Rik The Devi Of Darkness คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกที่ทำให้เห็นทุกแง่มุมในชีวิตของริค วชิรปิลันธิ์
- Story and photos by Joe Chalat
PART 1 : ปฐม
เห็นทีจะต้องบันทึกเอาไว้อีกครั้งว่า เสาร์ที่ 25 ส.ค. 61 เป็นอีกหนึ่งวันที่กรุงเทพ ฯ จัดคอนเสิร์ตน่าไปชนกันยุบยับ ผมชอบดูคอนเสิร์ตอยู่เป็นนิจยังมีก่ายหน้าผาก จะออกไปดื่มด่ำกับเพลงของหนุ่ม Tom Misch ที่มูนสตาร์ หรือจะไปเซิ้งกับวง Apichat Pakwan ที่ร้าน NOMA ก็น่าจะดีต่อใจทั้งนั้น
แต่เมื่ออีกทางเลือกคืองานคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่สุดของ ริค วชิรปิลันธิ์ ในนาม THE DEVI OF DARKNESS ผมไม่ลังเลเลือกไปงานนี้ทันที ซิ่งรถไปซื้อบัตรตั้งแต่เปิดขายวันแรกที่หอศิลป์ BACC แบบไม่ยั้งคิดสักนิดว่าในวันงานจะติดธุระมั้ย ฝนจะตกหนักรึเปล่า (สรุปว่าตกหนักเอาการเลย)
รู้แต่ว่าต้องไปให้ได้ เพราะนี่คือคอนเสิร์ตของศิลปินไทยเจ้าของ 4 อัลบั้มเพลงร็อกที่ผสมผสานกับ world music ได้ลงตัวเป็นเนื้อเดียวกัน (และกำลังจะมีอัลบั้มที่ 5) จนกลายเป็นลายเซ็นในดนตรีที่น่าจะทำให้กล่าวได้เต็มปากว่าผลงานของเธอคือหนึ่งเดียวในประเทศไทย ทำให้วงการเพลงตั้งแต่ยุคอัลเตอร์ ฯ ตราบจนถึงยุคอินดี้ ต้องมีชื่อเธอปรากฏอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
และการที่ชื่อติดโผดังกล่าวนี้ ทำให้บทเพลงของเธอโคจรมาพบกับผมในวันหนึ่ง จนได้ผูกพันกลายเป็นส่วนสำคัญต่อกันอย่างมากในอดีตช่วงเรียน ม.6 จนถึงมหาลัย การเปิดเพลงของพี่ริคฟังแต่ละครั้งมีความหมายและความทรงจำฝังกรุ่นอยู่ในนั้นเสมอ
โปรดอย่าแปลกใจ ถ้ามันจะเป็นค่ำวันเสาร์ที่หัวใจผมเต้นตุบตับเป็นพิเศษ เพราะคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบวันนี้คือสิ่งที่แฟนเพลง ริค วชิรปิลันธิ์ รอคอยจะสัมผัสกันมานานแสนนาน ตื่นเต้นประหนึ่งรู้ว่ากำลังจะได้กำซาบ และสุดเหวี่ยงเดือดพล่านไปกับพิธีกรรม… ไม่ใช่! ไปกับคอนเสิร์ตของธิดาปิศาจแห่งเสียงคนนี้ต่างหาก แม้สุดท้ายคอนเสิร์ตจะยาวเกือบ 4 ชั่วโมง แต่รีวิวนี้จะมาช่วยการันตีว่ามันเป็น 4 ชั่วโมงที่ไม่มีคำว่าน่าเบื่อในรายละเอียดเลยแม้แต่น้อย และเติมเต็มแรงใจไฟฝันให้กับแฟนเพลงของ ริค วชิรปิลันธิ์ได้ถึงขีดสุด
ฉะนั้นหากพร้อมแล้ว… ขอเชิญมาเปิดกล่องแพนโดร่าในตัวของท่านไปพร้อมกัน ณ บัดนี้!
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
PART 2 : เปิดกล่อง Pandora
‘มนุษย์คือกล่องบรรจุความชั่วร้ายกาจชนิดหนึ่ง’
ผมรีบซิ่งฝ่าฝนกึ่งหนักกึ่งปรอย มายังสถานที่จัดงาน Ultra Arena ณ ห้าง Show DC อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันนักสำหรับนักดูคอนเสิร์ต ยังพอมีเวลาเหลือให้แอบสังเกตบรรดาแฟนเพลงของพี่ริคที่มาในวันนี้ว่าเป็นใครหน้าตาอย่างไรกันบ้าง เป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ เวลาไปคอนเสิร์ตของศิลปินนอกกระแสที่ไม่ได้มีคอนเสิร์ตของตัวเองบ่อย ๆ แม้แต่ Moderndog ตอนครบรอบ 22 ปีก็ตาม เวลาที่คนทั้งฮอลช่วยกันแหกปากร้องเพลงลูกเมียน้อยของวงนี้ มันจะยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางแฟนเพลงเหนียวแน่นอย่างแท้จริง ฉะนั้นคืนนี้ ได้เห็นบรรดาผู้ชมที่ฝ่าฝนมารวมตัวกันเพื่อพี่ริค ช่างเป็นอะไรที่ชื่นใจ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้พี่ริคประกาศเชิญชวนในเฟซบุ๊คให้ผู้ชมแต่งตัวในโจทย์มืดหม่นกันมาให้เต็มที่ ก็ยิ่งทำให้หน้าตาแฟนเพลงในคืนนี้ ดูสนุกมีสีสันมากขึ้นไปอีก
บางคนอาจมองว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระแสการจัดคอนเสิร์ตที่กำลังบูม ประเภทจับศิลปินที่หายไปนานให้กลับมา comeback หรือ reunion แต่ THE DEVI OF DARKNESS ไม่ใช่อะไรแบบนั้น พี่ริคไม่ได้จัดคอนเสิร์ตของตัวเองบ่อย แต่ละครั้งที่จัดก็ไม่ใช่ง่ายดาย หนึ่งในเหตุผลคงเป็นความไม่เอาใจตลาดกระแสหลัก แต่พี่สุกี้—กมล สุโกศล แคลปป์ หัวเรือใหญ่ค่ายเพลงในตำนานยุค 90s ถึงกลางยุค 00s อย่าง Bakery Music ก็สนับสนุนและเปิดโอกาสให้พี่ริคได้ลองร่างไอเดียคอนเสิร์ตใหญ่มาเสนอตลอด ในที่สุดวันนี้มันก็เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะเจาะเสียที ด้วยเงื่อนไขที่พร้อม และความสุกงอมของเวลา ระหว่างพี่ริคและแฟนเพลงนั่นเอง
เมื่อเข้าไปในฮอลล์เราจะได้ยินเสียงเพลงอนิเมะ และพบพี่ริคร่ายรำควงดาบคู่ใจอยู่ในจอใหญ่บนเวที และหากสังเกตอีกนิดก็จะพบกับอุปกรณ์ประกอบฉากที่เป็นบัลลังก์ใหญ่ ๆ คล้ายบนปกอัลบั้ม Pandora ของเธอ พร้อมกับที่มีผ้าเป็นริ้ว ๆ ห้อยปล่อยลงมาจากด้านบน ซึ่งตอนนี้เราจะยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนักหรอก จนกว่าจะเริ่มคอนเสิร์ต
คนที่ไม่ใช่แฟนเพลงมาเห็นเวทีเข้าก็อาจจะเหวอไปเลย ทำนองว่า ‘นี่มันผลลัพธ์ของสมการประเภทไหนกัน!?’ (เธอเคยมีบทเพลงหนึ่งว่าด้วยการยึดติดวิชาความรู้มากเกินไปในเพลง คณิตศาสตร์–ฟิสิกส์) ดังเช่นที่ภาพลักษณ์สุดโต่งของเธอ หรือการที่เธอใช้ชื่อแทนตนเองว่า ‘วชิรปิลันธิ์’, ‘จันกาลี’ และ ‘ธุมา’ แทนการแบ่งตนเองออกเป็น 3 ภาค เพื่อเขียนเนื้อเพลงที่ต่างกันไป ก็เคยถูกคนนอกตัดสินมาบ่อยครั้งแล้ว ว่าเธอเพี้ยนบ้าง น่ากลัวบ้าง ปฏิกิริยาแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยออกอัลบั้ม ปฐม อัลบั้มแรกที่ทำกับค่ายเบเกอรี่มิวสิก แต่อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นตัวตนที่แฟนเพลงขาประจำจะเข้าใจได้และคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่มีกังขาแม้แต่น้อย
ดังนั้นเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง ม่านสีดำถูกดึงขึ้น ไม่มีคำว่าไม่พร้อมอีกแล้วสำหรับมนตราที่พี่ริคกำลังจะร่ายมายังผู้ชมในคืนนี้ และผมก็เชื่อมั่นทันทีว่าพี่ริคจะทำได้ดี นับตั้งแต่จังหวะแรกที่บทขับร้องชื่อ กุหลาบฟาร์ซี ส่งเสียงดังขึ้นมาในความมืด (เป็นผลงานเพลงจากซิงเกิ้ลเล็ก ๆ ชื่อ Snake 6) ใช่แล้ว มันกลับมาแล้ว การเปล่งเสียงร้องแบบ ‘ราค’ อันเป็นวิธีการร้องดั้งเดิมของอินเดียแต่ใช้เนื้อเสียงสตรีอันหนักแน่น เอกลักษณ์ของริค วชิรปิลันธิ์ ที่เราล้วนคิดถึง
