การหวนมาทักทายเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานในโชว์เล็ก ๆ ของ T_047 ที่ 1970s Bar
- Story and photos by Montipa Virojpan
26 ตุลาคม 2561
ถ้าพูดถึง RCA สิ่งแรก ๆ ที่เราจะนึกถึงกันเห็นจะไม่พ้นคลับที่เปิดแต่เพลงแดนซ์ ร้านเหล้านั่งชิว หรือโรงภาพยนตร์ stand alone ที่อยู่คู่กันมาอย่างช้านาน แต่เมื่อเราลองสำรวจสถานที่ละแวกใกล้เคียง ห่างออกไปประมาณ 2 บล็อกจาก NOMA อีกร้านที่เสริฟดนตรีทางเลือกที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้ก็จะพบกับ ‘ร้านหนังสืออิสระ’ แห่งหนึ่ง ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ถึงการมีอยู่ของมันเพราะอาจไม่ทันคิดว่าจะมีร้านหนังสือซ่อนตัวอยู่ในย่านสถานบันเทิง และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เข้าไปสำรวจ Zombie Books จากการที่ T_047 กับ นายปัง ตันเต๊ก กำลังจะมีโชว์อะคูสติกเล็ก ๆ เกิดขึ้นบนชั้นสามของร้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 1970s Bar สถานที่จัดงานในครั้งนี้
เรามาถึงร้านหนังสือ Zombie Books ตอนประมาณสามทุ่ม จึงพอมีเวลาสำรวจร้านก่อนที่วงแรกจะขึ้นเล่น ทันทีที่เปิดเข้าไปก็จะพบว่าเบื้องหลังประตูบานเล็กนี้มีโต๊ะและชั้นวางที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือคอยต้อนรับและเชื้อเชิญให้เราหยิบขึ้นมาอ่านอย่างเงียบ ๆ บ้างก็กองซ้อนกันหรือแทบล้นออกมาจากพื้นที่ของมันเพราะอยากอวดปกสวย ๆ
ที่นี่เหมือนโลกอันไม่น่าจะมีอยู่จริง เป็นโลกอันแปลกแยกอันรื่นรมย์ของหนอนหนังสือกลาง RCA เมื่อเขยิบตัวเข้ามาอีกไม่เกินสองก้าวก็จะมีโต๊ะแนะนำหนังสือออกใหม่พร้อมกับสเปซเล็ก ๆ ให้นักอ่านแทรกตัวเข้าไปขลุกอยู่กับความคิดของตัวเอง เดินเลยมาอีกบล็อกจะเจอหนังสือละลานตาของทั้งสำนักพิมพ์มติชนบุ๊กส์อยู่เบื้องหน้า เคียงคู่กับสำนักพิมพ์ใต้ฝุ่น และชั้นที่เต็มไปด้วยสันสีม่วงไลแลคของสำนักพิมพ์กำมะหยี่อยู่ทางขวามือ ด้านในสุดของร้านก็เป็นโซนเครื่องดื่มให้เราสั่งมาจิบหากเกิดความกระหายระหว่างการออกเดินทางผ่านตัวหนังสือ และหากเราเดินขึ้นบันไดไปก็จะพบกับชั้นลอยชั้นแรก มีโต๊ะไม้ยาวตัวใหญ่อยู่ในมุมที่รายล้อมไปด้วยหนังสือภาษาอังกฤษ เหมาะกับให้มาขลุกตัวระดมความคิดกัน และชั้นลอยอีกชั้นที่จะพาเราขึ้นไปสู่บาร์ก็เต็มไปด้วยหนังสือต่างประเทศและหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งทางร้านใช้บริเวณนี้สำหรับเป็นห้องพักศิลปิน แน่นอนว่าเราเจอสมาชิก T_047 กำลังนั่งเล่านิทาน ‘Chester The Crab’ ของ Peter Tovey ในเวอร์ชันพิสดารอย่างออกรส (ลองหาคลิปดูในเฟซบุ๊กนะ)
