นั่งหน้าเวที บ้างนั่ง บ้างนอน บรรยากาศเหมือนปูเสื่อกินข้าวฟังเพลงกันในสนามหญ้าหน้าบ้าน และก็ได้เวลาของเสียงเพลงจากฝั่งทะเลกันบ้างกับ Into The Air ส่งตรงจากหัวหินมาถึงเชียงใหม่ ผลงานการแต่ง เรียบเรียง ร้อง และเล่นกีต้าร์คนเดียวทั้งหมดของ โอ๊ก – ชัยเทพ ชื่นสกุล นักดนตรีมากฝีมือ กับเพลงความหมายลึกซึ้งอย่าง เวลากับสิ่งที่ดี happiness สิ่งสิ่งนั้น ส่งท้ายด้วย เพียงรัก เพลงคู่สุดน่ารัก ที่ได้คุณ ดวงใจ มาร่วมร้อง เป็นเพลงรักที่ทั้งเนื้อร้อง และทำนอง ฟังแล้วชื่นใจมาก ๆ

อีกหนึ่งไฮไลท์ของคืนนี้คือสองสาว lalasweet อะคูสติกป๊อป-โฟล์ก ส่งตรงจากเกาหลีใต้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความบังเอิญของผู้จัดงานที่มีโอกาสได้พูดคุยกับสองสาวในเทศกาลดนตรี และศิลปะ Shambala และทำให้รู้ว่าทั้งสองคนเป็นวงอะคูสติกป๊อป-โฟล์ก ที่สังกัดค่ายเพลงใหญ่ของเกาหลีใต้ และการมาเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้ถือเป็นการแสดงในต่างประเทศครั้งแรกของดูโอ้สองสาวคู่นี้ด้วย เธอแนะนำให้ผู้ชมเรียกเธอว่า ดาว กับ คิม และพรมนิ้วลงบนสายกีต้าร์ และคีย์บอร์ดออกมาเป็นบทเพลงใส ๆ อย่าง영원의 섬, September (Earth, Wind and Fire cover), 서울의 밤, 완벽한 순간, Green, และ 오월 ฝีมือดนตรีไม่ธรรมดาเลย ทำนองฟังสบายทั้งเพลงซึ้ง และเพลงสนุกสนาน (แม้ว่าจะไม่รู้ว่าเนื้อเพลงพูดถึงอะไรก็ตาม) หลับตาฟังแล้วคุณจะรู้สึกว่า ‘นี่มันเพลงประกอบซีรีส์เกาหลีแนวรักใส ๆ ชัด ๆ’ ทำเอาผู้ชมสาว ๆ โยกหัวตามเพลงได้ไม่ยาก

รับช่วงต่อจากสองสาวเกาหลีกับวงดนตรีเจ้าถิ่นอย่าง ธาดา วันนี้สองหนุ่ม ตี๋ กับ ออมสิน ได้ เตชินทร์ มาช่วยเติมเต็มภาคดนตรีด้วยเสียงคีย์บอร์ด ขนพาเหรดเพลงดังของวงมาบรรณาการแฟน ๆ อย่างจุใจ ทั้ง ปลายฝนต้นหนาวที่เพอร์เฟคพอจะตกหลุมรักใครซักคน เสียงกระซิบจากกองไฟ ให้เพลงของฉันอยู่เป็นเพื่อนเธอ ผ้าห่ม รอแบบ 300% ในระยะทาง 300 กว่าไมล์ หนุ่มบาร์น้ำตาริน งานเพลงเก่า ๆ ของ จีน – มหาสมุทร บุณยรักษ์ ก่อนจะปิดท้ายด้วย มอบให้คุณ เพลงรักที่หวานหยดที่สุดเพลงหนึ่งของวง

ระหว่างรอวงต่อไปขึ้นเล่น เรามีโอกาสได้คุยกับผู้ชม น่าสนใจว่ามีจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาชมงานนี้โดยเฉพาะ ผู้ชมคนหนึ่งกล่าวถึงซีนดนตรีโฟล์กในท้องถิ่นของตัวเองว่าเป็นไปอย่างแห้งแล้ง คนฟังเพลงอินดี้โฟล์กเป็นคนแปลก เป็นคนฟังเพลงประหลาด ๆ ที่น่าง่วงนอน และงานคอนเสิร์ตรูปแบบนี้คือสิ่งที่ค้นหามาตลอด เราสัมผัสได้ถึงความสุขจากสีหน้า และแววตาของคนที่ได้คุยด้วย ที่เจ๋งไปกว่านั้น มีคนเกาหลีสองคนที่บินตรงมาเชียงใหม่ในเย็นวันนั้นเพื่อมาดู lalasweet ก่อนจะบินกลับประเทศในเช้าวันต่อไปทันที!