เธอถือไมโครโฟนขับร้อง กุหลาบฟาร์ซี และเดินขึ้นมาในความมืดพร้อม ๆ กับที่นักดนตรีกำลังเตรียมตัว จากนั้นต่อเนื่องกันทันทีด้วยทำนองเพลง ติชิลา ที่เริ่มขึ้นพร้อมกับแสงสว่างบนเวที (ที่แยงตาผู้ชมแถวหน้า ๆ เหลือเกินและบ่อยครั้ง… อ้อ น้ำแอร์หยดกระจายอีกต่างหาก)
เผยให้เห็นพี่ริคในชุดเดรสสีแดง สวมมงกุฎสุดอลังการที่ผมขอเรียกมันว่า ‘แมนดาล่าห้าแฉก’ เราล้วนมองตามเธอเดินไปทางขวาเวที จึงได้เพิ่งสังเกตเห็นกันว่า ตรงนั้นมีโต๊ะตั้งรูปเคารพพระพิฆเนศวรอยู่ พี่ริคกระทำการบูชาพอพิธี และเมื่อกลองเหยียบกระเดื่องโน้ตแรก เธอก็หันกลับมาขับร้องและร่ายรำไปกับเพลง ติชิลา อย่างพริ้วไหว นับเป็นสัญญาณการเริ่มต้นคอนเสิร์ตอย่างแท้จริง
ติชิลา คือบทเพลงสำคัญที่เป็นภาพแทนบันทึกการกลับคืนวงการเพลงของเธอ หลังจากฝากอัลบั้ม ปฐม เอาไว้ให้แฟนเพลงจนห่างหายไปนาน ก็ได้ฤกษ์กลับมาอีกครั้งในอัลบั้ม ราสมาลัย ๑ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเพลงภายใต้บ้านหลังที่สอง หรือค่าย Hualampong Riddim นำขบวนโดยพี่โหน่ง The Photo Sticker Machine นั่นเอง
และหากบทเพลงจากยุคราสมาลัยยังทำให้คุณเครื่องติดไม่มากพอ พี่ริคจัดให้อย่างต่อเนื่องด้วย 2 เพลงที่ไต่ระดับร็อกหนักแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ Russian Roulette (ซินดองมา) และ เมืองต้องทัณฑ์ ต่อเนื่องจนผมนึกแซวแกในใจว่า พี่จะไม่คุยกับคนดูเลยจริงเหรอคร้าบ แต่มันก็เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมากเมื่อระลึกได้ว่ากำลังฟัง 3 เพลงนี้ของพี่ริคสด ๆ บางเพลงในคืนนี้ผมเชื่อว่าไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน วิชวลบนจอวาดลวดลายแมนดาล่าสีสันกรีดหัวใจวูบไหวเข้ากันกับเพลงได้เป็นอย่างดี แถมนักดนตรีก็เล่นกันแน่น เป็นทีมที่พี่ริคคัดมากับมือแล้วว่า มีฝีมือมากพอจะถ่ายทอดเพลงของริค วชิรปิลันธิ์กันได้ทุกคน หนึ่งในนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน เบิร์ด เซียนกีตาร์จากวง Desktop Error นั่นเอง ผู้ที่พี่ริคกล่าวถึงเอาไว้ว่า เป็นมือกีาร์ที่คู่ควรกับคอนเสิร์ตใหญ่ของเธอที่สุดแล้ว และยังมีเติ้ล มือคีย์บอร์ด/ซินธิไซเซอร์จาก Two Pills After Meal และ ไหม มือเบสแจ๊สฝีมือร้ายกาจที่กำลังมีผลงานออกมาในชื่อ Scoutland
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
PART 3 : อดีตที่หวานเหมือน ราสมาลัย
‘ขนมหวานในดินแดนของความมืดมิด’
เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนของโชว์ เมื่อ เมธี สมาชิกวงรุ่นใหญ่อย่าง Moderndog ขึ้นเวทีมาเป็นแขกรับเชิญคนแรก ทำลายความเงียบอย่างเงียบงันด้วยการบรรเลงเสียงหวีดหวิวจากกีตาร์ไฟฟ้า พร้อม ๆ กับที่พี่ริคนั่งลงบนเก้าอี้แล้วคว้าเครื่องดนตรีที่ดูคล้ายแบนโจขึ้นมาเล่นคอร์ด ทั้งคู่บรรเลงสอดประสานกันไปด้วยอารมณ์และทำนองที่มืดหม่น เป็นการปรากฏตัวของแขกรับเชิญที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย แต่เห็นแล้วสัมผัสได้ว่ารู้ใจ รู้ทางกัน
เมื่อใช้เวลากับห้วงนี้เสร็จ พี่เมธีเริ่มสาดคอร์ดที่หนักหน่วงขึ้น ส่วนพี่ริควางแบนโจแล้วกลับมาลุกขึ้นยืนร้องเพลงถัดไป พอถึงท่อนฮุค ‘ฆ่ามัน! ฆ่ามัน! ทำลายมัน!’ ก็ช่วยให้ผมยืนยันกับตัวเองได้ว่า พี่ริคกำลังคัฟเวอร์เพลง ปีศาจ ของศิลปินผู้มีกายสีฟ้าและเส้นสีดำคาดหน้า นามว่า พราย ปฐมพร นั่นเอง ปีศาจ เพิ่มความดุดันขึ้นไปอีกเมื่อพี่ริคขยับไปเล่นแร่แปรธาตุกับเครื่องสร้างเสียงบนเวที ทั้งบิดเสียงร้องให้ก้องกังวานทับซ้อนกัน และส่งเสียงนอยซ์คำรามประกอบกับกลองและเบส ที่เข้ามาเสริมทัพความเกรี้ยวกราดของกีตาร์พี่เมธี
‘หากเธอเป็นดอกไม้ จะบานหรือชอกช้ำ’ พี่ริคดึงอารมณ์ผู้ชมกลับมาด้วยการเริ่มร้องเพลง จริงเพียงจริง หนึ่งในเพลงอันดับต้น ๆ ที่เมื่อพูดชื่อ พราย ปฐมพร แล้วหลายคนต้องรู้จัก ทันใดนั้น พราย ก็ปรากฏตัวอยู่ใจกลางเวที แสงสปอตจากด้านบนส่องลงบนตัวเขา พราย ปฐมพร แขกรับเชิญคนต่อไปที่มาร้องเพลงของตัวเองร่วมกับพี่ริคในเวอร์ชันจังหวะ 6/8 ที่เร็วขึ้นเล็กน้อยจากต้นฉบับ ฉากหลังเป็นภาพของทะเลยามวิกาลซึ่งแสงจันทร์สว่างจ้าจนสะท้อนลงผืนมหาสมุทร และฉายให้เห็นหมู่ดาวมากมายบนท้องนภา ฉากหน้าคือเจ้าชายแห่งทะเล และเทวีแห่งรัตติกาล ร้องรำไปด้วยกัน พี่ริคและพี่พรายดูมีความสุขมากจริง ๆ มันช่างเป็นเพลง จริงเพียงจริง ที่รื่นรมย์เหลือเกิน พี่พรายกระโดดโลดเต้นด้วยเรี่ยวแรงของชายหนุ่ม จนทำให้เราล้วนสงสัยว่าที่จริงแกอายุเท่าไรกันนะ ฮา
จบเพลงนี้ ในที่สุดพี่ริคก็กล่าวอะไรเป็นครั้งแรก หันไปยังพี่พรายและเข้าเรื่องทันทีว่า นอกจากประทับใจบทเพลงของพราย ปฐมพรอยู่แล้ว ย้อนกลับไปปี ’42 พี่ริคเคยส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปยังพี่พรายเพื่อเชิญมาร่วมงานเปิดอัลบั้ม ปฐม และสุดท้ายพี่พรายก็มาจริง ๆ มาพร้อมกับดอกไม้ช่อใหญ่มาก กลายเป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจพี่ริคจนทุกวันนี้
“ถ้าเกิดไม่มีพี่พรายเลย ริคว่าริคคงไม่ได้ทำอะไรที่ริคอยากทำ เหมือนเป็นการส่งต่อจากรุ่นหนึ่ง สู่เด็กอีกคนหนึ่ง“
เหมือนจะได้สัมผัสและเข้าใจความรู้สึกเธออย่างท่วมท้นทันทีว่า พลังที่ พราย ปฐมพร เคยมอบให้ ริค วชิรปิลันธิ์ในวันนั้น มีอานุภาพมากเพียงไหน ก็เมื่อพี่พรายตอบกลับไปยังพี่ริคว่า…
“ดอกไม้ในวันที่ผ่านมา เทียบไม่ได้…กับดอกไม้ที่อยู่รายรอบนี้” แล้วพี่พรายก็ผายมือมาทางผู้ชม
อดีตที่ดี คือรสชาติที่นุ่มนวลและหอมหวานที่แฝงอยู่ในชีวิต คิด ๆ ไปก็คงคล้ายกับรสแฝงในขนมหวานของอินเดียที่ชื่อ ‘ราสมาลัย’ ซึ่งก็มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจาก ‘กุหลาบจามุน’ (ไปหาชิมกันนะ อร่อยมากครับ) เหมือนที่ผมยังคงสนุกเสมอกับทุกครั้งที่ได้ย้อนนึกไปถึงสมัยแรกที่รู้จักกับพี่ริค