แต่ไม่นานนัก เมื่อเราได้ยินเสียงกีตาร์เริ่มบรรเลงมาจากด้านบน เราก็ขึ้นบันไดไปและแทรกตัวผ่านประตูทึบบานเล็ก จนได้พบกับโลกอีกใบ… ที่เราบอกว่าบรรยากาศของร้านหนังสือก็ดูจะเป็นคนละมิติกับสถานที่อื่น ๆ รายรอบแล้วนั้น ห้องเล็ก ๆ ห้องนี้ยิ่งผิดแผกพิสดารขึ้นไปอีก ด้วยแสงไฟสลัวให้ความรู้สึกเป็นสีน้ำเงินอมม่วง และมีโปสเตอร์ภาพยนตร์ยุคคลาสสิกหลาย ๆ เรื่องประดับอยู่ตามผนัง นอกจากนั้นที่นั่งแถวหน้าประตูยังมีความเป็นเหมือนโต๊ะเล็กเชอร์หรือเคาน์เตอร์อ่านหนังสือในห้องสมุดต่างประเทศที่มีโคมไฟเล็ก ๆ วางเรียงราย ส่วนคนที่มาเป็นหมู่คณะก็จะได้ฝังตัวเข้าไปตามโต๊ะสี่ที่นั่งที่เบียดเสียดอยู่ฝั่งตรงข้ามเวที มีบาร์เครื่องดื่มซ่อนอยู่ไม่ห่างกันนักพร้อมเสิร์ฟเหล้าช็อตและคราฟต์เบียร์ไทยแก่ผู้ที่แวะเวียนมา บรรยากาศในตอนนี้ทำให้เรานึกถึงร้านเล็ก ๆ ร้านหนึ่งในไทเปที่ชื่อ ‘Kafka by the Sea’ ซึ่งเป็นคาเฟ่ในตอนกลางวัน มีหนังสือและแผ่นเสียงอัดแน่นเต็มร้าน ส่วนตอนกลางคืนก็เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิตี้คนในแวดวงศิลปะ กวี และดนตรี รวมถึงมีวงดนตรีอิสระมาเล่นเพลงของตัวเองในทุก ๆ คืน ในจำนวนคนที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป และทุกคนตั้งใจฟังเพลงเงียบกริบ มีเสียงตบมือในตอนท้ายของเพลงเพียงเท่านั้น นี่คือบรรยากาศของการฟังโฟล์กในเมืองที่เราชื่นชอบที่สุด และมันกำลังจะเกิดขึ้นในกรุงเทพ ฯ ที่สถานที่แห่งนี้
ขณะนี้ นายปัง ตันเต๊ก หรือ ปอนด์ กำลังบรรเลงเพลงที่เราไม่คุ้นหู ชายหนุ่มร่างสูงกับกีตาร์หนึ่งตัวผู้ไม่มีท่าทีประหม่าใด ๆ และเล่าเรื่องราวออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อจบเพลง ปอนด์เล่าว่าเพลงนี้ชื่อ วันหยุด โดยเขียนขึ้นมาหลังตื่นนอนแล้วอยู่ในอาการแฮงก์จากคืนก่อนที่ดื่มอย่างหนักหน่วง จากนั้นเขาก็เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยปล่อยเพลง สาวชราและม้านั่งกลางสวน ออกมา จึงเกิดความคิดว่าอยากทำเพลงที่เป็นภาคต่อ โดยเป็นเรื่องราวของชายหญิงในวัยชราที่แอบมาพบกันในสวน ก่อนจะเล่นเพลงที่ชื่อ รู้หรือเปล่า โดยเขาเขียนให้คนที่ต้องอยู่กับความสัมพันธ์ในฐานะคนที่ต้องรอ ต่อด้วยเพลง แพ้ ที่เราน่าจะรู้จักกันดี และคัฟเวอร์งานจาก Jake Bugg ในเพลง Two Fingers ต่อด้วยเพลงใหม่ที่เขาเพิ่งแต่ง ชื่อ รถไฟ ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลง ปลายบุหรี่ ซึ่งเราชอบที่มาของเพลงนี้มาก เขาเล่าว่าเคยมีรุ่นพี่คนหนึ่งเคยบอกเขาว่า ชีวิตจะเป็นยังไงก็ได้ ขอแค่มีบุหรี่ให้สูบ ซึ่งถ้าไฟที่ปลายบุหรี่มันยังติดอยู่ก็แปลว่าเขายังมีชีวิตอยู่ แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้รุ่นพี่ของเขาเสียชีวิตไปแล้ว จึงมีเพลงนี้เป็นบทเพลงเพื่อระลึกถึงความเรียบง่ายในชีวิตของเขา
สำหรับเรานี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ดูโชว์ของ นายปัง ตันเต๊ก ในฐานะศิลปินโฟล์กจากค่าย 1 2 Sum Records ของแสตมป์ อภิวัชร์ แต่เมื่อหาเพลงอื่น ๆ ของเขามาลองฟังก็พบว่าปอนด์เคยออกอัลบั้ม Are You Wailer ที่ทำเองมาก่อนแล้ว และยังเป็นผู้ชนะในการประกวดเสรีภาพ เสรีเพลง ของนิตยสาร ‘Happening’ ในเพลง บทเพลงถึงตัวฉันเอง เป็นอีกศิลปินที่เล่าเรื่องใกล้ ๆ ตัวลงในเพลงโฟล์กป๊อปได้น่าสนใจ เป็นคอร์ดที่ไม่หวือหวาแต่หากถ้าตั้งใจฟังก็จะพบว่านี่เป็นอีกความเรียบง่ายที่มีเสน่ห์
เวลาประมาณสี่ทุ่ม ภาพของ ‘บ้านข้าง ๆ’ จากโปรเจกเตอร์ถูกฉายขึ้นบนผ้าใบที่ขึงอยู่ด้านหลังเวที เสียงแอมเบียนต์ที่สร้างจากกีตาร์ไฟฟ้าของไบรท์ดังขึ้น พร้อมกับนักดนตรีอีกสองคนที่มานั่งประจำเก้าอี้ที่ว่าง ก่อนที่โทนดนตรีจะเปลี่ยนไปพร้อมกับเสียงกลองของป๊อป และกีตาร์อะคูสติกของตูนเริ่มบรรเลงเพลง แสงเช้า การร้องประสานในท่วงทำนองแสนสบาย ตามมาด้วยเสียงนอยซ์ของการบิดก้อนเอฟเฟกต์ในตอนท้ายทำให้เพลงสบาย ๆ นี้ดูเท่ขึ้นมาทันที นี่คือเพลงที่จะอยู่ในอัลบั้มเต็มชุดแรกของ T_047 ที่จะวางจำหน่ายครั้งแรกที่งาน Cat Expo ตูนพูดทักทายแฟนเพลง 30 คนที่จับจองเข้ามาอยู่ในห้องนี้ได้ทันท่วงที “ผมชอบบรรยากาศที่คนดูน้อย ๆ วงเรามีเพลงน้อย จะได้พูดเยอะ ๆ” เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมไปตามระเบียบ “ในเมื่อมีน้อง ๆ ที่ตามมาดูจากหลาย ๆ รอบ เราก็จะเล่นเพลวใหม่ๆ จะได้คุ้มตัง แต่ตอนนี้ขอเล่นเพลงเก่าสักเพลง จะพาทุกท่านไปเที่ยวทะเล” อินโทรของเพลง เสียงทะเล รื่นรมย์ไปด้วยเสียงของเมโลเดี้ยน เมื่อจบเพลงเขาก็เล่าว่าแต่งเพลงนี้ตอนไปเที่ยวทะเลแล้วคิดถึงแฟนเก่า ก่อนจะเล่าถึงที่มาของ instagram T_047 เมื่อเขาถ่ายแต่ภาพของบ้านข้าง ๆ และตั้งแคปชันสั้น ๆ วันหนึ่งก็อยากจะเล่าเรื่องยาว ๆ ดูบ้างเลยเริ่มเขียนเพลงเกี่ยวกับบรรยากาศ ธรรมชาติ ความทรงจำ แล้วเล่นเพลง สายลม ของ Hugo ที่จะเป็นเครื่องเตือนใจเขาว่าแม้ตอนนี้จะมีผู้ติดตามผลงานมากมาย แต่เขาก็ยังเป็นเด็กคนนึงที่แอบถ่ายรูปบ้านข้าง ๆ มาเป็นเวลา 5-6 ปี
