Article ระเห็ดเตร็ดเตร่

อย่าลองดีกับป้าโด! เปิดตำนานร้านเทป ซีดี ‘โดเรมี’ ที่เด็กสยามต่างเคยไปเยือน

  • Writer: Pasu Intaramanwong
  • Visual Designer: Tas Suwanasang

ฉันประกอบกิจการร้านเทปมานานกว่าสองทศวรรษ ถ้าไม่นับโรงหนังสกาล่า กิจการของฉันเป็นกิจการที่อายุยืนยาวและมั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งในสยามสแควร์ เห็นฉันอายุปูนนี้ก็อย่าได้คิดลองของ ฮึ! ฉันรู้จักเทปทุกม้วน ซีดีทุกแผ่นในร้าน ใครทำเพลงแนวไหนรู้หมด!”
ป้า มีวงเดอะฮิปมั้ย”
อ๋อ เดอะ ไฮฟส์ (The Hives) ย่ะ ไอ้หนู …”

 

นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับตัวละครวัยกลางคนชื่อDoe Danger‘ หญิงวัยกลางคนที่มีสถานะคล้ายผู้ทรงอิทธิฤทธิ์แห่งร้านเทป ซีดี โดเรมี เพราะไม่ว่าลูกค้าจะถามหาอะไร แกก็ตอบได้ (สามารถค้นของให้ลูกค้าได้ด้วย) เลยทำให้เหล่าลูกค้าหน้าใหม่ ๆ พร้อมจะยาตราทัพมากวนป้าได้ตลอด ส่วนตัวป้าก็พร้อมรบ พร้อมชน แถมบางครั้งยังสามารถเดาใจลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้อีกต่างหาก 

ป้าโด ปรากฏตัวครั้งแรกในนิตยสาร MTV Trax ประเทศไทย ฉบับที่ 3 เดือนเมษายน 2546 ตัวละครตัวนี้อยู่ในคอลัมน์โปรดของเรา ซึ่งผู้วาดคือคุณ โน้ต พงษ์สรวง แห่ง Dudesweet นั่นเอง

MTV Trax หนึ่งในนิตยสารเพลงหลาย ๆ หัวที่เราตามอ่านในยุคนั้นเพื่อให้รู้ข่าวคราววงการเพลง อัลบั้มใหม่ที่จะวางแผง วงใหม่ที่น่าติดตาม (ตอนนั้นบางค่ายก็เริ่มไม่ผลิตเทปแคสเซ็ตแล้ว ต้องเก็บเงินซื้อซีดี ซึ่งมันก็มีทั้งซีดีในประเทศที่ปั๊มเอง กับซีดีที่ค่ายนำเข้ามาอีก ราคาก็จะต่างกัน) อัลบั้มต่าง ที่เหล่าคอลัมนิสต์แนะนำ หรืออัลบั้มเก่าที่ทำให้เราสงสัยว่า เขาไปหาฟังพวกนี้จากไหนวะ 

อาวุธอีกอย่างของเราในยุคนั้นคือการฟังเพลงตัวอย่างความยาวแค่ 30 วินาทีในร้านขายออนไลน์ แต่ความที่สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำมาก เวลาจะต่อเน็ตก็จะได้ยินโมเด็มส่งเสียง dial up อี้แอด อี้แอดดดด ถ้าชอบจนต้องโหลด ก็ต้องใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงต่อเพลงกว่าจะเสร็จ แล้วก็ต้องมาลุ้นอีกว่าเน็ตจะตัดก่อนมั้ยวะ

อีกทีก็มีช่อง MTV Asia มี Channel [V] จากเคเบิ้ลท้องถิ่น แต่ก็อีก บางเพลงที่เราว่าเพราะว่ะ ก็จะจดชื่อไม่ทันบ้าง รายการรีรันออกฉายดึกไปบ้าง แต่ถึงแม้จะอยู่รอดูรีรันเพื่อจะจดเพลง อีเพลงบ้านั่นก็ไม่ได้อยู่ในลำดับเดิมที่ถูกเปิดซะงั้น ก็ต้องเช้าวันถัดมาที่จะไปถามเพื่อนว่า ‘มึงฟังทันป่ะวะ โหลดให้กูหน่อยดิ’