ย้อนกลับไปตอน ม.4 (ราวปี ’46) One-2-Call ปล่อยโฆษณาแอนิเมชันแนวปลุกใจออกมาชิ้นหนึ่ง หลายคนจดจำได้แน่นอนกับวลี ‘อย่ากลัว’ เพราะเสียงร้องในโฆษณาชิ้นนั้นมันโดดเด่นมาก ทุกครั้งที่ได้ยินในทีวีก็จะรู้สึกน่าเกรงขามและชวนฮึกเหิมในคราวเดียวกัน ยังจำที่เคยเถียงกันกับเพื่อนที่โรงเรียนได้ว่า ใครร้องเพลงนี้ เขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายนะ สืบไปสืบมาก็ได้ชื่อนักร้องกลับมาหนึ่งชื่อ ริค วชิรปิลันธิ์ แล้วเราก็ไม่รู้อะไรกันไปมากกว่านั้น
ปี ’49 เริ่มกล้านั่งรถมากรุงเทพ ฯ คนเดียวเพื่อไล่ชมคอนเสิร์ตที่น่าสนใจ ชื่อของพี่ริคหวนกลับมาอีกครั้งเมื่อรู้จากอินเตอร์เน็ตว่าในเดือนตุลาคมจะมีคอนเสิร์ตชื่อ ‘เหนืออาณาจักรแห่งสายเสียง’ ของริค วชิรปิลันธิ์ พอเห็นข่าวเท่านั้นแหละ สมองพลันหยิบเพลง อย่ากลัว ขึ้นมาเล่นซ้ำในหัวทันที จากนั้นผมก็ไม่ลังเลที่จะเริ่มหาเพลงของพี่ริคฟัง เพื่อซักซ้อมให้พร้อมก่อนไปดูคอนเสิร์ตครั้งนั้น คอนเสิร์ตที่เป็นของพี่ริคครั้งแรกจริง ๆ
โปรดนึกภาพตาม ว่าสมัยนั้นที่โซเชียลยังไม่เชื่อมต่อกว้างขวางเท่าไร การนั่งอยู่ต่างจังหวัด และได้ค้นพบศิลปินทำเพลงแบบนี้ในเมืองไทยผ่านเว็บฟังเพลงคุณภาพต่ำ สตรีมมิ่งผ่านอินเตอร์เน็ต 56K มันเป็นโมงยามที่วิเศษมาก ๆ เหมือนภารกิจที่ลุล่วง แล้วตัวเองก็ชะงักงันในภวังค์นั้นอยู่คนเดียว (เพราะสมัยนั้นไม่รู้จะไปแบ่งปันความตื่นเต้นกับใคร) ผมใช้จินตนาการอย่างหนักหน่วงจากสตรีมมิ่งคุณภาพแย่เหล่านั้น ว่ามันจะน่าขนลุกขนาดไหนถ้าได้ฟังเพลงเหล่านี้ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น
มันคือการค้นพบที่พลิกชีวิตอย่างแท้จริง และปลดเปลื้องให้ผมหลุดพ้นไปอีกขั้น หากพี่พรายเคยส่งต่อบางสิ่งให้พี่ริคแล้ว พี่ริคก็เคยส่งต่อบางอย่างให้ผมเช่นเดียวกัน
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
PART 4 : วชิรปิลันธิ์, จันกาลี, ธุมา และอื่น ๆ
‘เราสัมผัสถึงกันอย่างที่เราเป็น’
กลับมาปิดท้ายช่วง 2 แขกรับเชิญอย่างคึกคัก ด้วยเพลง จิ๊ดดด ผลงานจากโปรเจกต์ร่วมของ พราย และ เมธี ที่พี่ริคร่วมร้อง และบอกกับพี่พรายว่า “เพลงนี้ขอไปเต้น” จากนั้นผู้ชมก็ถูกดึงกลับมาสู่มนตราของอัลบั้ม ราสมาลัย อีกครั้งด้วยเพลงร็อก ทางเฉพาะสีม่วง จากในอัลบั้ม และต่อเนื่องด้วยเพลง…เพลงอะไรก็ไม่รู้ไม่คุ้นเท่าไร น่าจะเป็นเพลงของพี่ริคเอง ในสไตล์มืดหม่นที่คุ้นเคย ผสมผสานกับกลิ่นอายแจ๊ซสวิงสวายเล็กน้อย ฟังจบแล้วติดหูและชอบมากจนแปลกใจว่าตัวเองเคยพลาดเพลงนี้ไปได้ยังไง กลับบ้านหาข้อมูลถึงได้รู้ว่า เพลงนี้ชื่อ หมื่นเหมันต์ กำลังจะถูกบรรจุลงในอัลบั้มชุดใหม่ นามว่า Mandala Marionette นั่นเอง ปีนี้รอฟังกันได้เลย
ช่างภาพนายหนึ่งวิ่งขึ้นมาถ่ายรูปพี่ริคขณะร้องเพลง หมื่นเหมันต์ ซึ่งคงไม่ผิดปกติอะไรหากเขาไม่เริ่มทำตัวเหนือจริงขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยการยื่นมือเข้าไปจัดแจงหัว ไหล่ แขนของพี่ริคทั้งที่กำลังร้องเพลงอยู่ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่ตนต้องการ จนคนดูน่าจะเหวอกันไปพักนึง ก่อนจะค่อยตระหนักอย่างช้า ๆ ว่านี่คงจะเป็น performance art ประกอบการขับร้อง ระยะหลังมานี้พี่ริคหันมาสนใจศาสตร์การละครมากขึ้น (เธอเคยจัดงานกึ่งละครเวทีไปเมื่อปลายปีก่อน ในนามว่า ‘Tichila : La Maison d’Eros’) นี่จึงเป็นเหมือนการบอกเล่าให้แฟนเพลงได้พบกับอีกภาคหนึ่งของเธอ ตัวละครของพี่ริคจบฉากละครของเพลงนี้ ด้วยการกัดคอตัวละครช่างภาพ จากนั้นก็พาเรากลับสู่ ราสมาลัย อีกครั้งด้วยเพลง ไหมมายา อีกหนึ่งเพลงโปรดของผม ที่ถูกประกอบด้วยวิชวลภาพโคลสอัพของหนอนไหม มาถึงจุดนี้ เดรสแดงและมงกุฎแมนดาล่ายังไม่ทำให้พี่ริคแรงตกเลยสักนิด ก่อนจะเข้าสู่ช่วงแขกรับเชิญคนต่อไป
เมื่อย่างเท้าเข้าไปในโลกของพี่ริคแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ได้แวะเวียนไปฟังงานเพลงของ The Photo Sticker Machine บ้าง โดยเฉพาะเมื่ออัลบั้ม New Clear วางขายในช่วงไล่เลี่ยกับคอนเสิร์ต ‘เหนืออาณาจักรแห่งสายเสียง’ จากที่เริ่มฟังแค่เพลงของพี่ริค ก็ได้ขยับไปฟังเพลงที่เป็นภาคขยายบ้าง ประมาณว่านั่งรถไฟฟ้าจากสายสุขุมวิทแล้วก็ข้ามไปลงสายสีลมได้ ดังนั้นเมื่อทำนองเพลง 134340 (Pluto) จากอัลบั้มนี้ของ TPSM เริ่มต้นขึ้น ความทรงจำที่มีต่อเพลงนี้ และยุคสมัยเก่า ๆ ก็จู่โจมโอบล้อมเราทันทีอย่างอบอุ่นไม่แพ้เพลงของพี่ริคเลย น้อย วง Pru เจ้าของเสียงร้องในเพลงนี้ คือแขกรับเชิญลำดับถัดไป การได้ฟังเพลงนี้สด ๆ โดยมีพี่ริคและพี่น้อยร้องคู่กัน สาดเสียงใส่กันเมามันอารมณ์ในช่วงท้าย มันเหมือนได้เห็นภาพของเบเกอรี่มิวสิก หัวลำโพงริดดิม และยุค 90s – 00s กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ฉายแสงอาบไล้ความทรงจำร่วมกันภายในเพลงเดียว
พี่ริคปล่อยให้พี่น้อยผู้มาในชุดยาวสีเหลืองคล้ายชาวแมนจู ได้เดี่ยวไมโครโฟนบนเวทีสักพัก “น้อยเคยใส่ชุดนี้ครั้งเดียวในคอนเสิร์ตของ Pru กับ Moderndog เมื่อ 15 ปีที่แล้ว… ไม่มีใครจำได้ใช่มะ” ฮาครืนกันทั้งฮอล คอนเสิร์ตของพี่ริคทั้งที พี่น้อยกล่าวว่าต้องแต่งชุดให้มันสุดเหวี่ยงสูสีกับงาน จากนั้นก็แนะนำและร้องเพลงใหม่ของตัวเองในชื่อ Empty ดีใจที่ยังเห็นพี่น้อยมีพลังล้นเหลือในการแต่งเพลงใหม่ ๆ และ Empty ก็ทำให้ผมตื่นเต้นทีเดียวว่าอัลบั้มเดี่ยวของ น้อย วง Pru ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือช่วง ‘เชื่อมคลื่น’ เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่พี่ริคเพิ่งลองเล่นกับเพื่อนในช่วงที่กำลังทำอัลบั้มใหม่ จึงชวนพี่น้อยและคนดูทั้งฮอลให้ลองทำร่วมกัน กติกาคือให้หนึ่งคนเปล่งเสียงอะไรออกมาก็ได้ เป็นเสียงที่ไม่ต้องใช้สมองกับมันมากแต่เน้นใช้สัญชาตญาณเยอะ ๆ และหากคนที่เหลือได้ยินแล้วรู้สึกอะไร ก็ให้เปล่งเสียงตอบรับออกมาตามนั้น ส่งพลังเช่นนี้ต่อกันไปเรื่อย ๆ ออกจะเป็นอะไรที่นามธรรมและเข้าถึงยากหน่อย หากชีวิตประจำวันเรายังติดกับโลกวัตถุอย่างเลี่ยงไม่ได้ (ขนาดพี่น้อยยังมีงง ฮา) ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ ผมขอให้เราลองนึกถึงบทเพลงของชนเผ่าที่ใช้เสียงที่ลึกมาก ๆ จากร่างกายในการขับร้องและสื่อสารถึงกัน (คล้ายกับเป็น ‘เพลงผีบอก’ ซึ่งผีในที่นี้หมายถึงธรรมชาติภายในตัวเรา) เช่น ชนเผ่าแถวลุ่มน้ำอะเมซอน หรือเทือกเขาอัลไต ซึ่งเป็นเสียงจากภายใน ไร้กฎเกณฑ์ และเป็นธรรมชาติที่สุด ต่างแทบสิ้นเชิงจากการร้องเพลงทั่วไป เพื่อให้มนุษย์ได้สื่อสารถึงกันลึกลงไปในระดับสัญชาตญาณ