เพิ่มดีกรีความเข้มข้นในรอบดึกกับ ดวงดาวเดียวดาย บทเพลงอะคูสติกโฟล์กของหนุ่มไกลบ้านที่หลายเพลงมีเนื้อหาจริงจัง สะท้อนสังคม แต่ก็จมลึกอยู่กับความรู้สึก คืนนี้ได้ แซ็กป่า มาแจมตลอดโชว์ ยิ่งทำให้ความรู้สึกในแต่ละเพลงชัดเจนขึ้นไปอีก กว่า 50 นาที บทเพลง เธอเอาไปทุกอย่าง ตุ๊กตายาง ฉันชอบดวงตาคู่นั้นเหลือเกิน จะใด ตรึงผู้ชมให้จดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอดด้วยภาษาที่มีชั้นเชิง และภาคดนตรีที่แข็งแรง โดยเฉพาะเพลงส่งท้าย บทเพลงสุดท้าย ที่ได้เสียงไวโอลินจาก Yellow Stoner มาแจม ยิ่งทำให้เพลงนี้ขลัง และ ทรงพลังอย่างมาก

ปิดท้ายงานคืนนี้กับ Behind The Smile ที่ถือเป็นวงใหญ่ที่สุดของคืนนี้เพราะมีสมาชิกถึง 5 คน นำทีมโดย บูม หนุ่มชุมพรที่ตอนนี้ทำงานอยู่ประจวบคีรีขันธ์ที่เล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อวงว่า ‘เราเห็นรอยยิ้มบนหน้าของผู้คน แต่เบื้องหลังรอยยิ้มนั้นล่ะ เราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร…’ สายลึกมั้ยล่ะ บทเพลงอย่าง นีออน midnight sunshine poor bear ฉำฉา ยายนุ้ย เด็กหญิง ดอกไม้ ล้วนแล้วแต่มีที่มาน่าสนใจ ทั้งจากประสบการณ์ในชีวิต เรื่องราวในอดีตครั้งวัยเยาว์ ไปจนถึงความรู้สึกที่มีต่อสภาวะโลกร้อน Behind The Smile ถ่ายทอดมันออกมาได้กลมกล่อมทั้งด้านเนื้อหา และภาคดนตรีที่โดดเด่นด้วยเอฟเฟคกีต้าร์ที่สร้างบรรยากาศฟุ้ง ๆ ลอย ๆ

งานจบลงในราวเที่ยงคืน แต่เมื่อความรู้สึกยังไม่จบ ดนตรีก็ต้องบรรเลงต่อไป ทางผู้จัดได้เตรียมกองไฟไว้หนึ่งกอง สำหรับใครที่ยังอยากอยู่ฟังเพลงต่อ ดื่มกิน หรือ พูดคุยกัน ก็มาว่ากันต่อที่รอบกองไฟนี้ และปล่อยให้เวลายามค่ำคืนล่วงผ่านไป ราวกับวันพรุ่งนี้จะไม่มาถึง…

สำหรับเรา งาน FolkJamm อาจจะไม่ใช่มหกรรมดนตรีโฟล์กขนาดใหญ่ที่มีศิลปินโฟล์กระดับแม่เหล็กมาเล่นเป็น headliner แต่มันเป็นงานดนตรีที่ทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของมิตรภาพของคนฟังโฟล์กที่แท้จริงแบบที่ผู้ฟังอยู่ใกล้ชิดศิลปิน และทั้งผู้ฟังและศิลปินได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างแท้จริง ๆ โดยไม่ต้องเดินทางออกไปที่ไหนไกล แค่ 10 นาที จากตัวเมืองเชียงใหม่ที่แสนจะวุ่นวาย ที่นี่…เสียงดนตรี และบทสนทนาของคนที่มีใจรักดนตรีโฟล์กนอกกระแส คงทำให้หลายคนกลับบ้านอย่างมีความสุข

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้