จากนั้นเขาก็เล่าว่าอัลบั้มนี้จะใช้ชื่อว่า The Ordinary Will Remain Forever ซึ่งมาจากการเอาประโยค ‘ความธรรมดาจะยังคงอยู่ตลอดไป’ ไปแปลใน Google Translate ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงบทเพลงทั้งหมดในอัลบั้มที่เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่เขาหรือใครต้องเคยพบเจอ และก่อนที่เขาจะเล่นเพลง เพียงฤดู ก็เล่าที่มาว่า เขาตั้งใจจะเขียนเพลงนี้ในช่วงเช้าของทุกวัน ถ้าเลยช่วงสายไปจะเลิกเขียน ซึ่งตอนที่แต่งเพลงนี้อากาศค่อนข้างเย็น มีคนรักที่ตอนนี้กลายเป็นแฟนเก่านอนหลับอยู่ มีแมวเดินเล่นอยู่ในห้อง เขาบอกว่าอยากตื่นมาเจอบรรยากาศแบบนี้ทุกวัน แต่เมื่อวันผ่านพ้นไป หลายสิ่งก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เขาเกิดความคิดที่จะมองทุกอย่างเป็นฤดู และปลงกับชีวิตได้มากขึ้น เราพอรู้มาว่าเพลงนี้เป็นเพลงฮิตของพวกเขา แต่ต้องสารภาพว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาดูและตั้งใจฟังเพลงของพวกเขา ผลก็คือ น้ำตานองเลยจ้า ในช่วงท้ายเพลงมีการให้คนดูช่วยร้องสลับกันในท่อน ‘ความรู้สึกในวันนี้ เป็นแค่เพียงฤดูหรือเปล่า‘ ด้วย เป็นอะไรที่อบอุ่นดีเหมือนกันนะ
ช่วงนี้ก็เป็นการเล่นเฮฮากับคนดูปล่อยมุขกันกระจัดกระจายทีเดียว พวกเขาหยิบเพลง แมวดำ งานล่าสุดของอีกโปรเจกต์ที่ทำเป็นอัลเทอร์เนทิฟร็อกในชื่อ Yerm มาเล่นเป็นโฟล์กร็อกได้เท่ทีเดียว และเกริ่นถึงที่มาของเพลงเล็กน้อยว่าคนชอบมองว่าแมวดำเป็นสัตว์อัปมงคล ซึ่งเป็นการอุปมาอุปไมยถึงอาชีพโสเภณีที่ถูกสังคมตีตราอยู่ตลอด ตามด้วยเพลง กลับดาว ซึ่งตูนบอกว่าจะอยู่ทั้งในอัลบั้มของ Yerm และ T_047 ซึ่งเขาเล่าว่าแต่งเพลงนี้ให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นคนแปลก ๆ เหมือนกับเขา ก็จินตนาการไปว่า บางทีทั้งคู่อาจมาจากดาวดวงเดียวกันและคงไม่เหมาะกับโลกนี้ งั้นกลับดาวกันมั้ย โดยเขาได้เปิดเผยชื่อของหญิงสาวคนดังกล่าวที่งานนี้ด้วย เราขออุบไว้เป็นความลับก็แล้วกันนะ และเพลงต่อไปที่จะเล่นชื่อว่า จันทร์ แต่งขึ้นช่วงเรียนมหาลัย ตูนเล่าว่า เรื่องราวก็จะวน ๆ อยู่แค่นี้ “ไม่ค่อยเรียนหนังสือ เอาเวลาไปมีความรัก” เรียกเสียงแซวจากคนดูอีกระลอก เขาแต่งให้กับความห่างไกลที่ตัวเองเรียนกรุงเทพ ฯ แล้วแฟนเก่าที่เรียนอยู่เพชรบุรี เป็นการบอกกลาย ๆ ว่าตราบใดที่มองท้องฟ้าก็จะยังเห็นพระจันทร์ดวงเดียวกัน ร้องจบมีการบอกอีกว่า “ร้องแล้วหน้าแฟนเก่าลอยมาเลยอะ” นี่มาร้องเพลงหรือเล่นตลก! ตามด้วยเพลงใหม่ที่จะเป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้ม ชื่อ รอสายรุ้ง ยังไม่เคยมีการซ้อมเกิดขึ้น และจะเล่นในงานนี้เป็นที่แรก ต้องบอกว่าเสี่ยงแก่การล่มสูง แต่สุดท้ายไม่ล่มนะคะแม้จะมีการด้นสดในหลาย ๆ พาร์ตของเพลง ทั้งบอกให้ป๊อปตีกลองเบา ๆ หรือให้ไบรท์เตรียมโซโล่กีตาร์ในท่อนต่อไป ตลกมาก ตูนเล่าว่า “แต่งตอนอยากมีแฟน แต่ก็คิดว่าความรักจะมาถ้าไม่ออกตามหามันมากเกินไป ไม่มีใครนั่งจ้องท้องฟ้ารอสายรุ้งหรอก ใช้ชีวิตตามปกติเดี๋ยวก็มาเอง” ก่อนจะเล่นเพลงฮิตอย่าง จักรวาลสมมติ เป็นเพลงสุดท้าย และไม่ลืมที่จะย้ำให้ทุกคนปลงกับความเปลี่ยนแปลง อยู่กับปัจจุบันขณะ และให้มีความสุขกับทุกวันในชีวิต
ไม่น่าเชื่อว่าโชว์ของทั้ง นายปัง ตันเต๊ก และ T_047 ทำให้เราก็ได้กลับมาคุยกับตัวเอง เพราะมีช่วงนึงที่เราเคยฟังเพลงโฟล์กและอะคูสติก รวมถึงชอบไปงานประเภทนี้อยู่บ่อย ๆ แต่พอโตขึ้นความสนใจก็เปลี่ยน เกิดความคิดว่าโฟล์กเป็นดนตรีฟังสบาย ไม่มีไดนามิกอะไร เราจะชอบก็แต่วงเก่า ๆ แล้วพาลตัดสินไปว่าที่ออกมาใหม่ ๆ ก็เหมือนกันหมด เล่นแต่คอร์ดวนกันซ้ำ นั่นน่าจะเป็นเพราะเราไม่ใช่คนที่ฟังเพลงที่เนื้อแต่จะไปสนใจพาร์ตดนตรีเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงมักตื่นเต้นกับเพลงแปลก ๆ หรือถูกดึงดูดด้วยวิวัฒนาการของดนตรีใหม่ ๆ ทำให้หลงลืมหัวใจของโฟล์กไปโดยสิ้นเชิงว่า ‘โฟล์กคือการเล่าเรื่อง’ และเรื่องเล่าของศิลปินแต่ละคนคือสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา ไม่ว่าจะชมธรรมชาติ วิพากษ์สังคม หรือบ่นเรื่องตัวเอง แต่ทุกเรื่องมันมีวิธีการเล่าที่เฉพาะตัวมาก หากตั้งใจฟังและซึมซับเราก็จะได้รู้จักตัวตนของคนที่เขียนสิ่งนั้นออกมา
ช่วงสองสามปีมานี้เราเองก็เริ่มกลับมาฟังเพลงไปพร้อม ๆ กับฟังเนื้อเพลง จนได้พบว่าคนที่เขียนเนื้อเพลงได้ดีและเก่งทำให้บทเพลงนั้นมีความมหัศจรรย์แม้จะถูกบรรเลงออกมาด้วยคอร์ดง่าย ๆ เสียงร้องคือเครื่องดนตรีอีกชิ้นที่ถ่ายทอดอารมณ์และพลังงานให้เพลงไม่ใช่มีแค่คนร้องเล่นกีตาร์ เรามองเพลงโฟล์กเปลี่ยนไปและกลับมาเข้าใจมันมากขึ้น อีกทั้งบรรยากาศของห้องเล็ก ๆ ห้องนี้มันสร้างความพิเศษที่เราไม่น่าจะรับมันได้จากที่ไหน หรือนี่อาจเป็นเวลาที่เราได้นั่งนิ่ง ๆ ทำความเข้าใจอะไรต่าง ๆ หลังจากเหนื่อยที่จะต่อสู้กับอะไรภายนอก จนได้กลับมาสำรวจภายในตัวเองไปพร้อมกับเสียงบรรเลงเงียบ ๆ ของกีตาร์กับคนเล่นไม่กี่คน จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ฟังดนตรีที่งดงามและอิ่มเอมแบบนี้อีกนะ ขอบคุณที่มีร้านอย่าง Zombie Books และ 1970s Bar อยู่บนโลกอันวุ่นวายใบนี้ และขอบคุณที่มีงานนี้เกิดขึ้น เหมือนว่าเราได้กลับมาทักทายเพื่อนเก่าที่ห่างหายไปนาน แต่ต่อจากนี้ก็คงจะได้แวะเวียนมาเจอกันอีกบ่อย ๆ แล้วแหละ