ทีแรกเราคนดูก็ทำกันไปแบบงง ๆ แหละ บางคนอาจนึกว่าให้ร้องเพลงประสานเสียงหรืออย่างไร สุดท้ายพี่ริคลองชวนพี่ป๊อด Moderndog จากหลังเวทีให้มาช่วยดำเนินรายการ ก็ผ่านไปด้วยดีเมื่อคนดูส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจมากขึ้น และกล้าเปล่งเสียงลั่นฮอลกันอย่างไม่อายคนรอบข้าง ผมเองก็กู่ร้องออกไปทั้งเสียงหวีดหวิววู้ววู้วววที่ฟังไม่ได้ศัพท์และไม่มีความหมายอะไร อีกใจนึงก็อยากเห็นภาพทั้งหมดนี้กับตา อยากจะวิ่งออกจากที่นั่งแล้วหันมามองดูภาพของคนทั้งฮอลร่วมกันเปล่งเสียงจากภายในไปพร้อม ๆ กันบ้าง
ในวันนี้อาจจะยังค้นหามันไม่พบ แต่พี่ริคย้ำกับเราก่อนเข้าสู่ช่วงต่อไปว่า เสียงภายในจะดำรงอยู่ในตัวเราเสมอ ขอแค่เราไม่หยุดค้นหาสิ่งนี้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด ผมเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะได้สัมผัสถึงวินาทีเดียวกันกับที่พี่ริคค้นพบเสียงนั้นในตัวเอง จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของริค วชิรปิลันธิ์ ในทุกวันนี้ก็เป็นได้
ก่อนพี่น้อยจะลาเวทีไป ก็มีความประทับใจต่อตัวพี่ริคมาแบ่งปันให้ฟังเหมือนกัน พี่น้อยหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งขึ้นมา มีพลาสติกห่อไว้อย่างดี มันคือกระดาษที่มีลายมือของพี่ริค เขียนเพลงสำหรับให้ทั้งคู่ใช้แสดงในงานที่นิวยอร์ก ซึ่งพี่น้อยกล่าวกับพี่ริคว่า “เนื้อเพลงยูมันสุดยอดว่ะ” และประทับใจในลายมือประหนึ่งรูปวาดของพี่ริคมาก ๆ พี่น้อยตั้งท่าจะอ่านให้คนดูฟัง “ขอเวลาแป๊บนึงนะครับ เพราะนี่เป็นคอนเสิร์ตที่สำคัญมากสำหรับน้อย และเราก็เริ่ม…อายุมาก” พี่น้อยคว้าแว่นสายตาขึ้นมาใส่ เพ่งอ่านกระดาษที่ยื่นออกไปไกลสุดตัว เป็นแขกรับเชิญที่จี้เอวคนดูให้ปรบมือหัวเราะชอบใจกันได้มากจริง ๆ
“ศรีรามคืออะไรวะ” พี่น้อยอ่านแล้วนึกไม่ออก
“ตอนนั้นเราเล่นเรื่องเบญกายไง” พี่ริคตอบ
“ใช่ๆๆๆ”
“แล้วริคก็เป็นเบญกายภาคไฟ ส่วนพี่น้อยเป็นหนุมาน”
“โอเคๆ จำได้ละ”
“เราจะไม่รื้อฟื้นอะไรมากกว่านั้น” พี่ริคกล่าวต่อ คนดูหัวเราะลั่นฮอลทันที เพราะทั้งสองกำลังหมายถึงเหตุการณ์ในการแสดงที่นิวยอร์กครั้งนั้นที่เคยเป็นข่าวฉาวในประเทศไทย กลายเป็นช่วงที่ทำให้ทั้งสองได้รำลึกความหลังกันแบบฮาเบา ๆ เลยทีเดียว
เข้าสู่อีกหนึ่งช่วงที่สะเทือนอารมณ์มากที่สุดในคอนเสิร์ต คือช่วงการรำลึกถึงเพื่อนเก่า แม้บางคนตัวจะจากไปแล้วแต่จิตวิญญาณยังคงว่ายเวียนอยู่ เอ พลกฤษณ์ จากวง Pause มานั่งเก้าอี้พร้อมเกากีตาร์ไฟฟ้าในเพลงฮิต รักเธอทั้งหมดของหัวใจ เพื่อให้พี่ริคได้ร้อง “ยังมีอีกหลายสิ่งที่ฉันยังไม่เคยพูดสักที” สายตาพี่ริคเริ่มจ้องขึ้นไปด้านบนเหมือนตกอยู่ในห้วงคิด “ยังมีอีกหลายอย่าง…” พี่ริคสะอึกหยุดร้องไปเล็กน้อย ก่อนจะกลับมามีรอยยิ้มเล็ก ๆ บนใบหน้าอีกครั้ง เพื่อร้องท่อนฮุคต่อไป “รัก…รักเธอทั้งหมดของหัวใจ” เป็นช่วงเวลาที่น่าจะทำให้ใคร ๆ ก็เข้าใจได้โดยไม่ต้องเล่าเป็นคำพูดว่าพี่ริคเคยสนิทซี้ปึ้กกับ โจ้ นักร้องนำวง Pause ผู้ล่วงลับมากแค่ไหน และเวอร์ชันของคืนนี้ ยังได้เทคนิคสีกีตาร์ของเบิร์ด Desktop Error ช่วยสร้างเสียงพิเศษให้กับเพลงนี้อีกแรง
พี่เอเดินลงเวทีไป พี่ริคกล่าวถึงพี่โจ้เล็กน้อยโดยเกริ่นไว้ว่า “ไม่อยากเวิ่นเว้อ” คนดูหัวเราะยิ้มรับ ผมเชื่อว่าแฟนเพลงเข้าใจดีว่าพี่ริคคงเล่าหรือให้สัมภาษณ์เรื่องพี่โจ้มาบ่อยมากแล้ว แต่สิ่งที่เราได้เห็นอยู่เสมอเวลาที่พี่ริคกล่าวถึงเรื่องนี้ ก็คือสายตาของเธอที่ยังคงมองการเกิด ความตาย การมีชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ “ถึงแม้โจ้จะไม่อยู่ในเรื่องของภาพลักษณ์ แต่ว่าโจ้มันก็อยู่กับเราทุกวันนะคะ บางทีเราก็ได้ยินเสียงเพลงมัน บางทีเราก็นึกถึงมัน บางทีก็จะมีใครสักคนพูดถึง แล้วเราก็ต้องพูดถึงมันอยู่ดี…
“…เท่ากับว่ามันก็ไม่ได้ไปไหน มันตายตอนนั้นแล้วมันก็เกิดทันทีในความทรงจำ และในหัวใจเรา“
ต่อกันที่ ไม่ต้องทำอย่างนี้ บทเพลงของวง Pixyl ที่พี่ริคเคยคัฟเวอร์เอาไว้ในอัลบั้มพิเศษชื่อ Trois (ทรัว) (วางขายครั้งแรกสุดในงาน ‘เหนืออาณาจักรแห่งสายเสียง‘ นั่นเอง) ผมไม่ได้หยิบอัลบั้มนี้มาฟังนานมาก ไม่บ่อยเท่าสมัยมหาลัยอีกแล้ว น้ำตาจึงรื้นปลื้มปิติที่ได้กลับมาฟังมันอีกครั้งแบบสด ๆ และพบว่ามันคือ ไม่ต้องทำอย่างนี้ ที่ถูกเรียบเรียงใหม่ได้ไพเราะสวยงามเหลือเกิน (ขอบพระคุณค่ายหัวลำโพงริดดิมครับ) ประหนึ่งจะชดเชยให้กับ ‘สภาวะลูกเมียน้อย’ ของทั้งพี่ริคและวง Pixyl สมัยที่อยู่ค่ายเบเกอรี่ ฯ ด้วยกัน (ฮา) ดังคำที่พี่ริคกล่าวขอบคุณพวกเขาเอาไว้ในปกอัลบั้ม Trois จากนั้นมาต่อกันด้วยเพลง ไร้ค่า ของวง Day Tripper ที่อุทิศแด่พี่อูผู้ล่วงลับ อีกหนึ่งบุคคลสำคัญของพี่ริค โดยพี่ริคบอกว่า เลือกร้องเพลงนี้เพราะรู้สึกว่าเพลงถูกเขียนขึ้นมาบนโลกนี้ให้เธอร้องโดยเฉพาะ
พี่ริคเดินเท้าเปล่า กระโดดโหยงไปมาทั่วเวที ร้องเพลงนี้อย่างสนุกสนานและเป็นกันเองที่สุด แม้เธอจะยังอยู่ในชุดเดรสแดงมงกุฎแมนดาล่า ที่อาจทำให้บางคนตัดสินเธอไปต่าง ๆ นานาจากภาพลักษณ์ แต่เชื่อว่าครึ่งทางที่ผ่านมาของคอนเสิร์ตคืนนี้ จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดได้ง่ายมาก ไม่ว่าใครก็จะต้องมองเข้ามาในคอนเสิร์ตคืนนี้ แล้วเห็นถึงรอยยิ้ม อารมณ์ขัน ความเป็นกันเอง ความเป็นมิตรของเธอ และความโอบอ้อมอารีสุดแสนพิเศษที่สามารถพาให้พี่โจ้ Pause และพี่อู Day Tripper กลับคืนมามีชีวิตโลดแล่นอยู่บนเวทีได้อย่างแน่นอน!
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
PART 5 : เมื่อมีความมืดมิดจึงมีแสงสว่าง
แล้วก็เดินมาถึงช่วงที่ซีเรียสสุด ๆ ของคอนเสิร์ตนี้ คือการหยิบ 2 เพลงที่มากล้นอารมณ์หม่นจากอัลบั้ม ราสมาลัย ๒ และ Pandora มาขับร้อง และผสมผสาน performance เข้าไปเล็กน้อยเพื่อให้ทั้ง 2 เพลงเพิ่มความพิเศษมากขึ้น เพลง คืนร้อยมาร ฉบับคืนนี้ มีพี่โหน่ง The Photo Sticker Machine มาโซโล่เปียโน ส่วนพี่ริคขยับไปยืนในบัลลังก์ที่กล่าวถึงเอาไว้ในตอนต้นว่าเราจะได้รู้ฤทธิ์ของมันในภายหลัง ความพิเศษของมันคือมีกล้องซ่อนอยู่ข้างใน ทำให้แม้พี่ริคจะยืนหันหลังให้เราในบัลลังก์ แต่เราก็ยังคงได้เห็นใบหน้าของเธอร่ายร้องเพลงนี้ จากภาพในกล้องที่ฉายขึ้นจอบนเวที ซ้อนกับภาพกรอบคันฉ่องสีทอง อีกหนึ่งผลงานที่พี่ริควาดด้วยตัวเอง ยิ่งเข้าใกล้ช่วงท้ายเพลง พี่โหน่งยิ่งกระแทกคีย์บอร์ดอย่างบ้าคลั่ง ตัวพี่โหน่งเองในฐานะผู้เรียบเรียงอัลบั้มนี้ ก็น่าจะผูกพันกับมันมาก ๆ เช่นเดียวกับพี่ริค สำหรับผมมันจึงเป็นโมงยามที่เหมาะที่สุดให้พี่ ๆ ทั้งสองได้ระลึกถึงอัลบั้ม ราสมาลัย ร่วมกันอีกสักครั้ง ก่อนจะเดินหน้าสู่เส้นทางดนตรีภาคต่อ ๆ ไป
เข้าสู่เพลงต่อมาเมื่อมือเชลโล่เดินขึ้นเวที แสงไฟสีส้มสาดอย่างรุนแรงจากบนเวทีไปทางซ้าย เกิดเป็นเงาขนาดใหญ่ของมงกุฎพี่ริคตกกระทบอยู่บนกำแพง จาก แสงแห่งความเศร้า ที่เคยเป็นเพลงปิดอัลบั้ม Pandora อย่างแผ่วเบาเย็นยะเยือก คืนนี้มันกลายเป็นเพลงที่ติดอันดับหนักหน่วงสะเทือนใจไปเลยทันที เมื่อถูกบรรเลงพร้อมเสียงเปียโนโดยพี่โหน่ง และเสียงเชลโล่กรีดกรายสุดหลอน ประกอบกับภาพวิชวลของการทำแท้ง ดงเลือด และซากของทารกที่ไม่ได้เกิดแบบเต็มตาไม่มีเซ็นเซอร์ มันช่างอึดอัดและกดดัน เป็น 4 นาทีที่ตรึงผู้ชมให้เงียบกริบและอารมณ์เอ่อล้นสุด ๆ แล้วในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ตราตรึงจนบอกกับตัวเองว่า อยากกลับบ้านเปิดอ่านเนื้อเพลงนี้โดยละเอียดอีกครั้งทันที (เนื้อหาเพลงนี้เขียนจากมุมมองของทารกที่ไม่มีโอกาสได้ถือกำเนิด มีการใช้คำกล่าวถึงการทำแท้งอย่างตรงไปตรงมา เช่น ‘ครรภ์ไร้ค่า’ ‘ก้อนเลือดอาภัพ’ เป็นต้น)
พักจากอารมณ์ดิ่งมาสู่สิ่งบันเทิงใจสักครู่ เมื่อพี่ริคเดินลงเวทีไป ก็มีสุภาพสตรีมวยผมยาวนุ่งสาหรี่ เดินขึ้นมาบูชารูปเคารพทางขวาของเวทีแล้วเริ่มฟ้อนรำไปกับเพลงอินเดียจังหวะคึกคัก ซึ่งทีแรกเข้าใจว่าเป็น performance ทั่วไปสำหรับคั่นรายการ แต่พอฉุกคิดขึ้นได้ว่า หรือนี่จะเป็นการกราบไหว้เทพเจ้า ก่อนเข้าสู่ช่วงเล่นเพลงจากอัลบั้ม ปฐม การฟ้อนรำก็มีความหมายลึกซึ้งขึ้นทันที
นี่คือการแสดงภารตานาฏยัม เป็นการร่ายรำเพื่อบวงสรวงเทพในศาสนาพราหมณ์–ฮินดู นั่นหมายความว่าเรากำลังจะได้ฟังเพลง เทวี (Devi) บทเพลงบูชาเจ้าแม่ทุรคา–กาลีแบบสด ๆ กันแล้ว! หัวใจผมเริ่มกลับมาเต้นตุบตับแรงขึ้นอีกครั้ง เพราะสำหรับแฟนเพลงทุกคน ปฐม คือสุดยอดอัลบั้มที่เราต่างก็คาดหวังจะมารับพลังจากดนตรีสดในคืนนี้
ปี ’42 ค่ายเบเกอรี่ ฯ ปล่อยอัลบั้ม ปฐม ออกมา ด้วยแนวดนตรีแบบโลกตะวันตกผสมกลิ่นพื้นบ้านของโลกตะวันออก เสียงร้องที่ฉีกขนบเพลงสตริงทั่วไป เนื้อหาที่พูดถึงการถือกำเนิด การเวียนว่ายและตื่นรู้ในชีวิต การใช้ภาษาที่ไม่ดาษดื่น ล้วนประกอบกันส่งให้อัลบั้มนี้รุดหน้าเกินยุคสมัยไปมากโข และด้วยภาพจำที่ผู้คนส่วนใหญ่มีต่อค่ายเบเกอรี่ ฯ ในอีกแบบ ก็คงจะทำให้ ปฐม ไม่ได้กลายเป็นผลงานโด่งดังอะไร แต่มันก็ได้เข้าไปเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนอยู่พอประมาณ
ทีมนักดนตรีเดินขึ้นเวทีอีกครั้ง พร้อมกับการปรากฏตัวของชายร่างใหญ่ใจดีอีกคนหนึ่งที่กระตุ้นอะดรีนาลินของผู้ชมได้มากที่สุด การขึ้นเวทีของเขาคือสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่า เรากำลังจะได้ฟังบทเพลงจากอัลบั้ม ปฐม อย่างแน่นอน ชายคนนั้นคือพี่สุกี้ ผู้ที่เชื่อถือในตัว ริค วชิรปิลันธิ์ ตั้งแต่ต้น และมอบแสงสว่างให้อัลบั้ม ปฐม ได้กำเนิดขึ้นมา เมื่อบุคคลต้นตำรับขึ้นเวทีมาร่วมเล่นด้วยตัวเองขนาดนี้ พวกเราคนดูก็อดทนเก็บความตื่นเต้นไม่ไหวอีกต่อไป
ส่วนทางขวาของเวทีที่ติดตั้งเครื่องเคาะของอินเดียเอาไว้มากมายตั้งแต่เริ่มโชว์ บัดนี้มีนักดนตรีอีก 3 คนเดินขึ้นเวทีมาประจำการแล้ว…
เกือบ 20 ปีผ่านไป…8 ชีวิตบนเวทีกำลังจะบรรเลงบทเพลงจากอัลบั้ม ปฐม ให้สมบูรณ์ครบเครื่องที่สุดเท่าที่เคยมีมา!
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
PART 6 : โอม นมัสไชยะกาลี นมัสไชยะกาลี
‘ขอให้การร่ายรำนี้ จงเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ความหวังและความสุขแก่สตรีผู้เป็นมารดาแห่งโลกทุกคน‘
8 ชีวิตระดมพลังเปล่งสำเนียงเหง่งหง่างผ่านเครื่องดนตรีของตนอยู่พักใหญ่ พี่สุกี้เองก็มีจังหวะเคลื่อนไหวที่พร้อมปล่อยให้ดนตรีเข้าสิงเต็มที่ จากนั้นเสียงเครื่องเคาะจากเพลง เทวี (Devi) ก็ค่อย ๆ ดังขึ้น ผมสบถกับตัวเองด้วยความตื่นเต้นดีใจ “!#$%^&!!!!! โคตรเหมือนในแผ่นเลยว่ะ!” อาการนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับผมคนเดียว เพราะคนดูทั้งฮอลพร้อมใจส่งเสียงโห่ร้องกันดังมาก ๆ มันเป็นจังหวะที่ขลังจนน่าขนลุกที่สุด ยิ่งพอได้เห็นพี่ริคเดินมาแต่ไกล และเริ่มร้องเพลงท่อนแรกออกมา “โอม นมัสไชยะกาลี นมัสไชยะกาลี” ใจมันก็ยิ่งเต้นเป็นบ้า แถมน้ำตาก็ไหลพรากทันที ผมนึกตะโกนบอกทุกคนบนเวทีอยู่ในใจว่า “มาเลยครับพี่ ๆ จัดอัลบั้มนี้มาหนัก ๆ เยอะ ๆ เลย! ผมพร้อมแล้ว!”
ห้วงที่ภาพปัจจุบัน ทับซ้อนกับภาพความทรงจำในอดีตได้อย่างแนบสนิทชั่วคราวนั้น เป็นห้วงที่สวยงามจนไม่อาจกลั้นน้ำตาแห่งความปีติได้เสมอ คอนเสิร์ตนี้กำลังบันดาลให้อัลบั้ม ปฐม จากในอดีต คล้ายได้กลับมามีชีวิต มีเนื้อหนังมังสาและลมหายใจเป็นปัจจุบันชั่วคราว ถึงแม้จะเคยฟังเพลงจากอัลบั้มนี้สด ๆ บ้างแล้วในคอนเสิร์ต ‘เหนืออาณาจักรแห่งสายเสียง’ (พี่ริคเล่นเพลง เทวี (Devi) กับคิว วง Flure ในเวอร์ชันเพลงร็อก) แต่ก็ไม่สมบูรณ์เต็มรูปแบบเท่าคืนนี้อย่างแน่นอน
พี่ริคมาในชุดใหม่สีขาว แอบเซ็กซี่แต่ก็ดูสง่าผ่าเผย สวมมงกุฎและกำไลข้อมือระยิบระยับ ขับร้องและเคลื่อนไหวร่ายรำกึ่งบวงสรวงอย่างสวยงาม ประหนึ่งเทวีมาสถิตย์ด้วยองค์เองก็มิปาน เนื้อร้องของเพลงนี้ว่าด้วยการบวงสรวงพระแม่ทุรคา–กาลีล้วน ๆ ตัวทำนองและการเรียบเรียงที่คล้ายจะฟังยาก ที่จริงแล้วหากฟังดูดี ๆ มันป๊อปและฟังง่ายมาก ๆ ส่วนวิชวลบนเวที แน่นอนว่าเป็นภาพของเจ้าแม่กาลี ซึ่งดีไซน์ออกมาสำหรับโชว์นี้ได้ทรงพลัง สอดรับกับอานุภาพของดนตรีสดบนเวทีได้มากเช่นกัน
ต่อเนื่องอย่างทันทีด้วยไฟเวทีสีแดงฉาน เพลง สังวาส เริ่มต้นบรรเลงขึ้น ถ้าจะอธิบายกันด้วยศัพท์สมัยนี้ นี่คือเพลงที่แซ่บเว่อร์มาก ๆ จากอัลบั้ม ปฐม ใครไม่เคยฟังก็ลองเดาจากชื่อดู แล้วไปลองหาเนื้อเพลงอ่านกัน แต่สิ่งที่ผมชอบมากกว่านั้น คือสไตล์ของดนตรี ที่ฟังเผิน ๆ คล้ายจะเป็นเพลงร็อกไร้ความกรุณา แต่สุดท้ายมันก็ยังถูกโอบอ้อมด้วยเสียงเปียโน ซึ่งช่วยประกอบให้เพลง สังวาส เพลงนี้ มีรสขมปนหวาน ในแง่หนึ่งก็คงคล้ายการเสพสังวาส ที่ทั้งชำแรกดุดัน แต่ก็ซาบซ่านหวานหยดอดลิ้มลองไม่ได้นั่นเอง
ต่อด้วยเพลง อาณาจักรราหู ที่ผมสงสัยมาตลอดว่า เสียงเครื่องเคาะตอนเริ่มเพลงคือเสียงของอะไร? วันนี้ตายตาหลับแล้วครับ ได้เห็นเครื่องดนตรีชิ้นที่สร้างเสียงดังกล่าวด้วยตาตัวเองเสียที หน้าตาคล้ายกระด้งไว้ฝัดข้าวเลย ส่วนเวลาเล่นก็ร่อนกระด้งเป็นจังหวะที่ต้องการเหมือนการฝัดข้าวเช่นกัน เพลงนี้พี่ริคและนักดนตรีปล่อยพลังร็อกกันได้อารมณ์เช่นเคย พอเพลงจบ พี่สุกี้เดินลงเวที และวงก็เริ่มเล่นเพลงต่อไป เป็นเพลงไม่คุ้นหูจึงขอเดาอีกครั้งว่ามาจากอัลบั้มใหม่ ซึ่งก็มารู้ทีหลังว่าใช่จริง ๆ ด้วย เพลงนี้ชื่อว่า ราชินีแมงป่อง แฟนเพลงบางคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว เพลงนี้เครื่องเคาะจังหวะเร็วปานกลางพอเร้าใจชวนผจญภัยมาก ๆ เตรียมฟังกันจากอัลบั้มใหม่ Mandala Marionette ได้เลยครับ
พี่ริคไม่ปล่อยให้พักและจัดหนักต่อด้วย คุรุ (ปางอุ้มบาตร) อีกหนึ่งเพลงที่ดุดันและโดดเด่นมากจากในอัลบั้ม ทั้งด้วยสไตล์ออกแนวโปรเกรสซีฟ ลดทอนความร็อกแล้วแทนที่ด้วยความเป็น world music และเนื้อร้องที่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าคือภาษาอะไร แต่ว่ากันตามจริงก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเพลงอื่นร้องภาษาไทยก็ฟังไม่รู้เรื่องอยู่ดี… ไม่ใช่! เพราะโหมดการฟังเพลงของพี่ริคที่เหมาะสม คือเน้นฟังอารมณ์ในการออกเสียงแต่ละคำ แต่ละประโยคของเธอต่างหาก ซึ่งอารมณ์ของ คุรุ (ปางอุ้มบาตร) ในคืนนี้ ก็ถูกขยี้ให้รุนแรงขึ้นไปอีกด้วยวิดีโอประมวลภาพเหตุการณ์ความวุ่นวายจากทั่วทุกมุมโลก ช่วงอัลบั้ม ปฐม นี้มันทั้งขลัง ทั้งเท่ ทั้งสนุกจริง จากนั้นปิดท้ายช่วงนี้ด้วยเสียงร้องเปล่าๆ ของพี่ริค ขับร้องบทเพลง ระบำพราย ในความมืดที่ไร้เสียงดนตรี ก่อนที่แขกรับเชิญคนต่อไปจะปรากฏตัว
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
PART 7 : เด็กนอกคอกแห่ง Bakery Music
ในความเงียบและแสงไฟริบหรี่สีแดง–น้ำเงิน คิว วง Flure ยืนอยู่ที่กลางเวที เปล่งเสียงโซโล่บทเพลง น้ำตาของไข่มุก แทนพี่ริคได้อย่างลุ่มลึกมีชั้นเชิง ทั้งพลังเสียงหนักแน่นแต่นุ่มนวลที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ทั้งเสียงเอื้อนลูกคอ 6-7 ชั้นในหนึ่งพยางค์ และการไล่เสียงหนักและเบา ขึ้นและลงได้อย่างเร้าใจ จนไม่น่าเชื่อว่ากำลังฟังเสียงร้องเปล่า ๆ อยู่ ช่างเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีถึงความเจ๋งของนักร้องคนนี้ พี่คิวร้องไปกรีดกรายมือไปตามอารมณ์ ก่อนที่พี่ริคจะเดินกลับขึ้นเวทีมาในชุดใหม่ที่ดูทะมัดทะแมงขึ้น เพื่อร้องดูเอทกับพี่คิวในเพลง คิดถึง (จันทร์กระจ่างฟ้า) เป็นเพลงคัฟเวอร์ที่เหนือความคาดหมายของแฟนเพลงมาก เพลงนี้เป็นเพลงเก่าที่นำทำนองเพลงสากล Gypsy Moon มาแต่งคำร้องเป็นภาษาไทย มีศิลปินไทยนำมาร้องกันบ่อยครั้ง (และคล้าย ๆ ว่าเพิ่งจะปรากฏในละคร บุพเพสันนิวาส เช่นกัน)
ทั้งสองเพิ่มดีกรีความพิศวาสลงไปในโชว์ ด้วยการร้องไปสวมบทบาทแนบชิดจิกสายตาใส่กันไป กลายเป็นเพลงคู่รักชมจันทร์ที่ออกมาโรแมนติกดุดัน แลดูเป็นความหลงใหลที่แฝงภยันตราย นอกจากนี้ทีมงานยังนำเทียนจริงมาวางกระจายบนเวทีเป็นจุด ๆ สำหรับเพลงนี้โดยเฉพาะด้วย คิดถึง (จันทร์กระจ่างฟ้า) จึงเป็นอีกหนึ่งช่วงในคอนเสิร์ตนี้ ที่รู้สึกเหมือนกำลังได้รับชม performance art จากพี่ริคอีกครั้ง
เพลงจบลงด้วยความเดือดดาลที่ไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ดนตรีก็โหมกระหน่ำและทั้งสองสาดเสียงใส่กัน จากนั้นพี่ริคและพี่คิวกระซิบกระซาบอะไรกันบางอย่าง แต่ในที่สุดกลับใด้ใจความว่า ในสคริปต์ยังไม่ให้ทั้งคู่คุยกับคนดูในตอนนี้ พี่คิวจึงบอกให้คนดูทำเป็นลืมไปก่อน ผมรู้ได้ทันทีว่าทั้งสองกำลังจะร้องเพลง เสี้ยม เป็นเพลงต่อไป ซึ่งเป็นเพลงที่พี่ริคได้พี่คิวมา featuring และเป็นเพลงที่ผมชอบมากที่สุดในอัลบั้ม Pandora ความดุเดือดที่คิดว่าคุ้นเคยดีอยู่แล้วจากในต้นฉบับ พอมาเจอทั้งสองสาดพลังเสียงให้ฟังกันสด ๆ อย่างในคืนนี้ ก็ไม่รู้จะอธิบายความพิเศษยังไงให้ครบถ้วน บางท่อนที่พี่คิวไม่ได้ร้องไว้ในต้นฉบับ ก็ถูกแบ่งปันมาให้พี่คิวได้ร้องในคืนนี้ กลายเป็นเพลง เสี้ยม ในแบบฉบับที่เหมือนทั้งสองคนกำลังต่อกรทางพลังเสียงกันอยู่