ตอนนั้นเราอายุ 15 ปี เป็นช่วงแรก ๆ ของการเห่อหมอยขึ้นกรุงของ เราเข้าร้านของป้าครั้งแรกด้วยความบังเอิญ บังเอิญที่ว่าตอนนั้นก็ใกล้ค่ำแล้ว ถ้าไม่รีบกลับจะกลับเข้าบ้านไม่ได้ บังเอิญที่เราใช้บันไดเลื่อนที่สถานีสยาม เพื่อจับรถไฟฟ้าไปสถานีหมอชิต บังเอิญที่เราหันกลับไปมอง แล้วสะดุดกับหน้าร้านร้านหนึ่ง หน้าร้านที่เต็มไปด้วยแผ่นซีดีที่มีหน้าปกแปลก ๆ วงที่ไม่รู้จัก วงที่อาจจะรู้จักจากการแนะนำของเว็บดนตรี จากนิตยสาร จากเพื่อน หรือทางทีวี พอเงยหน้าขึ้นไปก็เจอกับป้ายชื่อ โดเรมี และ ‘โลโก้นกยูง’ ซึ่งคนฟังเพลงยุคเก่าจะรู้ว่าโลโก้นี้คือยี่ห้อเทปผีสมัยก่อนที่ชื่อพีค็อค’

ต้องเล่าก่อนว่าเทปพีค็อคมีทั้งอัลบั้มเต็มหลากหลายแนวดนตรี แต่ชุดที่สร้างชื่อเสียงให้พีค็อคมากที่สุดคือ Greatest Hits รวมเพลงท็อปชาร์ตของ Billbord เป็นหลัก บางทีก็จะมีรวมเพลงฮิตของศิลปินคนนั้น ๆ รวมฮิตเพลงรัก ฯลฯ อีกทั้งความทนทานของเนื้อเทปก็เป็นที่ลือลั่น ขณะที่เทปลิขสิทธิ์ปกเดียวกันยานจนฟังไม่ได้แล้ว ตลับเทปของยี่ห้อพีค็อคยังฟังได้อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายอัลบั้มแรกของวงคาราบาว คือชุดขี้เมา  

เมื่อเราเปิดประตูเข้าไป เราได้เผชิญหน้ากับป้าคนหนึ่งในชุดเดรสลายลูกไม้ ป้าดูนิ่งๆ ไม่มี ‘สวัสดี’ ขอต้อนรับ ไม่มีการพูดว่า ‘ถ้าไม่เจอแผ่นไหนสอบถามได้นะคะ’ ไม่มีเดินตามลูกค้าแล้วแนะนำไปเรื่อย นิ่ง เงียบ อยู่ในเคาน์เตอร์ของแก รอบข้างเต็มไปด้วยเทปและซีดีเต็มไปหมด และแน่นอนเพลงที่เปิดในร้านนั้นเราก็ไม่รู้จัก วันนั้นเราจดรายชื่อวงที่ต้องการซื้อไปถามป้าว่า

“มีวงนี้มั้ยครับ”
“ไม่มีค่ะ”
“…เทปก็ไม่มีเหรอครับ”
“ไม่มีเทปค่ะ”
“แล้ววง…”
“ไม่มีค่ะ”

คำตอบแกห้วนสั้น ไม่ได้เห็นใจความผิดหวังใด ๆ เราจึงกัดฟัน งัดไพ่ใบสุดท้าย

“งั้นป้ามีอัลบั้มของ Stellastarr มั้ยครับ” ป้ามองหน้า ก้มลงไปข้างล่าง หาของขลุกขลักขลุกขลัก แล้วแผ่นซีดีแผ่นนั้นก็วางอยู่ข้างหน้า เราตาลุกวาว ป้ายังนิ่งอยู่ขอถามป้าครับ ทำไมแผ่นนี้ถึงไม่ทำเทปทั้งที่สังกัด BMG”

“เพราะค่ายนี้ในไทยเขาไม่ได้ทำเทปอัลบั้มนี้ค่ะ” ป้าตอบกระชับ เราขอบคุณ จ่ายเงิน และออกมาจากร้าน จนเมื่ออยู่บนรถฟ้าแล้วนั่นแหละถึงได้รู้ว่ากูได้เจอกับโดเดนเจอร์ไปแล้วไง’ แต่ถึงอย่างไรในชีวิตจริงป้าก็ไม่สามารถอ่านใจคนที่กำลังเข้ามาในร้านได้ทันทีอย่างในการ์ตูน ทว่า ‘การพร้อมชนลูกค้า’ กลับเป็นดาบสองคมที่ลือเลื่องอยู่เหมือนกัน จุดหนึ่งมันคือเอกลักษณ์ของตัวป้าเอง แต่มันก็ทำให้ลูกค้าขาจรที่เข้ามาในร้าน—ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือผ่านการแนะนำจากเพื่อน—ก็เข็ดขยาดและไม่วนกลับมาซ้ำได้เหมือนกัน