คิว วง Flure คืออีกหนึ่งน้องคนสนิทของ ริค วชิรปิลันธิ์ จากสมัยค่ายเบเกอรี่ ฯ อาจจะเพราะทั้งสองคล้ายคลึงกันตรงที่เป็นเด็กหัวขบถของค่าย และด้วยความสนิทสนมนี้เอง น่าจะเป็นเหตุผลให้ทั้งคู่ประกาศว่าจะทำละครวิทยุร่วมกันสนุก ๆ โดยให้ผู้ชมในคืนนี้ช่วยเป็นพยานว่าพวกเขาจะทำจริง ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงประมูลบั้งพิเศษที่ติดอยู่บนเสื้อพี่ริค เป็นบั้งเหรียญโลโก้ริค วชิรปิลันธิ์กรอบสีเงิน ซึ่งถ้าใครประมูลชนะ จะได้ขึ้นเวทีไปรับการติดยศสิบโทโดยนายพล RW.J หรืออีกชื่อย่อของพี่ริคนั่นเอง จบลงด้วยมูลค่า 3,000 บาท โดยผู้ชนะได้รับแต่งตั้งเป็น สิบโท B5 (เพราะใส่เสื้อวง B5 มาในงานคืนนี้ด้วย) ซึ่งก็เหมาะเจาะพอดีที่พี่คิว Flure/B5 อยู่บนเวทีในขณะนั้น กลายเป็นบรรยากาศการประมูลของแบบโป๊งชึ่งเฮฮา สนุกสนานผ่อนคลายกันไป
พี่ริคปิดท้ายช่วงนี้ด้วยการโชว์รำดาบรัสเซีย ประกอบด้วยดนตรีร็อกแบบหนักเครื่อง (ซึ่งถ้าจำไม่ผิด เหมือนจะเคยเห็นในเฟซบุ๊คว่าเธอได้แผลเล็ก ๆ มาจากการซักซ้อมด้วย ข้าน้อยขอคารวะในความทุ่มเทของท่าน!) ก่อนจะแตะมือกับพี่ป๊อด Moderndog ที่ผลัดเปลี่ยนขึ้นมาร้องเพลง วันสุดท้าย ของ Moderndog อย่างไพเราะเหมือนทุกครั้งที่ได้ฟัง
และในเพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ตของคืนนี้ พี่สุกี้และพี่เมธีเดินกลับขึ้นมาแจมบนเวทีอีกครั้ง พี่เมธียังคงอยู่กับกีตาร์ไฟฟ้า ส่วนพี่สุกี้มากับกีตาร์โปร่ง เมื่อเห็นว่าทั้ง 4 กำลังจะแจมเพลงด้วยกัน ก็ชวนให้สงสัยว่าพวกเขาจะเล่นเพลงอะไร ถึงจะเหมาะสมกับช่วงสุดท้ายของโชว์ที่สุด?
ปรากฏว่าเพลงนั้นคือเพลง หมดเวลา เพลงขึ้นหิ้งจากอัลบั้มแรกของ Moderndog อีกหนึ่งขุมทรัพย์ค่ายเบเกอรี่ ฯ ที่แฟนเพลงพี่ริคไม่น่าพลาดที่จะรู้จัก
มันประกอบด้วยคอร์ดไม่กี่คอร์ดง่าย ๆ มันเป็นเพลงที่ไม่เคยเป็นมากไปกว่าเดโม่ท้ายอัลบั้ม แต่กลับถูกเอามาร้องซ้ำอยู่บ่อย ๆ จนวันนี้ เพราะมันสร้างความหมายกินใจทุกครั้งเวลาที่มีคนหยิบมันมาร้อง แม้แต่ผมเองยังเคยเล่นเพลงนี้ให้กับเพื่อนมัธยมที่ร้านหมูกระทะ เป็นการอำลาพวกมันก่อนจะไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ตัดภาพกลับมาคืนนี้ การได้ฟังพี่ริคและพี่ป๊อดร้องเพลงนี้ด้วยกัน ฟังเสียงกีตาร์ที่พี่เมธีและพี่สุกี้บรรเลงร่วมกัน ท่ามกลางวิชวลบนจอที่คล้ายเป็นภาพแทนสายตาใครสักคนในห้องที่มีกระจกเรือนใหญ่ กำลังแหงนมองทะลุออกไปยังหมู่ดาวสวยงาม มันเป็นการปิดท้ายคอนเสิร์ตอย่างสงบเสงี่ยมด้วยเพลงที่พี่ริคเลือกมาแล้ว ว่ามีความหมายและสามารถเชื่อมต่อความทรงจำของทุกคนในฮอลที่มีต่อพี่ริค หรือความทรงจำของพี่ริคที่มีต่อแฟนเพลงก็ตาม ความทรงจำของทุกคนต่อค่ายเบเกอรี่มิวสิค และต่อยุคสมัยที่ผ่านพ้นไป ให้หลอมรวมแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนทุกอย่างได้หวนกลับมามีชีวิตเป็นปัจจุบันอีกครั้ง
“หมดเวลารัก หมดเวลาเสียใจ ต้องไปเสียที“
แม้จะเพียงชั่วคราว แต่ก็สวยงามเสมอที่ได้ระลึก
แสงไฟเปิดสว่าง แขกรับเชิญทั้งสามเดินกลับเข้าหลังเวที เบื้องหลังเปิดคลอด้วยเพลง วชิระ (Wachila to Utopia) แต่ก่อนที่แขกรับเชิญทุกคนจะวิ่งออกมาร่วมโค้งคำนับกับพี่ริคเป็นครั้งสุดท้าย พี่ริคได้กล่าวบางอย่างกับคนดู ซึ่งผมมองว่ามันสรุปทั้งการโคจรมาพบกันของเรา การได้สร้างความทรงจำร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง และการทอดมองไปยังอนาคตที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้เป็นอย่างดี จึงอยากนำมาให้อ่านกัน
“อย่างที่บอกคือ คุณก็เป็นคนที่ดนตรีเลือก และคุณก็เลือกดนตรี ริคเป็นแค่อะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งถ่ายทอดสิ่งที่มันอยู่ในอากาศมาให้คุณได้ยินเท่านั้นเอง
“แล้วก็การได้ทำงานวันนี้ก็เช่นเดียวกัน พี่ป๊อดเคยบอกว่า เพลงสุดท้ายคือสิ่งที่จะกำหนดสิ่งต่อไปในอนาคตของริค
“ถามว่าเสียใจมั้ย ไม่รู้สึกเสียใจอะไรเลย รู้สึกขอบคุณ แล้วก็ดีใจด้วยที่เราได้มาเจอกัน และได้รับหน้าที่ให้ทำสิ่งนี้ในวันนี้ ซึ่งอนาคตมันอาจจะส่งต่อไปเป็นของคนอื่นก็ได้ คนเราไม่ควรยึดติดในสิ่งที่เรามีหรือไม่มีนั้น…เท่านั้นเอง ขอบคุณค่ะ“
ใครจะไปคิดว่าคอนเสิร์ตสักหนึ่งคอนเสิร์ต ของศิลปินสักหนึ่งคนที่ชีวิตได้ผูกพันด้วย จะสามารถตรึงให้ผมหยุดทบทวนทั้งอดีตและปัจจุบันได้มากเท่านี้ ผ่านความทรงจำในวันนั้นและวิธีมองโลกในวันนี้ เหมือนกับอนุญาตให้ตัวเองได้หยุดพักหายใจเข้า–ออก หนึ่งเฮือกใหญ่เพื่อทบทวนสิ่งต่าง ๆ ผ่านคอนเสิร์ตครั้งนี้ ก่อนที่มันจะจบลงและเราต้องเดินออกจากฮอล เพื่อไปใช้ชีวิตในลมหายใจต่อ ๆ ไป
โดยหวังว่าจะยังมีบทเพลงของเธอ คอยนำทางและดำรงอยู่เสมอ
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
BONUS :
ผมไม่ได้โดนคอนเสิร์ตหลอกสนิทว่าจะไม่มีช่วงอังกอร์มานานแล้ว ขณะที่คนดูทยอยเดินออกจากฮอล จู่ ๆ ก็มีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้น เบิร์ด Desktop Error ถือกีตาร์โปร่งขึ้นเวทีอีกครั้ง พร้อมกับเด็กสาวร่างผอมสูงอีกหนึ่งคน คอสเพลย์ในวิกผมสีเทาชุดดำคล้ายหลุดออกมาจากอนิเมะ เธอผูกผ้าสีดำคาดตาเอาไว้ และเริ่มร้องเพลงเพลงหนึ่งที่ผมเดาว่าน่าจะมาจากอนิเมะ (Mabataki) โดยมีพี่เบิร์ดตีคอร์ดและร้องประสาน คนดูหยุดยืนกับที่ สายตากลับมาจ้องที่เวทีอีกครั้ง ผมยืนประมวลผลอยู่พักใหญ่ว่าน้องเขาเป็นใคร สักพักก็นึกขึ้นได้ นี่จะต้องเป็นน้องฬามเม ลูกสาวของพี่ริคอย่างแน่นอน ครั้งแรกสุด (และครั้งเดียวของผม) ที่แฟนเพลงได้พบกับน้อง ก็น่าจะเป็นคอนเสิร์ต ‘เหนืออาณาจักรแห่งสายเสียง’ นั่นเอง ในปีนั้นน้องยังตัวเล็กมาก ๆ แบบที่ต้องอุ้มขึ้นเวที เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่วันนี้ได้พบตัวจริงเสียง(ร้อง!)จริงของน้องอีกครั้ง เมื่อเราติดตามพี่ริค ก็เหมือนได้ติดตามน้องฬามเมไปด้วยตลอดเวลา 12 ปีที่ผ่านมา แถมคืนนี้น้องยังเต็มที่กับการร้องเพลงให้พวกเราได้ดู และยังทำได้ดีอีกต่างหาก
พี่ริคไม่รอช้าขึ้นมาแจมกับฬามเมในเพลงถัดมา อีกหนึ่งเพลงอนิเมะ ‘Tokyo Ghoul’ ที่ทั้งสองเรียกมันว่าเป็น ‘Bangkok Ghoul’ ฬามเมปลดผ้าผูกตาออก และร้องเล่นเต้นไปกับคุณแม่ของเธอ ทีมนักดนตรีเดินกลับขึ้นมาเล่นกันเต็มวงอีกครั้ง กลายเป็นภาพที่บอกเล่าตัวตนอีกภาคหนึ่งของพี่ริคได้เป็นอย่างดี คือบทบาทความเป็นแม่ของริค วชิรปิลันธิ์ ท่าทางฬามเมเครื่องจะติดแล้ว เพราะเพลงนี้น้องร้องได้สะใจในอารมณ์ยิ่งกว่าเพลงก่อนหน้าซะอีก ส่วนพี่ ๆ แขกรับเชิญทั้งหลาย ก็ออกมาชะเง้อยืนให้กำลังใจจากด้านหลังเวที
เมื่อเพลงจบ พี่ริคไม่ทันได้กล่าวแนะนำอะไรเกี่ยวกับน้องมาก เพราะดูเหมือนน้องเองก็มีเรื่องราวมากมายที่ทั้งสำคัญ และจำเป็นต้องระบายให้แฟนเพลงของ ริค วชิรปิลันธิ์ ได้รับฟังเอาไว้เหลือเกิน
ฬามเมเกิดความประหม่าก่อนที่จะออกมาร้องเพลงในคืนนี้ แต่พอได้ลองทำแล้วก็พบว่ามันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น (เดาเอาเองว่าเป็นเหตุผลที่น้องผูกผ้าปิดตา) น้องเริ่มพรั่งพรูความในใจทั้งน้ำตา และเล่าว่าที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการ bully ในโรงเรียนมาตลอด ทั้งจากเพื่อนในรุ่นหรือจากคุณครู ต่างเข้ามากดดันน้องด้วยความคาดหวังประหลาด ๆ
“เธอเป็นลูกศิลปิน เธอดัง เธอต้องมีตังค์มากกว่าคนอื่น หนูก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันคืออะไร หนูก็ทนให้เขาแกล้ง ทนใช้ชีวิตโดยไม่รู้อะไรเลยมาตลอด จนขึ้นประถมก็พอจะเริ่มรู้เรื่องบ้างแล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย แม่เราก็เก่งนะ ทำไมต้องมาอิจฉาเราที่แม่เราเก่งวะ….”
พี่ริคโผเข้าไปกอดฬามเม คนดูปรบมือให้กำลังใจพร้อมตะโกนส่งเสียงเชียร์จากฝั่งนี้ข้ามไปยังฝั่งเวที “สู้ ๆ” “หนูทำดีแล้วลูก” ฯลฯ หวังว่าน้องจะรับรู้และจดจำมันไว้นะ เก็บกำลังใจจากพวกพี่ ๆ เอาไว้แล้วออกไปเอาชนะสังคมแห่งการ bully ให้ได้ ไม่ให้น้องต้องหยิบผ้าสีดำมาผูกปิดตาตัวเองอีกต่อไป
มาถึงอีกหนึ่งเพลงที่ถ้าไม่เล่นจริง ๆ ก็คงเฉาน่าดู นั่นคือเพลง รอยยิ้ม ที่พี่ริคเคยคัฟเวอร์ไว้ในอัลบั้ม Trois เช่นกัน มันคือเพลงของวง Silly Fools เพื่อนสนิทอีกหนึ่งกลุ่มของพี่ริค สมัยยังทำ EP ในแนวฮาร์ดร็อก/เมทัลกับค่ายเบเกอรี่ ฯ เป็นงานที่คนทั่วไปคงไม่ค่อยกล่าวถึงเท่าไรเมื่อพูดถึง Silly Fools ผมไม่อยากให้พี่ ๆ บุคลากรค่ายเบเกอรี่ ฯ ที่ยืนดูอยู่ด้านหลัง คิดว่าผู้คนได้หลงลืม EP นี้ไปแล้ว จึงแหกปากร้องไปกับเพลง รอยยิ้ม อย่างสุดเสียง เผื่อว่าพวกเขาจะมองมาเห็น จะได้รับรู้ว่างานขบถชิ้นนี้ผมไม่เคยลืม มันยังมีคุณค่ามาจนทุกวันนี้และจะไม่หายไปไหน
เช่นเดียวกับอีกบทเพลงขบถจากอัลบั้มสุดขบถ ซึ่งพี่ริคเลือกมาปิดท้ายคอนเสิร์ตในวันนี้ นางเศียรขาด เพลงเกรี้ยวกราดจาก ปฐม ที่เกือบ ๆ จะเป็นสปีดเมทัลเต็มรูปแบบแล้ว ถ้าไม่ถูกตัดรสเสียก่อนด้วยเอฟเฟกต์ wah-wah ของกีตาร์ไฟฟ้า และจังหวะที่หนืดลงในช่วงกลางเพลง นับเป็นอีกเพลงจาก ปฐม ที่มีลูกเล่นแพรวพราว และยังดุเดือดอยู่ในใจของแฟนเพลงพี่ริคเสมอมา
แม้เพลงจะเล่นกันโหดมาก แต่ในหัวผม เมื่อรู้ว่าเป็นเพลงสุดท้าย ก็เกิดอาการอ่อนไหวส่วนตัวแบบแปลก ๆ ไหน ๆ ก็พูดถึงอาการตัวเองแล้ว อยากใช้โอกาสนี้ขอบคุณพี่ริคและทุกคนที่อยู่เบื้องหลังงาน THE DEVI OF DARKNESS มาก ๆ ถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นคอนเสิร์ตของริค วชิรปิลันธิ์ ที่บอกเล่าอภิมหาตัวตนและประวัติศาสตร์ของเธอได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จริง ๆ (ครบถ้วนตั้งแต่งานออกแบบ ภาพลักษณ์พิลึกต่าง ๆ ที่คนนอกมักขยาด แต่พวกเรากลับคุ้นเคยและชอบเสมอมา มองเห็นยันความเป็นมิตร ความโก๊ะ ความเป็นกันเองของพี่ริค ฯลฯ ไปจนถึงขั้นได้ฟังความในใจของลูกสาวแบบที่ไม่คิดว่าจะได้ฟัง!) และมันยังเป็นพื้นที่ชั่วคราวให้แฟนเพลงทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงอดีตและยุคสมัยที่ผ่านไป ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงที่แจ่มชัดที่สุด เพราะมันยังเป็นภาพความทรงจำที่มีความสุขเสมอเมื่อได้นึกถึง ทั้งยุคของเบเกอรี่มิวสิก, ยุคหัวลำโพงริดดิม, Moderndog, Pru, Flure, พราย ปฐมพร, คอนเสิร์ต ‘เหนืออาณาจักรแห่งสายเสียง’ หรือคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ครั้งที่พี่ริคจัดขึ้น ณ ร้าน Cosmic RCA ก็ตาม (ปัจจุบันคือร้าน NOMA) ขอบคุณที่คืนชีพให้กับยุคสมัย ปลุกให้มันกลับมาตื่นขึ้นมีชีวิตชีวามากที่สุดอีกครั้ง เพื่อแฟนเพลงทุกคน
ขอบคุณที่ยังมีคนมอบพื้นที่ให้กับวัยเยาว์ของผม เหมือนมีเพื่อนที่ยังคงมองเห็นและเข้าใจในคุณค่าของมัน นี่คงจะกลายเป็นคำปลอบใจให้ผมได้เสมอว่า มันไม่ผิดที่เราจะแวะเวียนกลับไปลิงโลดกับวัยเยาว์บ้าง เป็นบางครั้งคราว
ก่อนจะจบคอนเสิร์ตด้วยบีตสุดท้าย นักดนตรียังคงโซโล่ต่อเนื่องจากเพลง นางเศียรขาด แบบดุเดือดไม่ยั้ง พี่ริคก็เปล่งเสียงในระดับที่บ้าคลั่ง จากนั้นทุกคนก็จบมันลงพร้อมกันอย่างยิ่งใหญ่ แม่นยำ และสวยงาม
และแม้มันอาจจะเป็นนาทีสุดท้ายที่เราและเธอจะได้พบกันในคอนเสิร์ตสเกลใหญ่เต็มรูปแบบขนาดนี้ แต่เธอก็ปฏิเสธการฟูมฟายและพิธีรีตองเช่นเคย เธอเพียงยิ้มแย้มอย่างเรียบง่าย โบกมืออำลาผู้ชมเพียงเล็กน้อย ก่อนจะค่อย ๆ เดินหายลับไปหลังเวที
คงเพราะ “คนเราไม่ควรยึดติดในสิ่งที่เรามีหรือไม่มีนั้น…เท่านั้นเอง“
นี่แหละ ริค วชิรปิลันธิ์