แต่ก็มีลูกค้าขาจรหลาย ๆ คนที่สามารถทลายกำแพงป้าจนกลายมาเป็นลูกค้าประจำ เพราะพวกเขาจะค่อย ๆ ทราบว่าป้ามีความจำเป็นเลิศ รู้จักลูกค้าขาประจำแทบทุกคน และที่สำคัญป้าฟังเพลงเก่ง สามารถแนะนำได้ว่าถ้าคุณชอบวงนี้ วงนี้ก็น่าสนใจนะ วันดีคืนดีไม่ได้แค่แนะนำเปล่า ๆ ยังเปิดวงนั้นให้ฟังทันที ไม่ซื้อไม่เป็นไร รู้จักก็ยังดี แต่ถ้าซื้อป้าก็ยินดีนะ

เหตุการณ์หนึ่งที่เราจำได้คือมีลูกค้ามาถามแผ่นกับป้า ป้าบอก ‘ไม่มีค่ะ’ แต่ป้าก็ถามต่อว่าแนวอะไร มีเพลงแนะนำมั้ย กลายเป็นลูกค้านี่แหละที่มาแนะนำป้าซะเอง ป้าเลยสั่งมาขายด้วยเลยอีกแผ่น สิ่งเหล่านี้จึงค่อย ๆ สร้างความประทับใจให้เรากลายเป็นลูกค้าอีกคน ทีละเล็กละน้อย

ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีงานเลี้ยงไหนไม่เลิกรา กระแสโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมการฟังเพลงก็เปลี่ยนไป แผ่นเสียงกลับมาอยู่ในกระแส เทปแคสเซ็ตกลับมาและมีราคาพุ่งสูง สิ่งของต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถกดสั่งได้ด้วยปลายนิ้ว ร้านขายเทปและซีดีที่เคยยิ่งใหญ่ ถ้าไม่ลดขนาดลง ก็ต้องปิดตัวลงไป

ร้านโดเรมีสยามก็เช่นกัน ป้าผ่านการย้ายมาแล้วหลายครั้ง เจอคนปล้นแผ่นครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง เอาไปแต่แผ่นแจ๊สซะด้วย ป้าบอก ‘คนขโมยต้องฟังเพลงเก่งแน่ ๆ’ อย่างเราก็ได้รับรู้ถึงการย้ายของป้ามาแล้วถึง 3 ครั้ง จนมาถึงครั้งนี้ที่ซอย 2 ข้าง ๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋ คงเป็นที่มั่นสุดท้ายของป้าแล้ว  เพราะสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2563 นี้ แต่ว่าในความน่าใจหายตรงนี้ ป้าก็ยังเล่นเฟซบุ๊กนะ

ป้าได้เตรียมตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มาแล้วพักใหญ่ โดยมีเพจโดเรมี สยามที่ป้าจะอัพเดตแผ่นทั้งจากที่ลูกค้าสั่ง หรือป้าสั่งเองได้จากเพจนี้เลย พร้อมกับแท็กไลน์ ‘สินค้าดี มีมาขาย’ คือของป้าคัดมาแล้วเน้น ๆ จริง ๆ ถ้าจะติดต่อป้าเพื่อสอบถามราคาก็ขอให้ติดต่อไปทั้งข้อความหลังไมค์ ป้าจะตอบเรื่อย ๆ อยู่ แต่อาจจะช้านิดนึง และมีการส่งไปรษณีย์ที่ชัดเจน ไว้สถานการณ์โลกดีขึ้น เราคงได้เจอกันที่ร้านนะครับ แต่ระหว่างนี้เจอกันในโลกออนไลน์ครับป้า

ระหว่างนี้เราสามารถติดต่อกับร้าน โดเรมี สยาม ได้ทาง FB:โดเรมี สยาม โทรศัพท์ 02 2960277 หรือทาง line id: doremi-siam

อ่านต่อ

‘Rhythm & Books & Friends’ ร้านหนังสือและไวนิลที่ทำให้เราไม่อยากลุกไปไหน
Strange Fruit ไวนิลบาร์ย่านสุขุมวิท เปิดบ้านต้อนรับเพื่อนใหม่ที่รักแผ่นเสียง

Facebook Comments

Next: